New Leader หัวหน้า ผู้บริหาร ประธานบริษัท ผู้นำควรทำอย่างไรเมื่อได้ตำแหน่งวันแรก

HIGHLIGHT

  • การขึ้นเป็นผู้นำมือใหม่ (New Leader) ไม่ว่าจะในระดับเล็กหรือใหญ่ ถือเป็นเรื่องที่ดีและน่ากังวลไปพร้อม ๆ กัน เพราะการเป็นผู้นำไม่ได้อาศัยแค่ทักษะการทำงานเท่านั้น แต่ยังต้องมีทักษะการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลที่ดีอีกด้วย ในที่นี้ HR สามารถเข้ามามีบทบาทได้เลย
  • ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าระยะ 90 วันแรกหลังจากรับตำแหน่งเป็นช่วงที่สำคัญมากสำหรับผู้นำมือใหม่ (New Leader) เพราะเป็นถือเป็นระยะเปลี่ยนผ่านที่พนักงานคนอื่น ๆ จะใช้ตัดสินว่าผู้นำคนใหม่ดีพอสำหรับทีมหรือไม่ ดังนั้นผู้ที่ได้รับตำแหน่งจึงควรสร้างความประทับใจแรก (First Impression) ตลอดจนวางแผนงานในภาพรวมอย่างรัดกุมโดยเร็วที่สุด
  • สิ่งที่ผู้นำคนใหม่ (New Leader) ต้องทำก็คือการพิจารณาว่าหน่วยงานควรสร้างสรรค์แนวทางทำงานแบบใหม่ หรือต่อยอดจากแนวทางเดิมแต่มาพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น โดยอ้างอิงจากความเป็นจริงและศักยภาพของเพื่อนร่วมงาน 
  • สิ่งที่ผู้นำมือใหม่ (New Leader) ไม่ควรทำก็คือการคิดมาก ทะนงตัว และไม่กล้าตัดสินใจ สิ่งเหล่านี้จะไปลดความเชื่อมั่นของเพื่อนร่วมงาน และส่งผลเสียโดยตรงต่อผลประกอบการของบริษัท ดังนั้นบทความนี้จะชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่ผู้นำควรและไม่ควรทำคืออะไร เพื่อเป็นแนวทางเบื้องต้นให้ทุกคนเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน

หัวหน้า ผู้บริหาร ประธานบริษัท ผู้นำควรทำอย่างไรเมื่อได้ตำแหน่งวันแรก

การขึ้นมาเป็นผู้นำไม่ว่าจะในระดับธุรกิจ SME บริษัทมหาชน หรืองานใหญ่อย่างการบริหารบ้านเมือง ก็ล้วนเป็นสิ่งที่น่ายินดีและน่ากังวลไปพร้อม ๆ กัน เพราะการเป็นผู้นำไม่ได้อาศัยแค่ทักษะด้านการทำงานเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องมีทักษะด้านบริหารจัดการที่ดี เพื่อใช้เป็นรากฐานในการผลักดันโครงการตลอดจนเพื่อโน้มน้าวให้เพื่อนร่วมงานพร้อมร่วมมืออย่างเต็มที่เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของทีม 

“ผู้นำที่ดี” ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยากจนเกินไปหากเราเริ่มต้นอย่างถูกต้อง เพราะ “ความประทับใจแรก” (First Impression) คือสิ่งชี้เป็นชี้ตายของผู้นำที่พนักงานบางคนใช้ตัดสินว่าบุคคลดังกล่าวเหมาะสมกับตำแหน่งที่เหนือกว่าตนหรือไม่ ดังนั้นเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้อ่านได้เตรียมตัวและเข้าใจคำว่า “ภาวะผู้นำ” มากขึ้น เราขออธิบายถึงสิ่งที่ “ผู้นำควรทำ” เมื่อเข้าดำรงตำแหน่งวันแรก ดังต่อไปนี้

Contents

ผู้นำคนใหม่ (New Leader) ต้องทำอะไรในวันแรก

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการทำงานทุกประเภทล้วนมีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบเรา โดยเฉพาะการเป็นผู้นำคนใหม่ที่รับตำแหน่งต่อมาจากคนอื่น เหตุนี้การทำให้ทุกฝ่ายพอใจคือเรื่องที่เป็นไปไม่ได้แน่ ๆ อย่างไรก็ตามสิ่งที่ผู้นำต้องทำคือการใช้เวลา 90 วันแรกที่ได้ตำแหน่งอย่างคุ้มค่าที่สุด โดยคุณไมเคิล วัทกินส์ (Michael Watkins) ผู้ก่อตั้งบริษัท Genesis Advisers และผู้เขียนหนังสือเรื่อง The First 90 Days ได้กล่าวไว้ว่า “ถ้าคุณไม่วางแผนงานล่วงหน้าเอาไว้ให้ดี ก็เตรียมรับมือกับปัญหาที่จะเกิดตามมาได้เลย” นอกจากนี้คุณแมรี่ ชาพิโร่ (Mary Shapiro) ผู้เชี่ยวชาญด้าน HR และผู้เขียนหนังสือเรื่อง HBR Guide to Leading Teams  ก็ได้ย้ำในประเด็นเดียวกันว่า “ถ้าผู้นำไม่ยอมเหนื่อยตอนเริ่ม ก็ต้องไปเหนื่อยตอนหลังแน่นอน” 

เพื่อให้ผู้นำหน้าใหม่สามารถก้าวสู่ตำแหน่งได้อย่างเต็มภาคภูมิ เราได้แบ่งหัวข้อที่คุณ “ต้องทำ” ในการเข้างานวันแรกเอาไว้ ดังนี้

ผู้นำที่ดี Leader

เมื่อทำงานวันแรก ผู้นำคนใหม่ต้องสร้าง First Impression ที่ดี

ความประทับใจแรกคือสิ่งที่จะฝังอยู่ในความรู้สึกของคนที่ได้สัมผัสเป็นเวลานาน ดังนั้นผู้นำที่ดีคือผู้ที่รู้ว่าควรสร้างความประทับใจแรกกับเพื่อนร่วมงานอย่างไร ควรเน้นเรื่องไหน หลีกเลี่ยงเรื่องไหน แต่งตัวแบบไหน เป็นต้น เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นคือบางคนไปเข้าว่าการเป็นผู้นำคือต้องเด็ดขาดและน่าเชื่อถือ ซึ่งแม้จะเป็นแนวคิดที่ถูกต้อง แต่กลับนำเสนอด้วยความหยาบกระด้างและพยายามอวดอ้างสรรพคุณจนเกินควร วิธีนี้นอกจากจะทำให้เรื่องราวของตนเองไม่น่าสนใจแล้ว ยังทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่าถูกยัดเยียดจนอาจไม่ยอมรับในตัวของผู้นำคนใหม่ตั้งแต่วันแรกไปโดยปริยาย 

Culture and Hiring

ดังนั้นจุดเริ่มต้นของการมี First Impression ที่ดีคือการตั้งใจศึกษาข้อมูลของบริษัทหรือหน่วยงานที่เราจะเข้าไปเป็นผู้นำให้มากที่สุด เพื่อเรียนรู้วัฒนธรรมองค์กร, ระบบการทำงาน ตลอดจนชีวิตประจำวันในออฟฟิศ เพราะการ “รู้เขารู้เรา” ล่วงหน้าจะช่วยลดความแปลกแยก และไม่ทำให้เราเผลอไปออกนโยบายที่ขัดแย้งกับแนวทางเดิมแบบหน้ามือเป็นหลังมือจนเกิดความลำบากใจต่อคนในทีม

นอกจากนี้ผู้นำคนใหม่ยังควรสร้าง “Early Win” หมายถึงการทำโปรเจคอะไรสักอย่างให้ประสบความสำเร็จในเวลาสั้น ๆ ซึ่งอาจเป็นการเวิร์คช็อปภายในทีมก็ได้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการแสดงให้ทีมเห็นว่าคุณมีวิธีการบริหารจัดการชิ้นงานอย่างไร และเพื่อกระตุ้นความตื่นตัวในเชิงจิตวิทยาให้กับพนักงานไปพร้อม ๆ กัน

เมื่อทำงานวันแรก ผู้นำคนใหม่ต้องไม่เอาแต่พูดเรื่องงาน แต่ให้โฟกัสเรื่องการสร้างทีมก่อน

อีกหนึ่งสิ่งที่ต้องทำทันทีคือการทำความรู้จักกับทีม และพยายามสร้างบรรยากาศที่ทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างสบายใจที่สุดเสียก่อน โดยหลีกเลี่ยงการเริ่มต้นบทสนทนาด้วยเรื่องงาน ทั้งนี้วิธีที่ง่ายที่สุดคือการจัดปฐมนิเทศขึ้นทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์เพื่อรับฟังเรื่องราวของพนักงานว่ามีสิ่งที่อยากให้ช่วยแก้ไขหรือไม่ ก่อนที่จะเสริมด้วยกิจกรรมสนุก ๆ เพื่อละลายพฤติกรรมและเกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายในทีม

ผู้เชี่ยวชาญยังกล่าวอีกว่าในช่วงรับตำแหน่งใหม่ ๆ ผู้นำควร “คุยแล้วคุยอีก” ไม่ว่าจะเป็นการจัดประชุม, อบรม, โทรศัพท์, ส่งอีเมลล์ หรืออะไรก็ได้ จนเริ่มรู้สึกว่าการประสานงานของทีมดีขึ้น เพราะการมีปฏิสัมพันธ์จะช่วยวางระบบของทีม ตลอดจนช่วยให้พนักงานกล้าแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอีกด้วย 

และที่สำคัญที่สุดก็คือผู้นำที่ดีควร “ขอบคุณให้เป็น” ไม่วางตัวเองเหนือกว่าคนในทีมจนเข้าถึงได้ยากเด็ดขาด

HR มีข้อสงสัยหรือคำถามเกี่ยวกับประเด็นนี้

Q&A HR Board

Q: หัวหน้าจะสร้างทีมเวิร์กที่ดี ไม่ให้คนในทีมขี้อิจฉ หรือชิงดีชิงเด่นกันเองได้อย่างไร

ที่ถามก็เพราะคิดว่าปัญหานี้อาจเกิดจากการบริหารของตัวเองด้วยที่ไม่ได้สนับสนุนให้พนักงานร่วมมือร่วมใจกัน เลยอยากมาปรึกษาเพื่อน ๆ ในตำแหน่งผู้จัดการด้วยกัน, HR ว่าเราสามารถแก้ไขปัญหานี้อย่างยังยืนด้วยวิธีใดบ้าง

A: การบริหารทีม ไม่ต้องมองหาใครอื่น นอกจากตัวเรา

ถ้าเราชอบคนที่ทำงาน เราจะได้คนทำงาน เราชอบคนทำสไลด์ เราจะได้เทพทำสไลด์ ถ้าเราลำเอียงเล่นการเมือง เราจะได้คนเล่นการเมืองในทีม นี่คือข้อคิดจาก HR ที่เคยทำงานกับผู้บริหารระดับสูงครับ

,,, (คลิกดูคำตอบทั้งหมด👇)

Q&A HR Board

เมื่อทำงานวันแรก ผู้นำคนใหม่ต้องเป็นผู้ฟังที่ดี

เมื่อมีการปฐมนิเทศภายในทีมแล้ว สิ่งสำคัญต่อมาที่ผู้นำต้องมีก็คือทักษะด้าน “การรับฟังที่ดี” เพราะหากเราแค่ปล่อยให้พนักงานพูดในสิ่งที่คิดแต่เราไม่เก็บมาต่อยอดหรือปรับปรุงแก้ไขเลย การพูดคุยนั้น ๆ ก็จะไม่เกิดประโยชน์แม้แต่นิดเดียว 

การฟังนอกจากจะทำให้เรารู้จักทัศนคติของเพื่อนร่วมงานดีขึ้นแล้ว ยังทำให้พนักงานกล้านำเสนอไอเดีย หรือวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องจำเป็นกับเรามากขึ้น ซึ่งในฐานะของงานบริหารแล้วถือเป็นจุดสำคัญที่จะช่วยทำให้ทีมแข็งแกร่งยิ่งขึ้น

และเหนือยิ่งไปกว่าการฟังก็คือการตั้งคำถามต่อทันทีว่าสิ่งที่รับรู้มานั้นจะถูกทำให้เกิดขึ้นจริงได้อย่างไร อย่างเช่นถ้าพนักงานเล่าถึงความไม่สบายต่อพนักงานแผนกอื่น ผู้นำที่ดีต้องรู้ว่าควรประสานงานกับ HR ในแง่มุมใด, เจรจาอย่างไร หรือจะปฏิเสธการร่วมงานกับคนที่เป็นต้นตอของปัญหาอย่างไร

เมื่อทำงานวันแรก ผู้นำคนใหม่ต้องอธิบายวิธีทำงานให้ชัดเจน

ผู้นำแต่ละคนมีวีธีคิดไม่เหมือนกัน และอย่าลืมว่าโดยปกติแล้วแม้ผู้นำจะเปลี่ยน แต่พนักงานส่วนใหญ่ก็ยังคงอยู่ที่เดิม ดังนั้นผู้นำคนใหม่ควรอธิบายให้ชัดเจนว่ารูปแบบทำงานของตนเป็นอย่างไร การตัดสินใจละเรื่องเกิดขึ้นด้วยทัศนคติแบบใด รวมถึงมีวิธีประเมินผลการทำงานของพนักงานแต่ละท่านอย่างไร

ต้องเข้าใจว่าพนักงานทุกคนล้วนอยากสร้างผลงานให้ตอบโจทย์ที่ผู้นำตั้งเอาไว้ให้มากที่สุด ดังนั้นการรู้ระเบียบการทำงานตั้งแต่วันแรกจะทำให้พนักงานตั้งเป้าหมายได้อย่างถูกต้องเช่นกัน ซึ่งนอกจากจะไปยกระดับคุณภาพการทำงานของทีมแล้ว ยังทำให้พนักงานรู้สึกว่าผู้นำคนใหม่ “จริงใจต่อการเปลี่ยนผ่าน” ไม่ตัดสินการทำงานของทีมโดยไม่บอกแนวทางใด ๆ ให้กับพนักงานอย่างที่ผู้นำมือใหม่หลายคนเป็นโดยไม่รู้ตัว

เมื่อทำงานวันแรก ผู้นำคนใหม่ต้องตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน

สิ่งสำคัญที่สุดที่ผู้นำทุกคนถูกคาดหวังก็คือ “ผลลัพธ์ที่ดี” ซึ่งสิ่งนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากทีมไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนมาตั้งแต่ต้น ดังนั้นหน้าที่ของผู้นำก็คือการตั้ง “เป้าหมายที่เป็นไปได้” โดยอ้างอิงกับขอบเขตอำนาจและศักยภาพของทีมเป็นหลัก การตั้งเป้าหมายใหม่ตั้งแต่ต้นจะทำให้มีเวลาศึกษามากขึ้น ได้ลองผิดลองถูกเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

อย่างไรก็ตามอีกหน้าที่หนึ่งของผู้นำนอกเหนือจากการสร้างเป้าหมายใหม่ก็คือการ “ต่อยอด” เป้าหมายเดิมที่ทีมหรือผู้นำคนก่อนเริ่มเอาไว้ ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าผู้นำใหม่บางคนเลือกที่จะต่อยอดเฉย ๆ โดยไม่ได้คิดอะไร แต่ความจริงแล้วการนำแผนงานเดิมมาพูดคุยร่วมกันกับทีมเพื่อหาแนวทางพัฒนาหรือปรับปรุงให้เหมาะกับการทำงานของทีมใหม่เป็นสิ่งที่ควรทำมากกว่า มิฉะนั้นงานดังกล่าวก็อาจกลายเป็นของแปลกที่ขัดแย้งกับแนวทางของทีมไปโดยปริยาย

ผู้นำคนใหม่ (New Leader) ไม่ควรทำอะไรในวันแรก

เมื่อทำงานวันแรก ผู้นำคนใหม่ไม่ควรต่อต้านแนวทางเดิมอย่างสิ้นเชิง

ไม่ว่าคุณจะมองว่าแนวทางที่บริษัทเคยเป็นอยู่จะถูกต้องหรือไม่ แต่อย่าลืมว่ามันคือแนวทางที่ผลักดันบริษัทมานานก่อนที่คุณจะเข้ามาสู่ตำแหน่งด้วยซ้ำ จึงไม่แปลกที่จะมีพนักงานบางส่วนที่คุ้นชินกับรูปแบบการทำงานหรือวัฒนธรรมองค์กรที่สืบเนื่องมาจากแนวทางดังกล่าว ดังนั้นหากคุณต้องการนำเสนอไอเดียใหม่ ๆ ก็อย่าลืมหาเหตุผลไว้อธิบายว่ามันดีกว่าของเดิมอย่างไร และพนักงานต้องทำอย่างไรหากต้องการไปสู่เป้าหมายที่คุณตั้งไว้ โดยอ้างอิงจากความเป็นจริงขององค์กรในขณะนั้น

เมื่อทำงานวันแรก ผู้นำคนใหม่ไม่ควรเลือกฟังความเห็นจากคนเพียงไม่กี่คน

แม้เราจะบอกว่าหน้าที่ของผู้นำคือการรับฟังให้มาก แต่บางคนอาจเข้าใจผิดว่าเขาสามารถรับฟังความเห็นจากคน ๆ เดียวในปริมาณมากได้ ทั้งที่ความจริงแล้วควรเน้นไปที่ “จำนวนคน” ต่างหาก เพราะการรับฟังความเห็นจากคนจำนวนน้อยจะทำให้ได้ข้อมูลไม่ครบทุกด้าน นอกจากนี้หากพบว่าในทีมมีคนที่เข้าสังคมไม่เก่ง ผู้นำที่ดีควรหาทางดึงบุคคลเหล่านั้นเข้ามาสู่วงสนทนาและร่วมในการตัดสินใจต่าง ๆ ด้วย มิฉะนั้นก็ไม่สามารถเรียกตัวเองได้ว่าเป็นทีมที่ขับเคลื่อนด้วยพนักงานทุกคนอย่างแท้จริง

เมื่อทำงานวันแรก ผู้นำคนใหม่ไม่ควรคิดมาก

เป็นเรื่องธรรมดาที่พอคนขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งแล้ว ก็อยากทำผลงานให้ดีไม่มีข้อผิดพลาด แต่รู็ไหมว่าการคิดมากเกินไปกลับนำไปสู่ผลร้ายมากกว่าผลดี โดยเฉพาะกับการตัดสินใจบางอย่างที่ต้องทำด้วยความรวดเร็ว (เช่น ธุรกิจการเงิน, หุ้น เป็นต้น) การเฝ้ารอด้วยความรัดกุมอาจทำให้ผลประโยชน์ของบริษัทลดลงตามความผันผวนของสถานการณ์ ดังนั้นผู้นำที่ดีควรเชื่อมั่นในตัวเอง เชื่อมั่นในประสิทธิภาพที่ทำให้ตัวเองก้าวมาถึงจุดนี้ ไม่ตื่นตระหนกต่อภาระหน้าที่ใหม่ ๆ และกล้าตัดสินใจโดยอาศัยประสบการณ์ของตัวเองได้เลย

อีกอย่างคือต้องเข้าใจว่าการซุบซิบนินทาสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ให้เราทำใจสบาย ๆ แม้ได้ยินข้อมูลแบบใดมาก็ตาม แล้วค่อยหาโอกาสชี้แจงในประเด็นที่ต้องการในลำดับต่อไป

5 เคล็ดลับที่ผู้เชี่ยวชาญอยากบอกคนที่ได้เป็นผู้นำมือใหม่ (New Leader)

เพื่อให้เห็นมุมมองของการเป็นผู้นำมากขึ้น เราได้นำข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญของ Forbes Coaches Council จำนวน 5 ท่าน ที่ได้พูดถึง “องค์ความรู้” จากประสบการณ์ และเป็นสิ่งที่พวกเขาอยากย้อนกลับไปบอกตัวเองในวันที่ได้ตำแหน่ง “ผู้นำ” เป็นครั้งแรก

1. ผู้นำคือคนที่จะทำให้เพื่อนร่วมงานเติบโตขึ้น

“ฉันคิดว่าตัวเองควรให้ความสำคัญกับการสร้างทีมให้แข็งแรงมากกว่านี้ เพราะสมัยก่อนฉันคิดว่าเพื่อนร่วมงานเป็นเพียงกลไกที่ทำให้งานของฉันเสร็จเท่านั้น ไม่ใช่คนที่จะทำให้ฉันเติบโตขึ้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปฉันก็เข้าใจว่าทุกคนคือเบื้องหลังของความสำเร็จ ฉันย้ำให้ทุกคนมั่นใจว่าผู้นำคือคนที่จะช่วยให้ขีวิตของพนักงานดีขึ้น ดังนั้นเวลามีเพื่อนร่วมทีมได้เลื่อนตำแหน่ง ฉันก็จะรู้สึกว่ากำลังทำบางสิ่งที่ถูกต้องมาก ๆ อยู่” 
– ดอน พิพพินส์ (Don Pippin) จากบริษัท area|Talent

2. ผู้นำคือคนที่พร้อมปรับตัวเข้ากับทุกสถานการณ์

หัวหน้า ผู้บริหาร ประธานบริษัท ผู้นำควรทำอย่างไรเมื่อได้ตำแหน่งวันแรก

“ผู้นำที่ดีต้องเป็นคนยืดหยุ่นและปรับตัวได้ไม่ว่าจะเจอกับสถานการณ์แบบใดก็ตาม การเป็นผู้นำไม่ใช่ว่าทำอะไรแล้วจะถูกทุกอย่าง กลับกันผู้นำจะต้องหัดปรับตัวและรู้ว่าควรหยิบสิ่งไหนมาใช้ในตอนไหน หากทำได้คุณก็จะเป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จแน่นอน”

– แดน ไรอัน (Dan Ryan) จากบริษัท Ryan Partners

3. ผู้นำคือคนที่ดูแลตัวเองเป็นอย่างดี

หัวหน้า ผู้บริหาร ประธานบริษัท ผู้นำควรทำอย่างไรเมื่อได้ตำแหน่งวันแรก

“แม้หลายคนจะบอกว่าหลักการของการเป็นผู้นำที่ดีคือการให้ความสำคัญกับพัฒนาการของเพื่อนร่วมทีม แต่รู้ไหมว่านอกจากการดูแลคนอื่นแล้ว “การดูแลตัวเอง” กลับเป็นสิ่งที่ผู้นำเผลอมองข้ามไปมากที่สุด ดังนั้นเราควรเริ่มจากการกลับมาใส่ใจตัวเอง แต่งตัวอย่างไร, พูดจาอย่างไร, สภาวะทางอารมณ์เป็นอย่างไร และหากคุณทำได้ก็จะกลายเป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จแน่นอน”

– ลอรี่ คูห์น (Lori Kuhn) จากบริษัท  Thrive – a human development company

4. ผู้นำคือใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องฉลาดที่สุด

หัวหน้า ผู้บริหาร ประธานบริษัท ผู้นำควรทำอย่างไรเมื่อได้ตำแหน่งวันแรก

“คำว่าผู้นำอาจทำให้หลายคนคิดไปเองโดยปริยายว่าต้องเป็นคนที่ฉลาด หรือเก่งที่สุดในบริษัท แต่ฉันพิสูจน์มาแล้วว่ามันไม่จริงเลย สิ่งสำคัญของผู้นำคือการทำงานหนัก, ความซื่อสัตย์, ทักษะการสื่อสารและการมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีต่างหาก สุดท้ายนี้จงจำไว้เสมอว่าผู้นำที่ดีจะไม่พยายามบอกว่าตัวเองเก่งที่สุดในทีม”

– เมลานีย์ โทวีย์ (Melanie Towey) จากบริษัท Melanie Anne, LLC

HR มีข้อสงสัยหรือคำถามเกี่ยวกับประเด็นนี้

Q&A HR Board

Q: ประโยคที่บอกว่า “ไม่ใช่ทุกคนที่เหมาะจะเป็นหัวหน้า” เป็นเรื่องจริงไหม

ผมพบว่าบุคคลิคภาพของตัวเองไม่ได้สอดคล้องกับการเป็นผู้นำ คำถามคือแล้วผมต้องทำอย่างไรจึงจะประสบความสำเร็จ และผมสามารถฝึกทักษะตัวเองเพื่อเป็นหัวหน้าที่ดีได้ไหม อย่างไร

A: ความเป็นผู้นำไม่ได้มากับตำแหน่ง ไม่ได้มากับอายุ เราทุกคนฝึกได้ค่ะ

อย่าเพิ่งบอกตัวเองว่า เรามีบุคลิกภาพไม่สอดคล้องกับการที่จะเป็นผู้นำ เราทุกคนเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ขึ้นกับประสบการณ์, วุฒิภาวะ, คุณค่าที่เราให้กับสิ่งนั้นๆ และอื่น ๆ

การตั้งเป้าที่จะฝึกตัวเองให้เป็นหัวหน้าที่ดีขึ้นคือจุดเริ่มต้นที่ถูกแล้วค่ะ วิธีการคิดง่าย ๆ คือนึกถึงตอนที่เราเป็นลูกน้อง อะไรที่เราไม่อยากให้หัวหน้าทำทั้งด้านพฤติกรรมและคำพูด เราก็ควรไม่ทำสิ่งนั้น ขณะเดียวกันถ้ามีอะไรที่เราประทับใจ เราก็เลือกทำสิ่งนั้นแทน

,,, (คลิกดูคำตอบทั้งหมด👇)

Q&A HR Board

5. ผู้นำคือคนที่กล้ายอมรับความผิดพลาด

หัวหน้า ผู้บริหาร ประธานบริษัท ผู้นำควรทำอย่างไรเมื่อได้ตำแหน่งวันแรก

“ฉันเรียนรู้ว่าผู้นำที่ดีคือคนที่ยอมรับความผิดพลาด ขอโทษผู้อื่น และแก้ไขสถานการณ์จากร้ายเป็นดีได้เสมอ ความผิดพลาดไม่ใช่สัญญาณของความอ่อนแอ แต่เป็นความแข็งแกร่งต่างหาก การมองหาสิ่งที่สมบูรณ์แบบนั้นเป็นไปไม่ได้ มีแต่จะทำให้เสียสุขภาพจิต ดังนั้นควรใส่ใจเรื่องความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานเพื่อร่วมกันสร้างผลงานที่เกิดประโยชน์ต่อบริษัทในภาพรวมมากกว่า”

– ลิซ่า มารีย์ (Lisa Marie) จากบริษัท Thinking, Inc

HR มีข้อสงสัยหรือคำถามเกี่ยวกับประเด็นนี้

Q&A HR Board

Q: การขอโทษลูกน้องทำให้เราดูเป็นผู้นำที่อ่อนแอไหมครับ

ในกรณีที่เราทำบางอย่างพลาดจริง ๆ แล้วทำให้ทีมได้รับผลกระทบตามมา เราควรขอโทษไหมครับ หรือปล่อยผ่านแล้วไม่ต้องทำพลาดซ้ำก็พอ แล้วปล่อยให้ลูกน้องลืม ๆ ไปเอง

A: การขอโทษไม่ใช่เรื่องหน้าอาย แต่การไม่ขอโทษเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ

ยิ่งคนที่เป็นผู้นำต้องรับทั้งผิดและรับทั้งชอบ เพราะลูกน้องก็มีหัวใจ มีจิตใจ มีความเป็นมนุษย์ สิ่งนี้แหละที่ผู้นำหลายคนขาดไป ดังนั้นหากเราเป็นผู้นำ ก็ต้องกล้ารับผิดและขอโทษให้เป็น

,,, (คลิกดูคำตอบทั้งหมด👇)

Q&A HR Board

บทสรุป

จะเห็นว่าสิ่งสำคัญที่ “ผู้นำมือใหม่” ต้องให้ความสำคัญก็คือการโฟกัสไปที่เป้าหมายทีละขั้นตอน ไม่รีบคิดแบบก้าวกระโดดจนสร้างความกดดันให้ทั้งตัวเองและคนรอบข้าง ผู้นำที่ดีต้องรู้จักใช้ทีม และมีวิธีการทำงานที่ยืดหยุ่นเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด 

ที่สำคัญการเป็นผู้นำจะง่ายขึ้นมากหากรากฐานทุกอย่างถูกวางไว้ตั้งแต่การเข้ารับตำแหน่งวันแรก และจะง่ายขึ้นอีกหากเราเริ่มศึกษาหาความรู้ในสายงานและวัฒนธรรมองค์กรของธุรกิจที่เราสนใจรอเอาไว้ เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานแน่นอนไม่ว่าคุณจะอยู่ในฐานะของพนักงานทั่วไปหรือกำลังก้าวขึ้นไปเป็นผู้นำก็ตาม

ผู้เขียน

Pumi Boonyatud

Pumi Boonyatud

a professional daydreamer. pro-wrestling god.

บทความที่เกี่ยวข้อง