เมื่อโลก HR เปลี่ยนไป HR Admin ยังสำคัญต่อองค์กรหรือไม่ ?

HIGHLIGHT

  • หากไม่มี HR Admin คอยทำงานเอกสาร ทำงานหลังบ้านให้เกิดความเป็นระบบระเบียบ องค์กรนั้น ๆ น่าจะเจอสภาวะยุ่งเหยิงวุ่นวาย เพราะพนักงานจะต้องเสียเวลาอันมีค่า มาทำงานเอกสารจนไม่มีเวลาทำงานที่ได้รับมอบหมายอย่างมีประสิทธิภาพ
  • HR Admin อยู่เคียงข้างพนักงานและองค์กรตลอดเวลา แม้บางองค์กรอาจไม่มีตำแหน่งนี้ แต่อาจมาในตำแหน่งอื่น ๆ ได้ เช่น Administrative Director, Administrative Manager, Administrative Services Manager, Office Administrator รวมถึงแค่ Admin อย่างเดียวก็ได้ เป็นต้น
  • คนเป็น HR Admin จำเป็นต้องมีทักษะการสื่อสารที่ดี เข้ากับพนักงานได้ทุกคน เชี่ยวชาญการใช้เทคโนโลยี หมั่นเรียนรู้อยู่เสมอ รวมถึงมีความเถรตรง ซื่อสัตย์ งานนี้ต้องดูแลเอกสารสำคัญ และเข้าถึงเงินจำนวนมาก หาก HR Admin ไม่มีความซื่อสัตย์ก็อาจเกิดปัญหาต่อองค์กรได้
  • มีการคาดการณ์เทรนด์ในอนาคตไว้ว่า HR Admin จะต้องปรับตัวให้กลายเป็น HR Business Partner เพื่อความอยู่รอดของตัวเองและองค์กร แต่มันก็อาจไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนั้นเสมอไป HR ต้องดูด้วยว่าการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งงานนั้น สอดคล้องกับเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ มีทักษะการทำงาน มีประสบการณ์ในการเป็น HRBP เพียงพอรึยัง

เมื่อโลก HR เปลี่ยนไป HR Admin ยังสำคัญต่อองค์กรหรือไม่ ?

ทุกงานทุกอาชีพย่อมต้องเจอเสี่ยงจากความเปลี่ยนแปลงแตกต่างกันไป ในยุคที่ AI จำนวนมากสามารถเข้ามาแทนที่การทำงานของคนได้หลายตำแหน่ง งาน HR ก็ถูกคาดการณ์ว่าเสี่ยงจะตกงานตามไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในสาย HR Admin หรือ HR Administrator ที่เน้นการทำงานเอกสารเป็นหลัก 

ดังนั้นจึงเกิดการผลักดันให้ HR Admin จำเป็นต้องพัฒนาตัวเอง เลิกเป็น HR ยุคเก่า ทำแต่งานเอกสาร แล้วพัฒนากลายเป็น HR Business Partner เพื่อนคู่คิดของผู้บริหาร ต้องรู้เรื่องการตลาด รู้เทรนด์ที่เปลี่ยนแปลงไป ช่วยวางกลยุทธ์ไปสู่ความสำเร็จ เพื่อความอยู่รอดของทั้งตัวเองและองค์กร 

แต่เทรนด์ดังกล่าวที่ออกมาก็นำไปสู่ข้อสงสัยว่า ปัจจุบันงาน HR Admin ยังสำคัญอยู่หรือไม่ แล้วการเป็น HRBP คือทางรอดของ HR Admin จริง ๆ เหรอ เรื่องนี้มีแง่มุมที่น่าสนใจหลายประการ ซึ่งสามารถติดตามได้จากบทความนี้ 

Contents

รู้จัก HR Admin ผู้ปิดทองหลังพระ ช่วยองค์กรเดินหน้าจากเบื้องหลัง

ลองคิดภาพดูว่าจะเป็นอย่างไร หากพนักงานในองค์กรต้องคอยเดินเอกสารสำคัญต่าง ๆ เอง ทั้งเอกสารวันลา เอกสารภาษี เอกสารเงินเดือน รวมถึงยื่นเรื่องกองทุนสำรองเลี้ยงชีพด้วยตัวเอง หากเป็นพนักงานต่างประเทศ ก็ต้องเสียเวลามาเดินเรื่องทำวีซ่าเองอีก ฯลฯ

มันคงจะวุ่นวาย และยุ่งเหยิงมากพอตัวเลยว่าไหม และส่งผลให้พนักงานจะต้องเสียเวลาการทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพไปอย่างน่าเสียดายด้วย

และคนที่จะช่วยพนักงานเหล่านี้ได้ ก็คือ HR Admin หรือ HR Administrator นั่นเองที่มีความสำคัญมาก ๆ ต่อองค์กร เพราะนี่คือผู้ดูแลงานเอกสาร จัดการด้านข้อมูลต่าง ๆ ของพนักงานและองค์กรในภาพรวมให้มีระบบระเบียบ ซึ่งจะช่วยให้พนักงานทุกฝ่ายสามารถดำเนินงานได้ตามที่ควรจะเป็น ไม่ต้องมาห่วงหน้าพะวงหลังจนทำให้เสียงานเสียการโดยใช่เหตุ

ทั้งนี้ แต่ละองค์กรวางบทบาทหน้าที่ HR Admin แตกต่างกันไป องค์กรเล็ก ๆ มักมองหา HR Admin ที่สามารถทำงานได้หลายอย่างในคนเดียว คอยดูแลเอกสารทุกประเภท มีบทบาทเกี่ยวข้องในทุกกระบวนการทำงานด้าน HR เนื่องจากงบประมาณอาจมีจำกัดจึงไม่สามารถจ้างคนได้มากนัก

ส่วนองค์กรใหญ่อาจมีแต้มต่อตรงที่สามารถจ้าง HR Admin ได้หลายคนเพื่อมาดูแลงานด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะไปเลย แต่สิ่งที่ต้องแลกก็คือ ความเชี่ยวชาญของเขาผู้นั้นจะจำกัดเฉพาะส่วนจริง ๆ และอาจไม่สามารถปรับตัวได้ง่ายนักในยุคที่โลกหมุนไปอย่างรวดเร็ว (แต่ผู้เชี่ยวชาญบางสายก็อาจแย้งว่า ไม่ว่าจะองค์กรใหหญ่หรือเล็ก HR ก็ปรับตัวได้ช้าไม่ต่างกันนั่นแล)

ทั้งนี้ทั้งนั้น บางองค์กรอาจไม่มีพนักงานทำตำแหน่ง HR Admin แต่จะใช้ชื่ออื่นแทน เช่น  Administrative Director, Administrative Manager, Administrative Services Manager, Office Administrator, Administrative Services Officer, Administrator และ Office Manager เป็นต้น

ดังนั้น หากใครดูแผนผังองค์กรแล้วมองไม่เห็นแผนก HR หรือตำแหน่ง HR Admin อยู่ในนั้น ก็อย่าเพิ่งตกใจไป ถึงจะมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่ HR Admin อยู่เคียงข้างพนักงานและองค์กรตลอดเวลา

เมื่อโลก HR เปลี่ยนไป HR Admin ยังสำคัญต่อองค์กรหรือไม่ ?

รู้จักหน้าที่ของ HR Admin ไม่มีเขา เราต้องทำงานอย่างนี้

ทุกคนน่าจะพอรู้กันว่า งาน HR Admin อาจมีหน้าที่หลักคือการทำงานเอกสาร แต่นั่นเป็นคำที่มีความหมายกว้างมาก มาดูกันดีกว่าว่า งานเอกสารที่รอคอย HR Admin อยู่จริง ๆ มีอะไรบ้าง

1.จัดระบบฐานข้อมูลของ HR และอัปเดตข้อมูลที่จำเป็นเข้าไปเป็นระยะ ๆ เช่น ประวัติการทำงานของพนักงาน ข้อมูลการลาหยุดของพนักงาน ฐานข้อมูลเรื่องเงินเดือน โบนัส เป็นต้น

2.ปรับปรุงนโยบายด้าน HR ขององค์กรให้ทันสมัย ทันต่อความเปลี่ยนแปลงเสมอ

3.คอยตอบข้อสงสัยพนักงาน เป็นที่รับฟังเวลาพนักงานมีปัญหา และมอบทางออกที่ดีที่สุด เพื่อช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตการทำงานให้ดีขึ้น

4.แจ้งตารางกิจกรรมการทำงาน เช่น วันหยุดตามกฎหมาย การตรวจสุขภาพ รวมทั้งแจ้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อองค์กรและพนักงานเมื่อจำเป็นให้พนักงานได้รับทราบ

5.สร้างสรรค์และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับตำแหน่งงานที่ว่าง ช่วยรีครูทเตอร์หาแคนดิเดตที่ใช่เข้าสู่องค์กร

6.จัดปฐมนิเทศพนักงาน จัดเทรนนิ่ง Upskill-Reskill

7.รายงานความคืบหน้าเรื่องที่จำเป็นให้กับ HR Executive 

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ของงานที่รอคอย HR Admin ให้มาดำเนินการที่หลังบ้าน บางองค์กรอาจมอบหมายงานต่าง ๆ เพิ่มเติมแตกต่างกันไป ซึ่งหากใครเคยต้องทำงานอื่น ๆ นอกเหนือจากในลิสต์นี้ สามารถแชร์ข้อมูลกันได้เลย

HR Admin กับทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานในปัจจุบันและอนาคต

บางคนอาจมองว่างาน HR Admin น่าเบื่อ บางคนอาจมองว่างาน HR Admin เป็นงานง่าย ๆ สบาย ๆ แต่อย่าดูแคลนเด็ดขาด เพราะถ้าคิดจะทำงานนี้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดล่ะก็ จะขาดคุณสมบัติเหล่านี้ไม่ได้เลย

1. ทักษะด้านการสื่อสารต้องดี

งาน HR Admin ต้องพูดคุยประสานงานกับผู้อื่นเสมอ ทั้งในและนอกองค์กร ดังนั้นหากมีทักษะในการเข้าหาผู้อื่น รู้วิธีการสื่อสารกับทุกคน ไม่ว่าจะการสื่อสารแบบตัวต่อตัว การสื่อสารผ่านตัวอักษร การพูด การเขียนอีเมล รวมถึงการใช้โซเชียลมีเดีย จะเป็นแต้มต่อที่สำคัญทีเดียว

ไม่เพียงแค่นั้น ยังต้องเป็นผู้ฟังที่ดีด้วย เพราะอย่าลืมว่าหน้าที่สำคัญของ HR Admin คือการรับฟังปัญหาของเพื่อนพนักงาน ดังนั้นหากทำให้เพื่อนพนักงานฝ่ายอื่น ๆ กล้าเข้าหาเพื่อเปิดใจ ขอคำปรึกษาดี ๆ ได้ล่ะก็ จะช่วยให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างราบรื่นทีเดียว

2. ก้าวทันเทคโนโลยี

เพราะ HR Admin ต้องวุ่นวายกับการทำเอกสารต่าง ๆ ดังนั้นจึงต้องเชี่ยวชาญโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่จำเป็นต่อการทำเอกสารด้วย มิเช่นนั้นงานอาจผิดพลาดหรือล่าช้าได้ ไม่เพียงแค่นั้น ยังต้องเชี่ยวชาญการใช้ฐานข้อมูลรูปแบบต่าง ๆ ด้วย 

อย่าลืมว่าเทคโนโลยีเปลี่ยนไปตลอดเวลา วันนี้อาจใช้ฐานข้อมูลบนโปรแกรมนี้ แต่อนาคตอาจต้องเปลี่ยนไปใช้โปรแกรมใหม่ที่สะดวกกว่าเดิมได้ หากปรับตัวไม่ทันเทคโนโลยี ก็อาจทำให้งานล่าช้าและมีปัญหาตามมาได้

3. ต้องกล้าตัดสินใจเรื่องสำคัญ

เป็นข้อที่พ่วงมากับข้อก่อนหน้า แต่การจะตัดสินใจเรื่องสำคัญได้ HR จะต้องพึ่งข้อมูลที่อัปเดตต่อเนื่อง และไม่คิดเองเออเองไปคนเดียว 

เช่น หากข้อมูลในระบบระบุว่า พนักงานกำลังขาดทักษะหรือความเชี่ยวชาญในเรื่องใด ก็ต้องจัดเทรนนิ่งพนักงานในเรื่องนั้น ๆ หรือองค์กรกำลังขาดพนักงานในตำแหน่งนี้ ก็จำเป็นต้องรีบจ้างงานตำแหน่งไหนเข้ามาเพิ่มเติมโดยด่วน เป็นต้น 

4. ซื่อสัตย์ เถรตรง

HR Admin ต้องทำงานเกี่ยวกับเอกสารสำคัญขององค์กร และเป็นเอกสารสำคัญของทางราชการ รวมถึงเป็นผู้ที่สามารถเข้าถึงเงินมหาศาลได้ หาก HR Admin มีความโปร่งใส ซื่อสัตย์สุจริต องค์กรนั้นย่อมดำเนินงานต่าง ๆ ได้อย่างราบรื่นกว่าองค์กรที่มี HR ปลอมแปลงเอกสาร และงุบงิบเงินขององค์กรไปใช้ผิดวัตถุประสงค์

5. มือโปรด้านการขจัดปัญหาความขัดแย้ง

ยิ่งคนในองค์กรเยอะ ความขัดแย้งก็มักเกิดขึ้นเยอะตามไปด้วย HR Admin จะมัวแต่ทำงานเอกสารอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องเป็นโซ่ข้อกลาง ประสานทุกคนให้เป็นหนึ่งเดียว และหาทางแก้ไขความขัดแย้งในองค์กรให้จบลงอย่างราบรื่นด้วยดีเช่นกัน 

คุณสมบัติข้อนี้ อาจสรุปได้จากคำกล่าวของคุณเอื้อมพร วรรณยิ่ง Administration Manager ของบริษัท Reeracoen Tech ที่อธิบายถึงงานนี้ไว้ว่า “จะดีเสียกว่าถ้าผู้ที่ทำงานในสายงาน HR เป็นบุคคลที่สามารถเข้าถึงคนได้ทุกกลุ่ม และสามารถช่วยเหลือพนักงานให้มีความสุขในการทำงาน เพื่อทำไปสู่เป้าหมายและยกระดับขององค์กรได้” 

เมื่อโลก HR เปลี่ยนไป HR Admin ยังสำคัญต่อองค์กรหรือไม่ ?

จำเป็นหรือไม่ที่ HR Admin ต้องพัฒนาตัวเอง กลายเป็น HR Business Partner

มี HR จำนวนไม่น้อยเชื่อมั่นว่า HR ในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง HR Admin ต้องผันตัวมาเป็น HR Business Partner เพื่อความอยู่รอดขององค์กร และอนาคตของอาชีพ HR เอง ประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะถือเป็นเทรนด์ที่ HR จำนวนมากต่างพูดถึงเรื่องนี้ และชูเป็นประเด็นสำคัญ

เช่น คุณณัฐวุฒิ เกียรติไชยากร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานทรัพยากรบุคคล บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด เคยให้สัมภาษณ์กับ HREX ไว้ว่า

“HR ต้องยอมรับว่าบริบทการทำงานของ HR เปลี่ยนไปแล้ว อย่างที่บอกว่าเปลี่ยนจาก Supporter เป็น Partner หรือ Co-pilot ทำให้ทุกวันนี้ HR ต้องทำงานเป็น Business Partner ที่ต้องมองธุรกิจได้เหมือนผู้บริหาร เข้าใจให้ได้ว่าผู้บริหารต้องการอะไร เราต้องถามตัวเองว่าเรากล้าไปนั่งเคียงข้างผู้บริหาร เคียงข้าง Line Manager แล้วรึยัง เรากล้าปลดแอกงานที่เราเคยทำมาแต่เดิม แล้วมองภาพรวมของธุรกิจให้ออกรึยัง เรากล้าออกจากพื้นที่ปลอดภัย กล้าสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ให้คนและองค์กรรึยัง”

แต่สุดท้ายแล้ว HR Admin จำเป็นต้องผันตัวมาเป็น HRBP หรือไม่ ? ก็ไม่ถึงกับเป็นกฎหมายข้อบังคับตายตัวเสียทีเดียว เพราะในการปฏิบัติจริงแต่ละคน รวมถึงองค์กรต่างมีข้อจำกัดและความจำเป็นที่แตกต่างกันไป แถมบางครั้ง HR Admin เองก็ไม่สามารถกำหนดได้ด้วย ดังต่อไปนี้

1. การเปลี่ยนแปลงสอดคล้องกับเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่

งานของ HR Admin มักเป็นสายปฏิบัติ ส่วนงานของ HRBP เป็นเหมือนที่ปรึกษาให้กับผู้บริหารขององค์กร ซึ่งแน่นอนว่าต้องอาศัยวัยวุฒิ และคุณวุฒิเพื่อก้าวมาสู่จุดนี้ เพื่อให้สามารถวางกลยุทธ์ที่เหมาะสม เพื่อให้องค์กรเดินไปถึงเป้าหมาย 

หาก HR Admin จะเดินทางสายนี้จริง ๆ ก็ต้องพิจารณาด้วยว่า เป้าหมายของตัวเองที่ตั้งไว้ตั้งแต่แรกคืออะไร ความสนใจของตัว HR เองเป็นอย่างไร รวมถึงการประเมินว่าองค์กรกำลังเติบโตอยู่ในขั้นไหน มองเห็นภาพเดียวกันหรือไม่ ถ้าพบว่าเป้าหมาย เส้นทางอาชีพตรงกัน แถมองค์กรสนับสนุนด้วย การพัฒนาตัวเองในอีกสายทางหนึ่งย่อมเป็นทางเลือกที่น่าจับตา

2. ทักษะในการทำงาน พร้อมกับการเป็น HRBP แล้วรึยัง

งานของ HRBP จำเป็นต้องมีทักษะเรื่องการคิด การวางกลยุทธ์ การสื่อสารภายในตัวเอง ต้องเข้าใจธุรกิจแบบแผนขององค์กร ถ้าต้องการส่งเสริม HR Admin ให้เป็น HRBP จริง ๆ ล่ะก็ ต้องมาดูว่ามีทักษะต่าง ๆ พร้อมกับงานที่รอคอยอยู่รึยัง 

และถ้ายัง องค์กรจะสามารถสนับสนุนอย่างไรเพื่อเติมเต็มได้บ้าง

3. องค์กรต้องการ HRBP จริง ๆ หรือไม่

โลกภายนอกบอกว่างาน HRBP ทวีความสำคัญกับองค์กรมากกว่างาน Admin ไปแล้ว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องดูจากตัวองค์กรของตัวเองก่อนว่า ความต้องการเป็นอย่างไร องค์กรต้องการ HR แบบไหน วัฒนธรรมองค์กรเป็นอย่างไร 

หากองค์กรพิจารณาแล้วพบว่า แนวทางการทำงานขององค์กรต้องการ HR Admin มากกว่า HRBP เพราะยังต้องการคนที่คอยดูแลเอกสาร ไม่เชื่อมั่นว่าปัญญาประดิษฐ์จะเข้ามาจัดการได้อย่างเฉียบคม งาน HR Admin ก็เป็นสิ่งที่ยังต้องมี และต้องพิจารณา

4. ประสบการณ์เพียงพอหรือไม่

การบอกให้ HR Admin เปลี่ยนมาเป็น HRBP ดูเหมือนง่าย แต่ในการปฏิบัติจริงอาจไม่ง่ายขนาดนั้น เพราะไม่ใช่ HR Admin ทุกคนจะสามารถเป็น HRBP ที่มีคุณภาพได้ในเวลาอันสั้น ของอย่างนี้ต้องผ่านการสั่งสมประสบการณณ์อย่างน้อยก็เป็นปี ซึ่งหากองค์กรจะสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปเป็น HRBP ก็ดีไป แต่หากไม่ได้สนับสนุนมากขนาดนั้นล่ะก็ ต้องมารื้อและวางแผนการเปลี่ยนผ่านกันใหม่ ซึ่งไม่ได้การันตีเสมอไปว่าจะออกมาราบรื่น

5. มีตำแหน่งเปิดว่างเพียงพอหรือไม่

ถึงจะบอกให้ HR Admin ปรับตัวไปเป็น HRBP แต่หากสมัครงานเข้าไปในองค์กรที่ไม่มีตำแหน่งงานนี้ให้ ก็อาจมีปัญหาได้เช่นกัน หาก HR Admin กำลังหาลู่ทางเติบโตทั้งหลายก็อย่าลืมสำรวจดูด้วยว่า องค์กรแห่งไหนที่มีตำแหน่งให้อย่างที่ต้องการด้วย

HR มีข้อสงสัยหรือคำถามเกี่ยวกับประเด็นนี้ 

Q&A HR Board

Q: ผิดไหม ถ้า HR Admin ไม่อยากเติบโตไปเป็น HR Business Partner

หลายคนพูดกันว่า HR Admin ต้องพัฒนาตัวเองขึ้นไปเป็น HR Business Partner ไม่ทำแต่งานเอกสาร หรืองานแบบเดิม ๆ อีกต่อไป แต่ถ้า HR Admin ไม่อยากพัฒนาไปอยู่ในจุดนั้น จะถือว่าเป็น HR ที่แย่ไหม

A: ขออนุญาตแนะนำแบบรุ่นพี่แนะนำรุ่นน้อง HR เพื่อความเติบโตในหน้าที่การงานตามเส้นทางอาชีพ HR ครับ

แนวทางที่ 1 พอใจในงาน HR Admin ที่ทำอยู่แล้ว ไม่ผิดครับ แต่การปรับเงินขึ้นประจำปี ก็จะปรับไปเรื่อย ๆ จนเกษียณอายุ เพราะตำแหน่งงานด้าน HR Admin มีปริมาณมากในตลาดแรงงาน การสร้างความแตกต่างทำได้ยาก เพราะค่างานไม่แตกต่างกันมากนัก

แนวทางที่ 2 เมื่อถึงเวลาจะเติบโตต่อ ลองดูงานในฟังก์ชั่นอื่นๆ ของ HR ได้ เช่น ชอบด้านการคำนวณ และเก่งมากเลย อาจเป็น HR Compensation and benefit ก็ได้ ดูแลด้านนั้นไป คนทำงานด้านนี้ยังมีไม่มาก หรือชอบการสรรหาว่าจ้าง ก็เป็น HR Recruit ก่อนแล้วค่อยดูว่า ชอบด้านไหน

,,, (คลิกดูคำตอบทั้งหมด👇)

Q&A HR Board

ค้นหา HR Outsources ช่วยเหลืองาน HR Admin ได้ผ่านแพลตฟอร์มของ HREX

แม้ AI จะก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินงานขององค์กร ถึงขั้นว่าสามารถใช้ AI ดูแลงานเอกสารต่าง ๆ ซึ่งเป็นงานที่ HR Admin ต้องดูแลอยู่แล้ว แต่ปฏิเสธไมไ่ด้ว่ายังมีหลายองค์กรยังไม่เชื่อมั่นในเทคโนโลยีดังกล่าวว่าจะสามารถทดแทนคนได้จริงในอนาคตอันใกล้ และกลัวเรื่องของความลับรั่วไหลได้ง่ายกว่าการมีคนคอยทำงาน

แต่ในขณะเดียวกัน การจะหาคนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ มีดูแลด้านนี้ได้โดยตรงก็ทำได้ยากเสียเหลือเกิน

หาก HR องค์กรไหนไม่เชี่ยวชาญเรื่องงานเอกสาร หรือต้องการความช่วยเหลือด้านใดด้านหนึ่งล่ะก็ สามารถมาค้นหา HR Outsources ผ่านแพลตฟอร์มของ HREX ได้ ซึ่งจะช่วยเข้ามาอุดช่องว่าง และช่วยขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความมั่นคงแข็งแรง

สามารถมาค้นหาได้แล้วที่นี่

เมื่อโลก HR เปลี่ยนไป HR Admin ยังสำคัญต่อองค์กรหรือไม่ ?

บทสรุป

HR Admin ถือเป็นตำแหน่งงานที่สำคัญต่อองค์กร หากขาดคนทำหน้าที่ HR Admin ไปจะกระทบงานหลายภาคส่วนแน่นอน 

และถึงแม้จะมีความพยายามผลักดันให้คนเป็น HR Admin ต้องก้าวขึ้นมาเป็น HR Business Partner แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า แต่ละองค์กรยังจำเป็นต้องมีคนทำงานเอกสารอยู่เสมอ เพราะเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยนั้น ไม่สามารถช่วยเติมเต็มงานที่มนุษย์ทำได้ 100%

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การทำงานของ HR Admin จากนี้จะต้องไม่ย่ำอยู่กับที่ จริงอยู่ว่าความต้องการขององค์กรยังมี แต่หาก HR ไม่เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ไม่ปรับตัวเข้ากับโลกที่เปลี่ยนไป และยึดติดอยู่แต่กับสิ่งที่ตัวเองรู้ โดยไม่สนใจสิ่งรอบข้างเลย นั่นจะกลายเป็นจุดจบของงาน HR Admin และอาจเป็นจุดจบขององค์กรด้วยเช่นกัน

ไม่ว่าจะเป็น HR ด้านไหน ก็สามารถช่วยยกระดับองค์กรได้ ขอเพียงมีความสามารถ มีความมุ่งมั่น วางเป้าที่ชัดเจน ความสำเร็จก็จะเกิดขึ้นกับตัวเองและกับองค์กรอย่างแน่นอน

เมื่อโลก HR เปลี่ยนไป HR Admin ยังสำคัญต่อองค์กรหรือไม่ ?

Sources:

Abm College

HR University

UK Indeed

JobsDB

Monster

Monster

Climb the Ladder

Tech Target

ผู้เขียน

Paranaphat Anui

Paranaphat Anui

Take Off Toward a Dream

บทความที่เกี่ยวข้อง