ถอดบทเรียน Disney’s Pixar กับการเลือกแกะดำ (Black Sheep) ทำหนังอนิเมชั่น พลิกวัฒนธรรมองค์กร

HIGHLIGHT

  • เวลา Disney รับสมัครงานพนักงานใหม่ มักจะเลือกคนที่เข้ากับคนส่วนใหญ่ในองค์กร ตอบโจทย์วัฒนธรรมองค์กรที่ต้องมีใจรักหนังอนิเมชั่น และไม่ต้องการคัดเลือกแกะดำหรือคนที่มีความหัวขบถเข้ามาในองค์กร แตกต่างกับ Pixar ที่ชอบคนที่แตกต่าง
  • ตอนที่ Pixar ค่ายผู้ผลิตอนิเมชั่นเจ้าใหญ่ใต้ชายคา Disney หาผู้กำกับหนังอนิเมชั่น The Incredibles ผู้บริหารอย่าง สตีฟ จ็อบส์ จะมอบหมายงานให้ผู้กำกับ แบรด เบิร์ด แต่ Disney กลับคัดค้าน เพราะเบิร์ดมีประวัติทำหนังเจ๊งสนั่น ซึ่งเป็นคุณสมบัติของแกะดำที่ Disney ไม่ต้องการ
  • อย่างไรก็ตาม The Incredibles ผลงานการกำกับของ แบรด เบิร์ด กลับกวาดรายได้มากกว่า 631 ล้านดอลลาร์ ได้รางวัลออสการ์ 2 สาขา บ่งชี้ว่า การจ้างแกะดำที่ไม่มีใครต้องการตัว คือการตัดสินใจที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ของ Disney และ Pixar

ถอดบทเรียน Disney’s Pixar กับการเลือกแกะดำ (Black Sheep) ทำหนังอนิเมชั่น พลิกวัฒนธรรมองค์กร

ในขั้นตอนรับสมัครงาน คัดเลือกคนเข้ามาในองค์กร หาก HR พบว่าแคนดิเดตที่สมัครงานมีแนวคิด หรือวิธีการทำงานที่ผิดแปลกไปจากคนอื่น ๆ เขาก็จะกลายสภาพเป็น แกะดำ (Black Sheep) ถือเป็นคนมีตำหนิที่ไม่ค่อยมีใครอยากจ้าง

แต่รู้หรือไม่ว่า มีหลายองค์กรที่กล้าเลือกแกะดำเข้ามาทำงาน แล้วผลที่ได้ก็น่าพึงพอใจไม่น้อย เพราะแกะดำตัวดังกล่าวมักจะมาพร้อมไอเดียนอกกรอบ ช่วยสร้างสรรค์ผลงานน่ามหัศจรรย์ตามมา ซึ่งค่ายหนังอนิเมชั่นอย่าง Pixar ที่ปัจจุบันอยู่ใต้ชายคา Walt Disney Picture ก็คือหนึ่งในองค์กรที่มีชื่อเรื่องการเอาแกะดำมายกระดับองค์กรด้วย

ทำไมการเลือกแกะดำถึงสร้างประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญให้ Disney และ Pixar HR สามารถเรียนรู้อะไรจากเรื่องนี้ได้ หาคำตอบได้ในบทความนี้

แกะดำ (Black Sheep) คืออะไร ทำไมถึงเป็นภัยร้ายต่อการสร้างวัฒนธรรมองค์กร

ถอดบทเรียน Disney’s Pixar กับการเลือกแกะดำ (Black Sheep) ทำหนังอนิเมชั่น พลิกวัฒนธรรมองค์กร

ถ้าให้หัวหน้างานเลือกระหว่าง พนักงานที่เข้าขากันได้กับทุกคน กับพนักงานที่เป็นหัวขบถทางความคิด เป็นเรื่องธรรมดาหากคนจะเลือกพนักงานกลุ่มแรกเป็นหลัก เพราะพนักงานเหล่านั้นคือคนที่ง่ายต่อการควบคุม ทำให้องค์กรเดินหน้าไปอย่างราบรื่น

เหตุผลสำคัญอาจเพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม มักชอบอยู่เป็นกลุ่ม มีความเอื้อเฟื้อพึ่งพาอาศัยกัน และจะไม่ชอบหาเรื่องทะเลาะเบาะแว้งหากเลี่ยงได้ สอดคล้องกับในแง่การทำงาน เมื่อพนักงานจำนวนมากอยากทำงานกับคนอื่นอย่างราบรื่น มากกว่าทำงานกับคนที่สร้างปัญหาบ่อยครั้ง หัวหน้าเองก็เช่นกันที่มักจะชอบคนที่ควบคุมง่าย มากกว่าหัวขบถควบคุมยาก 

ดังนั้นหากมีพนักงานที่เป็นหัวขบถทางความคิด เป็นแกะดำที่ทำอะไรไม่ค่อยเข้ากับคนกลุ่มใหญ่ พวกเขาจะถูกเหยียดหยาม โดนขับออกจากกลุ่ม (Ostracism) หรือเลือกที่จะเอาตัวเองออกจากกลุ่มก้อนในบริษัทเป็นคนแรก ๆ

การมีแกะดำสักตัวในองค์กร จะทำให้ HR สร้างวัฒนธรรมองค์กรให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันยาก เพราะจะไม่ได้รับความร่วมมือจากคนกลุ่มนี้ และสุ่มเสี่ยงให้องค์กรเดินหน้าต่อไปไม่ได้

แต่รู้หรือไม่ว่า ในยามคับขันแกะดำจะมีประโยชน์ต่อองค์กรมาก ๆ เนื่องจากความกล้าคิดนอกกรอบ ต่อให้คนเหล่านี้อาจเข้าสังคมไม่เป็น สัมภาษณ์งานไม่ดี แต่มักจะมาพร้อมวิธีการทำงานที่ให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด และช่วยประหยัดต้นทุนมากกว่าที่คิดเสมอ

วัฒนธรรมองค์กรแบบไหน ที่เหมาะกับการมีแกะดำ (Black Sheep) ในองค์กร

การทำให้องค์กรเติบโตและเดินไปถึงเป้าหมาย ปัจจัยสำคัญขึ้นอยู่กับการเลือกพนักงานที่เข้ากับวัฒนธรรมองค์กร ทั้งนี้ การสร้างวัฒนธรรมองค์กรมี 2 รูปแบบหลัก ๆ ได้แก่ แบบ Culture Fit และแบบ Culture Add ซึ่งมีความแตกต่างกันดังนี้

Culture Fit คือการหาพนักงานที่มีแนวคิดตรงกันหรือคล้ายคลึงกับคนหมู่มากขององค์กรมาช่วยวางรากฐานให้แข็งแกร่ง แต่ข้อเสียคือองค์กรนี้จะไม่เหมาะกับแกะดำ บีบให้คนที่ไม่เหมือนคนส่วนใหญ่ รู้สึกแปลกแยก และเมื่อถึงเวลาที่บริษัทต้องเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว องค์กรนั้นอาจขาดความคล่องแคล่วว่องไว (Agile) จนตามไม่ทันโลก

Culture Add คือการรับคนที่มีแนวทางแตกต่างกันเข้ามา เพื่อช่วยเติมความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นตลอดเวลา ข้อดีของวัฒนธรรมแบบนี้คือ องค์กรจะเต็มไปด้วยความหลากหลาย กระฉับกระเฉง ไม่หยุดนิ่ง แต่ด้วยความคิดที่ต่างกันก็อาจทำให้องค์กรพังได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในองค์กรที่เพิ่งตั้งใหม่ และยังวางรากฐานไม่แข็งแรง 

เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ก่อนคัดเลือกพนักงานเข้ามาทำงานด้วย HR อย่าลืมประเมินว่า องค์กรที่ทำงานอยู่นั้นมีวัฒนธรรมการทำงานแบบใด เหมาะกับคนกลุ่มไหน เพื่อจะได้สายเลือดใหม่ที่ตอบโจทย์องค์กร และช่วยกันขับเคลื่อนไปสู่ความความสำเร็จ

ก่อนมี Pixar มาดูว่า Disney เลือกแกะดำ (Black Sheep) ให้เข้ากับวัฒนธรรมองค์กรหรือไม่

คำตอบคือ ไม่ เพราะในองค์กรใหญ่อย่าง Disney บริษัทผู้สร้างหนังและอนิเมชั่นระดับโลก มีแนวทางการคัดเลือกบุคลากรที่ให้ความสำคัญคนที่รักและหลงใหลหนังอนิเมชั่นของ Disney เป็นหลัก เพื่อให้เข้ามาช่วยเติมเต็มองค์กร และคน ๆ นั้นต้องมีแรงปรารถนาที่จะทำให้ “ความฝัน” ของบรรดาเด็กทั่วโลกที่ต้องการพบเจอตัวละครที่รัก และต้องการเห็นว่าจินตนาการอันเลิศล้ำสามารถเป็นจริงได้อย่างไร กลายเป็นความจริง เป็นต้น

ส่วนงานอย่าง Disneyland สวนสนุกที่ได้ชื่อว่าเป็น “ดินแดนแห่งความฝัน” ก็เข้าข่ายนั้น ที่ต้องการคนมาสร้างความสุขให้กับลูกค้าทุกเพศทุกวัยเที่ยวในอาณาจักรปราสาท Disneyland จะเลือกพนักงานที่รักผลงานของ Disney รู้จักตัวละครและประวัติศาสตร์แบบลึกซึ้ง อีกทั้งต้องมีใจรักการบริการ ต้องยิ้มแย้มตลอดเวลา แม้จะทำงานอันแสนหนักหน่วงก็ตาม

แต่แล้วการคัดเลือกคนให้เข้ากับวัฒนธรรมองค์กรอันแข็งแกร่งของ Disney ก็ถูกท้าทายโดย สตีฟ จ็อบส์ บุคลากรคนสำคัญที่ปลุกปั้นให้ Apple กลายเป็นบริษัทเทคโนโลยีอันดับ 1 ของโลก เพราะช่วงหนึ่ง เขาดำรงตำแหน่งผู้บริหารใหญ่ของ Pixar ค่ายผลิตอนิเมชั่น เจ้าของผลงานบันลือโลกอย่าง Toy Story ที่ประสบความสำเร็จไปทั่วโลก

แต่ตอนที่วางแผนงานสร้างอนิเมชั่นเรื่อง The Incredibles จ็อบส์ ต้องการให้ แบรด เบิร์ด ผู้กำกับหนังอนิเมชั่นเรื่องเยี่ยม The Iron Giants มาคุมบังเหียนหนังอนิเมชั่นเรื่องนี้ แต่ Disney กลับไม่เห็นชอบเพราะ The Iron Giant คือหนังที่เจ๊งสนั่น และกลัวว่าการเอาคนทำหนังเจ๊งมาทำงาน จะทำให้โปรเจ็คท์ที่มีศักยภาพต้องล้มเหลว

เมื่อ Pixar งัดข้อกับ Disney สตีฟ จ็อบส์ ยืนยันเลือกแกะดำ (Black Sheep) มากำกับ The Incredibles

ถอดบทเรียน Disney’s Pixar กับการเลือกแกะดำ (Black Sheep) ทำหนังอนิเมชั่น พลิกวัฒนธรรมองค์กร

ทุกคนน่าจะรู้จัก สตีฟ จ็อบส์ เป็นอย่างดีว่า เขาคือเจ้านวัตกรรมที่ชอบสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ตลอดเวลา ส่งผลให้บริษัทเทคโนโลยีสุดล้ำอย่าง Apple เต็มไปด้วยผลิตภัณฑ์เปลี่ยนโลกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ Macintosh, เครื่องเล่นเพลง mp3 iPod และโทรศัพท์มือถือ iPhone เป็นต้น 

แต่เพราะความคิดที่แตกต่างกับคนอื่นเกินไป ทำให้ช่วงหนึ่งเขาโดนอัปเปหิออกจาก Apple ก่อนได้ไปคุมบังเหียน Pixar ค่ายอนิเมชั่นค่ายเล็ก ๆ ที่มีศักยภาพขั้นสูง และนำความคิดสร้างสรรค์ที่แปลกใหม่ผลักดันให้สร้างอนิเมชั่น 3 มิติมาจากคอมพิวเตอร์ล้วน ๆ เพราะจ็อบส์เชื่อว่า มันจะปฏิวัติอนิเมชั่นโลกไปตลอดกาล 

แล้วมันก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ Toy Story อนิเมชั่นคอมพิวเตอร์สร้างเรื่องแรกของโลกได้เสียงสรรเสริญในวงกว้าง และรู้หรือไม่ว่า Toy Story เกิดขึ้นได้เพราะ Disney เข้ามาให้การสนับสนุน Pixar ด้วย เพราะเชื่อมั่นในวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของ จ็อบส์ แต่จากนั้น Disney ก็มีเรื่องไม่ค่อยลงรอยทางความคิดกับ Pixar ของ จ๊อบส์ อยู่บ่อยครั้ง 

โดยครั้งใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นเมื่อ Pixar มีแผนจะทำภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่อง The Incredibles ว่าด้วยครอบครัวที่สมาชิกทุกคนเป็นซูเปอร์ฮีโร่ แล้วผู้บริหารของ Pixar นำโดย จ็อบส์, เอ็ด แคตมูลล์ และ จอห์น แลสเซเตอร์ เสนอชื่อ แบรด เบิร์ด ให้มากำกับหนังเรื่องนี้ 

แต่ปัญหาคือ The Iron Giants ที่ใช้ทุนสร้างประมาณ 48-50 ล้านดอลลาร์ กลับทำเงินจากการฉายในโรงภาพยนตร์เฉพาะในสหรัฐอเมริกาเพียง 23 ล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ อย่าลืมว่าหนังอนิเมชั่นของ Pixar ก่อน The Incredibles ทำงานถล่มทลายทุกเรื่อง ทั้ง Toy Story 2 ภาคแรก, A Bug’s Life, และ Monster Inc การที่จู่ ๆ จ๊อบส์ ผลักดัน แบรด เบิร์ด ที่เคยทำหนังขาดทุนมหาศาล จึงเป็นสิ่งที่ Disney ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง

แต่เมื่อผู้บริหาร Pixar ยืนกรานว่ายังไงก็จะเลือก แบรด เบิร์ด ให้มากำกับเท่านั้น เพราะความสามารถในการเล่าเรื่อง ทำให้อนิเมชั่นเรื่อง The Iron Giant เป็นหนังที่สมบูรณ์แบบที่สุดเท่าที่อนิเมชั่นเรื่องหนึ่งควรจะมี ทำให้ Disney ยอมอนุมัติ แต่โปรเจ็คท์นี้ก็โดนดูแคลนไปต่าง ๆ นานาว่า The Incredibles จะต้องใช้เวลานานกว่า 10 ปีถึงจะเสร็จ และจะผลาญเงินทุนสร้างไปมากกว่า 500 ล้านดอลลาร์ด้วย

ถอดบทเรียน Disney’s Pixar กับการเลือกแกะดำ (Black Sheep) ทำหนังอนิเมชั่น พลิกวัฒนธรรมองค์กร

HR มีข้อสงสัยหรือคำถามเกี่ยวกับประเด็นนี้ 

Q&A HR Board

Q: เลือกคนเข้าทีม: นิสัยเหมือนกันและดูเข้ากันกับทีม Vs นิสัยต่างแต่มี Wow factor

ช่วงนี้ที่ทีมกำลังมีการสัมภาษณ์คนเข้าทีมเพิ่มค่ะ การสัมภาษณ์ก็ดำเนินการมาถึงขั้นสุดท้ายแล้วเหลือต้องเลือกผู้สมัครสองคน ซึ่งทั้งสองคนก็เป็นคนเก่งทั้งคู่นะคะ ไม่มีข้อสงสัยใดๆ ว่าจะสามารถทำงานออกมาได้ดีหรือไม่ แต่ที่ตัดสินใจได้ยากเพราะทั้งสองคนมีบุคคลิกภาพที่แตกต่างกัน อยากรู้ว่าในฐานะผู้จัดการจะตัดสินใจเรื่องนี้อย่างไรดีคะ

 

A: การรับพนักงานที่นิสัยคล้ายๆ กัน ชีวิตก็จะเหมือนเดิม ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรมาก

แล้วเราแน่ใจได้อย่างไรว่าจะเหมือนเดิม การรับพนักงานที่นิสัยคล้ายๆ กัน ชีวิตก็จะเหมือนเดิม ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรมาก อันนี้ก็คือความเสี่ยง เสี่ยงเพราะเรามั่นใจว่าแบบเดิมนี้ดีอยู่แล้ว อันนี้ค่อนข้างอันตราย เพราะโลกเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน ในฐานะผู้จัดการ (หัวหน้าทีม) เรายิ่งต้องปรับเปลี่ยนให้ทันกับโลก เราย่อมต้องการให้น้องในทีมมีความรู้ ความสามารถ เพื่อที่ทีมของเราก็จะเติบโตอย่างมีคุณภาพ แข่งกับคนอื่นได้..

 

Q&A HR Board

The Incredibles ผลลัพธ์ของการรวมพลแกะดำ (Black Sheep) สู่วัฒนธรรมนอกกรอบของ Disney’s Pixar

ถอดบทเรียน Disney’s Pixar กับการเลือกแกะดำ (Black Sheep) ทำหนังอนิเมชั่น พลิกวัฒนธรรมองค์กร

หลังได้ไฟเขียว พร้อมคำดูแคลน ปฏิบัติการแกะดำปั้นซูเปอรืฮีโร่จึงเริ่มต้นขึ้น แบรด เบิร์ด เล่าว่า การสร้าง The Incredibles มาพร้อมภารกิจสุดหินหลายประการ เพราะนี่คือหนังอนิเมชั่นที่เต็มไปด้วยองค์ประกอบยาก ๆ ตัวละครมนุษย์ล้วนมีรายละเอียดต่างกัน ไหนจะมีฉากระเบิด ฉากแอ็คชั่น การแสดงพลังรูปแบบต่าง ๆ อาทิ ร่างกายยืดได้หดได้ การล่องหน การวิ่งด้วยความเร็ว และอื่น ๆ อีกมากมาย จนไม่น่าแปลกใจว่าทำไม Disney ถึงดูแคลนว่ามันจะต้องใช้เวลาและเงินมหาศาล 

ดังนั้น แบรด เบิร์ด จึงรวมพลอนิเมเตอร์และศิลปินมือฉมัง ที่เป็นแกะดำ ที่มีความคับข้องหมองใจในหน้าที่การงาน เวลาทำงานที่ไหนไม่ว่าจะออกความคิดเห็นอะไรไปก็ไม่มีใครฟัง คนที่ทำงานร่วมกับใครไม่ได้ มารวมตัวกันทำ The Incredibles ด้วยความเชื่อว่า พวกเขาเหล่านี้จะหาวิธีแปลกใหม่ มาช่วยให้ทำงานยาก ๆ ให้ประสบความสำเร็จง่ายขึ้น และประหยัดค่าใช้จ่ายในการสร้างกว่าที่ประมาณการไว้ตอนแรก

ผลก็คือ เบิร์ด และทีมแกะดำสร้าง The Incredibles แล้วสามารถงบการทำเทคนิคพิเศษที่ควรจะแพงมหาศาล แบบที่จ่ายน้อยลงกว่าครึ่ง และตัวหนังยังทำเงินทั่วโลกถล่มทลายถึง 631 ล้านดอลลาร์ ได้รับเสียงชื่นชมในแง่ของความสนุกสนาน ตื่นเต้น การขมวดปมที่ชาญฉลาด จนได้รับการยกย่องว่าเป็นหนังที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งประจำปี 2004 ได้เข้าชิงรางวัลจากสถาบันต่าง ๆ มากมาย และได้รับรางวัลออสการ์ 2 สาขา ได้แก่ สาขาภาพยนตร์อนิเมชั่นยอดเยี่ยม และรางวัลตัดต่อเสียงยอดเยี่ยม 

ทั้งหมดทั้งมวล ชี้ให้เห็นว่า การยืนยันเลือกแกะดำอย่าง แบรด เบิร์ด เข้ามาคุมบังเหียนโปรเจ็คท์นี้ ถือเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องที่สุด ที่ Disney และ Pixars เคยทำมา 

เครื่องมือสรรหาแกะดำ (Black Sheep) ช่วยยกระดับองค์กร

การหาคนที่ใช่มาทำงานไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่า คนที่คัดเลือกมานั้นจะเป็นคนที่ใช่สำหรับองค์กรจริง ๆ หรือไม่ การเลือกคนนี้มาทำงานจะเป็นการเลือกผิดหรือไม่ ควรเสี่ยงรับแกะดำเข้ามา หรือจะเลือกคนในแนวทางเดิม ๆ แล้วหวังว่าองค์กรจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นดีกว่ากัน

แต่ปัจจุบัน การค้นหาแกะดำที่มีฝีมือของจริง เพื่อช่วยยกระดับองค์กรนั้นไม่ยากเหมือนเดิมอีกต่อไป เมื่อมีแพลตฟอร์ม HREX ที่รวบรวมผลิตภัณฑ์และบริการประเภท Recruitment Solutions  และ Recruitment Agency ที่จะช่วยให้คนเจอเพชรเม็ดงามที่ซุกซ่อนอยู่ได้แล้ว ไล่ตั้งแต่การหานักศึกษาฝึกงานน้ำดี ไปจนถึงหาพนักงานรุ่นใหญ่ที่มีฝีมือเป็นที่ประจักษ์ รวมทั้งยังสามารถใช้บริการฟรีแลนซ์นักคัดเลือกพนักงานก็ได้เช่นเดียวกัน

สามารถลองใช้เครื่องมือ Recruitment เพื่อตามหาแกะดำที่ใช่ เพื่อช่วยยกระดับองค์กรได้แล้วทางลิงก์นี้

บทสรุป

มนุษย์ทุกคนล้วนมีความแตกต่างกันในหลายด้าน ทั้งความคิด ความเชื่อ ความชอบ แม้กระทั่งมีวิธีการทำงานที่ต่างกัน แต่ถึงแตกต่างกันอย่างไร สิ่งที่มีอยู่ในตัวทุกคนก็คือเป้าหมายว่าอยากประสบความสำเร็จในการทำงานเหมือนกันทั้งสิ้น แม้กระทั่งคนที่เป็นแกะดำเองก็ตาม

ถือเป็นหน้าที่ของทั้ง HR และคนระดับหัวหน้าในองค์กร ที่จะต้องมองคนให้ออกว่า จะหาทางทำอย่างไรเพื่อให้ขับเคลื่อนไปได้ถึงเป้าหมายด้วยคนที่มีอยู่ และตอบรับกับวัฒนธรรมองค์กรที่ยึดมั่น หากทำได้ จะช่วยให้องค์กรประสบความสำเร็จในบ้านปลายอย่างแน่นอน

ผู้เขียน

Paranaphat Anui

Paranaphat Anui

Take Off Toward a Dream

บทความที่เกี่ยวข้อง