Hollywood พิพิธภัณฑ์ โรงพยาบาล : จะเป็นธุรกิจแบบไหนก็ควรใช้ HR

HIGHLIGHT

  • หน้าที่ของ HR ไม่ได้จำกัดอยู่แค่งานเอกสารหรือการจัดการเงินเดือนอย่างที่หลายคนคิดเท่านั้น แต่ HR ในปัจจุบันมีสถานะเป็นเหมือนพันธมิตรทางธุรกิจที่คอยร่วมวางแผนและแนะนำกลยุทธ์ที่เหมาะสมเพื่อให้บริษัทสามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด 
  • โดยแผนก HR ถือเป็นปัจจัยสำคัญของธุรกิจทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นสโมสรฟุตบอล, วงการภาพยนตร์ Hollywood, พิพิธภัณฑ์, โรงพยาบาล หรือแม้แต่สนามบินก็ตาม ไม่ใช่แค่บริษัทใหญ่เท่านั้นที่ควรมี HR แต่ทุกบริษัทควรมีแนวทางบริหารทรัพยากรบุคคลเอาไว้เพื่อเป็นกลไกให้พนักงานและบริษัทมองไปยังเป้าหมายเดียวกัน การวางรากฐานที่ดีจะทำให้พนักงานโฟกัสกับงานหลักได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องกังวลกับงานหลังบ้านที่จะไปชิงเวลาและฉุดรั้งความทะเยอทะยานอีกต่อไป
  • นอกจากนี้ระบบ HR ที่ดียังถือเป็นรากฐานของธุรกิจ SME เพราะนอกจากจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับบริษัทขนาดใหญ่แล้ว ยังช่วยรักษาเอกลักษณ์ซึ่งเป็นจุดเด่นของธุรกิจรายย่อยอีกด้วย
  • บริษัทควรกำหนดจำนวน HR ประจำออฟฟิศโดยอ้างอิงจากจำนวนพนักงานในแผนกอื่น ๆ ทั้งหมด และเริ่มต้นวางโครงสร้างโดยการออกนโยบายตั้งต้นในช่วง 3-6 เดือนแรก ก่อนที่จะตัดสินใจอีกครั้งเมื่อมีพนักงานเพิ่มขึ้นหรือพบความจำเป็นว่าบริษัทต้องการผู้เชี่ยวชาญทางด้านใดเป็นพิเศษ

Hollywood พิพิธภัณฑ์ โรงพยาบาล : จะเป็นธุรกิจแบบไหนก็ควรใช้ HR

แม้คนไทยส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับระบบ HR แบบเดิม ๆ ที่เน้นงานเอกสาร, จัดการเงินเดือน, การว่าจ้างและดูแลสวัสดิการของพนักงานเป็นหลัก แต่จริง ๆ แล้วหน้าที่ของแผนกทรัพยากรมนุษย์ไม่ได้จำกัดอยู่แค่นั้น เพราะหน้าที่ของ HR ยุคใหม่คือการเป็นดั่งพันธมิตรทางธุรกิจที่คอยดูแลกลยุทธ์ของบริษัท ตลอดจนช่วยพัฒนาบุคลากรให้ก้าวไปสู่เป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด เหตุนี้จึงกล่าวได้ว่าแผนกทรัพยากรบุคคลคือสิ่งที่ทุกบริษัทควรมี ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเล็ก ธุรกิจใหญ่ หรือธุรกิจแบบใดก็ตาม

รู้หรือไม่ว่าสโมสรฟุตบอล, วงการภาพยนตร์ Hollywood, พิพิธภัณฑ์ หรือโรงพยาบาล ก็ล้วนมีระบบ HR ในรูปแบบของตัวเองทั้งสิ้น ส่วนจะเป็นอย่างไรนั้น ติดตามได้ที่นี่

ทำไมทุกบริษัทจึงควรมีแผนก HR

ต้องเข้าใจก่อนว่า “การบริหารทรัพยากรบุคคล” หรือ HR ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นได้แค่เฉพาะในบริษัทใหญ่เท่านั้น แต่ทุกบริษัทสามารถทำได้ด้วยการวางระบบที่ดีเพื่อบริหารจัดการควบคู่ไปกับการฝึกอบรมตามแนวทาง HR กลไกนี้จะช่วยให้พนักงานมีความรู้ความเข้าใจในเนื้องานและมองเห็นเป้าหมายเดียวกับที่บริษัทตั้งไว้ เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น เราขออธิบายถึงประโยชน์ของการมีแผนกทรัพยากรมนุษย์เป็นหัวข้อหลัก ๆ ดังนี้

1. แผนก HR ช่วยให้บริษัทได้พนักงานที่ตรงกับความต้องการมากขึ้นเมื่อถึงจุดหนึ่งบริษัทก็จำเป็นต้องมีพนักงานมากขึ้นเพื่อรองรับแผนงานใหม่ ๆ ตลอดจนเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ดังนั้นการเลือกพนักงานที่ผิดพลาดนอกจากจะทำให้ได้งานที่ไม่มีประสิทธิภาพแล้ว ยังเป็นการเสียเวลาโดยใช่เหตุอีกด้วย HR จึงเป็นผู้ที่จะเข้ามาแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยองค์ความรู้และประสบการณ์ที่มากกว่า

2. แผนก HR ช่วยให้คุณจัดการกับเอกสารต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น : แม้งานเอกสารทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์จะเป็นงานที่น่าเบื่อ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันคือปัจจัยสำคัญที่จะต่อยอดไปเป็นสวัสดิการของบริษัทและพนักงานทุกคน ดังนั้นทักษะด้านงานเอกสารของ HR คือสิ่งที่จะช่วยให้บริษัททำงานง่ายขึ้น โดยเฉพาะบริษัทใหม่ที่ขาดความชำนาญและไม่อยากเสี่ยงกับความผิดพลาดที่อาจขัดกับกฎหมายแรงงาน

3. แผนก HR ช่วยอบรมพนักงานให้มีศักยภาพมากขึ้น : การอบรมพนักงานมีความสำคัญเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการปฐมนิเทศพนักงานใหม่ หรือการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับพนักงานเดิม โดยปกติแล้วฝ่ายทรัพยากรบุคคลมักมีวิธีที่สามารถพัฒนาด้านสุขภาพ, ความปลอดภัย, สวัสดิการ หรือแง่มุมอื่น ๆ ให้กับพนักงานตามความเหมาะสมของสถานการณ์ในขณะนั้น หรือพูดง่าย ๆ ว่าประสบการณ์ของ HR จะช่วยให้ “การปรับตัวในองค์กร” เป็นเรื่องง่ายขึ้นนั่นเอง 

4. แผนก HR ช่วยดูแลสวัสดิการและผลตอบแทนของพนักงานในฐานะของบริษัทแล้ว การทำงานไม่ได้จำกัดอยู่แค่เนื้อหาที่นำเสนอออกไปเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการบริหารจัดการบุคลากรหลังบ้านให้เหมาะสมอีกด้วย ดังนั้นการมีทีม HR มาช่วยดูแลและวางโครงสร้างย่อมทำให้พนักงานมีเวลาไปใส่ใจกับงานหลักมากขึ้น นอกจากนี้ HR ยังสามารถช่วยตัดสินใจเมื่อถึงกำหนดการจ่ายโบนัสหรือเพิ่มเงินเดือน เพื่อให้แน่ใจว่างบประมาณที่ใช้ไปนั้นจะไม่กระทบต่อโครงสร้างทางการเงินของบริษัท

5. แผนก HR ช่วยดูแลภาพรวมและประเมินผลงานของพนักงาน : เมื่อ HR มีแผนงานเพื่อพัฒนาศักยภาพของพนักงานเรียบร้อยแล้ว สิ่งที่ HR จะทำต่อก็คือการวัดผลว่าการทำงานของพนักงานนั้น ๆ เป็นประโยชน์ต่อบริษัทหรือไม่ อย่างไร เมื่อได้คำตอบแล้ว HR ก็จะใช้ความรู้และประสบการณ์มาแก้ปัญหาหรือต่อยอดความสำเร็จเป็นลำดับต่อไป เราจึงกล่าวได้ว่าแผนกบริหารทรัพยากรมนุษย์เป็นเหมือน “ตัวกลาง” ระหว่างฝ่ายบริหารและพนักงานที่จะคอยเชื่อมความสัมพันธ์ มุมมอง และทัศนคติเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อบริษัทมากที่สุดนั่นเอง

แผนก HR ในธุรกิจอื่น ๆ มีลักษณะอย่างไร

แต่ละธุรกิจมีจุดที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษแตกต่างกัน เราไม่สามารถนำแนวทางที่ประสบความสำเร็จจากที่หนึ่งไปใช้กับอีกที่โดยปราศจากการวางแผนได้ และนี่คือ ตัวอย่างของแผนก HR ใน 5 ธุรกิจ ที่คุณสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการทำงาน

1. แผนก HR ในโรงพยาบาล

แผนก HR ในโรงพยาบาลหรือหน่วยงานทางการแพทย์ได้ชื่อว่ามีความกดดันและตึงเครียดมากที่สุดไม่ว่าจะเป็นคลินิกเล็ก ๆ ตามต่างจังหวัดหรือแม้แต่โรงพยาบาลใหญ่ใจกลางเมือง

สถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริการะบุว่า “ปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์” คือปัญหาหลักที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่องไปอย่างน้อยจนถึงปี ค.ศ.2026 โดยคาดว่าความต้องการเจ้าหน้าที่พยาบาลจะพุ่งสูงขึ้นถึงกว่า 1 ล้านคนในอนาคตอันใกล้ ทั้งนี้เป็นเพราะคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับเรื่องสวัสดิการมากกว่าคนรุ่น Baby Boomers หรือ Gen X พวกเขาจึงไม่นิยมทำอาชีพเดิมนานหากรู้สึกว่ามีผลตอบแทนไม่เหมาะสม ดังนั้น HR ฝ่ายสรรหาและจัดจ้างของหลาย ๆ โรงพยาบาลจึงเริ่มออกนโยบายเพื่อตอบสนองความต้องการของพนักงานรุ่นใหม่ เช่นการจัดอบรม, สนับสนุนเรื่องการพัฒนาตัวเอง ตลอดจนให้สวัสดิการที่โดดเด่นไม่ต่างจากธุรกิจอื่น ๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานและโน้มน้าวให้พนักงานเดิมอยู่กับบริษัทต่อไป

อีกหนึ่งประเด็นที่ HR ในวงการแพทย์ต้องให้ความสำคัญก็คือเรื่องการหมดไฟ (Burnout) เพราะมีสถิติระบุว่าพยาบาลมีอัตราหมดไฟสูงถึง 70% ในขณะที่แพทย์กับพนักงานฝึกหัดมีอัตราหมดไฟอยู่ที่ 50% ความรู้สึกดังกล่าวอันตรายมากเพราะอาชีพนี้ทำงานกับสุขภาพของมนุษย์โดยตรง ความผิดพลาดเพียงเล็กน้อยจึงอาจต้องแลกมาด้วยชีวิต เหตุนี้จึงมีการออกนโยบายสนับสนุนเรื่องความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน (Work-Life Balance) ในวงการแพทย์มากขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนมีสภาพกายใจที่พร้อมต่อการดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างแท้จริง

2. แผนก HR ในพิพิธภัณฑ์

อย่างที่กล่าวไปว่า HR ในปัจจุบันได้ก้าวไปสู่การเป็น “พันธมิตรทางธุรกิจ” ที่จะคอยช่วยวางระบบ, สร้างภาวะผู้นำ และวางแผนงานตามความเหมาะสมเพื่อให้บริษัทได้รับประโยชน์สูงสุด ไม่ว่าจะบริษัทนั้น ๆ จะมีเป้าหมายเพื่อผลกำไรหรือเพื่อสังคมก็ตาม

ปัจจัยแรกที่ HR ของพิพิธภัณฑ์ต้องให้ความสำคัญก็คือเรื่องของ “ผู้สืบทอด”  ปกติแล้วพิพิธภัณฑ์จะต้องมีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำและดูแลการจัดแสดงต่าง ๆ แต่อะไรจะเกิดขึ้นหากบุคลากรเหล่านั้นลาออก รีไทร์ หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อีกต่อไป นี่คือเหตุผลที่พิพิธภัณฑ์ต้องเริ่มวางนโยบาย “ถ่ายทอดความรู้” ซึ่งกลไกนี้นอกจากจะทำให้พิพิธภัณฑ์ดำเนินงานต่อไปได้อย่างไร้รอยต่อแล้ว ยังนำไปสู่การเกิดตำแหน่งงานใหม่ได้ เช่น “พนักงานอาวุโส” ที่มีหน้าที่จับคู่กับพนักงานรุ่นใหม่เพื่อสร้างไอเดียให้พิพิธภัณฑ์มีความร่วมสมัย เข้าถึงกลุ่มผู้ชมหน้าใหม่ง่ายขึ้นกว่าเดิม

พิพิธภัณฑ์ที่ดีต้องสามารถเปลี่ยนแนวคิดของผู้ชมจากการ “มาดูครั้งเดียวจบ” เป็น “มาดูได้เรื่อย ๆ” ซึ่งต้องอาศัยการทำแบบสำรวจและเตรียมความพร้อมแบบรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นชั้นเชิงในการนำเข้าสิ่งของมาจัดแสดง, การบริหารต้นทุนและคำนวนความคุ้มค่า, การเจรจากับนักสะสมหรือนักลงทุน เป็นต้น ทั้งนี้ควรมีการวัดผลเป็นระยะเพื่อให้แน่ใจว่าโครงการต่าง ๆ ตอบโจทย์ที่พิพิธภัณฑ์วางเอาไว้ 

3. แผนก HR ในธุรกิจอาหาร

ถ้าคุณเคยเห็นการทำงานของร้านอาหารมืออาชีพคงจะเข้าใจดีว่า การบริหารทรัพยากรบุคคลภายในครัว มีความจำเป็นมาก เพราะเป็นงานที่ต้องแข่งกับเวลาและไม่มีที่ว่างให้กับทุกความผิดพลาด ทั้งนี้กลไกความสำเร็จโดยทั่วไปของร้านอาหารคือ “เอกลักษณ์” และ “การบริการที่มีคุณภาพ” ดังนั้นหน้าที่หลักของ HR จึงเป็นการควบคุมคุณภาพ, บริหารงบประมาณ และจัดจ้างพนักงานที่ตรงคอนเซปต์ของร้านมากที่สุด

หัวข้อแรกที่ HR ธุรกิจอาหารต้องทำก็คือการจ้างคนที่เหมาะกับรูปแบบของร้าน ยกตัวอย่างเช่นร้านอาหารไทยในต่างประเทศ ฝ่าย HR ก็ต้องเขียน Job Description ให้ดึงดูดเชฟอาหารไทยในพื้นที่ให้ได้โดยอาจมีการทดสอบฝีมือเพื่อให้แน่ใจว่าผู้สมัครมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง (Authentic) โดยเทคนิคที่ HR มักนำมาใช้ในธุรกิจอาหารก็คือ Hire Slow, Fire Fast หมายถึงการคัดเลือกพนักงานอย่างละเอียดถี่ถ้วนที่สุดเพราะถือเป็นกลุ่มคนที่ต้องเผชิญหน้ากับลูกค้าโดยตรง แต่ขณะเดียวกันก็ต้องเด็ดขาดในการไล่พนักงานออกหากมีเหตุผลที่เหมาะสมหรือตรวจสอบแล้วว่ามีความผิดจริง

ที่สำคัญ HR ในธุรกิจอาหารจะต้องคอยจัดอบรมและตรวจสอบการทำงานของพนักงานในร้านเสมอ โดยเฉพาะการฝึกวิธีพูด, วิธีเสิร์ฟอาหาร, วิธีรับมือลูกค้าที่ไร้มารยาท เพื่อรักษาบรรยากาศและภาพลักษณ์ของร้านเอาไว้เสมอ

Hollywood พิพิธภัณฑ์ โรงพยาบาล : จะเป็นธุรกิจแบบไหนก็ควรใช้ HR

4. แผนก HR ในธุรกิจการบิน

ธุรกิจการบินในปัจจุบันมีการแข่งขันที่สูงมากและมีผลกำไรค่อนข้างต่ำหากเทียบกับในอดีต ดังนั้นแผนกทรัพยากรบุคคลจึงเป็นตัวช่วยสำคัญที่จะเข้ามาเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้น มีการศึกษาในปี ค.ศ.2014 ระบุว่าการดำเนินธุรกิจของสายการบินมีความเปลี่ยนแปลงหลังถูกแบ่งเป็นแบบ Full-Service และแบบ Low-Cost โดยความแตกต่างในแง่ Job Description ก็คือสายการบินแบบ Full-Service จะมีการแบ่งแยกงานเป็นแผนกอย่างชัดเจน ขณะที่สายการบินแบบ Low Cost จะมีการ “ลดขั้นตอน” พนักงานแต่ละคนจะมีภาระหน้าที่มากกว่าหนึ่งอย่าง โดยบริษัทอาจตอบแทนด้วยเงินพิเศษ, ไมล์สะสมพิเศษ หรือสวัสดิการพิเศษที่อ้างอิงกับผลประกอบการของสายการบินในขณะนั้น

ขั้นตอนของ HR ในธุรกิจการบินที่ทุกคนคุ้นเคยมากที่สุดคงหนีไม่พ้นเรื่อง “การจ้างพนักงาน” (Recruitment) ไม่ว่าจะเป็น “ลูกเรือ” หรือพนักงานทั่วไป ทั้งนี้แต่ละสายการบินจะมีรูปแบบของพนักงานที่ต้องการแตกต่างกันไป ซึ่งความแตกต่างดังกล่าวคือเอกลักษณ์ที่ผู้สมัครต้องปรับตัวเข้าหา และ HR มีหน้าที่คัดเลือกอย่างละเอียดเพื่อให้ได้บุคลากรที่ตรงกับความต้องการมากที่สุด เพราะสายการบินย่อมได้ประโยชน์หากพนักงานมีความน่าเชื่อถือและสื่อสารกับลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ในทางกลับกันพนักงานที่ไม่ปฏิบัติตามวัฒนธรรมองค์กรหรือไม่ใส่ใจกับการดูแลลูกค้า (ซึ่งอาจหมายถึงการละเลยความปลอดภัย) จะกลายเป็นปัญหาสำคัญที่สามารถทำลายชื่อเสียงของสายการบินลงแบบไม่ทันตั้งตัว

นอกจากนี้ธุรกิจสายการบินยังต้องอาศัยความร่วมมือจากพนักงานในหลากหลายแผนกทั้งนักบิน, ลูกเรือ, ช่างเครื่อง, พนักงานทำความสะอาด, หอควบคุมการบิน เป็นต้น ดังนั้นทีม HR จึงต้องหานโยบายร่วมที่ทุกฝ่ายพอใจ เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างราบรื่นที่สุด

5. แผนก HR ในวงการภาพยนตร์ Hollywood

จริง ๆ แล้วรูปแบบการทำงานของ HR ในวงการภาพยนตร์ไม่ได้แตกต่างจากบริษัททั่วไป เพราะต้องวนเวียนอยู่กับงานเอกสาร, การว่าจ้าง, จัดการเงินเดือน, ดูแลสวัสดิการของพนักงานเช่นกัน แต่สิ่งที่ทำให้การทำงานกับฮอลลีวูดแตกต่างจากการทำงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์อื่น ๆ ก็คือ “กฏหมายแรงงาน” แคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของ Hollywood โดยสิ่งที่ HR ต้องปฏิบัติตามได้แก่

– บริษัทที่มีพนักงานมากกว่า 5 คนจะต้องจัดอบรมเพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ (Sexual Harassment) และต้องเข้าร่วมทุกคน ไม่ใช่แค่เฉพาะกลุ่มผู้บริหารหรือผู้ที่มีตำแหน่งสูงเท่านั้น

– บริษัทต้องมีผู้บริหารทั้งชายและหญิง เพื่อเป็นการสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ

– บริษัทต้องมีใบชี้แจงเงินเดือนให้กับพนักงานตามสิทธิ์

กองถ่ายภาพยนตร์แต่ละกองมักประกอบไปด้วยพนักงานจากหลายบริษัทโดยแยกตามสายงาน ซึ่งถูกดูแลโดยทีม HR ที่แตกต่างกันไป ดังนั้นทีม HR ใน Hollywood จะต้องมีความสามารถในการประสานงานและรู้จักรักษาผลประโยชน์ให้กับพนักงานภายใต้ความดูแลของตนเป็นพิเศษหากเทียบกับ HR ในวงการอื่น ๆ

แผนก HR แบบไร้สังกัด

บริษัทขนาดใหญ่อาจไม่มีปัญหาเรื่องการวางเป้าหมายเพื่อให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคลนำไปต่อยอด แต่บริษัทขนาดเล็กที่ไม่ได้มีความรู้เชิงธุรกิจอย่างจริงจังอาจไม่เข้าใจว่าการเริ่มต้นใช้ HR ควรให้ความสำคัญกับบริบทใดก่อน ดังนั้นธุรกิจ HR ฟรีแลนซ์จึงเกิดขึ้นเพื่อรองรับความต้องการดังกล่าว

นอกจากข้อจำกัดในเรื่องขนาดองค์กรแล้ว ต้องยอมรับว่าปัจจุบันมีธุรกิจรูปแบบใหม่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นจึงไม่แปลกหากเจ้าของกิจการจะไม่สามารถหาแนวทางบริหารจากที่อื่นมาเป็นแบบอย่างได้ จุดนี้เองที่ควรใช้ประสบการณ์ของ HR มืออาชีพมาช่วยวางแผน

ข้อดีของการใช้ HR ฟรีแลนซ์ก็คือบริษัทสามารถเริ่มใช้บริการได้เลย ไม่ต้องรอให้ผ่านกระบวนการว่าจ้างเหมือนกับพนักงานประจำที่อาจต้องใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือน อีกทั้งยังได้เลือกพนักงานที่ตรงกับสายงาน ไม่มีการผูกมัด เหมาะกับบริษัทที่อนาคตยังไม่แน่นอนหรืออยู่ระหว่างการทดลองธุรกิจ และที่สำคัญคือสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายตามงบประมาณที่ตั้งไว้ เรียกได้ว่า HR แบบไร้สังกัดคือ “ทางเลือก” ที่เหมาะกับธุรกิจยุคใหม่อย่างแท้จริง

แผนก HR สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยหรือ SME ได้อย่างไร

เราแนะนำว่าหากคุณกำลังเริ่มต้นทำธุรกิจ SME การวางระบบ HR ตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้พนักงานทุกคนเข้าใจเป้าหมายเดียวกัน ซึ่งเป็นผลดีมากกว่าการรอให้บริษัทใหญ่ขึ้นแต่มีรากฐานไม่แข็งแรง  โดยเราสามารถอธิบายประโยชน์ของ HR ในธุรกิจ SME ได้เป็น 3 หัวข้อใหญ่ ดังนี้

– แผนก HR จะทำให้ธุรกิจ SME ของคุณมีผลงานดีขึ้น : ต้องยอมรับว่าในธุรกิจ SME ที่มีพนักงานและงบประมาณไม่มากนัก ผลงานทุกชิ้นมีผลโดยตรงต่อความอยู่รอดของบริษัท ดังนั้นหากทีมปฏิบัติงานและทีมบริหารต้องใช้เวลาส่วนใหญ่มาจัดการเรื่องเอกสารหรือแก้ปัญหาภายในมากกว่าการพัฒนาธุรกิจ ก็อาจทำให้ผลงานของบริษัทตกต่ำลงด้วย แผนก HR จะมาช่วยเรื่องการบริหารจัดการพนักงาน, สวัสดิการ, ผลตอบแทน ซึ่งจะทำให้บริษัท SME ที่มีพนักงานไม่มากนักสามารถโฟกัสกับการทำงานได้อย่างเต็มที่

– แผนก HR จะช่วยรักษาเอกลักษณ์ของธุรกิจ SME : เมื่อพูดถึงคำว่า SME หลายคนจะนึกถึงความทะเยอทะยาน, ความกระตือรือร้น, ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และความสามารถในการปรับตัวอย่างรวดเร็ว แต่จุดเด่นเหล่านี้จะสั่นคลอนทันทีเมื่อบริษัทเติบโตขึ้น เพราะเมื่อพนักงานทุกคนต้องรับผิดชอบมากกว่าเดิม ความใกล้ชิด, การสื่อสาร หรือการระดมสมอง (Brainstorming) ก็จะลดน้อยลงกว่าเดิมโดยปริยาย จนบางคนอาจรู้สึกว่าตนเองกำลังถูกลดทอนความสำคัญ ดังนั้นการมี HR จะทำให้บริษัทมี “สื่อกลาง” เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล, แชร์ Success Story และรับฟังปัญหาระหว่างกันได้เหมือนเดิม ถือเป็นระบบที่จะเชื่อมโยงทุกคนเอาไว้ไม่ว่าบริษัทจะกลายเป็นแบบใดก็ตาม

– แผนก HR จะช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองให้ธุรกิจ SME : สิ่งสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตก็คือการมีพนักงานที่ดี แต่ SME ต้องทำอย่างไรจึงจะสามารถแข่งในตลาดแรงงานได้ทัดเทียมกับบริษัทใหญ่ ๆ จุดนี้เองที่ HR จะเข้ามาช่วย ทั้งการทำ Employer Branding, การคิดข้อเสนอโดยอ้างอิงกับงบประมาณและแผนงานของบริษัท ตลอดจนการคิดแนวทางอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพของพนักงานให้มากที่สุด 

บริษัทสามารถเริ่มวางโครงสร้างของแผนก HR ได้อย่างไร

ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเล็กหรือใหญ่สิ่งแรกที่บริษัทต้องทำก็คือการกำหนดจำนวนพนักงานในแผนก HR ให้สอดคล้องกับความต้องการบริษัท โดยคุณปีเตอร์ โรเซน (Peter Rosen) ประธานของบริษัทที่ปรึกษา HR Strategies & Solutions แนะนำว่า

– หากบริษัทมีพนักงาน 1-49 คนไม่จำเป็นต้องใช้เจ้าหน้าที่ HR ประจำเพราะสามารถใช้ซอฟแวร์หรือ HR แบบไร้สังกัดได้

– หากบริษัทมีพนักงาน 50-149 คน : ให้จ้างเจ้าหน้าที่ HR ประจำ 1 คน

– หากมีบริษัทมีพนักงานตั้งแต่ 150 คนขึ้นไป : ให้จ้างเจ้าหน้าที่ HR ประจำคนที่ 2 มาช่วย ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่ว่าบริษัทต้องการ HR มาช่วยดูแลส่วนใดเป็นพิเศษ เช่นเงินเดือน (Payroll), การว่าจ้าง (Recruiting) เป็นต้น

เมื่อทราบแล้วว่าบริษัทต้องใช้เจ้าหน้าที่ HR กี่คน ก็สามารถเริ่มวางแผนด้วย 3 ขั้นตอนดังต่อไปนี้

1. ใช้ HR เพื่อช่วยออกแบบสวัสดิการพนักงานทีม HR จะเริ่มพูดคุยกับแผนกการเงินเพื่อวางแผนเงินเดือนและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ

2. ใช้ HR เพื่อช่วยจัดลำดับความสำคัญและแนวทางแก้ปัญหาแผนก HR มีหน้าที่ช่วยเหลือพนักงานทุกแผนกและจำเป็นต้องรู้ว่าสถานการณ์ล่าสุดของบริษัทเป็นอย่างไร ดังนั้นเราอาจเริ่มต้นด้วยการสัมภาษณ์รายบุคคลเพื่อให้เห็นทัศนคติและมุมมองที่แตกต่าง รวมถึงเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับแผนก HR ด้วย

3. ใช้ HR เพื่อช่วยวางแผนสำหรับ 3-6 เดือนแรกการวางแผนในช่วงแรกของบริษัทมีความสำคัญมากเพราะเป็นการกำหนดทิศทางของบริษัท อย่างไรก็ตามบริษัทส่วนใหญ่มักแยกไม่ออกระหว่าง “ความต้องการ” กับ “ความเป็นไปได้” ดังนั้น HR จะเป็นผู้ให้คำแนะนำว่าแผนงานใดบ้างที่อ้างอิงอยู่กับความเป็นจริง เพื่อให้พนักงานสามารถพุ่งไปที่เป้าหมายดังกล่าวได้อย่างไร้กังวล

ท้ายสุดนี้อย่าลืมว่าแม้ความคาดหวังหรือเป้าหมายของบริษัทจะสูงเพียงใด แต่บริษัทที่เปิดใหม่ก็ควรเริ่มต้นด้วยความระมัดระวัง ไม่ทะเยอะทะยานจนเกินตัว เชื่อมั่นในเพื่อนร่วมงาน และหัดมีความสุขกับความสำเร็จเล็ก ๆ น้อย ๆ ทั้งนี้เพื่อให้ทุกคนมีกำลังใจในการทำงาน และพร้อมสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ต่อไปในอนาคต

บทสรุป

จะเห็นว่ามิติของ HR หรือแผนกทรัพยากรมนุษย์นั้นแฝงตัวอยู่ในทุกแง่มุมของธุรกิจ ตั้งแต่ต้นน้ำเรื่อยไปจนถึงปลายน้ำ เป็นดั่ง “กาว” ที่คอยเชื่อมโยงทุกองค์ประกอบของบริษัทให้อยู่ร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพโดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยสร้างผลลัพธ์ตามวัตถุประสงค์ที่บริษัทตั้งเอาไว้ เหตุนี้ไม่ว่าจะเป็น HR ประจำ หรือ HR ไร้สังกัดแบบที่ปรากฏในเว็บไซต์ SourcedOut ก็ล้วนมีประโยชน์ในแนวทางของตนเองทั้งสิ้น ดังนั้นเชื่อสิว่า HR คือเพื่อนคู่คิด ที่จะช่วยแก้ปัญหาและยกระดับธุรกิจของคุณได้จริง ๆ

Source

https://bit.ly/3MNyUsl

https://bit.ly/3LwRrr6

https://bit.ly/3MBXQmu

https://bit.ly/3lr5qUP

https://bit.ly/3sNQRPc

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง