Dress Code Policy : กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ นโยบาย การแต่งกายมีผลกับการทำงานอย่างไร ?

HIGHLIGHT 

  • Dress Code Policy คือการเขียนนโยบายด้านการแต่งกายสำหรับใช้ในองค์กรเพื่อสร้างระเบียบและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของพนักงาน
  • การแต่งกายที่เหมาะสมจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และเพิ่มความเป็นมืออาชีพโดยเฉพาะในองค์กรที่ต้องเจอลูกค้าเป็นประจำ
  • นโยบายด้านการแต่งกายที่ดีควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของการให้เกียรติ ถูกกาลเทศะ ไม่สร้างความลำบากใจต่อผู้ที่พบเห็น และควรเปิดรับความเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
  • การออกนโยบายเรื่องรอยสักถือเป็นมิติใหม่ของ Dress Code Policy เพราะเป็นวัฒนธรรมที่ได้รับความนิยมมากขึ้น และส่งผลต่อภาพลักษณ์ขององค์กรเช่นกัน

Dress Code Policy : กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ นโยบาย การแต่งกายมีผลกับการทำงานอย่างไร ?

การแต่งกายที่ดีจะสร้างความประทับใจแรก (First Impression) ให้กับผู้ที่พบเห็น ซึ่งแม้บางสายอาชีพจะไม่บังคับให้ใส่เครื่องแบบอย่างจริงจัง แต่การมีกฎเบื้องต้นเป็นกรอบให้พนักงานปฏิบัติตาม ก็จะช่วยให้การแต่งกายอยู่ในบริบทที่เหมาะสม ไม่ฉูดฉาด หรือสร้างความไม่สบายใจจนอาจส่งผลเสียกับงาน

นอกจากเรื่องของความเหมาะสมแล้ว การออกแบบนโยบายเครื่องแต่งกายยังต้องอ้างอิงอยู่กับความเข้าใจด้านเพศสภาพ, ค่านิยมของยุคสมัย รวมถึงความสวยงามที่ทุกคนสวมใส่ได้ นโยบายเครื่องแบบที่ดีจะช่วยให้พนักงานรู้สึกมีส่วนร่วม, เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับองค์กร โดยมีผลวิจัยพิสูจน์แล้วว่าช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้จริง

Dress Code Policy คืออะไร

Dress Code Policy : กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ นโยบาย การแต่งกายมีผลกับการทำงานอย่างไร ?

นโยบายด้านการแต่งกายคือเอกสารชิ้นหนึ่งที่ระบุรูปแบบการแต่งกายที่เหมาะสมสำหรับบุคลากรภายในบริษัท ทั้งนี้รูปแบบการแต่งกายในแต่ละองค์กรจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับวัฒนธรรม (Cultures) รูปแบบของงาน (Industry Type) และความจำเป็น เช่น อาชีพอย่างแพทย์หรือวิศวกรก็จะมีเครื่องแบบเฉพาะตัวที่เราคุ้นเคยกันดี อย่างไรก็ตามการปล่อยให้พนักงานเลือกใส่เสื้อผ้ากันเองโดยไม่มีกฎเกณฑ์รองรับอาจนำมาซึ่งการใส่เครื่องแบบตามใจโดยปราศจากการควบคุม ที่แม้จะทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ แต่ก็อาจขัดแย้งกับภาพลักษณ์ที่ควรจะเป็นจนส่งผลเสียกับงาน

ดังนั้นไม่ว่าองค์กรจะเล็กหรือใหญ่ และอยู่ในสายงานแบบไหน ก็ควรมีนโยบายพื้นฐานเอาไว้ควบคุมการแต่งกายของพนักงานตามสมควร

การออกนโยบายเครื่องแต่งกายไม่จำเป็นต้องมีข้อจำกัดเดียวไว้บังคับใช้กับทุกคน แต่สามารถแยกส่วนตามความเหมาะสมได้ เช่น พนักงานสายครีเอทีฟสามารถแต่งตัวตามอารมณ์ได้หากไม่จำเป็นต้องพบเจอลูกค้า แต่ต้องแต่งตัวให้สุภาพเรียบร้อยหากมีการประชุม หรือกำหนดให้พนักงานที่ต้องใช้เครื่องจักรแต่งตัวรัดกุม ไม่มีสายระโยงระยาง รวมถึงใส่เครื่องป้องกันให้ครบถ้วนเพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ดังนั้นจะเห็นว่านโยบายการแต่งกายไม่ได้ส่งผลต่อด้านภาพลักษณ์เท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยโดยตรงอีกด้วย

Dress Code Policy หรือการมีเครื่องแบบมีผลกับการทำงานอย่างไร

Dress Code Policy : กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ นโยบาย การแต่งกายมีผลกับการทำงานอย่างไร ?

มีการถกเถียงเรื่องประโยชน์ของเครื่องแบบอยู่เสมอ เช่นมีผลวิจัยที่ระบุว่าพนักงานบริษัท 61% มองว่าการแต่งตัวตามสบายช่วยให้ทำงานดีขี้น ขณะที่ผลวิจัยอีกชิ้นจาก Central College Iowa สหรัฐอเมริกาที่สำรวจจากฝ่ายบุคคลมากกว่า 1,000 คนกล่าวว่าการแต่งตัวตามสบายจะนำไปสู่ความไม่มีระเบียบ, เกิดการขาดงาน และทำให้เกิดเรื่องชู้สาวภายในองค์กร ทั้งนี้ยังมีข้อสรุปอีกว่าเครื่องแบบที่สุภาพเรียบร้อยจะสร้างความน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับจากคนรอบตัวมากกว่า

สิ่งที่เราควรสนใจจึงไม่ใช่ว่าการแต่งตัวแบบไหนที่เกิดประโยชน์มากกว่า เพราะมันขึ้นอยู่กับรูปแบบงาน, รสนิยม รวมถึงวิสัยทัศน์องค์กร (Company’s Vision) เราแค่ต้องเปิดใจเพื่อให้สัมผัสถึงคุณค่าของการแต่งกายอย่างแท้จริง

ประโยชน์ของ Dress Code Policy มีดังนี้

1. หมดห่วงเรื่องการแต่งกายของพนักงาน : ปัญหานี้อาจไม่เห็นภาพมากนักในองค์กรใหญ่ ๆ ที่มีกฎชัดเจน แต่เป็นปัญหาสำคัญโดยเฉพาะในธุรกิจขนาดเล็กที่กำลังเติบโต และมีพนักงานที่แต่งตัวตามสบาย ไม่เหมาะกับการคุยงานที่จริงจังขึ้น ปัญหานี้แก้ได้ด้วยการวางข้อบังคับอย่างชัดเจน ไม่จำเป็นต้องเป็นเครื่องแบบประจำก็ได้ แต่สามารถเป็นลักษณะของการขอความร่วมมือ

2. สร้างความประทับใจให้ลูกค้า : หากเราทำธุรกิจที่ต้องติดต่อสื่อสารกับผู้อื่นอยู่เสมอ การแต่งกายที่ดีคือภาพสะท้อนถึงคุณภาพขององค์กร หากพนักงานของเราแต่งตัวไม่ถูกกาลเทศะหรือไม่สะอาดเรียบร้อยก็จะลดทอนความเชื่อมั่นของอีกฝ่ายลงทันที อนึ่ง องค์กรสามารถมีผู้เชี่ยวชาญคอยช่วยเหลือหากพนักงานไม่มีทักษะในการแต่งกาย

3. สร้างความเท่าเทียมในองค์กร : ผลโดยอ้อมของเรื่องนี้คือการสร้างความเท่าเทียมโดยเฉพาะในองค์กรที่มีความหลากหลายสูง เครื่องแบบจะทำให้ทุกฝ่ายอยู่ในสถานะใกล้เคียงกันซึ่งส่งผลให้การร่วมงานง่ายขึ้นตามไปด้วย เพราะหากต่างฝ่ายต่างแต่งตัวตามใจก็อาจเกิดข้อเปรียบเทียบที่ทำให้ความแตกต่างเด่นชัดขึ้น

Dress Code Policy ที่ดีต้องมีองค์ประกอบใดบ้าง

Dress Code Policy : กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ นโยบาย การแต่งกายมีผลกับการทำงานอย่างไร ?

ปกติแล้วผู้บริหารสามารถกำหนดลักษณะของเครื่องแบบได้เลย โดยอาจอ้างอิงจากอัตลักษณ์ขององค์กร (CI – Corporate Identity) ขององค์กร หรือความเหมาะสมของสายงาน อย่างไรก็ตามการออกนโยบายแต่ละครั้งควรตั้งอยู่บนความเคารพซึ่งกันและกัน, ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ และเปิดกว้างกับรสนิยมของพนักงานตามสมควร ทั้งนี้ HR สามารถทำแบบสอบถามก่อนเริ่มวางแผนนโยบายเพื่อให้มีข้อมูลครอบคลุมที่สุด จากนั้นให้อธิบายแนวคิดและสาเหตุของการออกนโยบายดังกล่าวออกมาอย่างชัดเจนพร้อมเปิดโอกาสให้พนักงานได้แลกเปลี่ยนความเห็นหากรู้สึกว่านโยบายที่องค์กรนำเสนอมีจุดที่ยังไม่พอใจ

องค์ประกอบพื้นฐานของนโบยายเครื่องแบบมีดังนี้

– คำอธิบายองค์กรต้องอธิบายเบื้องต้นว่าภาพลักษณ์ที่อยากให้พนักงานเป็นมีลักษณะอย่างไร มีสาเหตุจากอะไร เพื่อทำให้พนักงานเข้าใจว่าทำไมต้องทำตาม

– กลุ่มเป้าหมาย : นโยบายต้องระบุให้ชัดเจนว่ามีผลบังคับใช้กับบุคลากรกลุ่มใดบ้าง ห้ามปล่อยให้พนักงานคิดไปเองว่าตนได้ข้อยกเว้นและแต่งตัวตามอำเภอใจ

– ข้อกำหนดเบื้องต้น : เขียนข้อห้ามต่าง ๆ ให้ชัดเจน เช่น สีที่ห้าม, ประเภทของชุดที่ห้าม, ประเภทของเครื่องประดับที่ห้าม รวมถึงข้อกำหนดเรื่องรอยสัก

– รูปแบบเครื่องแต่งกายพื้นฐานขององค์กร : หากองค์กรมีเครื่องแบบเฉพาะ ต้องอธิบายให้ชัดเจนว่าเป็นอย่างไร ต้องใส่วันไหน คู่กับเครื่องแต่งกายอื่น ๆ อย่างไร 

– หมายเหตุ : เพื่อป้องกันความไม่พอใจที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบายขององค์กร HR ควรชี้แจงอย่างตรงไปตรงมาว่าพนักงานมีสิทธิ์ออกความเห็นได้เลย เพราะนโยบายนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการทำงานของบุคลากรมากกว่าการสร้างภาระโดยไม่รู้ตัว

ตัวอย่างของ Dress Code Policy

ในส่วนของคำอธิบายนั้น องค์กรควรแยกเป็นหัวข้อว่าพนักงานควรใส่ชุดแบบไหน ในสถานการณ์ไหน และมีข้อยกเว้นอย่างไร โดยแยกเป็นรูปแบบดังนี้

– การใส่ชุดแบบเป็นทางการ (Business Formal) : เนื่องด้วยองค์กรของเราต้องพันธมิตรและลูกค้าอยู่เสมอ เราจึงต้องออกข้อกำหนดให้พนักงานแต่งตัวด้วยชุดสำหรับธุรกิจ (Business Atttire) โดยใส่สูทหรือเสื้อคลุม คู่กับกางเกงหรือกระโปรงตามความเหมาะสม ซึ่งพนักงานสามารถตัดสินใจเลือกชุดเองได้เลย

– การใส่ชุดแบบกึ่งทางการ (Business Casual) : เนื่องด้วยองค์กรของเราต้องพบเจอกับลูกค้าอยู่เป็นระยะ และการแต่งตัวที่ดีจะสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นมืออาชีพออกมา ดังนั้นเราจึงอยากให้ทุกคนใส่ชุดสุภาพ ถูกกาลเทศะ เช่นเสื้อคอปก, กางเกงขายาว, เสื้อคลุม หรือชุดเดรส โดยพนักงานสามารถเลือกเองตามความเหมาะสมได้เลย

– การใส่ชุดแบบไม่เป็นทางการ (Casual) : เนื่องด้วยบริษัทของเรามีนโยบายให้พนักงานแต่งตัวตามสบาย ดังนั้นเราขอให้พนักงานเลือกชุดให้ถูกกาลเทศะ ไม่เลือกชุดที่อาจสร้างความลำบากใจให้เพื่อนร่วมงานท่านอื่น ไม่สวมใส่ชุดที่มีภาพหรือถ้อยคำหยาบคาย หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามกับทีม HR ได้เลย

Dress Code Policy หรือการมีเครื่องแบบสำคัญกับการทำงานแบบไฮบริดอย่างไร ?

คนทั่วไปอาจคิดว่าการใส่เครื่องแบบเหมาะสำหรับการทำงานที่ออฟฟิศหรือเมื่อต้องเผชิญหน้ากับผู้อื่นเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้วการใส่เครื่องแบบสามารถใส่ได้แม้เป็นการทำงานอยู่ที่บ้าน (Work From Home) เพราะจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจและคอยเตือนสติให้เรารู้ว่ายังคงอยู่ในสถานะของการทำงาน แม้จะไม่มีคนคอยควบคุมอยู่ใกล้ ๆ อย่างไรก็ตามการออกนโยบายนี้มีความเสี่ยงสูงมากที่จะทำให้พนักงานรู้สึกว่าองค์กรกำลังละเมิดพื้นที่ส่วนตัว ดังนั้น HR ควรศึกษาพฤติกรรมและมุมมองของพนักงานอย่างละเอียดก่อนบังคับใช้นโยบายอย่างจริงจัง ชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนจากชุดนอนมาเป็นชุดที่เป็นทางการขึ้นเกิดประโยชน์อย่างไร หรืออย่างน้อยก็กำหนดให้มีเครื่องแบบสำหรับการประชุมออนไลน์ เป็นต้น

ประโยชน์ของนโยบายการแต่งกายสำหรับทำงานอยู่บ้านมีดังนี้

1. เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน : เป็นเรื่องธรรมดาที่พนักงานจะแยกเวลาพักผ่อนกับเวลาทำงานไม่ออกเมื่อต้องทำงานอยู่บ้าน เพราะเส้นดังกล่าวได้ลดความสำคัญลงเรื่อย ๆ ดังนั้นสิ่งที่องค์กรต้องทำคือหาแนวทางให้พนักงานรู้สึกว่าต้องจริงจังกับงานเหมือนเดิม และการเปลี่ยนชุดให้เหมาะสมก็เป็นแนวทางที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำ​โดยพนักงานสามารถใส่ในเวลาทำงาน และถอดเมื่อถึงเวลาเลิกงาน ซึ่งแม้บางคนจะเถียงว่าการแต่งตัวสบาย ๆ เป็นความสุขอย่างหนึ่งของการทำงานที่บ้าน แต่พฤติกรรมดังกล่าวจะไม่สามารถโน้มน้าวใจของพนักงานบางคนให้จดจ่ออยู่กับงานตลอดวันได้เลย

2. สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายในทีม : ปัญหาใหญ่ของการทำงานอยู่บ้านก็คือต่างฝ่ายต่างทำงานแบบตัวคนเดียว ขาดการมีส่วนร่วมภายในทีมซึ่งหากปล่อยไว้นานไปก็จะลดทอนประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกับผู้อื่น (Teamwork Skill) ยิ่งบางบริษัทที่มีการรับพนักงานใหม่เข้ามาขณะที่นโยบายทำงานแบบไฮบริดยังคงอยู่ซึ่งทำให้บางคนต้องทำงานโดยที่ยังไม่เคยเห็นหน้าเพื่อน ๆ เลยด้วยซ้ำ ดังนั้นเพื่อสร้างมิติของความเป็นทีมอีกครั้ง HR สามารถกำหนดให้พนักงานใส่เสื้อทีมขณะประชุมได้เลย วิธีนี้แม้จะขัดใจไปบ้าง แต่ก็จะทำให้พนักงานตระหนักว่าทุกคนมีจุดร่วมเดียวกัน จำเป็นต้องช่วยเหลือกันจนกว่างานจะผ่านไปได้ด้วยดี

3. ช่วยรักษาความเป็นมืออาชีพของพนักงาน : เมื่อทุกคนทำงานอยู่บ้าน รูปแบบการทำงานของแต่ละคนจะเปลี่ยนไป เช่น บางคนเลือกแต่งตัวแค่เฉพาะท่อนบนที่ต้องออกหน้ากล้องเท่านั้น หรือเลือกใส่ชุดนอนและทำงานบนเตียงตลอดวัน ซึ่งแม้จะได้ชิ้นงานออกมาเหมือนกัน แต่สิ่งที่ขาดหายไปก็คือความเป็นมืออาชีพที่เคยได้จากการทำงานในออฟฟิศ ดังนั้นการบังคับตัวเองให้ตื่นมาเปลี่ยนชุดนั่งทำงานในองค์ประกอบที่เหมาะสมจะช่วยให้เรารักษาความเป็นมืออาชีพและพร้อมสำหรับการกลับไปทำงานที่ออฟฟิศในอนาคต

Tattoo Policy หรือนโยบายรอยสักคืออะไรและมีความสำคัญกับองค์กรอย่างไร

Dress Code Policy : กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ นโยบาย การแต่งกายมีผลกับการทำงานอย่างไร ?

หากมองถึงเป้าหมายของการออกนโยบายเครื่องแต่งกายแล้ว จะเห็นว่ามันถูกสร้างขึ้นเพื่อรักษาภาพลักษณ์ของพนักงานซึ่งถือเป็นภาพสะท้อนขององค์กร ดังนั้นเราจึงต้องให้ความสำคัญกับนโยบายรอยสักที่เป็นที่ยอมรับมากขึ้นอ้างอิงจากผลสำรวจที่บอกว่านายจ้างถึง 3 ใน 4 ยินดีรับคนที่มีรอยสักเข้าทำงาน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องตรวจสอบด้วยว่าลูกค้าของเรามีความเห็นเชิงบวกกับประเด็นนี้ด้วยหรือเปล่า เพราะยังถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน

ข้อสังเกตเรื่องนโยบายรอยสักภายในองค์กร

ต้องเข้าใจก่อนว่าไม่ใช่งานทุกประเภทที่เหมาะกับการมีรอยสัก ดังนั้น HR ต้องออกนโยบายตามความเหมาะสม ไม่ขวางโลกหรือเอาแต่ใจเด็ดขาดเพราะเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบกับงานโดยตรง 

ประโยชน์ที่เห็นชัดที่สุดจากการยินยอมให้มีรอยสักในองค์กรคือการแสดงให้สังคมเห็นว่าเราเป็นบริษัทสมัยใหม่ที่เปิดรับเรื่องสิทธิ์ของพนักงาน รอยสักที่ดีสามารถสะท้อนถึงตัวตนของพนักงานในแง่มุมที่เครื่องแต่งกายทั่วไปทำไม่ได้ แถมยังช่วยให้มีตัวเลือกในตลาดแรงงานมากขึ้นเพราะยังมีองค์กรอีกมากที่หลีกเลี่ยงพนักงานในลักษณะนี้ 

แต่การยินยอมให้พนักงานมีรอยสักอาจนำมาซึ่งการเรียกร้องในหัวข้ออื่น ๆ เช่นการใส่เครื่องประดับแปลก ๆ หรือการทำสีผมฉูดฉาด ดังนั้นองค์กรต้องตอบให้ได้ว่านโยบายต่าง ๆ เกิดขึ้นด้วยบริบทใด  มีเป้าหมายอย่างไร และจะสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อธุรกิจได้อย่างไร

บทสรุป

การแต่งกายที่ดีคือรากฐานของทุกความสำเร็จ เป็นการให้เกียรติสถานที่ ผู้คน และชิ้นงานที่กำลังทำอยู่ ดังนั้นอย่ามองเป็นแค่เรื่องเล็กน้อยและปล่อยผ่านจนเกิดเป็นวัฒนธรรมผิด ๆ ที่อาจส่งผลกระทบในแง่ลบต่อองค์กร ให้คิดเสมอว่ายิ่ง HR ใส่ใจในรายละเอียดเล็กน้อยเท่าไหร่ ก็จะยิ่งมีข้อแตกต่างที่ได้เปรียบคู่แข่งมากขึ้นเท่านั้น “นโยบายการแต่งกาย” (Dress Code Policy) จึงเป็นเคล็ดลับสำคัญที่จะยกระดับการทำงานได้อย่างแท้จริง

ผู้เขียน

Pumi Boonyatud

Pumi Boonyatud

a professional daydreamer. pro-wrestling god.

บทความที่เกี่ยวข้อง