Q&A of the Month: 5 คำถามเด็ด HR ประจำเดือนพฤษภาคม 2023

ในเดือนพฤษภาคมนี้ มีคำถามมากมายเกิดขึ้นใน HR Community เว็บบอร์ดถาม-ตอบ (Q&A Forum) ซึ่งถือเป็นแพลตฟอร์มที่เราสร้างขึ้นมาเพื่อช่วยให้ HR ทุกคนมีชุมชนไว้แลกเปลี่ยนข้อมูลกันง่ายขึ้น เพราะเราได้รวมผู้เชี่ยวชาญจากทุกสายที่ฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคลต้องรู้ แถมยังถูกกำกับดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถใช้อ้างอิงได้จริง

Q&A Of the Month จำนวน 5 ข้อประจำเดือนพฤษภาคม 2023 มุ่งเน้นไปในหลากหลายหัวข้อ ทั้งเรื่องผลกระทบจากการเลือกตั้ง, กฎหมายแรงงาน, การวางแผนนโยบาย, การปรับสวัสดิการให้เหมาะสมกับยุคสมัย โดยมีคำถามที่น่าสนใจและคำตอบจากผู้เชี่ยวชาญที่เป็นประโยชน์ ดังนี้

Q1 : อยากได้แนวทางออกแบบสวัสดิการของพนักงานในแต่ละเลเวล

ผู้บริหารอยากให้พนักงานต้องการพัฒนาตัวเองมากขึ้น เราควรออกแบบสวัสดิการให้พนักงานแต่ละระดับอย่างไรเพื่อให้ตอบโจทย์ในเรื่องนี้ 

A: โดย ดร.เบ็ญจวรรณ บุญใจเพ็ชร

การจัดสวัสดิการนั้น แนะนำให้มีสวัสดิการพื้นฐานที่พนักงานทุกคนทุกระดับควรได้รับ เช่น

  1. สวัสดิการประกันสังคม
  2. เครื่องแบบพนักงาน
  3. ค่ารักษาพยาบาลนอกเหนือจากประกันสังคม โดยกำหนดงบประมาณต่อคนต่อปี
  4. เงินจูงใจสำหรับพนักงานที่มาทำงานตรงเวลา
  5. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
  6. น้ำดื่มสะอาด
  7. เคริ่องดื่ม Coffee break ช่วงบ่ายโดยแบ่งกันพักครั้งละ 10-15 นาที โดยไม่ให้กระทบกับงาน
  8. Birthday of the month เลี้ยงพนักงานเดือนละครั้งสำหรับผู้ที่ครบรอบวันเกิดในเดือนนั้น ๆ
  9. ของเยี่ยมพนักงาน กรณีเจ็บป่วยที่ต้อง admid ในโรงพยาบาล
  10. เงินร่วมแสดงความยินดีในโอกาสต่างๆ เช่น วันแต่งงาน การคลอดบุตร
  11. เงินช่วยเหลือกรณี พ่อ แม่ ลูกสายตรงของพนักงานเสียชีวิต
  12. เงินช่วยเหลือกรณีพนักงานเสียชีวิต
  13. เงินช่วยเหลือกรณีพนักงานประสบเหตุภัยพิบัติ เช่นบ้านน้ำท่วม ไฟไหม้
  14. เงินกู้ยืมโดยไม่คิดดอกเบี้ย กรณีพนักงานได้รับความเดือดร้อน (ควรมีคณะกรรมการสวัสดิการ เป็นผู้ดูแล)
  15. สัมมนา+ท่องเที่ยวพักผ่อนนอกสถานที่ (ต้องพิจารณาผลประกอบการ)

กรณีที่ต้องการจัดสวัสดิการแยกตามระดับ ให้มีเพิ่มเติมจาก 15 รายการข้างต้น เช่น

  1. ค่าน้ำมันรถ
  2. ค่าโทรศัพท์
  3. ค่าเช่าบ้าน (กรณีไม่ได้อยู่บ้านของตนเอง)
  4. วันหยุดพิเศษ นอกเหนือจากที่บริษัทจัดให้ (โดยได้รับค่าจ้าง)
  5. ค่าเลี้ยงรับรอง มื้อพิเศษ เดือนละ 1 ครั้ง

อ่านคำตอบเพิ่มเติมใน HR Community และอ่านบทความที่เกี่ยวข้องกับคำถามได้ที่นี่ 👇


Q2: หากต้องปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามนโยบายของรัฐ องค์กรต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง ?

อยากทราบว่านโยบายนี้จะมีข้อดี – ข้อเสียอย่างไรบ้าง และองค์กรต้องปรับตัวอย่างไร ส่งผลกระทบต่องานบริหารหรือไม่ อย่างไร

A: โดย ดร.เบ็ญจวรรณ บุญใจเพ็ชร

ปกติการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ก็จะปรับกันทุกปี โดยปรับตามภาวะเงินเฟ้อ ดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index) ค่าครองชีพตามสภาวะทางเศรษฐกิจ ทุกครั้งของการปรับจะมีคณะกรรมการไตรภาคี ร่วมกันพิจารณา

จากคำถาม เราสามารถแบ่งข้อดีและข้อเสีย ออกมาได้ดังนี้

ผลกระทบในด้านดี : เป็นแรงจูงใจให้กับผู้ใช้แรงงาน รวมถึงมนุษย์เงินเดือน ทุกครั้งที่มีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ส่งผลให้ต้องปรับโครงสร้างค่าจ้างเงินเดือนของบริษัทด้วย กระทบกันเป็นลูกคลื่น นอกจากนั้นจะมีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น เกิดการลงทุน การใช้จ่าย เป็นโอกาสที่ต้อง Skill Up พนักงานเพื่อให้คุ้มกับการจ่ายที่เพิ่มขึ้น

ผลกระทบในด้านลบ

  1. องค์กรมีต้นทุนแรงงานเพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรสูงขึ้น
  2. อาจมีการ Downsizing ลดจำนวนพนักงาน มีการเลิกจ้าง หากองค์กรนั้นๆ ไปต่อไม่ได้ รับภาระไม่ไหว

อ่านคำตอบเพิ่มเติมใน HR Community และอ่านบทความที่เกี่ยวข้องกับคำถามได้ที่นี่ 👇


Q3: หากพนักงานหญิงต้องการบวชชี องค์กรควรพิจารณาอย่างไร ?

พอดีเห็นช่วงนี้มีดราม่าเรื่องการลาบวช กับการลาคลอด เพราะเห็นราชการให้วันลาบวชมากกว่าวันลาคลอดของผู้หญิงอีก เลยสงสัยว่า HR ควรออกกฎข้อบังคับเรื่องการลาบวชอย่างไรให้เหมาะสมกับทั้งบริษัทและตัวพนักงาน แล้วควรระบุ/ไม่ระบุเรื่องเพศของผู้ลาบวชด้วยไหม เคยได้ยินว่า บางทีผู้หญิงอยากลาบวชชีด้วย แต่ไม่สามารถลาได้

A: โดย ดร.เบ็ญจวรรณ บุญใจเพ็ชร

ตามพรบ.คุ้มครองแรงงาน สิทธิการขอลาบวช ไม่มีกำหนดไว้ในกฎหมายแรงงาน

ขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัท สามารถกำหนดวันลาบวชได้เอง โดยจัดให้เป็นสวัสดิการวันลาเพิ่มเติมจากที่กฎหมาย ฯ กำหนด หากไม่ได้กำหนดไว้ก็แนะนำให้พนักงานใช้สิทธิลากิจ หรือพักร้อน หากวันลาที่มีไม่เพียงพอ ให้ลากิจหักค่าจ้าง

หลักเกณฑ์การขอลาบวช เท่าที่มีข้อมูลโดยทั่วไป

  1. พนักงานที่มีอายุงาน 2 ปีขึ้นไป
  2. ขอลาบวชได้ ไม่เกิน 15 วัน ทั้งนี้ต้องไม่กระทบต่องานและต้องได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาตามลำดับขั้น
  3. พนักงานใช้สิทธิได้ 1 ครั้ง ตลอดอายุการเป็นพนักงาน
  4. หลังการลาบวช ต้องแสดงเอกสารหรือใบอนุโมนาบัตรจากทางวัด และให้นำมารายงานตัวที่ฝ่าย HR ทันทีที่กลับมาทำงาน

กรณีที่พนักงานหญิงขอลาบวชชี ให้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของฝ่ายบริหาร พิจารณา case by case

ข้อมูลเพิ่มเติม การลาตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานมี 7 ประเภท ดังนี้

  1. การลาป่วย
  2. การลาเนื่องจากประสบอุบัติเหตุในการทำงาน
  3. การลากิจ
  4. การลาคลอด 
  5. การลาเพื่อทำหมัน
  6. การลาเพื่อพัฒนาฝึกอบรม
  7. การลารับราชการทหาร ตามหมายเรียกจากทางราชการ

อ่านคำตอบเพิ่มเติมใน HR Community และอ่านบทความที่เกี่ยวข้องกับคำถามได้ที่นี่ 👇


Q4: ออกใบเตือนให้พนักงาน แต่ยังไม่ยอมปรับตัว ยกเลิกสัญญาโดยไม่จ่ายเงินชดเชยได้หรือไม่ ?

ปกติที่บริษัทมีกฏทำงานเวลา 8.00-17.00 แต่พนักงานคนหนึ่งชอบมาสาย เช่น

มา 9.30 แต่ก็ เลิกงาน 18.30 หรือ มา 8.30 เลิก 17.30 เป็นต้น

ทางบริษัทเคยได้ทำใบเตือนไปแล้ว ว่าให้ปรับปรุงตัว (แต่ไม่ได้กำหนดระยะเวลา หรือคาดโทษอะไรเอาไว้) ซึ่งปัจจุบันผ่านมา 3 เดือนแล้ว พนักงานก็ยังมีพฤติกรรมเหมือนเดิม จึงสงสัยว่าในกรณีแบบนี้สามารถเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้ไหม ? 

โดยใช้เหตุผลว่า “ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้าง” 

A: โดย Poonnie HR

อยากให้ลองศึกษาลำดับขั้นในการลงโทษพนักงานก่อนครับ ในที่นี้โทษทางวินัยมีทั้งหมด 4 ประเภท ดังนี้ 

  1. ตักเตือนด้วยวาจาและบันทึกไว้
  2. ตักเตือนเป็นหนังสือ
  3. พักงานไม่เกิน 7 วัน โดยไม่จ่ายค่าจ้าง
  4. เลิกจ้าง

สำหรับกรณีพนักงานผิดซ้ำในสิ่งที่ระบุไว้ในใบเตือน สามารถเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายเงินชดเชย ส่วนกรณีที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายแรงงานในด้านการลงโทษ ผมอยากให้ศึกษาให้ละเอียด การให้คำปรึกษาทางนี้เป็นเพียงคำแนะนำกว้าง ๆ เพราะอาจมีบริบทบางอย่างที่ไม่ได้ถูกระบุในคำถามอย่างครบถ้วนครับ

อ่านคำตอบเพิ่มเติมใน HR Community และอ่านบทความที่เกี่ยวข้องกับคำถามได้ที่นี่ 👇


Q5: อยู่ในช่วงทดลองงาน 90 วัน แต่รู้สึกว่างานไม่ตรงกับที่คิดเอาไว้ สามารถลาออกก่อนครบเวลาได้หรือไม่ ?

อยู่ในช่วงทดลองงาน แล้วรู้สึกว่า บริษัท เพื่อนร่วมงาน ไม่ใช่และไม่ได้เลย พยายามปรับแล้วทุกอย่าง แต่ก็ยังรู้สึกว่ามันไม่ใช่ อันนี้สามารถแจ้งลาออกได้ไหมคะ ? มีผลอะไรกับตัวสัญญาไหม เพราะในสัญญาจ้าง คือจะสิ้นสุดเดือนกันยายน

A: โดย นภัสราพร เด่นพงศ์พันธุ์ 

การลาออกคือการแจ้งความประสงค์โดยคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่จะไม่ให้สัญญามีผลต่อไป สามารถแจ้งลาออกตามระเบียบที่กำหนด เช่น ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน ควรแจ้งทั้งที่เป็นสัญญาแบบมีวันสิ้นสุดสัญญา และแบบไม่มีวันสิ้นสุดสัญญา เมื่อแจ้งแล้วก็มีผลตามที่ระบุในวันที่ต้องการลาออก แต่หากว่าต้องการให้สิ้นสุดตามสัญญา ก็ระบุวันลาออกให้มีผลในวันเดียวกัน กรณีที่วันมีผลลาออกมีระยะเวลาน้อยกว่าที่ระเบียบกำหนด ก็ต้องดูว่าตามระเบียบนั้นตั้งเงื่อนไขหรือไม่ เช่น

  1. การไม่คืนเงินค้ำประกันการทำงาน
  2. การได้รับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่ครบ 100%

ซึ่งโดยมารยาทควรอยู่ให้ครบ เพราะส่วนใหญ่ ผู้ว่าจ้างจะสำรองเวลาสำหรับการหาคนมาทดแทนและรับช่วงงานต่อ แม้จะเป็นช่วงทดลองงานก็ควรอยู่ให้ครบ ยกเว้นว่าได้ตกลงกันทั้งสองฝ่าย ว่าสามารถลาออกได้เร็วกว่าที่เตยตกลงกันไว้ก่อนหน้านี้

สิ่งที่จะตามมาคือผู้ว่าจ้างมีหน้าที่ออกหนังสือรับรองการทำงานให้ทุกกรณี โดยระบุรายละเอียดของตำแหน่งงาน ระยะเวลาที่ทำงานจริง และเป็นโดยชอบตามกฎหมายผู้รับจ้าง

อ่านคำตอบเพิ่มเติมใน HR Community และอ่านบทความที่เกี่ยวข้องกับคำถามได้ที่นี่ 👇

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง