HR for Startup : ฟังก์ชันสำคัญของการเริ่มต้นธุรกิจสตาร์ทอัพ

ประเด็นสำคัญ
  • ทรัพยากรมนุษย์เป็นปัจจัยและหัวใจที่สำคัญที่สุดสำหรับ Startup ที่ควรใส่ใจตั้งแต่การคัดสรรทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ ไปจนถึงการบริหารจัดการให้อยู่ร่วมงานกันให้ได้นานที่สุด
  • ปัจจุบันมี App ตลอดจน Tech มากมายที่สร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือในเรื่อง HR ด้านต่างๆ สำหรับ Startup
  • ฟังก์ชั่นกฎหมายและการเงินเป็นหัวใจสำคัญที่ Startup ต้องใส่ใจเป็นอย่างมาก

HR for Startup ฟังก์ชันสำคัญของการเริ่มต้นธุรกิจสตาร์ทอัพ

หนึ่งในรูปแบบธุรกิจที่กำลังมาแรง เป็นที่นิยม สร้างความสำเร็จได้ไว และเป็นขวัญใจของคนยุคใหม่ นั่นก็คือการประกอบธุรกิจแบบ Startup นั่นเอง ถึงอย่างไรก็ดีสเกลของ Startup นั้นก็มีอยู่หลายขนาดเช่นกัน ตั้งแต่ สเกลเล็กมากๆ ที่อาจเป็นการเริ่มต้นด้วยคนเพียง 2-3 คนเท่านั้น ไปจนถึงสเกลขนาดกลางถึงใหญ่ที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนก้อนโตสำหรับการสร้างองค์กร สำหรับ Startup สเกลขนาดใหญ่นั้นอาจไม่แตกต่างอะไรไปจากบริษัทในยุคปัจจุบันที่มีการบริหารงานอย่างครบวงจร แต่ในส่วนของ Startup สเกลขนาดเล็กที่กำลังเริ่มโตนั้นอาจยังมีการบริหารงานที่ไม่ครบครันนัก แต่ก็มีการบริหารงานในรูปแบบที่ต่างออกไปจากบริษัทใหญ่เพื่อให้เหมาะสมกับขนาดบริษัทของตนมากกว่า ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือการบริหารงานบุคคลที่ต่างก็มีการปรับลักษณะงานให้เข้ากับองค์กรในลักษณะ Startup แถมยังมีองค์ความรู้ตลอดจนสร้างวิธีการบริหารงานบุคคลในรายละเอียดใหม่ๆ น่าสนใจขึ้นมามากมายอีกด้วย ซึ่งนี่คือหนึ่งในเคล็ดลับความสำเร็จของ Startup ในอนาคตได้เช่นกัน

HR สำคัญกับบริษัท Startup จริงหรือ ?

COVID Aftermath EP.2: Peninsula ถอดบทเรียน HR ทางรอดแบบคนรอดตาย ที่ไม่กลายเป็นซอมบี้

บริษัท Startup ส่วนใหญ่อาจไม่ได้ให้ความสำคัญกับฝ่าย HR และการบริหารงานบุคคลเป็นอันดับแรกๆ เพราะอาจมีจำนวนคนที่น้อยนิด และมีงบประมาณที่จำกัด เจ้าของที่ก่อตั้ง Startup จึงมักรับหน้าที่ในการดูแลพนักงานไปในตัว และให้ฝ่ายบัญชีจัดการเรื่องการจ่ายเงินเดือนให้ เท่านั้นก็เสร็จสรรพ แต่เมื่อ Startup ประสบความสำเร็จ มีการขยายตัวของบริษัท มีจำนวนคนมาร่วมทำงานที่มากขึ้น หรือได้รับเงินทุนสนับสนุนก้อนโตเพิ่มเติม องค์กร Startup ต่างๆ จะหันมาให้ความสนใจกับฝ่าย HR ตลอดจนงานบริหารงานบุคคลเป็นอันดับต้นๆ ในทันที นอกจากจะช่วยบริหารบุคลากรและการทำงานให้ราบรื่นแล้ว ยุคนี้กลยุทธ์ด้าน Human Resource ยังถือเป็นไม้เด็ดที่ช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรได้อีกด้วย และช่วยให้ได้คนเก่งมีความสามารถมาร่วมงานมากขึ้น และส่งผลให้บริษัทอาจก้าวหน้าอย่างว่องไว ประสบความสำเร็จได้รวดเร็วกว่าที่คาดคิดก็เป็นได้

ขณะเดียวกัน องค์กรระดับ Startup หลายองค์กรต่างก็ตกม้าตาย หรือทำให้บริษัทไม่ก้าวหน้า ตลอดจนทำให้ธุรกิจย่ำแย่ เพราะขาดการบริหารงานบุคคลที่ดีมาแล้วก็มีเช่นกัน ดังนั้นไม่ว่าจะ Startup สเกลไหนต่างก็ควรต้องให้ความสำคัญกับงานบริหารงานบุคคลแทบทั้งสิ้น เพียงแต่ว่าจะให้ความสำคัญในระดับไหนที่จะเหมาะกับระดับหรือสเกล Startup ของตนเท่านั้นเอง

ประโยชน์ของงานด้าน HR สำหรับองค์กร Startup
  • ช่วยให้เกิดความเป็นธรรมกับพนักงานในองค์กร
  • ช่วยให้การบริหารงานตลอดจนการทำงานเป็นระบบระเบียบมากขึ้น
  • ช่วยให้บุคลากรเกิดความสุขในการทำงานและทำงานได้ในระยะยาวขึ้น
  • ช่วยเป็นพื้นฐานที่ดีในการเติบโตขององค์กร
  • ช่วยให้องค์กรสามารถทำธุรกิจได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ไม่ละเมิดสิทธิ์ หรือทำผิดกฎหมาย
  • ช่วยให้การทำงานราบรื่น ไม่ติดขัด

ฟังก์ชั่นสำคัญด้าน HR ที่จำเป็นสำหรับ Startup

HR for Startup ฟังก์ชันสำคัญของการเริ่มต้นธุรกิจสตาร์ทอัพ

บริษัทที่ประกอบธุรกิจระดับ Startup อาจเริ่มต้นด้วยจำนวนคนที่น้อย หรืองบประมาณที่จำกัด บางครั้งอาจไม่ได้โฟกัสงานบริหารงานบุคคลที่ตำแหน่งหรือหน้าที่ให้ครบครันสนับสนุนการทำงานให้พร้อม แต่เน้นไปที่ฟังก์ชั่นสำคัญของงาน HR แทน โดยที่หนึ่งในสมาชิกจะต้องดูแลเรื่องเหล่านี้ควบไปด้วย หรือไม่ก็ตั้งคนมาดูแลเพียงคนเดียวแล้วดูแลทุกอย่างเบ็ดเสร็จไปในคราวเดียวกันเลย ดังนั้นนี่คือฟังก์ชั่นด้าน Human Resource Management ที่ Startup ควรให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก

การสรรหาทรัพยากรบุคคล (Recruitment)

การสรรหาทรัพยากรบุคคลถือเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจ Startup มากๆ ยิ่ง Startup มีความน่าสนใจมากเท่าไร โอกาสที่จะได้บุคลากรที่เก่งและมีคุณภาพมาร่วมงานก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น ส่วนใหญ่แล้วการสรรหาทรัพยากรบุคคลของธุรกิจ Startup มักชักชวนคนที่มีความสามารถที่รู้จักกันมาร่วมกันทำงาน แต่เมื่อ Startup ต้องขยายตัวก็จะเริ่มประกาศรับสมัครงานด้วยเหมือนกัน สื่อที่ Startup นิยมประกาศรับสมัครงานนั้นมีดังนี้

  • Social Media : แน่นอนว่านี่คือสื่อที่ Startup และองค์กรยุคใหม่นิยมเป็นอันดับแรก เพราะนอกจากจะประหยัดงบประมาณได้มากแล้วยังได้ผลที่สุดด้วย Startup จะเริ่มประกาศรับสมัครงานใน Facebook หรือไม่ก็ LinkedIn ของตนเอง และนี่ก็คือแหล่งที่จะทำให้ได้คนที่มีศักยภาพมากที่สุดด้วยเช่นกัน
  • Website : หนึ่งในวิธีสร้างตัวตนให้คนรู้จัก โดยใช้งบประมาณน้อยที่สุดนั้นก็คือ Website องค์กร Startup มักนิยมสร้างเว็บไซต์ของตัวเองให้สวยดึงดูดใจ เพื่อที่จะให้คนสนใจผลิตภัณฑ์ ตลอดจนเชื่อถือองค์กรไปในตัวด้วย แล้วในเว็บไซต์ของเหล่า Startup ก็มักจะมีส่วนสำคัญก็คือ Career อยู่ด้วยเสมอ เพื่อประกาศรับสมัครงาน หรือให้คนมายื่นสมัครงานกับบริษัทโดยตรง ซึ่งนี่เป็นการคัดกรองเบื้องต้นที่ยอดเยี่ยมที่สุด เพราะทุกคนที่อยากร่วมงานกับบริษัทนี้จริงๆ จะเข้ามายังเว็บไซต์และสมัครงานโดยตรง
  • Startup Recruitment : ปัจจุบันมี Recruitment ที่เกิดจากธุรกิจ Startup หลายตัว แต่ Recruitment ที่เป็นแหล่งหางานสำหรับ Startup จริงๆ นั้นมีค่อนข้างน้อย สำหรับ Startup Recruitment ที่ประสบความสำเร็จนั้นต้องยกให้ GetLinks (https://getlinks.co/th/) แหล่งหางานที่ถือกำเนิดในยุค Startup เริ่มต้นแรกๆ และมุ่งเน้นในการเป็นชุมชนหางานสำหรับชาว Startup โดยเฉพาะ ซึ่งนอกจากจะได้ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างธุรกิจ Startup แล้ว ยังเป็นการสร้างเครือข่ายที่แข็งแกร่งอีกด้วย และสามารถได้คนที่สนใจด้านนี้ Startup และ Technology จริงๆ

การจัดการเรื่องบัญชี, เงินเดือนและภาษี (Accounting, Payroll & Tax)

เรื่องเงินๆ ทองๆ เป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกฝ่าย และนี่มักเป็นเรื่องที่เหล่า Startup ปวดหัวและไม่อยากยุ่งมากที่สุดด้วยเช่นกัน แล้วก็มักเป็นส่วนที่ Startup จะจ้างพนักงานหรือผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ มาดูให้แทนเป็นคนแรกๆ อย่างไรก็ดีก็ยังมี Startup หลายบริษัทที่ต้องการเรียนรู้จัดการด้วยตนเองเพื่อต้องการประหยัดงบประมาณ หรือไม่ก็หา partner ที่ทำงานในส่วนนี้เป็นมาร่วมทีมกัน แต่ก็จะมี Startup อีกประเภทหนึ่งนั่นก็คือ FinTech ที่จะเชี่ยวชาญในเรื่องนี้อยู่แล้วซึ่งมักจะดูแลเรื่องนี้เอง แล้วในทางที่เป็นประโยชน์เอื้อต่อ Startup ด้วยกันนั้นก็คือเหล่า Startup ในกลุ่ม FinTech ก็มักจะสร้างสรรเทคโนโลยีหรือแอบพลิเคชั่นต่างๆ เพื่อมาช่วยให้ทำงานเรื่องนี้ได้สะดวกขึ้น ไม่ยุ่งยากซับซ้อน และทำงานง่ายขึ้นด้วยนั่นเอง

ตัวช่วย App ด้าน FinTech ที่มาช่วยให้ Startup สะดวกสบายยิ่งขึ้น
  • Accounting & Tax :ตัวช่วยอันดับหนึ่งสำหรับด้านการจัดการบัญชีและการเงินที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากโดยเฉพาะจาก Startup ทั้งหลายก็คือเจ้าตลาดอย่าง FlowAccount Classic (เดิมคือ FlowAccount) โปรแกรมบัญชีออนไลน์ที่เกิดจากการเป็น Startup ในกลุ่ม FinTech แรกๆ ของเมืองไทย ซึ่งใน FlowAccount Classic นั้นมีตัวช่วยในการคำนวณและบริหารจัดการด้านบัญชีมากมาย ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://flowaccount.com/
  • Payroll :โปรแกรมตัวช่วยการจัดการเรื่องเงินเดือนและภาษีนั้นออกมามากมาย แต่หนึ่งใน App ที่ได้รับความนิยมและใช้งานง่ายสะดวกสบายก็คือ Gpayroll ซึ่งเป็นการให้บริการ Online Payroll Solution บริหารจัดการระบบเงินเดือน (Payroll System) ตลอดจนคำนวณระบบภาษีอย่างมีประสิทธิภาพรวดเร็ว ที่สำคัญ Gpayroll ยังได้รับคัดเลือกจาก The Silicon Review ให้เป็น 30 Best Tech Companies in Asia 2018 บริษัที่ให้บริการด้านเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพยอดเยี่ยมอีกด้วย ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.gpayroll.com/

สวัสดิการ (Benefit)

สวัสดิการกลายมาเป็นจุดแข็งหรือหัวใจหลักของ Startup เลยก็ว่าได้ เพราะนี่คือสิ่งที่ใช้ดึงดูดให้คนรุ่นใหม่อยากเข้ามาร่วมงานด้วยได้มากที่สุดอย่างหนึ่ง และด้วยความที่ Startup มักเป็นองค์กรขนาดเล็ก หรือไม่ก็เป็นองค์กรที่มีความคล่องตัวสูง ยืดหยุ่น ไม่ยึดติดกับกฎระเบียบในรูปแบบเดิมๆ ทำให้ Startup สามารถสร้างสรรค์สวัสดิการได้ต่างๆ นานา และมีความน่าสนใจจนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนอยากร่วมงานด้วยมากที่สุดเลยก็ว่าได้ ในเรื่องของสวัสดิการนั้นมีตั้งแต่สวัสดิการภาคพื้นฐานที่จำเป็นกับสวัสดิการสร้างสรรค์ต่างๆ นานาที่น่าสนใจสำหรับคนทำงานยุคใหม่ เราขอยกตัวอย่างดังนี้

  • สวัสดิการสร้างสรรค์ : ปัจจุบันมีสวัสดิการสร้างสรรค์เกิดขึ้นมากมาย และกลายเป็นสีสันแห่งวงการ Startup ที่ใครหลายคนอยากเข้ามาร่วมงานด้วยนั่นเอง สวัสดิการเชิงสร้างสรรค์นี้ก็ได้แก่
    • Remote Working : การทำงานที่ไหนก็ได้บนโลกเป็นได้ทั้ง Working System และสวัสดิการสำหรับพนักงานที่มีสิทธิ์ใช้ได้ตามแต่ละบริษัทกำหนด ซึ่งนี่เป็นอีกหนึ่งสวัสดิการสำคัญที่ใครหลายคนมักชื่นชอบ
    • Friday Party : สวัสดิการนี้เป็นสวัสดิการยอดนิยมอย่างหนึ่งของ Startup ในเมืองไทยเลยทีเดียว ทุกวันศุกร์จะมีการจัดปาร์ตี้สนุกๆ กันเสมอๆ เพื่อเป็นการผ่อนคลายและเชื่อมความสามัคคีระหว่างกันด้วย
    • Vacation Trip : การท่องเที่ยวและไปทริปด้วยกันนั้นเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมยอดนิยมสำหรับ Startup และนี่มักเป็นสวัสดิการที่ทำให้คนอยากมาร่วมงานมากที่สุด
  • สวัสดิการพื้นฐานที่จำเป็น : Startup ที่ดำเนินธุรกิจมาในระยะยาวขึ้น ไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่นั้นหนึ่งในสิ่งที่ผู้ร่วมงานทุกคนต้องถามหากันก็คือสวัสดิการพื้นฐานในลักษณะเดียวกันกับองค์กรใหญ่ๆ ที่ควรมีให้ หรือบาง Startup ก็ใช้สวัสดิการนี้เป็นจุดดึงดูดและดูแลพนักงานด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะสวัสดิการในเรื่องประกันสุขภาพไปจนถึงประกันชีวิต
    • Startup Insurance : สวัสดิการด้านประกันภัยนี้ถือเป็นค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่สำหรับ Startup ที่สร้างความหนักใจให้ผู้ประกอบการทีเดียว แต่ปัจจุบันก็มีตัวเลือกที่สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อให้เหมาะกับ Startup ยิ่งขึ้น หนึ่งในประกันภัยที่สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อชาว Startup โดยเฉพาะก็คือ MTL4Startup ของยักษ์ใหญ่อย่างเมืองไทยประกันชีวิตที่ร่วมมือกับ Hubba สร้างสรรค์ “กรมธรรม์ประกันกลุ่มสำหรับลูกค้าสตาร์ทอัพ” ขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองไทย เพื่อให้เหมาะกับขนาดและรูปแบบธุรกิจ Startup โดยเฉพาะ และเป็นสวัสดิการให้กับชาว Startup ได้คุ้มค่าไม่ต่างกับการทำงานบริษัทใหญ่ๆ เลยทีเดียว ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ muangthai.co.th

กฏหมาย (Law)

ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเล็กหรือบริษัทใหญ่เรื่องกฎหมายเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน มีความเฉพาะตัว และสำคัญอย่างยิ่ง โชคดีที่ว่า Startup ทั้งหลายมักถูกปูพื้นให้เริ่มต้นกิจการไปพร้อมเรื่องกฎหมายต่างๆ เพราะเมื่อวันที่ Startup โตขึ้นนั้นเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เรื่องของกฎหมายนี้มาเกี่ยวข้องกับ Startup ตั้งแต่การจดทะเบียนบริษัท ไปจนถึงเรื่องกฎหมายต่างๆ ทั้งในเรื่องของกฎหมายลิขสิทธิ์, กฎหมายธุรกิจการค้า, กฎหมายแรงงาน, ไปจนถึงกฎหมายที่จำเป็นต่างๆ อีกมากมาย และ Startup มักต้องมีบริษัทที่ปรึกษาทางกฎหมายที่ชัดเจนแน่นอน รวมถึงมีฝ่ายกฎหมายเป็นของตนเองหากมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้น

หลายส่วนอาจมองว่าเรื่องของกฎหมายนั้นน่าจะเป็นส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับงาน HR แต่สำหรับบริษัทขนาดเล็กนั้นทุกอย่างมักรวมกระจุกอยู่ที่เดียวกัน และต้องดูแลภายในคนเดียวกัน (หรือประสานงานภายในคนเดียวกัน) ทั้งสิ้น แล้วก็มีกฎหมายใหญ่ๆ อย่างกฎหมายแรงงานที่เกี่ยวข้องกับงาน HR โดยตรง ซึ่งก็ต้องช่วยกันดูแลทุกฝ่ายด้วยนั่นเอง

Startup Source
Startup Thailand : หนึ่งในแหล่งข้อมูลและองค์กรที่มีบทบาทมากที่สุดองค์กรหนึ่งของไทยในเรื่องการสนับสนุนส่งเสริมธุรกิจ Startup นั้นก็คือ Startup Thailand นั่นเอง ซึ่งหน่วยงานนี้ดูแลโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (National Innovation Agency : NIA) องค์กรมหาชนในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นั่นเอง ใครที่ต้องการเริ่มธุรกิจแบบ Startup ตลอดจนหาความรู้ต่างๆ ก็สามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมกันได้ที่ https://www.startupthailand.org/

บทสรุป

HR for Startup ฟังก์ชันสำคัญของการเริ่มต้นธุรกิจสตาร์ทอัพ

ทั่วโลกกำลังหันมาสนับสนุนธุรกิจ Startup ให้เติบโต ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทยที่หันมาใส่ใจอย่างจริงจังในทุกๆ ด้านมากขึ้น ได้รับความร่วมมือจากภาครัฐในการให้ความสำคัญและส่งเสริมการเติบโตอย่างเป็นระบบ เพราะ Startup คืออนาคตอันสดใสอย่างหนึ่งของธุรกิจในโลกใบนี้ แล้วการที่ Startup จะเติบโตขึ้นได้อย่างแข็งแกร่งนั้นไม่เพียงแต่จะต้องมีผลิตภัณฑ์หรือไอเดียที่น่าสนใจเท่านั้น แต่การบริหารงานที่มีประสิทธิภาพก็เป็นส่วนสำคัญเช่นกันที่จะทำให้ Startup ก้าวขึ้นสู่ความสำเร็จที่งดงาม

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง