เดินทางไปทำงานไป : เคล็ดลับฆ่าเวลาที่ช่วยให้เราเก่งขึ้น

HIGHLIGHT

  • มีรายงานว่าคนไทยเสียเวลาบนท้องถนนเฉลี่ยถึงวันละ 96 นาที หรือ 586 ชั่วโมงต่อปี และผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าปัญหานี้ไม่สามารถแก้ไขได้ในอนาคตอันใกล้ ดังนั้นถ้าเราไม่เปลี่ยนเวลาเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์ ก็จะกลายเป็นการตัดโอกาสเรียนรู้ในแต่ละวันไปอย่างน่าเสียดาย
  • การเดินทางทำหน้าที่เหมือน “เส้นแบ่ง” ระหว่างการอยู่บ้านและการทำงาน ดังนั้นหากเราบริหารจัดการให้ดี ก็จะช่วยยกระดับ Work Life Balance ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นตามไปด้วย
  • การอ่านหนังสือขณะเดินทางจะทำหน้าที่เป็นเหมือนปุ่มหยุดพัก (Pause) ชั่วคราวให้กับสมอง ทำให้เรามีความพร้อมในการรับมือโจทย์ยาก ๆ ในแต่ละวัน
  • แต่หากเราปล่อยให้ตัวเองเดินทางอย่างสบายใจเกินไป ก็จะไปกระตุ้นให้เกิดแนวคิดว่าการเดินทางเป็นเพียงการเตรียมตัวก่อนไปเจอเรื่องร้าย ๆ ในแต่ละวัน ทัศนคตินี้จะไปทำลายสุขภาพจิตจนกลายเป็นดาบสองคมที่อาจร้ายแรงถึงการลาออกจากงานได้เลย 
  • HR จึงต้องหมั่นตรวจสอบว่าพนักงานในองค์กรมีความสุขกับการเดินทางหรือไม่ และสามารถให้การสนับสนุนในแง่มุมใดได้บ้าง เพราะการเดินทางที่ดี คือรากฐานความสำเร็จที่พนักงานทุกคนต้องการ

เดินทางไปทำงานไป : เคล็ดลับฆ่าเวลาที่ช่วยให้เราเก่งขึ้น

คนไทยกับปัญหาการเดินทางเป็นสิ่งที่คู่กันตั้งแต่เราเกิดจนโต หลายคนเคยไปทำธุระสายทั้งที่ตื่นเช้าเป็นพิเศษ, หลายคนเคยใช้เวลาอยู่บนท้องถนนหลายชั่วโมงทั้งที่เคยเดินทางแบบเดียวกันในเวลาไม่กี่นาที ความไม่แน่นอนเหล่านี้ทำให้เราตั้งคำถามว่าเวลาเดินทางเป็นเพียงความสูญเปล่าประจำวัน หรือมีความเป็นไปได้อื่น ๆ ที่ช่วยเปลี่ยนเวลาดังกล่าวให้เกิดประโยชน์มากขึ้นหรือไม่

และพบว่ามีบทวิเคราะห์มากมายมายืนยันว่าการให้ความสำคัญกับการเดินทางทั้งด้านร่างกายและจิตใจ จะส่งผลต่อการเรียนรู้และช่วยเพิ่มศักยภาพในการทำงานได้จริง ผู้ที่สนใจสามารถหาคำตอบได้ในบทความนี้

ภาพรวมเรื่องการเดินทางของคนไทยเป็นอย่างไร

ในฐานะคนไทยเราคงคุ้นเคยกับคำว่าเผื่อเวลาเดินทาง เพราะเราไม่สามารถรู้เลยว่าสภาพจราจรในแต่ละวันจะเป็นอย่างไร ซึ่งส่งผลเสียทั้งต่อสุขภาพและประสิทธิภาพในการเรียนรู้ สถิติจากกรมการขนส่งระบุว่าในแต่ละปีเมืองไทยจะมีรถจดทะเบียนใหม่กว่า 10 ล้านคัน และถือเป็นประเทศที่ผู้คนเลือกซื้อรถก่อนการซื้อที่อยู่อาศัยแบบในเมืองใหญ่อื่น ๆ เพราะปัญหาใหญ่ที่ทุกคนต้องเจอในแต่ละวันล้วนมาจากการเดินทางที่มากเกินความจำเป็นทั้งสิ้น

Uber เคยทำการสำรวจและพบว่าคนกรุงเทพฯ ต้องใช้เวลาไปกับรถติดและการวนหาที่จอดรถเฉลี่ยวันละ 96 นาที หรือเทียบเป็น 584 ชั่วโมงต่อปี โดยหนึ่งในสาเหตุก็คือปัญหาเรื่องผังเมือง, ระบบขนส่งสาธารณะที่ไม่ครอบคลุมมากพอ รวมถึงปัจจัยด้านการกระจุกตัวของแหล่งงานที่มักตั้งอยู่ที่กลางใจเมืองซึ่งมีความเหลื่อมล้ำด้านผลตอบแทนมากเป็นพิเศษหากเทียบกับงานลักษณะเดียวกันแต่ตั้งอยู่ที่ชานเมือง

นั่นหมายความว่าการอดทนฝ่ารถติดเข้าไปทำงานเพื่อหาโอกาสได้กลายเป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ไปแล้วหากต้องการความก้าวหน้าในสายงานที่มุ่งหวังตั้งใจ

เดินทางไปทำงานไป : เคล็ดลับฆ่าเวลาที่ช่วยให้เราเก่งขึ้น

สำนักการจราจรและขนส่งกรุงเทพมหานครปี 2563 พบว่าอัตราเร็วในการเคลื่อนตัวของการเดินทางในกรุงเทพช่วงชั่วโมงเร่งด่วนมีความเร็ว 17 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในเขตเมืองชั้นใน และ 32 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในเขตตัวเมืองชั้นนอก และอัตรานี้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนบางครั้งต้องติดอยู่บนท้องถนนนานหลายชั่วโมงจนเปรียบได้กับการเดินทางไปต่างประเทศเลยด้วยซ้ำ

ดังนั้นจึงมีผู้นิยามว่าการเดินทางไปทำงานของคนไทยได้เปลี่ยนสถานะของรถยนต์จากยานพาหนะไปเป็น “บ้านหลังที่สอง” ที่สามารถทำกิจกรรมอื่น ๆ ควบคู่กันไปด้วยเช่นการหาความรู้, แต่งหน้า, ทานอาหาร และควรให้ความสำคัญหากไม่อยากเสียเวลาดังกล่าวไปอย่างน่าเสียดาย

เราสามารถใช้เวลาระหว่างเดินทางให้เกิดประโยชน์ที่สุดได้อย่างไร

เราอาจคิดว่าเมื่อเทคโนโลยีพัฒนาและผู้คนสามารถเข้าถึงระบบขนส่งได้มากขึ้น ปัญหาในการเดินทางไปทำงานจะค่อย ๆ คลี่คลายลง แต่ความจริงก็คือเวลาในการทำงานของมนุษย์กลับเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ไล่มาตั้งแต่ปี ค.ศ.2000 ดังนั้นสิ่งที่พนักงานทุกคนต้องทำก็คือการหาวิธีเปลี่ยนช่วงเวลาที่สูญเปล่าบนท้องถนนมาเป็นเวลาที่สร้างประโยชน์ได้มากที่สุดแทน

เราสามารถแบ่งลักษณะการเดินทางของพนักงานออกมาเป็น 2 แบบคือกลุ่มแรกที่มองว่าการเดินทางคือการดึงตัวเองออกจากความเบื่อหน่ายในแต่ละวัน คนกลุ่มนี้มักใช้เวลาบนรถในนึกถึงความสุขในวันหยุดสุดสัปดาห์ ขณะที่อีกกลุ่มที่มองว่าเวลาเดินทางคือเวลาที่สามารถเอาไปนึกถึงภาพกว้าง (Big Picture) ก่อนการทำงานแบบที่ปราศจากความกดดัน คนกลุ่มนี้จะมีสภาพจิตใจแข็งแรง ไม่อ่อนไหว และพร้อมรับมือกับเนื้อหาที่ยากลำบากในแต่ละวันได้ดีกว่า

ซึ่งคนกลุ่มนี้คือสิ่งที่ HR สร้างขึ้นมาให้ได้ จะด้วยการจัดอบรม ปรับทัศนคติ หรือออกนโยบายรองรับก็ตาม

เดินทางไปทำงานไป : เคล็ดลับฆ่าเวลาที่ช่วยให้เราเก่งขึ้น

ในที่นี้เราขอยกตัวอย่างประโยชน์ของการอ่านหนังสือขณะเดินทาง ซึ่งถือเป็นวิธีการเรียนรู้ที่ง่าย ใช้งบประมาณน้อย และมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยนักวิจัยจาก University of Toronto ให้เหตุผลว่าการอ่านหนังสือขณะเดินทางเป็นเหมือนการกดปุ่มหยุดพัก (Pause) ให้กับสมองของเรา และยังช่วยกระตุ้นให้สมองของเราแข็งแรงขึ้น และที่สำคัญคือทำให้เราโฟกัสกับการทำงานได้มากขึ้น ประเด็นนี้อาจทำให้หลายคนคาดไม่ถึงเพราะคิดว่าการอ่านหนังสือขณะเดินทางจะได้ผลดีเหมือนการอ่านในห้องสมุดเงียบ ๆ ได้อย่างไร แต่มีการวิจัยที่ระบุว่าการพยายามอ่านหนังสือในสภาพแวดล้อมที่วุ่นวายนั้นจะกระตุ้นให้เราหาวิธีเรียนรู้และเข้าใจเนื้อหาที่กำลังอ่านอยู่ได้ดีขึ้น ซึ่งพนักงานสามารถเอาทักษะนี้ไปประยุกต์ใช้กับสถานการณ์อื่น ๆ ได้อีกมากมาย 

ขณะเดียวกันผู้เชี่ยวชาญก็ระบุว่าเราควรหันไปใช้เครื่องมืออย่าง eReader แทน เพราะช่วยประหยัดพื้นที่ในกระเป๋าทำให้เราคล่องตัวขึ้นโดยเฉพาะเมื่อต้องเดินทางหลายต่อ อีกทั้งการใช้ E-book ยังทำให้เราสามารถเปลี่ยนหนังสือที่ต้องอ่านได้ตามอารมณ์ เพราะบางครั้งเราอาจเจอสถานการณ์บางอย่างขณะเดินทางที่ทำให้หนังสือสยองขวัญในมือไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป หรือเราอาจบังเอิญเจอคนที่แอบชอบอยู่ใกล้ ๆ จนอยากเปลี่ยนหนังสือเครียด ๆ ให้กลายเป็นเรื่องที่มีเนื้อหาหวาน ๆ มากกว่า ทั้งนี้ต้องระมัดระวังเรื่องสายตาและอาการเมารถด้วยการหันไปมองนอกหน้าต่างเป็นระยะ แต่หากแก้ไขไม่ได้จริง ๆ ควรเปลี่ยนไปฟัง Audio Book แทน ก็ยังได้ผลไม่ต่างกัน นอกจากนี้การฟัง Podcast ก็ถือเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ โดยผู้เชี่ยวชาญได้อธิบายว่า การฟังจะทำให้เราจดจ่อกับเนื้อหาได้ดีกว่าการดูหรืออ่านขณะเดินทาง ดังนั้นเราสามารถเตรียม Podcast ที่ชอบไว้ฟังฆ่าเวลาได้เลย

การเดินทางส่งผลกับการสร้างสรรค์อย่างไร

มีการวิจัยจาก Harvard Business School เผยว่าการเดินทางไม่ได้ส่งผลกับประสิทธิภาพของการทำงานเพียงอย่างเดียว แต่ยังส่งผลต่อความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นรากฐานของการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมาอีกด้วย ที่สำคัญคนที่ได้รับผลกระทบจากการเดินทางมากที่สุดมักเป็นพนักงานในระดับสูงที่ต้องใช้ความคิดความอ่านมากกว่าปกติเพราะหากบรรยากาศตั้งแต่เริ่มวันใหม่เป็นไปในแง่ลบ ก็ไม่มีทางเลยที่พนักงานดังกล่าวจะสามารถดึงศักยภาพออกมาได้อย่างเต็มที่ 

งานวิจัยยังบอกอีกว่าประสิทธิภาพในการทำงานของคนจะลดลงราว 7-10% เมื่อต้องเดินทางเพิ่มขึ้น 10 กิโลเมตร ดังนั้นหากคุณทำงานเกี่ยวกับการสร้างสรรค์ (Creative) การสนับสนุนให้พนักงานเดินทางอย่างสะดวกสบายที่สุดถือเป็นรากฐานที่จะช่วยให้งานดีขึ้น แต่ก็มีองค์ประกอบอื่น ๆ ที่ต้องคิดควบคู่กันไปด้วยเพื่อให้นโยบายด้านการเดินทางเกิดประโยชน์มากขึ้นได้จริง

ยิ่งเดินทางสบาย กลับยิ่งทำงานแย่ลง !

เมื่อถึงช่วงวัยหนึ่งแล้ว ไม่ว่าใครก็ต้องใช้เวลาเดินทางไปทำงานไม่ว่าจะใกล้หรือไกลก็ตาม ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่สามารถนั่งอยู่บนรถสบาย ๆ เพราะส่วนใหญ่มักต้องยืนเบียดเสียดกันบนระบบขนส่งสาธารณะ รวมถึงต้องต่อสู้กับความง่วงที่คาดเดาไม่ออกเลยว่าจะไปทำงานอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร จึงไม่แปลกที่ทุกคนจะพยายามพักผ่อนหรือรีบเคลียร์งานบางอย่างล่วงหน้าไปเลย ฟังแล้วอาจดูเครียด แต่รู้ไหมว่า Harvard Business School ได้ทำการวิจัยจนพบว่าความเครียดระหว่างเดินทางนี่ล่ะที่จะช่วยให้การทำงานในแต่ละวันดีขึ้นได้จริง !

ผลวิจัยเผยว่าสาเหตุของความเครียดจะขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนคิดเรื่องอะไรอยู่ระหว่างเดินทาง โดยปกติแล้วเวลาคนเดินทางไปทำงาน สิ่งที่ใช้ฆ่าเวลามักอยู่ในรูปของการอ่านหนังสือ, ฟังเพลง, พักสายตา, แต่งหน้า, ทำสมาธิ หรืออะไรก็ตามที่ถือเป็นเวลาส่วนตัวก่อนถึงออฟฟิศที่ถือเป็นพื้นที่สาธารณะ ซึ่งจุดนี้เองที่เป็นปัญหา เพราะหากเราทำตัวสบายเกินไป ความคิดของเราอาจไปสะท้อนว่าการทำงานเป็นความยากลำบากจนเกิดทัศนคติผิด ๆ ที่ยากต่อการแก้ไขหากไม่รีบจัดการตั้งแต่ต้น ทั้งนี้ผู้วิจัยกล่าวว่าการเดินทางไปทำงานนาน ๆ จะส่งผลในแง่ลบโดยตรงต่อพนักงานที่มีความสามารถในการควบคุมต่อตัวเองต่ำ เพราะพนักงานในลักษณะนี้จะไม่เอาเวลามาเตรียมพร้อมสำหรับการทำงานเลย

เดินทางไปทำงานไป : เคล็ดลับฆ่าเวลาที่ช่วยให้เราเก่งขึ้น

การเตรียมพร้อมสำหรับการทำงาน (Role-Clarifying Prospection) มีความสำคัญอย่างไร ? มันคือการแบ่งเวลาเพื่อเตรียมพร้อมทางความคิดและจิตใจให้เหมาะกับการทำงานตามหน้าที่และเป้าหมายที่รออยู่ตรงหน้า ซึ่งตรงนี้เองที่ผู้วิจัยมองว่าเป็นสิ่งที่ควรทำขณะเดินทาง ไม่ใช่การหลีกหนี (Escape) หรือการทำทุกอย่างตามใจทิ้งทวนก่อนจะเข้างาน โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์จอน ไมเคิล จาชิโมวิคซ์ (Jon Michael Jachimowics) หนึ่งในผู้ร่วมวิจัยเสริมว่าสิ่งที่จะช่วยให้การเดินทางไปทำงานเกิดประโยชน์ที่สุดคือการตั้งเป้าหมาย, วางแผน, และคิดในเบื้องต้นว่าเราจะทำอะไรบ้างในวันนั้น 

เราจึงสรุปได้ว่าการปล่อยตัวเองให้สบายเกินไปแม้จะฆ่าเวลาได้จริง แต่จะยิ่งทำให้เกิดความแตกต่าง (Contrast) ระหว่างเวลาว่างกับเวลาทำงาน แน่นอนว่าไม่มีใครหรอกที่จะสนุกกับการทำงานตลอดเวลา แต่การทำให้ตัวเองมีความสุขที่สุดก่อนเข้างานจะทำให้เราเห็นภาพในแง่ร้ายชัดขึ้นซึ่งบางเรื่องอาจเป็นพลังลบที่เราเติมแต่งในหัวเองก็ได้ ดังนั้นนอกเหนือจากการวางแผนในหัวอย่างเป็นระบบแล้ว วัยทำงานทุกคนยังควรฝึกตัวเองให้มีสติ คิดตามความเป็นจริง และตอบตัวเองให้ได้เสมอว่าเหตุผลของการทำงานคืออะไร ไม่ต้องถึงขนาดหยิบงานมาทำล่วงหน้าจนเครียดก็ได้ก็ได้ ขอเพียงไตร่ตรองให้พร้อมรับมือกับมันก็พอ 

10 วิธีที่จะช่วยให้การเดินทางของคุณมีประสิทธิภาพมากขึ้น

1. ควรใช้เวลาเดินทางเพื่อทำให้เห็นภาพกว้าง (Big Picture) ของการทำงาน : การเดินทางไปทำงานจะทำให้เราไม่ถูกครอบโดยปัจจัยอื่น ๆ ในที่ทำงาน ดังนั้นเราควรใช้เวลานี้มาตกผลึกในสิ่งที่จำเป็น เช่นนโยบายบริษัท, วิธีขายงานลูกค้า, ความสัมพันธ์ของคนในทีม รวมถึงหาแนวทางพัฒนาบุคลากรให้ดียิ่งขึ้น การถอยออกมาก้าวหนึ่งเพื่อมองภาพรวมตรงนี้จะช่วยให้เราแก้ปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น

2. ควรใช้เวลาเดินทางเพื่อติดต่อกับคนที่สำคัญในชีวิต : การทำงานยิ่งมีตำแหน่งสูงขึ้นยิ่งทำให้เราไม่มีเวลาติดต่อพูดคุยกับคนในครอบครัวหรือคนที่เรารัก ดังนั้นเราควรใช้โอกาสนี้ทักหาคนที่เราห่วงใย เพราะบุคคลเหล่านี้จะสามารถให้แรงบันดาลใจในการทำงานตลอดจนคำแนะนำที่เราคาดไม่ถึง ดังนั้นหากเราไม่อยากคุยเรื่องส่วนตัวในเวลางาน การใช้เวลาเดินทางมาทดแทนก็เป็นทางออกที่ดีที่สุด

3. ควรใช้เวลาเดินทางด้วยมุมมองในแง่บวก (Positive Thinking) : เวลาเดินทางเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้เพราะเกิดขึ้นด้วยองค์ประกอบมากมายที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นแทนที่เราจะหดหู่กับมัน เราควรพยายามหาข้อดีและตอบตัวเองให้ได้ว่าจะเปลี่ยนเวลาดังกล่าวให้ “ดีขึ้น” ได้อย่างไร แน่นอนว่ามันอาจไม่ได้ทำให้มีความสุขที่สุด แต่ก็เป็นเรื่องดีกว่าการปล่อยให้เวลาผ่านไปอย่างหม่นหมองแน่นอน

4. ควรใช้เวลาเดินทางเพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ : เวลาในออฟฟิศมีจำกัด และส่วนใหญ่ต้องใช้เพื่อตอบโจทย์ที่องค์กรต้องการในแต่ละวัน ดังนั้นเราสามารถใช้เวลาเดินทางเป็น “เวลาพิเศษ” ที่สามารถโฟกัสกับอะไรก็ได้ ซึ่งสามารถเริ่มด้วยการอ่านหรือฟังบทสรุปง่าย ๆ เพื่อหาคำตอบว่าสิ่งที่เราอยากเรียนรู้นั้นตรงกับที่คิดไว้จริง ๆ หรือไม่ วิธีนี้จะช่วยให้เราตัดสินใจหาทางเลือกให้ตัวเองได้อย่างตรงจุดมากขึ้น

5. ควรใช้เวลาเดินทางเพื่อตรวจสอบสุขภาพจิตของตัวเอง : ถ้าเราทำงานบนรถไม่ได้ สิ่งที่ควรทำก็คือหันมาถามว่าสภาพจิตใจของตนขณะนั้นเป็นอย่างไร ลองถามอย่างจริงใจว่าหากมีความไม่สบายใจเกิดขึ้น วิธีแก้ไขเป็นอย่างไร มีสิ่งที่ HR สามารถช่วยเหลือได้หรือไม่ เป็นต้น การใช้สมาธิตรงส่วนนี้จะช่วยฆ่าเวลาขณะเดินทาง และยังช่วยเยียวยาความเครียดระหว่างวันได้อีกด้วย

HR จะช่วยเรื่องการเดินทางของพนักงานได้อย่างไร

ในสหรัฐอเมริกานั้นมีพนักงานบริษัทถึงกว่า 7.5 ล้านคนที่ได้รับสวัสดิการด้านการขนส่งมวลชน ดังนั้นหากเรามองย้อนกลับมาถึงเมืองไทยที่ขึ้นเชื่อเรื่องปัญหาจราจรติดอันดับโลก ก็ไม่แปลกหากเราจะคิดว่าทำไมสวัสดิการในด้านนี้ถึงไม่แพร่หลายนักในเมืองไทย เพราะแท้จริงนั้นก่อนที่เราจะไปคิดถึงเรื่องไกลตัว เราควรเริ่มจากตั้งคำถามว่าบริษัทสามารถช่วยเหลือพนักงานในเบื้องต้นได้อย่างไรมากกว่า

โดยปกติแล้ว แนวทางที่ HR ใช้ไม่จำเป็นต้องอาศัยงบประมาณเสมอไป เพราะสามารถเริ่มต้นได้ด้วยการกำหนดเวลาเข้างานใหม่ให้สอดคล้องกับแต่ละแผนกมากที่สุด ไม่จำเป็นต้องเข้างานเวลาเดียวกันทั้งองค์กร อย่างเช่นพนักงานบัญชีอาจต้องเข้างานตั้งแต่ 8.30 น. แต่พนักงานสายครีเอทีฟที่ใช้เวลาคิดงานจนดึก ก็อาจเปลี่ยนไปเข้างานเวลา 10.30 น.

วิธีนี้นอกจากจะช่วยเผื่อเวลาเดินทางให้แล้ว ยังทำให้พนักงานมีสติสัมปชัญญะพร้อมสำหรับการทำงานในแต่ละวันอีกด้วย ทั้งนี้บริษัทสามารถพิจารณาเป็นรายบุคคลในกรณีที่บริษัทพิสูจน์แล้วว่าพนักงานคนดังกล่าวยังสามารถทำงานได้ตามวัตถุประสงค์และเป็นไปด้วยความพอใจของทั้งสองฝ่าย

ขณะเดียวกันบริษัทก็สามารถออกนโยบายใหม่ ๆ เช่นการสนับสนุนให้พนักงานที่อยู่ในพื้นที่ใกล้กันเดินทางมาด้วยกัน (Share Ride) , จัดรถรับ – ส่งหากบริษัทอยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากระบบขนส่งสาธารณะในปริมาณที่เหมาะสม, เพิ่มสวัสดิการอื่น ๆ ในที่ทำงานเพื่อให้พนักงานพักผ่อนจนกว่าจะหมดชั่วโมงเร่งด่วน หรือแม้แต่การคิดค้นระบบออฟฟิศย่อย (Satellite Office) โดย HR สามารถทำแบบสำรวจกับพนักงานเพื่อหานโยบายที่เหมาะสมกับองค์ที่สุดได้เลย

การบริหารจัดการวิธีเดินทางของพนักงานมีประโยชน์อย่างไร

คุณแอนเดรีย โทเบน (Andrea Toben) ผู้จัดการฝ่ายสวัสดิการและสวัสดิภาพพนักงานจากบริษัท Paycor สหรัฐอเมริกากล่าวว่านโยบายช่วยเหลือด้านการเดินทางของพนักงาน (Commute Policy) คือรากฐานสำคัญที่จะช่วยดึงดูดพนักงานใหม่ (Recruit) รวมถึงรักษาพนักงานเดิม (Retention) ให้อยู่กับองค์กรต่อไป โดยเฉพาะการทำงานในเมืองใหญ่ที่มีค่าใช่จ่ายสูงทั้งด้านระบบขนส่งสาธารณะ ตลอดจนค่าจอดรถของผู้ที่ใช้ยานพาหนะส่วนตัว

และการให้ความช่วยเหลือเรื่องการเดินทางยังทำให้พนักงานเห็นว่าบริษัทใส่ใจกับชีวิตความเป็นอยู่จึงรู้สึกอยากตอบแทนและพัฒนาตัวเองให้มีศักยภาพมากขึ้น 

คุณโรบิน แบล็คสมิธ (Robin Blacksmith) จากบริษัท F5 Network สหรัฐอเมริกายังกล่าวเสริมว่าการสนับสนุนค่าเดินทางจะทำให้พนักงานมีความสุข เพราะสิ่งที่เป็นปัญหาที่สุดในชีวิตการทำงานส่วนใหญ่คือ “การเดินทาง” เขาเชื่อว่าการเดินทางไปทำงานคือรากฐานทางอารมณ์ในแต่ละวัน หากเริ่มต้นวันได้ดี ความรู้สึกในวันดังกล่าวก็จะดีขึ้นตามไปด้วย กลับกันหากการเดินทางเต็มไปด้วยความเหน็ดเหนื่อย เคร่งเครียด ประสิทธิภาพในการทำงานก็จะลดลงไปเช่นกัน

การวางแผนเรื่องนโยบายการเดินทางของพนักงานนั้นมีปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงมากมาย ไม่สามารถระบุได้ว่าวิธีการแบบไหนเป็นวิธีที่ได้ผลที่สุด HR ต้องทำสำรวจเบื้องต้นก่อนเพื่อหาคำตอบว่าพนักงานส่วนใหญ่ในองค์กรเดินทางด้วยวิธีใด และวิธีดังกล่าวส่งผลต่อการทำงานหรือไม่ ที่สำคัญต้องเข้าใจว่า “พนักงานในแต่ละวัยต้องการวิธีสนับสนุนที่แตกต่างกัน” เช่นหากพนักงานที่เป็นเด็กจบใหม่ ก็จะอยากได้สวัสดิการที่ช่วยเรื่องการขนส่งสาธารณะมากกว่า

ขณะเดียวกันพนักงานอาวุโสที่มีรถยนต์ก็จะอยากได้สวัสดิการด้านที่จอดรถ พนักงานที่เป็นฝ่ายขายก็จะอยากได้สวัสดิการที่ช่วยเรื่องค่าน้ำมันและค่าทำความสะอาดรถ หรือบางคนอาจใช้วิธีการเดินทางทั้งสองแบบ ดังนั้น HR หาจุดร่วมตรงกลางให้เจอว่านโยบายแบบใดที่เหมาะสมและไม่ส่งผลเสียต่อเสถียรภาพทางการเงินขององค์กร

บทสรุป

การทำงานระหว่างเดินทางคือสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วยบริบททางโครงสร้างของพื้นที่เช่นผังเมือง, วิสัยทัศน์จากภาครัฐ ตลอดจนวิถีชีวิตที่คุ้นเคยของประชาชน

ดังนั้นสิ่งที่เราต้องนึกถึงตามมาก็คือจะใช้ช่วงเวลาเหล่านั้นเพื่อสร้างประสบการณ์เรียนรู้ (Learning Experiences) ใหม่ ๆ ได้อย่างไร ต้องหาคำตอบให้ได้ว่ามีนโยบายและเครื่องมือใดบ้างที่องค์กรสามารถนำมาใช้เพื่อสนับสนุนให้พนักงานรู้สึกดีขึ้นเมื่อต้องเดินทางไปกลับจากที่ทำงาน เพราะรากฐานตรงนี้คือสิ่งที่จะช่วยให้บริษัทเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

เราได้เห็นกันแล้วว่าการเติบโตขององค์กรมีรายละเอียดมากมายที่มองข้ามไปไม่ได้ บางองค์กรอาจมีนโยบายการเดินทางที่ต่อยอดยาวไปถึงครอบครัวของพนักงานเพื่อช่วยคลายกังวลเพิ่มไปอีกขั้นด้วยซ้ำ ดังนั้นนอกจาก HR จะต้องเก็บข้อมูลจากพนักงานแล้ว การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ (HR Consult) และการจัดอบรมพนักงานแบบ 360 องศา (ตั้งแต่ผู้บริหารสูงสุด จนพนักงานระดับล่างสุด) ก็เป็นสิ่งที่ควรทำจริง ๆ 

ทั้งนี้หากไม่แน่ใจว่าจะหาข้อมูลเหล่านี้อย่างไร เราแนะนำบริการ HREX แพลตฟอร์มที่รวบรวมข้อมูลผลิตภัณฑ์และบริการ HR มากที่สุดในเมืองไทย ไม่ว่าคุณจะเป็นบริษัทเล็กหรือใหญ่ก็สามารถหาคำตอบได้อย่างครบวงจรแน่นอน 

CTA HR Consulting Firm

ผู้เขียน

Pumi Boonyatud

Pumi Boonyatud

a professional daydreamer. pro-wrestling god.

บทความที่เกี่ยวข้อง