“ข้อมูลทำให้โลกน่าอยู่ขึ้น” คุยกับ HR Manager จาก SAS Software

HIGHLIGHT

  • SAS Software มีวัฒนธรรมเรื่องการพัฒนาคนมาก โดยมีการ Upskill, Reskill และให้ความสำคัญกับเรื่องการหมุนเวียนแลกเปลี่ยนความสามารถของพนักงานภายในองค์กร (Internal Mobility) มากกว่าการการให้พนักงานออก จึงมีศักยภาพมากในการรับมือกับทุกสถานการณ์
  • SAS Software มองว่าเรื่องของข้อมูล (Data) กลายเป็นเรื่องพื้นฐานของธุรกิจในปัจจุบันไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลผู้บริโภค, ข้อมูลการใช้ผลิตภัณฑ์, ข้อมูลสินค้า หรือข้อมูลอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้อง เพราะธุรกิจจะไม่สามารถเติบโตหรือพัฒนาได้ด้วยการใช้ความรู้สึก (Gut Feeling) อย่างเดียวอีกต่อไป
  • SAS Software ให้ความเห็นว่า HR ถือเป็นคนแรกที่จะได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนนอก จึงเหมือนเป็นฝ่ายการตลาด (Marketing) , เป็นตัวแทน (Representative) ขององค์กร ขณะเดียวกันก็เป็นกำลังหลักของคนข้างในด้วย

โควิด-19 คือจุดเปลี่ยนสำคัญของโลกธุรกิจ มีกระบวนการทำงานใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย เช่นนโยบายอย่าง Flexible Hours ที่กำหนดให้พนักงานเข้างานเมื่อใดก็ได้ หรือนโยบาย Hybrid Workplace ที่ช่วยให้การทำงานเกิดขึ้นได้จากทุกแห่ง โดยตัวแปรสำคัญที่ช่วยให้กลไกต่าง ๆ ดำเนินไปอย่างสะดวกสบายขึ้น ก็คือเรื่องเทคโนโลยีที่เติบโตอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้พัฒนาธุรกิจแบบครบวงจร (Digital Transformation) จึงเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในฐานะกลยุทธ์ที่จะช่วยให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainability) ซึ่ง HREX.asia มีโอกาสได้พูดคุยกับคุณประภาพร เลิศกชกร, HR Manager จาก SAS Software แพลตฟอร์มการวิเคราะห์ที่น่าเชื่อถือที่สุดในโลก ด้วยซอฟต์แวร์ ปัญญาประดิษฐ์ และการจัดการข้อมูลที่เปี่ยมไปด้วยนวัตกรรม

SAS Software รับมือกับสถานการณ์โควิด-19 อย่างไร และดูแลคนแบบไหนถึงได้รับรางวัล HR Asia Best Companies To Work For In Asia ประจำปี 2022 หาคำตอบไปพร้อมกับเราได้ที่นี่

ย้อนกลับไปในช่วงโควิด-19 ที่องค์กรทั่วโลกต้องเจอกับความยากลำบากมาก ๆ สถานการณ์ของ SAS Software เป็นอย่างไร ?

SAS Software: สถานการณ์ของเราในช่วงแรกคงคล้าย ๆ กับบริษัททั่วไปที่ยังไม่ได้เห็นภาพรวมของโควิดเนอะ ก็ยังไม่ค่อยรู้ว่าคืออะไร อันตรายอย่างไร แต่พอเราเริ่มเห็นว่ามันส่งผลกระทบ (Impact) กับชีวิตแล้วเนี่ย เราก็เริ่มหาทางรับมือกับมันทันทีค่ะ อย่างที่ SAS เอง ออฟฟิศของเราก็ให้พนักงานก็ต้องทำงานจากที่บ้าน (Remotely) เป็นหลักกันไปตามการแนะนำและมาตราการของรัฐ

ในช่วงที่จำนวนผู้ติดเชื้อมากขึ้นเรื่อย ๆ และวิธีการรักษาก็ยังไม่ชัดเจน สิ่งแรกที่เราเลือกให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัย (Safety) และสุขภาพ (Health) ของพนักงาน อย่างตอนที่เราต้องให้พนักงานอยู่ที่บ้าน เราก็รู้นะว่ามันจะต้องมีบางอย่างที่หยุดชะงัก ไม่ต่อเนื่อง ไม่คล่องตัวอย่างที่เคย อันนี้ส่งผลในแง่ธุรกิจของ SAS ด้วย ยกตัวอย่างเช่นปกติเราก็มีการจัด Training Class ที่ออฟฟิศ แต่พอเราไม่สามารถให้แขกเข้ามาที่ตึกได้อีกต่อไป ก็เกิดปัญหาตามมา ทำงานไม่ได้อย่างเมื่อก่อน เรียกว่ามีเรื่องที่ต้องแก้ไขอยู่พอสมควร

แต่อย่างที่บอกไปว่าเราให้ความสำคัญกับคนเป็นอย่างแรก เราเลยเริ่มกลับมาดูว่าจะปรับรูปแบบการทำงาน (Working Arrangement) อย่างไรให้ดีขึ้น ให้งานยังเดินไปได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ จากนั้น SAS ก็พยายามฟื้นฟู (Recover) หลาย ๆ อย่างกลับมาค่ะ

ทีม HR ทำงานอย่างไรบ้าง การคิดและออกนโยบาย ในสถานการณ์แบบนี้ยากแค่ไหน การประชุมแต่ละครั้งมีความเสี่ยงหรือเปล่า ?

SAS Software: ในช่วงแรกการประชุมออนไลน์ยังไม่ได้แพร่หลายมากเนอะ แต่ด้วยความที่เราเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยี เราก็เลยมีโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) หรือแพลตฟอร์มบางอย่างที่เราคุ้นเคยกันอยู่แล้วในการเชื่อมต่อและพูดคุย แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันไม่ได้ง่ายเหมือนตอนที่ประชุมกันต่อหน้า เราก็เลยมี HR Check-In กับทีมผู้บริหารและพนักงานของเราที่เมืองไทยตลอดจนทีมงาน HR regional กันอย่างสม่ำเสมอเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและหาข้อสรุปว่าภาพของ SAS ในภาพใหญ่จะก้าวไปในทิศทางใดค่ะ

แล้ว SAS มีกลยุทธ์อย่างไรบ้างในช่วงที่สถานการณ์ไม่มีอะไรแน่นอน ยิ่งการออกนโยบายให้พนักงานในเวลาแบบนั้นก็ไม่รู้ว่าจะออกมาหัวหรือก้อย อาจมีงบที่ต้องจ่ายไปอย่างสูญเปล่า เพราะโควิด-19 เป็นเรื่องใหม่มากจริง ๆ ทีม HR มองเรื่องเหล่านี้อย่างไร ?

SAS Software: ถ้าให้พูดแบบภาษาบ้าน ๆ คือทำอะไรได้ก็ทำอะค่ะ (หัวเราะ) เราพยายามขวนขวายทุกวิธี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวัคซีนที่ตอนนั้นเป็นประเด็นกันใหญ่เลยเพราะว่าหายากมาก รวมถึงเรื่องการหา ATK และวิธีการตรวจที่ถูกต้อง รวมถึงในกรณีที่พนักงานเกิดติดโควิดขึ้นมา เราก็ตั้งคำถามต่อว่าจะทำอย่างไรให้พนักงานได้หาหมอ ทำอย่างไรให้พนักงานมีเตียง ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง

พนักงานบางท่านที่ปกติเป็นเหมือนที่ปรึกษา (Consultant) ต้องเข้าไปอยู่กับลูกค้าที่หน้างานก็ไม่สามารถทำได้ เรียกว่าถ้าไม่จำเป็นลูกค้าก็จะไม่มีปฏิสัมพันธ์กับเราเลย แต่เราก็จะมีทีมที่คอย Support ลูกค้า อยู่อย่างไรก็ตามภาพรวมก็ถือว่าค่อนข้างยากอยู่เหมือนกันค่ะ ทีม HR ก็พยายามหาแนวทางมารักษาสถานการณ์ (Maintain) ให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้จริง ๆ

ที่ SAS มีวัฒนธรรมเรื่องการพัฒนาคนมากนะคะ เรามีการ Upskill, Reskill และให้ความสำคัญกับเรื่องการหมุนเวียนแลกเปลี่ยนความสามารถของพนักงานภายในองค์กร (Internal Mobility) มากกว่าการการให้พนักงานออกค่ะ

มีคนกล่าวว่าช่วง โควิด-19 เป็นช่วงที่เกิด Digital Transformation ชัดเจนมาก เทคโนโลยีเติบโตอย่างก้าวกระโดดในเวลาอันสั้น เรียกว่าไวขึ้นกว่าเดิมเป็นสิบปี SAS คิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้

SAS Software: โดยส่วนตัวไม่ได้คิดว่าเทคโนโลยีเติบโตไวไปหรือช้าไปนะคะ เพราะจากทิศทางของมันเทคโนโลยีก็น่าจะเติบโตไปในลักษณะนี้อยู่แล้ว เพียงแต่ก่อนหน้าที่จะเกิดเรื่องนี้ การพัฒนาเทคโนโลยีก็จะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปตามความจำเป็นมากกว่า

ทีนี้พอโควิด-19 เกิดขึ้น มันก็เปรียบเหมือนโลกเนี่ยดับลง แล้วจู่ ๆ ก็มีเทคโนโลยี มีโลกออนไลน์ มีเวอร์ชวลที่กลายเป็นแสงสว่างขึ้นมา พัฒนาการทั้งหมดที่เกิดขึ้นจึงเป็นเหมือนองค์ประกอบ (Component) ที่ช่วยให้โลกเดินต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง

เราอยากให้อธิบายว่าทำไมองค์กรถึงต้องนำเทคโนโลยีมาใช้ อย่าง SAS Software ที่เป็นเรื่องของการวิเคราะห์ (Analytic) จะช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้อย่างไร ? เพราะมีหลายคนที่ยังมองว่าเทคโนโลยีเหล่านี้เหมาะกับบริษัทใหญ่เท่านั้น

SAS Software: เรามองว่าเรื่องของข้อมูล (Data) กลายเป็นเรื่องพื้นฐานของธุรกิจในปัจจุบันไปแล้วค่ะ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลผู้บริโภค, ข้อมูลการใช้ผลิตภัณฑ์, ข้อมูลสินค้า หรือข้อมูลอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้อง ซึ่งข้อมูลส่วนนี้จะถูกนำไปใช้เพื่อวางกลยุทธ์เนอะ ธุรกิจจะไม่สามารถเติบโตหรือพัฒนาได้ด้วยการใช้ความรู้สึก (Gut Feeling) เพราะทุกอย่างมันมีที่มาที่ไป และที่มาที่ไปก็คือเรื่องของข้อมูลนี่ล่ะค่ะ

สรุปได้ว่าข้อมูลคือความเป็นจริง คือรายละเอียดว่าพฤติกรรมของคนที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างไร เป็นรากฐานในวางแผนทางธุรกิจ เพื่อช่วยให้องค์กรสามารถไปถึงเป้าหมาย (Goal) ที่ตั้งเอาไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่ง SAS ก็ถือเป็นผู้นำในเรื่องของ Data Analytic ค่ะ เราอยู่ในเมืองไทยมาราว 23 ปี หรือถ้านับแบบทั่วโลกเนี่ยก็ราว 50 ปีได้ เรียกว่าเราเป็นผู้บุกเบิกในด้านนี้ค่ะ

ที่สำคัญคือ SAS มี R&D ของตัวเองเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการของเราให้ทันโลกอยู่เสมอค่ะ ส่วนในด้านของคนที่อาจจะยังไม่เข้าใจในเรื่องของข้อมูลมากนักและเลือกที่จะเชื่อความรู้สึกของตัวเองมากกว่า ทางเราก็จะพยายามชี้ให้เห็นถึงประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมไปเลย ต้องทำให้พวกเขาเห็นว่าการให้คำแนะนำของเราหรือธุรกิจที่ใช้บริการของเรามีผลลัพธ์ที่ดีขึ้น (Benefit) อย่างไรบ้าง

SAS ไม่ได้ทำในแง่ของ Commercial อย่างเดียวนะ เรายังทำในส่วนที่เป็น Government ด้วย ทั้งในเรื่องของการศึกษา หรือแม้แต่การพยากรณ์อากาศของโลก เราสามารถแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลของแต่ละประเทศเนี่ยควรเลือกใช้ทรัพยากรอย่างไรให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด ยกตัวอย่างเช่นปัญหาโลกร้อนก็มีสาเหตุ มีที่มาที่ไป ซึ่งการหาคำตอบว่าวิธีไหนจะเข้ามาบริหารจัดการได้ดีที่สุดเนี่ย SAS สามารถเข้าไปช่วยเหลือตรงจุดนั้นได้ค่ะ และเมื่อเรา Contribute ให้กับทุกภาคส่วนของโลก เราก็สามารถนำข้อมูลทั้งหมดมาบูรณาการเพื่อใช้ประโยชน์ได้อีก จุดนี้แหละค่ะที่ทำให้เชื่อมั่นได้ว่า SAS ทำให้โลกน่าอยู่ขึ้นนะคะ

เป้าหมายของ SAS Software ในอนาคตอันใกล้เป็นอย่างไร ?

SAS Software: เป้าหมายของเราในปี 2024 คือการเข้า IPO ตลาดหุ้นที่อเมริกาค่ะ เราจึงให้ความสำคัญกับเรื่องคนมาก ทั้งการพัฒนาทักษะพนักงาน การหาผู้สืบทอดตำแหน่ง (Succession Plan) ให้มีความพร้อมกับเป้าหมายและกลยุทธ์ที่วางแผนเอาไว้ค่ะ

เรามีแพลตฟอร์มเรียนออนไลน์ และมีการทำ Talent Mapping Program เพื่อศึกษาว่าในแต่ละช่วงของพนักงาน เขาควรมีกลุ่มของทักษะ ความรู้ ความสามารถ หรือพฤติกรรมแบบไหน อย่างคนที่เรามองว่าจะก้าวไปเป็นระดับผู้จัดการ (Manager) เราก็จะมีแผนพัฒนารองรับ เช่น Manager Journey ซึ่งแผนงานเหล่านี้จะถูกวางแผนโดยทีม OE&D (Organization Effective Development) ที่จะคอยให้คำปรึกษาโดยตรง เราก็จะไปวางแผนร่วมกับเขา

อีกคนที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาทักษะของพนักงานก็คือเมเนเจอร์นี่ล่ะ คนที่อยู่ในตำแหน่งนี้จะทำหน้าที่เป็นบุคคลต้นแบบ (Role Model) และเป็นบุคคลตรงกลางระหว่างสมาชิกในทีมกับ HR เราต้องอาศัยเขาในการสร้างคนและสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดีขึ้นมา ดังนั้นเราก็ต้องฝึกทักษะให้กับเมเนเจอร์ด้วยเช่นกัน เราต้องการผู้นำที่มี Growth mindset พร้อมที่จะพัฒนาทั้งตัวเองและดูแลทีมได้ค่ะ

ถ้าให้มองย้อนกลับไป การทำงานของ HR หลังโควิดมีความเปลี่ยนแปลงไปบ้างไหม ?

SAS Software: ในช่วงระหว่างโควิด-19 ก็มีกระแสเรื่อง The Great Resignation เนอะ เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่เลย อย่างพนักงานเองทำงานอยู่บ้านก็จริง แต่พวกเขาก็เกิดภาวะหมดไฟ (Burnout) โดยไม่รู้ตัว แต่ SAS เนี่ย ก็เป็นองค์กรที่ใส่ใจเรื่องความเป็นอยู่ของพนักงานมาก ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราเชื่อว่าทำได้ดีมาตั้งแต่ช่วงก่อนโควิดด้วยซ้ำ เพราะนโยบายของเราคือการให้เรื่องคนสำคัญเป็นลำดับแรก ๆ เสมอ

ในช่วงหลังโควิดเราก็ให้ความสำคัญกับปัญหาสุขภาพจิต (Mental Health) มากขึ้น แล้วก็พยายามที่จะหาวิธีใหม่ ๆ มาใช้ดูแลพนักงาน เช่นการปรับไปใช้ Hybrid Workplace แล้วก็เรื่องความยืดหยุ่น (Flexible Work Arrangement) ซึ่งเป็นสิ่งที่พนักงานเทคะแนนให้มากที่สุด ตอนที่เราทำแบบสำรวจภายในองค์กรขึ้นมา ซึ่งที่ SAS เนี่ย จะใช้ระบบการทำงานแบบ Hybrid ไปยาว ๆ เลยค่ะ

อีกเรื่องคือในช่วงโควิดเนี่ยเหมือนกับเราขาดการติดต่อกันไป ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ดังนั้นพอสถานการณ์ดีขึ้น เราก็พยายามแก้ไขปัญหานี้โดยการสร้างกิจกรรมที่เน้นการมีส่วนร่วม เพื่อให้พนักงานรู้สึกสนิทสนมกันอย่างที่เคย

สิ่งสำคัญที่ต้องพูดถึงก็คือพนักงานของ SAS แต่ละท่าน ทำงานกันและอยู่ด้วยกันมานานค่ะ ทุกคนเป็นกันเอง อยู่กันแบบพี่น้อง และคอยช่วยเหลือกัน แม้ว่าจำนวนคนในส่วนของประเทศไทยจะไม่ได้มีเยอะก็ตามแต่ โควิดทำให้เราต้องใส่ใจเรื่องการรักษาพนักงานมาก ๆ เพราะไม่รู้ว่าในอนาคตจะเป็นอย่างไร

มาถึงคำถามสุดท้ายแล้ว อยากให้คุณประภาพร สรุปว่า HR ช่วยสนับสนุนการเติบโตขององค์กรได้อย่างไรบ้าง

SAS Software: HR ถือเป็นคนแรกเลยที่จะได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนนอก เราเลยเหมือนเป็นฝ่ายการตลาด (Marketing) และเป็นตัวแทน (Representative) ขององค์กรไปในตัว ขณะเดียวกันเราก็เป็นกำลังหลักของคนข้างในด้วย ทุกวันนี้เราต้องมีลักษณะเป็นเหมือนที่ปรึกษา เป็นเพื่อนคู่คิดให้กับพนักงานทุกคน ทุกระดับ ถ้าให้เปรียบเทียบก็คือ Country Manager มักจะมีมือขวาเป็น CFO เพราะฉะนั้นมือซ้ายก็คงเป็น HR นี่ล่ะ ที่จะคอยให้คำปรึกษา ให้ Direction ต่าง ๆ และให้คำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องคนในทุกๆ ด้าน ซึ่งทรัพยากรมนุษย์นี่ละค่ะถือเป็นฟันเฟืองหลักที่ช่วยให้องค์กรเดินต่อไปได้อย่างแข็งแรงค่ะ

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง