HIGHLIGHT
|
หลายปีมานี้ หลายคนน่าจะได้ยินคำว่า Sustainability ที่แปลว่า ความยั่งยืน กันบ่อยขึ้น เพราะองค์กรทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทยต่างประกาศว่า มีเป้าหมายหลักคือการพัฒนาบริษัทไปสู่ความยั่งยืน และอาจเรียกได้ว่าสำคัญกว่าการทำกำไรให้มากที่สุดเสียอีก
เมื่อหลายบริษัทมีแนวทางชัดเจนว่าเห็นควรเดินหน้านโยบาย Sustainability สู่ความยั่งยืน น่าคิดต่อว่า HR หรือฝ่ายทรัพยากรบุคคลจะต้องปรับตัวและมีบทบาทอย่างไรบ้าง
เพื่อช่วยขับเคลื่อนองค์กรให้ไปถึงเป้าหมายนั้น รู้หรือไม่ว่า HR นี่แหละคือฟันเฟืองชิ้นสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนให้เกิดความยั่งยืนได้เร็วขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทุกบริษัทมากขึ้นตามไปด้วย
Sustainability หรือความยั่งยืนคืออะไร ทำไมหลายบริษัทถึงต้องไปให้ถึงเป้าหมายนั้น
ความยั่งยืน ภาษาอังกฤษ คือ Sustainability เป็นแนวทางสำคัญของการทำธุรกิจในปัจจุบัน หากหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่ละบริษัทมุ่งเน้นไปที่การสร้างผลกำไรให้มากที่สุด โดยไม่ต้องสนวิธีการ แต่แนวทางดังกล่าวอาจไม่เหมาะกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอีกแล้ว
เพราะแต่ละบริษัทต่างตระหนักแล้วว่า บริษัทของตัวเองจะไม่สามารถอยู่รอดได้ในระยะยาว หากสนใจแต่เพียงผลประกอบการ และมีเพียงแต่ตนเองเท่านั้นที่รอด ดังนั้นเพื่อให้ผู้คนสามารถลืมตาอ้าปากได้ ทุกบริษัทจึงจำเป็นต้องหันมาคำนึงถึงผลประโยชน์ต่อส่วนรวม แล้วร่วมสร้างสังคมที่ดีขึ้นไปพร้อมกัน เพื่อให้ทุกชีวิตเดินหน้าต่อไปอย่างมั่นคง
สำหรับวิธีว่าจะสร้างความยั่งยืนได้อย่างไร หลายบริษัทสามารถยึดตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน 17 ข้อ หรือ Sustainable Development Goals (SDG) ที่องค์การสหประชาชาติ หรือ United Nations กำหนดไว้ดังต่อไปนี้
1. ความยากจนต้องหมดไป คนจนสามารถเข้าถึงอาชีพ และรายได้ที่มากขึ้น สามารถขจัดความยากจนทุกรูปแบบ
2. ความอดอยากต้องหมดไป ผู้คนต้องมีความมั่นคงทางอาการและโภชนาการที่ดีขึ้น เกิดการส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน
3. สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ประชากรทุกช่วงวัยต้องมีสุขภาพแข็งแรง และมีความเป็นอยู่ที่ดี
4. การศึกษาที่มีคุณภาพ ประชาชนสามารถเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่เท่าเทียมและทั่วถึง ไม่เพียงแค่นั้นยังต้องส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้แก่ทุกคนได้
5. ความเท่าเทียมทางเพศ ไม่ว่าจะเพศใด อยู่ในช่วงวัยใด ต้องสามารถอยู่ในสังคมที่เท่าเทียมและปลอดภัยไม่แตกต่างกัน
6. เข้าถึงน้ำสะอาดและถูกสุขอนามัย จัดให้มีน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภค การจัดการน้ำที่ยั่งยืน และสุขาภิบาลที่ดีสำหรับทุกคน
7. มีพลังงานสะอาดราคาถูก จัดให้มีพลังงานที่ทันสมัย ยั่งยืน เสถียร ราคาไม่แพงสำหรับทุกคน
8. งานที่ดีและเศรษฐกิจที่เติบโต ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุมและยั่งยืน การจ้างงานที่มีคุณค่า และมีงานที่ดีรองรับสำหรับทุกคน
9. อุตสาหกรรม นวัตกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยืดหยุ่น ส่งเสริมกระบวนการอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน และสนับสนุนนวัตกรรมที่มีประโยชน์ต่อชีวิตผู้คน
10. ลดความเหลื่อมล้ำ ขจัดความไม่เสมอภาคทุกประการทั้งภายในและระหว่างประเทศ
11. เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความปลอดภัย ทั่วถึง และยั่งยืน
12. บริโภคและผลิตอย่างมีความรับผิดชอบ พัฒนารูปแบบการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน ให้เกิดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ
13. แก้ปัญหาโลกร้อน ดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ
14. ชีวิตในน้ำ อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
15. ชีวิตบนบก ปกป้อง ฟื้นฟู ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน หยุดและย้อนกระบวนการเสื่อมโทรมของดิน ป้องกันการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
16. สันติภาพ ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง สร้างเสริมสังคมที่สงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก สร้างกระบวนการยุติธรรมที่และสร้างสถาบันที่มีประสิทธิภาพ เปิดกว้าง และสามารถตรวจสอบได้
17. ร่วมมือเพื่อพิชิตเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ยกระดับแนวทางการดำเนินงาน สร้างเสริมการเป็นพันธมิตรระดับโลก เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
ทั้งนี้ ไม่จำเป็นว่าทุกบริษัทจะต้องทำตามเป้าหมายนี้ให้ครบทั้ง 17 ข้อ แต่หลายบริษัทอาจเลือกเพียง 2-3 หมวดเท่านั้น เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการให้บรรลุผล เช่น ถ้าจะมุ่งเน้นเฉพาะการสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ก็อาจให้ความสำคัญกับข้อที่ 6, 13, 14 และ 15 เป็นต้น
ซึ่งหากทำได้ก็จะช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดี และสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า รวมถึงพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจว่า นี่คือองค์กรที่พร้อมจะพัฒนาโลกนี้ให้น่าอยู่เพื่อทุกคนสืบไป จนทำให้หลายคนอยากร่วมงานด้วยในที่สุด
เมื่อ Sustainability คือทางรอดขององค์กร HR จะมีหน้าที่สร้างความยั่งยืนได้อย่างไร
การที่แต่ละบริษัทประกาศแนวทางชัดเจนว่า ต้องการให้บริษัทมุ่งสู่ความยั่งยืน หรือ Sustainability เป็นเรื่องน่าชื่นชมยินดี แต่การจะบรรลุตามเป้าที่วางไว้ได้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของพนักงานทุกคน เพื่อเดินหน้าไปพร้อมกันอย่างแข็งขันและมั่นคง
ตรงนี้เองที่ HR จะเข้ามามีบทบาทสำคัญ และพวกเขาจำเป็นต้องเป็นพนักงานกลุ่มแรกที่เห็นด้วยกับการเดินหน้าทิศทางนี้ มิฉะนั้นย่อมทำให้ไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย และจูงใจให้เพื่อนพนักงานมองเห็นความสำคัญของประเด็นนี้ได้ด้วย
โดยสิ่งที่ HR สามารถทำได้เพื่อขับเคลื่อนบริษัทสู่ความยั่งยืน มีดังต่อไปนี้
1. ต้องเข้าใจถึงกลยุทธ์ขององค์กร ถ้าเป็นไปได้ HR ควรต้องเข้าไปมีส่วนร่วมกับการวางกลยุทธ์เพื่อความยั่งยืนตั้งแต่ต้น เพื่อเข้าใจถึงความสำคัญของการเดินไปในทางนี้เสียก่อน จากนั้นจึงจะสามารถสื่อสารต่อไปถึงพนักงานปัจจุบันและพนักงานใหม่ให้มองเห็นเป้าหมายเดียวกันได้
2. วางแผน วางแผน วางแผน เมื่อได้กลยุทธ์แล้ว HR จำเป็นต้องมองให้ออกว่า คุณค่าที่บริษัทต้องการจากการสร้างความยั่งยืนคืออะไร เพื่อจะได้รีบวางแผนเพื่อเพิ่มหรือเสริม และเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น เป็นไปตามแนวทางที่วางไว้
3. จูงใจเพื่อนพนักงานให้เป็น HR ต้องรู้วิธีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ และต้องสามารถเหตุผลที่น่าเชื่อถือได้ว่า การเปลี่ยนแปลงบริษัทเพื่อความยั่งยืน จะมีประโยชน์ต่อองค์กรมากอย่างไร รวมถึงเป็นประโยชน์ต่อพนักงานทั้งบริษัทอย่างไร หากสื่อสารรู้เรื่องและมีเหตุผลฟังขึ้น เพื่อนพนักงาน รวมไปถึงฝ่ายบริหาร ย่อมอยากเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งที่ดีกว่าด้วยความเต็มใจ
4. ปรับแก้คู่มือของพนักงาน กฎบางอย่างอาจไม่เหมาะสมกับการทำงานในอนาคต ดังนั้นหากคิดจะเดินหน้าสู่ความยั่งยืน ก็ควรปรับแก้คู่มือพนักงาน หรือปรับแก้กฎระเบียบให้สอดคล้องกับกลยุทธ์และแนวทางที่วางไว้ด้วย
5.เข้าไปมีส่วนร่วมโดยตรง HR ต้องรู้ว่า การสร้างความยั่งยืนวิธีใดได้ผลหรือไม่ได้ผล เพื่อจะได้นำมาปรับใช้ในกลยุทธ์ของบริษัท เพื่อออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งองค์กรและลูกค้า และสามารถทำงานร่วมกับส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ที่มีบทบาทในการสร้างความยั่งยืนด้านต่าง ๆ ได้ถูกต้อง
6.ประเมินผลและปรับใช้ หลังจากลงสนามจริงแล้ว HR ต้องหมั่นประเมินว่า กลยุทธ์เพื่อสร้างความยั่งยืน สามารถใช้งานได้จริงหรือไม่ มีจุดใดสามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้บ้าง โดยอาจประเมินได้ด้วยการทำแบบสอบถาม หรือการสัมภาษณ์เชิงลึกเพื่อนพนักงาน หรือวิธีอื่นใดก็ได้ เพื่อนำฟีดแบ็คทีไ่ด้กลับมาปรับปรุงกลยุทธ์ให้ดีขึ้น
อยากเห็นบริษัทมีความยั่งยืน (Sustainability) HR ต้องไม่ลืมทำสิ่งเหล่านี้
การเดินหน้าสร้าง Sustainability สร้างองค์กรและสังคมที่มีความยั่งยืน ย่อมนำมาซึ่งภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กร แต่ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้จริง HR เองก็ต้องไม่ลืมทำสิ่งเหล่านี้ด้วย
1. คำนึงว่า สังคมจะได้ประโยน์อะไรจากความยั่งยืน การขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืนเป็นผลดีกับบริษัทหลายประการ แต่โจทย์ที่ใหญ่กว่านั้นคือ สังคมและประชาชนจำนวนมากจะได้ประโยชน์อะไรจาก Sustainability นี้ หาก HR ไม่ได้คำนึงถึงประเด็นนี้ ก็ยากที่จะทำให้ผู้คนจำนวนมากร่วมมือกัน และเติบโตไปด้วยกันอย่างมั่นคงได้
2. อย่าลืมคำนวนงบประมาณ การมุ่งหน้าสู่ความยั่งยืน จำเป็นต้องใช้งบประมาณไม่น้อย เพราะทุกขั้นตอนการเปลี่ยนแปลง ย่อมต้องใช้งบประมาณทั้งสิ้น ไล่ตั้งแต่การเลิกใช้ผลิตภัณฑ์ชนิดเก่า เพื่อใช้ผลิตภัณฑ์ใหม่ ออกแบบผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ การติดตั้งโซลาร์เซลล์แทนการใช้ไฟฟ้า รวมไปถึงการทำ CSR หรือการทำโครงการเพื่อสังคม
เช่น การช่วยเหลือเด็กยากไร้ในต่างจังหวัดให้เข้าถึงการศึกษา เป็นต้น หาก HR สามารถช่วยออกแบบกลยุทธ์ที่ทำให้บริษัทใช้เงินได้คุ้มค่า โดยที่ประสิทธิภาพของงานยังไม่ลดลง จะยิ่งช่วยขับเคลื่อนให้เกิดความยั่งยืนได้เร็วขึ้น
3. อย่าทอดทิ้งเพื่อนพนักงาน การประกาศว่าองค์กรจะทำเพื่อสร้างสังคมที่ยั่งยืน เป็นประโยชน์ต่อทุกชีวิตเป็นสิ่งที่ดี แต่ก่อนจะทำเพื่อคนภายนอก อย่าลืมคิดถึงพนักงานในบริษัทของตัวเองด้วยว่า ทุกวันนี้พนักงานในบริษัทเราอยู่ดีกินดี มีสุขภาพที่ดีจากการทำงานหรือไม่ อย่างไร
หากพนักงานยังต้องทำงานแบบหามรุ่งหามค่ำ มีเวลาพักผ่อนไม่เพียงพอ รวมถึงมีสวัสดิการที่น้อย ไม่ครอบคลุม พนักงานก็อาจไม่มีเวลามาคิดเรื่องเหล่านี้ แต่สนใจเพียงแค่ขอเอาตัวรอดไปวัน ๆ แค่นั้นพอ
ฉะนั้น อย่าลืมดูแลพนักงานในองค์กรให้ดีด้วยนะ หากอยากเห็นทุกคนสมัครสมานสามัคคี ร่วมสร้างความยั่งยืนในบริษัทและสังคมให้เกิดขึ้นจริง
บทสรุป
ทุกสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ย่อมเริ่มมาจากก้าวที่เล็ก ๆ การสร้างความยั่งยืน หรือ Sustainability ก็เช่นกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาในการขับเคลื่อนหลายปี จึงจะมองเห็นผลที่เป็นรูปธรรมได้
Sustainability คือสิ่งที่ทุกองค์กรไม่เพียงควรทำ แต่ต้องทำ อย่างไรก็ตามในระหว่างที่ใช้เวลาฟูมฟัก HR คือฝ่ายสำคัญที่ช่วยให้การดำเนินงานของบริษัทเป็นไปตามเป้า ทั้งการวางกลยุทธ์ การสื่อสารภายในบริษัท การนำไปปฏิบัติใช้ รวมถึงการนำผลจากการปฏิบัติ มาปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น เพื่อให้ความยั่งยืนสามารถเกิดขึ้นได้จริงจากในองค์กรอย่างแท้จริง
แล้วเมื่อก้าวแรกนั้นบรรลุผลจริงแล้ว มั่นใจได้ว่าความยั่งยืนในก้าวต่อ ๆ จะเกิดขึ้นตามมาอย่างแน่นอน