“Modern HR กับบทบาท Organization Designer” คุยกับ Senior HR Director จาก Cargill Thailand

HIGHLIGHT

  • Cargill เป็นอุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหารระดับโลก ก่อตั้งมาแล้วกว่า 158 ปีมีพนักงานรวมกันประมาณ 155,000 คน ใน 70 ประเทศทั่วโลก
  • Cargill มีค่านิยมองค์กร (Core Value) อยู่ 3 ข้อที่สำคัญได้แก่ 1.) Do The Right Thing 2.) Put People First และ 3.) Reach Higher
  • Cargill มีความเชื่อและให้ความสำคัญในการบริหารทรัพยากรมนุษย์ทั้งระบบ ตั้งแต่ กระบวนการสรรหาและว่าจ้างบุคลากร การฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากร และ การรักษาบุคลากรเพื่อความยั่งยืนโดยรวม
  • Cargill Thailand ใช้หลักการในการบริหารทรัพยากรมนุษย์โดยรวม ทั้งนี้ เป็นการบูรณาการกลยุทธ์ต่างๆ จากบริษัทแม่ที่สหรัฐอเมริกาเพื่อมาประยุกต์ปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย โดยมุ่งเน้นหลักการประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด ทั้งต่อพนักงานและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งระบบ

"Modern HR กับบทบาท Organization Designer" คุยกับ Senior HR Director จาก Cargill Thailand

หากเราต้องการเรียนรู้วิธีบริหารคนจำนวนมากเพื่อทำความรู้จักกับวิธีการบริหารจัดการความแตกต่างหลากหลายทางด้านเพศ วัย เชื้อชาติ วัฒนธรรมและภูมิหลังของพนักงานอย่างเป็นรูปธรรมแล้วก็ การเรียนรู้จากบริษัทอย่าง Cargill ดูจะเหมาะสมที่สุด เพราะคาร์กิลล์เป็นผู้ผลิต ผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ด้านอาหารและเกษตรกรรมระดับโลก ภายใต้ความร่วมมือจากเกษตรกร ลูกค้า หน่วยงานภาครัฐ และชุมชน

Cargill มีประสบการณ์กว่า 158 ปี มีพนักงาน 155,000 คนใน 70 ประเทศทั่วโลก โดยหากนับเฉพาะในเมืองไทยมีก็มีพนักงานรวมกว่า 16,000 คน ดังนั้นเราจะไปหาคำตอบพร้อม ๆ กันว่าทำไมคาร์กิลล์ถึงสามารถดูแลพนักงานจำนวนมากพร้อมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพจนคว้ารางวัล Best Companies To Work For In Asia จาก HR Asia และ Best Employer Award by Kincentric  ประจำปีที่ผ่านมา

ในโอกาสนี้ HREX.asia ขอพาทุกคนไปพูดคุยกับคุณวิชญะ พงศ์ผาสุก Senior HR Director จาก Cargill Thailand รับรองว่าบทสัมภาษณ์นี้จะเปลี่ยนมุมมองในการบริหารคนของคุณแน่นอน

ก่อนอื่นอยากให้คุณวิชญะสรุปให้ฟังหน่อยว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ Cargill Thailand ได้รับรางวัล Best Companies To Work For In Asia จาก HR Asia

คุณวิชญะ: ในมุมของผม ปัจจัยหลักคือเรื่องศักยภาพในการบริหารทรัพยากรบุคคล โดยมีแก่น (Core Value) ทั้งหมด 3 ข้อ อย่างแรกคือ Do The Right Thing อย่างที่สองคือ Put People First และอย่างสุดท้ายคือ Reach Higher โดยที่เราปรับตัวเข้าหาบริบททางสังคมอยู่ตลอดเวลา เช่น เรื่องของ DEI&B หรือการสนับสนุนและบริหารความแตกต่างหลากหลาย เราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เสมอ ซึ่งต้องย้ำว่าเราใส่ใจจริง ๆ ไม่ใช่การออกนโยบายเพื่อตามกระแสโลกแล้วปล่อยผ่านแต่อย่างใดครับ

เรามองเรื่อง People First เป็น Foundation (พื้นฐาน) ไม่ใช่ Fashion ที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป อย่างตอนที่เกิดโควิด-19  เราเจอกับความยากลำบากมาก แต่เราก็ดูแลพนักงานอย่างเต็มที่ เช่น การจัดหาวัคซีนให้กับพนักงานเพื่อสร้างความมั่นใจว่าพนักงานทุกคนที่ทำงานในบริษัทคาร์กิลล์มีความปลอดภัย ถึงแม้ว่าสถานการณ์วัคซีนในขณะนั้นเป็นเรื่องที่ท้าทายที่จะจัดหามาให้พนักงานและต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมากก็ตาม แต่เนื่องด้วยหลักปรัชญาการบริหารที่ให้ความสำคัญพนักงานต้องมาเป็นที่หนึ่ง จึงทำให้บริษัทสามารถควบคุมและบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ได้เป็นอย่างดี

Cargill ตระหนักว่าชีวิตของคนเราจะอยู่ด้วยตัวคนเดียวไม่ได้ ต้องมีคนรอบข้างด้วย เราก็เลยซื้อวัคซีนมาบริจาคให้กับชุมชนรอบ ๆ เช่นกัน เพราะหากเราปลอดภัย แต่คนรอบตัวไม่ปลอดภัย มันก็อาจนำไปสู่การระบาดใหญ่อีกครั้ง เลยจึงต้องช่วยป้องกันไว้ก่อนครับ

นอกจากนี้เรายังออกค่าใช้จ่ายให้พนักงานไปทำ Bubble and Seal โดยทำสัญญากับโรงแรมกว่า 100 แห่งในพื้นที่สระบุรีกับโคราช และเช่ายาวต่อเนื่องกว่า 2 เดือน ตรงส่วนนี้เราได้รับการสนับสนุนจากบริษัทแม่ที่สหรัฐอเมริกาเป็นอย่างดี และยังเน้นย้ำให้ผู้บริหารดูแลพนักงานของเราอย่างเต็มที่ ดังนั้นหากต้องตอบคำถาม ในมุมมองของผมก็คือเราเชื่ออย่างสนิทใจในค่านิยม Put People First

ในประเด็นของ DEI นั้น เรามีพนักงานที่เป็นฝ่ายปฏิบัติการรายวันประมาณ 12,000 คน อีก 4,000 คน เป็นพนักงานแบบรายเดือน เพราะฉะนั้นใน 12,000 คน จะมีทั้งคนไทยและชาวต่างชาติจากลาวและกัมพูชา ซึ่งเราปฏิบัติกับพวกเขาอย่างให้เกียรติและเท่าเทียมกันในมิติต่างๆของการบริหารงานทรัพยากรมนุษย์เพราะเรามองว่าพนักงานคือทรัพยากรที่มีค่าที่สุดขององค์กร และคือรากฐานที่จะทำให้บริษัทเติบโตได้อย่างยั่งยืน

"Modern HR กับบทบาท Organization Designer" คุยกับ Senior HR Director จาก Cargill Thailand

Forbes รายงานว่า Cargill ได้รับตำแหน่ง America’s Largest Private Companies ประจำปี 2021 ซึ่งเป็นช่วงที่โควิด-19 ยังระบาดอยู่ อะไรคือสิ่งที่คุณวิชญะคิดว่าเป็นเคล็ดลับขององค์กร ที่ช่วยให้ผ่านสถานการณ์อันเลวร้ายได้อย่างแข็งแกร่ง ?

คุณวิชญะ: ต้องยอมรับว่าสถานการณ์โควิด-19 เป็นเรื่องที่อยู่เหนือการควบคุมของเรา เนื่องด้วยเป็นสถานการณ์แพร่ระบาดทุกหย่อมหญ้าทั่วโลกและส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อธุรกิจทั่วโลก แต่อย่างที่บอกไปว่ารากฐานของคาร์กิลล์คือเรื่องของคนจริง ๆ เราตั้งคำถามทันทีว่าคนของเราได้รับการดูแลดีพอแล้วหรือไม่ ซึ่งไม่ใช่แค่พนักงานนะ เราหมายรวมถึงผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ทุกคน ทั้งคู่ค้า, ชุมชนรอบ ๆ โรงงาน เป็นต้น และมีความเชื่อว่า เราต้องรอดและปลอดภัยไปด้วยกัน

เรามีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อบริหารจัดการสถานการณ์ มีทีมที่คอยแก้ปัญหา (Crisis Management Team) เราก็มองดูว่าเราควรรับมือกับสถานการณ์เฉพาะหน้าอย่างไร มีคนลาออกแล้วต้องทำอย่างไร, ขวัญกำลังใจของพนักงานเป็นอย่างไร อะไรคือสิ่งที่บริษัทจะสามารถสนับสนุน ช่วยเหลือทั้งพนักงานและครอบครัวได้เพิ่มเติมอีกบ้าง ภายใต้การทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาครัฐ ชุมชนรอบข้าง เพื่อสร้างความเข้าใจอันดีต่อกันในการความคุมและบริหารจัดการสถานการณ์ดังกล่าว

"Modern HR กับบทบาท Organization Designer" คุยกับ Senior HR Director จาก Cargill Thailand

จากเหตุการณ์ข้างต้น ทำให้ในช่วงนั้นบริษัทเผชิญปัญหาด้านการขาดแคลนแรงงานและส่งผลต่อเนื่องถึงการผลิตสินค้าเพื่อส่งมอบให้กับลูกค้า ด้วยข้อจำกัดทั้งภาครัฐในเรื่องการเดินทาง การติดต่อประสานงานกับผู้สมัครงานในพื้นที่เป้าหมายและอื่นๆ ทำให้ทีมสรรหา (HR Recruiter) ของเราไม่สามารถใช้กระบวนการสรรหาและคัดเลือกบุคลากรตามแบบฉบับวิธีการเดิมๆได้อีกต่อไป อย่างไรก็ตามฝ่ายทรัพยากรบุคคลและผู้บริหารในฝ่ายต่างๆ ได้ร่วมกันระดมความคิดเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดภายใต้บริบท ณ ขณะนั้น จึงเป็นที่มาของการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์การสรรหาและว่าจ้างบุคคลากรจาก offline recruitment and selection strategy ไปเป็น online recruitment and selection strategy นั่นหมายถึง การสรรหาพนักงานในอากาศและเกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้อย่างไร ตัวอย่างเช่น ใช้สื่อ social media อาทิ TikTok, Facebook, YouTube,LINE เป็นต้น

โดยหลักการสำคัญ คือ การทำ SWOT Analysis เพื่อสร้างกลยุทธ์ SWOT Matrix เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายผู้สนใจสมัครงาน (รู้จักคาร์กิลล์ รักคาร์กิลล์ สมัครงานกับคาร์กิลล์ มาร่วมงานกับคาร์กิลล์)

จากกลยุทธ์ดังกล่าว เป็นผลทำให้บริษัทสามารถเพิ่มสัดส่วนการว่าจ้างพนักงาน จาก 43% เป็น 97% ภายในระยะเวลา 4 เดือน ซึ่งส่งผลดีต่อการดำเนินธุรกิจและความต่อเนื่องในการผลิตและส่งมอบอาหารปลอดภัยแก่ลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งยังได้รับรางวัล ใบประกาศจากลูกค้ากลุ่มต่างๆอย่างมากมาย นั่นจะส่งผลระยะยาวต่อความเชื่อมั่นและความเป็นมืออาชีพของบริษัทคาร์กิลล์โดยรวม

Cargill Thailand ที่มีคนหลากหลายทั้งด้านเชื้อชาติ, ตำแหน่ง (Hierarchy), วัฒนธรรม, ความเชื่อ คุณมีวิธีผสานคนทุกกลุ่มให้อยู่ร่วมกันได้อย่างไร ?

คุณวิชญะ: มีอยู่ 2 วิธีครับ อย่างแรกคือ Top-Down Strategy หรือการวิเคราะห์จากบนลงล่าง มองจากภาพใหญ่ที่สุดลงมาที่ภาพเล็ก และอีกวิธีหนึ่งคือ Bottom-Up Strategy หรือวิธีคิดและเลือกแบบเน้นพิจารณาจากสิ่งเล็ก ๆ เป็นสำคัญ ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไปไม่ได้เลย

ในเรื่องของ Top-Down Strategy ที่เกี่ยวกับ DEI เราก็จะพยายามทำเรื่องที่ซับซ้อนให้มันง่ายต่อการเข้าถึงและเข้าใจต่อพนักงานทุกคน ทุกระดับ เช่น DEI คือ แตกต่าง หลากหลาย ไปด้วยกัน เสมอภาค และเท่าเทียมกัน

จากนั้นก็ใช้ 2-Way Communication ใช้ภาษาง่าย ๆ ให้คนเข้าใจตรงกัน (Inclusive Language) ไม่จำเป็นต้องใช้คำที่ซับซ้อน ขอแค่เราถ่ายทอดออกไปได้ว่าการเคารพความแตกต่างสำคัญอย่างไร, หากเราทำแล้วจะส่งผลดีต่อชีวิตและองค์กรอย่างไร ทุกคนก็พร้อมจะทำตาม เพราะเราเป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญกับคนจนพนักงานสัมผัสได้อยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อเราเสนอแนวทางอะไรออกไป พนักงานก็จะเข้าใจว่ามันเป็นสิ่งที่ดีต่อพวกเขาจริง ๆ

Cargill เป็นครอบครัวใหญ่ที่มีคนรวมตั้งกว่า 16,000 คน ต่างที่มาที่ไป แล้วเราจะทำอย่างไรที่จะลดความเหลื่อมล้ำ ลดอคติ (Bias) ระหว่างกัน จากจุดนี้ก็นำไปสู่การจัดโครงการเพื่อบริหารเรื่อง Unconscious Bias หรือภาษาไทยคือการอคติแบบไม่รู้ตัว และที่สำคัญคือ บริษัทพยายามเน้นย้ำกับพนักงานระดับบังคับบัญชา เพื่อปฏิบัติตนและแสดงตัวอย่างที่ดีให้แกพนักงาน (lead by example)

"Modern HR กับบทบาท Organization Designer" คุยกับ Senior HR Director จาก Cargill Thailand

นฐานะองค์กรที่มีสาขาอยู่ 70 ประเทศทั่วโลก วิธีการสร้างสรรค์นโยบายจะเป็นอย่างไรครับ ? เป็นบริษัทแม่ให้นโยบายกลางมาให้เราไปปรับต่อตามความเหมาะสม หรืออย่างไร ?

คุณวิชญะ: วิธีการเป็นแบบนี้ครับ เราจะมี HR ส่วนกลางที่เรียกว่า Center of Expertise ทำหน้าที่เป็น “นักคิด” เพื่อช่วยสร้างสรรค์นโยบาย และเวลาเขาจะทำอะไรสักอย่าง เราก็จะมีตัวแทนของแต่ละพื้นที่เข้าไปพูดคุย จากนั้นก็จะมีขั้นตอนทดลองกับกลุ่มย่อย ๆ (Pilot) จนแน่ใจว่าได้ผล แล้วพอจะเอาไปใช้กับพนักงาน เราก็จะมีขั้นตอนที่เรียกว่า CCE (Change, Communication, Education) คือมีการสื่อสารและอบรมให้ทุกคนปรับตัวเข้าหาสิ่งใหม่ได้อย่างคล่องตัว หากเรามีส่วนใดที่อยากปรับ เราก็จะพูดคุยกันในขั้นตอนนี้ เรียกว่าแก่นของเราก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม

อย่างที่บอกไปว่าเรามีกระบวนการแบบ Bottom-Up ขึ้นไปด้วย วิธีการคือเราจะมีคณะกรรมการสวัสดิการประจำอยู่ในแต่ละโรงงาน ซึ่งประกอบไปด้วยคนหลายเชื้อชาติ หลายศาสนาที่จะมาระดมความคิด และส่งต่อให้กับทีมผู้บริหารสูงสุดของประเทศไทย เพื่อนำไปสู่การออกนโยบายที่ตอบสนองบุคลากรอย่างครอบคลุมที่สุดในลำดับต่อไป

เรียกว่าสวัสดิการของเราสมบูรณ์แบบนี้ได้ก็เพราะมีการรับฟังทั้งจากบนลงล่าง และล่างขึ้นบนเสมอ ซึ่งผมบอกเลยว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อองค์กรมีการสื่อสารที่ดี (Well Communication) อย่างที่คาร์กิลล์เราเลือกใช้เครื่องมือสื่อสาร (Communication Tools) ที่หลากหลายมาก เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลของเราส่งถึงทุกคน

เราทำประกาศทั่วไป เราทำวีดีโอ เราทำเสียงตามสาย ทำข้อมูลส่งทาง LINE หรือฝากไปทางหัวหน้า คือทุกช่องทางที่เรานึกออกว่าจะช่วยให้พนักงานเข้าถึงข้อมูลง่ายขึ้น เราจะทำทันที เรามีการแปลข้อมูลจากภาษาไทยไปเป็นภาษาลาว ภาษากัมพูชา อะไรแบบนี้ด้วย คือเราเน้นเรื่อง Put People First จริง ๆ

"Modern HR กับบทบาท Organization Designer" คุยกับ Senior HR Director จาก Cargill Thailand

ต้องยอมรับว่าโลกของเราเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ อย่างรวดเร็ว Cargill มีกระบวนการพัฒนาสวัสดิการให้สอดคล้องกับสภาพสังคมอย่างไร ?

คุณวิชญะ: Cargill ให้ความสำคัญในเรื่องของการจัดสรรค์สวัสดิการให้สอดคล้องกับสภาพสังคมนะ เรารู้ว่าทัศนคติของคนย่อมเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ดังนั้นเราจะยึดถือเพียงนโยบายแบบเดียวไม่ได้ แม้มันจะเคยเป็นนโยบายที่ประสบความสำเร็จมาก่อนก็ตาม

ยกตัวอย่างนโยบายด้านการรับพนักงาน ปัจจุบันเราก็มีการตั้งคณะกรรมการเข้ามาดูแลเรื่องความเท่าเทียมโดยตรง ซึ่งเวลาเราจะรับคนเข้ามาเนี่ย คาร์กิลล์ก็จะมีการพิจารณาจัดสรรให้มีสัดส่วนระหว่างชาย-หญิงที่เหมาะสมตามหลักการ คือต้องไม่มีการปฏิเสธหรือรับคนเพียงเพราะว่าเขาเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง ให้ดูกันที่ความสามารถดีกว่า

ขอยกตัวอย่างนะ เวลาเราพูดถึงคนที่ทำงานเป็นเอ็นจิเนียร์ หรือพวกช่างเนี่ย ภาพจำของเราก็จะนึกถึงผู้ชายเป็นหลักถูกไหม? สิ่งนี้ถือว่าเป็น Unconscious Bias เหมือนกัน เราเลยตั้งเป้าว่าจะเพิ่ม Ratio ระหว่างชายหญิงที่ชัดเจนขึ้นให้ได้ จนตอนนี้เรามีวิศวกรและ Line Manager ที่เป็นผู้หญิงอยู่เต็มเลย คือในอัตราพนักงาน 16,000 คนเนี่ย มีถึง 58% ที่เป็นผู้หญิงครับ

ที่สำคัญเรามีคณะกรรมการด้านสวัสดิการที่จะคอยพิจารณาข้อเสนอแนะของพนักงานเช่นกัน ซึ่งไม่ว่าใครก็สามารถเข้าถึงตรงนี้ได้นะ ส่วนองค์กรจะตัดสินใจอย่างไรก็ให้เป็นเรื่องของการพิจารณา แต่ผมฝากไว้อย่างหนึ่งว่า เมื่อมีคนเข้ามาพูดคุยหรือเรียกร้องอะไรจากเรา แม้ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร เราก็ต้องมีคำตอบให้เขา อย่าปล่อยให้คำพูดของอีกฝ่ายหายไปในอากาศ ต้องให้เกียรติความคิดของเขา เพราะนี่คือรากฐานของ Feedback Culture ที่จะช่วยให้พนักงานของเรากล้าออกความคิดเห็นซึ่งจะส่งผลดีกับองค์กรอย่างมากในอนาคต

ผมคิดเสมอว่าองค์กรต้อง Do The Right Thing with The Like Thing under The Right Direction (ถูกต้อง ถูกใจ ถูกทาง) อันนี้เป็นแก่นที่ HR ต้องนึกถึงเสมอครับ

สุดท้ายนี้อยากให้ทางคุณวิชญะสรุปว่า HR สามารถสนับสนุนการเติบโตขององค์กรได้อย่างไร ?

คุณวิชญะ:

  1. ผมมองว่า HR ในปัจจุบันควรแสดงบทบาทในการเป็น Modern HR และ Organization Designer เพื่อกำหนดทิศทางการบริหารทรัพยากรมนุษย์ภายใต้บริบทที่เปลี่ยนไปอย่างต่อเนื่อง
  2. บทบาทของ HR ควรมุ่งเน้นในการสร้าง foundation มากกว่า fashion เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างมั่นคงยั่งยืน
  3. Do The Right Thing with The Like Thing under The Right Direction (ถูกต้อง ถูกใจ ถูกทาง) อันนี้เป็นแก่นที่ HR ต้องนึกถึงเสมอครับ เพราะเนื่องจากว่า เราไม่สามารถที่จะบริหารและจัดการในทุกๆเรื่องให้ถูกใจทุกๆคนได้ ดังนั้น HR มืออาชีพจะต้องมีมุมมองและรักษาสมดุลในเรื่องต่างๆเหล่านี้ให้ดี
  4. Strategic Human Resource Management (SHRM) และ Strategic Human Resource Development (SHRD) คือหัวใจสำคัญที่จะทำให้องค์กรหลุดพ้นจากบ่วงงานแอดมิน งาน day-to-day โอเปอเรชั่น ไปเป็นองค์กรแห่งอนาคตที่สดใสได้
  5. ปลูกฝังสร้างความเข้าใจเรื่องบทบาทและหน้าที่ของหัวหน้างานผู้จัดการเพราะคนเหล่านี้คือหัวเชื้อที่สำคัญในการนำพาองค์กรการบริหารทีมงานไปสู่ความสำเร็จทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างยั่งยืนในระยะยาว (You are People Manager)

"Modern HR กับบทบาท Organization Designer" คุยกับ Senior HR Director จาก Cargill Thailand

"Modern HR กับบทบาท Organization Designer" คุยกับ Senior HR Director จาก Cargill Thailand

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง