Cleverness Curse : คำสาปของคนเก่ง ภัยร้ายทำลายองค์กร

HIGHLIGHT

  • Cleverness Curse หรือคำสาปของคนเก่ง หมายถึง การที่คนเก่งคาดหวังว่าคนอื่นจะมีความรู้เท่ากับตน จึงไม่พอใจเมื่ออีกฝ่ายไม่เข้าใจข้อมูลที่พยายามบอก โดยลืมคิดไปว่าวิธีสื่อสารและถ่ายทอดความรู้ของตนถูกต้องดีแล้วหรือไม่ 
  • ขณะที่องค์กรพยายามหาช่องทางพัฒนาศักยภาพของพนักงานให้ดีขึ้น ก็มีคำถามตามมาว่าองค์กรมีวิธีรับมือและบริหารจัดการ “คนที่เก่งขึ้น” แล้วหรือไม่
  • หากคนเก่งไม่เข้าใจว่ารูปแบบการทำงานที่ดีเป็นอย่างไร ก็จะใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ที่มีได้ไม่มาก เพราะติดปัญหาเรื่องการสื่อสารที่หากปล่อยเอาไว้นานก็จะไปทำลายความสัมพันธ์ของคนในองค์กร
  • ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าคนเก่งมักมีความมั่นใจมากเป็นพิเศษ แต่ความมั่นใจนั้นมักขัดแย้งกับความเป็นจริงหลายเท่าตัว นำไปสู่การวางแผนงานที่ผิดพลาดอย่างมีนัยสำคัญ
  • วิธีการถอนคำสาปนี้ เริ่มต้นง่าย ๆ เพียงแค่ยอมรับว่าเรายังมีจุดที่ต้องปรับปรุงและเคารพในศักยภาพของคนรอบตัว 

กำลังหาข้อมูลบริการและผลิตภัณฑ์ HR อยู่หรือเปล่า? HR Explore แพลตฟอร์มแรกในไทยที่รวบรวม HR Products & Services มากที่สุด มาพร้อมระบบเปรียบเทียบราคาเพื่อช่วยตัดสินใจ จะเป็น SMEs หรือธุรกิจใหญ่ ที่นี่มีครบ !

หากเราไปฟังงานเสวนาด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลในปัจจุบัน ประเด็นที่ผู้เชี่ยวชาญมักอ้างถึงโดยอ้างอิงกับโลกหลังเกิดโควิด-19 ก็คือความจำเป็นของการหาความรู้เพื่อพัฒนาตัวเอง เราจึงคุ้นเคยกับคำว่า Reskill, Upskill, Unlearn, Relearn ตลอดจนกลเม็ดเคล็ดลับเพื่อจัดระเบียบชีวิตและการทำงานอีกนับไม่ถ้วน โดยแนวคิดเหล่านี้มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับพนักงานให้มีศักยภาพมากขึ้นท่ามกลางโลกธุรกิจที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม ค่านิยมที่เกิดขึ้นนี้นำไปสู่คำถามตามมาว่าองค์กรมีวิธีบริหารจัดการ “คนที่เก่งขึ้น” อย่างไร เนื่องจากมีการวิเคราะห์ออกมาว่าคนเก่งในปัจจุบันไม่ได้มีปัญหาแค่เพราะคิดว่าคนอื่นด้อยกว่าเท่านั้น แต่ได้ยกระดับไปเป็นการคิดว่าทำไมคนเก่งคนอื่นถึงมีทักษะน้อยกว่าตน นำไปสู่การไม่เชื่อมั่นในทีม เกิดปัญหาด้านการสื่อสาร จนทำให้ทักษะที่เพิ่มขึ้นมาไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง สิ่งนี้เรียกว่าคำสาปของคนเก่งหรือ Cleverness Curse

วิธีถอนคำสาปของคนเก่งเป็นอย่างไร เชิญหาคำตอบและร่ายคาถาไปด้วยกันที่นี่ !

Contents

Cleverness Curse หรือคำสาปของคนเก่งคืออะไร ?

Cleverness Curse : คำสาปของคนเก่ง ภัยร้ายทำลายองค์กร

เราอาจเคยคิดว่าคำสาปของคนเก่งคือการคิดว่าคนอื่นต่ำต้อยหรือมีความรู้น้อยกว่า แต่ความจริงแล้วคำสาปของคนเก่งคือการคิดไปเองว่าอีกฝ่ายมีความรู้เท่ากันหรือมากกว่าตนต่างหาก ปัญหานี้ทำให้คนเก่งหลายคนเลือกอธิบายน้อยกว่าความจำเป็น หรือบางคนก็เลือกใช้คำศัพท์ที่ยากมาอธิบายเรื่องปกติธรรมดาเพื่อโชว์ภูมิ สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้กระบวนการทำงานยุ่งยากขึ้นโดยไม่จำเป็น

ปัญหาของเรื่องนี้จะเห็นชัดเจนในกลุ่มผู้นำที่ต้องถ่ายทอดความรู้ไปให้คนอื่น รวมถึงการสร้างผู้สืบทอด (Succession Planning) เพราะจะทำให้เกิดความคาดหวังที่ไม่อ้างอิงอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ผู้เชี่ยวชาญมองว่าคำสาปของคนเก่งแบบนี้จะนำไปสู่ปัญหาที่ใหญ่ขึ้น โดยเฉพาะในโลกปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและต้องการข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์ เข้าใจง่ายมากกว่าที่เคย

คุณ พาเมล่า ฮินส์ (Pamela Hinds) ศาสตราจารย์จาก Stanford University เคยทำวิจัยกับพนักงานฝ่ายขายของบริษัทแห่งหนึ่ง โดยให้คาดการณ์ว่าพนักทั่วไปที่ไม่เคยใช้โทรศัพท์มาก่อน จะฝึกใช้สินค้าจนชำนาญได้ในเวลากี่นาที ฝ่ายขายตอบว่า ‘13 นาที’ แต่เมื่อลองปฏิบัติจริงแล้วกลับต้องใช้เวลาถึง ‘30 นาที’ เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว 

ดังนั้นลองคิดดูว่าหากเราคาดการณ์ไปเองโดยไม่หาข้อมูลว่าลูกทีมของเรามีศักยภาพจริงอยู่ที่จุดไหน เราก็อาจสั่งงานจนทำให้ทีมขาดสมดุลชีวิต (Work Life Balance) นานเข้าก็เกิดการหมดไฟ (Burnout Syndrome) จนนำไปสู่การลาออกในท้ายที่สุด คำสาปของคนเก่ง (Cleverness Curse) จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนควรให้ความสำคัญโดยเร็ว ไม่ว่าคุณจะเป็นพนักงานในระดับใดก็ตาม

สาเหตุของการเกิด Cleverness Curse หรือคำสาปของคนเก่งคืออะไร ?

Cleverness Curse : คำสาปของคนเก่ง ภัยร้ายทำลายองค์กร

ก่อนที่จะไปหาวิธีแก้ไขเรื่องคำสาปของคนเก่ง เราต้องเข้าใจก่อนว่าสาเหตุทางจิตวิทยาและพฤติกรรมศาสตร์ที่ทำให้ปัญหานี้เกิดขึ้นคืออะไร โดยเราสามารถอธิบายออกมาได้ดังนี้

บริบทของโลกที่เปลี่ยนไป (Global Context)

โลกในปัจจุบันหมุนไปเร็วมากทั้งในเรื่องของรูปแบบการทำงาน, ทัศนคติทางด้านธุรกิจ ตลอดจนพฤติกรรมการใช้สื่อออนไลน์ที่มนุษย์เปลี่ยนความสนใจได้ตลอดเวลา ปัญหานี้สอดคล้องกับวิธีรับความรู้ของคนเช่นกัน เพราะคนเก่งบางคนจะเลือกยุติการอธิบายกับคนที่ฟังไม่รู้เรื่อง และไปให้ความสำคัญกับคนที่ตอบสนองคำพูดของตนมากกว่า คนแบบนี้จะไม่รู้ว่าตัวเองมีวิธีสื่อสารที่ผิดพลาด มองปัญหาที่เกิดเป็นเรื่องของคนอื่นเท่านั้น เหตุนี้คนที่เป็นผู้นำจึงต้องตรวจสอบให้แน่ใจเสมอว่าคำสั่งและคำอธิบายที่พูดสามารถนำไปปฏิบัติใช้ได้จริง

ความมีอัตตา (Ego)

คนเก่งมักอยากดูดีต่อหน้าคนอื่น ขณะที่ลูกน้องก็กลัวจะดูแย่ต่อหน้าผู้นำและเพื่อนร่วมงาน ปัญหาจึงเกิดขึ้นเมื่อผู้นำพูดไม่รู้เรื่องแต่พนักงานกลับพยักหน้าเหมือนเข้าใจ พฤติกรรมเหล่านี้จะยิ่งทำให้คำสาปของคนเก่งมีพลังจนทำลายโครงสร้างการทำงานขององค์กรลงได้เลย

อคติ (Bias)

ปัญหานี้อาจเกิดจากพลังในแง่ลบก็ได้  เช่น เมื่อผู้นำคนหนึ่งไม่ชอบผู้นำอีกคนหนึ่งจึงพยายามใช้วิธีอธิบายที่ยากภายใต้แนวคิดว่าหากอีกฝ่ายมีความรู้เหมือนตนก็จะไม่ลำบากกับสิ่งที่พูดออกไป แต่หากมีฝีมือด้อยกว่าก็จะแพ้ภัยตัวเอง ไม่เหมาะกับการเป็นหัวหน้าที่ควรมีความรู้ในระดับเดียวกัน กรณีนี้เรียกเป็นภาษาพูดง่าย ๆ ว่า ‘ลองของ’ นั่นเอง

ความมั่นใจเกินไป (Overconfidence)

มีผลวิจัยจาก Elizabeth Newton กล่าวว่าคนเก่งส่วนใหญ่มั่นใจในทักษะการสื่อสารของตนมากเกินความจริง โดยทดลองให้ผู้พูดใช้โทนเสียงปกติที่คนอื่นคุ้นเคยและทายว่าจะมีคนจำได้หรือไม่ คำตอบที่ได้จากกลุ่มคนเก่งคือการเชื่อว่าจะมีคนถึง 50% ที่จำได้ แต่ความจริงแล้วมีคนที่จำได้เพียง 2.5% เท่านั่น !

ความคิดไปเอง (Illusion & Simplicity)

คนเก่งบางคนคิดว่าการพยายามอธิบายให้ง่ายที่สุดจะต้องมีคนเข้าใจแน่นอน แต่ความจริงคือเขาอาจยังไม่เคยพิสูจน์ก็ได้ว่าวิธีอธิบายดังกล่าวง่ายจริงหรือไม่ ดังนั้นไม่ว่าจะให้ความรู้แก่ใครก็ตาม ให้ศึกษาวิธีการถ่ายทอดที่ถูกต้อง ห้ามคิดไปเองเด็ดขาด

Cleverness Curse หรือคำสาปของคนเก่งเป็นปัญหาต่อองค์กรอย่างไร ?

คนเก่งที่ไม่รู้ว่าจะจัดการตัวเองอย่างไรจะส่งปัญหาทั้งด้านพัฒนาการส่วนบุคคล และทำให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ในองค์กรตามมา โดยเราสามารถอธิบายออกมาเป็นหัวข้อได้ดังนี้

เกิดความเสี่ยงต่อการคล้อยตามสิ่งที่ผิดพลาด (Conformity Risk)

การทำงานมักมาคู่กับเรื่องลำดับขั้น (Hierarchy) ซึ่งแน่นอนว่าวิธีสื่อสาร (Communication Tools) ของคนแต่ละแบบย่อมแตกต่างกันตามไปด้วย ดังนั้นคนเก่งที่เอาแต่สื่อสารโดยเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง เมื่อรวมกับกลไกของการแบ่งระดับในองค์กรที่ลูกทีมอาจไม่กล้าปฏิเสธหรือแสดงด้านไม่รู้ออกมา ก็มีโอกาสสูงที่จะเกิดการเห็นชอบตาม ๆ กันไปโดยปราศจากการพิจารณาอย่างรอบคอบ ทำให้ผลลัพธ์ไม่มีประสิทธิภาพอย่างที่ควรเป็น

เกิดความคาดหวังที่มากเกินไป (Over-Expectation)

แม้แต่ผู้นำที่ประสบการณ์สูงก็สามารถประเมินลูกทีมผิดได้ เพราะคิดว่า การทำงานร่วมกันจะทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้แบบเดียวกัน ทั้งที่ไม่มีอะไรสามารถรับรองได้เลย ปัญหานี้จะทำให้องค์กรตั้ง OKRs ผิดพลาด และสูญเสียทรัพยากรเพราะลงมือทำในสิ่งที่ไม่พร้อม

ขัดขวางการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ (Stifled Innovation)

เมื่อการสื่อสารในทีมไม่มีประสิทธิภาพ ก็จะส่งผลต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ เพราะไม่สามารถออกคำสั่งและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น (Feedback) ที่เกิดประโยชน์ ดังนั้นการสร้างสิ่งใหม่ที่ต้องอาศัยความร่วมมือเป็นพิเศษจึงไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย

ทำให้พลาดโอกาสในการทำงาน (Missed Opportunity)

คนเก่งหลายคนเมื่อถูกเชิญไปสัมภาษณ์งานก็มักคิดว่าองค์กรจะตรวจดู CV เรียบร้อยแล้ว เพราะคิดว่าตนสำคัญจนถูกดึงตัวมาร่วมงาน เลยเลือกที่จะอธิบายจุดเด่นของตนแค่พอสังเขปเท่านั้น แต่ความจริงแล้ว HR หรือผู้สัมภาษณ์อาจยังไม่ได้อ่านเลยก็ได้ การมั่นใจตัวเองแบบนี้จึงอาจทำให้เสียโอกาสได้เลย

ทำให้คนอื่นเชื่อมั่นในตัวเราน้อยลง (Personal Consequences)

เมื่อคนเก่งทำงานอย่างดีอยู่คนเดียว แต่สื่อสารออกมาไม่ได้เรื่องจนลูกทีมทำงานพลาดและโดนต่อว่า เมื่อนานไปบรรยากาศในทีมก็เสียหาย คนอื่นก็มองว่าเราเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เขาถูกต่อว่า พอเกิดประเด็นนี้ขึ้น การร่วมมือ (Collaboration) ก็ไม่เกิดขึ้นจนไปลดทอนคุณค่าของงานในภาพรวม

10 วิธีป้องกัน Cleverness Curse หรือคำสาปของคนเก่ง

Cleverness Curse : คำสาปของคนเก่ง ภัยร้ายทำลายองค์กร

วิธีป้องกันคำสาปของคนเก่งคือการดึงเขากลับมาสู่โลกของความเป็นจริง และทำให้เข้าใจว่ามนุษย์เรายังต้องเรียนรู้อยู่เสมอไม่ว่าจะเป็นพนักงานระดับใดก็ตาม ที่สำคัญต้องทำให้เกิดวัฒนธรรมองค์กรว่าความเก่งจะไม่มีประโยชน์เลยหากถูกใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว กลับกันความเก่งที่มีค่าคือความเก่งที่ช่วยผลักดันให้ทุกคนในทีมเติบโตไปพร้อมกันได้ต่างหาก

เราสามารถป้องกันคำสาปของคนเก่งได้โดยวิธีการเหล่านี้

อธิบายเรื่องต่าง ๆ โดยใช้คำที่ง่ายที่สุด (Simplify Communication)

ไม่ว่าจะพูดเรื่องอะไรก็ตาม ให้คิดเสมอว่ามีโอกาสที่อีกฝ่ายจะไม่เข้าใจสิ่งที่เราพูด โดยเฉพาะในสายงานที่มีศัพท์เฉพาะเยอะ ๆ และนั่นเป็นเพราะทุกคนมีประสบการณ์แตกต่างกัน ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความฉลาดแต่อย่างใด 

ใช้วิธีเล่าเรื่อง (Tell a Story) เป็นหลัก

การให้ข้อมูลใหม่ ๆ มักเป็นเรื่องยากในการทำความเข้าใจเพราะอาจมีคำศัพท์หรือรายละเอียดปลีกย่อยที่ต้องอาศัยการเรียนรู้แบบเฉพาะเจาะจง ดังนั้นแทนที่เราจะอธิบายแค่ข้อมูลส่วนนั้น เราสามารถใช้วิธีเล่าเรื่องเพื่อให้ผู้ฟังเห็นภาพกว้างว่าข้อมูลเหล่านั้นสามารถนำไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์อย่างไร การฝึกคิดให้เป็นเรื่องยังช่วยให้เรารู้จักเรียบเรียงข้อมูลให้เป็นระบบซึ่งเป็นการฝึกตัวคนเก่งเองให้มีศักยภาพในการสื่อสารมากขึ้นด้วย

ให้ความสำคัญกับคำว่าทำไม (Why?)

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องการคำอธิบาย (Explanation-Seeking Creature) ดังนั้นเราต้องอธิบายให้ได้ว่าสิ่งที่เราทำหรือออกคำสั่งไปนั้นมีเหตุผลรองรับหรือไม่ วิธีนี้จะช่วยให้อีกฝ่ายเข้าใจเรามากกว่าเดิม หรืออย่างน้อยก็รู้ว่างานที่ทำอยู่ควรไปในทิศทางใด

อย่าเข้าข้างตัวเอง (Rationalize)

แม้คำสาปของคนเก่งคือการคิดว่าคนอื่นจะรู้เหมือนตน แต่โดยพื้นฐานแล้วความรู้สึกว่าคนอื่นมีความรู้น้อยกว่าก็ยังคงหลบซ่อนอยู่ในมุมหนึ่งอยู่ดีหากความรู้ที่เกิดขึ้นไม่ได้ผ่านการบริหารจัดการทางพฤติกรรมศาสตร์อย่างเหมาะสม ดังนั้นเราต้องไม่เข้าข้างตัวเองอย่างเดียวแม้ความคิดนั้น ๆ จะมีเหตุผลรองรับก็ตาม เพราะการทำงานทุกอย่างล้วนมีวิธีอื่นที่ช่วยให้บรรลุผลแบบเดียวกันเสมอ

ให้เวลาสำหรับทำความเข้าใจ

เนื้อหาบางอย่างแม้จะไม่ใช่เรื่องยาก แต่ก็ต้องใช้เวลาเพื่อสร้างความเข้าใจให้ชัดเจนที่สุด ดังนั้นเมื่อคนเก่งสื่อสารก็ต้องไม่ลืมเปิดโอกาสให้คนอื่นตั้งคำถาม, แลกเปลี่ยนความเห็น และต้องไม่บ่นหากต้องพูดซ้ำในเรื่องเดิม เพราะนี่คือกลยุทธ์ที่จะช่วยผลักดันให้แต่ละฝ่ายความรู้ทัดเทียมกัน 

เปิดรับความเห็นในแง่ลบ (Negative Feedback)

คนเก่งต้องให้ความสำคัญกับคำต่อว่ามากกว่าคำสรรเสริญเยินยอ ดังนั้นหากคุณเป็นผู้นำก็สามารถจัดประชุมทีมเพื่อสอบถามความเห็นจากพนักงานอย่างตรงไปตรงมาได้เลย 

เคารพความแตกต่าง (Diversity)

คำสาปของคนเก่งคือการคิดว่าคนในระดับเดียวกันจะเข้าใจเรื่องต่าง ๆ ในแบบเดียวกัน และอาจคิดไปว่าคนในระดับต่ำกว่าจะไม่สามารถมอบประโยชน์ใด ๆ กลับมาได้ แต่ความจริงมีการพิสูจน์แล้วว่าความรู้ในปัจจุบันไม่ได้มาจากบนลงล่างเสมอ แต่สามารถมาได้จากทุกแง่มุม ดังนั้นหากเราเคารพความแตกต่างแล้วเชื่อมั่นว่าแม้คำพูดจากพนักงานหน้าใหม่หรือคนที่อยู่นอกองคาพยพของงานก็มีประโยชน์ เราก็จะได้ความรู้อีกมากมายที่สามารถนำมาบูรณาการเข้ากับวิธีทำงานของเรา

ยอมรับว่าเราถูกสาป ! (Accepted the Curse)

หากรู้สึกว่าตัวเองกำลังเดินอยู่บนทิศทางที่ไม่ถูกต้องและเริ่มกลายเป็นคนเก่งที่ไม่น่ารัก สิ่งสำคัญคือการยอมรับว่าเรากำลังมีปัญหา ควรรีบแก้ไขด้วยการปรึกษาผู้ที่มีประสบการณ์มากกว่า, นักจิตวิทยา หรือแม้แต่ลูกทีมที่อาจให้แง่มุมในแบบที่ไม่เคยรู้มาก่อน

มองโลกให้กว้าง และศึกษาวิธีสื่อสารกับคนเหล่านั้น (External Advice)

คนเก่งที่ดีต้องรู้ว่ามีคนอื่นที่เก่งกว่าเสมอ ดังนั้นการมองทุกอย่างให้รอบด้าน (Different Perspective) จึงเป็นหน้าที่ที่คนเก่งต้องทำให้ได้ โดยกลยุทธ์ที่ทำให้เราโดดเด่นขึ้นมาคือการใช้วิธี ‘สื่อสารให้มากไว้ก่อน’ (Over-Communication) เพราะแทนที่เราจะมากังวลว่าสื่อสารน้อยเกินไปหรือไม่ ก็ใช้วิธีพูดจนมั่นใจว่าสื่อสารครบทุกแง่มุมแล้วจริง ๆ ดีกว่า

หมั่นซ้อมสื่อสารเพื่อถ่ายทอดความรู้ให้เป็น (Knowledge Transfer Experiment)

หากคุณไม่รู้ว่าตัวเองกำลังถูกสาปหรือไม่ ก็ให้ลองทดสอบดูกับทีมเลยว่าวิธีสื่อสารของเรามีประสิทธิภาพแค่ไหน และคอยฝึกซ้อมให้มากเพื่อแก้ไขจุดอ่อนที่ฉุดเราเอาไว้ หากทำได้ก็รับรองว่าจะถอนคำสาปได้แน่นอน !

บทสรุป

รู้ทันคนอื่นด้วยการอ่านภาษากาย และการใช้ Nonverbal Communication

จะเห็นว่าท้ายสุดแล้วคำสาปของคนเก่ง (Cleverness Curse) ก็คือปัญหาด้านทักษะการสื่อสาร (Communication Skills) ที่เกิดจากทัศนคติ (Mindset) อันผิดพลาดบางอย่างซึ่งส่งผลให้ทักษะความรู้ของคนเก่งไม่เกิดประโยชน์กับงานอย่างที่ควรจะเป็น ดังนั้นหากมองตามหลักของการสร้างองค์กรที่ยั่งยืน (Sustainability) นี่คือประเด็นที่ต้องแก้ไขโดยด่วนหากต้องการให้องค์กรพร้อมรับมือกับการแข่งขันในอนาคต

การถอนคำสาปนี้ไม่ใช่เรื่องของคนเก่งเพียงอย่างเดียว แต่เป็นหน้าที่ของทุกคนที่เกี่ยวข้องที่จะแสดงให้เห็นว่าพลังของการทำงานเป็นทีมสามารถนำไปสู่ความเป็นไปได้อีกมากมาย ดังนั้นลองถอยออกมาก้าวหนึ่งและหันไปมองเพื่อนร่วมงานรอบตัวด้วยสายตาที่เป็นมิตร แล้วคุณจะเข้าใจว่าการเป็นคนเก่งที่อยู่ตัวคนเดียว ย่อมมีโอกาสถูกแซงโดยคนธรรมดาที่เปิดใจรับฟังความเห็นและได้รับการสนับสนุนตามความเหมาะสมจากคนอื่นจริง ๆ 

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง