บทเรียนความเป็นผู้นำ ทำไมนักกีฬาที่เก่ง ถึงเป็นโค้ช (Coaching) และครูฝึกสอนที่แย่

HIGHLIGHT

  • หากจะหาใครในบริษัทที่มีหน้าที่คล้ายกับโค้ชกีฬามากที่สุด ก็ต้องเป็น HR นั่นเอง เพราะ HR มีภารกิจสำคัญคือต้องโค้ชชิ่ง (Coaching) หรือจัดฝึกอบรมพนักงาน เพื่อเติมทักษะ ความรู้ความสามารถที่จำเป็นสำหรับการทำงานในปัจจุบัน และเตรียมความพร้อมรับมือการทำงานในอนาคตนั่นเอง แต่ในบางครั้งอาจมอบหมายให้หัวหน้างานในแต่ละฝ่ายเป็นโค้ช หรือเป็นพี่เลี้ยงฝึกอบรบก็ได้เช่นกัน
  • การโค้ช (Coaching) ในทีมกีฬาที่ดี นอกจากต้องมีความกระหายในชัยชนะ ยังต้องมีความรักในการแข่งขัน รู้วิธีสื่อสารกับลูกทีมอย่างถูกต้อง เพื่อดึงศักยภาพที่มีอยู่ในตัวออกมา มีความคิดเปิดกว้าง ไม่หยุดเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เป็นตัวอย่างที่ดี ไปจนถึงการใส่ใจในทุกรายละเอียด เพื่อผลักดันนักกีฬาให้ประสบความสำเร็จ และได้ชัยชนะกลับมา
  • แต่รู้หรือไม่ว่า บ่อยครั้งที่นักกีฬาอาชีพที่เก่ง ๆ จำนวนมาก เมื่อผันตัวไปเป็นโค้ช (Coaching) กลับไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร กลับกันนักกีฬาที่แข่งจริงไม่เก่ง แต่เมื่อคุมทีมอยู่ข้างสนามแล้วกลับประสบความสำเร็จมากกว่า
  • ทั้งนักวิชาการและนักกีฬาเองยังมีความเห็นตรงกันว่า นักกีฬาเก่ง ๆ แต่เป็นโค้ชที่แย่ มักขาดทักษะด้านการโค้ช (Coaching) โดยเฉพาะการสื่อสาร ซึ่งจะทำให้ไม่ประสบความสำเร็จในการทำงาน แต่กลับเป็นสิ่งที่นักกีฬาเก่ง ๆ ที่ผันตัวมาเป็นโค้ชมี 
  • ตัวอย่างของนักกีฬาที่เก่ง แต่โค้ช (Coaching) ไม่ได้เรื่อง หากเป็นกีฬาฟุตบอล หลายคนจะนึกถึง ดิเอโก้ มาราโดน่า และ แกรี่ เนวิลล์ เป็นต้น ส่วนตัวอย่างของนักกีฬาที่ตอนแข่งจริงไม่เก่ง แต่พอเป็นโค้ชแล้วเทพมาก ๆ ก็คือ อาร์แซน เวนเกอร์, บิล เบลิเช็ค (อเมริกันฟุตบอล NFL) และ แพท ไรลี่ย์ (บาสเกตบอล NBA) เป็นต้น 

 

บทเรียนความเป็นผู้นำ ทำไมนักกีฬาที่เก่ง ถึงเป็นโค้ช (Coaching) และครูฝึกสอนที่แย่

ทีมกีฬาที่ประสบความสำเร็จต้องมีหลายองค์ประกอบอยู่ในทีมเดียวกัน ทั้งนักกีฬาที่เก่ง ทำงานกันเป็นทีม และอาจรวมถึงโชคด้วย 

แต่รู้หรือไม่ว่าหากมีนักกีฬาที่ดี แต่ขาดโค้ชที่มีวิธีการโค้ช (Coaching) ที่ดี ทีมกีฬาทั่วโลกย่อมไม่มีทางประสบความสำเร็จ เพราะโค้ชไม่ต่างกับครู เป็นหัวเรือใหญ่คอยคุมทีม คุมการซ้อม มอบแผนการเล่นสุดล้ำ และมีความเป็นผู้นำ (Leadership) ขั้นสูง เพื่อฝึก สอนและนำนักกีฬาไปถึงชัยชนะ 

อย่างไรก็ตาม มีหลายทีมในหลายลีคกีฬาที่พบว่า มีนักกีฬาฝีมือเก่งกาจจำนวนมาก กลับเป็นโค้ชที่แย่ กลับกัน นักกีฬาที่ตอนแข่งจริงอาจไม่เก่งมาก แต่พอคุมทีมอยู่ข้างสนามแล้วกลับประสบความสำเร็จอย่างสูง

เพราะเหตุใด นักกีฬาที่ดีถึงเป็นโค้ชที่แย่ และ HR จำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องการโค้ชชิ่งไปทำไม สำคัญอย่างไร HREX.asia จะพามาหาคำตอบกันในบทความนี้

HR กับบทบาทที่คล้ายโค้ชกีฬา (Coaching) ในองค์กร

เรียนรู้ศาสตร์ความเป็นผู้นำจากกีฬา ทำไมนักกีฬาที่เก่ง ถึงเป็นโค้ช (Coaching) และครูฝึกสอนที่แย่

หากจะหาใครในบริษัทที่มีหน้าที่คล้ายกับโค้ชกีฬามากที่สุด ปฏิเสธไม่ได้ว่าก็ต้องเป็น HR นั่นเอง เพราะ HR มีภารกิจสำคัญคือต้องเป็นผู้จัดเทรนนิ่ง (Training) และโค้ชชิ่ง (Coaching) หรือจัดฝึกอบรมพนักงาน เพื่อเติมทักษะ ความรู้ความสามารถที่จำเป็นสำหรับการทำงานในปัจจุบัน และเตรียมความพร้อมรับมือการทำงานในอนาคตนั่นเอง

ในบางงาน บางองค์กรอาจให้พนักงานในแผนกนั้น ๆ จัดฝึกเทรนนิ่งและโค้ชชิ่งกันเอง โดยให้พนักงานที่มีประสบการณ์ในการทำงานมากกว่า หรือหัวหน้างานเป็นผู้ฝึกพนักงานในฝ่าย โดยเฉพาะพนักงานใหม่ เนื่องจากถือว่าหัวหน้างานเป็นผู้ที่ทำงานมาก่อน จึงมีความรอบรู้ในสายงานที่ทำมากกว่าการให้ HR มาเป็นผู้โค้ชชิ่งแทน ทำให้บางครั้งก็อาจเรียกว่าเป็นการฝึกสอนงานในระบบ พี่เลี้ยง (Mentoring) ก็ได้เช่นกัน

แต่การ Mentoring กับการโค้ชชิ่งมีเส้นแบ่งบาง ๆ อยู่ที่ การ Mentoring จะมุ่งไปที่ระบบงานหรือองค์ความรู้ที่มีอยู่แล้วและให้พนักงานหรือบุคลากรปฏิบัติตาม เช่น การแนะนำการทำงานจะต้องทำตามลำดับหรือวิธีที่พี่เลี้ยงนำเสนอ ส่วนการโค้ชชิ่งจะให้พนักงานสร้างสรรค์วิธีการเป็นของตัวเองมากกว่า เป็นต้น

เรียนรู้จากโค้ชกีฬา (Coaching) HR ที่ดีต้องมีคุณสมบัติอย่างไร

เรียนรู้ศาสตร์ความเป็นผู้นำจากกีฬา ทำไมนักกีฬาที่เก่ง ถึงเป็นโค้ช (Coaching) และครูฝึกสอนที่แย่

โค้ชในทีมกีฬา จริง ๆ แล้วศักดิ์ศรีก็ไม่ต่างจากหัวหน้างานในบริบทของการทำงานบริษัททั่ว ๆ ไป ไม่ใช่ทุกคนจะเป็นโค้ชหรือหัวหน้าที่ดีได้ แต่หัวหน้าหรือโค้ชที่ดี จะต้องมีคุณสมบัติด้านความเป็นผู้นำ (Leadership) หลายประการ นอกจากความกระหายในชัยชนะ ซึ่งควรต้องมีอยู่แล้ว (มิฉะนั้น จะแข่งขันไปทำไม จริงไหม) หากโค้ชคนไหนมีองค์ประกอบเหล่านี้ในการ Coaching จะช่วยขับเคลื่อนทีมหรือองค์กรไปสู่ความสำเร็จอย่างแน่นอน

1. มีความรักในการแข่งขัน หากโค้ชที่มีหน้าที่ฝึกสอนนักกีฬาให้รู้จักชัยชนะ ไม่มีแรงปรารถนาที่จะชนะเสียเอง ย่อมเป็นเรื่องที่เสียเกียรติมาก ๆ ความรักและความกระหายในชัยชนะ อาจสามารถแสดงออกมาได้ทั้งจากคำพูด การกระทำ ไปจนถึงภาษากาย ความกระตือรือร้นที่ออกมาจะเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้คนในทีมพร้อมจะเล่นถึงเป็นถึงตายเพื่อโค้ช เพื่อทีม และเพื่อความรักในกีฬาชนิดนั้น ๆ เช่นกัน

2. รู้วิธีสื่อสารกับลูกทีม โค้ชที่ดีควรรู้ว่ากำลังสื่อสาร พูดคุยอยู่กับใคร และรู้ว่าจะสื่อสารอย่างไรเพื่อเติมเชื้อไฟให้ลูกทีมกระหายในชัยชนะ หากโค้ชอยู่ในทีมกีฬาที่เต็มไปด้วยนักกีฬาอายุ 30 ปี วิธีการโค้ช วิธีการพูดคุยย่อมแตกต่างกับทีมกีฬาที่เต็มไปด้วยเด็กมัธยม

เช่น ไม่จำเป็นต้องทำให้นักกีฬากลัวเหมือนเด็ก แต่ทำให้เข้าใจถึงความเป็นมืออาชีพ ขณะเดียวกันโค้ชที่อยู่ในทีมกีฬาอาชีพ และทีมกีฬาสมัครเล่น ก็จะมีวิธีการเข้าถึงลุกทีมที่แตกต่างกันไปด้วย หายนะมักจะเกิดขึ้นเสมอหากโค้ชเลือกใช้วิธีสื่อสารกับลูกทีมผิดวิธี

3. ไม่หยุดเรียนรู้ โค้ชที่ดีจะไม่หยุดนิ่งที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เพราะบางครั้งวิธีการเพื่อให้ได้ชัยชนะ อาจไม่ได้มีวิธีเดียว หากยึดติดอยู่กับวิธีเดิมๆ อาจเปลี่ยนให้โค้ชที่ชนะบ่อย ๆ กลายเป็นโค้ชที่แพ้บ่อยเสียแทน

4. มีใจเปิดกว้าง กีฬาจำนวนมาก ไม่ใช่กีฬาที่แข่งคนเดียว เล่นคนเดียว แต่ในกีฬาที่เล่นเป็นทีม จำเป็นต้องอาศัยความสมัครสมานสามัคคีของทุกคนในทีม แม้กระทั่งโค้ชเองก็อาจไม่ได้มีคนเดียว องค์ความรู้ก็ไม่ได้มีแบบเดียว โค้ชที่ดีต้องรู้จักยอมรับว่า ใครรู้อะไร ใครไม่รู้อะไร เพื่อจะได้หาคนที่ใช่ไปช่วยเติมเต็มจนประสบความสำเร็จ

5. เป็นตัวอย่างที่ดี ในฐานะของคนที่ฝึกสอนนักกีฬา ทำให้คนเป็นโค้ช จะต้องมีความเป็นผู้นำมากกว่านักกีฬา ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้นักกีฬาได้ทำตาม เช่น หากโค้ชเองพูดอย่างทำอย่าง ปากบอกว่ายึดมั่นเรื่องการตรงต่อเวลา แต่กลับมาสายเสียเอง  ย่อมทำให้นักกีฬาไม่เชื่อฟัง และหมดความน่าเชื่อถือในทันที

6. ให้ความสำคัญกับทุกรายละเอียด ในทุกการแข่งขัน รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ สามารถเปลี่ยนให้ทีมแพ้หรือชนะได้ง่าย ๆ ต่อให้โค้ชจะสนใจในภาพรวมมากกว่า แต่อย่าลืมพิจารณารายละเอียดเล็กน้อยที่แฝงอยู่ด้วย เพราะจะเป็นตัวแปรสำคัญที่นำพาทีมไปู่ชัยชนะครั้งสุดท้ายของการแข่งขัน

7. หาข้อดีของนักกีฬาให้เจอ แล้วผลักดันไปจนสุดทาง คนเป็นโค้ชต้องดูให้ออกว่า นอกจากภาพรวมของทีมมีความเก่งกาจเรื่องใด ยังต้องมองลงไปให้ออกว่า ลูกทีมแต่ละคนมีจุดดีจุดเด่นที่แตกต่างกันอย่างไร เพื่อจะได้สามารถดึงศักยภาพที่แฝงอยู่ออกมาอย่างเต็มที่ และการใช้งานนักกีฬาอย่างถูกวิธี จะเป็นตัวสร้างความแตกต่างให้ทีมชนะได้ไม่ยาก

8. เรียนรู้จากการพ่ายแพ้ให้มากกว่าเรียนรู้จากชัยชนะ ไม่มีนักกีฬา หรือแม้แต่โค้ชคนไหนที่อยากแพ้มากกว่าชนะ แต่เมื่อแพ้แล้ว ใจความสำคัญอยู่ที่ได้เรียนรู้อะไรมากกว่า โค้ชที่ชี้ให้เห็นจุดอ่อน ช่องโหว่จากความพ่ายแพ้ในแต่ละครั้ง จะช่วยให้ทีมกลับมาเดินหน้าได้อย่างแข็งแกร่ง และไม่พลาดในจุดเดิมอีกต่อไป

ทำไมนักกีฬาที่เก่ง ถึงเป็นโค้ช (Coaching) ที่แย่

เรียนรู้ศาสตร์ความเป็นผู้นำจากกีฬา ทำไมนักกีฬาที่เก่ง ถึงเป็นโค้ช (Coaching) และครูฝึกสอนที่แย่

คุณสมบัติที่กล่าวมาข้างต้น เป็นสิ่งที่โค้ชทีมกีฬาทุกคนควรจะมีอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อนักกีฬาที่ผันตัวมาเป็นโค้ชต้องการประสบความสำเร็จ ต่อให้จะมีหลายองค์ประกอบที่ว่ามาแต่ขาดทักษะด้านการสื่อสารล่ะก็ จะเป็นจุดชี้ขาดเลยว่า จะทำให้ไม่ประสบความสำเร็จในการทำงาน

ไซอัน เบย์ล็อค ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา จากมหาวิทยาลัยชิคาโก้ วิจัยพบว่า นักกีฬาเก่ง ๆ มักจะตกม้าตายเวลาเป็นโค้ชอยู่ข้างสนาม เพราะไม่อาจบอกหรือสั่งลูกทีมได้ว่า ทำไมถึงควรทำอย่างนั้นอย่างนี้เพื่อให้สามารถคว้าชัยชนะได้ 

ข้อค้นพบดังกล่าวมาจากการสัมภาษณ์ เธอรีส บริสสัน อดีตนักกีฬาฮ็อคกี้น้ำแข็ง ผู้พาทีมชาติแคนาดาได้แชมป์โลกฮ็อคกี้น้ำแข็ง เมื่อเธอบอกว่า ในกีฬาฮ็อคกี้ช่วงหลัง ๆ นักกีฬาที่เลิกแข่งหลังมีอาชีพที่สุดยอด มักจะเป็นโค้ชในอุดมคติที่แย่ “พวกเขารู้ว่าจะทำอย่างไร แต่ไม่รู้จะสื่อสารไปถึงนักกีฬายังไง”

แถมหากต้องให้เธอเลือกระหว่าง การเอานักกีฬาเก่ง ๆ มาโค้ช กับการหาโค้ชบ้าน ๆ มาโค้ช คนที่เธอจะเลือกอย่างไม่ลังเลเลยก็คือฝ่ายหลังนั่นเอง เพราะส่วนมากจะเป็นโค้ชที่อาศัยประสบการณ์จากการโค้ช (coaching experience) รู้จิตวิทยาในการสื่อสาร รู้วิธีการกระตุ้นทีม ไม่ได้เอาประสบการณ์จากการแข่ง (playing experience) ของตัวเองมาใช้แบบที่นักกีฬาเก่ง ๆ ที่ผันตัวมาเป็นโค้ชจะชอบใช้

ข้อค้นพบนี้ยังสอดคล้องกับคำกล่าวที่ว่า “Those who can, do; those who can’t, teach.” หรือ “คนที่ปฏิบัติไม่เก่ง ก็สามารถสอนคนได้” อีกด้วย

5 ตัวอย่างนักกีฬาที่เก่ง แต่เป็นโค้ชยอดแย่ (Bad Coaching)

1. นักกีฬาฟุตบอล/ผู้จัดการทีมฟุตบอล ดิเอโก้ มาราโดน่า (Diego Maradona)

เมื่อเอ่ยชื่อ ดิเอโก้ มาราโดน่า ต่อให้คนที่เล่นฟุตบอลไม่เป็นก็ต้องเคยได้ยินว่า เขาคือสุดยอดนักฟุตบอลร่างเล็กที่เก่งกาจในระดับ Top 4 ของโลก มีหนึ่งในผลงานชิ้นเอกคือการพาทีมชาติอาร์เจนติน่า ไปได้แชมป์โลก World Cup เมื่อปี 1986 อันลือลั่น

แต่คนจำนวนมากกลับไม่ค่อยคิดถึงเขาในฐานะโค้ช หรือผู้จัดการทีมเสียเท่าไหร่ เพราะผลงานของเขาแย่กว่าเวลาลงเตะเองเยอะไม่น้อย ทั้งการพาทีม Hurracan ทีมในดิวิชั่น 1 ของประเทศบ้านเกิดแพ้บ่อยจนตกชั้นตั้งแต่ฤดูกาลแรกที่รับงาน ไปจนถึงการทำผลงานใน World Cup ปี 2010 ที่ไม่น่าจดจำเท่าที่ควร แม้จะพาทีมหลุดไปถึงรอบก่อนรองชนะเลิศ แต่ฟอร์มของทีมที่เหวี่ยงไปเหวี่ยงมา ไม่คงเส้นคงวา

จึงเป็นเรื่องธรรมกา หากไม่ค่อยมีใครอยากยกย่องเขาว่าเป็นโค้ชที่เก่ง เมื่อเทียบกับการเป็นนักกีฬาระดับพระเจ้า

2. นักกีฬาฟุตบอล/ผู้จัดการทีมฟุตบอล แกรี่ เนวิลล์ (Gary Neville)

หากจัดอันดับนักฟุตบอลที่แฟนทีม Manchester United รักที่สุด ชื่อของ แกรี่ เนวิลล์ สุดยอดกองหลังของทีมผีแดงจะต้องติดอันดับแน่นอน เพราะอดีตกัปตันทีมอย่างเขาคือหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้ แมนยูฯ ในยุคของ เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน (Sir Alex Ferguson) ได้แชมป์หลายสมัย และครองความยิ่งใหญ่ทั้งในยุค 90s มาจนถึง 2000s

อย่างไรก็ตาม พอเขาตัดสินใจทำหน้าที่เป็นผู้จัดการทีมดูบ้าง กับทีม Valencia สถิติกลับไม่สวยเท่าไหร่ เมื่อพาทีมชนะ 10 นัด เสมอ 7 นัด และแพ้ถึง 11 นัด เขาคุมทีมอยู่ได้เพียงปีเดียวก็ตัดสินใจลาออก แต่เพียงแค่นี้ก็ทำให้เขาติดอันดับนักกีฬายอดเยี่ยมที่เป็นโค้ชยอดแย่ไปโดยปริยาย

3. นักกีฬาฮ็อคกี้น้ำแข็ง/หัวหน้าโค้ชฮ็อคกี้น้ำแข็ง เวย์น เกร็ทซ์กี้ (Wayne Gretzky)

หากจะหาสุดยอดนักกีฬาที่เอาชื่อมาทิ้งในฐานะโค้ชแบบน่าเกลียดที่สุด เห็นจะไม่มีใครเละเทะเกินกว่า เวย์น เกร็ตซ์กี้ อีกแล้ว เขาคือตำนานนักฮ็อคกี้น้ำแข็งลีค NHL ประจำทีม Edmonton Oilers ที่ครองสถิติทุกอย่างที่คน ๆ หนึ่งจะครองได้ ทั้งการทำแต้มมากที่สุด จ่ายให้เพื่อนทำแต้มได้มากที่สุด และได้แชมป์กับ Oilers ถึง 4 สมัย จนได้ฉายาว่า The Great One มาครอง

ในปี 2005 เกร็ตซ์กี้ ผู้ยิ่งใหญ่ตัดสินใจรับงานเป็นเฮดโค้ชของทีม Phoenix Coyotes ปัจจุบันใช้ชื่อว่า Arizona Coyotes ทีมหมูน้อยประจำลีค NHL ที่ไม่เคยประสบความสำเร็จเลย และ 4 ฤดูกาลที่เขาคุมทีม ผลที่ออกมาก็คือ ทีมไม่เคยมีสถิติชนะมากกว่าแพ้เลยสักฤดูกาล

ทั้งนี้ หลายคนพยายามมองอย่างเป็นกลางว่า ทีม Coyotes เป็นทีมที่แย่มาก่อน เกร็ตซ์กี้ จะเข้ามาทำงานแล้ว ต่อให้ได้โค้ชเก่งกว่านี้มาก็ยากจะไปได้ไกล แต่ก็ไม่เปลี่ยนแปลงความคิดของผู้คนที่มองว่า เกร็ตซ์กี้ คือสุดยอดนักกีฬาที่โค้ชไมไ่ด้เรื่องไปได้

4. นักกีฬาบาสเก็ตบอล/หัวหน้าโค้ชบาสเก็ตบอล แมจิค จอห์นสัน (Magic Johnson)

สุดยอดตำนานนักบาสเก็ตบอล NBA แห่งทีม Los Angeles Lakers จุดเด่นของ เออร์วิน จอห์นสัน อยู่ที่แม้ตัวจะใหญ่มาก แต่เขามีทักษะในการเลี้ยงบอล คุมบอลไม่แพ้นักบาสเก็ตบอลตัวเล็ก ๆ มือของเขามีเวทมนต์ในการควบคุมบอลเหนือกว่าที่ใครคาดคิด ทำให้ได้สมญานามว่า Magic จอมเวทย์มาครอง

เขาสามารถพา Lakers ได้แชมป์ตั้งแต่ปีแรกที่เขาแข่ง NBA ก่อนปิดอาชีพด้วยการคว้าแชมป์ไปครองถึง 5 สมัย ก่อนตัดสินใจเลิกเล่นกระทันหันในช่วงที่พีคขั้นสุด เนื่องจากป่วยเป็นโรคเอดส์ 

แต่หลังจากนั้นไม่นาน แมจิค ก็กลับมารับงานโค้ชทีม Lakers ในฤดูกาล 1993-94 แต่นำทีมอยู่ได้เพียงแค่ 16 เกม ก็ประกาศออกจากตำแหน่ง ด้วยสถิติทีมที่ย่ำแย่ ชนะเพียง 5 นัด แต่แพ้ 11 นัด และถึงแม้เขาจะไมไ่ด้กลับมาคุมทีมอีกเลย เพราะรู้ดีว่าตัวเองไม่เก่งด้านนี้แต่อย่างใด แต่ผลงานเพียงเท่านั้นก็ทำให้เขาขึ้นชื่อว่าเป็นนักกีฬาขั้นยอด แต่เป็นโค้ชที่แย่ ในทุกสำนักที่มีการจัดอันดับ

5. นักกีฬาบาสเก็ตบอล/หัวหน้าโค้ชบาสเก็ตบอล สตีฟ แนช (Steve Nash)

อีกหนึ่งนักบาสเก็ตบอล NBA ระดับตำนาน การ์ดจ่าย (Point Gard) เจ้าของตำแหน่งผู้เล่นทรงคุณค่า (MVP – Most Valuation Player) 2 สมัยซ้อน เป็นเจ้าของสถิติทำ แอสซิสต์ (Assist) หรือจ่ายบอลให้เพื่อนร่วมทีมทำแต้มได้ถึง 10,335 ครั้ง (เฉลี่ยเกมละ 8.5 ครั้งซึ่งสูงไม่น้อย) 

แต่หลังเลิกเล่น เขาก็เอาชื่อเสียงดี ๆ มาทิ้งด้วยการเป็นหัวหน้าโค้ชทีม Brooklyn Nets เมื่อปี 2020 และเป็นโค้ชที่ไม่เคยมีประสบการณ์โค้ชให้กับทีมไหนมาก่อนด้วย ผลก็คือ แม้ Nets จะมีนักกีฬาเกรด A หมุนเวียนกันเข้าทีมตลอด แต่ก็ไม่เคยทะลุไปถึงรอบชิงเลย แถมฤดูกาล 2022-2023 แนช ยังคุมทีมได้น่าผิดหวัง พาทีมชนะเพียง 2 นัด แพ้ 5 นัด ไม่เพียงแแค่นั้นยังมีปัญหากับผู้เล่นในทีมบ่อยครั้ง ก่อนสุดท้ายจะตัดสินใจออกจากทีม

หลังแนชลาออก ผลปรากฏว่า นับถึงวันที่ 21 ธันวาคม 2022 ทีม Nets ปีนกลับมามีสถิติชนะ 19 นัด แพ้ 11 นัด ภายใต้การนำทีมของเฮดโค้ชชั่วคราว ฌัค วอนส์ (Jacque Vaughn) ซึ่งเคยเป็นอดีตนักกีฬาบาสเก็ตบอล NBA ที่ตอนยังแข่งอยู่ทำแต้มเฉลี่ยแค่ 4.5 แต้มต่อเกมเท่านั้น เป็นตัวอย่างที่ตอกย้ำอย่างดีว่า โค้ชที่เก่ง ไม่จำเป็นต้องเป็นนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จแต่อย่างใด

HR มีข้อสงสัยหรือคำถามเกี่ยวกับประเด็นนี้

Q&A HR Board

Q: การโค้ชคืออะไร การโค้ชสามารถช่วยให้ประสิทธิภาพการทำงานจริงหรือ

จากที่ผมได้ยินมามีคนบอกว่าการโค้ชสามารถช่วยดึงศักยภาพของคนนั้นมาใช้ในการทำงานได้ดีขึ้น  แล้วมีวิธีการอย่างไร ลองมาแลกเปลี่ยนกันนะครับ

A: ผู้บริหารหลายๆคนไม่ค่อยชอบการโค้ช เพราะคิดว่าเป็นการหลอกลวงและไม่จำเป็นและเป็นรายจ่ายที่สิ้นเปลืองสำหรับบริษัทหรือองค์กร

แต่จริงๆแล้วการโค้ชที่ได้ผลสามารถเปลี่ยนทัศนคติของบุคคลหรือพนักงานให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้นจริง เช่น พนักงานที่มาสายหรือไม่ค่อยกระตือรือร้นในการทำงาน การโค้ชที่ดีจะสามารถชี้ให้เห็นว่าการที่คุณมาทำงานก่อนคนอื่นนั้นมันมีข้อดีมากมายเช่น สามารถสำรวจหน้างานหรือตรวจงานที่คั่งค้างและยังเป็นหูเป็นตาให้กับบริษัทได้

,,, (คลิกดูคำตอบทั้งหมด👇)

4 ตัวอย่างนักกีฬาที่ไม่เก่ง แต่เป็นโค้ชชั้นยอด (Good Coaching)

1. นักกีฬาฟุตบอล/ผู้จัดการทีมฟุตบอล อาร์แซน เวนเกอร์ (Arsène Wenger)

สมัยเป็นนักกีฬา อาร์แซน เวนเกอร์ เป็นนักฟุตบอลที่ค่อนข้างโนเนม บางคนอาจไม่รู้เลยว่าเขาเคยค้าแข้งมาก่อน แต่ด้วยโชคชะตาและความสามารถผสมผสานกัน เขากลับประสบความสำเร็จมหาศาลในฐานะผู้จัดการทีมฟุตบอล Arsenal FC จากการคุมทีมช่วงปี 1996-2018 โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงกลางยุค 2000s ที่ทำให้สโมสรปืนใหญ่แทบจะไร้เทียมทาน ได้แชมป์แทบทุกแชมป์ และพร้อมชนกับทุกทีมที่ขวางหน้า

ปรัชญาการทำงานของ เวนเกอร์ อยู่ที่การเรียนรู้จากความผิดพลาด พยายามคิดนอกกรอบ และคิดบวก ที่สำคัญ เขาพยายามคัดเลือกคนที่ใช่เข้ามาในองค์กรเพื่อขับเคลื่อนทีมไปสู่เป้าหมายให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นนักเตะรุ่นเยาว์ นักเตะรุ่นใหญ่ ไปจนถึงตำแหน่งอื่น ๆ ด้วยความคิดว่าหากเลือกคนที่เหมาะสมกับงาน ก็จะช่วยให้ทีมประสบความสำเร็จได้นั่นเอง

2. นักกีฬาอเมริกันฟุตบอล/หัวหน้าโค้ชอเมริกันฟุตบอล บิล เบลิเช็ค (Bill Belichick)

หากถามว่าใครคือเฮดโค้ช หรือหัวหน้าโค้ชทีมอเมริกันฟุตบอล NFL ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คำตอบจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก บิล เบลิเช็ค ผู้พาทีม New England Patriots ที่มีควอเตอร์แบ็คสุดยอดตลอดกาลอย่าง ทอม เบรดี้ (Tom Brady) ได้แชมป์ Super Bowl ไปครองถึง 6 สมัยช่วงปี 2001-2019 โดยในช่วงเวลานั้นไม่มีปีไหนที่ทีมมีสถิติแพ้มากกว่าชนะเลย 

จริง ๆ แล้ว เบลิเช็ค ไม่ได้เป็นนักกีฬาอเมริกันฟุตบอลมืออาชีพ เขาเคยแข่งในระดับมหาวิทยาลัยเท่านั้น และเลือกจะเล่นกีฬาลาครอสเป็นกีฬาอาชีพมากกว่า แต่สุดท้ายเขาตัดสินใจเรียนรู้เรื่องการโค้ชอเมริกันฟุตบอล ค่อย ๆ ไต่เต้าขึ้นมาจากตำแหน่งเล็กสุด เรียนรู้จากยอดโค้ชจอมเฮี้ยบอย่าง บิล พาร์เซลล์ (Bill Parcells) ในทีม New York Giants และสร้างชื่อเสียงจนได้ชื่อว่าเป็นกูรูเกมรับ (Defense) อันดับต้น ๆ ของ NFL

แต่ก่อนที่ เบลิเช็ค จะโค้ชทีม Patriots เขาเคยขึ้นมาเป็นหัวหน้าโค้ชครั้งแรกกับทีม Cleveland Browns แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร จนกระทั่งพอจับคู่กับ เบรดี้ ความไร้เทียมทานก็เกิดขึ้น ภายใต้ปรัชญาการทำงานที่ว่า “Do Your Job” ที่ เบลิเช็ค จะเน้นย้ำให้นักกีฬาแต่ละคน รับผิดชอบหน้าที่ของตัวเองให้เต็มที่ที่สุดเสมอ ซึ่งเป็นปรัชญาแห่งความสำเร็จที่เขายังคงใช้มาจนถึงปัจจุบัน

3. นักกีฬาบาสเก็ตบอล/หัวหน้าโค้ชบาสเก็ตบอล แพท ไรลี่ย์ (Pat Riley)

หาก LA Lakers คือสุดยอดทีมภายใต้การจ่ายบอลและการเล่นอันชาญฉลาดของ แมจิค จอห์นสัน อีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้ Lakers กลายเป็นทีมสุดหวือหวาก็มาจากการคุมทีมโดย แพท ไรลี่ย์ นี่เอง

จริง ๆ แล้วสมัยที่ ไรลี่ย์ เป็นนักกีฬาบาสเกตบอลอาชีพ เขาเคยได้แชมป์กับทีม Lakers เมื่อปี 1972 ด้วย แต่ส่วนใหญ่แล้วเขามักจะเป็นตัวสำรองเสียมากกว่า อย่างไรก็ตาม ไรลี่ย์ สนใจเรื่องการโค้ช และเรียนรู้ศาสตร์การโค้ชจาก บิล ชาร์แมน (Bill Sharman) โค้ชของเขาที่ Lakers นั่นเองที่สามารถคุมความประพฤติลูกทีมที่มีพฤติกรรมนอกลู่นอกทาง ให้สามารถปล่อยของในสนามแข่งอย่างสุดยอด 

บทเรียนนี้เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เขาสามารถคุมทีม Lakers ที่มีสตาร์ดังในทีมมากมาย ทั้ง แมจิค จอห์นสัน, คารีม อับดุล-จับบาร์ (Kareem Abdul-Jabbar), ไมเคิล คูเปอร์ (Michael Cooper), เจมส์ เวิร์ธตี้ (James Worthy) และอีกหลายคน ที่ต่างมีเอกลักษณ์ส่วนตัวคนละทาง แต่เมื่ออยู่ในสนามแข่งแล้ว ไรลี่ย์ ประสานพวกเขาให้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจนยากที่ใครจะต้านทานได้

4. นักกีฬาอเมริกันฟุตบอล/หัวหน้าโค้ชอเมริกันฟุตบอล ชัค โนลล์ (Chuck Noll)

ย้อนกลับไปในยุค 1970s หลายปีก่อนที่ บิล เบลิเช็ค จะเป็นเฮดโค้ชที่ประสบความสำเร็จที่สุดใน NFL ชัค โนลล์ เคยเป็นสุดยอดเฮดโค้ชหัวเห็ดที่พาทีม Pittsburgh Steelers ได้แชมป์ Super Bowl ไปครองถึง 4 สมัยในช่วงปี 1974-1979

โนลล์ เคยลงแข่งอเมริกันฟุตบอลในตำแหน่ง การ์ด (Guard) และ ไลน์แบ็คเกอร์ (Linebacker) ให้กับทีม Cleveland Browns อยู่หลายปี เขาเคยได้แชมป์ NFL Champions ในปี 1954 และ 1955 ด้วย แต่ไม่ค่อยมีบทบาทสำคัญมากเท่าไหร่บนสนาม 

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของ โนลล์ เมื่อทำหน้าที่หัวหน้าโค้ช เกิดจากการให้ความสำคัญกับพื้นฐานที่ดีของนักกีฬา ไม่จำเป็นต้องเล่นหวือหวาก็เอาชนะได้ และคอยสร้างแรงบันดาลใจ เติมไฟในการแข่งขันให้กับลูกทีม ซึ่งไม่จำเป็นต้องมาจากการพูดกระตุ้น แต่ผ่านการกระทำจริงที่เห็นผล 

สำรวจเครื่องมือการโค้ชชั้นยอด (Coaching) เรียนรู้จากกีฬา ช่วยองค์กรเติบโตอย่างไร

การโค้ชมีความสำคัญต่อทุกองค์กร ต่อให้จะไม่ใช่องค์กรด้านกีฬาก็ตาม เพราะการโค้ชจะช่วยฝึกฝนให้พนักงานในองค์กรมีความสามารถเพิ่มขึ้น และช่วยให้องค์กรประสบความสำเร็จในธุรกิจที่ทำ

แต่หากบริษัทไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นการโค้ชอย่างไร ให้องค์กรเดินหน้าต่อไปได้ตามที่ต้องการ สามารถค้นหาและสำรวจเครื่องมือด้าน Coaching หรือ ผลิตภัณฑ์และผู้ให้บริการการฝึกอบรมผ่านการโค้ชได้ผ่านแพลตฟอร์ม HREX.asia แพลตฟอร์มเดียวในประเทศไทยที่รวบรวมผลิตภัณฑ์และบริการต่าง ๆ ด้าน HR ที่จะช่วยขัดเกลาฝีมือของพนักงาน และช่วยผลักดันองค์กรให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคง

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์และบริการด้าน Coaching ใน HREX.asia มีหลายผลิตภัณฑ์ให้สำรวจและเลือกใช้ หากใครอยากรู้ว่าแต่ละผลิตภัณฑ์จะเหมาะสมกับการนำมาปรับใช้ในองค์กรได้อย่างไร สามารถสำรวจเครื่องมือแต่ละอย่างได้ทางลิงก์นี้

บทสรุป

HR ในแต่ละองค์กรน่าจะรู้ เข้าใจ และมองเห็นความสำคัญของการโค้ชชิ่ง ฝึกอบรมพนักงาน แล้วว่าจะทำให้สามารถนำองค์ความรู้ที่ใหม่ ทันสมัยไปปรับใช้ในองค์กร และช่วยพาองค์กรไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างไร การพาองค์กรประสบความสำเร็จก็ไม่ต่างกับการพาทีมกีฬาได้ชัยชนะครั้งสุดท้ายของฤดูกาล และได้แชมป์มาครองแต่อย่างใดด้วย

ทั้งนี้ ถึงแม้นักกีฬาที่เก่งกาจอาจถูกมองว่าเป็นโค้ชที่แย่อยู่บ่อยครั้ง แต่ก็ต้องตระหนักด้วยว่ามันไม่ใช่สิ่งที่แน่นอนเสมอไป เพราะไม่มีใครที่จะประสบความสำเร็จและล้มเหลวไปได้ทุกครั้งไป หากนักกีฬาที่เก่งกาจแต่เป็นโค้ชที่ล้มเหลวเหล่านั้นมีใจเปิดกว้าง พร้อมเรียนรู้ที่จะปรับตัว ไม่ยึดติดกับความสำเร็จ ไม่ยึดถือตัวเองเป็นศูนย์กลาง ก็สามารถช่วยให้กลับมาเป็นโค้ชที่ประสบความสำเร็จ ได้ใจลูกทีม และได้ชัยชนะกลับมาอย่างแน่นอน

CTA HR Products & Services

ผู้เขียน

Paranaphat Anui

Paranaphat Anui

Take Off Toward a Dream

บทความที่เกี่ยวข้อง