Q&A of the Month: 5 คำถามเด็ด HR ประจำเดือนสิงหาคม 2022

Q&A of the Month: 5 คำถามเด็ด HR ประจำเดือนสิงหาคม 2022

หน้าที่ของ HR คือการฝึกฝนเรียนรู้เพื่อหาข้อมูลใหม่ ๆ มาช่วยพัฒนาองค์กรให้มากที่สุด ซึ่ง HR Community เว็บบอร์ดถาม-ตอบ (Q&A Forum) คือแพลตฟอร์มที่เราสร้างขึ้นมาเพื่อช่วยให้ HR ทุกคนมีชุมชนไว้แลกเปลี่ยนข้อมูลกันง่ายขึ้น เพราะนี่แหล่งรวมผู้เชี่ยวชาญจากทุกสายที่ฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคลต้องรู้ แถมยังถูกกำกับดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถใช้อ้างอิงได้จริง

เราเชื่อว่าการเพิ่มทักษะ (Upskill) คือพลังที่จะช่วยให้ HR ทุกคนก้าวผ่านอุปสรรคในทำงานและก่อเกิดเป็นองค์ความรู้ขึ้นมาอย่างไม่มีวันสิ้นสุด

Q&A Of the Month จำนวน 5 ข้อประจำเดือนสิงหาคม 2022 ที่เราคัดสรรมานี้มุ่งเน้นไปในหลากหลายหัวข้อ ทั้งด้านงานเอกสาร, การว่าจ้าง, การบริหารองค์กร, สุขภาพจิต, สิทธิประโยชน์ของพนักงาน โดยมีคำถามที่น่าสนใจและคำตอบจากผู้เชี่ยวชาญที่เป็นประโยชน์ ดังนี้

Q&A of the Month: 5 คำถามเด็ด HR ประจำเดือนสิงหาคม 2022

Q1 : HR จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องสุขภาพจิตของพนักงานได้อย่างไร ?

อยากได้ตัวอย่าง หรือ Case Study เรื่องการบริหารจัดการสุขภาพจิตมาเป็นแนวทางพัฒนาสวัสดิการด้านสุขภาพจิต มีคำแนะนำอย่างไรบ้าง ?

A: โดยดร.พลกฤต โสลาพากุล

ผมขอตอบให้เป็นแนวทางว่าควรทำคลินิก HR โดยเปิดโอกาสให้พนักงานได้เขียนข้อความเพื่อติดต่อกับ HR ในการช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตโดยเฉพาะในช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 แบบนี้ ซึ่งจะเป็นเรื่องดีมากหากได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหาร

สิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรกคือการสอนให้ผู้นำหรือคนในระดับหัวหน้างานมีความรู้ความเข้าใจเรื่องจิตวิทยา เพราะ HR ไม่สามารถแก้ไขปัญหาโดยลำพัง หากทุกคนมีความเข้าใจตรงกันก็จะเป็นประโยชน์กับทั้งพนักงานและองค์กร

อ่านคำตอบเพิ่มเติมใน HR Community และอ่านบทความที่เกี่ยวข้องกับคำถามได้ที่นี่ 👇

Q&A of the Month: 5 คำถามเด็ด HR ประจำเดือนสิงหาคม 2022

Q2: ประวัติการลาของพนักงานถือเป็นข้อมูลส่วนบุคคลหรือไม่?

ฝ่าย HR ได้ทำแบบฟอร์มการลาซึ่งระบุวันที่เขียน, วันที่ลา, สาเหตุการลา ให้พนักงานรับไปกรอกแล้วนำมาคืน โดยจะใช้เป็นเอกสารประจำของพนักงาน และออกเป็นเอกสารให้ผู้อื่นได้ทราบด้วย ถือว่าเสี่ยงความผิดเรื่อง PDPA ไหม ?

A: โดย ดร.เบ็ญจวรรณ บุญใจเพ็ชร

ประวัติการลานั้น หากเป็นการลาปกติที่ไม่มีประวัติสุขภาพ ถือว่าเป็นข้อมุลส่วนบุคคลทั่วไป บริษัทสามารถจัดทำแบบฟอร์มให้พนักงานไปกรอกรายละเอียดได้ไม่ผิด PDPA แต่หากการลานั้น ๆ เกี่ยวข้องกับประวัติสุขภาพ จะถือว่าเป็นข้อมูลอ่อนไหว (Sensitive Data) ต้องขอ Consent (ความยินยอม) ยกเว้นทางบริษัทหรือฝ่าย HR ได้มีการจัดทำ Employee Privacy Notice เพื่อแจ้งให้พนักงานรับทราบและยินยอมให้ใช้ข้อมูลเรียบร้อยแล้ว

อ่านคำตอบเพิ่มเติมใน HR Community และอ่านบทความที่เกี่ยวข้องกับคำถามได้ที่นี่ 👇


Q&A of the Month: 5 คำถามเด็ด HR ประจำเดือนสิงหาคม 2022

Q3: นายจ้างสามารถลดเงินเดือนจากฐานเงินเดือนเดิมของเราได้หรือไม่ ?

นายจ้างแจ้งจะลดเงินเดือนของเราจากฐานที่ได้ 14000 เหลือแค่ 11000 โดยแจ้งจะทำเอกสารให้เซ็นแต่เรายังไม่เห็นเอกสารและยังไม่ได้เซ็น ในกรณีนี้เขาสามารถลดเงินเดือนได้หรือไม่ และเราสามารถฟ้องได้หรือไม่ ?

A: โดย ปราโมทย์ ลาภธนวิรุฬห์

นายจ้างไม่สามารถลงโทษลูกจ้างได้โดยใช้วิธีการลดค่าจ้างหรือหักเงินเดือน แต่สามารถดำเนินการทางวินัยอื่น ๆ หากพบว่าเป็นความบกพร่องจากการปฏิบัติหน้าที่ เช่น ตักเตือนด้วยวาจา, ตักเตือนเป็นลายลักอักษร

ในกรณีนี้ลูกจ้างสามารถไปร้องเรียนต่อสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานหรือฟ้องเป็นคดีแรงงานได้ครับ

อ่านคำตอบเพิ่มเติมใน HR Board และอ่านบทความที่เกี่ยวข้องกับคำถามได้ที่นี่ 👇


Q&A of the Month: 5 คำถามเด็ด HR ประจำเดือนสิงหาคม 2022

Q4: พนักงานผิดศีลข้อสาม องค์กรจะจัดการอย่างไร ?

องค์กรจะบริหารจัดการเรื่องอื้อฉาวในที่ทำงานได้อย่างไรบ้าง ?

A: โดย HR NOTE official account

กรณีความสัมพันธ์อื้อฉาวในที่ทำงานอาจเป็นเรื่องละเอียดอ่อนนะครับ แต่หากความสัมพันธ์ดังกล่าวทำลายชื่อเสียงขององค์กร หรือนำไปสู่การแตกแยกทางครอบครัว กรณีนี้ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงาน เคยวินิจฉัยตัดสินว่า “หากพนักงานหรือเพื่อนร่วมงานเป็นกิ๊กหรือเป็นชู้หรือกระทำการอันไม่สมควรในทางเสื่อมเสียด้านความสัมพันธ์ในเชิงชู้ระหว่างชายหญิงในที่ทำงานหรือนอกที่ทำงานโดยไม่รักษาเกียรติต่อสถานที่ทำงานอันเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายแก่ชื่อเสียง นายจ้างก็สามารถเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5609/2542”

อ่านคำตอบเพิ่มเติมใน HR Community และอ่านบทความที่เกี่ยวข้องกับคำถามได้ที่นี่ 👇


Q&A of the Month: 5 คำถามเด็ด HR ประจำเดือนสิงหาคม 2022

Q5: พนักงานชอบออกไปทำธุระส่วนตัวในเวลางาน ควรจัดการอย่างไร ?

อยากสอบถามว่าในช่วงเวลางานคนในออฟฟิศชอบออกไปข้างนอก เช่นออกไปคุยมือถือบ้าง กินข้าวในเวลางานบ้าง อยากทราบว่าเราสามารถจัดการตรงนี้อย่างไรได้บ้าง ในเบื้องต้นหัวหน้างานแจ้งว่าไม่อยากให้บริษัทตึงไป แต่สุดท้ายก็หย่อนเกินไป

A: โดย PK lawyer

จริง ๆ เรื่องนี้ต้องเป็นนโยบายของบริษัท ดังนั้นถ้าถามถึงวิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดก็คือการแก้ที่ตัวผู้บริหารหรือหัวหน้าที่ดูแลเพราะสุดท้ายจะส่งผลต่อคุณภาพงาน วิธีแก้ปัญหาที่่ง่ายที่สุดคือการร้องเรียนเป็นบันทึกข้อความว่าพนักงานคนนั้น ๆ ทำผิดเรื่อง (…ปัญหาที่เกิดขึ้น…) และให้ผู้บริหารหาแนวทางกลางเพื่อจัดการ

อ่านคำตอบเพิ่มเติมใน HR Community และอ่านบทความที่เกี่ยวข้องกับคำถามได้ที่นี่ 👇

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง