HIGHLIGHT
|
ทุกคนน่าจะเคยได้รับการปลูกฝังมาว่า การโกหกคือพฤติกรรมที่ไม่น่ารักและไม่ควรทำเด็ดขาด แต่แทบทุกคนน่าจะเคยเจอสถานการณ์ในชีวิตที่ต้องโกหกกันบ้างไม่มากก็น้อย
รู้หรือไม่ว่า สถานการณ์ที่ทำให้ต้องโกหกมักเกิดขึ้นในขั้นตอนการสมัครงาน ไม่ว่าจะสมัครงานบริษัทเอกชน สมัครงานราชการ สมัครงานใกล้ฉัน หรือสมัครงานที่ไหนก็ตาม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะสัมภาษณ์งานนั่นเอง ไม่ว่าจะสัมภาษณ์งานภาษาไทย หรือสัมภาษณ์งานภาษาอังกฤษ เป็นต้น
การโกหกตอนสมัครงานถือเป็นเรื่องปกติจริงหรือไม่ เราไม่ควรโกหกขณะสัมภาษณ์งานจริงรึเปล่า HREX ขอพาไปดูคำตอบกันผ่านบทความนี้เลย
Contents
- โกหกนั้นตายตกนรก! รู้จักนิสัยการโกหก (Lie) พฤติกรรมที่ใคร ๆ ก็ไม่ปลื้ม
- ทำไมผู้สมัครงานถึงโกหก เวลาสัมภาษณ์งานกับ HR
- 7 เรื่องที่ผู้สมัครงานโกหกตอนสัมภาษณ์งาน
- ผู้สมัครงานโกหกเรื่องอะไร ที่ HR พอจะรับได้ตอนสัมภาษณ์งาน
- วิธีจับโกหกผู้สมัครงานตอนสัมภาษณ์งานสำหรับ HR
- ไม่ได้มีแต่ผู้สมัครงานที่โกหก แต่ HR ก็โกหกตอนสัมภาษณ์เช่นกัน
- บทสรุป
โกหกนั้นตายตกนรก! รู้จักนิสัยการโกหก (Lie) พฤติกรรมที่ใคร ๆ ก็ไม่ปลื้ม
ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 คำว่า โกหก หมายถึง “ก. จงใจกล่าวคำที่ไม่จริง, พูดปด, พูดเท็จ, (มักใช้ในที่ไม่สุภาพ). (ป., ส. กุหก).”
วรชัย ทองไทย จาก theprachakorn.com เคยเขียนถึงระดับของการโกหกว่ามีหลายระดับ ตั้งแต่เล็กน้อยที่ไม่มีใครถือสา ไปจนถึงขั้นร้ายแรงจนมีปัญหาในเชิงกฎหมาย ได้แก่
1.พูดจาไร้สาระ (Bullshit) การพูดเรื่อยเปื่อยโดยไม่สนใจว่า สิ่งที่กล่าวออกไปนั้นคือจริงหรือเท็จ แต่บางครั้ง ความตั้งใจของผู้พูดอาจเพียงต้องการให้ผู้ฟังรู้สึกประทับใจเท่านั้น แต่หากยิ่งพูดไร้สาระบ่อย ๆ มันอาจเป็นตัวการนำไปสู่การโกหกที่เรื่องใหญ่กว่านั้นได้
2.โกหกสีขาว (White Lies – บางคนอาจเรียกว่า Good Lies) การโกหกพราะต้องการให้ผู้ฟังรู้สึกดี ไม่ให้รู้สึกกระทบกระเทือนหากได้รับทราบความจริง เป็นการโกหกภายใต้เจตนาที่ดี สร้างประโยชน์แก่ส่วนรวม แต่ก็ต้องระวังว่าหากอีกฝ่ายรับรู้ความจริง ก็อาจจะรู้สึกเหมือนโดนหลอก โดนทำร้ายจิตใจได้
3.การพูดเกินกว่าความเป็นจริง (Exaggeration) หมายถึงการพูดโอ้อวด แต่งเติมเรื่องราวจนเกินกว่าความจริง
4.การบิดเบือน (Distortion) การเพิ่มหรือลดทอนรายละเอียดบางอย่างของข้อเท็จจริง มีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้คนฟังเข้าใจผิด มักใช้กันบ่อยในการโฆษณา
นอกจากนั้น สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ยังเคยอธิบายไว้ด้วยว่า การโกหกอีกหลายรูปแบบ แต่การโกหกที่ทำจนเป็นนิสัย เป็นความเคยชิน และสร้างปัญหาให้กับผู้อื่นมี 2 แบบ ได้แก่
1.การโกหกตัวเอง (Pathological Liar) หมายถึง ภาวะการโกหกที่ควบคุมไม่ได้ ถือเป็นการหนีปัญหารูปแบบหนึ่ง มักจะมีการแต่งเติมสิ่งที่ขาดไปด้วยการจินตนาการตามสภาพที่อยากเป็น ผู้ป่วยที่มีอาการโกหกตัวเอง อาจมีลักษณะต่อต้านสังคม ขาดสังคม หรือขาดความเชื่อมั่นในตนเอง
2.การโกหกเป็นนิสัย (Compulsive Liar) กรณีนี้จะเป็นขั้นกว่าของการโกหกตัวเอง เพราะหมายถึงการหลอกลวง ให้ความบิดเบือนต่อผู้อื่น
จากความหมายทั้งหมดล้วนบ่งชี้ได้ว่า การโกหกเป็นสิ่งที่ไม่ดีหากไปทำกับผู้อื่น แต่รู้หรือไม่ว่า ผลการศึกษาจาก University of Massachusetts พบว่า ผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไปประมาณ 60% จะโกหกทุก 10 นาทีเวลาคุยกับผู้อื่น แถมในช่วงเวลานั้นจะโกหกโดยเฉลี่ยถึง 3 ครั้งเลยทีเดียว
ทำไมผู้สมัครงานถึงโกหก เวลาสัมภาษณ์งานกับ HR
ถ้าถามคุณผู้อ่านว่า “คุณเคยโกหกตอนสัมภาษณ์งานไหม” เชื่อว่าต้องมีไม่น้อยตอบว่า “เคย” อย่างแน่นอน หรือถ้าใครบอกว่าไม่เคย จำนวนไม่น้อยก็อาจเป็นคนที่กำลังโกหกตัวเองอยู่
แดเนียล ดิสนี่ย์ (Daniel Disney) เคยเขียนบทความใน Linkedin ไว้ว่า มีคนถึง 81% เลยทีเดียวที่โกหกตอนสัมภาษณ์งาน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก
แต่จริง ๆ แล้ว การโกหกอาจเริ่มตั้งแต่ตอนทำเรซูเม่สมัครงานเสียด้วยซ้ำ จากการสำรวจของ indeed.com พบว่า กว่า 40% ของผู้สมัครงานทำเรซูเม่โดยใส่ข้อมูลที่ไม่ใช่ความจริงเป็นเรื่องปกติ เช่น บางคนอาจไม่มีทักษะด้านภาษาต่างประเทศ แต่ก็ระบุข้อมูลไปว่า มีทักษะภาษาอังกฤษในระดับ “ดีมาก” พอได้ทดสอบจริง ๆ กลับพบว่าไม่สามารถสื่อสารได้เลย เป็นต้น
สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะคนจำนวนมากกลัวว่าจะไม่มีงานทำ เนื่องจากประวัติการทำงานของตัวเองไม่มีอะไรที่น่าสนใจ หรือน่าดึงดูดเพียงพอ จึงต้องหาทางปั้นเรื่องเพื่อทำให้ประวัติการทำงานโดดเด่นและเตะตา HR ผู้ว่าจ้างมากกว่าคนอื่น ซึ่งจะช่วยให้มีโอกาสได้งานมากกว่าเดิม
แต่ไม่ว่าผู้สมัครงานจะโกหกเก่งแค่ไหน ก็ขอให้รู้ไว้ว่าไม่สามารถเล็ดรอดสายตาของ HR มืออาชีพไปได้ มีการศึกษาพบอีกว่ามีรีครูทเตอร์ 3 ใน 4 คนมีความสามารถในการจับโกหกผู้สมัครที่ให้ข้อมูลผิด ๆ เกี่ยวกับเรซูเม่ของตัวเองเลยทีเดียว
ส่วน เทรเวอร์ เชอร์แมน (Trevor Sherman) Senior Recruiter ของบริษัท Staples กล่าวว่า การโกหกต่อรีครูทเตอร์ หรือผู้ว่าจ้างนั้นมาพร้อมความเสี่ยงสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นการสมัครงานในตำแหน่งหน้าที่ไหนก็ตาม เพราะหากผู้สัมภาษณ์งานเพียงรู้สึกนิดเดียวว่า ผู้สมัครงานมีอะไรที่ไม่น่าไว้วางใจ และไม่น่าพูดความจริง แค่นั้นก็พร้อมจะขีดฆ่าชื่อเขาจากการรับเข้าทำงานทันที
7 เรื่องที่ผู้สมัครงานโกหกตอนสัมภาษณ์งาน
การโกหกในห้องสัมภาษณ์งานเกิดขึ้นเป็นปกติ และเรื่องการโกหกเรียกได้ว่ามีแทบทุกหัวข้อ แต่หากให้คัดเฉพาะเรื่องที่พบเจอบ่อยจริง ๆ ล่ะก็ จะมีเรื่องหลัก ๆ ดังต่อไปนี้
1.โกหกเรื่องทักษะ Hard Skill ที่มี
เพราะอยากได้งานที่ใฝ่ฝัน แต่ทักษะยังไม่ถึง ผู้สมัครงานจึงจำใจต้องโกหก เพื่อบอกว่าตัวเองนั้นมีคุณสมบัติดี ครบถ้วน
หากบางคนเมื่อได้งานจริงแล้วสามารถฝึกฝนจนเก่งกาจในด้านนั้นขึ้นได้ก็ดีไป แต่ส่วนใหญ่มักไม่ได้ลงเอยเช่นนั้น ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อทั้งพนักงาน รวมถึงบริษัทที่ต้องเสียเวลาส่งไป Upskill-Reskill เพิ่ม หรือบางกรณีอาจต้องหาพนักงานใหม่เลย ที่จะเสียทั้งเงินและเวลาโดยใช่เหตุ
2. โกหกเรื่องเงินเดือน
หลายคนอาจไม่คาดคิดว่า จะมีคนโกหกเรื่องเงินเดือนด้วยเหรอ ทั้ง ๆ ที่ HR สามารถสืบค้นข้อมูลได้ง่าย แต่ในความเป็นจริงมีคนโป้ปดเรื่องนี้เป็นประจำ ด้วยความคิดว่า การมีเงินเดือนสูงจากงานก่อน บ่งบอกถึงการมีทักษะ การมีประสบการณ์ที่มาก ชวนดึงดูดใจตามไปด้วย โดยหารู้ไม่ว่าหากโดนจับได้ว่าโกหก มันจะลดความน่าเชื่อถือของผู้สมัครงานทันที
หรือกรณีที่พบเจอได้อีกเช่นกันก็คือ ผู้สมัครโดนขอให้ลดเงินเดือนลงมาน้อยกว่าที่ตัวเองเคยขอไว้ แม้จะไม่โอเคกับตัวเลขที่ออกมา แต่ก็บอกกับ HR ไปว่า “ได้” เพราะเชื่อว่าจะทำให้มีโอกาสได้งานสูงขึ้น แต่วิธีนี้จะไม่เป็นผลดีต่อพนักงานเองที่จะต้องได้รับเงินที่ไม่เหมาะสมกับฝีมือ จนสุดท้ายก็จะอยู่กับองค์กรได้ไม่นาน
3. โกหกเรื่องประวัติการทำงาน
บ่อยครั้ง ประกาศรับสมัครงานมักระบุว่า ต้องการคนที่มีประสบการณ์การทำงานมาแล้วกี่ปี หรือเคยผ่านงานด้านใดมาก่อน คนที่ต้องการงานดังกล่าว แต่ประสบการณ์ไม่เพียงพอจึงโกหกเพื่อให้ประวัติดูเก๋ แม้จะไม่เคยมีประสบการณ์ทำงานนั้นมาก่อนก็ตาม
แต่หากใครทำวิธีนี้ล่ะก็ อย่าลืมว่าวงการมันแคบกว่าที่คิด คนเป็น HR หรือคนระดับหัวหน้าสามารถสอบถามประวัติข้ามบริษัทกันได้ง่าย ๆ แล้วหากพบว่าคุณโกหกล่ะก็ ไม่เพียงคุณจะถูกเขี่ยทิ้งทันที แต่ยังหมายถึงการขึ้นบัญชีดำ จนไม่สามารถหางานในตำแหน่งใดได้ง่ายอีกเลย
4. โกหกเรื่องประวัติการศึกษา
เช่นเดียวกับประวัติการทำงาน บางคนถึงขั้นโกหกเรื่องของประวัติการศึกษา เพราะเห็นว่าจบมาไม่สูง จบมาไม่ตรงสาย หากใครกล้าใช้วิธีนี้ล่ะก็ ระวังมันจะกลับมาทำลายตัวเองในภายหลัง และบางคนอาจมีปัญหาทางกฎหมายตามมา จากการปลอมแปลงเอกสารด้วย
5. โกหกว่าสนใจทำงานที่องค์กรนี้ที่เดียว
หลายคนอาจคิดว่าเวลาสัมภาษณ์งานต้องปากหวานเข้าไว้ พูดด้านบวก หรืออวยยศองค์กรให้เยอะ ๆ ว่า “สนใจทำงานที่บริษัทนี้ที่เดียว ไม่เคยชายตามองบริษัทไหนเลย” “การทำงานที่นี่คือความฝันสูงสุด” เพื่อให้องค์กรสนใจรับเข้าทำงาน
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ตัวเองกลับยื่นใบสมัครงานแบบเหวี่ยงแหพร้อมกัน 20 ที่ และแอบสนใจทำงานกับที่อื่น ๆ มากกว่า และหลังองค์กรแรกรับเข้าทำงานแล้ว จึงค่อยแจ้งบริษัทไปว่า ได้งานกับอีกที่เรียบร้อย กลายเป็นปัญหาที่บริษัทจะต้องรับสมัครพนักงานใหม่ เสียเงินและเวลาเพิ่มเติม
6. โกหกว่าชอบงานที่ท้าทาย รับมือกับความกดดันได้สูง
เวลาคนมาสมัครงาน แทบทั้งนั้นล้วนอยากได้งานที่สบาย ไม่ต้องออกแรงเยอะ แล้วก็ได้เงินเยอะด้วย แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง ขอแค่ได้งานทำ จะงานไหนก็ได้เป็นพอ ผู้สมัครงานจำนวนไม่น้อยจึงยอมบอกว่า ชอบงานที่ท้าทาย และสามารถรับความกดดันได้สูง เพราะคิดว่าจะพูดอย่างไรก็ได้ ขอเพียงได้เข้าไปทำงานก่อนก็พอ ที่เหลือจากนั้นค่อยว่ากัน
7. โกหกว่าลาออกทั้งที่โดนไล่ออก
การโดนไล่ออกจากที่ทำงานเก่าถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะอาจมีแนวโน้มว่าเขาผู้นั้นน่าจะต้องทำความผิดที่ร้ายแรงทีเดียว แม้จะไม่ใช่อย่างนั้นเสมอไป เช่น การปลดพนักงานออกจำนวนมากของบริษัทเทคโนโลยีในช่วง 1-2 ปีมานี้ ที่สาเหตุไมไ่ด้มาจากการที่พนักงานทำเรื่องผิดศิลธรรมจรรยาแต่อย่างใด เป็นต้น
แต่ถ้าบางคนสมัครงานใหม่แล้วไม่ยอมบอกความจริงว่าโดนไล่ออก โดนปลดออก HR ก็อาจมองได้ว่าเขาจงใจผิดบังข้อเท็จจริงบางอย่าง ที่ถึงจะไม่ใช่เรื่องเลวร้าย แต่ทำไมถึงต้องปิดบังความจริงด้วย มีเหตุผลอะไรนอกเหนือจากนั้นหรือไม่
อย่าลืมว่า การสืบประวัติย้อนหลังนั้นทำได้ไม่ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีเทคโนโลยีล้ำสมัยมากขึ้นเรื่อย ๆ หากโกหกว่าลาออกเองทั้งที่โดนไล่ออกในเรื่องที่ร้ายแรงล่ะก็ มันจะเป็นการปิดประตูเส้นทางอาชีพอย่างถาวร
ผู้สมัครงานโกหกเรื่องอะไร ที่ HR พอจะรับได้ตอนสัมภาษณ์งาน
จริงอยู่ว่าการโกหกเป็นเรื่องที่ HR ยากจะรับได้ แต่รู้หรือไม่ว่าในห้องสัมภาษณ์ก็ไม่ได้เคร่งเครียดว่าต้องพูดความจริงอย่างเดียวเสมอไป เพราะมีบางเรื่อง บางคำตอบที่ HR พอจะอนุโลมได้หากผู้สมัครงานตอบแบบไม่ได้คิดตามนั้นจริง ๆ โดยมี 5 ประเด็นหลักที่พบเจอบ่อยดังต่อไปนี้
1. โกหกเรื่องเป้าหมายในอนาคต
เวลาถามว่า “คุณมองเห็นตัวเองเป็นอย่างไรในอีก 5 ปีต่อจากนี้” แต่ละคนย่อมตอบกันคนละแบบอยู่แล้ว และจะตอบอะไรก็ได้ เพราะไม่มีใครรู้ว่าคำตอบเหล่านั้นจะกลายเป็นความจริงได้หรือไม่
ขอเพียงคำตอบที่ออกมาไม่ล่อแหลมเกินไป ไม่เผยทัศนคติในด้านลบเกินไป HR ย่อมปล่อยผ่าน และไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องที่เลวร้าย
2. โกหกเรื่องงานอดิเรก
ทุกคนล้วนมีความชอบ มีอดิเรกแตกต่างกันไป บางคนชอบดูหนัง บางคนชอบฟังเพลง บางคนชอบเล่นกีฬา ดังนั้น ไม่ว่าจะตอบอะไร HR ก็คงไม่สามารถมาจับผิดได้ว่ามันคือเรื่องจริงหรือไม่ ขอเพียงอย่าพูดเสียจนจับได้ว่ากำลังปากอย่างใจอย่าง หรือกำลังโอ้อวดในประเด็นใดแบบเกินจริงอยู่ก็พอ
3. โกหกเรื่องจุดอ่อนของตัวเอง
เวลาโดนถามว่า “คุณคิดว่าตัวเองมีจุดอ่อน/จุดด้อยอะไร” คงไม่มีใครกล้ายอมรับออกมาตรง ๆ หรอกว่าตัวเองเป็นคนขี้เกียจสันหลังยาว ชอบอู้งาน ขี้โกหก เพราะมันจะกลายเป็นการตัดคะแนนของตัวเองเสียมากกว่า
ใจความสำคัญของคำถามนี้ HR ต้องการดูว่าผู้สมัครงานมีวาทศิลป์ในการพูด ในการตอบคำถามหรือไม่ จะสามารถบิดจุดอ่อนของตัวเองให้กลายมาเป็นจุดแข็งอย่างไรได้บ้าง ซึ่งหากผู้สมัครทำได้ จะกลายเป็นคะแนนพิเศษ ที่ช่วยสร้างความประทับใจให้ HR มากกว่าจะโดนตัดคะแนนเสียอีก
4. โกหกว่าทำไมถึงลาออกจากที่ทำงานเก่าตอนสัมภาษณ์งาน
เวลา HR ถามว่า “ทำไมถึงอยากออกจากที่ทำงานปัจจุบัน เพื่อย้ายมาทำงานที่นี่” เป็นคำถามที่ HR เดาได้ไม่ยากว่า คำตอบมักจะไม่ใช่เรื่องจริงแน่นอน เพราะคงไม่มีใครอยากร่วมงานกับคนที่ด่าที่ทำงานเก่าแบบสาดเสียเทเสีย แต่เป็นการวัดไหวพริบปฏิภาณของผู้สมัครงานว่า มีวาทศิลป์ในการพูดอย่างไร จะตอบอย่างไรโดยไม่สาดโคลนใส่ที่ทำงานเก่า (แม้มันจะเป็นเรื่องจริงก็ตาม) เพื่อรักษาหน้าของทุกฝ่าย และรักษาความเป็นมืออาชีพไว้มากที่สุด
และมันก็อาจเป็นการพยากรณ์ล่วงหน้าได้ด้วยว่า หากพนักงานคนนั้นลาออกไปทำงานที่อื่นในอนาคต เขาก็จะพูดแบบเดียวกันในห้องสัมภาษณ์ถึงองค์กรเก่าที่เขาเคยร่วมงานมา
วิธีจับโกหกผู้สมัครงานตอนสัมภาษณ์งานสำหรับ HR
HR มืออาชีพ มีประสบการณ์การทำงานมายาวนาน ผ่านการสัมภาษณ์คนมาเยอะแยะ จะสามารถจับโกหกในห้องสัมภาษณ์ได้อย่างรวดเร็ว โดยวิธีการคร่าว ๆ มีดังต่อไปนี้
1. จับโกหกผ่านภาษาพูด
เวลาคนพูดโกหก หรือเตรียมเรื่องมาว่าจะโกหกในเรื่องใดแน่นอน วิธีการพูด การเลือกคำที่ใช้พูดจะแตกต่างไปจากการพูดแบบปกติ เช่น พูดจาอ้อมโลก ใช้คำสวยหรู ถือเป็นกลวิธีในการปกปิดความจริงที่หลายคนอาจไม่รู้ตัว หาก HR พบว่าคำตอบมีกลิ่นตุ ๆ ก็อาจขอให้เขาลองอธิบายในสิ่งนั้นอีกที หรือให้เล่าแบบกระชับขึ้น ซึ่งหากผู้สมัครงานเริ่มเล่าไม่เหมือนเดิม มีหลายรายละเอียดเปลี่ยนไปล่ะก็ บ่งชี้ได้ว่าน่าอาจไม่ใช่เรื่องจริงก็เป็นได้
หรือบางครั้ง น้ำเสียงของผู้สมัครงานเวลาสัมภาษณ์ ก็อาจบ่งบอกถึงการพูดไม่จริงได้เช่นกัน ทั้งการใช้เสียงสูงกว่าปกติ การพูดติด ๆ ขัด ๆ การพูดแบบไม่มั่นใจ เป็นต้น เหล่านี้ล้วนเป็นธงแดงที่ชัดเจนมาก ๆ ว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นที่ HR ควรระวัง
2. จับโกหกผ่านภาษากาย
บางครั้งผู้สมัครงานจะรู้สึกกลัวว่าจะโดนจับโกหกได้ จึงแสดงท่าทางที่ผิดปกติบางอย่างออกมาโดยไม่จำเป็น หาก HR ศึกษาอวัจนภาษามานานล่ะก็ จะสามารถจับสังเกตท่าทางที่ผิดปกติได้ไม่ยาก อาทิ ผู้สมัครสบตาผู้สัมภาษณ์หรือไม่ ขณะพูดกระพริบตาไหม การวางมือเป็นอย่างไร เป็นต้น
3. จับผิดผ่านเรซูเม่
วิธีการนี้เริ่มง่าย ๆ ด้วยการดูวันที่เริ่มทำงานจนถึงวันออกจากงานของแต่ละที่มาเทียบกัน หากพบว่ามีบางอย่างผิดปกติ เช่น มีรอยต่อระหว่างงานที่ 1 และ 2 ชัดเจนว่าว่างงานอยู่ 2 ปี ก็อาจนำไปถามในห้องสัมภาษณ์ได้ว่า ช่วงเวลาที่หายไปนั้นเกิดอะไรขึ้น ระหว่างนั้นทำงานอะไร
หรือจะดูคำอธิบายบทบาทหน้าที่ที่ทำจากงานอื่น ๆ หากพบว่ามีบทบาทหน้าที่แปลก ๆ ก็อาจเก็บไปถามในห้องสัมภาษณ์ได้ด้วยเช่นกัน เพื่อดูว่า คำอธิบายของเขาผ่านคำพูด กับผ่านการเขียนตรงกันหรือไม่ ซึ่งหากเป็นเรื่องโกหกล่ะก็ จะสังเกตเห็นได้ไม่ยาก
4. ตรวจประวัติการทำงานย้อนหลัง (Background Check)
ในยุคที่เทคโนโลยีทันสมัย HR สามารถทุ่นแรงด้วยการหาเครื่องมือตรวจประวัติผู้สมัครงานย้อนหลัง (Background Check) ได้ ซึ่งจะช่วยคัดกรองคนและช่วยป้องกันปัญหาหลายอย่างที่อาจเกิดขึ้นตามมา
แต่หาก HR องค์กรไหนไม่เชี่ยวชาญเรื่องการตรวจสอบประวัติพนักงานล่ะก็ สามารถมาค้นหาผลิตภัณฑ์และบริการด้าน Background Screening Provider ผ่านแพลตฟอร์มของ HREX ที่จะช่วยให้ HR สามารถตรวจสอบประวัติผู้สมัครงานได้อย่างละเอียด ขุดไปเจอจนถึงประวัติอาชญากรรมเลยด้วย โดยสามารถมาค้นหาได้ทางลิงก์นี้
ไม่ได้มีแต่ผู้สมัครงานที่โกหก แต่ HR ก็โกหกตอนสัมภาษณ์เช่นกัน
เวลาพูดถึงการโกหกตอนสมัครงาน หรือตอนสัมภาษณ์งาน คนที่ดูแย่มักจะเป็นผู้สมัคร แต่รู้หรือไม่ว่า HR – HR Manager รวมถึงบรรดาผู้ทำหน้าที่สัมภาษณ์งานเพื่อคัดกรองคนเข้าทีม ก็เป็นฝ่ายที่โกหกเก่งไม่แพ้ผู้สมัครเลย
สำหรับคำโกหกจากฝั่งของ HR ที่เจอได้บ่อย ๆ เช่น “วัฒนธรรมองค์กรที่นี่น่าอัศจรรย์มาก” “เรายึดถือค่านิยมเรื่อง Work-Life balance” “งานที่ได้รับมอบหมายมีเพียงเท่านี้” ซึ่งบางที่อาจพูดเพื่อจูงใจให้คนอยากมาทำงาน อยากอยู่คู่องค์กรไปนาน ๆ แต่ความเป็นจริง หาใช่แบบนั้นไม่ (แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นแบบนั้นทุกที่เสมอไป)
หรือการโกหกที่หนักข้อที่สุดก็คือการ Ghosting หรือการบอกหลังจบการสัมภาษณ์ว่า “เราจะติดต่อกลับไปเรื่องผลการสัมภาษณ์” แต่สุดท้ายก็ไม่เคยติดต่อกลับไปแจ้งผลการสมัครเลยว่าผู้สมัครได้งานหรือไม่
แม้การ Ghosting จะไม่ใช่การโกหกที่คอขาดบาดตาย เมื่อเทียบกับการโกหกของฝั่งผู้สมัครงาน แต่มันก็ถือเป็นเรื่องใหญ่ในความคิดของผู้สมัครงานหลาย ๆ คนที่กำลังคาดหวังว่าจะได้งานหรือไม่ หากไม่ได้ขึ้นมา เขาจะได้วางแผนถูกว่าควรสมัครงานที่ไหนต่อดี เป็นต้น
หากผู้สมัครงานกังวลในตัวบริษัทที่จะเข้าไปสัมภาษณ์งานด้วย ก็สามารถทำตามขั้นตอนแบบเดียวกับตอน HR จับโกหกได้เช่นกัน นั่นคือการตรวจสอบประวัติองค์กรนั้นอย่างละเอียด เพื่อให้มั่นใจว่านี่คือองค์กรที่เข้าไปทำงานด้วยแล้วมีความสุขจริง ๆ ไม่เจอเรื่องปวดหัวตามมา
และหากเป็นไปได้ ถ้าพอรู้จักคนที่ทำงานอยู่ในปัจจุบัน หรือพนักงานที่ลาออกไปแล้ว ก็สามารถพูดคุยสอบถามรายละเอียดด้วยเช่นกันว่า สถานการณ์ในที่ทำงานจริงเป็นอย่างไร จะได้ไม่รู้สึกเหมือนโดนหลอกจนต้องเสียเวลา และเสียความรู้สึก ซึ่งบางทีก็ไม่ต้องกลัวการโดนโกหก เพราะบางทีคนที่ทำงานอยู่แล้ว อาจจะบอกตามตรงไปเลยว่า “อย่ามาสมัครเลย” และ “ตัวเขานี่แหละที่กำลังจะออกจากงานเพราะทนไม่ไหวแล้ว” (ฮา)
บทสรุป
การโกหกเป็นพฤติกรรมไม่ดีที่ไม่ว่าใครก็ไม่ควรทำ แต่ในการสัมภาษณ์งานกลับพบเจอการโกหกอยู่เสมอ ทั้งจากผู้สมัครงานเอง รวมถึง HR ผู้สัมภาษณ์งานด้วย
ทั้งนี้ทั้งนั้น คงไม่มีใครอยากทำงานกับคนที่โกหกปลิ้นปล้อนตลอดเวลา การที่แต่ละฝ่ายต่างพูดความจริงต่อกันตั้งแต่แรก น่าจะเป็นส่งผลดีต่อทุกฝ่ายมากกว่า และยังเป็นการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดี ช่วยให้ทุกคนทำงานอย่างมีความสุขด้วย
Sources: |