HIGHLIGHT
|
แม้จะไม่ได้ทำงานสายกราฟฟิค แต่หากเราพูดชื่อ Adobe ขึ้นมา ผู้อ่านทุกคนคงรู้จักชื่อนี้เป็นอย่างดี ไม้ว่าจะด้วยโปรแกรมอย่าง Photoshop, Illustrator, Acrobat Reader, Audition, Premiere Pro และอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งครอบคลุมทั้งด้านงานออกแบบ, การทำเพลง, การตัดต่อภาพยนตร์ ตลอดจนงานเอกสารแบบครบวงจร เรียกว่ายังไงก็ต้องผ่านหูผ่านตากันบ้างแน่ ๆ และหากเราติดตามแวดวงธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เราก็จะเห็นว่าพวกเขามีการปรับตัวตลอดเวลา เช่นการนำ Generative AI มาช่วยแต่งภาพ ซึ่งทำให้คนทั่วไปเข้าถึงปัญญาประดิษฐ์ได้ง่ายขึ้น เป็นต้น
นอกจากนี้เรายังได้เห็น Adobe ซื้อแพลตฟอร์มที่น่าสนใจมาอยู่ในชายคาเป็นระยะ สะท้อนให้เห็นว่าพวกเขาเป็นองค์กรที่ประสบความสำเร็จ และควรนำมาเป็นกรณีตัวอย่างมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก การเรียนรู้วิธีบริหารคนจากบริษัทระดับนี้ ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะช่วยให้ HR ทุกคนมีวิสัยทัศน์กว้างไกลขึ้น สามารถนำความรู้มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับองค์กรของตนในลำดับต่อไป
วิธีพัฒนาบุคลากรของบริษัทซอฟต์แวร์ระดับโลก Adobe เป็นอย่างไร หาคำตอบไปพร้อมกับเราได้ที่ HREX
Contents
Adobe มีมุมมองต่อการพัฒนาบุคลากรอย่างไร
ในฐานะองค์กรที่สร้างเครื่องมือสำหรับการออกแบบ พวกเขาตระหนักดีว่า ความล้ำสมัยและความเข้าใจบริบทของสังคมในภาพรวมถือเป็นรากฐานสำคัญที่ช่วยให้เกิดพลังสร้างสรรค์ ดังนั้นเพื่อให้ Adobe มีฐานะเป็นผู้นำในธุรกิจสายนี้ พวกเขาจำเป็นต้องผลักดันบุคลากรให้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล สามารถนำผู้อื่นโดยเฉพาะบริษัทคู่แข่งไปก้าวหนึ่งเสมอ เพราะหากองค์กรไม่สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมที่โดดเด่นขึ้นมา คนก็จะเลือกใช้ตัวช่วยอื่นแทน ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลประกอบการของ Adobe
คุณ Brandon Clark หัวหน้าฝ่ายพัฒนา บุคลากรระดับสากลกล่าวว่า “Adobe ทราบดีว่าองค์กรของเราเต็มไปด้วยคนที่เก่งและมีความสามารถมากที่สุดในโลก ดังนั้นทีม HR จึงตั้งเป้าว่าองค์กรควรออกแบบนโยบายที่ส่งเสริมการเรียนรู้อย่างเป็นรูปธรรมที่สุด เพื่อให้แน่ใจว่า Adobe คือองค์กรที่ดีสำหรับการเรียนรู้, การเติบโตตามอาชีพการงาน และสามารถสร้างแรงกระเพื่อมที่ยิ่งใหญ่ต่อโลกใบนี้ได้จริง”
คุณ Brandon ยังได้กล่าวเสริมว่าความสำเร็จตลอด 40 กว่าปีที่ผ่านมาของ Adobe ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เกิดจากความคิดว่าเวลาไหนที่ต้องปรับตัว (Tranformation), เวลาไหนที่ต้องคิดใหม่ทำใหม่ (Reinvention) และสำคัญที่สุดคือการเชื่อมั่นว่าบุคลากรทุกคนคือสินทรัพย์ที่มีค่ายิ่งกว่าสิ่งใด (The Most Important Asset)
คุณ Donna Morris ที่เคยเป็น CHRO ของบริษัท ก็ได้ให้สัมภาษณ์อย่างน่าสนใจว่าสิ่งที่ Adobe มองหาจากผู้สมัครคือการดูว่าพวกเขาให้ความสำคัญกับการเรียนรู้หรือไม่ มีความกระตือรือร้นมากพอหรือไม่ เพราะ Learning Agility ถือเป็นค่านิยมที่สำคัญมากในโลกการทำงานยุคใหม่ ซึ่งแนวคิดนี้ประกอบด้วยเรื่องของการเรียนรู้แบบไม่รู้จบและการกระตุ้นให้พนักงานพยายามท้าทายตัวเองอยู่เสมอ นอกจากนี้เธอมองว่าคนรุ่นใหม่ควรมีความสงสัยตลอดเวลา และควรตอบได้ว่าเราจะก้าวไปอยู่ในจุดที่แตกต่างและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับการทำงานได้อย่างไร (Driver of Change)
ปิดท้ายด้วยคุณ Scott Gruer ซึ่งเป็น Senior Solutions Consultant กล่าวว่า Adobe ให้ความสำคัญกับการมี Growth Mindset มาก ๆ โดยองค์กร จะสอนให้พนักงานมีเป้าหมายที่ชัดเจนในทุกการทำงาน และพนักงานควรวางแผนกับผู้จัดการ (Manager) หรือหัวหน้าทีม (Leader) เพื่อหาแนวทางทำงานที่เหมาะสมที่สุด การทดลองทำงานจริงจะทำให้เรารู้ว่าควรพัฒนาทักษะอะไรบ้าง และควรนำเครื่องมือแบบไหนเข้ามาช่วยให้การทำงานสัมฤทธิ์ผลได้ง่ายขึ้น เรียกว่าการทำงานที่ดีต้องเริ่มจากการมีประสบการณ์ที่ดีไปพร้อม ๆ กัน
‘4 Pillars of Adobe’ คืออะไร สำคัญกับการพัฒนาบุคลากรอย่างไร ?
จากที่กล่าวไปในหัวข้อที่แล้ว จะเห็นว่าการพัฒนาคนคือรากฐานความสำเร็จของ Adobe พนักงานต้องเชื่อก่อนว่าสิ่งที่พวกเขาทำอยู่นั้นมีความหมายต่อโลก และจะช่วยให้ชีวิตของคนอื่นดีขึ้นได้จริง ขณะเดียวกันผู้บริหารและ HR ก็ต้องเห็นว่าการสร้างคนให้เก่งขึ้นเป็นเรื่องสำคัญ Adobe เน้นย้ำเสมอว่าเราจะไม่สร้างสรรค์สิ่งที่มีค่าได้เลย หากพนักงานก็ไม่รู้ว่าตนมีค่าอย่างไร
Adobe มีเสา 4 ต้นของการพัฒนาบุคลากร (4 Pillars of Learning Philosophy) อธิบายได้ดังนี้
- ร่วมสร้างอนาคต (Create the Future) : Adobe ให้ความสำคัญกับความคิดสร้างสรรค์และการสร้างนวัตกรรม พวกเขายินดีอย่างยิ่งหากพนักงานต้องการทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ โดยมีหลักสูตรอบรมที่ช่วยให้พนักงานหาตัวตนเจอ และรู้ว่าสิ่งที่ชอบ (Passion) คืออะไร
- พนักงานกำหนดเป้าหมายได้เอง (Own The Outcome) : เป็นเรื่องธรรมดาที่องค์กรจะระบุเป้าหมายของงานเอาไว้ แต่ที่ Adobe พวกเขาไม่ได้กำหนดว่าพนักงานจะไปถึงเป้าหมายเหล่านั้นได้ด้วยวิธีไหน องค์กรเชื่อว่าพนักงานต่างมีวิถีในแบบที่ตนเองต้องการ และหากพวกเขาต้องการเรียนรู้ในเรื่องใดเพิ่มเติม ก็สามารถนำเรื่องนั้นมาพูดคุยกับทีมได้เลย วิธีนี้จะทำให้พนักงานเก่งขึ้นในแบบที่พวกเขาต้องการ และสามารถทำให้องค์กรได้ประโยชน์ไปด้วยกัน
- พนักงานต้องอยากเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ (Raise the Bar) : Adobe ชอบพนักงานที่กระหายความรู้ (Hungry to Learn) พวกเขาจึงมีระบบให้คำแนะนำจากหัวหน้า เพื่อให้รู้ว่าสิ่งที่ทำอยู่ออกดอกออกผลอย่างไร เป็นในแง่บวกหรือลบ พนักงานจะได้ปรับวิธีการเรียนรู้ของตนให้เหมาะสมขึ้น
- พนักงานต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น (Be Genuine) : ที่ Adobe นั้น พวกเขาให้ความสำคัญกับการมีสังคม เพราะเชื่อว่าไม่มีความรู้ใดที่สมบูรณ์อยู่ในหน้าจอ ทุกคนจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยกัน, เรียนรู้ร่วมกัน, แก้ปัญหาร่วมกัน
Adobe มีสนับสนุนเรื่อง Learning & Development ของพนักงานอย่างไร ?
ในด้านการพัฒนาบุคลากรนั้น พวกเขาให้ความสำคัญกับ 8 ปัจจัยหลัก ได้แก่ งบประมาณสำหรับเรียน (Learning Funds), กระบวนการให้คำแนะนำ (Mentorship Program), การสร้างประสบการณ์ด้านการเป็นผู้นำ (Leader Experience), การเคารพความแตกต่าง (Diversify Leadership), การสร้างเครือข่ายของบุคลากร (Employee Networks), การแนะนำเนื้อหาที่เหมาะสม (Content Suggestions), ความยืดหยุ่นของตำแหน่งภายในองค์กร (Internal Mobility), การจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมอาชีพ (Career Fest) โดยเราสามารถชี้แจงเพิ่มเติมได้ดังนี้
ด้านงบประมาณสำหรับการเรียน
พนักงานทุกคนสามารถของบประมาณเพื่อการเรียนรู้ระยะสั้นได้ เช่นการฟังสัมมนา, การเรียนออนไลน์, การเวิร์คช็อป, การซื้อหนังสือ, การเรียนภาษา หรือการเรียนเพื่อให้ได้รับใบรับรองบางอย่าง เป็นต้น โดยพนักงานแต่ละคนจะได้งบประมาณตรงนี้ไปจัดสรรกันเองได้เลย เฉลี่ยไม่เกิน 1,000 ดอลล่าร์ต่อปี โดยมีข้อแม้เดียวคือพนักงานต้องนำรายละเอียดของหัวข้อที่อยากเรียนไปพูดคุยกับหัวหน้าของตนก่อน เพื่อให้แน่ใจว่าคลาสเรียนนั้นมีประโยชน์ และเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดแล้วจริง ๆ
นอกจากนี้องค์กรยังมีงบประมาณสำหรับการเรียนต่ออย่างจริงจังในอัตราไม่เกิน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี โดยมีที่ปรึกษาคอยให้คำแนะนำอย่างจริงจังทั้งในเรื่องของการเลือกสาขาวิชา ตลอดจนการวางแผนเงินกู้เพื่อให้พนักงานใช้จ่ายได้อย่างสบายใจ
ด้านการสร้าง Mentorship Program
บริษัทจะเตรียมพนักงานมากประสบการณ์มาคอยให้คำแนะนำกับผู้ที่ต้องการโดยตรง ไม่ว่าจะในเรื่องการทำงานหรือเรื่องการเติบโตทางอาชีพการงาน โดยมีขั้นตอน ดังต่อไปนี้
- พนักงานเขียนความต้องการออกมาว่าต้องการเรียนรู้อะไรจากที่ปรึกษา และทำไมถึงจำเป็นต้องได้รับการปรึกษา
- หลังจากทราบเป้าหมายแล้ว องค์กรก็จะส่งลิสต์ของคนที่เหมาะสมมาให้พนักงานเลือกว่าอยากเรียนรู้กับใคร จากนั้น HR ก็จะนำไปแจ้งกับที่ปรึกษาเพื่อวางแผน
- เมื่อทุกอย่างสมบูรณ์แล้ว Adobe จะจัดให้ทั้งสองฝ่ายมาเจอกัน พร้อมให้คำแนะนำว่าควรสื่อสารกันอย่างไรเพื่อให้เกิดพัฒนาการอย่างเป็นรูปธรรมที่สุด (Development Conversation)
ด้านการสร้างผู้นำ (ALE – Adobe Leader Experience)
เราสามารถอธิบายโครงการนี้ได้ง่าย ๆ ว่ามันคือโครงการที่ให้ผู้นำ ‘เรียนเมื่อถึงเวลาที่ต้องการ’ (Learn it when you need it) โดยโครงการนี้ได้รับการดูแลจากผู้ก่อตั้งบริษัทอย่าง Charles Geschke และ John Warnock โดยตรง ภายใต้แนวคิดว่าผู้นำของ Adobe ควรมีความรอบรู้ สามารถนำสิ่งที่เรียนไปใช้งานได้จริง (Training Effectiveness)
สถิติระบุว่าคนในตำแหน่งผู้นำของ Adobe ถึง 80% เข้าร่วมการอบรมนี้ ซึ่งถือเป็นอัตราที่สูงมากหากเทียบว่าเป็นโครงการที่ไม่มีใครบังคับ
ด้านการสร้างผู้นำที่เท่าเทียม (Diversify Leader)
Adobe ไม่มีปัญหาเลยกับการเลือกผู้นำเพศหญิง โดยพวกเขาจะให้พนักงานเพศหญิงมีโอกาสได้ทำงานกับคนในตำแหน่งสูงกว่าแบบตัวติดกัน และหลังจากผ่านการอบรมไประยะหนึ่ง ก็จะมีการเลือกคนที่ฝีมือดีไปรับการอบรมแบบตัวต่อตัวกับผู้บริหาร วิธีนี้จะช่วยให้พนักงานเพศหญิงมองเห็นจุดแข็งของตัวเอง ซึ่งอาจถูกกดทับเอาไว้ในสภาพสังคมบาฝต่าง ลองคิดดูว่า Adobe มีบริษัทอยู่ทั่วโลก หากองค์กรมีนโยบายที่เปิดรับเรื่องนี้ ก็จะทำให้พนักงานเข้าใจความแตกต่างได้อย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ซึ่งความรู้เหล่านี้จะช่วยให้เราเป็นผู้นำระดับสากลที่ดีกว่าเดิม
ด้านการสร้างเครือข่ายของพนักงาน (Employee Network)
การสร้างสังคมทำงานที่ดีเป็นเป้าหมายอย่างหนึ่งของ Adobe พวกเขาจึงต้องการให้คนที่มีทัศนคติตรงกันลองอยู่ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นคนเพศไหน – เชื้อชาติไหนก็ตาม
Adobe จะมีโครงการให้พนักงานได้เจอกันทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ โดยองค์กรจะมีวัตถุประสงค์ในการพบเจอแต่ละครั้ง เพื่อกระตุ้นให้พนักงานเห็นคุณค่าของอีกฝ่าย, เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และทำให้เกิดทัศนคติที่เป็นมืออาชีพมากขึ้น และเมื่อเราเห็นความสำคัญของการอยู่ร่วมกับคนอื่น เราก็จะได้เรียนรู้เรื่องวิธีการวางตัวไปโดยปริยาย ความเข้าใจพื้นฐานเหล่านี้จะช่วยให้เราแก้ปัญหาขนาดใหญ่ได้ดีกว่าการพยายามด้วยตัวคนเดียว
ด้านการเรียนรู้เนื้อหาจากแพลตฟอร์มอื่น (Content Recommendation)
Adobe ทราบดีว่าหากเราเรียนรู้จากคนกลุ่มเดิม เราก็จะได้วิธีแก้ปัญหา (Solution) แบบเดิม ไม่มีอะไรใหม่ ซึ่งนานไปก็จะปิดกั้นจินตนาการทำให้เราแก้ปัญหาได้ยากขึ้น ดังนั้น Adobe จะเปิดรับคำแนะนำจากพนักงาน และศึกษาหาความรู้เสมอว่ามีแพลตฟอร์มไหนบ้างที่ช่วยให้พนักงานมีทักษะมากขึ้น เช่น LinkedIn Learnin, GetAbstract, Coursera, Harvard ManageMentor เป็นต้น
ด้านการเปิดโอกาสและพนักงานได้ทดลองทำหน้าที่อื่น (Internal Mobility)
การเรียนรู้จากหน้าจออยู่ในห้องเรียนอย่างเดียวไม่เพียงพอ เราต้องรู้จักนำไปใช้จริงให้ได้ด้วย ซึ่งที่ Adobe จะเปิดโอกาสให้พนักงานสำรวจว่ามีตำแหน่งงานใดในองค์กรที่พวกเขาสนใจ และอยากทดลองทำดู องค์กรก็จะสนับสนุนตรงนั้น เพราะปัจจุบันพนักงานสามารถหาความรู้ได้หลากหลาย ซึ่งบางทีอาจไปเรียนรู้ทักษะบางอย่างด้วยตัวเองแต่ไม่มีโอกาสใช้ก็ได้ หากเราสนับสนุนตรงนี้ เราก็อาจจะได้คนเก่งมาโดยไม่ทันตั้งตัว
ด้านการจัดงานเพื่อสนับสนุนพัฒนาการของบุคลากรโดยตรง (Global Career Fest)
นี่คือโครงการที่สร้างขึ้นครั้งแรกในเดือนมิถุนายน 2023 และถือเป็นแนวทางพัฒนาบุคลากรที่ Adobe จะให้ความสำคัญมากที่สุดนับจากนี้
คุณ Brandon Clark ระบุว่าโครงการนี้จะทำให้พนักงานได้หยุดพักจากงานประจำในแต่ละวัน เพื่อมาตั้งคำถามและหาคำตอบว่าเราจะยกระดับตัวเองให้ดีขึ้นได้อย่างไร ซึ่งในท้ายที่สุดจะทำให้พวกเขาเห็นถึงความสุขในการทำงานกับ Adobe ความภูมิใจตรงนี้จะช่วยในกระบวนการ Retention ต่อไป
ภายในงานจะมีการพูดให้แรงบันดาลใจจากคนที่ประสบความสำเร็จ, มีกิจกรรมให้พนักงานได้ทดลองทำในสิ่งใหม่ ๆ, มีการสร้างเครือข่าย และจับคู่ให้พนักงานต่างแผนกได้มาเจอกัน สิ่งเหล่านี้มีเป้าหมายสำคัญที่สุดก็คือการสร้างชุมชน (Community) เพื่อสร้างความสนิทสนมในหมู่พนักงาน สถิติระบุว่างานในปีที่ผ่านมามีพนักงานเข้าร่วมถึง 20,000 คน
บทสรุป
‘Less is More’ คือคำจำกัดความที่สมบูรณ์แบบที่สุดในกระบวนการพัฒนาบุคลากรของ Adobe โดยคุณ Mino Thomas ที่เป็น Senior Director ด้านการพัฒนาคนกล่าวว่า HR ทั่วไปมักคิดว่าการทำทุกอย่างเพื่อพนักงานเป็นเรื่องที่ดี เช่นหากเรามี check box อยู่ 10 ข้อ HR ทั่วไปก็จะพยายามทำให้ได้ทั้งหมด แต่สิ่งที่ Adobe ทำคือการเลือกหัวข้อที่เหมาะกับพนักงานที่สุดเท่านั้น จะได้ใช้เวลากับมันให้มากที่สุด ซึ่งทำให้เราเรียนรู้ได้มากกว่าการให้เวลากับทุกอย่างทีละนิดทีละหน่อย ซึ่งมักไม่ให้ผลลัพธ์ที่เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากนี้ Adobe จะมีกระบวนการติดตามผลของทุกการเรียนรู้อย่างละเอียด เพื่อศึกษาว่าหลักสูตรที่พนักงานเลือกนั้นมีคุณภาพเพียงพอหรือไม่ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้คนรุ่นต่อไปเลือกหลักสูตรอบรมได้เหมาะสมยิ่งขึ้น กล่าวได้ว่าการวางแผนและกำกับดูแลที่ถูกต้องจะช่วยให้ Adobe ประสบความสำเร็จทั้งในปัจจุบัน และเติบโตเป็นองค์กรที่ยั่งยืนได้ในอนาคต ตามแนวทางของ Sustainable Organization แน่นอน
บทความนี้เป็นเพียงอีกภาพแสดงหนึ่งที่กำลังบอกเราว่า Lifelong Learning คือเรื่องที่มองข้ามไม่ได้อีกต่อไปแล้ว สิ่งที่เคยเป็นประโยชน์ในช่วงหนึ่ง อาจไม่สามารถใช้งานเมื่อเวลาล่วงผ่านไปก็ได้ ดังนั้นเราต้องรู้จักพัฒนาตัวเองอย่างมีชั้นเชิง ใช้เวลาเพื่อตนเองและองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหากเราไม่รู้ว่าควรเดินหน้าอย่างไร เราขอแนะนำให้ใช้บริการ Training & Coaching บนแพลตฟอร์ม HR Products & Services รับรองว่าจะเจอความท้าทายแบบไหน องค์กรของคุณก็พร้อมรับมือแน่นอน
Sources |