เป็นผู้นำมันเหงา ! ภาวะยิ่งสูงยิ่งหนาว (Lonely at the Top) เป็นอย่างไร ?

HIGHLIGHT

  • ไม่ว่าจะทำงานอะไร ทุกคนย่อมมีเป้าหมายในการพัฒนาไปสู่ตำแหน่งที่ใหญ่ขึ้น แต่รู้ไหมว่ามีหลายคนที่ประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจแล้ว แต่กลับเจอสภาวะยิ่งสูงยิ่งหนาวที่เรียกว่า “ความเหงาในกลุ่มผู้นำ” (Love at The Top)
  • ปัญหานี้ขยายตัวมากขึ้นในช่วงโควิด-19 ที่พนักงานอยู่ห่างไกลและมีปฏิสัมพันธ์กันน้อยลง นิยมทำงานแบบตัวคนเดียวมากขึ้น จึงไม่แปลกที่คนจะรู้สึกเหงา โดยเฉพาะกลุ่มผู้นำที่เพิ่งก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา เพราะไม่มีใครสามารถให้คำแนะนำได้
  • University of Pennsylvania กล่าวว่า แม้คนในปัจจุบันจะเข้าใจเรื่องสุขภาพจิตมากขึ้น แต่การเอาแต่พร่ำบ่นถึงความเหงาและความเหน็ดเหนื่อยทุกวันอาจไม่ใช่เรื่องดีเท่าไหร่ และเมื่อปล่อยเอาไว้นาน ก็จะกระทบกับความมั่นคงและอาชีพการงานได้
  • การแก้ไขปัญหา Lonely at The Top ไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นสิ่งที่องค์กรควรช่วยเหลือกัน ไม่ว่าจะเป็นการจัดอบรมเพื่อสร้างความเข้าใจภายในทีมและวัดผลให้ถี่ขึ้น รวมถึงการร่วมกันหานโยบายใหม่ ๆ ให้ทันเหตุการณ์เพื่อสนับสนุนให้พนักงานมีทักษะที่จำเป็น

เราคงเคยได้ยินประโยคว่ายิ่งสูงยิ่งหนาวกันอยู่บ่อยครั้ง (Love at The Top)  เพราะยิ่งอยู่ในตำแหน่งใหญ่เท่าไร เราก็ต้องมีทัศนคติที่เปลี่ยนแปลงไปเท่านั้น อย่างน้อยก็ต้องมีทักษะของความเป็นผู้นำ ซึ่งมีความเด็ดขาดมากขึ้น  จนอาจไม่เป็นที่ถูกใจของพนักงานบางคน ที่เคยเห็นเราอยู่ในจุดที่เข้าถึงได้ง่ายและสบายใจมากกว่า

หากสังเกตจะเห็นว่าองค์กรที่มีปัญหาลักษณะนี้ มักเป็นองค์กรที่มีปัญหาในด้านการสื่อสาร และมีการแบ่งลำดับขั้นของพนักงานอย่างจริงจัง จนไม่เกิดสภาวะของการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น  ไม่เกิดการพูดคุย นำไปสู่ความอึดอัดและยากที่จะเข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในองค์กร

เป็นผู้นำแล้วจะเหงาขึ้นจริงไหม ? อะไรคือสาเหตุ และความเหงาส่งผลกับการทำงานอย่างไรบ้าง HREX.asia จะพาทุกคนไปหาคำตอบผมพร้อม ๆ กัน

ทำไมเราถึงต้องใส่ใจภาวะยิ่งสูงยิ่งหนาว Lonely at the Top หรือความเหงาของผู้นำ ?

หลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 เกิดขึ้น ระดับความสัมพันธ์ของคนในองค์กรก็ลดลง แน่นอนว่าทุกคนสามารถทำงานสำเร็จได้ตามเป้าหมายด้วยเทคโนโลยีและกระบวนการทำงานที่พัฒนาให้สอดคล้องกับการทำงานอยู่บ้านมากยิ่งขึ้น แต่แม้จะประชุมออนไลน์หรือสื่อสารกับคนอื่นได้ง่ายแค่ไหน ก็เทียบไม่ได้เลยกับการได้แลกเปลี่ยนข้อมูลกันต่อหน้า และแก้ไขปัญหาแบบหยิบจับได้เป็นรูปธรรม ดังนั้นคนที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำ ครั้งแรกในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา จึงต้องเจอความเครียดและกดดันมากกว่าที่เคย

ผลสำรวจของ RHR International ระบุว่าผู้นำกว่าครึ่งมีอาการเหงา (Lonely at The Top) ขณะดำรงตำแหน่งนี้ และมี 61% ที่มองว่าความเหงาดังกล่าวส่งผลเสียต่อการทำงาน  ที่สำคัญความเหงายังไม่ใช่เรื่องเดียวที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์นี้ แต่เป็นความรู้สึกว่าตนกำลังถูกตัดขาดจากสังคม (Isolate) ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่กว่า และทำให้เกิดความเครียด แม้ตนจะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานหรือมีอำนาจกว่าเดิมก็ตาม

ปัญหานี้แม้เกิดกับผู้นำเพียงคนเดียว แต่ก็มีรากฐานมาจากโครงสร้างทั้งหมดขององค์กร เช่น หากองค์กรมีวัฒนธรรมด้านความเห็นอกเห็นใจที่แข็งแรง มีวัฒนธรรมของการสื่อสารที่แข็งแรง ทุกฝ่ายก็จะเข้าใจว่านโยบายหรือคำสั่งของผู้นำนั้นเต็มไปด้วยความหวังดีทั้งกับตนและกับผลประโยชน์ขององค์กร ขณะที่ HR เอง ก็ต้องหากลยุทธ์ใดก็ได้มาช่วยพัฒนาทัศนคติของผู้นำ ให้เข้าใจว่าเหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นในบริบทและเงื่อนไขใด เรียกว่าทุกฝ่ายต้องเติบโตไปด้วยกัน องค์กรที่แก้ไขปัญหานี้ไม่ได้จะไม่มีทางก้าวไปสู่จุดที่ยิ่งใหญ่กว่าได้เลย

สาเหตุของภาวะยิ่งสูงยิ่งหนาว Lonely at the Top ความเหงาของผู้นำคืออะไร ?

เพื่อให้ทุกฝ่ายเห็นภาพมากขึ้นว่าภาวะความเหงาของผู้นำจุดปะทะจากเรื่องใดได้บ้าง  เราขอนำข้อมูลจาก Wall Street Journal มาอ้างอิง ดังนี้

WSJ เล่าว่าคนที่มีภาวะ Lonely at the Top มักตั้งข้อสงสัยกับความหวังดีของผู้อื่น  ในเชิงจิตวิทยาแล้วเมื่อมีคนทำดีกับเรา สมองของเราจะสั่งการให้ตั้งคำถามทันทีว่าคนเหล่านั้นหวังดีกับเราเพราะอะไร มีความต้องการใดแอบแฝงหรือเปล่า ซึ่งหากเราเป็นเพียงพนักงานทั่วไปหรือในสถานการณ์อื่นตามปกติ เราก็จะหาเหตุผลมาอธิบายได้ไม่ยาก เช่น “เพราะเราเป็นเพื่อนสนิทกันเราจึงได้รับของขวัญวันเกิด” เป็นต้น

อย่างไรก็ตามการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำจะทำให้เรามีทัศนคติบางอย่างเปลี่ยนไป เช่น หากมีลูกค้าเข้าหาบ่อย ๆ พร้อมของฝาก จากการรู้สึกดีในตอนแรก เราก็จะตั้งคำถามขึ้นมาในหัวทันที ว่าคนเหล่านี้ทำดีกับเราเพราะหวังผลประโยชน์จากตำแหน่งของเราเท่านั้น เมื่อความคิดนี้เกิดขึ้น จะทำให้เรามองทุกอย่างในแง่ลบทันที จนรู้สึกว่าคนรอบตัวไม่สามารถไว้ใจได้ เป็นการปฏิเสธตัวเองออกจากสังคม ทำให้เกิดระยะห่างและมีลำดับขั้นที่ชัดเจนขึ้น จนนำไปสู่สภาวะ Lonely at The Top ในที่สุด

เราจะเห็นว่าคนที่เป็นผู้นำมักเริ่มมีปัญหากับการกระทำของผู้อื่น แม้จะมาในรูปแบบของความหวังดีก็ตาม ประเด็นนี้พูดได้โดยสรุปว่าคนที่เป็นผู้นำเริ่มไว้ใจคนอื่นน้อยลง และตั้งธงว่าคนที่เราจะเชื่อมั่นได้ต้องเป็นคนที่ทำตามแผนงานที่วางเอาไว้ หรือทำในสิ่งที่เราคิดว่าดีที่สุดเท่านั้น WSJ กล่าวต่อว่าปัญหาคือคนที่เป็นผู้นำมักหาเหตุผลที่จะไม่เชื่อใจคนอื่น เป็นกลไกป้องกันตัวเหมือนการสรรหา Worst Case Scenario ทั้งที่ความจริงไม่มีใครสมบูรณ์แบบหรือทำถูกใจเราไปเสียทุกเรื่อง ความไม่พอใจตรงนี้จะทำให้เรารู้สึกโดดเดี่ยวคล้ายกับคนอกหัก และไม่อยากเชื่อใจใครอีกเลย

ภาวะ Lonely at The Top มักเกิดจากความไม่เชื่อมั่นลึก ๆ ในหัวสมองจนไม่กล้าหันไปหาคนรอบตัว เพื่อปรึกษาขอความช่วยเหลือ แม้แต่ในวันที่เราอ่อนแอ เพราะกลัวว่าจะลดทอนภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำของตน จากปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นหน้าที่ของ HR ที่สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้โดยตรง

ภาวะยิ่งสูงยิ่งหนาว Lonely at the Top ความเหงาของผู้นำส่งผลกับการทำงานอย่างไร ?

แม้ปัจจุบันจะเป็นยุคที่เราให้ความสำคัญกับความรู้สึกและสภาพจิตใจผู้อื่นมากขึ้น แต่วิจัยจาก University of Pennsylvania กล่าวว่า แม้การบอกความรู้สึกเหงาไปสู่คนอื่นจะนำพาซึ่งการพูดคุยและความเข้าอกเข้าใจ แต่การบ่นว่าเหงามากเกินไปจะกลายเป็นดาบสองคมที่ทำให้คนรู้สึกว่าเราอ่อนแอ ไม่สามารถจัดการอารมณ์และเนื้องานตามหน้าที่ของตนได้ ดังนั้นหากคุณอยู่ในภาวะ Lonely at The Top นี่คือสิ่งที่คุณต้องทำ

เลิกโทษตัวเอง

ความรู้สึกเหงานำมาซึ่งความเครียด และความเครียดอาจทำให้คนเริ่มหันไปโทษตัวเองว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้คนตีตัวออกห่าง เราจะเริ่มตั้งคำถามว่าเรามารยาทแย่ไปไหม หรือทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อเพื่อนร่วมงานน้อยไปหรือไม่ ปัญหานี้จะเกิดขึ้นมากในกลุ่มผู้นำหน้าใหม่ที่ก้าวไปอยู่ในที่สูง แต่รู้สึกว่ายังไม่ถูกยอมรับเท่าที่ควร ต้องคอยพิสูจน์ตัวเองอยู่เสมอ

สิ่งที่คุณต้องทำคือการเข้าใจว่าเรามีเป้าหมายอย่างไร และไม่จำเป็นต้องทำให้ทุกคนพอใจ แม้คนนั้นจะเป็นเพื่อนสนิทที่เคยผ่านร้อนผ่านหนาวในตำแหน่งเดียวกันมาก่อนก็ตาม เพราะสุดท้ายองค์กรก็มีกฎระเบียบให้ทำตามครอบคลุมพนักงานทุกคนอยู่แล้ว หากเราทำทุกอย่างตามขั้นตอนที่ถูกต้อง ด้วยวิธีการที่ให้เกียรติซึ่งกันและกัน ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรก็เป็นสิทธิ์ที่เราทำได้ตามสมควร

ทำตัวน่ารักกับคนอื่นบ้าง

อย่าคิดว่าการอยู่ในจุดที่สูง แล้วทุกคนจะอยากเข้าหาเรา ให้นึกถึงตัวเองตอนเป็นพนักงานก็ได้ ว่ามีกี่ครั้งที่เราอยากจะเดินไปพูดคุยกับผู้บริหารแบบตัวต่อตัว ดังนั้นเราต้องทำให้พนักงานรู้สึกถึงความจริงใจ เริ่มง่าย ๆ จากการมีปฏิสัมพันธ์ในแง่บวก เช่น การชมคนใกล้ตัวว่าแต่งตัวสวยจัง, แต่งตัวทำงานเก่งจัง, มารยาทดีจัง หรือแม้แต่การชวนคุยเรื่องอื่นเพื่อให้พวกเขาเห็นเราในแง่มุมที่ต่างออกไป

ในที่นี้เราสามารถให้ขนมและของฝากเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือมอบน้ำใจในโอกาสที่พนักงานต้องการความช่วยเหลือ หากเราทำให้อีกฝ่ายเห็นถึงความใส่ใจ ก็จะมีคนกล้าเข้าหาเรามากขึ้น ช่วยแก้ไขเรื่องความเหงาในการทำงานได้เป็นอย่างดี

ถามตัวเองว่าเรามีลักษณะที่แปลกแยกกับคนรอบข้างหรือไม่ ?

โดยปกติแล้วมนุษย์จะไม่คุยกับคนที่รู้สึกว่าพูดคนละภาษา (Inclusive Language) ลองสังเกตุดูว่าตัวตนของเรามีอะไรที่แตกต่างจากกลุ่มคนอื่น ๆ หรือไม่ เช่นลักษณะการแต่งกาย สิ่งที่สนใจ หรือแม้แต่หัวข้อสนทนา 

เราต้องสังเกตว่าเมื่ออยู่กับผู้อื่น เราเป็นคนที่พูดเรื่องงานมากเกินไปหรือไม่ ? เราเป็นคนที่พูดเรื่องการเมืองมากไปหรือไม่ ?​ หรือเราเป็นคนที่ชอบพูดจาลามกหรือไม่ ? การสังเกตุตรงนี้จะทำให้เราเข้าใจคนรอบข้างมากขึ้น นำไปสู่การวางแนวทางปรับตัวให้เป็นที่รักของผู้อื่นมากกว่าที่เคย

อีกมุมหนึ่งคือการสำรวจว่าเราถูกดึงเข้าไปพัวพันกับเรื่องการเมืองในออฟฟิศหรือไม่ ? หากเราดูเป็นคนที่เลือกข้าง ก็เป็นเรื่องยากที่ผู้อื่นจะไว้ใจ รู้ไหมว่าเรื่องเล็กน้อยเหล่านี้ต่างมีผลที่ทำให้เกิดภาวะ Lonely at The Top ทั้งสิ้น

สังเกตผู้นำคนอื่นในองค์กร

ไม่มีทางที่ผู้นำทุกคนในองค์กรจะประสบกับสภาวะนี้ เพราะหากเป็นแบบนั้น ก็ไม่มีทางเลยที่องค์กรจะคิดค้นนวัตกรรมใหม่ หรือสร้างสรรค์ผลงานที่ตอบสนองความต้องการของธุรกิจได้ แปลว่า ภายใต้ความกดดันที่เกิดขึ้น มีทั้งคนที่ไม่รู้สึกเหงา และคนที่รู้สึกเหงาแต่จัดการความรู้สึกได้ ดังนั้นเราสามารถเข้าไปสอบถามได้เลย วิธีนี้อาจได้ผลดีกว่าการจ้างผู้เชี่ยวชาญมาดูแลด้วยซ้ำ เพราะพนักงานภายในเข้าใจวัฒนธรรมองค์กรมากกว่า

ลาออก

เป้าหมายของการทำงาน คือการพัฒนาไปเป็นคนที่มีฝีมือยิ่งขึ้น ดังนั้นหากการเป็นผู้นำในที่หนึ่งสร้างความรู้สึก Lonely at The Top เกิดความเหงา ความไม่สบายใจขึ้นมา ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่สามารถเรียนรู้และเติบโตในองค์กรอื่นได้ ให้คิดเสมอว่าเราไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ตัวเองขนาดนั้น สามารถถอยออกมาและหาทางเลือกที่เหมาะสมกับตัวเองได้เลย วิธีนี้จะทำให้เราได้เห็นโลกใหม่ ๆ และอาจพาเราไปพบกับกระบวนการทำงานที่ตรงกับค่านิยมยิ่งขึ้น

HR สามารถเอาชนะภาวะยิ่งสูงยิ่งหนาว Lonely at the Top ความเหงาของผู้นำได้อย่างไร ?

ภาวะนี้ไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวจนสามารถทำให้องค์กรล่มสลายได้ แต่ก็เป็นภาวะที่อาจทำให้คนรอบตัวรู้สึกไม่สบายใจ กลายเป็นบรรยากาศเชิงลบ และนำไปสู่การลาออกของพนักงานบางคนได้เช่นกัน ดังนั้นก่อนที่ทุกอย่างจะบานปลาย  เราสามารถแก้ไขและพัฒนาองค์กรไปในทิศทางที่ดีได้ด้วยวิธีเหล่านี้

จัดอบรมทัศนคติของผู้นำ (Mindset Coach)

Forbes กล่าวว่า ในกลุ่มผู้นำที่ไม่รู้สึกเหงานั้นมีความคิดเห็นร่วมกันอยู่อย่างหนึ่ง คือมองว่าการมีอำนาจคือสิทธิ์ในการกำหนดโชคชะตา (Fate) ของตนเอง ดังนั้นหากผู้นำ รู้จักนำอำนาจที่มีไปบริหารจัดการให้ดี ความสัมพันธ์ของคนในทีมก็จะใกล้ชิด เกิดวัฒนธรรมของการสื่อสาร (Communication Culture) แลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้กันได้ทั้งจากบนลงล่าง, จากล่างขึ้นบน และจากระนาบเดียวกัน การทำงานก็จะคล่องตัว ไม่รู้สึกเหงาแม้จะมีเนื้องานที่หนักขึ้น

สร้างระบบสนับสนุน (Support System)

ปัญหาเรื่องความเหงาของคนที่เป็นผู้นำ มักเกิดจากความเชื่อใจ  ลองนึกภาพตามว่าเรากำลังปีนอยู่บนภูเขาลูกหนึ่ง และเราประสบความสำเร็จ ได้ขึ้นไปอยู่บนจุดสูงสุดคน บางคนจะคิดว่าเรามาถึงจุด นี้ได้ด้วยการสนับสนุนจากคนอื่น ขณะที่บางคนจะรู้สึกว่าเราก้าวขึ้นมาได้ตัวเอง หันซ้ายหันขวาไปก็ไม่เจอใคร 

ทัศนคติที่แตกต่างกันนี้ทำให้ผู้นำ บางคนรู้สึกว่าแม้จะมีปัญหาแค่ไหนก็ไม่สามารถคุยกับคนรอบตัวได้ เพราะเราเป็นคนที่เหนือกว่า ประสบความสำเร็จมากกว่า แถมหากปรึกษาในประเด็นที่ไร้สาระก็อาจจะถูกมองว่าไม่มีความสามารถ ไม่เหมาะกับการเป็นผู้นำ เราแก้ไขเรื่องนี้ได้ด้วยการแต่งตั้งคนที่ผู้นำไว้ใจมาเป็นคู่หูคอยแชร์ไอเดีย (Idea Bouncing) แค่นี้กระบวนการทำงานก็จะผ่อนคลายยิ่งขึ้น

HR ต้องช่วยบอกกับพนักงานว่าหัวหน้าของเราก็คนธรรมดา ยิ่งชื่นชมมาก ก็เสี่ยงต่อการผิดหวังมากขึ้นเท่านั้น (Admire = Isolation)

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งคือการที่พนักงานมองตัวผู้นำยอดเยี่ยมเกินไป ในขณะที่ยังไม่เคยร่วมงานกัน บางคนอาจมองว่าหัวหน้าคนนั้นมีความสามารถมาก เป็นเหมือนฮีโร่ต้นแบบที่อยากพัฒนาตัวเองให้ไปถึงจุดนั้นได้บ้าง โดยลืมไปว่าเราอาจได้เห็นผู้นำคนดังกล่าวเพียงด้านเดียว เช่นในห้องประชุมรวม หรือเมื่อเป็นผู้รับสารเพียงเท่านั้น เหตุนี้จึงไม่แปลกหากพนักงานจะรู้สึกแย่เมื่อได้ร่วมงานกับหัวหน้าที่เคยเป็นฮีโร่  แต่มีฝีมือไม่ตรงกับที่วาดฝันเอาไว้ 

ความไม่เชื่อมั่นตรงนี้เองที่ทำให้พนักงานรู้สึกอยากตีตัวออกห่าง เมื่อผู้นำสั่งงานก็รู้สึกผิดหวัง และคิดว่าเป็นคำสั่งที่ไม่มีประสิทธิภาพโดยไม่สนว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ อารมณ์ว่ายิ่งคาดหวังมากก็ยิ่งผิดหวังมาก

ความลำบากของการเป็นผู้นำ คือสิ่งที่จะทำให้เราเติบโตขึ้น

ในบทวิจัยเรื่อง “ความสัมพันธ์ระหว่างความเครียดและสภาวะผู้นำ” โดย David B. Ross, Julie A. Exposito และ Tom Kennedy กล่าวว่า “เมื่อผู้นำอยู่ในความเครียด ระบบประสาทจะสั่งการอย่างฉับพลัน ให้สามารถจดจ่อกับงานและมีปฏิกิริยากับเรื่องต่าง ๆ ได้ดีขึ้น แต่หากปล่อยให้อยู่ในความเครียดนานเกินไป ก็จะเปลี่ยนไปเป็นปัญหาแทน” 

ข้อสรุปนี้ทำให้เห็นว่าหากเราบริหารจัดการความเครียดได้ดี เราก็สามารถสร้างประโยชน์จากสถานการณ์รอบตัวได้ นอกจากนี้การฝึกให้ผู้นำและพนักงานเข้าใจกับสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นตามครรลองของหน้าที่ ก็จะช่วยให้องค์กรสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ดีเช่นกัน

หากคุณยังไม่แน่ใจว่าองค์กรของคุณควรปรับตัวอย่างไร หรือใช้ทักษะการอบรมแบบไหน เราขอแนะนำให้ใช้บริการ HR Products & Services จาก HREX.asia แพลตฟอร์มที่รวบรวมผลิตภัณฑ์และบริการด้านทรัพยากรบุคคลที่มากที่สุดในเมืองไทย จะเป็นบริษัทเล็กหรือใหญ่ก็ไม่ต้องกังวล

บทสรุป

ไม่ว่าความรู้สึกในการเป็นผู้นำจะเป็นอย่างไร จะตกอยู่ในกลุ่ม Lonely at The Top มากแค่ไหน แต่บุคคลดังกล่าวต้องเข้าใจให้ได้ว่า ความเหงาในกลุ่มผู้นำเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ตลอดไป เพราะเนื้อหาบางอย่างก็เป็นความลับในกลุ่มผู้บริหารที่แชร์ได้เฉพาะกลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่งเท่านั้น ต้องปิดบังแม้กระทั่งคนในครอบครัว

ดังนั้นแทนที่จะโฟกัสเพียงการแก้ไขปัจจัยภายนอก หรือรอความช่วยเหลือจากคนอื่น ตัวผู้นำเองก็จำเป็นต้องใช้เวลากับการหาแนวทางแก้ไขด้วยตนเองด้วย  รับรองว่าแม้จะต้องใช้ความพยายามอยู่บ้าง แต่ก็เป็นการสร้างรากฐานให้คุณก้าวไปเป็นผู้นำได้อย่างเป็นมืออาชีพ และประสบความสำเร็จได้ง่ายกว่าเดิมแน่นอน

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง