MIDDLE MANAGER : ผู้บริหารระดับกลาง คนกลางระหว่างผู้นำและพนักงาน

HIGHLIGHT

  • ผู้บริหารระดับกลาง (Middle Manager) คือคนกลางระหว่างผู้บริหารระดับสูงและพนักงาน เป็นตำแหน่งที่มักถูกมองข้าม แต่จริง ๆ เป็นดั่งกระดูกสันหลังที่ทุกองค์กรจะขาดไปไม่ได้
  • ผู้บริหารระดับกลางในปัจจุบันมีภาระหน้าที่มากกว่าเมื่อ 10 ปีก่อนถึงกว่า 50% ดังนั้น HR ต้องเข้ามาบริหารจัดการให้ดีหากต้องการใช้ประโยชน์จากผู้บริหารระดับกลางโดยไม่เกิดภาวะหมดไฟในผู้นำ (Manager Burnout)
  • ผู้บริหารระดับกลางต้องกล้าปกป้องลูกทีมหากมองว่าคำสั่งของผู้บริหารระดับสูงไม่สมเหตุสมผล หรือไม่เหมาะกับรูปแบบการทำงานของทีม ห้ามเป็นคนที่ตอบตกลงเสมอโดยไม่พิจารณาจากความเป็นจริงเด็ดขาด
  • ผู้บริหารระดับสูงมีหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้บริหารระดับกลาง ขณะที่ผู้บริหารระดับกลางก็มีหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้บริหารระดับล่าง รวมถึงประพฤติตนเป็นแบบอย่างให้กับพนักงานท่านอื่น ๆ ด้วย
  • มีวิจัยเผยว่าผู้บริหารระดับกลางมีผลกับการมีส่วนร่วมของพนักงาน (Employees Engagement) โดยตรง หากผู้นำเครียด ลูกทีมก็จะเครียด แต่หากผู้นำกระตือรือร้น ลูกทีมก็จะมีไฟทำงาน

MIDDLE MANAGER : ผู้บริหารระดับกลาง คนกลางระหว่างผู้นำและพนักงาน

“ผู้บริหารระดับกลาง” (Middle Manager) ชื่อก็บอกชัดเจนอยู่แล้วว่าหมายถึงคนที่อยู่ตรงกลางระหว่างผู้บริหารระดับสูงและพนักงาน ตำแหน่งนี้ถูกขนานนามว่าเป็นดั่งกระดูกสันหลังขององค์กรและมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าผู้บริหารระดับสูง เพราะต้องคอยประสานงานให้การสื่อสารของทุกฝ่ายมีประสิทธิภาพ และช่วยกระตุ้นให้พนักงานทำหน้าที่ตามวัตถุประสงค์ที่องค์กรตั้งไว้ จึงไม่แปลกหากการเป็นผู้บริหารระดับกลาง (Middle Manager) จะมีความท้าทายและเคร่งเครียดไปพร้อม ๆ กัน

ผู้บริหารระดับกลาง หรือ Middle Manager มีความสำคัญกับองค์กรอย่างไรบ้าง หาคำตอบได้ที่นี่

ผู้บริหารระดับกลางหรือ Middle Manager คืออะไร

ผู้บริหารระดับกลางคือคนที่ทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างผู้บริหารระดับสูง (Top Manager), ผู้บริหารระดับต้น (First – Line Manager) และพนักงานทั่วไป (Employees) ช่วยดูแลเรื่องการมีส่วนร่วม (Employee Engagement), การพัฒนาทักษะ (Improvement), การปรับตัว (Adaptation) รวมถึงการควบคุมประสานงานกับฝ่ายต่าง ๆ ให้ทำตามนโยบายและแผนงานที่องค์กรกำหนดไว้ ก่อนจะสรุปผลมารายงานต่อผู้บริหารในภายหลัง 

ผู้บริหารระดับกลางหรือ Middle Manager มีหน้าที่อย่างไร

ผู้บริหารระดับกลางต้องทำหน้าที่หลายส่วน ตั้งแต่ติดตามผลปฏิบัติงานของลูกทีม, ดูแลงบประมาณ ตลอดจนรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากมายที่ต้องควบคุมให้เป็นไปตามแผนงานในแต่ละวัน หน้าที่ของผู้บริหารระดับกลางจะแตกต่างกันไปตามแต่ละองค์กร โดยสามารถสรุปหน้าที่เบื้องต้นออกมาได้ ดังนี้

1. ผู้บริหารระดับกลางคือนักประสานงานขององค์กร : เมื่อผู้บริหารระดับสูงต้องการแจ้งข่าวสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการทำงาน, การเปลี่ยนวิสัยทัศน์, การปรับวัฒนธรรมองค์กร ฯลฯ ผู้บริหารระดับกลางคือคนที่ต้องกระจายข้อมูลไปสู่ผู้บริหารระดับล่าง รวมถึงตรวจสอบว่าทุกฝ่ายเข้าใจเนื้อหาที่แจ้งมาอย่างครบถ้วน บังคับใช้ได้จริง ผู้บริหารระดับกลางจึงมีหน้าที่อธิบายหรือทำให้ดูเป็นตัวอย่างเมื่อถึงคราวจำเป็น

2. ผู้บริหารระดับกลางคือคนวางเป้าหมายให้กับทีม : เมื่อรับคำสั่งจากผู้บริหารระดับสูงมาแล้ว ผู้บริหารระดับกลางต้องมาวางแผนต่อว่าลูกทีมแต่ละคนควรทำงานอย่างไรจึงจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ทั้งนี้ไม่ใช่การวางแผนโดยเอาผลลัพธ์เป็นที่ตั้งเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงสภาพจิตใจตลอดจนการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอีกด้วย เนื่องจากการรับคำสั่งจากผู้บริหารระดับสูงโดยตรงแปลว่าตัวผู้นำระดับกลางก็มีส่วนในชิ้นงานนั้น ๆ จึงต้องช่วยอบรมพัฒนาทักษะของลูกทีมและสนับสนุนจนกว่างานจะเสร็จตามที่มุ่งหวังตั้งใจ

3. ผู้บริหารระดับกลางคือคนที่ต้องสื่อสารกับลูกทีมเสมอ : การทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างผู้บริหารระดับสูงกับพนักงานหมายความว่าผู้บริหารระดับกลางจะต้องมีส่วนร่วมกับพนักงานมากเป็นพิเศษ เพราะต้องทำหน้าที่สนับสนุนเป้าหมายขององค์กร ตลอดจนช่วยปรับความเข้าใจกับพนักงานหากเกิดความไม่พอใจใด ๆ นอกจากนี้ผู้นำระดับกลางมีหน้าที่ตรวจสอบความพอใจของพนักงานเป็นระยะ เช่น การทำ Stay Interview ทุกสัปดาห์ หรือทุกเดือน และประสานงานกับฝ่ายบุคคล (HR) หากเห็นว่ามีจุดที่ต้องปรับปรุงแก้ไข ผู้นำระดับกลางต้องทำให้คนรอบตัวรู้สึกได้ว่าเราไม่ได้สนใจแค่ผลลัพธ์ของงานเท่านั้น แต่การทำงานอย่างมีความสุขก็สำคัญไม่แพ้กัน 

4. ผู้บริหารระดับกลางคือคนที่ช่วยให้ลูกทีมเก่งขึ้น : หน้าที่หนึ่งที่มองข้ามไปไม่ได้ก็คือการช่วยพัฒนาทักษะลูกทีมเพื่อให้สามารถต่อยอดมาอยู่ในจุดเดียวกับเราได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

ดังนั้นหากเราเห็นปัญหาในการทำงาน หรือเจอวิธีการเรียนรู้ใหม่ ๆ ที่คิดว่าเป็นประโยชน์ ผู้บริหารระดับกลางมีหน้าที่พูดคุยกับ HR เพื่อหาความเป็นไปได้ในการนำความรู้เหล่านั้นมาประยุกต์ใช้ และเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้ยกระดับตัวเองขึ้นมาเป็นคนที่เก่งกว่าเดิม ผู้นำที่รู้ว่าจุดแข็ง – จุดอ่อนของลูกทีมคืออะไร จะรู้ว่าต้องมอบหมายงานแบบใด กับพนักงานท่านใด ถึงจะช่วยให้การทำงานราบรื่นขึ้น

5. ผู้บริหารระดับกลางคือคนที่ต้องรับและไล่พนักงาน : หากทีมที่มีอยู่ไม่มีศักยภาพมากพอที่จะบรรลุเป้าหมายขององค์กร ผู้บริหารระดับกลางคือคนที่ต้องคิดว่าทีมของเรามีจุดอ่อนอย่างไร และจะหาพนักงานแบบใดมาเพิ่มเติม  ผู้บริหารระดับกลางจะต้องช่วยเขียน Job Description สำหรับประกาศรับสมัครงาน, ช่วยในขั้นตอนสัมภาษณ์ และที่ยากที่สุดคือต้องเป็นคนเชิญพนักงานออก หากเห็นว่าก่อปัญหาให้ทีมจริง ๆ 

ผู้บริหารระดับกลางยังต้องคอยจัดงบประมาณที่ได้รับมาอย่างเหมาะสม, คอยตรวจสอบว่าลูกทีมของเรามีเครื่องมือและองค์ประกอบต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการทำงานครบถ้วนดีแล้วหรือไม่ และต้องเตรียมพร้อมตลอดทั้งวันหากลูกทีมเกิดปัญหาไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ก็ตาม

ผู้บริหารระดับกลางหรือ Middle Manager ต้องมีทักษะอะไรบ้าง

ทุกสายงานมีช่องทางให้เติบโตเสมอ ผู้บริหารระดับกลางเองก็คือตำแหน่งที่ต้องก้าวไปเป็นผู้บริหารระดับสูงหรือรับผิดชอบงานที่สำคัญกว่าเดิมในอนาคต 

เราสามารถสรุปทักษะที่ผู้บริหารระดับกลางจำเป็นต้องมีได้ดังนี้

1. ผู้บริหารระดับกลางต้องมีทักษะการสื่อสารที่ดี (Communication Skills) : ทักษะการสื่อสารคือทักษะที่ผู้บริหารทุกระดับต้องมี ทั้งในแง่ของการสื่อสารภายในองค์กร ตลอดจนการสื่อสารข้อมูลของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ออกไปสู่ท้องตลาด 

ผู้นำระดับกลางควรตั้งคำถามกับลูกทีมเพื่อหาคำตอบว่าลูกทีมแต่ละคนมีจุดเด่นอะไร และมีจุดใดที่ไม่มั่นใจบ้าง การสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาจะทำให้เราเข้าถึงปัญหาเร็วขึ้น ส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพการทำงานโดยรวม

HR มีข้อสงสัยหรือคำถามเกี่ยวกับประเด็นนี้

Q: พนักงานมักมีปัญหาเรื่องการสื่อสาร ไม่ว่าจะสั่งงานไปแบบไหน ก็เหมือนไม่ค่อยเข้าใจ

เวลาสั่งงานแต่ละครั้งจะได้งานมาแบบไม่ตรงโจทย์ ไม่ได้ดั่งใจ มีวิธีพัฒนาการสื่อสารในทีมอย่างไรบ้างครับ ?

A: ผู้นำต้องเริ่มต้นจากการทบทวนตัวเองก่อนว่าสั่งงานได้ชัดเจนแล้วจริงหรือไม่

เช่นหากเป็นงานแบบใหม่ เราก็ควรอธิบายให้ละเอียดและอาจวาดภาพประกอบเพื่อให้ลูกน้องเข้าใจมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังต้องชี้แจงว่าเราคาดหวังจะเห็นอะไร ทั้งนี้เราควรเปิดใจรับฟังความเห็นของลูกทีมเช่นกัน เพราะบางทีเราอาจจะได้ไอเดียใหม่ ๆ กลับมาก็เป็นได้

,,, (คลิกดูคำตอบทั้งหมด👇)

2. ผู้บริหารระดับกลางต้องมีความรับผิดชอบ (Accountability Skills) : ผู้นำระดับกลางต้องเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับงาน รับผิดชอบ และถ่ายทอดทัศนคตินี้ไปสู่คนรอบตัวให้ได้ เช่นหากเราเห็นว่าการทำงานของลูกทีมมีปัญหา ผู้นำต้องเข้าไปช่วยเหลือทันทีตามความเหมาะสมโดยไม่ให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าถูกควบคุมเกินจำเป็น การสนับสนุนจากผู้นำจะทำให้ลูกทีมเห็นว่าความรับผิดชอบเป็นอย่างไร ทั้งนี้ต้องไม่มีการโยนปัญหาไปให้คนใดคนหนึ่งและกลับมาเอาหน้าเมื่องานสำเร็จ หรือหลีกหนีปัญหาหากเกิดข้อผิดพลาด ทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกันเพื่อให้เกิดความเป็นเจ้าของ (Sense of Ownership) ในชิ้นงาน

3. ผู้บริหารระดับกลางต้องรู้จักบริหารเวลา (Time and Energy Management) : ผู้นำที่ดีไม่ใช่คนที่ทำงานหนักแบบลืมวันลืมคืน แต่ผู้นำที่ดีต้องตระหนักเสมอว่าหากทำงานหนักได้ ก็ต้องหาเวลาพักผ่อนให้ได้เช่นกัน วิธีการง่าย ๆ คือการตั้งคำถามกับตัวเองว่างานแบบใดที่ทำแล้วรู้สึกว่าต้องใช้พลังงานมากที่สุด, งานแบบใดที่ทำแล้วรู้สึกสบายใจ สามารถทำได้เรื่อย ๆ, งานแบบใดที่ทำแล้วรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า เป็นต้น จากนั้นให้เอาคำตอบที่ได้มาบูรณาการเป็นกิจกรรมที่เราควรทำในแต่ละวัน ให้คิดเสมอว่าผู้บริหารระดับกลางต้องทำหน้าที่หลายอย่างด้วยสติสัมปชัญญะครบถ้วน ไม่สามารถตัดสินใจแบบขอไปทีเพราะส่งผลต่อรูปแบบการทำงาน รวมถึงผลประโยชน์ขององค์กร 

8 วิธีพัฒนา Employee Experience ในระยะยาว

4. ผู้บริหารระดับกลางต้องสามารถทิ้งทักษะบางอย่างเป็น (Unlearning Skills) : ทักษะข้อนี้ถือเป็นเรื่องยากที่สุด กล่าวคือเมื่อพนักงานคนหนึ่งทำหน้าที่จนประสบความสำเร็จและได้เลื่อนขั้นมาเป็นผู้นำ สาเหตุสำคัญย่อมมาจากทักษะและประสบการณ์ที่เรียนรู้ผ่านวันเวลา ดังนั้นการบอกว่าทักษะบางอย่างอาจใช้ไม่ได้เมื่อมาเป็นผู้บริหารระดับกลางจึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจมากเป็นพิเศษ 

ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าสิ่งแรกที่ผู้บริหารระดับกลางต้องเข้าใจก็คือเราไม่ได้เป็นเพียงพนักงานหรือผู้บริหารระดับล่างที่มีสิทธิ์มีเสียงไม่มากอีกแล้ว การทำงานแบบถวายหัวในฐานะผู้รับคำสั่งโดยปราศจากการวางแผนจึงเป็นเรื่องต้องห้ามที่สุด กลับกันผู้บริหารระดับกลางต้องตระหนักว่าตำแหน่งนี้ตามมาด้วยความรับผิดชอบมากมาย เราต้องทำตัวเองให้พร้อมรับมือกับคำสั่ง และรู้จักวิธีถ่ายทอดอย่างมีชั้นเชิง การทิ้งตัวตนเดิมและเข้าใจว่าเราอยู่ในจุดที่โตขึ้นแล้วจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เราเป็นผู้นำที่ดี

5. ผู้บริหารระดับกลางต้องมองเห็นภาพรวมของงานได้ (Big Picture Thinking Skills) : การเป็นผู้นำ แปลได้แบบตรงตัวคือ “คนที่มีผู้ตาม” ดังนั้นผู้บริหารระดับกลางต้องตอบให้ได้ว่าตนรู้จักผู้ตามในองค์กรดีพอหรือไม่ ความเข้าใจตรงนี้จะช่วยให้สามารถแบ่งหน้าที่รับผิดชอบได้ตามความชำนาญ ให้พนักงานได้ดึงศักยภาพของตนออกมามากที่สุด อนึ่งหากผู้บริหารระดับกลางไม่รู้จักพนักงานดีพอ การสั่งงานก็อาจมีประโยชน์แค่ด้านจำนวนคน (Manpower) ที่เพียงพอเท่านั้น แต่ไม่มีประสิทธิภาพอย่างที่ควรจะเป็น

อยากเป็นผู้บริหารระดับกลางหรือ Middle Manager ที่ประสบความสำเร็จต้องทำอย่างไร

8 วิธีพัฒนา Employee Experience ในระยะยาว

ผู้บริหารระดับกลางทำหน้าที่แตกต่างกันไปตามสายงานและขนาดขององค์กร อย่างไรก็ตามหน้าที่เบื้องต้นมีจุดร่วมอยู่ที่ความรับผิดชอบ, ความเป็นมืออาชีพ และความตั้งใจที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ โดยผู้เชี่ยวชาญมีคำแนะนำสำหรับผู้บริหารระดับกลางที่อยากประสบความสำเร็จดังนี้ 

1. ผู้บริหารระดับกลางต้องคอยตรวจสอบลูกทีม : ให้นึกเสมอว่าสภาพจิตใจของคนเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา และทุกคนสามารถมีปัจจัยส่วนตัวมาเกี่ยวข้องกับการทำงานได้ทั้งนั้น เหตุนี้ผู้นำต้องคอยสอบถามลูกทีมว่ามีปัญหาใด ๆ เกิดขึ้นในแต่ละช่วงหรือไม่, มีสิ่งใดที่อยากปรับปรุงแก้ไขหรือไม่ 

ทั้งนี้การพูดคุยกับลูกทีมควรทำในเวลาที่ทุกคนมีโอกาสเตรียมตัว เช่น แจ้งนัดหมายล่วงหน้า หรือทำให้ทุกคนรู้ว่าจะมีการประชุมก่อนและหลังเริ่มโปรเจ็กต์เสมอ ความชัดเจนตรงนี้จะทำให้พนักงานเชื่อมั่นว่าแม้จะเจอความยากลำบากแค่ไหน แต่พวกเขาก็จะมีช่วงเวลาที่สามารถพูดคุยกับผู้บริหารโดยตรงได้จริง ๆ ไม่จำเป็นต้องเครียดหรือหาทางแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองคนเดียว

2. ผู้บริหารระดับกลางต้องแสดงความเชื่อมั่นต่อลูกทีม : ผู้นำในสมัยก่อนอาจให้ความสำคัญกับเรื่องลำดับขั้นและเปรียบตัวเองเป็นคนออกคำสั่งขณะที่ลูกทีมมีหน้าที่ปฏิบัติตามเท่านั้น แต่ปัจจุบันยุคสมัยได้เปลี่ยนไปแล้ว ลูกทีมแต่ละคนสามารถออกความเห็นได้ตามสมควรและมีหลายครั้งที่มันทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ดังนั้นผู้นำที่ดีต้องให้โอกาสพนักงาน คอยสนับสนุน และกระตุ้นให้กล้าตัดสินใจด้วยตัวเอง ความเชื่อมั่นตรงนี้จะทำให้ลูกทีมอยากทำงานกับเรา ช่วยให้ความสัมพันธ์ภายในทีมแข็งแรงขึ้น

3. ผู้บริหารระดับกลางต้องให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ควบคู่ไปกับผลลัพธ์ที่ดี : องค์กรย่อมเจอปัญหาหากผู้บริหารระดับกลางหากไม่สามารถสร้างงานให้เสร็จตามเป้า แต่ผู้บริหารระดับกลางก็ต้องคิดเสมอว่างานทุกอย่างจะสำเร็จไม่ได้หากปราศจากความร่วมมือของพนักงาน ดังนั้นไม่ว่าจะได้งานเล็กหรือใหญ่มาก็แล้วแต่ คนที่เป็นผู้นำต้องวางแผนโดยคำนึงถึงจิตใจและผลลัพธ์ไปพร้อม ๆ กัน โดยสามารถจัดประชุมทีมเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดได้เลย

4. ผู้บริหารระดับกลางต้องมีทักษะในการเลือกพนักงาน : การรับพนักงานใหม่แต่ละคนสะท้อนถึงความก้าวหน้าและบอกได้ว่าทิศทางขององค์กรจะก้าวไปในลักษณะใด ผู้นำต้องจ้างคนโดยเอาวิสัยทัศน์ขององค์กรเป็นที่ตั้ง แล้วค่อยดูว่าหากจะบรรลุเป้าหมายนั้นจำเป็นต้องใช้ทักษะ, ทัศนคติ และค่านิยมแบบใดบ้าง ก่อนที่จะนำข้อมูลทั้งหมดไปประยุกต์ออกมาเป็นคำถามไว้สัมภาษณ์งานในลำดับต่อไป

5. ผู้บริหารระดับกลางต้องให้เกียรติลูกทีมเสมอ : ผู้บริหารระดับกลางบางคนจะมองว่าตนมีหน้าที่รับใช้ผู้บริหารระดับสูงโดยไม่มีข้อแม้ และตัดสินใจรับงานทุกอย่างโดยไม่คิดว่าลูกทีมในมือจะทำไหวหรือไม่ ดังนั้นผู้นำที่ดีจะต้องรู้จักประมาณการและเจรจากับทุกฝ่ายเพื่อหาทางออกที่เหมาะสมก่อนตัดสินใจขั้นสุดท้ายเสมอ นอกจากนี้ต้องไม่ใช้งานล่วงเวลาโดยไม่จำเป็น หรือพิจารณาเรื่องค่าตอบแทนอย่างเหมาะสมหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ให้คิดว่าการช่วยสร้างคุณภาพชีวิตดี ๆ ให้กับลูกทีมก็เป็นหน้าที่หนึ่งเหมือนกัน

ปัญหาของผู้บริหารระดับกลางหรือ Middle Manager มีอะไรบ้าง

Digital Fatigue ภาวะเหนื่อยล้าจากดิจิทัล และวิถีการช่วยเหลือพนักงานให้หายเหนื่อย

Columbia University สหรัฐอเมริกาได้เผยผลสำรวจว่าคนที่ทำหน้าที่เป็นผู้นำระดับกลางถึง 12% มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า และ Gallup ก็ได้ตอกย้ำข้อมูลดังกล่าวด้วยการเผยว่าผู้บริหารระดับกลางมักมีแนวโน้ม “หมดไฟ”​​ (Manager Burnout) สูงมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะปัญหาด้านการจัดสมดุลชีวิต (Work Life Balance) และสภาพจิตใจจากการทำงานหนักเพื่อองค์กร เหตุนี้เราจึงรวบรวมปัญหายอดนิยมของผู้บริหารระดับกลางมาเพื่อให้เห็นว่าหากคุณกำลังเจอสถานการณ์แบบนี้ ถึงเวลาที่จะต้องรีบจัดการชีวิตได้แล้วล่ะ !

1. ผู้บริหารระดับกลางต้องทำงานธุรการมากเกินไป : ในบางองค์กรที่บริหารไม่เป็นระบบ คนที่เป็นผู้บริหารระดับกลางต้องทำทั้งงานส่วนตัว, ควบคุมลูกทีม รวมถึงจัดการเอกสารต่าง ๆ ที่เกิดจากการประชุมอันหลากหลาย และยังต้องคอยดูแลภาพรวมของงานจนแทบไม่ได้พัก ยิ่งถ้าต้องกลับบ้านโดยที่ยังมีงานค้างอยู่ ก็จะส่งผลเชิงจิตวิทยาให้รู้สึกว่าตนทำงานผิดพลาด หากปล่อยไว้นานก็จะทำให้หมดไฟโดยง่ายดาย ดังนั้น HR ต้องทำให้ผู้นำระดับกลางเห็นว่าเขาไม่ได้ทำหน้าที่อย่างโดดเดี่ยว ต้องมีสวัสดิการและผลตอบแทนที่เหมาะสมกลับไปเช่นกัน

2. ผู้บริหารระดับกลางต้องเข้าประชุมมากเกินไป : เพราะต้องเข้าใจงานในภาพรวมให้มากที่สุด จึงไม่แปลกหากผู้บริหารระดับกลางจะต้องเข้าประชุมซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยสถิติระบุว่าพวกเขาต้องเข้าประชุมถึงราว 35% ของเวลาทำงานจนแทบไม่มีเวลาไปโฟกัสกับงานส่วนตัวเท่าที่ควร 

นอกจากนี้ในโลกยุคหลังโควิด-19 ที่การทำงานแบบไฮบริดกลายเป็นเรื่องปกติ การนั่งประชุมกับหน้าจอทั้งวันทำให้เกิดผลเสียทั้งกับร่างกายและจิตใจ องค์กรที่ดีจึงต้องบริหารเวลาประชุมให้เหมาะสมหากต้องการให้ทุกคนทำงานได้อย่างเต็มที่

3. ผู้บริหารระดับกลางบางคนถูกละเลยโดยองค์กร : ประเด็นเรื่องความไม่มืออาชีพขององค์กรสามารถแยกได้เป็น 2 ประเด็นใหญ่ ๆ อย่างแรกคือเมื่อองค์กรไม่ได้มีแผนไว้รองรับการเติบโตของผู้บริหารระดับกลางอย่างเป็นรูปธรรม พวกเขาก็จะต้องทำงานโดยไม่รู้ว่าปลายทางคืออะไร เมื่อนานเข้าก็อยู่ในสถานะแบบ “กลับตัวก็ไม่ได้ ให้เดินต่อไปก็ไปไม่ถึง” เพราะแม้จะมีตำแหน่งสูงกว่าพนักงานทั่วไป แต่ก็ไม่สามารถก้าวไปเป็นผู้บริหารระดับสูงอยู่ดี เพราะทีมบริหารเดิมยังคงเกาะตำแหน่งอย่างเหนียวแน่นไม่ออกไปไหน

อย่างที่สองคือองค์กรไม่ได้มีแผนพัฒนาผู้บริหารระดับกลางอย่างเหมาะสม เพราะอย่าลืมว่าแม้ผู้นำจะเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ได้เอง แต่การปรับตัวให้ทันความเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจจำเป็นต้องได้รับองค์ความรู้ที่เหมาะสม การให้ความรู้กับผู้บริหารระดับกลางคือการเตรียมพร้อมให้สามารถยกระดับไปทำงานที่ต้องรับผิดชอบมากขึ้น หรืออย่างน้อยองค์กรก็ต้องบริหารจัดการให้ผู้บริหารระดับกลางมีเวลาไปเรียนรู้เพิ่มเติมในหัวข้อที่สนใจ  มิฉะนั้นผู้บริหารระดับกลางก็จะทำหน้าที่เป็นแค่ตัวแทน มากกว่าคนที่บริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพจริง ๆ 

4. ผู้บริหารระดับกลางมักถูกมองข้าม (Undervalued) : วัยทำงานทุกคนย่อมอยากได้รับคำชมหรืออย่างน้อยก็ต้องรู้สึกว่าตนมีคุณค่ากับการเติบโตขององค์กร ปัญหาเรื่องความภูมิใจตัวเองจึงมักเกิดกับผู้บริหารระดับกลาง เพราะคนที่อยู่ในตำแหน่งนี้ต้องรับหน้าที่หลายตั้งแต่ระดับสั่งการเรื่อยมาจนถึงระดับปฏิบัติการ ซึ่งบางครั้งเป็นงานปลีกย่อยทีละนิดทีละหน่อย และพอเป็นงานจิปาถะ ก็เป็นเรื่องง่ายที่คนจะมองข้ามความตั้งใจของเรา หรือมองว่าการช่วยเหลือตรงนี้เป็นหน้าที่ของผู้บริหารระดับกลางอยู่แล้ว องค์กรจึงควรชื่นชมพนักงานเป็นระยะไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาสำเร็จหรือไม่ก็ตาม 

Betterup ได้ทำการวิจัยและพบว่าผู้บริหารระดับกลางมีความสำคัญมากในเรื่องของประสบการณ์ทำงานของลูกทีม (Employee Experience) หากผู้นำมีความเครียดหรือซึมเศร้า ลูกทีมก็จะมีแนวโน้มหมดไฟมากขึ้นตามไปด้วย ในทางกลับกันหากผู้นำเป็นคนมองโลกในแง่บวก อดทนอดกลั้น ลูกทีมก็จะกลายเป็นคนกระตือรือร้น, มีความคิดสร้างสรรค์ และมีอัตราหมดไฟที่ต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญ สรุปโดยง่ายได้ว่าหากผู้บริหารระดับกลางต้องการบรรยากาศทีมที่ดี ก็ต้องเริ่มจากการสร้างคุณค่าตัวเองให้เป็นแบบอย่างเสียก่อน

HR สามารถบริหารจัดการผู้บริหารระดับกลางหรือ Middle Manager ได้อย่างไร

ทำไมทุกองค์กรต้องจัดทำเส้นทางการฝึกอบรม Training Roadmap

ปัจจุบันทักษะด้านการปรับตัว (Adaptation) และการเปลี่ยนแปลง (Transformation) เป็นสิ่งจำเป็นในทุกสายงาน โดยเฉพาะการเป็นผู้บริหารระดับกลางที่ต้องทำตัวเป็นแบบอย่างให้กับพนักงาน 

การพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ คือปัจจัยสำคัญในการสร้างทีมที่แข็งแรงซึ่งจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากฝ่าย HR โดยสามารถแยกองค์ประกอบออกมาได้ดังนี้

1. HR ต้องเลือกผู้บริหารระดับกลางหรือ Middle Manager จากตัวเลือกที่เหมาะสมจริง ๆ : ก่อนที่จะลงไปในเชิงรายละเอียดของแต่ละบุคคล สิ่งแรกที่ HR ต้องทำก็คือการประสานงานกับผู้บริหารระดับสูงเพื่อเลือกคนที่เหมาะกับตำแหน่งที่สุดทั้งในแง่ของผลงาน, ภาวะผู้นำ, ตลอดจนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ไม่ควรเลื่อนตำแหน่งให้คนเพียงเพราะว่าอยู่มานานโดยมองข้ามทักษะการบริหารคนเด็ดขาด

ทั้งนี้ทักษะที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษประกอบด้วยทักษะการแก้สถานการณ์เฉพาะหน้า, การสื่อสาร, ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น, ความใฝ่รู้ และหากคุณเป็นองค์กรขนาดเล็กและยังไม่มีพนักงานที่มีคุณสมบัติรอบด้านแบบนี้ ก็ควรวางแผนล่วงหน้าเพื่อเลือกคนที่มีศักยภาพสูงสุดแล้วค่อยจัดอบรมเพิ่มทักษะให้แทน

2. HR ต้องจัดอบรมให้กับผู้บริหารระดับกลางหรือ Middle Manager ทั้งในด้านการทำงานและการสร้างภาวะผู้นำ : มีการวิเคราะห์ว่าปัจจุบันผู้บริหารระดับกลางต้องทำหน้าที่มากกว่าเมื่อ 10 ปีก่อนถึงกว่า 50% การเรียนรู้จากประสบการณ์อย่างเดียวจึงไม่พอ ที่สำคัญองค์กรส่วนใหญ่ยังขาดการวางแผนผู้สืบทอด (Succession Planning) และมักตัดสินใจเลื่อนตำแหน่งแบบกระทันหันเมื่อผู้บริหารเดิมวางมือ HR จึงควรจัดอบรมเพื่อช่วยให้การตัดสินใจของผู้บริหารระดับกลางเฉียบคมขึ้น ก้าวทันโลกมากขึ้น และเด็ดขาดมากขึ้น 

อนึ่งตำแหน่งผู้บริหารระดับกลางมีภาระหน้าที่ค่อนข้างมาก HR จึงควรหารูปแบบอบรมที่สามารถทำได้ในเวลาอันรวดเร็ว หรือสอดคล้องกับรูปแบบทำงานอย่างกลมกลืนที่สุด เพราะไม่ว่าหลักสูตรจะดีแค่ไหน แต่หากต้องทำด้วยความเครียดและความกดดันก็คงไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไร

3. HR ควรจับคู่ผู้บริหารระดับกลางหรือ Middle Manager กับผู้บริหารระดับสูงหรือ Top Tier Manager เพื่อศึกษาวิธีการทำงานโดยตรง : ผู้บริหารระดับกลางเป็นคนที่มีอำนาจอยู่ในมือพอสมควรและเป็นคนที่สื่อสารกับพนักงานในองค์กรโดยตรง ดังนั้น HR ต้องแน่ใจว่าผู้นำเหล่านี้มีทักษะในการถ่ายทอดวัตถุประสงค์ขององค์กรอย่างถูกต้อง

เราควรเปิดโอกาสให้เขาได้เรียนรู้จากการทำงานจริง เพื่อสังเกตวิธีเจรจา, วิธีแก้ปัญหา, วิธีรับมือความกดดัน ตลอดจนวิธีหว่านล้อมต่าง ๆ จากคนที่มีประสบการณ์มาก่อน สิ่งเหล่านี้คือความรู้ที่หาไม่ได้จากห้องเรียนหรือการอบรมทั่วไป เพราะผู้บริหารระดับสูงคือคนที่คลุกคลีกับทุกฝ่ายแบบลึกซึ้งไปอีกขั้น แถมยังมีความเข้าใจวัฒนธรรมองค์กร (Company Cultures) เป็นอย่างดี  

ท้ายสุด HR ต้องชี้แจงให้ชัดเจนว่าการดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับกลางนั้นมีเป้าหมายเพื่ออะไร และสามารถต่อยอดไปสู่การทำงานในรูปแบบใดบ้าง อย่าปล่อยให้ใครต้องรู้สึกว่าตนทำงานหนักไปวัน ๆ อย่างไร้ความหมายเพราะทุกคนย่อมคาดหวังถึงความเจริญก้าวหน้าในสายงานที่สนใจ ฝ่ายบุคคลต้องคิดเสมอว่าแม้บุคคลดังกล่าวจะเป็นผู้บริหารที่มีฐานะเป็น “ผู้นำ” ก็จริง แต่ท้ายสุดเขาก็คือกลไกหนึ่งขององค์กรที่ต้องได้รับการดูแลตามสิทธิ์เช่นเดียวกัน

บทสรุป

ผู้บริหารระดับกลางหรือ Middle Manager คือตำแหน่งที่เหนื่อยที่สุดอย่างหนึ่งในองค์กร เพราะต้องรองรับทุกความกดดันด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้มโดยคาดหวังว่าทุกสิ่งจะออกมาตามวัตถุประสงค์ที่วางเอาไว้ คำว่าผู้บริหารระดับกลางที่ดี จึงไม่ได้หมายถึงคนที่กำกับดูแลลูกทีมหรือรับคำสั่งจากผู้บริหารระดับสูงได้ดีเท่านั้น แต่ยังหมายถึงผู้นำที่สามารถดูแลตัวเองและใช้ชีวิตอย่างมีความสุขจนเป็นแบบอย่างให้กับพนักงานคนอื่น ๆ ได้ด้วย 

ดังนั้นในฐานะของคนทำงาน HR เราต้องให้ความสำคัญกับสภาพจิตใจของผู้บริหารระดับกลางมากเป็นพิเศษ เพื่อที่องค์กรของเราจะได้มีรากฐานอันแข็งแรงไว้ต่อสู้ในโลกของการทำงานต่อไปตราบนานเท่านาน

ผู้เขียน

Pumi Boonyatud

Pumi Boonyatud

a professional daydreamer. pro-wrestling god.

บทความที่เกี่ยวข้อง