Pet-Friendly Workplace : ออฟฟิศนี้มีหมาแมว

HIGHLIGHT

  • การเลี้ยงสัตว์ในออฟฟิศหรือการอนุญาตให้พนักงานเอาสัตว์เลี้ยงของตนมาจากที่บ้านเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงมากขึ้นในปัจจุบัน โดยมีสถิติระบุว่ามีคนถึง 70% ที่ยินดีลดเงินเดือนหากแลกมาด้วยสิทธิ์นี้
  • สัตว์เลี้ยงคือสิ่งที่ทำให้พนักงานหลายคนทั่วโลกผ่านสถานการณ์อันยากลำบากในช่วง Work From Home มาได้ จนผูกพันเหมือนสมาชิกในครอบครัว การแยกห่างกันเมื่อต้องกลับมาที่ออฟฟิศทำให้คนถึง 1 ใน 5 เกิดอาการวิตกกังวล (Anxiety) ทันที
  • นโยบาย Pet-Friendly Workplace ยังช่วยดึงดูดและรักษาพนักงานได้ด้วย โดยมีสถิติระบุว่าคนทำงานที่เลี้ยงสัตว์ 88% จะไม่เปลี่ยนงานเพราะไม่อยากเสียสิทธิ์นี้
  • นโยบาย Pet-Friendly Workplace ควรออกแบบโดยให้ทุกคนมีส่วนร่วม เพราะไม่ใช่ทุกคนที่ชอบสัตว์เลี้ยง เราต้องคำนึงถึงสุขภาพ, ความปลอดภัย ตลอดจนความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับเอกสารและเครื่องมือต่าง ๆ
  • นโยบาย Pet-Friendly Workplace เป็นเพียงสวัสดิการหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงที่องค์กรต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมและความต้องการของพนักงาน เพื่อให้มีอำนาจแข่งขันและช่วยให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน

เมื่อเวลาเปลี่ยนไป โลกการทำงานก็เปลี่ยนไป หน้าที่ของ HR จึงเป็นการเรียนรู้และหาแนวทางพัฒนาให้องค์กรสามารถเติบโต (Evolving) และสามารถสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมที่สนับสนุนความหลากหลาย (Diverse) ได้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น ซึ่งหนึ่งในกลยุทธ์ที่ได้รับความนิยมในต่างประเทศและถูกนำมาปรับใช้ในวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ ก็คือการอนุญาตให้เลี้ยงสัตว์ภายในออฟฟิศ โดยมีผลวิจัยรองรับแล้วว่าจะช่วยให้เราได้งานที่ดีขึ้น แถมยังมีสุขภาพจิตที่ดีกว่าเดิม

การเลี้ยงสัตว์ในที่ทำงานแม้จะเป็นเรื่องที่น่าสนใจ แต่ก็ต้องยอมรับว่า HR ต้องเตรียมตัวมากเป็นพิเศษ เพราะเป็นเรื่องใหม่ที่องค์กรไม่คุ้นเคย การนำสัตว์เลี้ยงเข้ามาในออฟฟิศโดยปราศจากการวางแผน นอกจากจะส่งผลเสียทางสุขอนามัย (Workpalce Hygiene) ยังอาจทำให้ข้าวของในสำนักงานเสียหายอีกด้วย ดังนั้น HR จึงต้องมีความรู้ ต้องวางแผนให้รัดกุมเพื่อนำมาถ่ายทอดให้บุคลากรคนอื่น ๆ มีวิสัยทัศน์ตรงกัน อย่าลืมว่าไม่ใช่ทุกคนที่มีความสุขกับสัตว์เลี้ยง การเตรียมสวัสดิการที่เหมาะสมกับทุกคนจึงเป็นสิ่งที่ HR มองข้ามไม่ได้เด็ดขาด สอดคล้องกับแนวคิดยอดนิยมในปัจจุบันที่ระบุว่า เราควรใส่ใจพนักงานแบบรายคน ไม่วางแผนแบบเหมาะรวม (One-Size-Fits-All)

Pet-Friendly Workplace มีประโยชน์กับองค์กรอย่างไร ควรใช้นโยบายแบบไหน และต้องมีข้อจำกัดอะไรบ้าง อ่านทุกเรื่องที่คุณต้องรู้ได้ที่นี่

นโยบาย Pet-Friendly Workplace สำคัญอย่างไร ?

ต้องยอมรับว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความต้องการในเรื่องสวัสดิการ (Employees Benefit) ของบุคลากรมีความเปลี่ยนแปลงไปมาก ทั้งเพราะสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ตลอดจนความต้องการบางอย่างที่สืบเนื่องมาจากการ Work From Home ในช่วงโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นนโยบายเข้างานแบบยืดหยุ่น (Flexible Hours), นโยบายดื่มแอลกอฮอล์ในที่ทำงาน, นโยบายนอนหลับในออฟฟิศ และนโยบายที่เรากำลังพูดถึงในบทความนี้ คือนโยบายด้านการเลี้ยงสัตว์ในที่ทำงาน

TIME รายงานว่าในช่วงปี 2019 องค์กรในสหรัฐอเมริการาว 11% ยินยอมให้พนักงานเอาสัตว์เลี้ยงมาที่ออฟฟิศ ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่องหากเทียบกับช่วง 2014 ที่มีเพียง 4% เท่านั้น โดยตัวเลขดังกล่าวต้องหยุดชะงักลงเพราะสถานการณ์โควิด-19 ที่คนไม่ได้มาทำงานในออฟฟิศอีกต่อไป การอยู่กับสัตว์เลี้ยงกลายเป็นความผูกพันสำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงกักตัว ดังนั้นเมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลาย การต้องทิ้งสัตว์เลี้ยงเพื่อกลับไปทำงานในออฟฟิศจึงเป็นเรื่องยากมาก โดย Pet Product News กล่าวว่าพนักงานถึง 1 ใน 5 มีอาการวิตกกังวล (Anxiety) ทันทีที่ต้องแยกจากสัตว์เลี้ยง และมีถึง 70% ที่ยอมลดเงินเดือนลงมา หากสามารถแลกกับการพาสัตว์เลี้ยงมาที่ทำงาน

จากข้อมูลข้างต้นจึงสรุปได้ว่านโยบายเรื่องสัตว์เลี้ยงในองค์กร เป็นสวัสดิการอีกรูปแบบหนึ่งที่ HR ควรนำมาพิจารณา เพื่อยกระดับการดูแลพนักงานให้มีจิตใจสมบูรณ์แข็งแรง ไม่เครียด และพร้อมกับการทำงานในโลกปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนมนุษย์ต้องการกำลังใจมากเป็นพิเศษ ซึ่งนโยบายนี้เป็นเพียงหนึ่งในหัวข้อที่น่าสนใจเท่านั้น HR ต้องหมั่นศึกษาและหาคำตอบให้ได้ว่าองค์กรของคุณเหมาะกับอะไร

ข้อดี – ข้อเสียของการมีสัตว์เลี้ยงในองค์กร

INCLUSIVE LANGUAGE : การใช้ภาษากลางเพื่อความเท่าเทียมและความเข้าใจภายในองค์กร

ก่อนที่เราจะไปพิจารณาถึงการออกแบบนโยบายเรื่องสัตว์เลี้ยงในที่ทำงาน เราต้องมองภาพรวมให้เห็นก่อนว่าองค์กรของเราพร้อมสำหรับการเลี้ยงสัตว์จริงหรือไม่ โดยเราสามารถอธิบายข้อดี – ข้อเสียของนโยบาย Pet-Friendly Workplace ได้ดังนี้

ข้อดีของนโยบาย Pet-Friendly Workplace

1. ช่วยเรื่องการจัดสมดุลชีวิต (Work-life Balance) : เมื่อพูดถึงประเด็นนี้ เราอาจคิดถึงแค่ในแง่ของกระบวนการทำงานที่ต้องแบ่งเวลาจริงจังและเวลาพักให้เข้มงวดเป็นหลัก แต่ความจริงแล้วการจัดสมดุลชีวิตคือการให้ความสำคัญกับสภาพจิตใจควบคู่ไปกับการทำงานหนักโดยไม่ละเลยสิ่งใด ซึ่งการอนุญาตให้นำสัตว์เลี้ยงที่เป็นเหมือนสมาชิกในครอบครัวมาอยู่ด้วยในที่ทำงาน จะทำให้รู้สึกเหมือนอยู่บ้าน (Connected to home) ไม่เหงา และมีพลังทำงานกว่าเดิม

2. ช่วยลดความเครียด (Stress Reduction) : The Human Animal Bond Research Institute (HABRI) ระบุว่าคนที่มีสัตว์เลี้ยงราว 74% มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น มีความเครียดน้อยลง การให้พนักงานพาสัตว์เลี้ยงมาที่ออฟฟิศจึงจะช่วยให้บรรยากาศในที่ทำงานดีขึ้น

3. ช่วยเพิ่มพลังสร้างสรรค์ (Creativity) : การได้อยู่กับสัตว์เลี้ยงที่ตัวเองรัก จะช่วยให้เราไม่ต้องกังวลหรือเครียดในสิ่งที่อยู่ไกลตา จึงสามารถโฟกัสกับงานทำงานได้ดีขึ้น นอกจากนี้การมีสัตว์เลี้ยงจะทำให้เรารู้สึกผ่อนคลาย พนักงานจะได้สัมผัสกับความอ่อนโยน ได้ใช้เวลาเพื่อดูแลคนอื่น และพฤติกรรมบางอย่างของสัตว์เลี้ยง อาจทำให้เราเกิดจินตนาการ นำไปสู่การคิดนอกกรอบ (Out-of-the-box Thinking) เกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้เช่นกัน

4. ยกระดับการสื่อสาร (Communication) และการมีส่วนร่วม (Collaboration) ของบุคลากร : สัตว์เลี้ยงในองค์กรอาจทำหน้าที่เป็นเหมือนศูนย์รวมจิตใจให้พนักงานมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันก็ได้ ซึ่งหากเป็นพนักงานที่อยู่คนละแผนก นโยบายนี้ก็จะช่วยให้เราร่วมงานกันง่ายขึ้น เกิดสภาพแวดล้อม (Workplace Environment) ในแง่บวกที่สร้างประโยชน์ต่อทุกฝ่าย

5. ช่วยดึงดูด (Attract) และรักษา (Retention) พนักงาน : HABRI รายงานว่า 88% ของพนักงานจะเลือกอยู่กับองค์กรต่อไป หากบริษัทใหม่ไม่ได้มีนโยบายด้านสัตว์เลี้ยงในแบบเดียวกัน แปลว่าองค์กรในปัจจุบันไม่ได้วัดกันที่เงินเดือน หรือการเติบโตทางอาชีพ (Career Path) เป็นหลักอีกต่อไป แต่ต้องใส่ใจกันถึงรายละเอียดปลีกย่อยครบทุกแง่มุม หากต้องการชนะใจผู้สมัคร (Candidate) และบุคลากรระดับสูง (Top Talent) นอกจากนี้หากนโยบายสัตว์เลี้ยงเป็นผลมาจากการทำแบบสำรวจภายในองค์กร การที่ HR และผู้บริหารตอบรับ ก็แสดงให้เห็นว่าองค์กรใส่ใจกับความต้องการของพนักงานจริง ๆ 

ข้อเสียของนโยบาย Pet-Friendly Workplace

1. พนักงานบางท่านอาจไม่ถูกกับสัตว์ : ต้องคิดเสมอว่าไม่ใช่ทุกคนที่รักสัตว์ และบางคนอาจมีอาการแพ้ (Allergy) จนเกิดอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้นก่อนที่จะมีนโยบายนี้ เราต้องแน่ใจก่อนว่าสัตว์เลี้ยงจะไม่ทำลายสุขภาพของบุคลากร

2. สร้างความวุ่นวาย (Disruption) : สัตว์เลี้ยงมักมีเสียงร้องที่ทำให้พนักงานเสียสมาธิ ดังนั้นลองจินตนาการดูสิว่าหากองค์กรมีสัตว์เลี้ยงมากกว่าหนึ่งตัว ความวุ่นวายในองค์กรจะหนักหน่วงแค่ไหน การคัดเลือกสัตว์เลี้ยงที่ได้รับการดูแลอย่างดี มีมารยาท จึงเป็นสิ่งที่ HR ต้องคิดถึงเสมอ

3. เกิดอันตราย : เราต้องวางแผนว่าหากสัตว์เลี้ยงของพนักงานท่านหนึ่ง ไปทำร้ายพนักงานอีกท่านหนึ่ง ภาระรับผิดชอบตรงนี้จะตกอยู่ที่ใคร จะเป็นการเพิ่มงานให้กับ HR หรือไม่ และหากสัตว์เลี้ยงทำข้าวของภายในองค์กรเสียหาย หรือบังเอิญไปกัดเอกสารสำคัญ องค์จะแก้ไขปัญหาอย่างไร หากยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนตรงนี้ ก็ยังไม่ควรนำสัตว์เข้ามาในที่ทำงาน

4. ออฟฟิศสกปรก (Poor Hygiene) : ความสะอาดเป็นรากฐานสำคัญของออฟฟิศ เพราะคงไม่มีใครที่อยากใช้เวลาทั้งวันอยู่กับความสกปรก ในที่นี้องค์กรที่มีนโยบาย Pet-Friendly Workplace ต้องให้ความสำคัญกับสุขอนามัยของสัตว์เลี้ยงเพิ่มเข้ามา เพื่อให้แน่ใจว่าการขับถ่าย หรือพฤติกรรมของสัตว์จะไม่สร้างความยากลำบากในองค์กร

วิธีออกแบบนโยบายสัตว์เลี้ยง หรือ Pets Policy ในองค์กร

เดวิด เอเวอร์เรตต์ สตริกเลอร์ (David Everett Strickler) ประธานของ The American Marketing Association Los Angeles กล่าวกับ Business.com ว่า องค์กรต้องให้พนักงานมีส่วนร่วมในการออกนโยบายเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงด้วย เพราะการได้ความเห็นจากทุกฝ่ายจะช่วยให้องค์กรได้ข้อสรุปที่ลงตัว ไม่ลำเอียง (Bias) ทุกคนสามารถอยู่กับนโยบายนี้ได้จริง

การออกนโยบาย Pet-Friendly Workplace ต้องให้ความสำคัญกับ 5 ประเด็นดังต่อไปนี้

1. สัตว์เลี้ยงทุกตัวที่นำมาออฟฟิศต้องผ่านการฉีดวัคซีนเรียบร้อย : วัคซีนจะช่วยให้สัตว์เลี้ยงมีภูมิต้านทานที่แข็งแรง ไม่เกิดการเจ็บป่วยในสภาพแวดล้อมของออฟฟิศที่เต็มไปด้วยผู้คนหลากหลายและบรรยากาศที่ไม่คุ้นเคย หากสัตว์เลี้ยงไม่ได้ฉีดวัคซีนอย่างถูกต้อง ก็มีโอกาสที่จะเจ็บป่วยหรือเสียชีวิต ซึ่งอาจมีเชื้อโรคบางอย่างที่ส่งต่อมาถึงมนุษย์ได้ เจ้าของสัตว์เลี้ยงต้องนำหลักฐานการฉีดวัคซีนมายืนยันกับ HR ก่อนนำมาที่ออฟฟิศ

2. สัตว์เลี้ยงทุกตัวต้องผ่านการฝึกอบรมอย่างมืออาชีพ สามารถควบคุมความประพฤติ ไม่สร้างความวุ่นวาย : ความปลอดภัยของสัตว์เลี้ยงและบุคลากรทุกคนคือเรื่องสำคัญที่เราจะมองข้ามไปไม่ได้ โดยเราสามารถแยกเป็นประเด็นปลีกย่อยดังนี้

  • ให้ใบอนุญาตเฉพาะสัตว์เลี้ยงที่ผ่านการอบรมมาแล้วเท่านั้น : สัตว์เลี้ยงที่จะนำมาที่ออฟฟิศต้องไม่เคยมีประวัติเรื่องความก้าวร้าวหรือการทำร้ายผู้อื่นมาก่อน ผู้เป็นเจ้าของต้องแสดงให้เห็นว่าเขาสามารถควบคุมสัตว์ดังกล่าวได้ ที่สำคัญสัตว์เลี้ยงนั้น ๆ ต้องไม่มีความตื่นคน เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าคนที่จะเข้ามาสู่ออฟฟิศของเราจะเป็นใครหรือมีพฤติกรรมแบบไหน ไม่มีทางที่คนจะสามารถกำกับดูแลได้ตลอดเวลา HR จึงต้องสร้างค่านิยมให้เข้าใจว่าเจ้าของต้องเป็นผู้รับผิดชอบสัตว์ของตน หากเกิดความเสียหายภายในองค์กร
  • สัตว์เลี้ยงที่นำมาต้องมีประกันสุขภาพเท่านั้น : คงไม่ใช่เรื่องดีหากองค์กรต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ที่อาจเกิดขึ้นเมื่อสัตว์เลี้ยงได้เข้ามาที่ออฟฟิศ โดย HR สามารถให้เจ้าของเซ็นรับความเสี่ยง หรือมีเอกสารที่ระบุชัดเจนว่าตนจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดหากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น

3. ควรมีกระบวนการทดลองก่อนจะให้สัตว์เลี้ยงเข้ามาที่ออฟฟิศจริง ๆ : แค่คำพูดอย่างเดียวไม่เพียงพอ เราต้องหาวันทดลองเพื่อให้พนักงานนำสัตว์เลี้ยงเข้ามาที่ออฟฟิศด้วย และควรทำเป็นกลุ่ม จะได้เห็นว่าสัตว์เลี้ยงแต่ละตัวสามารถอยู่ร่วมกันได้หรือไม่ ขั้นตอนนี้แม้จะยุ่งยากอยู่บ้าง แต่ก็จำเป็นต้องทำ

4. ออฟฟิศต้องมีพื้นที่สำหรับคนที่ไม่ต้องการอยู่กับสัตว์เลี้ยง (Pet-Free Zone) : อย่างที่กล่าวไปว่าไม่ใช่พนักงานทุกคนที่ชอบอยู่กับสัตว์ แถมบางคนอาจมีอาการแพ้ที่อันตรายถึงชีวิตได้ด้วย ดังนั้นองค์กรที่ดีควรมีพื้นที่สำหรับคนที่ต้องการอยู่คนเดียว เพื่อใช้สมาธิและหลีกเลี่ยงจากสิ่งที่จะหันเหความสนใจออกไป เพราะไม่มีทางเลยที่เราจะออกแบบนโยบายโดยที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันโดยสมบูรณ์ 

องค์กรที่ไม่มีพื้นที่เพียงพอสำหรับเรื่องนี้ ก็ยังไม่ควรนำสัตว์เลี้ยงมาในที่ทำงาน

1. องค์กรต้องให้ความรู้เรื่องการความสะอาดแก่เจ้าของสัตว์ และต้องมีการจัดเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมรวมถึงมีวิธีบังคับใจที่เหมาะสม : HR ไม่ควรปล่อยเรื่องความสะอาดให้เป็นหน้าที่ของแม่บ้าน หรือเป็นภาระของพนักงานคนอื่น ๆ แต่ควรกำหนดให้เจ้าของสัตว์คอยดูแลเรื่องนี้เลย โดยองค์กรสามารถจัดเตรียมพื้นที่สำหรับสัตว์เลี้ยงเอาไว้ให้โดยเฉพาะ หรือหากไม่มี ก็ต้องเน้นย้ำถึงการใช้พื้นที่ส่วนกลางอย่างมีมารยาท โดยคำนึงถึงมลภาวะทางเสียง และทางกลิ่นไปพร้อม ๆ กัน

2. องค์กรต้องเปิดโอกาสให้พนักงานแสดงความเห็นแบบเป็นส่วนตัว (Anonymous Complaint Process) : ไม่ใช่แค่เรื่องสัตว์เลี้ยงเท่านั้น แต่เมื่อมีนโยบายใดก็ตามที่ละเอียดอ่อน และไม่ได้รับการเห็นชอบจากทุกคน HR ต้องเปิดพื้นที่ให้พนักงานแสดงความเห็นโดยไม่เปิดเผยตัวตน เพราะจะช่วยให้เราได้ความเห็นที่จริงใจ ตรงประเด็น มากกว่าการปล่อยให้พูดแบบเปิดเผย ซึ่งอาจสร้างความขุ่นข้องหมองใจระหว่างกัน เพราะคงไม่มีใครที่อยากเห็นคนต่อว่าสัตว์เลี้ยงของตัวเอง ซึ่งเปรียบเสมือนคนในครอบครัว

วิธีสร้างออฟฟิศที่เป็นมิตรกับสัตว์เลี้ยง (Pets Friendly Office)

เมื่อออกนโยบายเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง เราต้องใส่ใจให้ครบทุกแง่มุม ไม่ใช่มองเอาความอยากเป็นสำคัญเท่านั้น เราต้องคิดเผื่อด้วยว่าองค์กรมีงบประมาณมากพอสำหรับการปรับแต่งสถานที่ใหม่หรือไม่ เพราะสัตว์เลี้ยงเองก็ต้องการพื้นที่และการดูแลอย่างดีไม่ต่างจากมนุษย์ หากพิจารณาแล้วรู้สึกว่าไม่คุ้มค่า ก็ควรพักโครงการนี้ออกไปก่อน จนกว่าจะมีความพร้อมจริง ๆ

เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้นว่าออฟฟิศที่เหมาะกับการเลี้ยงสัตว์ต้องมีลักษณะแบบใด เราขออธิบายดังนี้

1. ต้องมีพื้นที่พักผ่อนที่เหมาะสม (Comfortable Resting Area) : สัตว์เลี้ยงก็ต้องการเวลาพักผ่อนระหว่างวันเช่นกัน เราจึงต้องมีสถานที่ ๆ จัดเอาไว้อย่างเหมาะสม ทั้งพื้นที่สำหรับขับถ่าย พื้นที่สำหรับกินอาหาร และพื้นที่สำหรับนอนหลับ โดยเราสามารถจัดเตรียมอุปกรณ์สำหรับสัตว์เอาไว้ในพื้นที่ดังกล่าวโดยมีรั้วกั้นอย่างมิดชิด

2. ต้องมีเฟอร์นิเจอร์ที่เหมาะกับสัตว์เลี้ยง : คงไม่ดีแน่หากเก้าอี้ในองค์กรเต็มไปด้วยรอยฝนเล็บของแมว หรือโซฟาในห้องหัวหน้าเปื้อนปัสสาวะของน้องหมา ดังนั้นเราควรเลือกเฟอร์นิเจอร์ที่ทำความสะอาดได้ง่ายและฉีกขาดได้ยาก ในที่นี้เราอาจต้องทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้ให้ถี่ขึ้นกว่าเดิม

3. ต้องเลือกต้นไม้ที่ไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์ : เดิมทีหากเราต้องการพื้นที่สีเขียวในองค์กร เราจะเลือกด้วยความคุ้มค่าหรือความสวยงามเป็นหลัก แต่เมื่อมีสัตว์เลี้ยงเข้ามา เราต้องแน่ใจด้วยว่าพืชพรรณเหล่านั้นไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์เลี้ยง เพราะมีความเป็นไปได้สูงมากที่สัตว์จะเข้าไปเล่นหรือกิน หากเรามองข้าม ก็อาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต

4. หาพื้นที่ติดภาพถ่ายเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงภายในองค์กร : การติดภาพหรือตกแต่งด้วยบรรยากาศของสัตว์เลี้ยงที่คุ้นเคย นอกจากจะเน้นย้ำให้เห็นถึงแง่มุมที่อ่อนโยนของพนักงานแต่ละคนแล้ว ยังเป็นภาพแสดงให้ผู้มาเยือนเห็นว่าองค์กรของเราให้ความสำคัญกับความหลากหลายและการอยู่ร่วม แถมยังช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์และสร้างความน่าเชื่อถือด้านวัฒนธรรมองค์กรอย่างเป็นรูปธรรม

5. จัดเตรียมพื้นที่สำหรับขับถ่ายโดยเฉพาะ : องค์กรอาจต้องปรับเปลี่ยนระบบน้ำให้มีหลายจุดขึ้น หรืออาจต้องเพิ่มสายยางและกลไกทำความสะอาดที่แตกต่างจากของมนุษย์ทั่วไป นอกจากนี้ยังต้องจัดเตรียมพื้นที่สำหรับทิ้งของเสีย ซึ่งหากมีงบประมาณเพียงพอ ก็ควรหาคนมาดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ ไม่ให้ส่งผลกระทบทางมลภาวะต่อผู้อื่น

ตัวอย่างบริษัทที่มี Pets Policy

1. Major Development : นี่คือบริษัทสัญชาติไทยซึ่งเป็นผู้นำด้านอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นมิตรต่อสัตว์เลี้ยง โดยพวกเขาได้ออกนโยบาย Pet-Friendly Office และปรับพื้นที่ในสำนักงานใหญ่บริเวณเมเจอร์ ทาวเวอร์ ทองหล่อ ให้เหมาะต่อการเลี้ยงสัตว์ และอนุญาตให้พนักงานนำหมาหรือแมวมาทำงานที่ออฟฟิศได้เลยภายใต้แนวคิดว่าสัตว์เลี้ยงคือส่วนเติมเต็มความสุขของการใช้ชีวิต ซึ่งไม่จำเป็นต้องอยู่เพียงแค่ในบ้านหรือคอนโดเท่านั้น แต่สามารถอยู่เคียงข้างกับมนุษย์ในวันทำงานได้เช่นกัน ซึ่งหลังจากนำโครงการนี้มาใช้ ก็พบว่าพนักงานสามารถทำหน้าที่ได้มีประสิทธิภาพขึ้นจริง

2. Google : บริษัทไอทีระดับโลกที่ได้ชื่อว่ามีสวัสดิการโดดเด่นที่สุดเสมอก็มีนโยบายนี้เช่นกัน โดยมีสุนัขตัวแรกในออฟฟิศเมื่อปี 1999 ชื่อว่า Yoshka ในที่นี้พวกเขามีวิธีกำกับดูแลอย่างชัดเจน เช่นหากสุนัขเห่าเสียงดังเกินไปหรือไปกัดข้าวของเครื่องใช้ บริษัทก็จะส่งสุนัขตัวดังกล่าวกลับบ้านทันที เพราะต้องให้ความสำคัญกับบรรยากาศการทำงานแบบองค์รวม

3. Amazon : บริษัทอี-คอมเมิร์ชชื่อดังของโลก มีสุนัขที่ลงทะเบียนและสามารถนำมาที่ออฟฟิศได้เป็นจำนวนมาก โดยข้อมูลจากปี 2019 ระบุว่าสำนักงานสาขาซีแอตเทิล สหรัฐอเมริกามีสุนัขในระบบมากกว่า 7,000 ตัว ในที่นี้อเมซอนมีการจัดเตรียมถุงสำหรับใส่อุจจาระไว้ให้ฟรี แถมยังมีสวนให้สุนัขได้วิ่งเล่น (on-campus dog park) อยู่ในออฟฟิศอีกด้วย

หาที่ปรึกษาดี ๆ ให้องค์กร ด้วยบริการ HR Consulting

อย่างที่กล่าวไปว่าโลกในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วไม่มีทางที่เราจะรู้เรื่องทุกอย่างด้วยตัวเอง ดังนั้นการมีที่ปรึกษาที่ดีจะช่วยให้เราก้าวทันโลก สามารถสร้างสรรค์นโยบาย รวมถึงนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตรงกับความต้องการ และมีแนวทางสำหรับการรับมือทุกความน่าจะเป็นในอนาคต

HR Consultant ยังช่วยเราในเรื่องของกฎหมายแรงงาน สามารถตอบได้ว่านโยบายและแผนสวัสดิการที่เราคิดเอาไว้สามารถทำให้เป็นจริงได้ด้วยวิธีไหน หรือมีเรื่องอะไรที่ควรปรับปรุง ที่ปรึกษาเหล่านี้ยังให้แนวทางเบื้องต้นที่จะนำมาบังคับใช้กับพนักงาน ตลอดจนสามารถคิดวิธีแก้ปัญหาหากสถานการณ์ไม่เป็นดั่งใจ เราสามารถใช้ HR Consultant เป็นดั่งตัวช่วยให้ความคิดและการตัดสินใจของเราเฉียบคมมากขึ้นได้เลย

การให้ความสำคัญกับเรื่องเล็กน้อยแบบนี้ จะช่วยให้องค์กรของคุณโดดเด่นกว่าบริษัทคู่แข่งอย่างชัดเจน

หากคุณไม่รู้ว่าจะมองหา HR Consulting ดี ๆ ได้ที่ไหน เราขอแนะนำให้ใช้บริการ HR Products & Services จาก HREX.asia แพลตฟอร์มที่รวบรวมบริการและผลิตภัณฑ์ด้านทรัพยากรบุคคลเอาไว้มากที่สุดในเมืองไทย ซึ่งไม่ได้มีแค่เรื่องของที่ปรึกษาเท่านั้น แต่ไม่ว่าจะเป็นตัวช่วยในด้านเงินเดือน (Payroll), ด้านสวัสดิการ (Benefits), ด้านการหาพนักงาน (Recruiting) หรือเรื่องอะไรก็ตาม กดที่นี่ คลิกเดียว มีครบ 

บทสรุป

หากย้อนกลับไปในอดีต การเอาสัตว์เลี้ยงมาออฟฟิศ ดูจะเป็นเรื่องไกลตัวและเป็นไปไม่ได้ แต่สวัสดิการที่ว่าก็คงไม่ต่างจากการบอกว่าเราอยากนอนในที่ทำงาน หรืออยากดื่มเหล้าดูสักครั้งระหว่างประชุม ซึ่งสองนโยบายหลังเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วจริง ๆ แถมยังถูกพิสูจน์มาว่าช่วยให้พนักงานสามารถสร้างผลลัพธ์ได้ดีกว่าเดิมอีกด้วย ดังนั้นหากเราต้องลองเปิดรับ (Embrace) แนวคิดใหม่ ๆ ดูบ้าง เราก็จะก้าวทันโลก สามารถตอบสนองความต้องการของทุกฝ่ายได้จริง

Pet-Friendly Workplace สะท้อนให้เห็นว่า “ครอบครัว” ไม่ได้หมายถึงมนุษย์เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่หมายถึงสิ่งมีชีวิตใกล้ตัวที่ส่งผลต่อใจ ดังนั้นหากเราผสานสิ่งนี้เข้ากับการทำงานในแต่ละวันได้ พนักงานก็จะรู้สึกผ่อนคลาย  อิ่มเอม และอยากทำงานกับองค์กรของเรามากขึ้นแน่นอน

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง