Q&A of the Month: 5 คำถามเด็ด HR ประจำเดือนมีนาคม 2022

HIGHLIGHT

  • พนักงานรายวันและรายเดือนแตกต่างกันตรงที่ค่าจ้างรายเดือนคือเหมาจ่ายเป็นเดือน เช่น เงินเดือน 30,000 บาท ไม่ว่าเขาจะมาทำงานหรือลา หยุดเสาร์-อาทิตย์ ก็ยังได้รับค่าจ้าง ส่วนค่าจ้างรายวันจะจ่ายค่าจ้างเฉพาะวันมาทำงาน มา 20 วัน ก็ได้ค่าจ้าง 20 วัน
  • Exit Interview คือ การสัมภาษณ์พนักงานที่ตัดสินใจลาออก เป็นโอกาสอันดีที่จะได้ทราบถึงปัญหาภายในที่ฝ่ายบุคคล หรือระดับผู้บริหารนั้นอาจมองไม่เห็น โดยนำความคิดเห็นที่ได้นั้นมาพัฒนาและปรับปรุงบริษัทให้ดียิ่งขึ้น
  • หากสนใจงาน HR แนะนำให้อบรม HR ของสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย เรียกย่อ ๆ PMAT เป็นสมาคมวิชาชีพแห่งเดียวในประเทศไทยที่มีหลักสูตร HR Certification โปรแกรม ให้เลือกมากมาย ในอนาคตหากมีโอกาส จะเพิ่มวุฒิด้าน HR ได้
  • การรับพนักงานใหม่ระดับ mid-level มาร่วมงาน ไม่ควรมองว่ามาจากองค์กรใหญ่กว่าหรือเล็กกว่าเรา ขอให้ใช้หลักวิชาชีพ HR  ในการสรรหาและคัดเลือก
  • การโอนย้ายลูกจ้างไปทำงานกับบริษัทในเครือถือเป็นการเปลี่ยนตัวนายจ้าง เพราะแม้จะเป็นเครือเดียวกันแต่เป็นคนละนิติบุคคล (มาตรา 13 กฎหมายคุ้มครองแรงงานฯ ) และต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างด้วย หากลูกจ้างไม่ยอมย้ายไป ถือว่าเป็นการเลิกจ้าง นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย

 

ทุกการทำงานล้วนมีข้อสงสัยหรือคำถามที่ต้องการคำตอบ การทำงานของฝ่ายทรัพยากรบุคคลหรือทรัพยากรมนุษย์ก็เช่นกัน ที่มักเต็มไปด้วยประเด็นยาก ๆ ที่ HR หลายคนต้องการปรึกษาคนอื่นเสมอ

ด้วยเหตุนี้ HREX.asia จึงได้เปิดเว็บไซต์ HR Community เว็บบอร์ดถาม-ตอบ (Q&A Forum) ที่จะช่วยกระชับช่องว่างระหว่างคนทำงานสาย HR และเป็นชุมชนแห่งใหม่ของ HR ที่จะเปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้แลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน

เพราะเราเชื่อว่าการแบ่งปันความรู้ (Knowledge sharing) คือพลังอันยิ่งใหญ่ ที่จะช่วยให้ HR ทุกคนก้าวผ่านอุปสรรคในทำงานไปด้วยกัน และก่อเกิดความรู้ใหม่ ๆ ต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

Q&A of the Month: 5 คำถามเด็ด HR ประจำเดือนมีนาคม 2022

ผ่านพ้นเดือนมีนาคม 2022 เป็นที่เรียบร้อย เพื่อน ๆ HR เป็นอย่างไรบ้าง สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ยังไม่จากเราไป แต่ดูเหมือนทุกคนเริ่มปรับตัวกันได้มากขึ้นแล้ว อย่างไรก็ดีก็ยังมีเพื่อน HR หลายคนที่ยังมีปัญหาและข้อกังวลในหัวข้ออื่น ๆ เช่น ค่าชดเชยกรณีติดโควิด, ปัญหาการเลิกจ้างงาน, ในหน่วยงานมีคนลาออกเยอะ, จะทำอย่างไรให้ลูกน้องยอมรับ หรือ ลูกจ้างใช้วันลาเกินที่กฎหมายแรงงานกำหนด

อย่างไรก็ตาม สำหรับ Q&A of the month 5 ข้อที่เราคัดสรรในที่นี้ เราเลือกจากคำถามที่ประโยชน์ เข้าถึงทุกคน โดยมีคำถามที่สามารถใช้งานได้จริงจากผู้เชี่ยวชาญที่เป็น partner ของเรา โดยมีคำถามและคำตอบที่น่าสนใจ ดังนี้

Q1: ข้อแตกต่างระหว่างการจ้างงานแบบรายวัน และการจ้างงานแบบรายเดือน

พอดีได้ศึกษาและอ่านบทความจากแหล่งความรู้ต่าง ๆ แล้วยังแยกไม่ออกในประเด็นทางด้านกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ระหว่างการจ้างงานแบบรายวันและรายเดือน เพราะเท่าที่อ่านมาคือพนักงานรายวันมีสิทธิ์ในการรับค่าจ้างและวันหยุดเหมือนกันกับพนักงานที่เป็นรายเดือนเลย ขอคำแนะนำด้วยครับ

A: โดย นภัสราพร เด่นพงศ์พันธุ์

ความเหมือน คือพนักงานรายเดือนและพนักงานรายวันได้รับสิทธิพื้นฐานขั้นต่ำตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานเหมือนกัน

ส่วนที่แตกต่างกัน คือพนักงานรายเดือนอาจจะได้รับเพิ่มมากกว่าพนักงานรายวันตามข้อบังคับการทำงานของผู้ว่าจ้างซึ่งถือว่าเป็นคุณต่อพนักงาน และส่งผลต่อแนวปฏิบัติที่แตกต่างกันด้วย 

A: โดย ดร.พลกฤต โสลาพากุล

จ้างรายเดือนคือเหมาจ่ายเป็นเดือน เช่น 30,000 บาท ไม่ว่าเขาจะมาทำงาน หรือลา หยุดเสาร์อาทิตย์ ก็ยังได้รับค่าจ้าง

ส่วนค่าจ้างรายวันจะจ่ายค่าจ้างเฉพาะวันมาทำงาน เช่น ในหนึ่งเดือนทำงาน 20 วัน หยุดเสาร์อาทิตย์ ได้รับค่าจ้างแค่ 20 วัน แต่วันลาวันหยุด นักขัตฤกษ์ ได้รับสิทธิต่าง ๆ ตามกฎหมาย เป็นต้น

Q2: การบริหารพนักงานของผู้บริหาร

ถ้าผู้บริหารพูดไว้ว่า “ถ้าคิดว่ามีที่ทำงานที่ดีกว่านี้ก็ไป ก็ไม่ห้าม” แล้วก็ทุกครั้งที่พนักงานลาออกไม่เคยมีการสอบถามความพึงพอใจต่อการทำงานและสิ่งแวดล้อมในการทำงานเลย ควรจะแก้ไขหรือมีแนวทางแก้ไขอย่างไรบ้างครับ พนักงานลาออกเดือนละ 1 คนเลยครับ

A: โดย Poonsawat Keawkaitsakul

Exit Interview มีประโยชน์ในการพัฒนาปรับปรุงการทำงาน การวางแผนด้าน HR แต่บางครั้งองค์กรละเลยการทำ Exit Interview เพราะไม่เห็นความสำคัญ ไม่ได้นำข้อมูลที่ได้จากการทำ Exit Interview มาวิเคราะห์เพื่อแก้ปัญหา ดังนั้นการลดการละเลยการทำ Exit Interview ต้องชี้ให้เห็นประโยชน์ และความสำคัญของ Exit Interview

A: โดย เอื้อมพร วรรณยิ่ง

ขอแนะนำให้ทาง HR เริ่มทำการ Exit Interview ก่อนที่พนักงานเซ็นใบลาออกทุกครั้ง อยากให้เก็บข้อมูลเพื่อให้ทางฝ่ายบุคคลและผู้บริหารนำไปปรับปรุงนโยบายการทำงาน หรือ สิ่งแวดล้อม

Exit Interview คือ การสัมภาษณ์พนักงานที่ตัดสินใจลาออก เป็นโอกาสอันดีที่จะได้ทราบถึงปัญหาภายในที่ฝ่ายบุคคล หรือระดับผู้บริหารนั้นอาจมองไม่เห็น โดยนำความคิดเห็นที่ได้นั้นมาพัฒนาและปรับปรุงบริษัทให้ดียิ่งขึ้น

Q3: การเปลี่ยนสายงานมายัง HR

สวัสดีค่ะ ตอนนี้อายุ 30 ต้องการเปลี่ยนสายงานจากงานบริการ customer service มาเป็น HR หรือ Recruitment แต่ไม่จบ/ไม่มีความรู้ HR กำลังสมัครงานใหม่และต้องการได้เปรียบกว่าผู้สมัครท่านอื่น จะมี อบรม HR เบื้องต้นแล้วได้ Certificate จากที่ไหนได้คะ? หรือจำเป็นต้องเรียน ป.โท หรืออนุปริญญาสาย HR เลยไหมคะ?

A: โดย ดร.เบ็ญจวรรณ บุญใจเพ็ชร

แนะนำให้อบรม HR ของสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (เรียกย่อ ๆ PMAT) เข้าดูข้อมูลได้ที่ www.pmat.or.th

PMAT เป็นสมาคมวิชาชีพแห่งเดียวในประเทศไทย ที่มีหลักสูตร HR Certification โปรแกรม ให้เลือกมากมาย ในอนาคตหากมีโอกาส จะเพิ่มวุฒิด้าน HR ได้ค่ะ แนะนำให้เลือกเรียนหลักสูตรพิเศษ ที่ไม่กระทบการทำงาน ไม่ควรหยุดงานแล้วไปเรียนอย่างเดียว จะทำให้ขาดช่วงประสบการณ์ในการทำงาน

A: โดย Poonnie HR

เป็นการยากเหมือนกันนะครับ ถ้าไม่มีประสบการณ์ในการทำงานด้าน HR แล้วจะได้รับโอกาส แต่ผมเป็นกำลังใจให้ครับ สำหรับ Certificate ที่มีให้อบรมในสายงาน HR มีที่ผมนั่งฟังเรียน Online ฟรี และมี Certificate ให้เมื่อเรียนจบ มี Course เกี่ยวกับ HR มากพอสมควรครับ  หลากหลายฟังก์ชั่นในงาน HR ลองเข้าไปลงทะเบียนเรียนดูนะครับ ขอให้สมหวังครับ https://exlms.thaimooc.org/

Q4: ปกติเวลารับพนักงานระดับ mid-level ควรรับคนที่มาจากองค์กรที่ใหญ่กว่าหรือเล็กกว่าเรา?

ที่บริษัทฯ พนักงาน 25-30 คน ยอดขายเฉลี่ย 40 ล้านบาท/ปี (ระดับ SME) เวลารับพนักงานเข้ามาใหม่ ในระดับ mid-level 30-40k เราควรรับคนที่มาจากองค์ที่ใหญ่กว่าไหม และถ้ารับจากที่ที่เล็กกว่าจะมีปัญหาหรือไม่ โปรดแชร์ประสบการณ์

A: โดย Poonnie HR

พนักงานที่มาจากองค์กรใหญ่ บางครั้งตำแหน่งและการเติบโตในที่ทำงานเดิมอาจจะยากสักหน่อย เนื่องจากเกณฑ์ต่างๆ อาจค่อยข้างมากและมีคู่เปรียบเทียบค่อนข้างเยอะใน Level เดียวกัน รวมถึงคนในหน่วยงานเดียวกันด้วย  ดังนั้นพนักงานจากองค์กรใหญ่จึงอยากออกมาเติบโตในองค์กรเล็ก เพื่อเพิ่มเงินเดือนให้สูงขึ้น

พนักงานจากองค์กรเล็ก จะทำงานได้ครบฟังก์ชั่น ในคนเดียว เพราะต้องรับผิดชอบทุกสิ่ง แต่ถ้าวิธีการทำงานที่ถูกวางไว้ในองค์กรเล็กไม่ครบวง หรือ ทำเพื่อให้งานสำเร็จ บางครั้งเราอาจไม่สำเร็จเมื่อต้องไปรับงานชิ้นใหญ่ขึ้นกว่าเดิม กรอบความคิดอาจยังมองไม่ออกในภาพใหญ่

สำคัญที่สุดคือ ตอนสัมภาษณ์ ให้พยายามหาคำตอบเพื่อให้มองเห็นว่าผู้สมัครต้องการอะไร มองหาอะไรในอนาคต แล้วดูว่าสอดคล้องกับองค์กรเราหรือไม่  ส่วนตัวยังไงผมยังอยากได้คนที่มาจากองค์กรใหญ่ เพราะเห็นภาพครบ คุยกันให้เห็นภาพในบางมุมที่เราไม่เคยเห็นครับ

A: โดย ดร.เบ็ญจวรรณ บุญใจเพ็ชร

การรับพนักงานใหม่ระดับ mid-level มาร่วมงาน ไม่ควรมองว่ามาจากองค์กรใหญ่กว่าหรือเล็กกว่าเรา ขอให้ใช้หลักวิชาชีพ HR  ในการสรรหาและคัดเลือก เกณฑ์ที่ควรใช้

  1. ความรู้ ความสามารถของตำแหน่งงาน Job Competency
  2. ประสบการณ์ตรงที่เชื่อถือได้
  3. ทักษะด้านภาษาอังกฤษ (กรณีที่ต้องใช้ในงาน)
  4. Technology Skill
  5. Leadership & Attitude

Q5: บริษัทต้องการให้ย้ายงานไปบริษัทในเครือ สามารถทำได้ไหม?

บริษัทต้องการให้ย้ายงานไปบริษัทในเครือ สามารถทำได้ไหมคะ? คือตอนนี้ทำอยู่บริษัทแม่ แต่ถูกยุบแผนก โดยสามารถไปทำงานสายเดิมในเครือ และสวัสดิการทุกอย่างเหมือนเดิม

ในกรณีนี้ ถ้าเราไม่อยากย้ายไปบริษัทลูกที่ไหนเลยด้วยเหตุผลส่วนตัว สามารถแจ้งออกแล้วขอค่าชดเชยได้ไหม  หรือทางบริษัทจะสามารถบีบให้เราอยู่บริษัทแม่ไปเรื่อย ๆ ให้เราทนไม่ไหวแล้วออกเอง?

A: โดย ดร.เบ็ญจวรรณ บุญใจเพ็ชร

การโอนย้ายลูกจ้างไปทำงานกับบริษัทในเครือถือเป็นการเปลี่ยนตัวนายจ้าง เพราะแม้จะเป็นเครือเดียวกันแต่เป็นคนละนิติบุคคล (มาตรา 13 กฎหมายคุ้มครองแรงงานฯ ) และต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างด้วย หากลูกจ้างไม่ยอมย้ายไป ถือว่าเป็นการเลิกจ้าง นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย

A: โดย Poonnie HR

การย้ายบริษัทในเครือ ผมเคยบริหาร Case นี้อยู่หลายครั้ง ในแง่ของ HR ต้องพูดคุยกับพนักงานถึงเหตุผลการโอนย้าย รวมถึง Benefits ต่าง ๆ ว่าเหมือนเดิม หรือเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แต่เราจะไม่สามารถลดเงินเดือนพนักงานได้ครับ แต่ Benefits อาจเปลี่ยนแปลงได้ ภายใต้ขอบเขตของงานใหม่ที่ต้องไปทำ

สำหรับเรื่องสัญญา ไม่ได้ทำใหม่ เนื่องจากเป็นบริษัทในเครือ ผมใช้แบบฟอร์มการโอนย้ายครับ ใช้แนบสัญญาจ้างเดิม ซึ่งจะมีข้อมูล เงินเดือน และ Benefits ต่าง ๆ ของบริษัทเดิมและบริษัทใหม่  และมีการลงนามระดับหัวหน้าหน่วยงานใหม่และเดิม รวมถึงพนักงานครับ

ผู้เขียน

Sahatorn Petvirojchai

Sahatorn Petvirojchai

Manager of HREX.asia who works in media platforms for a long time. Interested in Global Culture, Marketing, and Self Development.

บทความที่เกี่ยวข้อง