Q&A of the Month: 5 คำถามเด็ด HR ประจำเดือนกรกฏาคม 2022

Q&A of the Month: 5 คำถามเด็ด HR ประจำเดือนกรกฏาคม 2022

หน้าที่ของ HR คือการฝึกฝนเรียนรู้เพื่อหาข้อมูลใหม่ ๆ มาช่วยพัฒนาองค์กรเสมอ ซึ่ง HR Community เว็บบอร์ดถาม-ตอบ (Q&A Forum) คือแพลตฟอร์มที่เราสร้างขึ้นมาเพื่อช่วยให้ HR ทุกคนมีชุมชนไว้แลกเปลี่ยนข้อมูลกันง่ายขึ้น เพราะนี่แหล่งรวมผู้เชี่ยวชาญจากทุกสายที่ฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคลต้องรู้ แถมยังถูกกำกับดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถใช้อ้างอิงได้จริง

เราเชื่อว่าการแบ่งปันความรู้ (Knowledge Sharing) คือพลังอันยิ่งใหญ่ที่จะช่วยให้ HR ทุกคนก้าวผ่านอุปสรรคในทำงานและก่อเกิดเป็นองค์ความรู้ขึ้นมาอย่างไม่มีวันสิ้นสุด

Q&A Of the Month จำนวน 5 ข้อประจำเดือนกรกฎาคม 2022 ที่เราคัดสรรมานี้มุ่งเน้นไปในหลากหลายหัวข้อ ทั้งด้านงานเอกสาร, การว่าจ้าง, การบริหารองค์กร, นโยบายองค์กร, สิทธิประโยชน์ของพนักงาน โดยมีคำถามที่น่าสนใจและคำตอบจากผู้เชี่ยวชาญที่เป็นประโยชน์ ดังนี้

Q&A of the Month: 5 คำถามเด็ด HR ประจำเดือนกรกฏาคม 2022

Q1 : บริษัทปล่อยให้พนักงานฝืนกฎจนชิน ถ้าอยากทำให้กฎแข็งแรงขึ้น จะทำอย่างไรดีคะ

เราเป็น HR ที่เข้าไปช่วยงานในบริษัทเล็ก ๆ ที่มีพนักงานอยู่ราว 8 คนค่ะ (ไม่รวมเมสเซนเจอร์) ปัญหาตอนนี้คือตามระเบียบบริษัทที่เป็นลายลักษณ์อักษรนั้นกำหนดให้เข้างานเวลา 8.30 – 17.30 น. แต่ด้วยความที่ทุกคนเคยอยู่กันแบบสบาย ๆ มาก่อน ก็มักเข้างานกัน 10 โมงบ้าง 11 โมงบ้าง แล้วหัวหน้าก็ไม่ได้ว่าอะไร เพราะเห็นว่าไม่ส่งผลต่อการทำงาน

แต่ทีนี้บริษัทมีแผนจะขยับขยายบริษัทให้ใหญ่ขึ้น จึงคิดว่าการบังคับใช้กฎให้จริงจังขึ้นเป็นสิ่งสำคัญมาก แต่ติดคือ

1. คนที่เคยชินกับกฎเดิมแล้ว จะโน้มน้าวอย่างไร ปัญหาคือตัวหัวหน้าเองก็เป็นคนที่เข้างานสายด้วยเหมือนกัน อารมณ์ว่าหากงานเสร็จก็ใช้ชีวิตได้ตามสบายเลย อันนี้จะทำให้พนักงานเชื่อมั่นได้อย่างไร

2. แล้วถ้าคนที่เคยชินมาแล้วรู้สึกว่าเขาไม่สะดวกเหมือนเคย จนอยากลาออก กรณีนี้คิดว่าคุ้มค่าหรือไม่ แล้วบริษัทควรจะยินยอมถึงระดับไหน (เช่นพูดคุยหาเวลาเข้างานใหม่ที่ทุกคนรับได้ ดีไหม) เป็นต้น

ตอนนี้กลัวเรื่อง Employee Retention มาก ๆ เพราะเป็นงานสายศิลปะ ทุกคนดูติสต์กันมากค่ะ

A: โดย Laksima Amatanon

ให้มองที่ผลประโยชน์สูงสุดของบริษัทค่ะ เช่นลองวิเคราะห์ดูว่าการเข้างานตรงเวลาทำให้บริษัทไปถึงเป้าหมายได้มากกว่าการให้เข้างานแบบอิสระหรือไม่ ถ้าใช่ ก็ควรเปลี่ยนแต่ต้องให้ผู้เกี่ยวข้องช่วยกันออกความเห็นเพื่อหาแนวทางที่ดีที่สุด

แต่ถ้าคำตอบคือไม่ได้มีผลมากนัก ก็ควรเปลี่ยนกฎเป็น Flexible Time ตามที่เป็นอยู่ไปเลยค่ะ หรือถ้าบริษัทมีคนจากหลายสายงาน ก็อาจกำหนดเวลาทำงานตามตำแหน่งก็ได้ เช่นพนักงานบัญชีเข้างานเป็นเวลา, พนักงานสายครีเอทีฟเข้างานแบบอิสระ เป็นต้น

อ่านคำตอบเพิ่มเติมใน HR Community และอ่านบทความที่เกี่ยวข้องกับคำถามได้ที่นี่ 👇


Q&A of the Month: 5 คำถามเด็ด HR ประจำเดือนกรกฏาคม 2022

Q2: โดนไล่ออกเพราะตัวเองทำผิด แต่นายจ้างไม่จ่ายเงินที่เหลือ

เราสามารถไปฟ้องกรมแรงงานได้หรือไม่ ?

A: โดย Poonie HR

บทลงโทษพนักงานมีลำดับขั้นตอนอยู่เหมือนกันนะครับ ซึ่งการลงโทษทางวินัย มีตัวอย่างเช่น

– ตักเตือนด้วยวาจาเฉยๆ หรือบอกปากเปล่า

– ตักเตือนด้วยวาจาและลงบันทึกไว้

– ตักเตือนเป็นหนังสือ เช่น ออกใบเตือน ออกหนังสือเตือน

กรณีบริษัทไล่ออกเพราะทำผิด ต้องดูความผิดว่าเกิดจากสาเหตุใด ถ้าทุจริต หรือทำผิดระเบียบบริษัทร้ายแรงก็สามารถถูกไล่ออกได้โดยไม่มีค่าชดเชย แต่หากรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมก็ให้ปรึกษาเจ้าหน้าที่แรงงานสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ มีอยู่ทุกจังหวัด

อ่านคำตอบเพิ่มเติมใน HR Community และอ่านบทความที่เกี่ยวข้องกับคำถามได้ที่นี่ 👇


Q&A of the Month: 5 คำถามเด็ด HR ประจำเดือนกรกฏาคม 2022

Q3: ลูกน้องทำผิดร้ายแรง แต่หัวหน้าไม่ชอบหน้าเรา เลยไล่เราออกด้วย จะทำอย่างไรดี ?

หัวหน้างานไม่ชอบเราอยู่แล้ว จากนั้นมีลูกน้องใต้บังคับบัญชาทำผิดร้ายแรงเราจึงโดนไล่ออกตามไปด้วย ทั้งที่เราเป็นแค่หัวหน้าแต่ไม่ได้ทำผิดเองโดยตรง ควรทำอย่างไรดี

A: โดย นราธิป ทองบ่อ

แม้เรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้นจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับหัวหน้างานโดยตรง แต่การที่ปล่อยให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทำผิดร้ายแรง ไม่ตรวจสอบการทำงานอย่างเคร่งครัด จนเกิดช่องว่างในการกระทำความผิด ก็ถือเป็นการกระทำประการอื่นอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ซึ่งอาจส่งผลให้ถูกเลิกจ้าง โดยไม่ต้องจ่ายค่าบอกกล่วงล่วงหน้าได้

หากอยากศึกษาเพิ่มเติม สามารถศึกษาได้จากคำพิพากษาฎีกาที่ 4625/2559

อ่านคำตอบเพิ่มเติมใน HR Community และอ่านบทความที่เกี่ยวข้องกับคำถามได้ที่นี่ 👇


Q&A of the Month: 5 คำถามเด็ด HR ประจำเดือนกรกฏาคม 2022

Q4: ลูกน้องไม่ทำงานตามที่ถูกมอบหมาย สามารถยกเลิกสัญญาโดยไม่จ่ายเงินชดเชยได้หรือไม่ ?

กรณีลูกจ้างปฎิเสธหน้าที่งานที่นายจ้างได้มอบหมายให้ และก่อนหน้านี้ลูกจ้างได้รับหนังสือตักเตือน ไม่ว่าจะเป็น ด้วยวาจาโดยไม่มีหนังสือ,เตือนด้วยหนังสือระบุว่าเป็นเตือนด้วยวาจา,เตือนด้วยหนังสืออย่างถูกต้อง จากปัญหาเหล่านี้นายจ้างสามารถยุติการว่าจ้างโดยการบอกเลิกจ้างล่วงหน้า 1 เดือน และไม่จ่ายเงินชดเชยได้หรือไม่

A: โดย ดร.เบ็ญจวรรณ บุญใจเพ็ชร

การเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยใด ๆ ต้องเข้าข่ายลูกจ้างกระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 119 พรบ.คุ้มครองแรงงาน

(1) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญา โดยเจตนาแก่นายจ้าง

(2) จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

(3) ประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้นายจ้าง ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง

(4) ฝ่าฝืน ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม  และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีร้ายแรง นายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปี นับแต่วันที่ลูกจ้างกระทำผิด

(5) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกัน ไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

อ่านคำตอบเพิ่มเติมใน HR Board และอ่านบทความที่เกี่ยวข้องกับคำถามได้ที่นี่ 👇


Q&A of the Month: 5 คำถามเด็ด HR ประจำเดือนกรกฏาคม 2022

Q5: ทำไมเงินเดือนถึงต้องเป็นความลับ ?

เงินเดือนเป็นค่าตอบแทนของพนักงานที่ตั้งใจที่จะทำงาน ทำไมองค์กร สวนใหญ่ต้องให้เงินเดือนเป็นความลับด้วย แล้วจริง ๆ เงินเดือน สามารถเปิดเผยได้ไหม ? ทั้ง ๆ ที่พนักงานก็แอบคุยกันอยู่แล้ว ?

A: โดย Aj.Be_Smart life

จริง ๆ แล้วเงินเดือนของพนักงาน คนที่รู้เงินเดือนก็จะมีเจ้าหน้าที่ Payroll หรือระดับหัวหน้างานบริหารที่สามารถทราบได้ ซึ่งต้องบอกว่าบุคคลที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ต้องรู้บทบาทและหน้าที่ รวมถึงจรรยาบรรณในตำแหน่งงานด้วยครับ กล่าวคือต้องรักษาเป็นความลับเมื่อเห็นเงินเดือนของพนักงานท่านใดก็ตามไม่ว่าได้มาก หรือน้อยก็ต้องวางใจเป็นกลาง เพราะถ้าไม่วางใจเป็นกลางก็จะเกิดการตัดสินขึ้นมาในใจทันที จากนั้นสิ่งที่อยู่ในใจก็จะออกมานอกใจ​ (เพราะอึดอัดอยากพูด)

ผลที่ตามมาคือ ก็จะขยายเป็นวงกว้างออกไปซึ่งไม่ได้เป็นผลดีเลย ส่วนสาเหตุที่ต้องลับเพราะ พนักงานส่วนใหญ่หากทราบเงินเดือนกัน มักจะไม่เข้าใจว่าทำไมตำแหน่งเดียวกันกลับได้เงินเดือนไม่เท่ากัน เกิดความวุ่นวายตามมาได้

อ่านคำตอบเพิ่มเติมใน HR Community และอ่านบทความที่เกี่ยวข้องกับคำถามได้ที่นี่ 👇

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง