Q&A of the Month: 5 คำถามเด็ด HR ประจำเดือนมิถุนายน 2023

ในที่สุดเราก็เข้าสู่กลางปี 2023 กันแล้ว นี่คือปีที่ยากลำบาก เพราะมีความเปลี่ยนแปลงอยู่บ่อยครั้ง เทคโนโลยีได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันจนคนที่ไม่ทันตั้งตัวจะถูกทิ้งห่างได้ง่ายกว่าที่เคย ดังนั้น การหา HR Solutions ที่เหมาะสมจะเป็นแนวทางสำคัญ ที่จะช่วยให้ทุกองค์กรก้าวข้ามสถานการณ์ที่ยากลำบากไปได้อย่างสะดวกสบายยิ่งขึ้น ซึ่งการให้ความช่วยเหลือทุกคนในสังคม HR คือแนวทางที่ HREX.asia ตั้งเป้าไว้อยู่แล้ว

Q&A Of the Month จำนวน 5 ข้อประจำเดือนมิถุนายน 2023 มุ่งเน้นไปในหลากหลายหัวข้อ ทั้งเรื่องผลกระทบจากการเลือกตั้ง, กฎหมายแรงงาน, การวางแผนนโยบาย โดยมีคำถามที่น่าสนใจและคำตอบจากผู้เชี่ยวชาญที่เป็นประโยชน์ ดังนี้

Q1 : พนักงานประจำไซต์งานลูกค้า ควรได้สวัสดิการตามบริษัทลูกค้า หรือบริษัทของเรา

เนื่องจากบริษัทมีวิศวกรประจำไซต์งานลูกค้า ทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ กำลังสับสนอยู่ว่าจะคำนวณโอทีตามกฏของบริษัทเราเอง หรือกฏของบริษัทลูกค้า เนื่องจากในสัญญาการจ้างงานฉบับใหม่จากลูกค้า ระบุไว้ด้วยว่า อย่างวันหยุดประจำปี หรือ วันหยุดนักขัตฤกษ์ ให้ วิศวกร ของบริษัทเราหยุดตามลูกค้า

A: โดย Poonnie HR

พนักงานทำสัญญาจ้างกับบริษัทใดควรยึดหลักบริษัทนั้นครับ กรณีที่ผมใช้บริหารพนักงาน onsite คือ ทำสัญญาจ้างให้สอดคล้องกับการทำงานและระเบียบของลูกค้าเลยจะง่ายกว่า

เข้าใจว่ากรณีนี้คือ ลูกค้าอาจได้มาภายหลังจากที่พนักงานเริ่มงานและทำสัญญากับเราแล้ว ส่วนตัวถ้าผมแนะนำได้ คือ ให้ทำตามระเบียบบริษัทเราเช่น ทำสัญญาจ้าง 5 วัน และอีก 1 วันให้จ่ายเป็น OT ไปครับ เพราะเราต้องทำงานตามลูกค้าอยู่แล้ว แต่ต้องอธิบายให้พนักงานของเราเข้าใจว่า ทำเพิ่มจากเดิม และส่วนที่เพิ่มคือ OT น่าจะพอเป็นแนวทางการบริหารบุคลากรได้ในระดับหนึ่งนะครับ

อ่านคำตอบเพิ่มเติมใน HR Community


Q2: ไม่ได้รับเงินชดเชยตามเงื่อนไข ทำอย่างไรได้บ้าง ?

หากพนักงานไม่ได้รับการชดเชยตามเงื่อนไขการจ้างงานที่ได้ตกลงกันไว้ในสัญญาจ้าง พนักงานสามารถทำอย่างไรได้บ้าง ?

A: โดย Poonnie HR

คำถามค่อนข้างกว้าง ขออนุญาตอธิบายแบบแนวทางนะครับ ง่ายที่สุดคือ ไปหารือ ประกันสังคมในเขต ก่อนครับ อาจมีคำแนะนำจากประกันสังคมว่าควรจะทำอย่างไรต่อไป

ขอยกตัวอย่างเงินชดเชยในกรณีของการเกษียณอายุ จึงเท่ากับเป็นการเลิกจ้าง ซึ่งลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามที่กฎหมายกำหนด โดยพิจารณาจากระยะเวลาในการทำงาน และค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับ โดยอัตราค่าชดเชยที่กฎหมายกำหนด มีดังนี้ 

  1. ทำงานต่อเนื่องครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี ได้ค่าชดเชย 30 วัน 
  1. ทำงานครบ 1 ปี แต่ไม่เกิน 3 ปี ได้รับค่าชดเชย 90 วัน 
  1. ทำงานครบ 3 ปี แต่ไม่เกิน 6 ปี ได้ค่าชดเชย 180 วัน
  1. ทำงานครบ 6 ปี แต่ไม่เกิน 8 ปี ได้ค่าชดเชย 240 วัน 
  1. ทำงานครบ 10 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปี ได้ค่าชดเชย 300 วัน 
  1. ทำงานครบ 20 ปี จะได้รับค่าชดเชย 400 วัน

หากนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย นายจ้างมีความผิดตามมาตรา 144 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อ่านคำตอบเพิ่มเติมใน HR Community


Q3: บันทึกการประชุมผิด ไม่ตรงกับความเป็นจริง ควรแก้ไขอย่างไร ?

ปัจจุบันมีการนำ AI มาใช้เพื่อช่วยบันทึกการประชุม แต่ก็ยังพบว่ามีข้อผิดพลาดอยู่บ้าง ไม่ต่างจากการใช้คนบันทึกการประชุม ที่มักมีบันทึกหลุดอยู่บ่อย ๆ   เราจะพิจาราณาอบรมพนักงานให้มีทักษะในการบันทึกประชุมได้อย่างไร เพราะทุกข้อมูลที่ผิดพลาดส่งผลเสียต่อองค์กรได้เลย

A: โดย ดร.เบ็ญจวรรณ บุญใจเพ็ชร

AI ช่วยได้ 70-80 % ค่ะ  ถึงอย่างไร AI ก็มีผิดพลาด

กรณีเรื่องสำคัญใช้คนที่มีทักษะในการฟัง จับใจความและเขียนได้รวดเร็ว ต้องฝึกชวเลข หรือ Shorthand เป็นวิธีการเขียนข้อความอย่างย่อ โดยใช้สัญลักษณ์หรือคำย่อเพื่อแทนคำพูด เป็นการเขียนข้อความตามเสียงให้ทันคำพูดของผู้พูด ดังนั้นฝึกฝนและฝึกฝนเท่านั้น จึงจะช่วยได้

แต่เดี๋ยวก่อน สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือ การ Feedback ที่ไม่เป็น หรือ ไม่ได้รับการฝึกฝนมาก่อน นี่แหละคือปัญหาที่บุคลากรของไทยไม่ชอบการ Feedback เพราะกลัวการเกลียด, กลัวไม่เป็นที่รัก กลัวต่าง ๆ นานา เป็นต้น ทำให้น้องพนักงานไม่ได้รับการพัฒนาฝึกฝนเท่าที่ควร

อ่านคำตอบเพิ่มเติมใน HR Community


Q4: ทำไมเหล่าผู้บริหารจึงต้องใส่ใจการบริหารทรัพยากรบุคคล ?

การบริหารคนสำคัญอย่างไร ? ทำไมกลุ่มผู้บริหารจึงต้องให้ความสำคัญ

A: โดย นภัสราพร เด่นพงศ์พันธุ์

หากฝ่ายงานนั้นๆ ไม่มี “มนุษย์” เป็นคนทำงาน ผู้บริหารก็ไม่ต้องบริหาร “มนุษย์” แต่ต้องไป บริหารสิ่งที่ทำงานแทน เช่น บริหารเครื่องจักร หรือ บริหารหุ่นยนต์ เป็นต้น

แต่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน “มนุษย์” ก็ยังคงเป็นทรัพยากรหลักที่ใช้ในการทำงาน เราจึงต้อง  “บริหารทรัพยากรมนุษย์” ด้วยความสามารถของผู้บริหารของทุกฝ่าย เพื่อให้ “งาน” ดำเนินการไปจนสำเร็จ 

“มนุษย์” เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีการพัฒนาความรู้ มีความคิด มีความรู้สึกอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น “การบริหารมนุษย์” จึงเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ท้าทาย โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่มี Technology มาเป็นปัจจัยเสริมที่มีอิทธิพลต่อความรู้, ความคิด, ความรู้สึก ประกอบกับความแตกต่างของมนุษย์ที่มาจากชื้อชาติ, สัญชาติ, ภาษา, วัฒนาธรรม, วิถีชีวิต ฯลฯ  ที่แตกต่างกัน เหตุนี้จึงถือเป็นความท้าทายของผู้บริหารที่จะ  “บริหาร” และ “จัดการมนุษย์” ให้มีประสิทธิภาพอย่างมืออาชีพ

อ่านคำตอบเพิ่มเติมใน HR Community 


Q5: Career Development แนวราบคืออะไร ? มีประโยชน์อย่างไร ?

ในปัจจุบันการพัฒนาอาชีพ มักเป็นการมองไปในลักษณะของแนวดิ่ง แต่ความจริงแล้วยังมีอีกแนวทางหนึ่งคือการพัฒนาแนวราบ (Horizontal Line) ซึ่งมักเป็นการหมุนเวียนปรับเปลี่ยนงาน (Rotation) ท่านคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้?

A: โดย Poonnie HR

การเติบโตในสายงาน ส่วนใหญ่จะมองในแนวดิ่ง จนลืมไปว่าการเติบโตในแนวราบหรือแนวด้านข้าง สามารถทำได้ แต่ที่ไม่ค่อยได้พูดถึงกันเพราะ การเติบโตในแนวราบนั้น ไม่ใช่การเลื่อนตำแหน่ง แน่นอนว่า เงินเดือนไม่ได้ปรับขึ้น แต่บทบาทและตำแหน่งงานอาจเปลี่ยนไป แต่ การเติบโตทางราบ ผมมักใช้คำว่า Rotation นั้น จะทำให้เราได้องค์ความรู้เพิ่มเติมในงานข้างๆ หรือทาง HR จะใช้คำว่า Job family คล้ายคลึงกัน ใกล้เคียงกัน เกี่ยวเนื่องกัน แต่ไม่ใช่งานเดิม

ยกตัวอย่าง สมมติส่วนงาน HR มีกล่องงานอยู่ 3 กล่อง คือ กล่อง HR Development  กล่องที่ 2 Recruiter กล่องที่ 3 HR Management  ซึ่งทั้ง 3 กล่องอยู่ภายใต้ HR Director คนเดียว  คิดง่ายๆ คือ คนที่จะเติบโตเป็น HR Director ต้องมีองค์ความรู้ทั้ง 3 กล่อง แต่ละกล่องอาจมีความแข็งแรงไม่เท่ากัน แต่ต้องมีความรู้ทั้ง 3 กล่องงาน

วิธีการเติบโตนี้ ทำให้พนักงานต้องมีการเติบโตทางข้างหรือทางราบ คือ ขอ Rotation ไปทำงานกล่องงานที่ 2 สัก 1-2 ปี และ ไปกล่องงานที่ 3 สัก 1 ปี เมื่อผ่านคุณสมบัติการพิจารณาแล้ว พนักงานท่านนั้น พร้อมเป็น HR Director ได้ในที่สุดครับ

อ่านคำตอบเพิ่มเติมใน HR Community

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง