CANDIDATE GHOSTING ทำอย่างไรเมื่อผู้สมัครไม่ยอมมาสัมภาษณ์งานตามนัด

HIGHLIGHT

  • แรกเริ่มเดิมที Ghosting เป็นศัพท์ในแวดวงการออกเดท ว่าด้วยคน 2 คนที่พูดคุยกันถูกคอ จนพร้อมจะพัฒนาความสัมพันธ์ไปอีกขั้น อย่างไรก็ตาม จู่ ๆ ฝ่ายหนึ่งกลับหายไปจากชีวิตของอีกฝ่ายแบบไม่ร่ำลากันก่อน
  • ด้วยความหมายจี๊ดใจ Ghosting จึงกลายเป็นคำที่ใช้ในแวดวงการหางานตามไปด้วย เรียกว่า Candidate Ghosting ที่หมายความถึง การที่บริษัทผู้ว่าจ้างงานโดนผู้สมัครงานเท ไม่มาสัมภาษณ์งานตามนัด ไม่มาทำงานวันแรก หรือหนักกว่านั้นคือทำงานไปแล้ว แต่จู่ ๆ ก็ลาออกกระทันหัน โดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า
  • บริษัทที่เป็นผู้รับสมัครงานเองสามารถทำ Ghosting ใส่ผู้สมัครได้เช่นกัน อาทิ บริษัทอาจปล่อยให้ผู้สมัครงานต้องรออย่างไร้วี่แววว่า ตกลงแล้วสัมภาษณ์งานผ่านหรือไม่ ซึ่งทุกการรอคอยจะมีผลต่อการพัฒนาศักยภาพของผู้สมัครงานเองเพื่อให้ได้งานใหม่ในอนาคต
  • สิ่งที่จะช่วยป้องกันการเกิด Candidate Ghosting ได้ดีที่สุดคือการสื่อสารกันระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจนมากที่สุด โปร่งใสที่สุด ซึ่งจะทำให้ทุกคนสามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคง ไม่เสียเวลากับการรอคอยอย่างไร้ความหมาย แล้วใช้ให้เกิดประโยชน์ที่สุด

CANDIDATE GHOSTING ทำอย่างไรเมื่อผู้สมัครไม่ยอมมาสัมภาษณ์งานตามนัด

เวลาบริษัทเปิดรับสมัครงานสักตำแหน่ง แต่ละองค์กรย่อมมีเป้าหมายอยู่แล้วว่อยากได้คนที่ดีที่สุด เก่งที่สุด และมีคุณค่าร่วมที่องค์กรยึดถือมาร่วมงานด้วย เพื่อช่วยทำให้บริษัทก้าวหน้าเอาชนะคู่แข่งในตลาดได้ 

แต่บ่อยครั้ง หลังเจอตัวผู้สมัครงานที่มีโปรไฟล์ดูดี มีความสามารถเข้ากับที่บริษัทกำลังต้องการ พอนัดหมายวันสัมภาษณ์งานกันแล้ว จู่ ๆ วันสัมภาษณ์จริงผู้สมัครกลับ ‘เท’ นัดหมายเอาดื้อ ๆ โดยไม่บอกกล่าว

ปรากฏการณ์แบบนี้มีชื่อเรียกว่า Candidate Ghosting หรือบางคนอาจเรียกว่า Recruitment Ghosting ที่เกิดขึ้นทีไรทำเอาแต่ละบริษัทต้องปวดหัวเสมอ 

เพราะเหตุใด Candidate Ghosting ถึงเป็นปัญหาน่าหน่ายในการสมัครงาน แล้วจะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร สามารถติดตามได้จากบทความนี้เลย

Candidate Ghosting คืออะไร ทำไมถึงเป็นความสัมพันธ์ที่ชวนปวดใจ

CANDIDATE GHOSTING น่ากลัวกว่าโดนผีหลอก คือโดนผู้สมัครงานหลอกว่าจะมาสัมภาษณ์งาน

ก่อนจะพูดถึง Candidate Ghosting ต้องอธิบายก่อนว่า คำว่า Ghosting ไม่ได้หมายถึงเพียงแค่ ผี (Ghost) หรือการโดนผีหลอกเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นการหลอกคน หรือโดนคนหลอก (ให้ดีใจเก้อ) ได้เช่นเดียวกัน

แรกเริ่มเดิมที Ghosting เป็นศัพท์ที่ใช้ในแวดวงการออกเดท อธิบายถึงคนคุย 2 คนที่คุยไปคุยมาแล้วรู้สึกถูกคอกันดี จนทำท่าจะได้สานต่อความสัมพันธ์ไปไกลยิ่งกว่านั้น แต่วันหนึ่งฝ่ายหนึ่งดันหายไปจากชีวิตของอีกฝ่ายแบบไม่บอกไม่กล่าว ปล่อยให้คู่เดทรอเก้อด้วยความสงสัยว่า “ตัวฉันเองทำอะไรผิดไป เขาถึงหนีหายไปจากกันแบบนี้”

ด้วยความหมายที่อาจจี๊ดใจใครหลายคน ทำให้คำดังกล่าวถูกนำมาใช้กับการสมัครงานด้วย เกิดเป็นศัพท์ว่า Candidate Ghosting เพื่อสื่อว่าความสัมพันธ์ของคนหางานกับคนรับสมัครงาน แทบไม่ต่างกับการหาแฟนหรือหาคนรักแต่อย่างใด ถ้าคุยแล้วเคมีตรงกัน ถูกอกถูกใจใช่เลย ก็จะพัฒนาไปสู่ขั้นต่อไปนั่นคือการตกลงรับเข้าทำงาน หรือการรับเป็นแฟน

แต่น่าเศร้าตรงที่บริษัทกลับโดนผู้สมัครงานเท เลิกสานต่อความสัมพันธ์แบบไม่ทันตั้งตัวเสียแทน ซึ่งจริง ๆ เป็นสิ่งที่แทบจะอยู่คู่แวดวงหางานมาตั้งแต่ยุคก่อนเราจะเกิดกันเสียอีก

3 กรณีตัวอย่าง Candidate Ghosting ที่พบเจอบ่อย

CANDIDATE GHOSTING น่ากลัวกว่าโดนผีหลอก คือโดนผู้สมัครงานหลอกว่าจะมาสัมภาษณ์งาน

การเกิด Ghosting ย่อมไม่เป็นผลดีต่อบริษัท เพราะผู้ว่าจ้างย่อมอยากได้คนมาทำงานอย่างเร่งด่วนและไม่เร่งด่วน เพราะมีผลต่อการเดินหน้าของบริษัท อีกทั้งการคัดเลือกพนักงานใหม่ มาพร้อมกับค่าใช้จ่ายที่สูง การที่แคนดิเดต จะยิ่งทำให้ตัวเลขดังกล่าวทวีคูณขึ้นเรื่อย ๆ และพอหาคนมาทำงานไม่ได้เสียที สุดท้ายพนักงานที่ทำงานอยู่แล้ว ก็จะต้องแบกรับภาระหน้าที่มากกว่าเดิม ส่งผลให้สูญเสียสมดุลในการทำงานและการใช้ชีวิตตามมา

ทั้งนี้มี 3 กรณีตัวอย่างหลัก ๆ เกี่ยวกับ Candidate Ghosting ที่พบเจอได้บ่อยดังนี้

1.เทนัดสัมภาษณ์งาน กรณีนี้ถือเป็น Candidate Ghosting แบบพื้นฐานสุดก็ว่าได้ หลังนัดหมายวันและเวลาในการสัมภาษณ์แล้ว ไม่ว่าจะเป็นทางออนไลน์ หรือมาสัมภาษณ์ถึงสถานที่จริง ปรากฏว่าพอถึงเวลาจริงกลับไม่มาเสียอย่างนั้น

2.เทนัดทำงานวันแรก  ข้อนี้หนักกว่าข้อ 1 ตรงที่ หลังจากสัมภาษณ์พูดคุยกันถูกคอ จนบริษัทที่เปิดรับสมัครงานยืนยันเรียบร้อยว่าจะรับแคนดิเดตคนนี้เข้าทำงานแน่นอน พร้อมนัดหมายวันทำงานวันแรกอย่างเป็นทางการ แต่พอถึงวันทำงานจริง ผู้สมัครกลับไม่มาทำงาน และไม่มีการแจ้งก่อนแต่อย่างใด ทำให้แต่ละบริษัทต้องกลับเสียเงินและเสียเวลาเปิดรับผู้สมัครอีกรอบ หรือถ้าไม่เปิดรับอีกรอบ แล้วเลือกเอาจากผู้สมัครที่งานดีรองลงมา ก็จะได้คนที่ถูกใจน้อยกว่าคนแรก

3.เทงานด้วยการลาออกโดยไม่แจ้งใคหาก 2 ข้อก่อนหน้าว่าหนักแล้ว กรณีนี้คือขั้นสุดยอด เมื่อผู้สมัครงานได้รับการตอบรับจากบริษัท ให้ได้เลื่อนสถานะความสัมพันธ์มาเป็นพนักงานเต็มตัว แต่หลังทำงานไปไม่กี่วัน จู่ ๆ เขาหรือเธอก็หายหน้าไปอย่างไร้ร่องรอย พร้อมจดหมายลาออกบนโต๊ะ สุดท้ายต้องกลับมามองหาแคนดิเดตที่ใช่ ที่ถูกใจคนใหม่แทน เป็นเรื่องที่ทั้งเสียเวลา เสียอารมณ์ และเสียความรู้สึกอย่างที่สุด

HR มีข้อสงสัยหรือคำถามเกี่ยวกับประเด็นนี้ 

Q&A HR Board

Q: เราสามารถเคลมค่าใช้จ่ายกับผู้สมัครงานที่เบี้ยวไม่มาเริ่มทำงานได้หรือไม่

ทำการส่งจดหมายตอบรับไปยังผู้สมัครที่ผ่านการคัดเลือกแต่ไม่มีการตอบรับกลับมา และก่อนถึงวันเริ่มงานเพียงหนึ่งวันก็เพิ่งมาบอกปฎิเสธข้อเสนอ ทั้งๆที่ก่อนหน้านั้นได้คุยตกลงกันเป็นมั่นเป็นเหมาะแล้ว ซึ่งได้มีการเสียค่าใช้จ่ายในการเตรียมผู้สมัครเข้าบริษัทแล้ว

ในกรณีนี้สามารถเรียกร้องค่าใช้จ่ายจากผู้สมัครที่ปฏิเสธข้อเสนอได้หรือไม่?

 

A: ค่าใช้จ่ายทั้งหมดเป็นภาระของบริษัท ไม่ใช่ของผู้สมัคร

ค่ากระดาษ ค่าซองจดหมายหมึกเครื่องพิมพ์ น้ำหมึกปากกาที่ลงชื่อ ค่าไฟฟ้าที่ใช้เปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ และเครื่องพิมพ์ รวมถึงค่าใช้สอยต่าง ๆ ในกระบวนการสรรหาและคัดเลือก เป็นต้นทุนจมที่เป็นภาระของบริษัท ไม่ใช่ของผู้สมัครครับ

,,, (คลิกดูคำตอบทั้งหมด👇)

Q&A HR Board

Candidate Ghosting เทรนด์ไม่ใหม่ แต่มาแรงยุคโควิด-19

CANDIDATE GHOSTING น่ากลัวกว่าโดนผีหลอก คือโดนผู้สมัครงานหลอกว่าจะมาสัมภาษณ์งาน

ดังที่กล่าวไว้ว่า Candidate Ghosting ไม่ใช่เรื่องใหม่ มันอยู่คู่กับแวดวงการจัดหางานมานานแสนนาน แต่หลังจากโรคโควิด-19 แพร่ระบาดอย่างหนักเมื่อปี 2020 เป็นต้นมา ส่งผลให้เทรนด์ Candidate Ghosting เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว กลายเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยกว่าที่ใครคาดคิด 

จำนวนการเกิด Candidate Ghosting เกิดขึ้นบ่อยแค่ไหน อาจวัดได้จากผลการสำรวจเมื่อปี 2021 ของ Indeed.com ที่พบว่า มีคนหางานยอมรับว่าเคยไม่ไปสัมภาษณ์งานตามนัดถึง 46% ขณะที่มีถึง 48% ยอมรับว่าพวกเขาไม่ได้สนใจการเรียกตัวไปพูดคุยสัมภาษณ์จากว่าที่นายจ้าง และมี 7% ที่ยอมรับว่า พวกเขาตัดสินใจไม่ไปทำงานที่อุตส่าห์ฝ่าฟันจนได้มาตั้งแต่วันแรกของการทำงาน

สาเหตุที่เกิด Candidate Ghosting ในช่วงนี้บ่อย เพราะผู้สมัครไตร่ตรองจนมั่นใจแล้วว่า ผู้สมัครแต่ละคนมีตัวเลือกที่ดีกว่าบริษัทที่สัมภาษณ์ เพราะไม่อยากต้องเข้าออฟฟิศเป็นประจำ ต้องการชีวิตที่สมดุล Work Life Balance ไปจนถึงเมื่อพิจารณาถี่ถ้วนแล้วพบว่า รายละเอียดในการทำงานอาจไม่เป็นอย่างที่คิด ทุกอย่างผสมปนเปกันจนตัดสินใจทิ้งงานที่กำลังจะสัมภาษณ์ เพื่อไปหางานใหม่ที่ใช่กว่า ให้เงินเดือนและสวัสดิการดีกว่า ซึ่งมีอยู่ในท้องตลาดมากทีเดียว

น่าสังเกตว่า เหตุผลของการเกิด Candidate Ghosting ยังคล้ายกับการเกิด The Great Resignation หรือการลาออกครั้งใหญ่ ที่เป็นปรากฏการณ์ไปทั่วสหรัฐอเมริกาตลอด 2 ปีที่ผ่านมาด้วย หากมีตัวเลือกเป็นงานที่ทำให้ชีวิตมีความสมดุลลงตัว มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แล้วทำไมถึงจะยังต้องเลือกงานที่ทำอยู่ในกรอบปฏิบัติเดิม ๆ ด้วยล่ะ

3 เหตุผลที่บ่งชี้ว่า ผู้รับจ้างก็ทำ Ghosting ใส่ผู้สมัครงานได้นะ!

Candidate Ghosting ไม่เพียงเกิดขึ้นเฉพาะเวลาผู้สมัครงานหนีหายเท่านั้น แต่ฝั่งของบริษัท ที่เปิดรับสมัครงานเองก็สามารถทำ Ghosting หลอกให้คนสมัครงานดีใจเก้อ ก็พบเจอได้บ่อยเหมือนกัน หรือที่เรียกว่า Employer Ghosting

จากผลสำรวจเดียวกันของ Indeed.com ยังพบว่าผู้ตอบแบบสอบถาม 77% บอกว่า พวกเขามีประสบการณ์โดนบริษัทที่สัมภาษณ์งานด้วยเพิกเฉยเหมือนกัน ด้วยการไม่แจ้งอัพเดตความคืบหน้าใด ๆ เลยว่า สรุปแล้วจะได้นัดสัมภาษณ์หรือไม่ หรือสัมภาษณ์ไปแล้ว ได้ผลออกมาเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ 

สำหรับเหตุผลที่เกิด Employer Ghosting มี 3 ประการหลัก ๆ ดังต่อไปนี้

1.บริษัทไม่ได้ตามหาคนในตำแหน่งนั้นแล้ว อาจเพราะได้คนทำงานที่ต้องการแล้ว แต่บริษัทกลับไม่ได้แจ้งพนักงานที่ไม่ผ่านการสัมภาษณ์

2.เงินเดือนที่ผู้สมัครเรียก สูงเกินกว่างบที่จ่ายได้ การบอกอัตราเงินเดือนที่ต้องการในเรซูเม่สมัครงานจะช่วยให้คัดเลือกผู้สมัครได้ง่ายขึ้น เพราะบริษัทจะสามารถตัดตัวเลือกของคนที่เกินงบประมาณออกไปได้ทันที ต่อให้แคนดิเดตคนนั้น อาจมีคุณสมบัติครบถ้วนทุกประการก็ตาม

3.เอเจนซี่จัดหาคน ไม่รู้แผนการจ้างหาคนของแต่ละบริษัท กรณีนี้อาจเกิดขึ้นได้กับคนทำงาน Recruitment Agency และมีหน้าที่ต้องหาคนมาทำงานให้บริษัทที่เป็นลูกค้าด้วย ปัญหาอยู่ที่การสื่อสารของบริษัทมาถึงเอเจนซี่อาจมีความไม่ชัดเจนพอ ทำให้พนักงานจัดหางานไม่ได้รับฟีดแบ็คว่า บริษัทยังต้องการคนอยู่หรือไม่ หรือความต้องการเปลี่ยนไปไหม ส่งผลให้ผู้สมัครโดนปล่อยเกาะไปโดยปริยาย

แก้ปัญหา Ghosting อย่างไร ถึงจะถูกใจทุกฝ่าย

1.สื่อสาร สื่อสาร และสื่อสารให้เยอะ ๆ ถ้าอยากเห็นความสัมพันธ์ออกมาดี เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องสื่อสารกัน พูดคุยกัน ระหว่างคู่รักให้เยอะๆ ความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้าง-ลูกจ้าง ก็เช่นกัน หากสื่อสารตรง ๆ กระจ่างชัดตั้งแต่ต้น จะช่วยให้กระบวนการต่าง ๆ เดินหน้าไปได้ง่าย

2.ยิ่งโปร่งใส ยิ่งได้ใจคน การมองหางานย่อมมาพร้อมความเครียด ผู้สมัครงานล้วนต้องการความโปร่งใสจากผู้รับสมัครงาน ว่าแม้จะไม่ต้องจ้างจริงก็ได้ แต่ขออย่าหายไปแล้วปล่อยให้รอคำตอบแบบลม ๆ แล้ง ๆ ก็พอว่า เมื่อไหร่ถึงจะได้งานนี้ ซึ่งสอดคล้องกับข้อข้างต้น จำเป็นต้องสื่อสารให้ชัดเจนว่า กระบวนการจะต้องเป็นไปอย่างไร มีการสัมภาษณ์งานกี่รอบ จะติดต่อกลับด้วยวิธีการใด ภายในวันไหน และขั้นตอนหลังจากนั้นจะต้องเตรียมตัวอย่างไร

ความโปร่งใสจะช่วยสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตร เป็นมืออาชีพ และถึงแม้จะไม่ได้งานในวันนี้ แต่อย่างน้อยหากมีตำแหน่งว่าง ก็อาจมีคนอยากกลับมาร่วมงานกันอีกในอนาคต

3.ตอบปฏิเสธไปตรง ๆ ย่อมดีกว่าหายไป ในฐานะผู้จ้างงาน การบอกผู้สมัครไปว่าเขาไม่ได้งาน แสดงให้เห็นถึงความเป็นมืออาชีพ น่าเชื่อถือมากกว่าการเงียบหายไปเฉย ๆ ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตาม ก็ควรจะแจ้งให้ได้รับรู้ เพื่อที่ผู้สมัครเองก็จะได้สบายใจ และไม่เสียเวลาพัฒนาปรับปรุงตัวเองเพื่อไปสมัครที่ใหม่ และหากเทผู้สมัครบ่อย ๆ ในเวลาไม่นานก็อาจจะได้เห็นคนตั้งกระทู้แฉถึงความไม่เป็นมืออาชีพของบริษัท ซึ่งอาจทำให้สูญเสียความน่าเชื่อถือ จนสุดท้ายจะไม่มีใครอยากร่วมงานด้วยอีกเลยในอนาคต

4.ปรับปรุงนโยบายบริษัท ดังที่กล่าวไว้ว่า Candidate Ghosting เกิดขึ้นเพราะผู้สมัครงานตระหนักแล้วว่า ในโลกที่มีตำแหน่ง หน้าที่การงานที่ให้อิสระเสรีที่เหมาะสมกับกาารทำงานของเราเองมากมาย ทำไมถึงต้องเลือกสมัครงาน หรือทำงานที่ต้องการแบบเดิมอยู่ เมื่อเป็นเช่นนี้ แต่ละบริษัทควรกลับมาย้อนดูว่า นโยบายขององค์กรเอื้อให้พนักงานทั้งคนเก่าและใหม่ต้องอยู่ในกรอบ ระเบียบเก่าแก่คร่ำครึ ไม่เป็นไปตามความเปลี่ยนแปลงของโลกหรือไม่

หากพบว่ายังเป็นเช่นนั้น ก็ยากที่จะดึงดูดให้คนเก่งมีความสามารถเข้ามาร่วมงานด้วย หรือต่อให้ดึงดูดเข้ามาได้ ไม่ช้าไม่นานก็อาจสูญเสียไปให้บริษัทที่มีพร้อมตอบสนองความต้องการของพนักงานได้มากกว่า

บทสรุป

Candidate Ghosting เป็นปัญหาที่กวนใจทุกคนที่กำลังมองหางาน เพราะไม่มีใครอยากโดนเทโดยใช่เหตุ เนื่องจากทั้งคนหางานและคนจ้างงานย่อมอยากได้ตัวเลือกที่ดีที่สุดกันทั้งนั้น

แต่หากเป็นไปได้ ถ้าตัวบริษัทและผู้สมัครงานสามารถชี้แจง พูดคุยให้เข้าใจชัดเจนกันได้ตั้งแต่ต้นว่า จะขอไม่ไปสัมภาษณ์งานตามที่นัดกันไว้ ย่อมเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายที่สุด และไม่เสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์กับการรอคอย 

ที่สำคัญ อย่างน้อยก็ไม่ได้เป็นการปิดตายประตูที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะได้ร่วมงานกันในอนาคตด้วย เพราะใครจะไปรู้ สักวันหนึ่งเส้นทางการทำงานอาจมาบรรจบกันอีกก็เป็นได้นะ

ผู้เขียน

Paranaphat Anui

Paranaphat Anui

Take Off Toward a Dream

บทความที่เกี่ยวข้อง