HIGHLIGHT
|
Contents
ทุกการทำงานล้วนมีข้อสงสัยหรือคำถามที่ต้องการคำตอบ การทำงานของฝ่ายทรัพยากรบุคคลหรือทรัพยากรมนุษย์ก็เช่นกัน ที่มักเต็มไปด้วยประเด็นยาก ๆ ที่ HR หลายคนต้องการปรึกษาคนอื่นเสมอ
ด้วยเหตุนี้ HR NOTE.asia จึงได้เปิดเว็บไซต์ HR Community เว็บบอร์ดถาม-ตอบ (Q&A Forum) ที่จะช่วยกระชับช่องว่างระหว่างคนทำงานสาย HR เข้าด้วยกัน และเป็นชุมชนแห่งใหม่ของ HR ที่จะเปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้แลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน
เพราะเราเชื่อว่าการแบ่งปันความรู้ (Knowledge sharing) คือพลังอันยิ่งใหญ่ ที่จะช่วยให้ HR ทุกคนก้าวผ่านอุปสรรคในทำงานไปด้วยกัน และก่อเกิดความรู้ใหม่ ๆ ต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
สำหรับเดือนพฤศจิกายน 2021 ก็ใกล้สิ้นปีกันแล้ว แต่คำถามในเชิงกระบวนการทำงานของ HR ก็ยังคงเป็นคำถามหลักใน HR Board ไม่ว่าจะเป็น งาน HR ช่วงสิ้นปีมีงานอะไรที่ต้องทำพิเศษบ้าง, เรื่อง สวัสดิการปีหน้าที่อยากจัดให้, การจ่ายค่าสวัสดิการของ CEO ที่ได้รับการแต่งตั้งแต่ยังไม่มีชื่อใน Payroll, สายการบังคับบัญชาและตำแหน่งงานมีมากเกินความจำเป็น HR จะแก้ไขเรื่องนี้อย่างไรดี หรือคำถามคลาสสิกอย่าง นิยามคำว่า Work Smart / Work Hard สำหรับคุณคืออะไร
อย่างไรก็ตาม สำหรับ Q&A of the month 5 ข้อที่เราคัดสรรในที่นี้ เราเลือกจากคำถามที่ประโยชน์ เข้าถึงทุกคน โดยมีคำถามที่สามารถใช้งานได้จริงจากผู้เชี่ยวชาญที่เป็น partner ของเรา โดยมีคำถามและคำตอบที่น่าสนใจ ดังนี้
Q1: TRUE และ DTAC ประกาศควบรวมกิจการ HR อย่างเราสามารถเรียนรู้อะไรจากปรากฏการณ์นี้ได้บ้าง
สวัสดีเพื่อนๆ HR ทุกท่านนะครับ กระทู้วันนี้เกิดจากความกระหายใคร่รู้ของตัวผมเองล้วนๆ เลยครับ อยากเชิญชวนเพื่อนๆ มาจินตนาการว่าหากท่านทำงานเป็น Head of People ของสองบริษัทนี้ จะมีอะไรวนเวียนอยู่ในหัวท่านที่ต้องคิดบ้าง แลกเปลี่ยนกันได้ตามความสนใจในแต่ละหัวข้อกันได้เลยนะครับเพื่อนๆ
A: โดย Poonnie HR
จากประสบการณ์ที่เคยทำในธุรกิจโทรคมนาคม และได้มีส่วนในการควบรวมกิจการของธุรกิจโทรคมนาคมครับ บทเรียนที่ได้จากวันนั้น ไม่ค่อยราบรื่น ขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพดังนี้ครับ ครั้งนั้นการควบรวมจะมีลักษณะคือ บริษัท A + บริษัท B = บริษัท A นั้นหมายความว่า บริษัท B จะหายไป เหลือแต่บริษัท A สิ่งที่เกิดขึ้นขอพูดงานฝ่าย HR อย่างเดียวนะครับ
- ในบริษัท A มีพนักงานตามโครงสร้างงานตามตำแหน่งครบแล้วหรือขาดอีกไม่กี่อัตรา ดังนั้น การมี HR จากบริษัท B จะหาที่ลงได้ค่อนข้างลำบาก เช่นเดียวกันกับแผนกอื่นๆ จะเจอปัญหานี้คือ อัตรากำลังคนมีพอดีแล้ว ดังนั้นจึงเกิดการสร้างกล่องงานใหม่เพื่อหาที่ลงให้แล้วตำแหน่งระดับสูงละ ไม่ต้องพูดถึง ไม่สามารถมี Director 2 คนได้
- รูปแบบผลตอบแทนที่เปลี่ยนไป บริษัท A มีกระบอกโครงสร้างเงินเดือนที่แตกต่างกับ B แน่นอนต้องมีการจับวางให้เข้ากับกล่องเงินของบริษัท A รวมถึง Benefits อื่นๆ ที่หายไป แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการในครั้งแรกให้จบ บริษัทไม่ค่อยปล่อยให้เป็นการจ่ายแบบ Grand father เพราะมันจะยาวและยากในการบริหารจัดการในอนาคต
- วัฒนธรรมองค์กรที่แตกต่างกัน ประเด็นนี้ไม่ต้องพูดถึง เพราะเป็นเรื่องราวที่เรารับทราบกันมานานแล้ว เรื่องวัฒนธรรมองค์กรแน่นอน มีประเด็นแน่ๆ ครับ ปรับตัวได้ก็อยู่ไป ปรับตัวไม่ได้ก็จากไป
สำหรับกรณี True กับ DTAC อาจแตกต่างกันออกไปครับจากกรณีที่ผมยกตัวอย่างครับ เนื่องจากขนาดองค์กร ขนาดธุรกิจ แต่อาจจะบริหารจัดการเหมือนเดิมสักระยะเวลาหนึ่ง แต่ในท้ายที่สุดผมเชื่อว่า ด้วยคำว่า ธุรกิจ จะวนกลับมาเหมือนตัวอย่างที่ผมเล่าให้ฟัง ขึ้นกับว่าระยะเวลาที่ปล่อยให้บริหารจัดการแบบเดิมจะนานสักเท่าไหร่ครับ
A: โดย วัฒนศักดิ์ (Wattanasak Wiboonchaikul)
การควบรวมบริษัทนี่ถือว่าเป็นงานช้างที่ต้องจัดการกันเลย ทั้งทาง Business และทางการจัดการคน ขออนุญาตตอบแบบไม่อิงตำรา ประมาณนี้นะครับ
1) Design – แต่ละองค์กรก็มีเป้าหมายของตนเอง ฉะนั้นเมื่อทำ M&A ก็จะมีเป้าหมายทางธุรกิจใหม่ เพื่อให้องค์กรจากสองรวมเป็นหนึ่งเดินทางไปข้างหน้าได้ ซึ่งเมื่อมีเป้าใหม่ หรืออาจจะต้องมี Business Model ใหม่ องค์กรก็จะเปลี่ยนไป ซึ่งก็จะต้องออกแบบสิ่งใหม่ๆ หลายเรื่อง
2) Communication – เมื่อมีการควบรวมบริษัท สิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นมาเลยก็คือเกิดความไม่แน่นอน และเปลี่ยนแปลงส่งผลให้ไม่มั่นใจในอนาคตข้างหน้า ฉะนั้นสิ่งที่จะตามมาติดๆเลยคือ ข่าวลือครับ ลือว่าบริษัทจะยุบแผนกนั้น ปลดคน หรือใดๆ ก็ตาม ฉะนั้นสิ่งที่สำคัญมากๆ ในช่วงระหว่างการเปลี่ยนถ่ายคือ การสื่อสารอย่างต่อเนื่องกับพนักงานตามช่องทางต่างๆ เป็นระยะๆ และถ้ามีความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญและส่งผลต่อตัวพนักงาน ควรมีเวทีสื่อสารเฉพาะเรื่อง เปิดเวทีให้ถามตอบให้ชัดเจนไปเลยจะช่วยลดข่าวลือ และสร้างความมั่นใจกับพนักงานได้เป็นอย่างดีครับ อีกทั้งหากจำเป็นต้องมีพนักงานบางกลุ่มที่ไม่ได้ไปต่อ เนื่องจากตำแหน่งงานทับซ้อนกันก็ดี ความจำเป็นของธุรกิจที่ไม่ใช้หน่วยงานนั้นอีกต่อไปก็ดี เขาเหล่านั้นก็จำเป็นต้องได่การสื่อสารที่ชัดเจน ล่วงหน้า และได้รับการปฎิบัติด้วยเป็นอย่างดี เพื่อรักษาความสัมพันธ์ทั้งคนที่ยังไปต่อ หรือคนที่ออกไปโต ให้ยังรู้สึกดีกับองค์กร แม้องค์กรจะมีความเปลี่ยนแปลงจากการทำ M&A ก็ตาม
3) Development – เมื่อมีดีไซน์ใหม่แล้ว มีการสื่อสารที่ดีแล้ว ก็จะมาสู่เรื่องการพัฒนาร่วมกันครับ เมื่อสองรวมเป็นหนึ่ง แต่ละตำแหน่งก็ควรต้องมีการประเมิน competency ที่จำเป็นใหม่ว่ายังใช้ได้หรือไม่ อันจะนำไปสู่กรอบการพัฒนาร่วมกัน ทั้งในเชิงโครงการพัฒนาองค์กรในระดับองค์กร และการพัฒนาในระดับตัวบุคคล รวมไปถึงการประเมินความสามารถพนักงานใหม่ภายใต้ไม้บรรทัดวัดเดียวกันด้วยครับ อันจะนำไปสู่เรื่อง career path และอื่นๆ ที่จะพัฒนาทั้งความสามารถ และการเติบโตของพนักงานครับ
Q2: ที่บริษัทกำลัง Rethink เรื่อง “วัฒนธรรมการแต่งกาย” ของพนักงานครั้งใหญ่ [เรื่องที่ดูเหมือนเล็กๆ ที่จริงๆ ไม่เล็ก]
สวัสดีครับเพื่อนๆ ในชุมชน HR Board ตอนนี้ก็เข้าสู่ช่วงปลายปีแล้ว และเป็นช่วงที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลต้องเริ่มวางแผนโปรเจกต่างๆ ด้านคนสำหรับปี 2022 ที่กำลังจะมาถึง / ปรากฎการที่มา Collab กันช่วงนี้ที่ทำให้ต้องมาคิดเรื่องการแต่งกาย เลยอยากจะมาขอความเห็นเพื่อนๆ ว่า ผู้นำ ฝ่ายบริหาร และ HR จะวาง strategy/ทำงาน/ สื่อสาร หรือออกนโยบายที่มีต่อเรื่องนี้อย่างไรดี จริงๆ อยากเห็นผลลัพธ์ของเรื่องนี้ซักกลางปีหน้า รวมถึงวิธีการวัดผลว่าสำเร็จมากน้อยแค่ไหน หากเพื่อนๆคนไหนเคยทำเรื่อง Culture transformation มาร่วมวงแชร์จะขอบพระคุณมากๆ ครับ
A: โดย Chanyachita Srichai
การสร้างภาพลักษณ์องค์กรและหน่วยงาน สิ่งที่เกี่ยวข้องคือ Employer Branding ค่ะ ขอตอบจากการเคยอยู่บริษัทที่ Re branding มา และดูจากข้อมูลที่ให้มานะคะ กระบวนการจะประมาณนี้ค่ะ
- ประชุมระดมสมองเรื่องภาพลักษณ์ใหม่ที่หน่วยงานต่างๆ ต้องการให้บริษัทเป็นและตอบโจทย์ในข้อต่างๆของบริษัทและพนักงาน (New Gen, Casual, Diversity Acception and new image) จะได้ผลลัพธ์รูปแบบ การแต่งกายที่ทุกคนมีส่วนร่วม เข้าใจซึ่งกันและกัน และเกิดความเป็น Ownership ค่ะ
- สื่อสารความหมายกับพนักงานอย่างทั่วถึงว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ มีนัยยะสำคัญในการเปลี่ยนแปลงในทุกเรื่องเพื่อเป็นการสร้าง image ใหม่ให้บริษัท หน่วยงาน และทีมงาน มีความสำคัญอย่างไรในแง่ธุรกิจ ภาพลักษณ์ ชื่อเสียงองค์กร
- สร้างเกมส์ กิจกรรมเพื่อทดสอบความเข้าใจ และ awareness ต่อภาพลักษณ์ใหม่ ชุดใหม่ เพื่อสร้างแรงกระเพื่อมทางบวกในช่วงแรกของการสื่อสาร
- ให้ผู้จัดการ หัวหน้างานเป็น Model ในการเปลี่ยนแปลง และสื่อสารภายในทีมอย่างสม่ำเสมอ
5.ออกแบบและทำกิจกรรมใหม่ให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนความเปลี่ยนแปลง เพื่อให้พนักงานรู้สึกว่า บริษัทให้ความสำคัญ พนักงานก็ต้องมีส่วนร่วมด้วย รวมทั้งปรับเปลี่ยนบทบาท HR ให้สอดคล้องกับการเป็นเพื่อนรู้ใจที่สนับสนุนพนักงาน ด้วยการออกแบบการให้บริการพนักงานรูปแบบใหม่ สร้าง Marketing Recruitment ซึ่งดึงดูดผู้สมัครโดยนำเสนอภาพลักษณ์ใหม่นี้ สร้างรูปแบบการทำงานบางอย่างให้ casual ขึ้นเพื่อให้พนักงานรู้สึก ไม่ต่างจากการ WFH จากที่ผ่านมามาก เช่น มุมกาแฟยามเบรค การประชุมแบบไม่เครงเครียดและมีขนมขบเคี้ยว
A: โดย ดร.เบ็ญจวรรณ บุญใจเพ็ชร
เรื่อง “วัฒนธรรมการแต่งกาย” แนะนำให้ฝ่ายงานต่าง ๆ ร่วมกันแสดงความคิดเห็น หรือตั้งคณะทำงานที่เป็นตัวแทนมาจากหน่วยงาน ส่งมาที่ HR โดยกำหนด theme สี (กรณีมีสีประจำบริษัท ก็ให้ใช้ได้เลย) และ Key word ที่บ่งบอกอัตลักษณ์องค์กร ทั้งนี้ให้ตั้งงบประมาณไว้ด้วย หากมีตัวหนังสือมาก หรือใช้หลายสี ราคาก็จะแพงหน่อย
การแต่งกายของพนักงานสะท้อนบุคลิกองค์กร สามารถร่วมกันสร้างวัฒนธรรมองค์กรจากการแต่งกายได้
จากความเคยชินเรื่อง WFH ทำให้พนักงานแต่งกายสะดวกสบายมากขึ้น ดังนั้น เมื่อต้องกลับมาทำงาน ก็อาจจะกำหนดสัปดาห์ละ 1 วัน
ให้ Free Style แต่ต้องแต่งกายสุภาพ ไม่สวมรองเท้าแตะ หรือกางเกงยีนส์ ขาด ๆ มาทำงาน
กรณีลักษณะงานที่ต้องบริการและพบลูกค้า ต้องขอความร่วมมือแต่งกายตามระเบียบบริษัท ทุกวันที่มาทำงาน
Q3: Digital Exhausting หรือภาวะเหนื่อยล้าจากการ Work From Home บริษัทอื่นๆ ประสบปัญหานี้กันบ้างรึเปล่าคะ
Digital Exhausting หรือภาวะเหนื่อยล้าจากการ Work From Home บริษัทอื่นๆ ประสบปัญหานี้กันบ้างรึเปล่าคะ? และมีตัวช่วยหรือวิธีรับมืออย่างไรบ้าง
ที่ดิฉันเคยได้ยินมาก็เช่น Work Nudges Tech (การแจ้งเตือนให้พนักงานไปพักเบรก) และ Rest Respect Culture (วัฒนธรรมส่งเสริมให้พนักงานพักผ่อนและผ่อนคลายจากการทำงานมากขึ้น) อยากทราบว่าที่องค์กรของแต่ละที่มีตัวช่วยอย่างไรกันบ้าง มาแชร์กันหน่อยค่า
A: โดย ปถิตา ชูพันธ์ดิลก
กำหนด Meeting Ground Rules ในการประชุม พูดคุยแบบ effective ไม่ทำให้พนักงาน Burn out เช่น
- เลือกเข้าประชุมที่สำคัญและจำเป็น ประชุมไหนที่ไม่สำคัญให้ส่งอีเมลหรือโทรคุยกันแทน
- ก่อนนัดประชุมต้องมีวัตถุประสงค์ชัดเจน เพื่อแจ้งให้ทราบ หรือขอความคิดเห็น หรือขอการอนุมัติ
- นัดเฉพาะคนที่เกี่ยวข้องโดยตรง ไม่ควรเกิน 8-10 คน ยกเว้นกรณีประชุมทีม
- เตรียมตัวก่อนเข้าเริ่มประชุมโดยทำความเข้าใจกับข้อมูลล่วงหน้าก่อนเข้าประชุม
- ตั้งเวลาต่อหนึ่งการประชุมไม่เกิน 1 ชม. และสแตนด์บายก่อนเวลา 1 นาที
- บันทึกข้อตกลงหรือผลสรุปส่งให้ผู้เข้าร่วมประชุมภายในวันรุ่งขึ้น
- ไม่นัดประชุมช่วงพักเที่ยงและหลังเลิกงาน
A: โดย พลกฤต โสลาพากุล
Digital Exhausting หรือภาวะเหนื่อยล้าจากการ Work From Home โดยปกติไม่ว่าจะทำงานจากที่ไหน ย่อมเกิดสภาวะแบบนี้ได้เสมอ
สิ่งแรกที่ควรทำก่อน คือ การสร้างให้ทุกคนตระหนักรู้จากสภาวะ Digital Exhausting แล้วให้ทุกคนในองค์กรนั่นแหล่ะ ระดมความคิดเพื่อเสนอแนวทาง และวิเคราะห์หาสิ่งที่คัดเลือกมาสร้างแนวทางในการปฏิบัติ โดยผู้บริหารระดับสูงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอันดับต้น หลังจากนั้นก็นำไปประยุกต์ใช้จนก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมขององค์กรของท่านเอง ซึ่งการทำแบบนี้จะได้คำตอบที่ชัดเจน และเหมาะสมกับบริษัทของแต่ละองค์กรที่สุด
Q4: HR อย่างเราควรต้องมองผู้สมัครที่ทำงานสั้นๆ 3-4 เดือนอย่างไรดี
ขอเกริ่นก่อนนะครับว่าตัวเองก็ถือว่าเป็น HR ยุคใหม่ อายุยังไม่เกิน 30 ซึ่งคนรุ่นเราๆ ก็ไม่ได้คาดหวังให้คนทำงานอยู่เป็นสิบปียี่สิบปีเหมือนคนสมัยก่อนแล้ว (5 ปียังถือว่ายาวไปแล้วด้วยซ้ำกับคนทำงานสมัยนี้)
สิ่งที่น่ากระอักกระอ่วนใจคือเรื่องของระยะเวลาที่ผู้สมัครเคยทำงานในบริษัทเก่าๆ บางท่านต้องบอกว่าคุณสมบัติต่างๆ ครบเกือบหมด แต่ทำแต่ละทีค่อนข้างสั้น สามเดือนบ้าง สี่เดือนบ้าง ซึ่งงานที่ทำนั้นก็ตรงกับตำแหน่งงานที่สมัครเข้ามาเสียด้วย
เราในฐานะ Recruiter ควรจะมีมุมมองผู้สมัครเหล่านี้อย่างไร เราควรจะนับเอาประสบการณ์การทำงานสั้นๆ ที่เป็นท่อนๆ เล็กๆ เหล่านี้ของผู้สมัครงานมาต่อกันและนับเป็นประสบการณ์ทำงานรวมหรือไม่ พราะนายจ้างส่วนใหญ่ก็จะมีการกำหนดระยะเวลาทดลองงานอยู่ที่ 4 เดือน ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าหรือผู้สมัครเหล่านี้จะมีคุณสมบัติหรือลักษณะนิสัยบางอย่างที่มีปัญหาหรือไม่ หากรับเข้ามาจะออกไวเหมือนเดิมหรือเปล่า
หากเป็นเพื่อนๆ จะตัดสินใจคัดผู้สมัครโปรไฟล์ดีๆ คุณสมบัติตรงทิ้งไปเพียงเพราะเค้าเปลี่ยนงานบ่อยแบบนี้ไหมครับ และถ้าให้โอกาสพวกเขาได้เข้ามาสัมภาษณ์เราต้องตรวจสอบหรือถามอะไรเพิ่มเติมเป็นพิเศษระหว่างการสัมภาษณ์บ้างครับ ขอบพระคุณมากครับ
A: โดย Poonsawat Keawkaitsakul
การที่พนักงานทำงานในแต่ละที่ช่วงเวลาสั้น ๆ อาจจะมีสาเหตุหลายอย่าง เช่น
- ไม่สามารถเข้ากับวัฒนธรรมองค์กรได้
- ไม่สามารถทำงานร่วมกับทีมงานได้ หรือความไม่เหมาะสมอื่น ๆ ได้แก่ ระยะทางจากบ้านไปที่ทำงานไกล
- พนักงานมีคุณสมบัติดีแต่ไม่สามารถทำงานได้จริง
โดยถ้าสาเหตุมาจากข้อ 1 และ 2 เป็นสาเหตุที่อาจจะไม่เกิดขึ้นกับองค์กรเรา พนักงานอาจจะแสดงศักยภาพออกมาได้เต็มที่ในขณะที่ทำงานกับเราได้ แต่ถ้าเป็นสาเหตุที่ 3 หมายถึงพนักงานไม่ใช่นักปฏิบัติ ไม่สามารถทำงานได้จริง จึงต้องหนีปัญหาไปเรื่อย ๆ ในระยะเวลาอันสั้น พนักงานลักษณะนี้ไม่สมควรรับเข้าทำงาน
ดังนั้นปัญหาหลัก คือ HR ต้องแยกให้ชัดเจนว่าพนักงานที่มาสมัครงานอยู่ในกลุ่มใดด้วยกระบวนการคัดเลือกที่เข้มวงด การสัมภาษณ์ที่สามารถหาสาเหตุที่แท้จริงได้ครับ
A: โดย โชติช่วง กังวานกิจมงคล
เคสไม่น้อยทีเดียวที่ทำงานที่เก่าเพียง 3-4 เดือน แต่มาอยู่กับเราได้หลายปี และเป็น High Performer Candidate อีกด้วย ทั้งนี้ในการสัมภาษณ์งานไม่ว่าจะผู้สมัครแบบไหน สิ่งที่ต้องพิจารณาอย่างมากคือผลงาน ทักษะ และความเข้ากันได้กับวัฒนธรรมองค์กร ไม่ควรนับเป็นระยะเวลาที่ทำงานแต่ละที่เพราะในท้ายที่สุดระยะเวลาก็ไม่สามารถฟันธงคุณภาพผู้สมัครได้
Mindset นี้คือสิ่งที่ Recruiter ควรจำขึ้นใจ และจะต้องถ่ายทอดให้ชัดเจนกับหัวหน้างานครับ
สิ่งที่อยากฝากในการพิจารณาเพิ่มเติมเคสผู้สมัครที่ทำงานสั้นๆคือ อดีต ปัจจุบัน และ อนาคต
- หาสาเหตุที่ผู้สมัครทำงานระยะเวลาสั้นๆ ทำไมถึงออกจากที่เก่า? เกิดอะไรขึ้น? ในข้อนี้จะยากสุดเพราะผู้สมัครทุกคนต้องพยายามพูดให้ดูดี ดังนั้นเราต้องดูให้ออกว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ โดยอ้างอิงทักษะที่ผู้สมัครมีตำแหน่งงานในอดีต เป็นต้น (อดีต)
- สิ่งที่คาดหวังก่อนเข้าบริษัทเหล่านั้น กับสิ่งที่เจอจริง เพื่อหาว่าผู้สมัครคาดหวังอะไรกับตำแหน่งและบริษัท (ปัจจุบัน)
- ในระยะ 1 ปี 3 ปี เห็นภาพตัวเองเป็นอย่างไร? เพื่อดูว่าผู้สมัครจะอยู่กับเราได้หรือไม่ (อนาคต)
Q5: ไม่ได้เรียนจบด้าน HR มา สามารถเป็น HR ได้ไหมคะ
สวัสดีค่ะ ขออนุญาตสอบถามนะคะหนูเรียนสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาสามารถทำงานเป็นHRได้ไหมคะ
A: โดย Poonsawat Keawkaitsakul
การทำงาน HR สามารถเรียนรู้ได้ครับ เพราะการเรียนกับการทำงานมีความแตกต่างกันรวมทั้งบางครั้งคนที่เรียน HR มาโดยตรงแต่ไม่ Update ข้อมูลความรู้ก็ทำให้การทำงานไม่มีประสิทธิภาพครับ โดยทักษะที่สำคัญในการเป็น HR คือ
- การเรียนรู้และพัฒนาตนเองตลอดเวลา
- การมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี
- การมี Mindset และมีทัศนคติเชิงบวก
- การรักในการบริการ
- การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
มีใจและมีไฟในการเรียนรู้และพร้อมช่วยเหลือผู้อื่นครับ หัวใจของ HR
A: โดย ดร.เบ็ญจวรรณ บุญใจเพ็ชร
ขอแชร์เป็นความเห็นส่วนตัวค่ะ จบไม่ตรงสายก็สามารถเป็น HR ได้ บางคนอาจจะทำงานได้ดีกว่าคนที่จบตรงสายด้วยซ้ำไป เคยมีลูกน้องเป็นผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคล น้องเค้าก็จบ Soc. & Ant. (สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา) โดยคุณลักษณะ ผู้ที่จะเข้าวงการ HR ขอให้มีคุณลักษณะ 9 ข้อนี้เป็นพื้นฐาน ก็จะไปได้ดีกับวิชาชีพ HR ในอนาคต
- ความสามารถในการติดต่อสื่อสารและการประสามงาน
- มนุษย์สัมพันธ์ & การทำงานร่วมกับผู้อื่น
- จิตใจพร้อมให้บริการ & การมีจิตสาธารณะ
- ความสามารถในการควบคุมอารมณ์
- ความมุ่งมั่น ความพยายาม
- ความเสียสละ & ความมีน้ำใจ
- แรงจูงใจใฝ่เรียนรู้และพัฒนาตนเองอยู่เสมอ
- ความน่าเชื่อถือส่วนบุคคล (Personally credible) & เป็นแบบอย่างที่ดี (Role Model)
- Growth Mindset ให้คิดเสมอว่าทุกอย่างจะทำให้ดีขึ้นได้ เราทำได้
สำหรับความรู้และทักษะทางวิชาชีพ (Functional Competency) สามารถเรียนรู้ พัฒนาได้จากการทำงานจริง