Search
Close this search box.

Q&A of the Month: 5 คำถามเด็ด HR ประจำเดือนพฤศจิกายน 2023

ปี 2023 ก้าวเข้ามาจนถึงช่วงสุดท้าย เหลือเวลาอีกเพียง 2 เดือนเท่านั้น โลกของ HR เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงและมีสิ่งที่เราต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา การศึกษาในยุคนี้เป็นเรื่องของ Lifelong Learning ที่หากเราหยุดนิ่ง เราก็จะก้าวไม่ทันกระแสและถูกลดทอนศักยภาพในการปรับตัวไปอย่างน่าเสียดาย

Q&A Of the Month จำนวน 5 ข้อประจำเดือนตุลาคม 2023 มุ่งเน้นไปในหลากหลายประเด็น ทั้งเรื่องเล็กและเรื่องใหญ่ สอดคล้องกับบริบทของสังคมในแต่ละช่วง โดยมีคำถามที่น่าสนใจและคำตอบจากผู้เชี่ยวชาญที่เป็นประโยชน์ ดังนี้

Q1 : การดูแลพนักงานที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าควรทำอย่างไร ?

เพิ่งทราบว่ามีพนักงานท่านหนึ่งป่วยเป็นโรคซึมเศร้า โดยปกติพนักงานคนนี้จะเข้าออฟฟิศสัปดาห์ละ 1 วัน ส่วนใหญ่จะ work from home เนื่องจากเป็นผู้พิการ และงานที่ทำจะเป็นงาน programmer ขอเรียนปรึกษาว่าออฟฟิศที่อื่นมีกระบวนการอย่างไรบ้างคะ รบกวนขอคำแนะนำด้วยค่ะ ขอบคุณมากๆค่ะ

A: โดย ดร.เบ็ญจวรรณ บุญใจเพ็ชร

1. ให้หัวหน้า หรือผู้จัดการ HR พูดคุยให้คำปรึกษาแนะนำกับพนักงาน สร้างความไว้วางใจให้พนักงานรู้สึกว่าเราเป็นเพื่อนเค้าได้

2. เพิ่มจำนวนวันให้พนักงานมาทำงานที่บริษัทมากขึ้น work from home ยิ่งจะทำให้โรคซึมเศร้าเพิ่มระดับขึ้นไปอีก โรคซึมเศร้ามีหลายระดับค่ะ

3. ให้ไปพบนักจิตวิทยาทางการแพทย์ หรือนักจิตวิทยาบำบัด เพื่อประเมินว่าอาการซึมเศร้าอยู่ในระดับไหน หากเป็นมาก แพทย์จะแนะนำให้กินยาที่ช่วยรักษาอาการซึมเศร้า

4. แนะนำให้พนักงานออกกำลังกาย มีกีฬาหลายประเภทที่ผู้พิการออกกำลังกายได้ นอกจากจะช่วยสุขภาวะทางกายแล้ว จิตใจก็จะดีขึ้น ผู้ที่มีอาการซึมเศร้าไม่มาก จะรู้สึกว่าจิตใจคลายความเศร้า หากได้ออกกำลังกายร่วมกับผู้อื่นก็จะดี พนักงานจะรู้สึกว่ามีเพื่อน ไม่โดดเดี่ยว

อ่านคำตอบเพิ่มเติมใน HR Community 


Q2: ในกรณีที่เลิกจ้างกระทันหัน เนื่องจากเจ้านายเข้าไปอ่านแชทส่วนตัวลูกจ้างพบว่าลูกจ้างนินทา สามารถทำอะไรได้บ้าง ลูกจ้างจะได้ค่าตกใจและมีความผิดหรือไม่ ?

เข้าใจว่าเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน จึงต้องการได้รับคำแนะนำที่ถูกต้อง

A: โดย ดร.เบ็ญจวรรณ บุญใจเพ็ชร

การเลิกจ้างกรณีที่ถามมา นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

การที่เจ้านายเข้าไปอ่านแชทส่วนตัวลูกจ้างในคอม บอกว่าลูกจ้างนินทา ต้องพิสูจน์ได้ว่า การนินทาดังกล่าวได้สร้างความเสื่อมเสียให้กับนายจ้างอย่างไร และเป็นความผิดร้ายแรงหรือไม่ ข้อแนะนำ การแชทอะไรก็ตามใน Social Media ลูกจ้างไม่ควรกระทำ

การว่ากล่าวคนอื่นในทางร้าย ไม่เป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเอง และผู้ที่เรากล่าวถึง ควรใช้เวลาไปทำในสิ่งที่สร้างสรรค์จะดีกว่าค่ะ

อ่านคำตอบเพิ่มเติมใน HR Community


Q3: ออกโดยไม่แจ้ง ไม่เขียนใบลาออก ได้เงินไหม ?

พฤติกรรมแบบนี้ผิดกฎหมายหรือไม่ อีกอย่างในระบบขึ้นว่าบริษัทหักประกันสังคมไปแล้ว แต่ไม่มีเงินเดือนมาเข้า ตามหลักแล้ว พนักงานควรได้เงินหรือไม่ ?

A: โดย นภัสราพร เด่นพงศ์พันธุ์

ขอตอบในฐานะคนทำ Payroll นะคะ

กรณีที่พนักงานไม่มาทำงานและไม่แจ้งเหตุอันควร ไม่มีการทำเอกสารแจ้งการลาหยุด ลาออก หรือ แจ้งด้วยวาจาแต่อย่างใด ถือว่าเป็นการขาดงาน ซึ่งการขาดงานติดต่อกัน 3 วันโดยไม่มีเหตุอันควรทั้งที่มีวันหยุดหรือไม่มีวันหยุดคั่น บางบริษัทระบุในระเบียบฯ ว่า เป็นความผิดร้ายแรงที่นายจ้างสามารถเลิกจ้างพนักงานได้โดยมิต้องจ่ายเงินชดเชย

กรณีค่าจ้างจะได้รับเท่ากับวันที่ได้ทำงานไปจริง ตามมารยาทพนักงานควรติดต่อเข้าไปแจ้งการลาออกอีกครั้ง เขียนใบลาออกและชี้แจงเหตุผลที่หายไปโดยไม่บอกกล่าว ส่วนการชะลอการจ่ายเงินเดือนน่าจะรอให้พนักงานติตต่อกลับไป ส่งใบลาออก จึงทำการหักประกันสังคมไว้ก่อน เพื่อความเรียบร้อยของรายงานและไม่ถูกเรียกค่าปรับในภายหลัง

อ่านคำตอบเพิ่มเติมใน HR Community


Q4: เป็นเซลล์ยอดไม่ถึง กำลังถูกบีบให้ออก ควรทำอย่างไร ?

สืบเนื่องจาก บริษัทเดิมปิดตัวไป และโอนย้ายพนักงานไปบริษัทใหม่ และในขณะที่โอนย้ายสัญญาบริษัทใหม่แจ้งว่าหากอยู่ครบ 1 ปีจะมีเงินพิเศษให้อีก 30,000 บาท พนักงานบางคนไม่ไปต่อได้รับเงินชดเชยมากกว่ามาก (ซึ่งเราไม่ทราบเลย)

อดทนทำงานจนจะครบ 1 ปีอีกไม่กี่เดือน เพื่อรอรับเงิน 30,000 บาท ปรากฏว่ามีนโยบายแปลกๆจากผู้บริหารแจ้งว่า หากทำยอดไม่ถึงจะมีการให้เซ็นใบเตือนเพื่อไล่ออก โดยมีระยะเวลาทำยอดภายใน 1 เดือน

ก่อนหน้านี้ทางบริษัทได้นำพนักงานเข้าอบรมปรับปรุงแผนพัฒนาศักยภาพงานขายถึง 2 ครั้ง แต่ผลปรากฏยอดขายของพนักงานก็ยังไม่เพิ่มเนื่องจาก กลุ่มลูกค้าเป็นกลุ่มเดิม และวนเวียนขายอยู่ในบริษัทจนครบทุกแผนก แบบนี้บริษัทมีสิทธิ์ไล่ออก โดยไม่จ่ายเงินชดเชยหรือไม่คะ

A: โดย ดร.เบ็ญจวรรณ บุญใจเพ็ชร

จากคำถามย่อหน้าแรก “แจ้งว่าหากอยู่ครบ 1 ปีจะมีเงินพิเศษให้อีก 30,000 บาท” มีอยู่ในสัญญาหรือไม่ หรือมีบันทึกเป็นเอกสารชัดเจนหรือไม่

จากคำถามย่อหน้าสอง การให้เซ็นใบเตือนเพื่อไล่ออก ไม่ถูกต้อง การเลิกจ้างกรณีนี้ บริษัท ต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และนับอายุงานต่อเนื่องจากบริษัทเดิม

จากคำถามย่อหน้าที่สาม “บริษัทมีสิทธิ์ไล่ออก โดยไม่จ่ายเงินชดเชยหรือไม่คะ” กรณีนี้บริษัทต้องจ่ายค่าชดเชยค่ะ หากถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม แนะนำให้ไปพบเจ้าหน้าที่แรงงานสัมพันธ์ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ที่มีอยู่ในทุกจังหวัด

อ่านคำตอบเพิ่มเติมใน HR Community


Q5: หัวหน้างานอนุมัติลาพักร้อนให้พนักงานแล้ว สามารถยกเลิกได้ไหม ?

เนื่องจากหัวหน้างานเซ็นอนุมัติการลาพักร้อนให้พนักงานโดยลาตรงกัน 2 คน อยากขอยกเลิกการลาของพนักงานคนที่2 แต่เมื่อเรียกพนักงานมาคุย พนักงานแจ้งว่า หัวหน้างานอนุมัติแล้ว ในกรณีแบบนี้ หัวหน้างานสามารถยกเลิกการลาพักร้อนของพนักงานได้ไหมคะ

A: โดย Poonnie HR

มาตรา 30 ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วครบหนึ่งปี มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ ปีหนึ่งไม่น้อยกว่าหกวันทำงานโดยให้นายจ้างเป็นผู้กำหนดวันหยุดดังกล่าวให้แก่ลูกจ้างล่วงหน้า หรือกำหนดให้ตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน เช่น *หากอนุมัติแล้ว มีความจำเป็นต้องให้มาทำงานในวันที่ขอลาไว้ ให้จ่ายค่าทำงานวันหยุด หรือเลื่อนไปหยุดพักผ่อนในวันอื่นแทนก็ได้” หลักการประมาณนี้ครับ

อ่านคำตอบเพิ่มเติมใน HR Community

ผู้เขียน

Picture of HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง