Ambidextrous Organization องค์กรที่ดีต้องสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ แต่ไม่ทิ้งของเดิม

HIGHLIGHT

  • Ambidextrous Organization มาจากคำว่า Ambidexterity หมายถึงคนที่สามารถใช้ทั้งมือขวาและมือซ้ายได้อย่างชำนาญ ซึ่งในส่วนของการทำงานนั้นหมายถึงการให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ แต่ก็ยังมุ่งพัฒนาของเดิมที่มีอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นไปพร้อม ๆ กัน
  • Ambidextrous Organization จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมี Ambidextrous Leader หรือผู้นำที่เก่งทั้งรุกและรับ ใส่ใจทั้งเป้าหมายระยะสั้น – ระยะยาว สามารถสร้างวัฒนธรรมให้คนในทีมกล้าทดลอง, กล้าเสี่ยง และรู้ว่าจะศึกษาความผิดพลาดที่เกิดขึ้นได้อย่างไร
  • Ambidextrous Organization แตกต่างจากองค์กรแบบเก่า (Traditional Organization) ในหลายแง่มุม แต่จุดที่ชัดเจนที่สุดคือเรื่องทัศนคติ (Mindset) โดยองค์กรแบบเก่าจะเน้นไปที่เป้าหมายระยะสั้น ต้องการทำแบบเดิมซ้ำ ๆ ให้ออกมาดีที่สุด ไม่ต้องไปหาสิ่งใหม่ก็ได้ แนวคิดนี้ทำให้องค์กรขาดศักยภาพในกรปรับตัว
  • องค์กรที่เราคุ้นเคยและมีแนวคิดเรื่องของ Ambidextrous Organization อย่างเป็นรูปธรรมได้แก่ Google , Amazon รวมถึงห้างสรรพสินค้าไทยอย่าง Central ที่มีหลักสูตรการสร้าง Ambidextrous Leader โดยตรง
  • Ambidextrous Organization จะมีศักยภาพในการรักษาพนักงาน (Retention) และสามารถดึงดูดคนเก่ง ๆ (Attract Top Talent) ได้ง่ายขึ้น เพราะมีความร่วมสมัย เข้าถึงได้ง่ายกว่าองค์กรแบบเก่าที่มักใช้ระบบทำงานแบบขั้น (Hierachy) ซึ่งดูเครียดกว่า

คนที่ทำงานสาย HR อาจได้ยินคำว่า Ambidextrous อยู่บ้าง ซึ่งคำนี้ไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่ถูกใช้ในระดับสากลมานาน และถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่มีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์ทั้งกับการทำงานในปัจจุบัน และยังช่วยให้เราต่อยอดความสำเร็จขององค์กรในอนาคตได้ง่ายขึ้นด้วย

Ambidextrous Organization คืออะไร และเราจะพัฒนาองค์กรไปสู่จุดนั้นได้จริงหรือไม่ อ่านทุกเรื่องที่คุณต้องรู้ได้ที่ HREX.asia

Ambidextrous Organization องค์กรที่สร้างสรรค์นวัตกรรมแต่ไม่ทิ้งของเดิมคืออะไร ?

ความหมายหนึ่งของคำว่า Ambidextrous คือผู้ที่สามารถใช้ทั้งมือขวาและมือซ้ายได้อย่างชำนาญ ซึ่งเมื่อเอาคำนี้มาใช้กับเรื่องการทำงานแล้ว ก็หมายถึงองค์กรที่ให้ความสำคัญกับสองเรื่องพร้อมกันได้ดี ได้แก่เรื่องของ Exploration หมายถึงองค์กรที่มีความคิดสร้างสรรค์ พร้อมเปิดใจรับอะไรใหม่ ๆ พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ และ Exploitation หมายถึงการทำสิ่งที่มีอยู่แล้วให้ดีและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น กล่าวได้ว่าองค์กรที่เป็น Ambidextrous Organization คือองค์กรที่สามารถบริหารจัดการความสมดุลระหว่างการทำงานในระยะสั้น กับการเติบโตในระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง

รู้จัก Ambidextrous Leader ผู้นำที่เก่งทั้งรุกและรับ

ในการสร้าง Ambidextrous Organization นั้น องค์กรต้องมีบุคลากรที่พร้อมทำความเข้าใจทุกองค์ประกอบของบริษัทอย่างเป็นรูปธรรม การสร้างผู้นำที่แข็งแรงจึงถือเป็นรากฐานสำคัญที่จะต่อยอดแนวคิดดังกล่าวไปสู่พนักงานในระดับรองลงมาต่อไป

ผู้นำแบบ Ambidextrous Leader คือคนที่รู้ว่าโลกกำลังเปลี่ยนไปอย่างไร และรู้ว่าจะต้องปรับตัวเข้าหากระแสเหล่านั้นด้วยวิธีไหน ผู้นำในลักษณะนี้จะกล้าเสี่ยงและกล้าทดลองทำอะไรใหม่ ๆ เพราะอยากได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด แต่ขณะเดียวกันก็เข้าใจดีว่าการพัฒนาศักยภาพของคนในทีมที่มีอยู่เดิมให้ดีขึ้น ก็ถือเป็นกลไกสำคัญในการสร้างสรรค์นวัตกรรมอื่น ๆ เช่นกัน ผู้นำที่ไม่เข้าใจความสัมพันธ์ของ Exploration และ Exploitation ไม่ถือว่าเป็น Ambidextrous Leader แต่อย่างใด

นอกจากนี้ Ambidextrous Leader จะต้องสร้างสภาพแวดล้อมในที่ทำงานเพื่อสนับสนุนการทำงานทั้งสองอย่าง ไม่ว่าจะช่วยในการศึกษาวิจัยเพื่อคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ , การจัดอบรมพัฒนาทักษะหรือการเปลี่ยนแนวทางเลือกใช้เครื่องมือให้สะดวกสบาย คุ้มค่ายิ่งขึ้น ในที่นี้ Ambidextrous Leader จะต้องมีความสามารถในการตรวจสอบและวัดผลว่ากลยุทธ์ต่าง ๆ ที่ผู้บริหารวางเอาไว้ได้ผลดีหรือไม่ หากมีข้อผิดพลาด ก็ต้องรีบตัดสินใจเพื่อแก้สถานการณ์โดยเร็วที่สุด เขาต้องทำอย่างไรก็ได้ให้แผนงานทั้งระยะสั้นและยาวสามารถเติบโตไปพร้อม ๆ กัน

Ambidextrous Leader เป็นเรื่องจำเป็นมากในโลกยุคปัจจุบันที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดและรวดเร็วกว่าที่เคย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทัศนคติบุคลากร (Employee’s Mindset), เทคโนโลยี หรือแม้แต่ความต้องการของลูกค้า ผู้นำในลักษณะนี้จะมีความว่องไว (Agile) มีความเฉียบคมในการเผชิญหน้ากับทุกปัญหา นี่คือทักษะแห่งอนาคตที่ทุกองค์กรต้องมีหากต้องการพัฒนาไปเป็นองค์กรที่เติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainable Organization)

เราสามารถสร้าง Ambidextrous Leader ได้ด้วยขั้นตอนต่อไปนี้

1. หมั่นอบรมและศึกษาเรียนรู้อยู่เสมอ : องค์กรต้องกระตุ้นให้คนที่เป็นผู้นำมีทัศนคติ (Mindset) ว่าเราไม่สามารถหยุดเรียนรู้ได้เด็ดขาดแม้ธุรกิจจะประสบความสำเร็จอยู่ตัวดีแล้วก็ตาม เพราะโลกเปลี่ยนไปตลอดเวลาจนทำให้เราถูกแซงได้ทันทีหากไม่รู้จักเตรียมตัว ดังนั้นองค์กรต้องหาโอกาสจัดสัมมนาหรือเชิญผู้เชี่ยวชาญมาอบรมเป็นระยะทั้งด้านของ Hard Skills และ Soft Skills รวมถึงเปิดโอกาสให้นำทักษะที่เรียนมาใช้จริงเพื่อสร้างเสริมประสบการณ์ ในที่นี้เราควรให้ผู้นำเรียนรู้ทักษะที่แตกต่างกันไปเรื่อย ๆ ไม่ใช่เจาะจงอยู่เพียงหัวข้อเดียว

2. สอนผู้นำให้กล้าคิด กล้าเสี่ยง : หากผู้นำไม่กล้าตัดสินใจ ก็ไม่มีทางบัญชาการทีมให้แข็งแกร่งได้ เราต้องเปลี่ยนมุมมองให้ผู้นำเห็นว่าแม้จะเป็นเรื่องผิดพลาด แต่ก็ยังมีมุมให้เรานำมาศึกษาต่อได้อยู่ดี ไม่ได้ถือเป็นความผิดที่น่ากังวลไปเสียทั้งหมด เพราะบางครั้งความผิดพลาดที่เกิดขึ้นอาจเป็นเพราะทรัพยากรขององค์กรไม่เอื้ออำนวยก็ได้ ดังนั้นการทดลองแล้วผิดพลาดอาจนำไปสู่การจัดหาเครื่องมือที่ดีขึ้น หรือเห็นคำตอบชัดเจนขึ้นว่าการอบรมแบบไหนกันแน่ที่เหมาะกับการนำมาใช้มากที่สุด เรียกว่า “ความกล้า” ถือเป็นรากฐานที่ขาดไม่ได้ของ Ambidextrous Leader เลยทีเดียว

3. สอนผู้นำให้มีวิสัยทัศน์ : ผู้นำต้องรู้จักวางเป้าหมายที่ชัดเจน และรู้ว่าจะวางกลยุทธ์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวอย่างไร รวมถึงคาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่าทิศทางของธุรกิจในอนาคตจะเติบโตไปในลักษณะไหน ผู้นำยุคใหม่ต้องทำงานหลายอย่าง แต่ก็เป็นสิ่งที่ต้องทำหากต้องการอยู่ร่วมกับความท้าทายและยังต้องการให้องค์กรมีความสามารถในการแข่งขัน องค์ประกอบทั้งหมดนี้ต้องสอนทั้งผู้นำในปัจจุบัน และคนทีมีแนวโน้มว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในอนาคต

POLC ทฤษฎีการจัดการ

ตัวอย่างองค์กรที่เป็น Ambidextrous Organization

ปัจจุบันยังไม่มีองค์กรที่ถูกระบุอย่างเป็นทางการว่าเป็น Ambidextrous Organization แต่ก็มีองค์กรมากมายทั้งในประเทศไทยและในระดับสากลที่ให้ความสำคัญกับเรื่อง Ambidextrous Practices อย่างเป็นรูปธรรม เราขอยกตัวอย่าง 3 บริษัทดังต่อไปนี้

1. Google : บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกที่ทุกคนรู้จักถือเป็นตัวอย่างที่ถูกนำมาพูดถึงอยู่บ่อย ๆ Google ได้สร้างโครงการ X ซึ่งเป็นสถานที่วิจัยและพัฒนากึ่งลับของอเมริกาและองค์กรซึ่งจะนำไปสู่ความเป็นไปได้อีกมากมายในอนาคต และขณะเดียวกันก็มีสวัสดิการที่น่าสนใจอย่างนโยบาย 20% Time ที่อนุญาตให้พนักงานใช้เวลางาน 20% ไปทำสิ่งที่ตนสนใจได้เลย เรียกว่ากูเกิ้ลเตรียมพร้อมองค์กรได้แบบรอบด้านจริง ๆ

2. Amazon : นี่คือบริษัทที่ต่อยอดมาจากธุรกิจค้าขายออนไลน์ เรื่อยไปจนอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วโลกอย่างรวดเร็ว พวกเขาสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ออกมาเสมอ ไม่ว่าจะเป็น Amazon Web Services (AWS), Kindle, Amazon Prime แต่ขณะเดียวก็ยังพัฒนาระบบขนส่งบนแพล็ตฟอร์ม e-commerce ของคนให้ดีขึ้นอยู่เสมอ แม้จะถูกมองว่าเป็น “เจ้าตลาด” อยู่แล้วก็ตาม

3. Central : ห้างสรรพสินค้าชั้นนำของไทยเคยให้สัมภาษณ์ว่าการสร้าง Ambidextrous Leadership ถือเป็นแนวทางอบรมหลักขององค์กร ควบคู่กับเรื่องของการอบรมผู้บริหารระดับสูงและการเตรียมความพร้อมสำหรับความเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ (Business Transformation) เราจึงได้เห็นความพยายามในการสร้างสิ่งใหม่ ๆ ของเซ็นทรัลอยู่เรื่อยมาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน

Ambidextrous Organization องค์กรที่สร้างสรรค์นวัตกรรมแต่ไม่ทิ้งของเดิมมีประโยชน์อย่างไร ?

การเป็น Ambidextrous Organization จะช่วยให้เรามองเห็นภาพกว้างของธุรกิจ (Business Landscape) ได้มากขึ้น สามารถก้าวทันโลก (Relevant) ไม่ล้าสมัย และเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่นั้นยังต่อยอดไปได้อีกมากมายไม่มีที่สิ้นสุด โดยเราสามารถสรุปประโยชน์ของการเป็น Ambidextrous Organization ได้ดังนี้

1. Ambidextrous Organization ช่วยให้เกิดนวัตกรรม : เมื่อองค์กรให้ความสำคัญกับการคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ เข้าใจเรื่องของความเสี่ยง และพร้อมรับมือหากเกิดข้อผิดพลาด องค์กรนั้นก็จะมีโอกาสสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ได้มากกว่าองค์กรที่ทำทุกอย่างแบบเน้นความปลอดภัยหรือไม่กล้าปรับตัว ให้คิดเสมอว่าคนที่ลงมือทำก่อน หากสำเร็จ ก็จะได้ก้าวนำคนอื่นไปก่อน และหากผิดพลาด องค์กรที่วางกลยุทธ์อย่างเป็นระบบ ก็ยังสามารถเอาองค์ความรู้จากประสบการณ์นั้น ๆ ไปต่อยอดได้อยู่ดี

2. Ambidextrous Organization ช่วยในเรื่องการปรับตัว : องค์กรในลักษณะนี้จะมีความยืดหยุ่น (Flexible) กล้าปรับตัว (Adaptable) เข้าหาสิ่งใหม่เสมอ เพราะบุคลากรมีความเข้าใจในหน้าที่ของตนอย่างเต็มเปี่ยม ขณะเดียวกันก็มีนวัตกรรมที่เตรียมพร้อมสำหรับอนาคตเอาไว้รองรับด้วย จึงได้เปรียบกว่าองค์กรที่เพิ่งเริ่มเรียนรู้ตอนที่เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก

Succession Planning การวางแผนผู้สืบทอดตำแหน่ง

3. Ambidextrous Organization ช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับองค์กร : องค์กรที่หมั่นเรียนรู้และปรับตัวเสมอจะมีองค์ความรู้ใหม่กว่าองค์กรที่ไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เลย ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะนำไปสู่การสร้างสรรค์วิธีแก้ปัญหาใหม่ ๆ ให้กับลูกค้า เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าสถานการณ์แบบโควิด-19 จะกลับมาเกิดอีกหรือไม่ แต่หากเราเตรียมพร้อมเอาไว้ล่วงหน้า เราก็จะมีศักยภาพในการแข่งขันเสมอแม้จะต้องเจอกับสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นใจก็ตาม

4. Ambidextrous Organization ช่วยให้เรามีโอกาสเจอตัวเลือกที่ดีที่สุด : เมื่อเราทำสองอย่างควบคู่กันไป เราก็อาจเจอรูปแบบการทำงานที่นำมาประยุกต์ใช้ร่วมกันได้ ซึ่งอาจช่วยให้การทำงานง่ายขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน การเรียนรู้และพัฒนาไปเรื่อย ๆ จะช่วยให้เราได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธภาพ สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้ตรงจุดกว่าเดิม

5. Ambidextrous Organization ช่วยให้องค์กรเติบโตได้อย่างยั่งยืน : เป้าหมายของทุกองค์กรในปัจจุบันคือการเติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainable) ดังนั้นการหาจุดสมดุลระหว่างแผนงานระยะสั้น – ระยะยาวแล้วทำให้ทั้งสองส่วนมีผลกำไร ก็ถือเป็นอีกแนวทางสำคัญที่จะช่วยให้องค์กรประสบความสำเร็จในอนาคต

เราสามารถสร้างองค์กรที่เป็น Ambidextrous Organization หรือ องค์กรที่สร้างสรรค์นวัตกรรมแต่ไม่ทิ้งของเดิมได้อย่างไร ?

การสร้าง Ambidextrous Organization ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลาย ๆ ฝ่าย ดังนั้นหากคุณอ่านบทความของเราแล้วเกิดคำถามว่าจะเปลี่ยนองค์กรจากแบบเดิม ๆ ให้เป็นแบบ Ambidextrous ได้อย่างไร เราขอแนะนำให้ใช้ 5 ขั้นตอนเบื้องต้นดังต่อไปนี้

1. กลุ่มผู้นำต้องมีความเอาจริงเอาจัง (Commitment) : ผู้บริหารต้องให้คำมั่นสัญญากับทีมว่าจะให้ความสำคัญกับการสร้าง Ambidextrous Organization จริง ๆ ต้องเริ่มวางแผนให้ได้ว่าจะทำ Exploration และ Exploitation ในเรื่องใด เพราะเมื่อผู้บริหารให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ คนอื่นที่อยู่ในระดับรองลงมาก็จะรู้สึกตื่นตัว เกิดเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่ทุกฝ่ายอยากช่วยผลักดันบริษัทให้เติบโตตลอดเวลา

2. องค์กรต้องสนับสนุนเรื่องทรัพยากร (Resources Allocation) : แค่เป้าหมายและวิธีการอย่างเดียวไม่เพียงพอ องค์กรต้องให้บุคลากรมีทรัพยากรที่เขาควรจะได้อยู่ในมือด้วย ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรทางการเงิน, ทรัพยากรด้านเวลา หรือแม้แต่ทรัพยากรมนุษย์ (Manpowers) ซึ่งจุดนี้เองที่องค์กรต้องทำควบคู่ไปกับการบริหารงบประมาณที่ดี

3. องค์กรต้องมีโครงสร้างที่ยืดหยุ่น (Flexible Organizational Structure) : เช่นเดียวกับบริษัทอย่าง Google ที่เปิดโอกาสให้พนักงานเอาเวลาไปทำสิ่งที่ตนสนใจควบคู่ไปกับการทำงานที่ได้รับมอบหมายอย่างดีที่สุด องค์กรของคุณก็ต้องทำในสิ่งที่คล้ายคลึงกัน เพื่อให้แต่ละทีมสามารถใช้เวลากับหน้าที่ของตนได้อย่างเต็มที่ ภายใต้การตรวจสอบวัดผลที่มีประสิทธิภาพ

Knowledge Management การจัดการความรู้ คืออะไร

4. องค์กรต้องสร้างวัฒนธรรมแห่งการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ (Culture of Innovation) : องค์กรต้องทำให้พนักงานเห็นว่าเราให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นการมอบรางวัลให้กับนวัตกรรมที่น่าสนใจ หรือแม้แต่การสร้างวัฒนธรรมในการแสดงความเห็น (Feedback Culture), วัฒนธรรมในการกล้าเสี่ยง (Risk-Taking Culture), วัฒนธรรมในการบริหารจัดการสถานการณ์อันเลวร้าย (Crisis Management) องค์ประกอบเหล่านี้จะช่วยให้พนักงานกล้าทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ โดยไม่กลัวว่าจะถูกต่อว่า 

5. องค์กรต้องมีการสื่อสารที่ดี (Communication) : การสื่อสารที่ดีจะนำไปสู่การร่วมมือที่ดี (Good Collaboration) เราต้องรู้ว่าช่องทางสื่อสารที่มีนั้นเหมาะกับบุคลากรทุกแบบหรือไม่ ควรเพิ่มวิธีสื่อสารหรือตัดวิธีที่ไม่จำเป็นหรือไม่ เพราะการทำให้พนักงานเข้าถึงกันง่ายขึ้นจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ อาจนำไปสู่แนวคิดใหม่ ๆ ที่ไม่สามารถทำได้หากมัวแต่นั่งคิดอยู่คนเดียว นอกจากนี้การ Brainstorm ยังช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างคนในองค์กรได้อีกด้วย

ข้อแตกต่างระหว่างองค์กรแบบเดิม (Traditional Organization) กับองค์กรที่ที่สร้างสรรค์นวัตกรรมแต่ไม่ทิ้งของเดิม (Ambidextrous Organization)

ดร.รัฐศาสตร์ กรสูต จาก Digital Economy Promotion Agency (DEPA) กล่าวในงาน Thailand HR Tech 2023 ว่าธุรกิจชั้นนำของประเทศไทยที่มูลค่าเกินหนึ่งแสนล้านบาทยังคงอยู่ในอุตสาหกรรมดั้งเดิม ทำให้เราเติบโตได้แบบทีละนิด (Linear) ซึ่งจะทำให้ศักยภาพในการแข่งขันลดน้อยลงเรื่อย ๆ หากเทียบกับบริษัทในประเทศอื่น ๆ นี่เป็นเพียงหนึ่งในอีกหลายเหตุผลที่บอกว่าทำไมเราถึงควรยกระดับการทำงานจากแบบดั้งเดิม (Normal/Traditional) ให้เป็น Ambidextrous Organization ได้แล้ว

Traditional กับ Ambidextrous Organization มีความแตกต่างกันดังนี้

1. องค์กรแบบเดิมมักให้ความสำคัญกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพียงอย่างเดียว เช่นมองไปถึงอนาคต (Exploring) จนลืมพัฒนาสิ่งเดิมให้ดีขึ้น หรือเอาแต่พัฒนาเรื่องเดิมที่เคยประสบความสำเร็จ (Exploitation) โดยไม่รู้เลยว่าโลกได้ก้าวไปถึงไหนแล้ว องค์กรแบบนี้อาจจะอยู่รอดท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงก็ได้ แต่จะเติบโตใหญ่ขึ้นได้ยากกว่าองค์กรที่เป็น Ambidextrous Organization แน่นอน

2. องค์กรแบบเก่าจะเกิดคำถามเสมอว่าทำไมต้องเปลี่ยนวิธีทำงานจากเดิม เพราะที่ทำอยู่ก็ประสบความสำเร็จดีแล้ว พวกเขาจะไม่อยากเปลี่ยนแปลงแม้จะมีคำเตือนจากผู้เชี่ยวชาญว่าจะเกิดสถานการณ์อันน่ากังวลขึ้นในอนาคต แต่ Ambidextrous Organization จะเปิดรับ (Embrace) ความเปลี่ยนแปลงได้อย่างง่าย ๆ สบาย ๆ เพราะบุคลากรมีทัศนคติที่ดี และมีเครื่องมือ (Tools) ที่ครอบคลุมอยู่แล้ว

3. องค์กรแบบ Ambidextrous Organization จะสนับสนุนให้คนมีจินตนาการ มีวิธีทำงานและสวัสดิการที่น่าสนใจอยู่เสมอ เช่นการสร้างห้องนอนกลางวันหรือแม้แต่การดื่มแอลกอฮอล์ในที่ทำงาน ซึ่งถือว่าขัดต่อขนบเดิม ๆ แต่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าช่วยให้งานมีประสิทธิภาพขึ้นได้ ขณะที่องค์กรแบบเก่าจะไม่เน้นว่าพนักงานต้องคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ขอเพียงทำงานเดิมให้ดีตามมาตรฐานก็พอ

4. ในขณะที่ Ambidextrous Organization ให้ความสำคัญกับทั้งการเติบโตระยะสั้นและระยะยาว แต่องค์กรแบบเก่าจะให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ระยะสั้นมากกว่า เพราะไม่ได้มีเป้าหมายระยะยาวไว้รองรับ

5. Ambidextrous Organization จะมีอัตราการมีส่วนร่วมของพนักงาน (Employee Engagement) สูงกว่า เพราะได้ลองผิดลองถูกมาด้วยกัน สำเร็จและล้มเหลวไปด้วยกัน ซึ่งในระยะยาวกลุ่มคนนี้ก็จะสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นได้ แต่องค์กรแบบเก่ามักมีระบบการทำงานแบบลำดับขั้น (Hierachical Approach) ที่หากผู้บริหารหรือหัวหน้าไม่สั่งการลงมา คนในระดับล่างกว่าก็ไม่สามารถทดลองทำสิ่งใหม่ได้เลย

การมีส่วนร่วมและผูกพันของบุคคลากร (Employee Engagement) มีความสำคัญอย่างไรกับองค์กร

แม้องค์กรจะดีอยู่แล้ว แต่ก็ยังต้องพัฒนาเสมอ HR Training & Coaching จึงสำคัญที่สุด

เราได้ยินการเน้นย้ำจากผู้เชี่ยวชาญเสมอว่า “ความรู้ในปัจจุบันหมดอายุเร็วมาก” สิ่งที่เราทำได้ดีในวันนี้ อาจกลายเป็นสิ่งไร้ค่าในวันรุ่งขึ้นก็ได้ ดังนั้นแม้เราจะประสบความสำเร็จมากแค่ไหน สิ่งสำคัญที่จะหยุดทำไม่ได้ก็คือการหาความรู้ใหม่ ๆ เพื่อยกระดับองค์กรให้ร่วมสมัยกับทุกความเปลี่ยนแปลงให้ได้ เพราะนอกจากจะส่งผลดีในแง่ธุรกิจแล้ว องค์กรที่ก้าวทันโลกจะได้ประโยชน์ในเรื่องภาพลักษณ์ (Branding) ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการรักษาพนักงานที่มีฝีมือ (Retention) หรือแม้แต่การดึงดูดคนเข้ามาสู่องค์กร (Attract Top Talent) ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นมากในปัจจุบันที่มีบุคลากรในตลาดแรงงานน้อยกว่าที่เคย

ดังนั้นองค์กรจึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่อง Training & Coaching เป็นพิเศษ ซึ่งไม่ใช่การจัดเป็นรายเดือน, รายไตรมาส หรือรายปีอย่างในอดีต แต่ต้องพร้อมจัดขึ้นทันทีเมื่อโลกพบกับความเปลี่ยนแปลง หรือมีนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ภายในบริษัท HR ที่ดีต้องรู้ว่าองค์ความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้นในโลกชิ้นใดบ้างที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในองค์กรได้ ความรู้ตรงนี้จะช่วยให้เราได้เครื่องมือที่เหมาะสมและคุ้มค่า ไม่ใช่ไปเลือกแค่สิ่งที่ใหม่กว่าโดยไม่รู้ว่าเหมาะกับการทำงานจริงหรือไม่

และหากคุณไม่ชำนาญหรือต้องการตัวช่วยในการจัดอบรมสัมมนา เราขอแนะนำให้ใช้บริการ HR Products & Services อีกหนึ่งแพล็ตฟอร์มดี ๆ จาก HREX.asia ที่เรารวบรวมบริการและผลิตภัณฑ์ HR เอาไว้มากที่สุดในเมืองไทย ท่านสามารถเลือกรูปแบบการใช้งานที่เหมาะกับองค์กรตามทรัพยากรหรือกลยุทธ์ที่วางแผนเอาไว้ได้เลย คลิก

บทสรุป

การทำหลายอย่างให้ดีพร้อม ๆ กัน กลายเป็นแนวทางทำงานของโลกยุคใหม่ไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นในแง่บุคคลอย่างการทำ Multi-Tasking เรื่อยมาจนถึงระดับองค์กรที่ต้องหันมาใส่ใจเป้าหมายทั้งระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งต้องครอบคลุมให้ได้ทั้งการทำสิ่งเดิมที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตลอดจนการต่อยอดไปสู่นวัตกรรมใหม่ ๆ ให้องค์กรเติบโตได้อย่างยั่งยืน ซึ่ง Ambidextrous Organization นั้น เป็นคอนเซปต์สำคัญที่เราอยากผลักดันให้องค์กรต่าง ๆ นำไปปฏิบัติให้เกิดขึ้นได้จริง

อย่างไรก็ตามองค์กรทั้งหลายควรตรวจสอบดูว่าประสิทธิภาพจริงขององค์กรตั้งอยู่ตรงจุดไหน เรามีวัฒนธรรมที่ดีพอหรือไม่, อัตราการมีส่วนร่วมของพนักงานเป็นอย่างไร และผู้บริหารให้ความสำคัญกับอนาคตมากแค่ไหน หากคำตอบในเรื่องเหล่านี้ยังไม่ชัดเจน เราก็ควรรีบแก้ไขรากฐาน (Foundation) ให้ดีก่อน เพราะองค์กรที่ดีย่อมเกิดขึ้นจากฐานรากที่แข็งแกร่งเช่นกัน

การปรับตัวในโลกธุรกิจเป็นเรื่องยาก แต่หากเรารับมือกับมันอย่างเปิดใจ เราก็จะพบว่ามีความตื่นเต้น (Excitement) และความท้าทาย (Challenge) รออยู่เต็มไปหมด ดังนั้นยังไม่สาย หากคุณจะเริ่มเปลี่ยนจากการเป็น Traditional Organization ไปเป็น Ambidextrous Organization ซึ่งเริ่มได้ตั้งแต่วันนี้เลย

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง