ESG สร้างธุรกิจให้ยั่งยืนด้วยสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล

HIGHLIGHT

  • ESG คือแนวทางพัฒนาองค์กรให้ยั่งยืนโดยอ้างอิงอยู่บนองค์ประกอบ 3 ประการ ได้แก่ สิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) 
  • องค์กรที่ให้ความสำคัญกับ ESG อย่างจริงจังจะส่งผลดีกับธุรกิจมาก โดยเฉพาะในเรื่องภาพลักษณ์ (Branding), ความน่าเชื่อถือ (Trustworthy), การดึงดูด (Attraction) และการรักษาพนักงาน (Retention) ซึ่งนับเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้ง่ายขึ้น 
  • McKinsey รายงานว่าผู้ลงทุนและผู้ถือหุ้นถึง 83% จะเลือกทำงานกับองค์กรที่มีคะแนน ESG ดี มากกว่าองค์กรที่ประสบความสำเร็จโดยไม่สนใจเรื่อง ESG เลย ขณะที่พนักงานเอง นอกจากจะคาดหวังให้องค์กรมี ESG แล้ว ก็หวังให้องค์กรร่วมงานเฉพาะกับพันธมิตรที่ใส่ใจเรื่อง ESG เป็นหลัก
  • Generative AI คือเทคโนโลยีที่สามารถช่วยให้กระบวนการ ESG ขององค์กรมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ผ่านการวิเคราะห์ (Analytic), การคาดเดา (Prediction) ถึงความน่าจะเป็น เพื่อหาแนวทางรับมือเบื้องต้น ทำให้บริหารความเสี่ยง (Risk Management) ง่ายขึ้น
  • ESG คือสิ่งที่จะขับเคลื่อนองค์กรนับตั้งแต่ตอนนี้เป็นต้นไป องค์กรที่เติบโตอย่างฉาบฉวยจะค่อย ๆ หายไปจากโลกธุรกิจ เราจึงต้องปรับตัวทันทีหากต้องการรักษาความได้เปรียบในการแข่งขันให้คงอยู่ต่อไป

ไม่ว่าเราจะไปฟังเสวนาหรือหาข้อมูลทางด้าน HR จากที่ไหนในตอนนี้ คำว่า ESG คงเป็นสิ่งที่ผ่านหูผ่านตากันอยู่บ่อย ๆ แน่นอน โดย ESG คือกลไกสำคัญที่ส่งผลต่อความยั่งยืน (Sustainability) โดยตรง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากกับโลกยุคปัจจุบันที่เพิ่งเจอกับปัญหาการลาออกครั้งใหญ่ (The Great Resignation) และมีแรงงานในระบบน้อยกว่าที่เคย

HR มีหน้าที่ทำให้พนักงานรู้สึกถึง “คุณค่า” (Value) ของการทำงาน และต้องตอบให้ได้ว่าทำไมพนักงานต้องทุ่มเทอย่างเต็มที่เพื่อการอยู่กับองค์กรในระยะยาว

ESG สำคัญอย่างไร และมีองค์ประกอบใดบ้างที่ HR ควรศึกษา หาคำตอบไปพร้อมกับเราได้ที่นี่

ESG คืออะไร ?

https://th.hrnote.asia/orgdevelopment/sustainability-for-hr-221014/

ESG หมายถึงนโยบายทางด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) ถือเป็นแนวคิดเพื่อความยั่งยืนขององค์กร (Sustainability) เป็นการทำงานที่ไม่ได้เน้นถึงผลกำไรที่เป็นเม็ดเงินอย่างเดียว แต่ต้องคำนึงถึงองค์ประกอบในภาพรวมอีกด้วย ซึ่งการบริหารธุรกิจด้วยหลัก ESG อย่างจริงจังจะส่งผลดีกับองค์กร โดยเฉพาะในเรื่องภาพลักษณ์ (Branding), ความน่าเชื่อถือ (Trustworthy) ซึ่งนับเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจเติบโตง่ายขึ้น

นอกจากนี้องค์กรที่ใช้หลัก ESG จะให้ความสำคัญกับการบริหารงานบุคคล มีกระบวนการทำงานที่โปร่งใส ชัดเจน ตรวจสอบได้ง่าย วิธีทำงานแบบนี้ทำให้เราสามารถรักษาพนักงานเดิม และดึงดูดคนที่มีฝีมือมาสู่องค์กรได้พร้อม ๆ กัน ESG จึงนับเป็นกลยุทธ์ทางนโยบายที่องค์กรยุคใหม่จะมองข้ามไปไม่ได้เด็ดขาด

ความสำคัญของ ESG ไม่ได้อยู่แค่ส่วนขององค์กรเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงการเลือกลงทุนหรือร่วมมือกับบริษัทที่มีแนวคิดแบบเดียวกันด้วย ดังนั้นองค์กรที่ไม่ใส่ใจเรื่อง ESG และความยั่งยืน ก็มีโอกาสที่จะสูญเสียโอกาสทางธุรกิจไปโดยไม่รู้ตัว

ESG มีองค์ประกอบอะไรบ้าง ?

การทำธุรกิจให้ยั่งยืนไม่ใช่เรื่องง่าย บางคนอาจมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว และคิดว่าเราแค่ฉกฉวยเพียงโอกาสระยะสั้นที่เกิดขึ้นในแต่ละวันก็พอ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของ HR ที่จะสร้างค่านิยม (Value) ปรับทัศนคติ (Mindset) และสร้างวัฒนธรรม (Culture) ให้บุคลากรเห็นความสำคัญใน 3 หัวข้อหลักดังต่อไปนี้

1. สิ่งแวดล้อม (Environment) : หมายถึงการพิจารณาว่าสิ่งที่องค์กรนั้น ๆ ทำส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวมหรือไม่ เช่น การลดปริมาณปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยอ้างอิงตามข้อตกลงปารีสของสหประชาชาติ (UN’s Paris Agreement) ที่มีเป้าหมายให้ประเทศที่ลงนามระมัดระวังเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มากขึ้น และในส่วนของประเทศไทย ได้มีการตั้งเป้าว่าจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 20–25 ภายในปี พ.ศ. 2573 ตาม Thailand’s Nationally Determined Contribution Roadmap on Mitigation 2021–2030

นอกจากนี้ยังหมายรวมถึงการใช้พลังงานในด้านต่าง ๆ เช่น ทรัพยากรน้ำ, การรีไซเคิลข้าวของเครื่องใช้ในสำนักงานอย่างคุ้มค่า, การกำจัดขยะจำพวกพลาสติก, การเลือกใช้สารเคมีอันตราย เป็นต้น เรียกว่าอะไรที่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม องค์กรก็ต้องให้ความสำคัญทั้งสิ้น

2. สังคม (Social) : องค์กรต้องแสดงให้ผู้อื่นเห็นว่าเราให้ความสำคัญกับบุคลากรในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นคนที่ยังอยู่ในปัจจุบัน, คนที่เคยอยู่ (Alumni), คนที่อาจมาอยู่กับเราในอนาคต (Candidate) หรือแม้แต่ลูกค้า (Customers) และชุมชนโดยรอบ (Community) ประเด็นด้านสังคมเป็นส่วนที่ต้องจับตามองอย่างมากในปัจจุบัน เพราะเป็นยุคที่สังคมเปิดกว้าง ผู้คนกล้าแสดงออกทางความคิดมากกว่าที่เคย องค์กรจึงต้องแสดงให้เห็นว่าเราให้ความสำคัญกับความหลากหลาย (Diverse), ความเสมอภาค (Equity), การผนวกรวม (Inclusion) ความเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน (Belonging) เมื่อองค์กรมีสิ่งเหล่านี้ เราก็จะอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างเข้าอกเข้าใจ (Empathy) ยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการทำงานแบบไฮบริดที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงโควิด-19 กระบวนการทำงานแบบนี้ แม้จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องสมดุลชีวิต (Work Life Balance) และลดความเครียดจากการเดินทาง (Office Commute) ได้ แต่ในทางกลับกันก็ทำให้พนักงานรู้สึกโดดเดี่ยว (Tolerate) ขาดความเชื่อมโยงกับชุมชน และอาจนำไปสู่ปัญหาด้านสุขภาพจิต (Mental Health)

3. ธรรมาภิบาล (Governance) : องค์กรของเราต้องทำให้คนเห็นว่ามีความโปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้ เช่น มีช่องทางให้พนักงานแสดงความคิดเห็น หรือแจ้งเบาะแสการทุจริตภายในองค์กร โดยสามารถทำแบบไม่ระบุตัวตน (Anonymous) ก็ได้ เพื่อให้พนักงานกล้าแสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมายิ่งขึ้น นอกจากนี้ทุกสิ่งที่ผู้บริหารทำต้องมีเหตุผล มีที่มาที่ไป ไม่มีอคติ (Bias) หรือเส้นสายที่อาจทำให้องค์กรต้องสูญเสียทรัพยากรโดยเปล่าประโยชน์

ESG สร้างประโยชน์ให้กับองค์กรได้อย่างไร ?

การพัฒนาองค์กรให้ยั่งยืน (Sustainable Organization)

การให้ความสำคัญกับ ESG จะส่งผลดีต่อองค์กรในแง่มุมต่อไปนี้

1. เพิ่มอัตราการมีส่วนร่วมของพนักงาน (Employee’s Engegament) : Marsh & McLennan Advantage ได้ทำการศึกษาและค้นพบว่าธุรกิจที่พนักงานมีส่วนร่วมกับองค์กรสูง จะมีระดับความพึงพอใจในการทำงานสูงขึ้น แถมยังมีความฉลาดทางอารมณ์ (Emotionnal Intelligence) มากกว่าพนักงานที่มาจากองค์กรซึ่งไม่ให้ความสำคัญกับเรื่อง ESG อย่างเห็นได้ชัด

2. ทำงานได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น (Increase Productivity) : มีการเปิดเผยจาก London School of Economics ว่าบริษัทที่พนักงานมีความสุขและพึงพอใจสูง  จะสร้างผลตอบแทนกลับมาได้มากกว่าธุรกิจที่พนักงานไม่มีความสุข สอดคล้องกับผลวิจัยจาก Stern Center for Sustainable Business ซึ่งระบุว่าองค์กรที่มีคะแนน ESG ดี  จะมีสุขภาพทางการเงินที่ดีตามไปด้วย

3. ทำให้องค์กรมีภาพลักษณ์ดีขึ้น (Branding) : เมื่อองค์กรมีภาพจำต่อสาธารณะว่าให้ความสำคัญกับสังคม  สิ่งแวดล้อม, ชีวิตความเป็นอยู่ของพนักงานและชุมชนรอบข้าง เราก็จะได้รับความเชื่อมั่น มีแต่คนอยากทำงานด้วย แต่หากเราแสดงด้านลบออกไปสู่สาธารณะ กระบวนการนี้ก็จะเป็นดาบสองคม ที่กลับมาทำลายชื่อเสียงขององค์กรทันที

มีผลวิจัย ที่บอกว่าเวลาคนจะเลือกซื้อสินค้าบางอย่าง พวกเขาจะไม่ได้สนใจแค่เรื่องของราคาและคุณภาพเท่านั้น แต่ยังดูด้วยว่าองค์กรมีภาพลักษณ์และความใส่ใจต่อสังคมอย่างไร เราจึงได้เห็นผลิตภัณฑ์บางอย่างที่มียอดขายตกลงอย่างฮวบฮาบ เมื่อเจ้าของประพฤติตนในลักษณะของการเหยียดเพศ, ทำร้ายร่างกาย หรือปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่เป็นธรรม

นอกจากนี้ McKinsey ยังระบุว่าผู้ลงทุนและผู้ถือหุ้นถึง 83% จะเลือกทำงานกับองค์กรที่มีคะแนน ESG ดี มากกว่าองค์กรที่ประสบความสำเร็จโดยไม่สนใจเรื่อง ESG เลย เพราะมองว่าองค์กรที่ใส่ใจสิ่งรอบข้าง จะมีความอดทนอดกลั้น และเป็นมืออาชีพมากกว่า

4. สร้างคุณค่าให้กับการทำงาน (Sense of Purpose) : โลกการทำงานในปัจจุบัน เป็นโลกที่ผู้คนมองหาคุณค่าและความหมายของการใช้ชีวิตมากกว่าที่เคย เหตุนี้การทำงานซึ่งถือเป็นช่วงเวลาส่วนใหญ่ในชีวิตประจำวัน จึงจำเป็นต้องตอบสนองค่านิยมที่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด  นอกจากนี้ เรายังต้องนึกถึงเรื่องของ Sense of Personal Involvement เพื่อทำให้คนรู้สึกว่าการทำงานของเขามีอิทธิพลต่อองค์กร

หากผู้บริหารทำให้พนักงานรู้สึกว่าเขาได้รับเกินกว่าที่คาดหวัง ก็จะช่วยให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

5. ช่วยรักษาและดึงดูดพนักงานที่มีฝีมือเข้ามาสู่องค์กร (Recruiting & Retention) : New York Times รายงานว่า นักศึกษาที่จบใหม่ส่วนใหญ่ยินดีรับเงินเดือนน้อยกว่า หากได้ทำงานในองค์กรที่ใส่ใจเรื่อง ESG โดยประเด็นที่น่าสนใจที่สุดก็คือพนักงานถึง 95% มองว่านอกจากองค์กรจะต้องใส่ใจพนักงานของตนแล้ว ยังต้องรู้จักเลือกพันธมิตรหรือบริษัทคู่ค้าที่ให้ความสำคัญกับเรื่อง ESG เช่นกัน

ดังนั้นหากดูตามสถิติที่บอกว่าชาว Gen Z จะกลายเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญต่อโลกธุรกิจภายในปี 2029 ก็แปลว่าองค์กรที่จะอยู่รอดได้จนถึงวันนั้น ต้องเริ่มใส่ใจเรื่อง ESG โดยเร็ว

การให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ยังช่วยให้เราเอาชนะกระแสการลาออกครั้งใหญ่ (The Great Resignation) ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก เพราะในขณะที่มีคนลาออกมากเป็นประวัติการณ์ ก็ยังมีพนักงานอีกหลายกลุ่มที่แสวงหาความมั่นคง ทั้งในแง่ของภาระหน้าที่และการรักษาสภาพจิตใจให้สมบูรณ์ ซึ่งองค์กรที่เน้นเรื่อง ESG จะตอบโจทย์ตรงนี้อย่างชัดเจน

ESG สำคัญกับการทำงานของ HR ในปี 2023 อย่างไร

สถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีรายละเอียดให้ต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลาในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา กลายเป็นข้อพิสูจน์ว่าองค์กรใดที่เป็นองค์กรแห่งอนาคต และองค์กรใดที่มีรูปแบบบริหารจัดการที่ไม่แข็งแรง พนักงานทั้งที่มีอยู่เดิม และผู้สมัครที่อาจเข้ามาในอนาคตจึงเริ่มหันมามองว่าการเข้าร่วมงานกับองค์กรสักแห่ง จะสามารถเป็นการร่วมงานในระยะยาวได้หรือไม่ 

การสร้าง ESG ในองค์กร จึงเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขตั้งแต่แก่น (Core Value) ต้องเป็นแผนงานระยะยาว ไม่ใช่แค่ทำตามกระแสเพื่อปรับภาพลักษณ์เท่านั้น ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรับผิดชอบต่อสังคม หรือการปรับปรุงวัฒนธรรมและสวัสดิการให้สอดคล้องกับสภาพสังคม องค์กรก็ต้องทำเรื่อย ๆ ควบคู่ไปกับการอบรมผู้นำให้มีความพร้อม และเข้าใจว่าควรจะบริหารลูกทีมให้มองไปในทิศทางเดียวกันได้อย่างไร

คีย์เวิร์ดที่น่าสนใจสำหรับการทำ ESG ในองค์กรคือเรื่องห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ที่หมายถึงภาพรวมของกระบวนการทำงานตั้งแต่ขั้นตอนจัดหาวัตถุดิบ เรื่อยไปจนถึงขั้นตอนสุดท้าย หรือการส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้บริโภคโดยเราสามารถนำรายละเอียดการทำงานในแต่ละขั้นตอนออกมาตีแผ่ และวิเคราะห์เปรียบเทียบกับบริษัทคู่แข่ง ว่ากระบวนการทำงานของเราในแต่ละช่วงมีความเหนือกว่าหรือด้อยกว่าอย่างไร การเก็บข้อมูลตรงนี้อย่างละเอียดจะช่วยให้เราสร้างคุณค่าให้กับการทำงานได้มากยิ่งขึ้น

องค์กรสามารถสนับสนุนการเติบโตของ ESG ได้ด้วยแนวทางเหล่านี้

1. กำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายให้ชัดเจน โดยต้องสอดคล้องกับแผนงานในระยะยาวขององค์กร

2. เปิดโอกาสให้พนักงานมีส่วนร่วมในการพิจารณาองค์ประกอบแต่ละอย่าง เพื่อดูว่าเรามีจุดที่ต้องพัฒนาและปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างไร ซึ่งเราควรเปิดโอกาสให้ทางพนักงานเก่าและใหม่มีส่วนร่วม เพราะจะทำให้มีไอเดียที่หลากหลายขึ้น ในที่นี้เราสามารถให้คู่ค้ามีส่วนร่วมด้วยก็ได้

3. เมื่อการดำเนินงานเริ่มต้นขึ้นแล้ว ต้องมีการตรวจสอบวัดผล และรายงานความก้าวหน้าอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงต้องใช้วิธีสื่อสารที่หลากหลาย เข้าถึงคนทุกเพศทุกวัย เพื่อให้เกิดความชัดเจนที่สุด

4. ประเด็นสำคัญคือต้องไม่หลอกตัวเองว่าองค์กรมีคุณสมบัติของ ESG เรียบร้อยแล้ว ให้พิจารณาทุกอย่างตามความเป็นจริงเท่านั้น

5. จัดอบรมพนักงานเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อมและการให้ความเป็นธรรม เพื่อสร้างวัฒนธรรมอันดีงามในองค์กร ซึ่งหัวหน้าอาจทำเป็นตัวอย่างก็ได้ (Lead by Example) เพราะจะทำให้เห็นถึงความจริงจังมากขึ้น

บทบาทของ HR ในการสร้าง ESG ภายในองค์กร

เรามักพูดกันว่า HR ทำหน้าที่เป็นดั่งเพื่อนคู่คิดของผู้บริหาร และในปัจจุบันก็คงไม่มีเรื่องอะไรที่จะสำคัญไปกว่าการสร้างองค์กรให้เติบโตอย่างยังยืน สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้อย่างแข็งแกร่ง สิ่งเหล่านี้จะมีประสิทธิภาพขึ้นได้ก็ต่อเมื่อฝ่ายบุคคลมีความรู้และมีความสามารถในการเลือกหลักสูตรอบรม รู้จักสื่อสารเพื่อให้พนักงานเห็นความสำคัญ และพร้อมเดินไปในทิศทางเดียวกัน

HR Leader คือบุคคลสำคัญที่จะช่วยให้แนวทาง ESG ถูกบังคับใช้ได้อย่างครอบคลุม เราต้องทำให้คนในองค์กรรู้สึกเป็นเจ้าของและเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้า (Sense of Belonging) คนที่มีอำนาจตัดสินใจต้องเป็นผู้เริ่มพูดคุยกับผู้บริหาร ต้องมีข้อมูลเบื้องต้นทางด้านจึดแข็ง-จุดอ่อน เพื่อให้เริ่มปรับปรุงได้อย่างตรงจุดและไม่ใช้ทรัพยากรโดยสิ้นเปลือง

ให้คิดว่ายิ่งเรามีข้อมูลมากเท่าไหร่ เราก็จะแก้ปัญหาและพัฒนาได้ตรงจุดยิ่งขึ้น ซึ่งประเด็นเหล่านี้จะนำไปสู่การว่าจ้างคนที่มีความสามารถเพิ่มเติม หรือแม้แต่การนำพนักงานเดิมมาสร้างเป็นทีมใหม่ เพื่อเพิ่มมุมมองในการสร้างสรรค์นวัตกรรมให้โดดเด่น และผ่านการพิจารณาจากกลุ่มคนที่หลากหลายยิ่งขึ้น

อนึ่ง Forbes ให้ความเห็นว่าหากเราต้องเริ่มโฟกัสเพียงแค่เรื่องใดเรื่องหนึ่งก่อน ให้เน้นไปที่เรื่องสังคม (Social) เพราะมีผลสำรวจที่ระบุว่าคน 47% เน้นเรื่องนี้มากที่สุด ที่สำคัญ เราต้องทำอย่างต่อเนื่อง อย่าคิดว่าความสำเร็จในวันนี้คือตัวแทนความสำเร็จในภายภาคหน้า เพราะหากเราหยุดพัฒนาเมื่อไหร่ ก็มีโอกาสที่เราจะตกยุค ไม่สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมได้ทันที

Generative AI สามารถช่วยเรื่อง ESG ได้อย่างไร ?

HR in Digital Age

การเติบโตของเทคโนโลยีในปัจจุบันเป็นไปอย่างก้าวกระโดดมากขึ้นโดยมีการคาดคะเนว่าองค์กรทั่วโลกจะมี AI เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งภายในปี 2025 ดังนั้นหากเราไม่มีความรู้ความเข้าใจไม่รู้จักพัฒนาศักยภาพของพนักงานองค์กรของเราก็จะสูญเสียศักยภาพในการแข่งขันบนโลกธุรกิจทันที เพราะนอกจากปัญญาประดิษฐ์จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้การทำงานง่ายขึ้นแล้วยังช่วยลดช่องว่างระหว่างวัยให้คนทุกฝ่ายร่วมงานกันได้โดยเอาทักษะความรู้เป็นที่ตั้งเท่านั้น

Generative AI หรือปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองคือสิ่งที่จะเข้ามาเปลี่ยนโลกการทำงานโดยสิ้นเชิงโดยมันสามารถช่วยเรื่อง ESG ได้ในแง่มุมต่อไปนี้

1. ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (Environment Impact)

  • Generative AI สามารถประเมินและควบคุมการใช้พลังงานภายในองค์กรให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและคุ้มค่าได้ โดยวัดจากรูปแบบการทำงานของบุคลากรในช่วงเวลาที่กำหนด ถือเป็นการทำ Resources Management ที่ AI มีหน้าที่ให้ความเห็น ควรใช้พลังงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร มีแผนกใดบ้างที่ใช้พลังงานเกินจำเป็น และมีแผนกใดบ้างที่ควรเพิ่มอัตราการใช้พลังงานเข้าไปอีกหน่อย เพื่อให้ได้งานที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยยังคำนึงถึงสภาพแวดล้อมที่ดี นอกจากนี้ยังช่วยให้เกิดนวัตกรรมที่ยั่งยืน (Sustainable Product Design) ที่เกิดจากการเลือกใช้วัตถุดิบที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านการคำนวนว่าจะให้ผลลัพธ์ที่เท่าเทียมหรือดีขึ้น ตลอดจนการนำของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ด้านอื่น

2. ผลกระทบด้านสังคม (Social Impact) 

  • หากเราให้ input ที่ดี Generative AI ก็จะช่วยให้เราคัดเลือกผู้สมัครได้ง่ายขึ้น และจะเป็นการเลือกโดยเอาทักษะและเป้าหมายขององค์กรเป็นที่ตั้ง ปราศจากการตัดสินอย่างอคติด้วยการมองสีผิว, เชื้อชาติ หรืออายุ นอกจากนี้ยังสามารถนำไปตรวจสอบว่าสวัสดิการขององค์กรแต่ละอย่าง ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตและผลลัพธ์ในการทำงานอย่างไร ควรปรับปรุงเป็นรายบุคคลโดยกลยุทธ์แบบไหน ในส่วนที่เป็นรายละเอียดปลีกย่อยแบบนี้ปัญญาประดิษฐ์สามารถช่วยได้ดีมาก ซึ่งพอเราได้ข้อมูลที่จำเป็นทั้งหมดแล้ว เราก็ยังสามารถใช้ Generative AI เพื่อออกแบบหลักสูตรอบรมได้เลย

3. ผลกระทบด้านธรรมาภิบาล (Governance Impact)

  • Generative AI จะช่วยให้เราตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างมีแบบแผน และอ้างอิงอยู่บนความถูกต้อง (Ethical Decision) นอกจากนี้ยังสามารถตรวจสอบสิ่งผิดปกติ (Frauds Detection) ระหว่างการทำงานได้ด้วย และที่สำคัญที่สุดก็คือปัญญาประดิษฐ์สามารถช่วยเรื่องของการบริหารความเสี่ยง (Risk Management) เช่นเมื่อเกิดเรื่องราวบางอย่างขึ้นในองค์กรแล้ว เราสามารถเก็บข้อมูลดังกล่าวไปวิเคราะห์ได้เลย เพื่อวางแผนป้องกันเหตุไม่คาดฝันในอนาคต เรียกว่าเมื่อเราเรียนรู้จากกรณีตัวอย่างทั้งขององค์กรและข้อมูลอื่น ๆ ในธุรกิจเดียวกัน เราก็จะดำเนินงานได้อย่างรัดกุม เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายในภาพรวม

หาการอบรมที่ใช่และเหมาะกับองค์กรได้ที่ HR Products & Services

ในอดีตเราอาจมองเรื่องการพัฒนาอย่างยังยืนเป็นเรื่อง ไกลตัว เพราะพนักงานแต่ละคนก็สามารถทำงานรับเงินเดือนไปวัน ๆ แล้วเอาเวลาว่างไปทำงานส่วนตัวกันก็ได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปสถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงเราเริ่มมีแรงงานในระบบน้อยลงเรื่อยเรื่อยดังนั้นหน้าที่ขององค์กรคือการสร้างคุณค่าให้กับงาน และทำให้ทุกคนรู้สึกผูกพัน มอไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งการฝึกอบรมไม่ว่าจะเลือกโดยการทำแบบสอบถามโดยตรงหรือใช้การวิเคราะห์ผ่านปัญญาประดิษฐ์ก็ตามคือสิ่งที่องค์กรต้องทำหากต้องการอยู่รอดในธุรกิจ สามารถรักษาพนักงานและดึงดูดคนเก่ง ๆ เข้ามาเป็นระยะ เรียกว่าหากเราต้องการให้ ESG แข็งแรง ก็เริ่มต้นจากการพัฒนาภายในองค์กรได้เลย

ยกตัวอย่างปัญหาสำคัญที่ทำให้เกิดความไม่เข้มแข็งในองค์กร ก็คือเรื่องของการสื่อสาร (Communication) แต่ด้วยเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เราสามารถสร้าง HR จาก AI ที่สามารถปรับวิธีสื่อสารตามสภาพอารมณ์ของพนักงานได้เลย ไม่ว่าจะต้องการคุยกับคนที่แข็งกร้าว คนที่อ่อนโยน หรือคนที่บ้าข้อมูล ระบบปัญญาประดิษฐ์ก็ได้ก้าวไปถึงจุดนั้นเรียบร้อยแล้ว

นี่คือหนึ่งในเหตุผลเล็ก ๆ ที่บอกว่าทำไมการก้าวไปสู่องค์กรที่ยังยืน ไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่เคยเข้าใจอีกต่อไป

และหากคุณไม่รู้ว่าจะหาการอบรมดี ๆ และเหมาะกับองค์กรได้อย่างไร เราขอแนะนำบริการ HR Products & Services จาก HREX.asia ไม่ว่าความยั่งยืนในมุมมองของคุณจะเป็นแบบไหน ก็ร่วมก้าวไปด้วยกันได้ที่เว็บไซต์นี้แบบคลิกเดียวจบ

บทสรุป

Gartner บอกว่า ESG คือสิ่งที่จะช่วยสร้างคุณค่าให้การทำงาน ไม่ว่าจะเป็นแผนระยะสั้นหรือระยะยาวก็ตาม เพราะคงไม่มีใครอยากเปลี่ยนงานบ่อย ๆ หรือเห็นว่าองค์กรที่ทำอยู่ได้เปลี่ยนจากองค์กรที่ประสบความสำเร็จไปเป็นองค์กรที่ตกยุค ดังนั้นเพื่อให้มีศักยภาพในการแข่งขัน (Competitive Advantage) บนโลกธุรกิจ หากองค์กรของคุณยังไม่มีความพร้อมในเรื่องนี้ ก็ได้เวลาที่จะหันมาใส่ใจสิ่งรอบตัว และให้ความสำคัญกับความยั่งยืนโดยเร็วที่สุด

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง