Q&A of the Month: 5 คำถามเด็ด HR ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2023

เข้าสู่เดือนแห่งความรัก แต่แวดวง HR ยังมีเรื่องร้อน ๆ ที่ต้องหาคำตอบกันอยู่เสมอ จึงไม่แปลกหากหลายคนจะตั้งคำถามว่ามีวิธีใดบ้างที่จะช่วยให้เดือนแห่งความรัก เต็มไปด้วยความหวานในองค์กรอย่างแท้จริง ซึ่ง HR Community เว็บบอร์ดถาม-ตอบ (Q&A Forum) คือแพลตฟอร์มที่เราสร้างขึ้นมาเพื่อช่วยให้ HR ทุกคนมีชุมชนไว้แลกเปลี่ยนข้อมูลกันง่ายขึ้น เพราะนี่แหล่งรวมผู้เชี่ยวชาญจากทุกสายที่ฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคลต้องรู้ แถมยังถูกกำกับดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถใช้อ้างอิงได้จริง

Q&A Of the Month จำนวน 5 ข้อประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2023 มุ่งเน้นไปในหลากหลายหัวข้อ ทั้งด้านการแต่งกาย, วัฒนธรรมองค์กร, ทักษะการเป็นผู้นำ หรือแม้แต่จริยธรรมตามตำแหน่งหน้าที่ โดยมีคำถามที่น่าสนใจและคำตอบจากผู้เชี่ยวชาญที่เป็นประโยชน์ ดังนี้

Q1 : ยูนิฟอร์มบริษัทขัดแย้งกับสีเสื้อมงคล ทำอย่างไรดี

เนื่องจากบริษัทจะมีงานเลี้ยงประจำปี จึงต้องการขอความร่วมมือให้พนักงานแต่ตัวด้วยยูนิฟอร์มบริษัท เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่มีพนักงานท่านหนึ่งขอปฏิเสธ เพราะสียูนิฟอร์มขัดแย้งกับตารางสีเสื้อมงคลประจำวัน

พนักงานให้เหตุผลว่าวันนั้นจะมีการพบลูกค้าครั้งสำคัญ จึงต้องการให้ตัวเองรู้สึกสบายใจ ทางนี้ได้เสนอไอเดียให้นำชุดมาเปลี่ยนก่อนพบลูกค้า แต่พนักงานมีความเชื่อว่าหากใส่สีเสื้อที่เป็นอัปมงคลก็จะดวงตกไปทั้งวัน แม้จะเปลี่ยนชุดก็ไม่ช่วยอะไร

A: โดย ดร.เบ็ญจวรรณ บุญใจเพ็ชร

การแต่งตัวตามสีมงคล เป็นความเชื่อ ความศรัทธาของแต่ละบุคคล เป็นเรื่องส่วนตัว บางคนก็จริงจังมาก บางคนก็ไม่มีปัญหาขนาดนั้น

หากเป็นวันที่ทุกคนต้องใส่ยูนิฟอร์มจริง ๆ HR สามารถแนะนำให้พนักงานเอาชุดที่มั่นใจมาเปลี่ยนหากจำเป็นต้องไปขายงานลูกค้า หรือทำกิจกรรมที่อาศัยความมั่นใจเป็นพิเศษ แต่หากพนักงานปฏิเสธหรือมีเหตุผลขัดแย้งที่เอาตัวเองเป็นหลัก ก็สามารถแนะนำให้ขาดงาน หรือปฏิเสธไม่ให้เข้าร่วมกิจกรรมแบบหมู่คณะขององค์กรไปเลย เพราะถือว่าขาดสปิริต ไม่ร่วมมือกับนโยบาย วัฒนธรรมองค์กร และไม่ยืดหยุ่นเพื่อหาทางออกร่วมกัน

อ่านคำตอบเพิ่มเติมใน HR Community และอ่านบทความที่เกี่ยวข้องกับคำถามได้ที่นี่ 👇


Q2: เป็นหัวหน้า แต่ทำผิดแล้วไม่กล้าขอโทษ จะแก้ไขอย่างไร ?

สมมุติว่าเราผิด และเราก็อยากจะยอมรับผิด แต่กลัวว่าลูกน้องจะไม่เชื่อถือในศักยภาพของเรา กลัวจะคิดว่าเราไม่เก่งจริง แล้วจะบริหารทีมต่อไปได้ยังไง แต่ในขณะเดียวกัน หากใครทำอะไรผิด เราก็อยากให้เขาออกมาประกาศ กล้ายอมรับผิดตรง ๆ ดีกว่ารู้ว่าผิดแล้วเก็บเอาไว้ ซึ่งตอนนี้ก็อยากประกาศออกมาแต่ก็กลัวคนในทีมจะไม่เชื่อถือไว้วางใจในงานต่อ ๆ ไป ทุกท่านมีคำแนะนำหรือความคิดเห็นอย่างไรบ้างครับ

A: โดย Poonnie HR

คนที่เป็นผู้นำควรยึดถือหลัก “ใจเขาใจเรา” หากเราไม่ชอบให้คนทำแบบไหน เราก็ไม่ควรทำแบบนั้นเช่นกัน เหตุนี้เราควรคิดว่าหากพนักงานทำผิดแล้วไม่ยอมขอโทษ หาเหตุผลตีโพยตีพายไปเรื่อย เราจะรู้สึกอย่างไร ?

HR ต้องทำให้คนระดับหัวหน้าเข้าใจว่า เราต้องรู้จักขอโทษให้เป็นเมื่อทำผิดพลาด วิธีนี้จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นระหว่างกัน เป็นประสบการณ์ที่จะช่วยให้งานดีขึ้น ให้คิดว่าการขอโทษไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้คนหมดความเชื่อมั่น แต่เป็นการทำผิดเรื่องเดิมซ้ำ ๆ มากกว่า หากผู้นำโฟกัสถูกจุด ทีมก็จะยอมรับในตัวเราแน่นอน

อ่านคำตอบเพิ่มเติมใน HR Community และอ่านบทความที่เกี่ยวข้องกับคำถามได้ที่นี่ 👇


Q3: ถูกหัวหน้าบังคับให้รับเด็กเส้นโดยไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธ เราจะทำอย่างไรได้บ้าง ?

บางครั้งเราก็ต้องเจอกับสถานการณ์แบบนี้โดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เราก็ไม่อยากให้พนักงานคนอื่นรู้สึกแย่กับความไม่มืออาชีพที่เกิดขึ้น เราควรบริหารจัดการเด็กเส้นในองค์กรอย่างไร ?

A: โดย ดร.พลกฤต โสลาพากุล

ต้องยอมรับว่าการรับเด็กเส้นเป็นสิ่งที่ยังเกิดขึ้นอยู่จริงในหลากหลายองค์กร ซึ่งไม่แปลกหากคนกลุ่มนี้จะถูกเพ่งเล็งมากเป็นพิเศษ วิธีการที่ HR สามารถทำได้และให้ผลดีที่สุดก็คือการปฏิบัติกับกลุ่มเด็กเส้นให้เหมือนกับพนักงานคนอื่น ทั้งเรื่องกฎเกณฑ์ ข้อบังคับด้านการเข้างาน, ขาดงาน, วัฒนธรรมองค์กร ไม่ให้อภิสิทธิ์ที่แตกต่างเด็ดขาด

ที่สำคัญคือต้องไม่ให้พนักงานคนอื่นเห็นว่า HR ไม่สามารถทำอะไรคนกลุ่มนี้ได้เลย ขณะเดียวกันก็ต้องกระตุ้นเด็กเส้นให้ทำงานตามวัตถุประสงค์ขององค์กรให้ได้ ไม่ใช่แค่ชิงสิทธิ์ของคนอื่นมาโดยไม่สามารถสร้างประโยชน์ได้เลย

อ่านคำตอบเพิ่มเติมใน HR Community และอ่านบทความที่เกี่ยวข้องกับคำถามได้ที่นี่ 👇


Q4: น้องในทีมชอบงีบหลับในเวลางาน จะตักเตือนอย่างไร ?

น้องในทีม งีบหลับในเวลาทำงาน เเล้วก็มี พนักงานเเผนกอื่นๆเห็นเพราะเดินผ่านไปผ่านมา เคยมีการตักเตือนจากหัวหน้าเเล้ว และมีผลต่อการประเมินน้องก็รับทราบ แต่ยังหลับต่อมาตลอด พอจะมีวิธีการพูดยังไงให้น้องปรับปรุงอย่างจริงจังบ้างคะ

A: โดย ดร.เบ็ญจวรรณ บุญใจเพ็ชร

“งีบหลับในเวลาทำงาน”  ถือว่าขาดประสิทธิภาพในการทำงาน เป็นวินัยที่เกี่ยวข้องกับความประพฤติในการทำงาน

แม้ว่าบริษัทมีการตักเตือน ก็อาจใช้ไม่ได้ผล  หรือได้แจ้งผลประเมินแล้วก็ตาม คงต้องกลับมาทบทวนวิธีการประเมินที่ใช้อยู่

ว่ามีความน่าเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน หากใช้ไม่เป็น การประเมินก็เปรียบเสมือนยาสามัญประจำบ้าน กินบ่อย ๆ ก็ดื้อยา

แนะนำให้แก้ไขดังนี้

1. สอบถาม ค้นหาสาเหตุ การที่พนักงานงีบหลับในเวลาทำงาน อาจมีปัญหาด้านสุขภาพ หรือนอนดึก หรือเลิกงานแล้วไปรับ Job ที่อื่น ต้องหาสาเหตุที่แท้จริงให้พบ และแก้ไขให้ตรงจุด

2. มีงานบางประเภท เช่นงาน Graphics Design งาน Project หรืองานที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน รูปแบบการจ้าง สามารถทำการจ้างเหมาได้ โดยพนักงานไม่ต้องมาทำงานที่บริษัท

อ่านคำตอบเพิ่มเติมใน HR Community และอ่านบทความที่เกี่ยวข้องกับคำถามได้ที่นี่ 👇


Q5: เรียนจบมาใหม่ ๆ ไม่มีประสบการณ์ สามารถสมัครงานสาย HR ได้ไหม ?

ในสาขาที่เรียนมีเรียนเกี่ยวกับฝ่ายบุคคลด้วยเลยมีทฤษฎีที่รู้ค่ะ ยังไม่มีประสบการณ์การปฏิบัติ พอจะสามารถสมัครตำแหน่งนี้ได้ไหมคะ

A: โดย โชติช่วง กังวานกิจมงคล

สมัครได้ครับ แต่สิ่งที่อยากให้เน้นใน Resume และการสัมภาษณ์งานคือ

– เนื้อหาที่เรียนในวิชา HR พร้อม Assignment ที่เคยทำส่งในชั้นเรียน

– ประสบการณืที่เกี่ยวข้องกับ HR (ถ้ามี) จะเป็นจากในงานกิจกรรมก็ได้

– ทักษะที่เรามี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Critical Thinking, Communication โดยจะต้องสื่อสารสิ่งเหล่านี้ใน Resume ว่าเราได้ใช้ในการทำงาน (หรือกิจกรรม) ไหนมาบ้าง

ตำแหน่งที่แนะนำสำหรับ First Jobber ในสาย HR จะเป็น Recruiter / HR Admin ครับ แต่ส่วนตัวจะแนะนำการเป็น Recruiter มากกว่าเพราะจะได้เห็นแนวโน้มในตลาด และได้พัฒนาทักษะค่อนข้างสูง

อ่านคำตอบเพิ่มเติมใน HR Community และอ่านบทความที่เกี่ยวข้องกับคำถามได้ที่นี่ 👇

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง