3 Training พื้นฐานที่จะทำให้การพัฒนาบุคลากรมีประสิทธิภาพมากขึ้น

HIGHLIGHT

  • การพัฒนาบุคลากร (Training) หมายถึง กระบวนการที่มุ่งจะเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ทักษะความรู้ความสามารถ และทัศนคติของบุคลากรทุกระดับให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • มีวิธีการพัฒนาบุคลากร (Training) หลายแบบ เช่น การสัมมนา, On the Job Training และ การพัฒนาด้วยตัวเอง ซึ่งมีข้อดี–ข้อเสียแตกต่างกัน
  • หากไม่มีเวลาพัฒนาบุคลากร (Training) ด้วยตัวเอง HR สามารถค้นหาผู้ให้บริการจากภายนอกมาช่วยพัฒนาได้ โดยค้นหาได้จาก HREX

เพื่อให้องค์กรได้เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากการสรรหาบุคลากรเข้ามาทำงานแล้ว การพัฒนาบุคลากร (Training) ภายในองค์กรก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สามารถทำได้

ในปัจจุบันองค์กรส่วนใหญ่เริ่มหันมาให้ความสนใจกับการพัฒนาบุคลากรภายในองค์กรกันมากขึ้น และการจะหาวิธีในการพัฒนาให้เหมาะสมกับองค์กรได้นั้นเราจะต้องมีการกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนเพื่อมุ่งไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายขององค์กร หากไม่มีการกำหนดเป้าหมายอาจจะทำให้การพัฒนาบุคลากรไม่ได้ผลตามที่ต้องการ

ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด เราควรต้องศึกษาถึงวิธีการพัฒนาบุคลากรให้มีความเหมาะสมกับองค์กร

Contents

เป้าหมายของการพัฒนาบุคลากร (Training)

HR Trends 2022 สำรวจ 9 เทรนด์ทรัพยากรบุคคลที่จะเปลี่ยนไปในปี 2565

การพัฒนาบุคลากร (Training) หมายถึง กระบวนการที่มุ่งจะเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ทักษะความรู้ความสามารถ และทัศนคติของบุคลากรทุกระดับให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อบุคลากรที่ได้รับการพัฒนาแล้วจะปฏิบัติงานได้อย่างเต็มที่บรรลุเป้าหมายขององค์กร

เมื่อเราได้ทราบความหมายของการพัฒนาบุคลากรแล้ว หลายคนคงเริ่มเห็นความสำคัญและเริ่มสงสัยว่าเป้าหมายในการพัฒนาบุคลากรคืออะไร

เชื่อว่าเป้าหมายในการพัฒนาจะแตกต่างไปตามแต่ละองค์กร เราจึงอยากเสนอจุดประสงค์ของการพัฒนาบุคลากรจากหลายๆมุมมอง ดังนี้

เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร เมื่อองค์กรมีการขยายตัวหรือต้องการปรับลดขนาดลง องค์กรจึงต้องมีจัดการพัฒนาบุคลากรเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น เกิดความคล่องตัวในการทำงานมากยิ่งขึ้น

เพื่อให้พนักงานพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงจากภายนอกองค์กร เช่น การเปลี่ยนแปลงทางสภาพสังคม เศรษฐกิจ การเมือง เป็นต้น

โดยปกติแล้วพนักงานแต่ละคนจะมีความคิดที่แตกต่างกันไป การพัฒนาบุคลากรจึงสามารถใช้เป็นเครื่องมือละลายพฤติกรรมพนักงานให้มีความคิดไปในทิศทางเดียวกันได้

เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี มีความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการมากขึ้น เช่น เครื่องจักร หรือคอมพิวเตอร์มีความทันสมัยมากขึ้น การพัฒนาให้พนักงานมีความรู้ความเข้าใจ และชำนาญในการใช้เทคโนโลยีเหล่านั้น จะทำให้การทำงานของพนักงานมีประสิทธิภาพและเร็วมากขึ้น

จะเห็นได้ว่า เป้าหมายในการพัฒนาบุคลากร ก็คือการเพิ่มประสิทธิภาพของพนักงานให้สูงที่สุด เพื่อทำให้กลยุทธ์ที่บริษัทวางเอาไว้ประสบผลสำเร็จ ซึ่งวิธีการในการพัฒนาบุคลากรจะแตกต่างกันไปตามความต้องการของแต่ละบริษัท

3 วิธีการพัฒนาบุคลากร (Training) แบบพื้นฐาน

เมื่อเราเข้าใจเป้าหมายของการพัฒนาบุคลากรแล้ว ต่อไปเราจะมาแนะนำวิธีการพัฒนาบุคลากรให้เหมาะสมกับแต่ละบริษัท มีดังนี้

1. การอบรมสัมมนา

การอบรมสัมมนา คือกระบวนการที่ทำให้ผู้เข้ารับการอบรมเกิดการเรียนรู้ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งขึ้นมา เพื่อเพิ่มพูนหรือพัฒนาสมรรถภาพในด้านต่างๆตลอดจน การปรับปรุงพฤติกรรม อันนำมาซึ่งการแสดงออกที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้

การอบรมสัมมนายังเป็นวิธีที่ทำให้พนักงานสามารถกระตุ้นและเพิ่มแรงจูงใจในการเรียนรู้ให้แก่ซึ่งกันและกันได้ นอกจากนี้การอบรมสัมมนามีประสิทธิภาพกับการพัฒนาที่ต้องการให้พนักงานได้เรียนรู้พื้นฐานหรือต้องการให้การอบรมเป็นไปในระดับเดียวกัน

เพื่อให้การอบรมสัมมนามีประสิทธิภาพสูงสุด ควรมีการค้นหาปัญหาที่เกิดขึ้นในบริษัทเพื่อพิจารณาให้มั่นใจว่า ปัญหาเกิดขึ้นเพราะอะไร จำเป็นต้องมีการอบรมสัมมนาหรือไม่ และแจ้งให้พนักงานเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ที่จัดการอบรมสัมมนาขึ้น เพื่อให้พนักงานเข้าใจว่าบริษัทต้องการบรรลุวัตถุประสงค์เรื่องอะไรบ้าง เช่น การเพิ่มความรู้และทักษะในการทำงาน เป็นต้น หากไม่มีการแจ้ง พนักงานก็อาจจะไม่รู้สึกถึงความจำเป็นของการอบรมสัมมนา

2. OJT(On-the-Job Training)

On-the-Job Training (การฝึกอบรมในงาน) คือการเรียนรู้งานโดยการสังเกตุการทำงานของพนักงานที่มีความชำนาญและลงมือปฏิบัติจริง และคอยรับฟีดแบคจากหัวหน้า

ซึ่งจะต่างจากการฝึกอมรมแบบแรก เพราะการฝึกแบบ OJT จะเป็นการฝึกแบบตัวต่อตัว ให้พนักงานคนนั้นได้เรียนรู้งานจากรุ่นพี่โดยตรง ได้ทำงานจริง เมื่อเจอปัญหาก็แก้ไขพร้อมเรียนรู้วิธีในการจัดการกับปัญหานั้นๆไปด้วย

ลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของ OJT คือการที่นำ PDCA Cycle (วงจรการควบคุมคุณภาพ) ได้แก่ Plan (วางแผน) Do (ปฏิบัติตามแผน) Check (ตรวจสอบการปฏิบัติตามแผน) Act (ปรับปรุงแก้ไข) เข้ามาปรับใช้ในการพัฒนาบุคลากร

สิ่งสำคัญในการฝึกแบบ OJT คือ การเลือกผู้ชี้แนะ หากเลือกพนักงานที่ไม่สามารถจัดการได้ดีพอ อาจจะทำให้การฝึกอบรมไม่มีประสิทธิภาพ และไม่เป็นไปตามที่ต้องการ

ถ้าหากอยากให้การฝึกอบรมแบบ OJT มีประสิทธิภาพตามเป้าหมาย ควรมีการเตรียมตัวให้กับผู้ชี้แนะล่วงหน้า หรือจัดการอบรมสัมมนาสำหรับผู้ชี้แนะโดยเฉพาะก่อน

3. การพัฒนาด้วยตนเอง

การพัฒนาด้วยตนเอง คือการกระตุ้นให้พนักงานมีความต้องการพัฒนาด้วยตนเอง โดยการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับงานเพิ่มเติม หรือการใช้ E-Learning เรียนรู้ด้วยตนเอง เป็นต้น

การฝึกอบรมแบบนี้จะแตกต่างจากทั้งสองแบบข้างต้นโดยสิ้นเชิง เพราะไม่ใช่การอบรมที่ต้องมีผู้บรรยายมาคอยให้ความรู้หรือ ผู้ชี้แนะมาคอยบอกงาน แต่การพัฒนาด้วยตนเองคือการทำให้พนักงานเกิดความรู้สึกอยากเรียนรู้ พัฒนาศักยภาพด้วยตัวเองได้ ซึ่งการฝึกแบบนี้จะทำให้พนักงานมีแรงจูงใจในการทำงานเพิ่มขึ้นในระยะยาวได้อีกด้วย

และเพื่อให้พนักงานรู้สึกอยากพัฒนาตนเอง ควรสร้างสิ่งแวดล้อมหรือบรรยากาศที่เหมาะสมในการศึกษาหาความรู้ให้กับพนักงานเช่น การทำ E-Learning หรือจัดให้มีการพูดคุยเกี่ยวกับความก้าวหน้าในสายอาชีพ เป็นต้น

ข้อดีและข้อเสียของวิธีการพัฒนาบุคลากร

ข้อดีของการอบรมสัมมนา

อบรมให้พนักงานเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน

แทนที่จะฝึกอบรมเป็นรายบุคคล การฝึกเป็นกลุ่มจะทำให้พนักงานเข้าใจการทำงานและวัตถุประสงค์ของบริษัทไปในทิศทางเดียวกัน สามารถพัฒนาทักษะและความเข้าใจของพนักงานให้ไปในทิศทางเดียวกันได้

สิ่งที่เหมาะกับการฝึกแบบนี้คือ มารยาท ศีลธรรมที่พึงมีในการเข้าสังคม หรือพบปะกับผู้อื่น ตัวอย่างเช่น การแลกนามบัตร การพูดคุยกับลูกค้าในการทำงาน เป็นต้น

ทำให้พนักงานได้รับแรงบันดาลใจจากเพื่อนร่วมการอบรมสัมมนา

ในการอบรมสัมมนาโดยส่วนมากมักจะแยกตามตำแหน่งไม่ก็ประเภทของงาน การฝึกแบบนี้จึงเหมาะกับบริษัทที่มีสาขาหรือสำนักงานหลายแห่ง เพราะสามารถให้พนักงานที่ไม่ค่อยได้เกี่ยวข้องกันมาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือไอเดียเกี่ยวกับงานของตนเองได้

ซึ่งด้วยการพุดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการทำงานกับคนที่อยู่ในตำแหน่งเดียวกันจะทำให้พนักงานได้ไอเดียใหม่ๆ และแรงจูงใจจากเพื่อนๆที่เข้าอบรมด้วยกัน เป็นการเพิ่มความกระตือรือร้นในการทำงานได้ดี และเป็นการเปิดโอกาสให้พนักงานได้มาร่วมพูดคุยปรึกษาปัญหาในการทำงานร่วมกันด้วย

ดังนั้นหากต้องการอบรมสัมมนาให้พนักงานจำนวนมากเข้าร่วมฟัง ลองใช้วิธีการให้พนักงานในตำแหน่งเดียวกันแต่ไม่เคยทำงานด้วยกันมาเข้าร่วมการอบรม เผื่อจะทำให้พนักงานของคุณได้ไอเดียใหม่ๆและแรงจูงใจดีๆในการทำงาน

ห่างจากการทำงานสักพักทำให้มีสมาธิในการทำงานเพิ่มมากขึ้น

ข้อดีอีกอย่างของการอบรมสัมมนาคือ การได้ออกห่างจากการทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ หรือในออฟฟิศสักระยะนึงทำให้มีเวลาในการคิดเรื่องต่างๆ มากขึ้น

เช่น เรื่องการทำงานหรือความก้าวหน้าของงานที่ทำในอนาคต หรือการทบทวนวิธีการทำงานจากมุมมองที่แตกต่างไปจากเดิม

การอบรมสัมมนาก็คล้ายกับการที่ให้พนักงานได้คิดทบทวนเกี่ยวกับการทำงานที่ผ่านมาของตนเองและ หาไอเดียใหม่ๆ ไปปรับใช้กับการทำงานต่อจากนี้ และการอบรมสัมมนายังทำให้พนักงานได้เข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของบริษัทมากขึ้นและมีแรงจูงใจในการทำงานเพิ่มมากขึ้น

ข้อเสียของการอบรมสัมมนา

เลือกเนื้อหาและผู้บรรยายให้ตรงตามที่ต้องการได้ยาก

หากไม่มีบุคลากรที่จะทำการฝึกอบรมภายในองค์กร บริษทสามารถใช้บริการเอาท์ซอร์สหรือบริการตัวแทนเพื่อดำเนินการฝึกอบรมได้ ซึ่งถ้าหากเลือกไม่ดีก็จะทำให้การอบรมนั้นเสียทั้งเวลาและงบประมาณไปโดยไม่ได้ประโยชน์กลับมาเลย ทำให้การหาบริการอบรมสัมมนาที่เหมาะกับบริษัทนั้นทำได้ยาก

การแก้ปัญหานี้ทำได้โดย การหาปัญหาที่จำเป็นต้องฝึกอบรมให้กับพนักงานและกำหนดวัตถุประสงค์ให้ชัดเจนแล้วค่อยกำหนด และดำเนินการฝึกอบรมให้กับพนักงาน หรืออาจจะอ้างอิงจากผลการประเมินจากการอบรมครั้งที่ผ่านๆมาเพื่อเลือกผู้ให้บริการสัมมนา

แต่อย่าลืมว่ายุคสมัยเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา สิ่งที่เคยทำแล้วได้ผลดีในอดีต อาจจะทำแล้วได้ผลตรงกันข้ามในปัจจุบัน เราแค่อาจจะนำผลที่ได้มาใช้อ้างอิงเพื่อหาทางมาปรับใช้กับในปัจจุบัน

การฝึกอบรมที่จัดขึ้นอาจไม่ใช่เพื่อพนักงาน

ผู้รับผิดชอบการอบรมและพนักงานที่เข้ารับการอบรม อาจมีความเข้าใจในวัตถุประสงค์ของการอบรมแตกต่างกัน เมื่อเข้าใจไม่ตรงกันทำให้ ประสิทธิภาพที่ควรจะได้จากการอบรมก็ลดลง พนักงานเกิดความไม่เชื่อถือในบริษัท

เพื่อป้องกันความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ผู้รับผิดชอบการอบรมควรแจ้งวัตถุประสงค์ของการอบรมให้ชัดเจน และสื่อสารทำความเข้าใจกับพนักงานที่เข้ารับการอบรม รวมไปถึงรับฟังความคิดเห็น หรือสิ่งที่พนักงานต้องการด้วย นอกจากนั้นบอกพนักงานให้รู้ถึงจุดมุ่งหมายของการอบรมนั้นๆว่า ต้องการบรรลุวัตถุประสงค์ด้านใดบ้าง เช่น ด้านความรู้ ทักษะในการทำงาน หรือ ด้านทัศนคติ เป็นต้น

เพราะการฝึกอบรมแบบกลุ่ม ทำให้พนักงานไม่ค่อยใส่ใจ

เพราะไม่ใช่การฝึกอบรมแบบตัวต่อตัวเลยทำให้พนักงานที่เข้ารับการอบรม ไม่ค่อยใส่ใจในการอบรมเท่าที่ควรจนไม่ได้เรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่จัดการอบรมขึ้นมา

เพื่อให้พนักงานมีสมาธิและใส่ใจกับการอบรมมากขึ้น ผู้รับผิดชอบควรแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นของการอบรม และชี้แจงให้พนักงานได้รู้ว่าการอบรมนั้นส่งผลกับตัวของพนักงานเองอย่างไร เมื่อพนักงานเข้าใจและรับรู้ในความสำคัญของการอบรมแล้ว พวกเขาก็จะใส่ใจกับการอบรมมากขึ้น

ข้อดีของ OJT(On-The-Job Training)

การฝึกโดยเรียนรู้จากการทำงานจริง ทำให้พนักงานพัฒนาทักษะในการทำงานได้ดีขึ้น

การฝึกโดยเรียนรู้จากการทำงานจริง (On-The-Job Training)ทำให้พนักงานสามารถพัฒนาทักษะในการทำงานได้ง่ายมากขึ้น จากการสอนของหัวหน้า หรือผู้ที่ได้รับหน้าที่เป็นผู้ชี้แนะ และการเรียนรู้โดยใช้ PDCA Cycle

พนักงานสามารถเรียนรู้ทักษะในการทำงานผ่านการฝึกอบรมแบบเข้าฟังการบรรยายได้ แต่การฝึกจากสถานการณ์จริงจะทำให้พนักงานเข้าใจและคุ้นชินวิธีการทำงานมากกว่า ทำให้เมื่อต้องทำงานจริงด้วยตัวเองก็สามารถรับมือกับเหตุการณ์ต่างๆได้ดีมากขึ้น

สามารถฝึกอบรมให้ตรงกับพนักงานแต่ละคนได้

การฝึกอบรมแบบการบรรยายหรือสัมมนาเป็นการฝึกแบบกลุ่มซะส่วนมากเลยไม่ได้มุ่งเน้นไปที่ตัวบุคคล แต่การฝึกแบบ OJT สามารถมุ่งเน้นไปที่ตัวพนักงานคนนั้นได้เลย ทำให้สามารถโฟกัสกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้น และสามารถรปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์นั้นๆได้

ในการฝึกจากการทำงานจริง บริษัทสามารถจัดการกับพนักงานที่รับการฝึกได้ง่าย เรื่องไหนที่เขาทำได้ดีหรือเรื่องไหนที่เขายังต้องปรับปรุงอยู่ อะไรคือสิ่งที่ทำให้เขามีแรงจูงใจในการทำงานมากขึ้น ถ้าสามารถวิเคราะห์สาเหตุปัจจัยเหล่านี้ได้มากขึ้น การอบรมก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นส่งผลดีต่อทั้งพนักงาน และบริษัทเอง

ไม่เปลืองค่าใช้จ่าย เพราะเป็นการฝึกอบรมภายในบริษัท

การฝึกอบรมแบบ OJT เป็นการฝึกที่หัวหน้าหรือผู้ทำหน้าที่ชี้แนะเป็นผู้ฝึกอบรมให้แก่พนักงานเอง จึงไม่จำเป็นต้องไปจ้างหรือใช้บริการฝึกอบรมจากภายนอก ทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายในการพัฒนาบุคลากรไปได้ หรือต่อให้มีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ก็ยังน้อยกว่าการต้องไปใช้บริการจากภายนอกบริษัท

ข้อเสียของ OJT(On-The-Job Training)

ผลการอบรมที่ได้นั้นแตกต่างกันไปตามผู้ชี้แนะ

การฝึกอบรมแบบ OJT เป็นการอบรมที่จะได้ผลดีหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับคนที่ทำหน้าที่เป็นผู้ชี้แนะ พนักงานที่รับการอบรมจะมีวิธีการทำงานที่คล้ายกับผู้ชี้แนะ

ถ้าผู้ชี้แนะเป็นคนที่มีความละเอียดในการทำงาน และพนักงานที่ฝึกเป็นคนที่เก็บรายละเอียดดีเช่นเดียวกัน การอบรมก็เป็นไปอย่างราบรื่น แต่ถ้าพนักงานที่รับการอบรมเป็นคนที่มีความแตกต่างกับผู้ชี้แนะโดยสิ้นเชิง อาจจะทำให้บรรยากาศในการฝึกแย่ลง จนส่งผลกับประสิทธิภาพในการอบรมได้

และแม้ว่าจะสอนด้วยเนื้อหาเดียวกัน แต่ประสบการณ์รวมไปถึงความรู้ของผู้ชี้แนะจะมีส่วนสำคัญที่จะทำให้ผลของการอบรมแตกต่างกันไป

วิธีการรับมือก็คือการจัดอบรมให้กับผู้ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ชี้แนะ เพื่อให้พวกเขาเกิดความเข้าใจที่ตรงกันทั้งเรื่องที่ควรระมัดระวังในการฝึกให้กับพนักงานหรือวิธีการสอน เป็นต้น

ผู้ชี้แนะไม่สามารถสอนเรื่องที่นอกเหนือความสามารถ ความรับผิดชอบของตนได้

เป็นเรื่องยากที่คนเราจะสอนผู้อื่นในเรื่องที่เราไม่รู้หรือไม่ชำนาญ การจะส่งต่อไอเดียหรือความรู้ในการทำงาน ให้กับผู้อื่นยิ่งเป็นเรื่องยาก ต่อให้เป็นเรื่องที่รู้อยู่แล้วบางทีก็ยังไม่ง่ายที่จะถ่ายทอดให้ผู้อื่นเข้าใจ

เพราะฉะนั้นการเลือกผู้ชี้แนะให้ละเอียดรอบคอบให้ตรงกับความต้องการจึงเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ควรเลือกเพียงเพราะผลงานดีอย่างเดียว แต่ควรเลือกโดยดูจากเบื้องหลังของคนๆนั้นด้วย เช่น เขาเป็นคนที่เข้าใจในวัฒนธรรมของบริษัทขนาดไหน มีมารยาททางธุรกิจหรือไม่ เป็นต้น

ขอบเขตการเรียนรู้แคบ

ในยุคที่อะไรๆ ก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทักษะที่จำเป็นในการทำงานก็มีเพิ่มมากขึ้น ยกอย่างเช่น งานของฝ่ายขายที่เมื่อก่อนทักษะ IT อาจจะไม่มีความจำเป็นมากนัก แต่ปัจจุบันกลายเป็นทักษะสำคัญที่ขาดไม่ได้ไปแล้ว

เมื่อให้ผู้เชี่ยวชาญของฝ่ายขายมาเป็นผู็ชี้แนะให้กับพนักงานใหม่ ถ้าหากคนนั้นไม่มีความเชี่ยวชาญในเรื่อง IT มากพอ เขาอาจจะไม่สามารถสอนในเรื่องนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นใช้การอบรมเข้ามาช่วยรับมือก็เป็นอีกทางที่จะทำให้ผู้ชี้แนะ มีความรู้และทักษะที่จำเป็นในการทำงานเพิ่มขึ้น

ข้อดีของการพัฒนาด้วยตนเอง

ไม่มีข้อจำกัดของเวลาและสถานที่

การพัฒนาด้วยตนเองจะแตกต่างจากการฝึกอบรมอีกสองแบบตรงที่ พนักงานสามารถอบรมได้ด้วยตนเองไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนเวลาใด

สำหรับบริษัทเองก็ได้ผลดีตรงที่พนักงานไม่ต้องเสียเวลาในการทำงานไป เพราะพนักงานสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะอยู่ที่บ้านหรือที่ไหน และยังสามารถจัดการเวลาที่เหมาะสมในการอบรมเองได้

สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงในการให้พนักงานฝึกอบรมด้วยตนเองคือ จะต้องไม่ทำให้พนักงานรู้สึกเหมือนว่าถูกบังคับให้เข้ารับการอบรม การสร้างแรงบันดาลใจให้พนักงานอยากพัฒนาตนเองมากขึ้นทำได้หลายวิธีทั้งการสร้างบรรยากาศที่ดีในออฟฟิศหรือให้หัวหน้าเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับพนักงาน วิธีเหล่านี้จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้พนักงานรู้สึกอยากพัฒนาตนเองให้เชี่ยวชาญในการทำงานมากยิ่งขึ้นได้

พนักงานได้เรียนรู้ในเรื่องที่สนใจ

ถึงแม้จะเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ในการทำงานมากนัก ก็สามารถช่วยเพิ่มทักษะให้กับพนักงานได้

หลายๆ คนอาจจะมีความคิดว่าการเรียนรู้ในเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานโดยตรงเป็นเรื่องไม่มีประโยชน์ แต่การที่คนๆ นึงมีความรู้ในด้านต่างๆ มากมายก็ทำให้ความรู้เหล่านั้นกลายเป็นทักษะที่เขาสามารถนำไปใช้ต่อยอดในอนาคตได้ ยกตัวอย่างเช่น วิธีการสื่อสารกับลูกค้าของเซลล์ หรือการพิจารณาปัญหาในมุมมองกว้าง เป็นต้น การให้พนักงานอบรมแต่เรื่องที่อยู่ในสายงานตัวเองอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอต่อการพัฒนาพวกเขาให้เป็นคนที่มีประสิทธิภาพ

ในอนาคต AI จะเข้ามามีบทบาทในการทำงานมากยิ่งขึ้น และจะกลายเป็นยุคสมัยที่ให้ความสำคัญกับความเป็นปัจเจกบุคคลมากขึ้น การที่พนักงานมีความต้องการเรียนรู้ในเรื่องที่ตนเองสนใจนั้น จะทำให้เขาเป็นคนที่มีทักษะความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานมากขึ้น

พนักงานสามารถเลือกวิธีการในการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง

การพัฒนาเรียนรู้ด้วยตนเองนั้นสามารถทำได้หลายวิธีทั้ง หาความรู้จากหนังสือที่เกี่ยวข้องศึกษาเอง การเข้าร่วมสัมมนา หรือแม้กระทั่ง E-Learning

ถ้าเป็นการเรียนรู้จากหนังสือก็จะได้ความรู้และทักษะจากการรวบรวมข้อมูลของผู้เขียน ถ้าเป็นการไปเข้าร่วมสัมมนาก็จะได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้บรรยาย หรือถ้าเรียนรู้โดย E-Learning ก็จะได้ความรู้ข้อมูลที่ไม่สิ้นสุด

มีข้อมูลวิจัยบอกว่าถ้าเราสามารถเลือกเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้จากวิธีการที่หลากหลายจะทำให้ความต้องการที่จะพัฒนาตนเองเพิ่มมากขึ้น

ข้อเสียของการพัฒนาด้วยตนเอง

การดูแลตรวจสอบมีความหละหลวม ทำให้ไม่มีวินัยในการเรียนรู้มากพอ

เพราะพนักงานสามารถเลือกเรียนรู้ได้อย่างมีอิสระ ทำให้บางครั้งพวกเขาไม่มีวินัยในตนเอง ละเลยที่จะทำได้ ซึ่งเรื่องแบบนี้คงเคยเกิดขึ้นกับหลายๆคน

วิธีแก้ไขปัญหานี้ทำได้โดยลองให้พนักงาน ตั้งเป้าหมายและระยะเวลาในการเรียนรู้ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เขาสามารถทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ สิ่งสำคัญคือ ความสมดุลระหว่างอิสระและการบังคับนั่นเอง หากให้อิสระมากเกินไปก็จะทำให้พวกเขาไม่มีวินัย หากบังคับเกินไปก็จะทำให้หมดแรงจูงใจในการเรียนรู้ไปได้

การตั้งเป้าหมายอาจจะทำโดยบริษัท และให้พนักงานเลือกวิธีเรียนรู้ด้วยตัวเอง หรือบริษัทสนับสนุนโดยการให้รางวัลตอบแทน ก็เป็นอีกวิธีที่จะทำให้พนักงานมีความต้องการที่จะพัฒนาตนเองมากขึ้น

ไม่รู้ตัวว่าอบรมผิดวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้

แม้ว่าคุณมีแรงจูงใจที่จะเรียนรู้ หากแต่วัตถุประสงค์ของความพยายามนั้นผิดไปจากเดิม อาจจะทำให้คนๆ นั้นรู้สึกผิดหวังกับผลที่ได้รับ

เพื่อไม่ให้เป็นอย่างนั้น บริษัทควรมีการให้พนักงานได้รายงานผลการพัฒนาด้วยตนเองบ้าง แต่ไม่ควรทำให้เหมือนการบังคับจนเกินไป เช่น การให้รายงานเป็นรายวัน แต่ควรจัดการเป็นแบบให้พนักงานได้รายงานผลเป็นจำนวนกี่ครั้งจนกว่าจะจบการฝึกอบรม หรือลองให้พนักงานได้มารายงานผลการเรียนรู้ของตัวเองกับคนอื่นๆ เพื่อเป็นไอเดียให้กับทุกคนได้ เป็นต้น

กลายเป็นการฝึกอบรมเพื่อความพอใจส่วนตัว

จากการพัฒนาด้วยตนเองกลายเป็นการทำเพื่อความพอใจของตนเอง หรือการเรียนรู้เพื่อพัฒนาการทำงานกลายเป็นเรียนในเรื่องที่ตนเองสนใจแต่ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการทำงานได้

วิธีรับมือเมื่อเกิดกรณีแบบนี้ขึ้นคือต้องให้พนักงานบอกได้ว่าสิ่งที่เรียนส่งผลต่อการทำงานหรือผลงานของตัวเองอย่างไร หรืออธิบายให้เขาเข้าใจว่า สิ่งสำคัญไม่ใช่เรื่องที่เรียนรู้ แต่เป็นจะนำสิ่งที่ได้จากการเรียนรู้มาปรับใช้กับการทำงานอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ถ้าทำได้จะสามารถป้องกันการทำเพื่อความพอใจส่วนตัวของพนักงานได้

หากบริษัทไม่พัฒนาเอง ก็ใช้บริการ Training & Coaching จากภายนอกสิ

แน่นอนว่าการทำเทรนนิ่งพัฒนาพนักงานในองค์กรเป็นสิ่งที่ต้องใช้ต้นทุนทั้งเงินและเวลาสูง หลายครั้งองค์กรก็ไม่ได้ทำการเทรนนิ่งพนักงานในบริษัทด้วยตัวเอง แต่กลับใช้บริการ Outsource จ้างคนจากภายนอก เข้ามาเทรนนิ่งแทน

หากคุณไม่รู้ว่าจะจ้างบริษัทไหนดีมาช่วยพัฒนาพนักงาน เราแนะนำให้ใช้บริการ HREX แพลตฟอร์มที่รวบรวมตัวช่วยของ HR เอาไว้มากที่สุดในเมืองไทย แก้ปัญหาได้แบบคลิกเดียวจบ จะค้นหาผู้ให้บริการ Training & Coaching ทุกรูปแบบมาให้แล้วในเว็บเดียว คลิกเลย!

บทสรุป

เมื่อลองกลับไปดูการพัฒนาบุคลากรของบริษัทตัวเองแล้ว พบว่าเป็นอย่างไรบ้างครับ ยังมีเหตุการณ์อย่าง ‘ปีที่แล้วจัดการอบรมแบบนี้ ปีนี้ก็จัดเหมือนเดิม’ อยู่รึเปล่า

ถึงแม้กลยุทธ์ของบริษัทจะไม่เปลี่ยนแปลง ก็ควรมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายตามยุคสมัยบ้าง แน่นอนเมื่อมีการเปลี่ยนนโยบายก็ต้องมีการเปลี่ยนวิธีการหรือเนื้อหาในการพัฒนาบุคลากรของบริษัทด้วย

หากบริษัทลองทบทวนกลยุทธ์ นโยบาย หรือวิธีการในการพัฒนาบุคลากรของบริษัทให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น ความสำเร็จในการพัฒนาบุคลากรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น คงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง