Culture Champion ชนะเรื่องธุรกิจยังไม่พอ HR ต้องชนะเรื่องวัฒนธรรมด้วย

HIGHLIGHT

  • Culture Champion หรือ ‘แชมป์เปี้ยนด้านวัฒนธรรม‘ คือคนที่ทำให้ผู้อื่นเชื่อมั่นว่าวัฒนธรรมองค์กรคือเหตุผลที่ทำให้พวกเขามีคุณค่า และอยากทุ่มเทชีวิตเพื่องานอย่างแท้จริง
  • LSA Global กล่าวว่าวัฒนธรรมองค์กรที่ดีส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพการทำงาน โดยคิดเป็นอัตราส่วนถึง 40% กล่าวโดยละเอียดคือวัฒนธรรมองค์กรที่ดีจะทำให้เราได้ผู้นำที่มีความรับผิดชอบ, ได้ลูกทีมที่มีความจงรักภักดี และได้ทีมงานที่หัวก้าวหน้า เต็มไปด้วยพลังสร้างสรรค์
  • Culture Champion ต้องมีคุณลักษณะที่ดี 4 ประการ เรียกว่า 4C ได้แก่ Clarity, Conviction, Consistency และ Courage
  • เราสามารถมีหลายวัฒนธรรมในองค์กรเดียว Culture Champion ควรมีความสามารถในการเน้นย้ำวัฒนธรรมที่เหมาะสม และบังคับใช้ได้กับพนักงานทุกคน

เวลาเราพูดถึงการยกระดับองค์กร เรามักพูดถึงการสร้างผลประกอบการให้ได้มากที่สุด เช่น การหานโยบายใหม่ ๆ มาสร้างความสุขให้กับพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสวัสดิการ, การอบรม หรือแม้แต่การสรรหาบุคลากรยุคใหม่เข้ามาสร้างสรรค์นวัตกรรมให้ก้าวทันโลกยิ่งขึ้น และนอกเหนือจากการยกระดับทางธุรกิจแล้ว สิ่งที่เราต้องยกระดับให้มีประสิทธิภาพควบคู่กันไปก็คือเรื่องของการสร้าง วัฒนธรรมองค์กร (Organizational Culture) ให้แข็งแรง ไม่ตกยุค และเป็นวัฒนธรรมที่พนักงานทุกคนเห็นพ้องต้องกันอย่างชัดเจน ซึ่งอาจฟังดูเป็นเรื่องง่ายบนเนื้อผ้า แต่ในความเป็นจริงนั้น นี่คืองานที่ยากที่สุดงานหนึ่งของ HR เลยทีเดียว

Culture Champion สำคัญอย่างไร และ HR จะสร้างขึ้นในองค์กรได้ด้วยวิธีไหน หาคำตอบไปพร้อมกับเราได้ที่ HREX.asia

Culture Champion คืออะไร

‘แชมป์เปี้ยนด้านวัฒนธรรม‘ คือการทำให้คนเชื่อมั่นว่าวัฒนธรรมองค์กรคือเหตุผลที่ทำให้พวกเขามีคุณค่า และอยากทุ่มเทชีวิตเพื่อองค์กรอย่างแท้จริง โดยบุคคลดังกล่าวจะกลายเป็นผู้นำในการสร้างความเชื่อมั่นด้านวัฒนธรรมต่อพนักงานคนอื่น ซึ่งหากเราสร้างบุคลากรที่มีทัศนคติแบบนี้ได้ ก็จะทำให้เรามีวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแรง

LSA Global ได้ทำการศึกษาและพบว่าวัฒนธรรมองค์กรที่ดีส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพการทำงานโดยคิดเป็นอัตราส่วนได้ถึง 40% กล่าวโดยละเอียดคือวัฒนธรรมองค์กรที่ดีจะทำให้เราได้ผู้นำที่มีความรับผิดชอบ ได้ลูกทีมที่มีความจงรักภักดี ได้ทีมงานที่หัวก้าวหน้า และเต็มไปด้วยพลังสร้างสรรค์ ซึ่งการมี Culture Champion จะเป็นเหมือนการมีผู้ทรงอิทธิพลอยู่ในองค์กร ซึ่งจะช่วยชี้ทางให้พนักงานก้าวไปในทางที่ถูกต้องด้วยการทำให้ดูเป็นตัวอย่าง

กระบวนการทำงานแบบนี้จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องความอ่อนแอของวัฒนธรรมองค์กรซึ่งมักเกิดขึ้นในปัจจุบัน เพราะยุคนี้ถือเป็นยุคที่โลกธุรกิจมีความเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดจนบุคลากรบางส่วนปรับตัวไม่ทัน Culture Champion จึงเป็นอีกปัจจัยด้านการอบรมพนักงานและการพัฒนาบุคลากรให้ตรงจุดมากขึ้น ซึ่งผลลัพธ์ของผู้นำด้านการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมองค์กรควรประกอบด้วยปัจจัยปัจจัยเหล่านี้

  1. สามารถสร้างความเชื่อมั่นในองค์กรให้กับพนักงานคนอื่น ๆ
  2. เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในองค์กรได้จริง
  3. ปฏิบัติตัวอย่างชาญฉลาดมีกาลเทศะ
  4. สามารถเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้อื่นได้
  5. สามารถช่วยให้เพื่อนร่วมงานก้าวผ่านอุปสรรคได้
  6. สามารถสร้างความเชื่อมั่น และกระชับความสัมพันธ์ระหว่างคนในทีมได้
  7. สามารถทำตามเป้าประสงค์ขององค์กรได้
  8. มีทักษะและความรู้มากพอในการบรรลุเป้าหมาย

กล่าวโดยสรุปคือ Culture Champion หมายถึงการสร้างบุคลากร หรือเปลี่ยนแปลงกลุ่มผู้นำให้มีความตระหนักถึงวัฒนธรรมองค์กรอย่างเต็มเปี่ยม และอยากถ่ายทอดมุมมองแบบนั้นไปสู่ผู้อื่น นี่คือเรื่องสำคัญมากในปัจจุบันที่หลายองค์กรไม่ได้อยู่ร่วมกันในออฟฟิศอย่างเดิม ไม่ได้มีความใกล้ชิดอย่างในช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ดังนั้นกระบวนการใดก็ตามที่ทำให้วัฒนธรรมองค์กรแข็งแรงขึ้นเป็นสิ่งที่ HR ต้องให้ความสำคัญ จะหลีกเลี่ยงไปไม่ได้อีกแล้ว

วัฒนธรรมองค์กร คืออะไร ? 6 ปัจจัยที่ช่วยให้วัฒนธรรมองค์กรแข็งแรง

เราจะสร้าง Culture Champion ได้อย่างไร

เมื่อเราได้บุคลากรที่มีคุณลักษณะตรงกับการเป็น Culture Champion แล้ว ให้เราฝึกฝนบุคคลดังกล่าวให้มีทักษะที่เรียกว่า 4C ซึ่งประกอบด้วยหัวข้อดังต่อไปนี้

  1. มีความเชื่อมั่น (Conviction) : ในฐานะของ Culture Champion เราต้องเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่าวัฒนธรรมองค์กรคือจุดตัดสินที่ทำให้องค์กรประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวได้จริง สามารถทำให้คนอยู่กับองค์กรหรือลาออกได้จริง ความเชื่อมั่นตรงนี้จะเป็นภาพสะท้อนให้บุคลากรคนอื่นทำตาม
  2. มีความกล้าหาญ (Courage) : การทำให้พนักงานคนอื่นปรับตัวหรือเปลี่ยนจากสิ่งที่ทำอยู่แล้วไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น Champion Culture ต้องมีความกล้าในการตัดสินใจ ทั้งเรื่องง่าย เรื่องยาก และเรื่องที่มีความสำคัญต่อเพื่อนร่วมงาน การ Lead by Example จึงถือเป็นแนวทางทำงานที่ดีที่สุด
  3. มีความเด็ดขาดชัดเจน (Clarity) : มีงานวิจัยเผยว่า นโยบายที่เด็ดขาดชัดเจนจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นถึง 31% คนที่เป็น Culture Champion จึงต้องอธิบายให้ได้อย่างเด็ดขาดว่าทำไมองค์กรจึงควรเปลี่ยนหรือให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์วัฒนธรรมที่ดีมากขึ้น พวกเขาต้องเน้นย้ำว่าวัฒนธรรมที่ดีไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของบุคลากรอีกด้วย ดังนั้น Culture Champion จะมีงานหนักเป็นพิเศษเพราะต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในประเด็นที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมองค์กรให้กับพนักงานด้วย
  4. ความต่อเนื่อง (Consistency) : ปัญหาของการวางกลยุทธ์ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ก็คือองค์กรมักทำเพียงช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น แล้วพอกระแสเริ่มเจือจางก็จะหันไปใส่ใจกับการพัฒนาด้านอื่นแทน ดังนั้น Culture Champion ต้องเป็นคนที่คอยเน้นย้ำเรื่องนี้อยู่เสมอ ต้องคอยสังเกตว่าคนในองค์กรยังให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อยู่หรือไม่ และคอยหาทางปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้สถานการณ์ทุกอย่างกลับสู่ทิศทางที่ถูกต้องอีกครั้ง

Culture Champion ควรให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมแบบใดบ้าง

ความเข้าใจเรื่องคุณค่าของวัฒนธรรมองค์กรจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งว่าวัฒนธรรมองค์กรคืออะไร มีกี่ประเภท และส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานอย่างไร โดยเราสามารถแบ่งออกเป็น 4 หัวข้อดังนี้

1. วัฒนธรรมของการเป็นกลุ่มก้อน (Clan Culture) : วัฒนธรรมประเภทนี้หมายถึงวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นกับบุคลากร หรือใครก็ตามที่ทำงานร่วมกับองค์กรของเรา วัฒนธรรมรูปแบบนี้จะให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมและความเป็นทีมเวิร์คของเพื่อนร่วมงานเป็นพิเศษ กล่าวได้ว่าหัวหน้าจะต้องคอยตรวจสอบถึงคุณภาพของงานเสมอ และหาคำตอบให้ได้ว่าจะยกระดับทุกคนไปพร้อมพ ๆ กันได้อย่างไร กระบวนการอบรมหรือสั่งสอน (Mentoring) ภายใต้แนวคิดว่า ‘ความสุขของพนักงานต้องมาก่อน‘ จึงเป็นรากฐานที่สำคัญขององค์กรที่มีวัฒนธรรมแบบนี้

วัฒนธรรมองค์กรที่ให้ความสำคัญกับบุคลากรเป็นหลัก จะส่งพลังงานพลังงานในแง่บวกออกไปสู่ลูกค้าด้วย เพราะเมื่อพนักงานมีความสุข พวกเขาก็จะทำงานได้อย่างเต็มที่ สามารถเอาเวลาไปใส่ใจผู้อื่นได้อย่างเต็มที่ ทำให้คนที่ทำงานด้วยรู้สึกว่าตนมีความสำคัญ อยากร่วมมือและช่วยเหลือต่อไปในอนาคต อนึ่งวัฒนธรรมองค์กรแบบนี้เหมาะอย่างยิ่งกับบริษัทขนาดเล็กหรือขนาดกลางที่กำลังเติบโต  แต่อาจเป็นเรื่องยากสำหรับองค์กรขนาดใหญ่ เพราะไม่สามารถสอดส่องดูแลพนักงานทุกคนได้อย่างทั่วถึง

2. วัฒนธรรมให้ความสำคัญกับปัจจัยภายนอก มากกว่าภายใน (Adhocracy Culture) : วัฒนธรรมองค์กรในลักษณะนี้จะทำให้เกิดการแข่งขันอย่างสูงในกลุ่มพนักงานเพราะองค์กรจะให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ มากที่สุด ซึ่งการจะคิดค้นได้นั้นจำเป็นต้องแบกรับความเสี่ยงและความกล้าตัดสินใจเป็นอย่างยิ่ง หากองค์กรไม่มีผู้นำที่แข็งแกร่งเพียงพอ วัฒนธรรมองค์กรแบบนี้ก็จะกลายเป็นดาบสองคมที่ทำลายองค์กรได้ แต่ในทางกลับกันหากเรามั่นใจว่าผู้นำและบุคลากรมี High Risk Management ที่ดี องค์กรของเราก็จะมีโอกาสแซงคนอื่นได้ง่ายกว่าเดิม

3. วัฒนธรรมที่เน้นการสร้างผลลัพธ์และกำไร (Market Culture) : นี่คือวัฒนธรรมที่เหมาะกับองค์กรใหญ่ ๆ ซึ่งตั้งเป้าจะเป็น Market Leader ในสายงานของตนเอง  วัฒนธรรมองค์กรในลักษณะนี้นั้น หัวหน้างานจะใส่ใจพนักงานเป็นพิเศษ มีการวัดผลที่ดีเป็นพิเศษ เพื่อให้แน่ใจว่ากระบวนการทำงานทั้งหมดเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ 

นอกจากนี้องค์กรยังต้องมีความสามารถในการปรับตัวให้ทันกระแสโลก ซึ่งจะทำให้บุคลากรแต่ละคนต้องทำงานหนักกว่าการมีวัฒนธรรมในรูปแบบอื่น ซึ่งหากเราบริหารจัดการไม่ดี มีสวัสดิการที่ไม่เหมาะสม ก็จะนำไปสู่การหมดไฟจนเกิดการลาออกได้ เคล็ดลับสำคัญก็คือการให้ผลตอบแทนที่เหมาะสม เช่นการให้รางวัลเมื่อทำเป้าหมายแต่ละขั้นสำเร็จ เป็นต้น

4. วัฒนธรรมที่เน้นการควบคุมและการมีลำดับขั้น (Hierarchy Culture) : นี่คือพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรที่มีกรอบการทำงานในแต่ละวันอย่างชัดเจน (Day to Day) มีลำดับขั้น มีระบบบังคับบัญชาอย่างเป็นรูปธรรม  วัฒนธรรมองค์กรแบบนี้จะช่วยให้พนักงานรักษามาตรฐานง่ายขึ้น แต่ก็ปิดกั้นโอกาสในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ เพราะไม่ต้องการหลุดจากกรอบเดิมที่วางแผนไว้ วัฒนธรรมองค์กรแบบนี้มักเกิดขึ้นกับหน่วยงานของรัฐหรือบริษัทที่มีสาขาอยู่มาก และจำเป็นต้องกำหนดทิศทางให้ทุกฝ่ายหันไปในทิศทางเดียวกัน

ในที่นี้องค์กรหนึ่งอาจไม่ได้มีวัฒนธรรมเพียงแบบเดียวก็ได้ แผนกแต่ละแผนกสามารถมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันซึ่งหากเป็นแบบนั้น องค์กรก็ต้องมีวัฒนธรรมที่เป็นแก่น (Core Value) เพื่อให้แน่ใจว่าหากมีสถานการณ์ไม่คาดฝันขึ้น เราจะสามารถพาทุกคนกลับมาสู่แนวทางที่ถูกที่ควรได้เร็วที่สุด ซึ่ง Culture Champion จะเป็นคนสำคัญที่ช่วยให้กลไกนี้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

เรียนรู้วัฒนธรรมการทำงาน (Work Culture) ของแต่ละประเทศ เพื่อนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับองค์กรเรา

ยิ่งวัฒนธรรมองค์กรแข็งแรงก็ยิ่งรักษาพนักงานได้ง่ายขึ้น เติบโตอย่างยั่งยืน ไม่ต้องกลัวใคร

เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้นว่าวัฒนธรรมองค์กรสำคัญอย่างไร เราขอให้ข้อมูลจากการวิจัยของ Adobe ซึ่งกล่าวว่าอัตราการหมดไฟของคนยุคมิลเลนเนียลและ Gen Z ได้พุ่งสูงขึ้นมากที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยมีสาเหตุหลักมาจากการมองว่างานซ้ำซากจำเจ (58%) เหนื่อยเกินไป (65%) และที่สำคัญคือรู้สึกว่าตนตกอยู่ในความกดดันตลอดเวลา

การเลือกใช้วัฒนธรรมองค์กรให้เหมาะกับกระบวนการทำงานจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะว่าวัฒนธรรมที่ดีจะทำให้คนอยากมาทำงานรู้สึกว่าคนมีคุณค่า เนื่องจากสิ่งที่ทำในแต่ละวันได้สร้างความแตกต่างที่ยิ่งใหญ่ให้กับองค์กร ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของผลประกอบการ, นวัตกรรมใหม่ ๆ หรือภาพแสดงที่ทำให้เห็นว่าการทำงานหนักของเราได้สร้างความสุขให้กับเพื่อนร่วมงานคนอื่น องค์กรที่ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมองค์กรจึงจะได้เปรียบบริษัทที่ไม่ใส่ใจเรื่องนี้ เพราะหากมีสถานการณ์สำคัญเกิดขึ้น องค์กรที่มีวัฒนธรรมแข็งแรงจะสามารถปรับเข้าสู่สถานการณ์ปกติได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ

Culture Champion แม้จะมีประโยชน์มาก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสร้างขึ้นมา เราขอแนะนำให้คุณปรึกษา HR Consultant ทันทีหากรู้สึกว่าพนักงานมีส่วนร่วมน้อย หรือให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมองค์กรน้อยเกินไป HR ควรเริ่มตั้งคำถามได้แล้วว่าหากต้องการยกระดับผู้นำขององค์กรให้เข้าใจเรื่องนี้จะต้องใช้การอบรมรูปแบบไหนบ้าง ซึ่งหากคุณไม่รู้ว่าจะหาคำตอบที่ไหน เราขอแนะนำให้ใช้แพลตฟอร์ม HR Products & Services ที่รวบรวมผลิตภัณฑ์และบริการ HR ไว้มากที่สุดในเมืองไทย จะเป็นงานแบบไหน ที่นี่มีครบ !

บทสรุป

Culture Champion คือบุคคลที่สำคัญกับโลกธุรกิจยุคใหม่ และเป็นสิ่งที่องค์กรต้องให้ความสำคัญโดยไม่หลงผิดไปคิดว่าพวกเขาไม่มีส่วนสำคัญในการเติบโตขององค์กร เพราะปัญหานี้เคยเกิดขึ้นกับคนที่ดูแลเรื่องความแตกต่างในองค์กร (Cheif Diversity Officer) ซึ่งเป็นพนักงานกลุ่มแรกที่มักถูกไล่ออกเมื่อมีปัญหาด้านเศรษฐกิจ เพราะองค์กรมักมองว่าพวกเขามีความสำคัญน้อยที่สุดกับผลประกอบการหากเทียบกับสายงานอื่น ๆ แต่ความจริงแล้วการมีคนดูแลในเรื่องที่เป็นรายละเอียดแบบนี้ คือสิ่งที่ทำให้องค์กรของเราแตกต่าง, มีโครงสร้างแข็งแรง และสามารถเอาชนะคู่แข่งได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม

เมื่ออ่านบทความนี้จบแล้ว ลองถามตัวเองดูว่าองค์กรของคุณมีวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่งเพียงพอแล้วหรือไม่ และหากคำตอบเป็นในแง่ลบ คุณมีแผนงานอื่นมารองรับหรือเปล่า

การตั้งคำถามนี้อยู่เสมอจะช่วยให้คุณรับมือกับสถานการณ์ได้ง่ายขึ้น และสามารถเติบโตอย่างยั่งยืนได้แน่นอน

Sources

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง