WWE สมาคมมวยปล้ำอันดับหนึ่งของโลกมีวิธีสรรหาและบริหารคนอย่างไร

HIGHLIGHT

  • WWE คือสมาคมมวยปล้ำอันดับหนึ่งของโลกที่มีผลประกอบการสูงกว่าปีละ 1,000 ล้านดอลลาร์ เป็นศูนย์รวมของพนักงานมากฝีมือจากทั่วโลกและได้ชื่อว่าเป็นองค์กรที่รวมศาสตร์ทุกแขนงเข้าไว้ด้วยกัน
  • WWE ให้ความสำคัญกับการคัดเลือกพนักงานมาก พวกเขามองว่าองค์กรไม่จำเป็นต้องว่าจ้างคนที่ไม่มีฝีมือเข้ามาหากมีสิทธิ์เลือกและมีทีมอบรมที่ยอกเยี่ยมอยู่แล้ว ดังนั้นสิ่งที่สมาคมมองหาคือจุดเด่นรายบุคคลที่นำไปต่อยอดได้ง่ายมากกว่า
  • WWE ใช้ความเป็นแฟนคลับของผู้สมัครมาเป็นกลไกในการว่าจ้าง (Recruitment Strategy) เสมอ และเปิดโอกาสให้ผู้สมัครเข้าถึงผู้บริหารโดยตรง เนื่องจากมวยปล้ำเป็นเรื่องที่มีองค์ประกอบยิบย่อยมากมาย การได้ถามตอบจากคนในระดับสูงนอกจากจะสร้างความเชื่อมั่นแล้ว ยังช่วยให้ทั้งสองฝ่ายได้รับข้อมูลที่ถูกต้องที่สุดอีกด้วย
  • WWE เชื่อในเรื่อง Big Data ดังนั้นทุกอย่างของสมาคมจะถูกเก็บเป็นสถิติและนำมาใช้เพื่อวิเคราะห์การทำงานของนักมวยปล้ำและพนักงานที่รับผิดชอบในแต่ละแผนกเสมอ ข้อมูลส่วนนี้ทำให้องค์กรเลือกหัวข้ออบรมพนักงานได้ง่ายขึ้น เป็นการประหยัดทรัพยากรทั้งด้านกีฬาและการเงิน
  • ชาวไทยที่เคยเข้าร่วมคัดตัวกับ WWE บอกว่าสิ่งที่สมาคมมองหาจากกิจกรรมดังกล่าวคือศักยภาพในการปรับตัว เพราะหากถูกคัดเลือกแล้ว องค์กรต้องมั่นใจได้ว่าพนักงานดังกล่าวจะพร้อมรับมือกับแนวทางที่บริษัทวางเอาไว้จริง ๆ 
  • สิ่งสุดท้ายคือ Alumni Engagement หรือการบริหารจัดการพนักงานเก่า โดยสวัสดิการที่โดดเด่นคือการสนับสนุนเรื่องค่ารักษาพยาบาล, ค่าบำบัดยาเสพติดหรือแอลกอฮอล์ตลอดชีวิต แม้บุคลากรดังกล่าวจะทำงานอยู่กับบริษัทคู่แข่งก็ตาม

WWE สมาคมมวยปล้ำอันดับหนึ่งของโลกมีวิธีสรรหาและบริหารคนอย่างไร

เมื่อพูดถึงวงการมวยปล้ำ ทุกคนคงนึกถึงสมาคมอันดับหนึ่งของโลกอย่าง WWE ที่เคยสร้างสรรค์ตัวละครที่โดดเด่นมากมายไม่ว่าจะเป็น Dwayne ‘The Rock’ Johnson, John Cena, The Undertaker, ‘Stone Cold’ Steve Austin เป็นต้น ซึ่งบางท่านอาจเคยสงสัยว่าสมาคมมวยปล้ำนี้บริหารนักมวยปล้ำให้ทำตามบทบาทได้อย่างไร หรือบางท่านอาจสงสัยว่ากระบวนการคัดเลือกพนักงานขององค์กรที่แตกต่างจากธุรกิจอื่น ๆ มีกระบวนการสรรหาอย่างไร ซึ่งเราบอกเลยว่าบริบทของธุรกิจมวยปล้ำนั้นคือการบูรณาการทุกองค์ความรู้ที่ธุรกิจอื่น ๆ นำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ได้เลย

สิ่งที่น่าสนใจของมวยปล้ำอาชีพคือความสามารถในการปรับตัว (Adaptation) และการเปลี่ยนแปลง (Transformation) เพราะธุรกิจนี้ทำหน้าที่เหมือนละครเรื่องยาวที่บางคนเซ็นสัญญากันในหลักสิบปี ตัวองค์กรเองก็ต้องพัฒนาให้ตรงกับความต้องการของตลาด ขณะที่นักกีฬาในฐานะของพนักงานประจำก็ต้องหาวิธีนำเสนอตัวเองให้คนอยากจ่ายเงินเข้ามาชม เรียกได้ว่า Business Transformation เป็นเรื่องธรรมดาในวงการนี้ก่อนที่มันจะกลายเป็นคำสามัญในโลกธุรกิจยุคปัจจุบันด้วยซ้ำ

สมาคมมวยปล้ำ WWE มีเคล็ดลับในการบริหารทรัพยากรบุคคลอย่างไร เรามีข้อมูลจากคนที่ได้ร่วมงานตลอดจนคนไทยที่เคยเข้าร่วมการคัดตัวมาแล้วจริง ๆ หาคำตอบได้ที่นี่ที่เดียว

สมาคมมวยปล้ำ WWE มีวิธีคัดตัวนักกีฬาอย่างไร

WWE สมาคมมวยปล้ำอันดับหนึ่งของโลกมีวิธีสรรหาและบริหารคนอย่างไร

สิ่งที่ WWE ใช้เพื่อวางรากฐานให้กับพนักงานทุกคนคือแบบสำรวจบุคลิกภาพ (Personality Inventory) ซึ่งเป็นเครื่องมือวัดบุคลิกภาพที่สำคัญที่สุดและเป็นวิธีที่ช่วยให้บุคคลประเมินตัวเองผ่านคำถามตั้งแต่ 100 – 500 ข้อเกี่ยวกับพฤติกรรม, ความรู้สึก, สถานการณ์, บุคคล เป็นต้น โดยคุณดาเนียล ไบรอัน (Daniel Bryan) อดีตแชมป์ของสมาคมกล่าวว่าเมื่อเขาเซ็นสัญญาเข้ามา ทีมงานจะจับมาทำแบบสำรวจนี้ทันทีเพื่อเก็บข้อมูลที่ปราศจากการปรุงแต่งมากที่สุด

ทั้งนี้เพราะ WWE ได้ทำแบบสำรวจในลักษณะเดียวกันนี้มานานจนได้ข้อสรุปว่าคนที่อยู่ในระดับสูง, กลาง, ต่ำ มักจะเลือกคำตอบแบบไหน เพื่อหาแนวทางพัฒนาให้ตรงกับความต้องการของแต่ละคนมากที่สุด นี่คือรูปแบบการอบรมพนักงานโดยอาศัยข้อมูล (Big Data) เพราะ WWE พบว่าคนแบบเดียวกันจะมีคำตอบเหมือนกัน (Common Answer) อย่างมีนัยสำคัญ

คำถามที่ WWE เลือกใช้จะเป็นคำถามแนวถูก – ผิด เพื่อให้ผู้ทำแบบสอบถามเลือกตอบโดยใช้สัญชาตญาณเป็นหลัก โดยแบ่งเป็นหัวข้อย่อยคือการปรับตัว, ทักษะการเข้าสังคม, ทักษะการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น, ทักษะการกระตุ้นตัวเอง, ทักษะทางธุรกิจ ด้วยคำถามเช่น 

– คุณเคยอยากเป็นนักกีฬาแข่งรถหรือไม่ ?

– คุณอารมณ์เสียง่ายหรือไม่ ?

– คุณคิดว่าตัวเองถูกโน้มน้าวจิตใจได้ง่ายหรือไม่ ?

WWE จะนำคำตอบที่ได้ไปจำแนกว่าลักษณะนิสัยของบุคคลดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มใด (Personality Traits) ซึ่งแน่นอนว่าแม้คำตอบเหล่านี้จะยืนยันไม่ได้ว่าจะทำให้เกิดการพัฒนาแบบถูกต้องสมบูรณ์แบบ แต่ก็เป็นอีกแนวทางที่ดีกว่าการอบรมแบบไร้ทิศทางที่ทำให้องค์กรสูญเสียทรัพยากรโดยไม่จำเป็น

การคัดเลือกบุคลากรของ WWE มีความโดดเด่นกว่าธุรกิจอื่น ๆ เพราะตลอดระยะเวลาราว 20 ปีที่ผ่านมาธุรกิจในโลกมวยปล้ำอาชีพถือเป็นตลาดผูกขาดที่แม้จะมีสมาคมรายย่อยกระจายตัวอยู่ทั่วโลก แต่สมาคมที่มีอำนาจต่อรองทางธุรกิจและอยู่ในสื่อกระแสหลักมีเพียงแห่งเดียวเท่านั้น 

แนวทางนี้ถือเป็นดาบสองคม ในด้านดีคือองค์กรจะมีโอกาสเลือกพนักงานที่พยายามฝึกตัวเองให้ดีที่สุดเพื่อแย่งชิงตำแหน่งงานที่มีจำกัด แต่ขณะเดียวกันพนักงานที่มีความรู้ความเข้าใจในสายงานมวยปล้ำอาชีพโดยตรงก็จะมีน้อยตามไปด้วย ดังนั้นไม่ว่าจะเซ็นสัญญาพนักงานแบบใดเข้ามา สมาคมก็ต้องลงทุนเพื่อช่วยปรับตัวให้เร็วที่สุด ส่งผลให้ประเด็นของ Employee Retention กลายเป็นเรื่องที่มองข้ามไปไม่ได้เด็ดขาดหากไม่ต้องการลงทุนเพิ่มอีกครั้ง

WWE มีวิธีเข้าหาบุคลากรที่องค์กรสนใจอย่างไร

WWE สมาคมมวยปล้ำอันดับหนึ่งของโลกมีวิธีสรรหาและบริหารคนอย่างไร

เมื่อทราบแล้วว่าเป้าหมายขององค์กรในอนาคตคืออะไร สิ่งที่สมาคมจะทำทันทีก็คือติดต่อไปหาตัวแทนรายย่อยที่กระจายอยู่ทั่วโลกเพื่อสอบถามว่ามีบุคลากรที่ตรงโจทย์มาแนะนำหรือไม่ จากนั้นสมาคมจะทำการติดต่อไปทันทีโดยใช้ทีมงานระดับสูงติดต่อไปเท่านั้น นั่นหมายความว่าหาก WWE สนใจบุคลากรท่านใด บุคลากรท่านนั้นจะมีโอกาสได้พูดคุยกับหัวหน้าฝ่ายทรัพยากรบุคคลโดยตรงทันทีผ่านทางอีเมลหรือแม้แต่โทรศัพท์ก็ตาม

วิธีนี้นอกเหนือจากจะทำให้องค์กรนำเสนอข้อมูลอย่างถูกต้องครบถ้วนแล้ว คนที่อยู่ในตำแหน่งสูง ๆ ส่วนใหญ่มักเป็นอดีตนักมวยปล้ำที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ชื่นชอบของผู้สมัครมาก่อน ดังนั้นการได้พูดคุยกับนักกีฬาขวัญใจก็จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยโน้มน้าวให้อีกฝ่ายอยากเซ็นสัญญาเข้าร่วมองค์กร 

และเคล็ดลับสำคัญที่ WWE นำมาใช้เสมอก็คือการส่งหัวหน้าฝ่ายคัดเลือกบุคลากรไปถึงต่างประเทศเพื่อเชิญชวนด้วยตัวเองจริง ๆ เพราะสมาคมมีแนวคิดว่าการไปเชิญจะแสดงถึงความจริงจัง เปิดโอกาสทางด้านของ Recruitment รวมถึงยังเป็นการสร้างกระแสให้กับสมาคมมวยปล้ำในพื้นที่นั้น ๆ ที่ถือเป็นธุรกิจในสายงานเดียวกันและจำเป็นต้องสนับสนุนหากเป็นไปได้

ขณะเดียวกันการมีสมาคมท้องถิ่นที่มีคุณภาพและได้รับความสนใจมากขึ้นก็ยิ่งทำให้ WWE มีทางเลือกในการว่าจ้างที่ดีขึ้นตามไปด้วย

อนึ่งการเดินทางไปต่างประเทศในแต่ละครั้ง WWE จะพกทีมงานถ่ายภาพไปอย่างน้อย 2 คนเสมอ เพื่อเก็บบรรยากาศในภาพรวมเท่าที่ทำได้มาวิเคราะห์ว่าบุคคลากรที่สนใจนั้นมีองค์ประกอบในชีวิตอย่างไร, ฝึกฝนมาในสถานที่แบบไหน, มีจุดแข็ง – จุดอ่อนอย่างไร เพื่อเตรียมพร้อมออกแบบหลักสูตรอบรมทันทีหากได้รับการเซ็นสัญญา และคลิปวีดีโอเหล่านี้ยังใช้เรื่องการประชาสัมพันธ์หรือขายเป็น Stock Footage สร้างรายได้ให้กับสมาคมได้อีกด้วย

WWE บอกอะไรในอีเมลเชิญชวน (Invitational Letter)

หลังจากพิจารณาจากการเดินทางมารับชมด้วยตัวเองแล้ว WWE จะส่งจดหมายเชิญนักมวยปล้ำที่สนใจเข้าร่วมการคัดตัวอย่างเป็นทางการในลำดับต่อไป โดยจดหมายเชิญถือเป็นองค์ประกอบแรกที่จะตัดสินว่าองค์กรมีความน่าเชื่อถือหรือไม่ และกิจกรรมที่กำลังจะเข้าร่วมนั้นมีความเป็นไปได้ในแง่บวกมากเพียงใด ซึ่ง WWE ที่เป็นองค์กรระดับโลกก็ใช้วิธีนี้เช่นกัน

ทั้งนี้เราไม่สามารถนำจดหมายดังกล่าวมาเปิดเผยในที่สาธารณะ แต่สามารถแยกองค์ประกอบที่สำคัญออกมาได้ดังนี้

    • แสดงความยินดี และเน้นย้ำว่าการเทียบเชิญนี้เกิดขึ้นเพราะความสามารถของผู้ที่ได้รับโอกาสเอง
    • เน้นย้ำว่าคนที่เคยถูกเทียบเชิญและประสบความสำเร็จมาแล้วมีใครบ้าง เพื่อให้เห็นว่าการเทียบเชิญนี้มีความสำคัญและสร้างประโยชน์ได้จริง
    • อธิบายว่าสิ่งที่สมาคมต้องการเห็นในการคัดตัวมีอะไรบ้าง (พละกำลัง, ความเร็ว, สภาพจิตใจ)
    • รายละเอียดทางการ : เดดไลน์, ช่องทางติดต่อสื่อสาร, มารยาทในการทำงาน, เอกสารที่ต้องเตรียม
    • ข้อความส่วนบุคคล (Personalize Message) จากทีมบริหารถึงผู้ที่ถูกเทียบเชิญ และทิ้งท้ายว่า WWE จะทำให้การคัดตัวนี้เป็นประสบการณ์ที่ดีที่สุดไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไรก็ตาม

สิ่งที่ WWE มองหาคืออะไร

WWE สมาคมมวยปล้ำอันดับหนึ่งของโลกมีวิธีสรรหาและบริหารคนอย่างไร

ในฐานะสมาคมมวยปล้ำอันดับหนึ่งที่ไม่มีคู่แข่งมาเป็นเวลานาน สมาคมได้เปลี่ยนมุมมองจากการแข่งมาเป็นการรักษาและทดลอง หมายความว่าองค์กรต้องการรักษากลุ่มเป้าหมายเดิม, สร้างกลุ่มเป้าหมายใหม่ และทดลองทำในสิ่งที่ไม่สามารถทำได้หากมีการแข่งขันกับคู่ต่อสู้ทางธุรกิจอย่างเข้มข้น

ทั้งนี้เพราะ WWE มีจุดอ่อนคือเวลาออกอากาศที่จำกัด ถ้ามีการแข่งขันสูง ก็ต้องโฟกัสกับการสร้างเรตติ้งมากกว่าทดลองสิ่งใหม่ที่อาจไม่ได้ผลลัพธ์ในแง่ดีอย่างที่คาดหวังไว้ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดในการค้นหาบุคลากรคือการหาคำตอบว่าคน ๆ มีจุดขายอะไรที่หาจากที่อื่นไม่ได้ต่างหาก

ในอดีตโดยเฉพาะในยุค ‘90 ที่วงการมวยปล้ำมีการแข่งขันสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์นั้น วงการมวยปล้ำพยายามหาสิ่งที่เรียกว่า Total Package คือโดดเด่นทั้งด้านทักษะกีฬาและด้านการเอ็นเตอร์เทน แต่ปัจจุบันบุคลากรแบบนั้นหาได้ยาก ทั้งด้วยความนิยมของมวยปล้ำที่ลดลง และการเปลี่ยนแปลงของสื่อกับเทคโนโลยีที่ทำให้องค์กรต้องปรับตัวเสมอ WWE จึงเบนเข็มและมุ่งหาคนที่มีคาแรกเตอร์หรือทักษะที่โดดเด่นแทน

เพราะท้ายสุดแล้วพวกเขาเชื่อว่าในฐานะสมาคมมวยปล้ำอันดับหนึ่งของโลก พวกเขาสามารถฝึกใครก็ได้ให้กลายเป็นนักกีฬาที่ดี แต่คาแรกเตอร์, นิสัย และองค์ประกอบส่วนตัวอื่น ๆ เป็นสิ่งที่สั่งสมผ่านประสบการณ์ของแต่ละคน บางอย่างแก้ไขได้ บางอย่างแก้ไขไม่ได้ ดังนั้นวิธีการทำงานของสมาคมจะออกมาเป็น 1:1 ระหว่างตัวนักกีฬาและองค์กร การคัดตัวจึงทำหน้าที่เติมเต็มสัดส่วนเหล่านี้ให้เชื่อมโยงกันอย่างสมบูรณ์แบบที่สุด

ดังนั้นสิ่งที่สมาคมมองหามากที่สุดก็คือ Stereotype ของแต่ละเชื้อชาติ เพราะสิ่งเหล่านี้นำมาต่อยอดได้ง่าย แถมยังนำไปสู่การสนับสนุนจากคนในชาตินั้น ๆ กลายเป็นการเปิดตลาดใหม่ไปในตัว อย่างในประเทศไทย WWE เคยแนะนำว่าการนำคาแรกเตอร์ของสาวประเภทสองมาใช้ถือเป็นเรื่องดี

เพราะชาวต่างชาติมองเห็นความงดงามตรงนี้, มีความน่าสนใจในเชิงการตลาด รวมถึงเป็นการส่งเสริมคุณค่าให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้นอีกด้วย นี่คือแนวคิดพื้นฐานที่ฝ่ายสรรหา (Recruiting) จะนำไปประสานงานกับผู้บริหารระดับสูงต่อไป

นักมวยปล้ำไทยที่เคยเข้าร่วมการคัดตัวกับ WWE มีความเห็นอย่างไร

WWE สมาคมมวยปล้ำอันดับหนึ่งของโลกมีวิธีสรรหาและบริหารคนอย่างไร

คุณธีรวัฒน์ ปิ่นพานิชการ หรือชื่อในวงการว่า EK Baki นักมวยปล้ำชาวไทยที่เคยเข้าร่วมคัดตัวกับ WWE ที่ประเทศจีนเมื่อปี ค.ศ.2019 กล่าวว่าสิ่งที่สมาคมต้องการที่สุดก็คือความเป็นมืออาชีพ เพราะสมาคมแจ้งตั้งแต่ในเอกสารเทียบเชิญแล้วว่าคาดหวังถึงการเตรียมตัวแบบใด ดังนั้นต่อให้เราจะมีความสามารถในด้านอื่น แต่ไม่มีศักยภาพในด้านที่เขาระบุไว้ โอกาสในการถูกว่าจ้างก็แทบเป็นไปไม่ได้เลย

สิ่งสำคัญต่อมาก็คือความพยายามที่จะเรียนรู้ (Willing to Learn) เนื่องจากสมาคมมองว่ามวยปล้ำทั่วโลกมีสไตล์ที่แตกต่างกัน ดังนั้นเมื่อเข้ามาอยู่กับ WWE แล้ว นักมวยปล้ำต้องปรับตัวให้เข้ากับรูปแบบขององค์กรโดยไม่มีข้อแม้ เพราะมีผลกับความปลอดภัยในการจัดโชว์, ปัจจัยด้านผู้สนับสนุน ฯลฯ การไม่พร้อมเรียนรู้จึงเป็นหัวข้อแรก ๆ ที่จะทำให้ผู้มาคัดตัวหมดโอกาสทันทีไม่ว่าจะมีฝีมือดีแค่ไหนก็ตาม 

เขาเสริมอีกว่า WWE ไม่ได้โฟกัสแค่ผลงานในฐานะนักกีฬาเท่านั้น แต่พวกเขาจะมีทีมงานทั้งในและนอกเครื่องแบบคอยสังเกตและจดบันทึกรายละเอียดของเราเอาไว้ บางครั้งพฤติกรรมที่เราทำไปโดยไม่รู้ตัวก็อาจส่งผลเสียทั้งในด้านบวกและลบ การศึกษาภาษากายและทักษะการวางตัวจึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญเช่นกัน 

ท้ายสุดนี้เขาเน้นย้ำว่าสิ่งที่ผู้สมัครทั้งนักมวยปล้ำตลอดจนสายงานอื่น ๆ ต้องนึกถึงเสมอก็คือความเป็นตัวของตัวเอง (Original) เพราะคนส่วนใหญ่มักทำตัวตามแบบอย่างของคนที่เคยประสบความสำเร็จมาก่อนแล้ว ซึ่งแน่นอนว่าการเอาองค์ประกอบที่เคยทำให้คนประสบความสำเร็จมาใช้ถือเป็นเรื่องดี แต่ต้องไม่ลืมการปรับปรุงให้เหมาะกับตัวเองด้วย

ที่สำคัญ WWE จะถามผู้คัดตัวเสมอว่า “ในทุกการคัดเลือก ผู้สมัครควรตอบให้ได้ว่าทำไมตัวเองจึงมีความสำคัญกับองค์กร” การตอบคำถามนี้จะทำให้เรากลับมาสำรวจตัวเองและรับรู้ว่าปัญหาในการทำงานที่แท้จริงคือจุดใด

สมาคมมวยปล้ำ WWE มีวิธีพัฒนาทักษะพนักงานอย่างไร

WWE สมาคมมวยปล้ำอันดับหนึ่งของโลกมีวิธีสรรหาและบริหารคนอย่างไร

ปัญหาของธุรกิจที่มีการผูกขาดคือเราไม่รู้ว่าสิ่งที่เราทำเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดจริงหรือไม่ เพราะไม่มีตัวอย่างจากคนที่เคยลองทำแล้วผิดพลาด และอีกปัญหาก็คือเมื่อไม่มีธุรกิจที่อยู่ในระดับเดียวกัน ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะได้พนักงานใหม่ที่ฝีมือและความรู้ความเข้าใจตามมาตรฐานเดิม หมายความว่ากระบวนการทำงาน (Working Process) กว่าบุคลากรใหม่จะใช้งานได้กินเวลามากกว่าช่วงที่มีการแข่งขันกันสูงและมีการโยกย้ายพนักงานจนเป็นเรื่องปกติธรรมดา

เมื่อเราลงลึกถึงปัญหา ก็จะพบว่าสิ่งที่ขัดขวางพัฒนาการของบุคลากรมากที่สุดก็คือการที่บริษัทมีพื้นที่แสดงฝีมือจำกัด ทำให้พนักงานบางส่วนไม่มีโอกาสได้ทำงานในสถานการณ์จริง ประสบการณ์เหล่านี้ไม่สามารถหาได้ในชั้นเรียนทั่วไปเพราะแม้จะมีสมาคมมวยปล้ำกระจายตัวอยู่ทั่วโลก แต่ก็ไม่มีสมาคมใดที่สามารถสอนวิธีเล่นกับกล้องวีดีโอ หรือสอนวิธีพูดต่อหน้าคนหลักพันหรือหลักหมื่นได้อย่างที่ WWE ทำ 

อธิบายก่อนว่าคู่แข่งหลักของสมาคม WWE ในอดีตคือสมาคม WCW ซึ่งปิดตัวลงในปี ค.ศ. 2001 และมันต้องใช้เวลานานถึงปี 2010 กว่าที่ WWE จะหันมาสนใจเรื่องการสร้างโรงฝึกอย่างจริงจังหลังพบว่าโรงฝึกเดิมมุ่งเน้นแค่เรื่องการเป็นนักมวยปล้ำ ต่างจากวัตถุประสงค์ของสมาคมที่อยากได้นักกีฬาที่ครบเครื่อง

เมื่อรู้แบบนี้สมาคมจึงตัดสินใจเปลี่ยนโรงฝึกเดิมทันทีและสร้างโรงฝึกใหม่ชื่อว่า Performance Center ซึ่งรวมศูนย์การเรียนรู้ในทุก ๆ ทักษะที่จำเป็นเอาไว้ข้างใน เคียงคู่ไปกับโชว์มวยปล้ำสำหรับพัฒนาทักษะโดยตรงชื่อว่า NXT เพื่อช่วยให้ทั้งนักมวยปล้ำและทีมงานที่เกี่ยวข้องได้นำความรู้ที่เรียนมาใช้จริง จนท้ายที่สุดโรงฝึกนี้ได้รับการชื่นชมว่าสมบูรณ์แบบที่สุดในโลก

WWE ลงทุนเบื้องต้นกับการสร้างโรงฝึกนี้ถึง 3 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 95 ล้านบาท) โดยเริ่มต้นจากการวิเคราะห์และเปลี่ยนองค์ความรู้ที่กระจัดกระจายให้กลายเป็นหลักสูตรที่ถ่ายทอดออกไปได้อย่างชัดเจน, มีการใช้ฉากเขียว (Green Screen) เพื่อให้นักมวยปล้ำได้ทดลองคาแรกเตอร์ที่ตัวเองคิดกับทีมกราฟิกมืออาชีพ, มีห้องสอนการจัดโชว์อย่างละเอียดเพื่อลดอัตราการจ้างพนักงานจากภายนอก (Outsource), มีการใช้กล้อง Super Slow Motion เพื่อตรวจสอบอย่างละเอียดที่แม้จะดูเป็นรายจ่ายที่มากมาย แต่ก็พิสูจน์แล้วว่าคุ้มค่าในระยะยาวแน่นอน

WWE สมาคมมวยปล้ำอันดับหนึ่งของโลกมีวิธีสรรหาและบริหารคนอย่างไร

ทริปเปิล เอช (Triple H) อดีตนักมวยปล้ำในฐานะผู้บริหารที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรงให้ข้อสรุปถึงหน้าที่ของ WWE Performance Center เอาไว้ว่า “สถานที่นี้ต้องเป็นที่ที่ทุกคนอยากมา พนักงานต้องอยากตื่นเช้าและรู้สึกว่าต้องมาที่นี่ทันที เราอยากให้พนักงานรู้สึกว่าองค์กรกล้าลงทุนเพื่อทำให้พวกเขาเป็นบุคลากรด้านมวยปล้ำที่ดีที่สุดในโลก”

การทำให้พนักงานรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งและมีคุณค่ากับองค์กรคือรากฐานของความสำเร็จในทุกวงการ หากเราตอบได้ว่าทำไมพนักงานต้องเรียนรู้เพิ่ม และการสละเวลาตรงนั้นจะนำไปสู่พลังในแง่บวกอย่างไรบ้าง ก็จะช่วยให้เกิดความเชื่อมั่นที่ยกระดับองค์กรให้เป็น “The Best Place To Work” ได้อย่างแท้จริง

สมาคมมวยปล้ำ WWE มีระบบดูแลพนักงานเก่า (Alumni Engagement) อย่างไร

WWE สมาคมมวยปล้ำอันดับหนึ่งของโลกมีวิธีสรรหาและบริหารคนอย่างไร

วงการมวยปล้ำแตกต่างจากวงการอื่น ๆ เพราะพนักงาน (ในที่นี้คือนักกีฬาที่ทำหน้าที่แสดง) มีอายุการใช้งานนานแบบไม่จำกัดเวลา และมีชั่วโมงทำงานที่สูงเฉลี่ยถึงปีละ 300 วัน การเดินทางรอบโลกและใช้ร่างกายอย่างหนักหน่วงนำไปสู่ปัญหาด้านการใช้สารกระตุ้นและยาเสพติดเพื่อคลายเครียด ดังนั้นจึงไม่แปลกหากพนักงานบางส่วนจะเสียชีวิตหรือมีสภาพร่างกายที่ย่ำแย่กว่ามาตรฐานของคนในสายงานอื่น ๆ 

เพื่อแก้ปัญหาตรงนี้ WWE ได้จัดทำโปรแกรมชื่อว่า “The WWE Former Talent Drug and Alcohol Rehabilitation Assistance Program” ซึ่งเป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้อดีตนักมวยปล้ำของสมาคมสามารถขอความช่วยเหลือได้เลยหากมีปัญหาเกี่ยวกับสารเสพติดหรือแอลกอฮอล์เรื้อรังโดยไม่จำกัดว่าขณะนั้นเจ้าตัวจะทำงานอะไร มีเงินหรือไม่ รวมถึงทำงานอยู่กับบริษัทคู่แข่งหรือเปล่า โดยเน้นย้ำว่าข้อมูลทั้งหมดจะถูกเก็บเป็นความลับเพื่อให้คนสามารถขอความช่วยเหลือได้อย่างสบายใจ 

นอกจากนี้สมาคมยังมีระบบที่เรียกว่า Legends Deal ที่เป็นการซื้อสิทธิ์ภาพลักษณ์ของนักมวยปล้ำรุ่นเก่ามาทำสินค้าขายเพื่อสร้างรายได้ให้กับทั้งสองฝ่ายโดยไม่ต้องลงแรงเพิ่มเติม โดยสัญญานี้จะมีผลตอบแทนขั้นต่ำคือเงินล่วงหน้า 10,000 ดอลล่าร์เพื่อหักกับยอดขาย และค่าปรากฏตัวในรายการที่ 500 ดอลลาร์ต่อครั้ง เป็นต้น

ซึ่งแม้บางคนจะมองว่า WWE ทำนโยบายนี้เพราะผลในเรื่องของภาพลักษณ์ แต่ก็มีคนแย้งว่าหากท้ายสุดแล้วนโยบายภาพลักษณ์นำมาซึ่งผลประโยชน์ต่อพนักงานจริง ๆ นโยบายเหล่านี้ก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายแต่อย่างใด

บทสรุป

เช่นเดียวกับองค์กรทั่วไป WWE ก็มีทั้งด้านดีและร้ายตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามเราไม่สามารถเอาเรื่องร้ายไปบดบังเรื่องดี รวมถึงไม่สามารถเอาเรื่องดีไปบดบังเรื่องร้าย สิ่งที่ HR ของทุกองค์กรควรทำคือการเลือกเอาสิ่งที่เหมาะสมกับรูปแบบงานมาปรับใช้ และมองในภาพรวมว่าแผนงานขององค์กรมีส่วนใดที่ใกล้เคียงกับบริษัทอื่น ๆ ซึ่งเคยทำแล้วผิดพลาดหรือไม่ หากมีก็ให้ใช้ข้อมูลเหล่านั้นมาอ้างอิงถึงข้อควรระวังเพื่อช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างมีแบบแผนมากขึ้น 

เรื่องราวของสมาคมมวยปล้ำ WWE เป็นอีกข้อพิสูจน์ที่บอกว่าโลกของ HR นั้นมีองค์ความรู้ที่น่าสนใจมากมายและเราอาจไม่เคยรู้จักมันมาก่อน ดังนั้นฝ่ายทรัพยากรบุคคลในฐานะ “เพื่อนคู่คิดทางธุรกิจ” มีหน้าที่หาความเป็นไปได้ทั้งหลายเหล่านี้มาคุยกับผู้บริหาร เพราะใครจะรู้ล่ะว่า บางทีธุรกิจที่คุณเคยมองข้ามก็อาจมอบไอเดียใหม่ ๆ ที่คุณคาดไม่ถึงได้ในสักวัน

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง