Fertility Benefit สวัสดิการมาแรงสำหรับการสร้างครอบครัวและคนที่มีบุตรยาก 

HIGHLIGHT

  • Fertility Benefit คือสวัสดิการที่ช่วยเหลือเรื่องการสร้างครอบครัวโดยเฉพาะคนที่มีบุตรยาก ถือเป็นสวัสดิการมาแรงที่องค์กรใหญ่ทั่วโลกต้องมี
  • ผู้เชี่ยวชาญมองว่าสงครามแย่งชิงบุคลากร (War of Talent) จะดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงปี ค.ศ. 2023 และการมี Fertility Benefit จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ถูกใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ
  • จากสถิติล่าสุดในสหรัฐอเมริกา มีวัยทำงานหลายคนที่ตัดสินใจเปลี่ยนงานเพราะต้องการ Fertility Benefit หรืออย่างน้อยก็ต้องมีสิทธิ์เลือกสวัสดิการที่เหมาะสมกับตัวเอง
  • Fertility Benefit ครอบคลุมทุกประเด็นสำคัญเพื่อคนมีบุตรยาก ทั้งการให้คำปรึกษา, การทำเด็กหลอดแก้ว, การรับบุตรบุญธรรม รวมถึงการให้คำปรึกษาด้านกฎหมายและวางแผนการเงิน
  • หลายคนอาจมองว่า Fertility Benefit จะทำให้องค์กรมีค่าใช้จ่ายมากขึ้นหลายเท่าตัว แต่มีผลวิจัยเผยออกมาแล้วว่าองค์กรถึง 97% ที่ใช้สวัสดิการนี้ไม่มีปัญหาด้านการเงินตามมา

ช่วงต้นปีแบบนี้ คนที่ทำงานด้านทรัพยากรบุคคล (HR) ล้วนพยายามมองหาสวัสดิการใหม่ ๆ มาตอบสนองความต้องการของพนักงานในองค์กรโดยไม่กระทบต่องบประมาณในภาพรวม ซึ่งหัวข้อที่กำลังมาแรงในตอนนี้คือเรื่องของ สวัสดิการด้านการสร้างครอบครัว (Family Benefit) โดยเฉพาะเรื่องของการมีบุตรและการรักษาสุขภาพจิตให้แข็งแรงอยู่เสมอ

สวัสดิการเหล่านี้เรียกให้ครอบคลุมว่า Fertility Benefit ถือเป็นสวัสดิการที่องค์กรชั้นนำของโลกเลือกใช้และเน้นย้ำว่าพนักงานทุกคนควรได้รับ เพราะแม้จะต้องลงทุนลงแรงเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ก็ได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าทั้งในแง่ของความต่อเนื่องในการทำงาน และการรักษาบุคลากรในระยะยาว

Fertility Benefit มีความสำคัญอย่างไรอีกบ้าง อ่านทุกเรื่องที่คุณควรรู้ได้ที่นี่

Contents

Fertility Benefit คืออะไร ?

สวัสดิการนี้คือสวัสดิการที่ช่วยในเรื่องการมีบุตรและการสร้างครอบครัว ครอบคลุมในเรื่องการฝากไข่ (Egg Freezing), การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) ซึ่งเดิมทีถูกมองเป็นเรื่องของพนักงานหญิงโดยเฉพาะ แต่ปัจจุบันได้ขยายไปสู่กลุ่ม LGBTQ+

เพราะนอกเหนือจากการสนับสนุนด้านการแพทย์แล้ว ยังรวมถึงการรับบุตรบุญธรรมและการให้ความรู้เกี่ยวกับการสร้างครอบครัวที่ดีอีกด้วย

มีรายงานระบุว่าบริษัทในสหรัฐอเมริกาที่มีพนักงานมากกว่า 500 คนถึง 61% มีสวัสดิการดังกล่าว ขณะที่พนักงานซึ่งเคยมีปัญหาเรื่องนี้โดยตรงจำนวน 90% มองว่า พวกเขายินดีเปลี่ยนงานเพื่อให้ได้สิทธิ์นี้

ScienceDirect กล่าวว่าสวัสดิการเพื่อการสร้างครอบครัว (Family Building Benefit) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Fertility Benefit คือกลยุทธ์ที่ช่วยให้งานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและไม่ได้ใช้เงินมากอย่างที่คิด เพราะแม้ขั้นตอนการรักษาจะมีค่าใช้จ่ายสูง แต่ก็ไม่ใช่ทุกครั้งที่พนักงานจะใช้สิทธิ์ทั้งหมด แถมการให้คำปรึกษาตั้งแต่เนิ่น ๆ จะทำให้สุขภาพของพนักงานดีขึ้นในภาพรวม

การสร้างครอบครัวโดยมีสุขภาพใจที่แข็งแรงควบคู่กันไปจึงกลายเป็นรากฐานสำคัญที่ช่วยให้พนักงานมีความสุขและมีความพึงพอใจในการทำงานให้กับองค์กรอย่างเต็มที่ ช่วยให้พนักงานเดิมอยากอยู่กับองค์กรต่อไป และยังเป็นจุดเด่นไวิดึงดูดพนักงานจากที่อื่นเข้ามา ทั้งนี้เพื่อยืนยันให้ชัดเจน Mercer ได้ทำแบบสำรวจจนพบว่าองค์กรถึง 97% ที่มีนโยบายนี้ไม่เกิดปัญหาด้านงบประมาณแต่อย่างใด

เหตุนี้ Fertility Benefit จึงไม่ได้อยู่ในสถานะของสวัสดิการที่ควรมี แต่เป็นสวัสดิการที่บริษัท “ต้องมี” หากต้องการเอาชนะในตลาดแรงงาน และตอบสนองความต้องการของพนักงานได้อย่างแท้จริง

Fertility Benefit มีประโยชน์อย่างไร

การให้สวัสดิการในเรื่องนี้จะทำให้พนักงานเชื่อมั่นในองค์กรมากขึ้น เพราะแสดงให้เห็นว่าเราให้ความสำคัญกับชีวิตความเป็นอยู่ของพนักงานนอกเหนือจากเรื่องการบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจ ดังนั้นไม่ว่าเราจะมีวัฒนธรรมองค์กรแบบใดในอนาคต พนักงานก็พร้อมที่จะมีส่วนร่วมและก้าวไปกับองค์กรมากขึ้นกว่าเดิม

หากสถานการณ์ทุกอย่างเป็นไปตามปกติ การวางแผนครอบครัวก็คงไม่ได้เป็นเรื่องยากลำบากอะไร แต่หากเกิดสถานการณ์อื่น เช่น สภาวะมีบุตรยาก, การแท้งลูก หรือปัญหาสุขภาพจิต องค์กรที่ไม่มีสวัสดิการนี้จะทำให้พนักงานกังวล เช่นถ้าไม่มีนโยบายด้านเวลาทำงานที่ยืดหยุ่น (Flexible Hour) การออกไปพบแพทย์แต่ละครั้งก็ต้องใช้สิทธิ์วันลา ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องพื้นฐาน แต่ก็อาจทำให้พนักงานหลีกเลี่ยงการรักษาเพราะไม่อยากใช้วันลา จนท้ายสุดทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า (Depression), หมดไฟ (Burnout) และวิตกกังวล (Anxiety)

การทำให้พนักงานใช้ชีวิตง่ายที่สุดเมื่อเจอสถานการณ์นี้จึงเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยให้พนักงานรู้สึกผ่อนคลาย สามารถเลือกทำธุระของตนได้อย่างสบายใจ ความสุขตรงนี้จะทำให้บรรยากาศของที่ทำงานเป็นไปในทางบวกและมีประสบการณ์ที่ดีกับองค์กร ช่วยฟื้นฟูเรื่อง Employee Experiences โดยตรง

Fertility Benefit นี้ยังเป็นการยกระดับนโยบายด้านความหลากหลาย (Diversity) ภายในองค์กร เพราะเดิมทีนโยบายในลักษณะนี้จะให้ความสำคัญกับคนที่มีปัญหาไปแล้ว ซึ่งมักกลายเป็นการมุ่งเน้นที่พนักงานหญิงเท่านั้น แต่ Fertility Benefit จะตอบโจทย์ทุกความหลากหลายไม่ว่าคุณจะเป็นเพศใดก็ตาม

อนึ่งเราสามารถเริ่มต้นจากการสนับสนุนโดยให้วงเงินที่จำกัดเอาไว้ก่อน เช่น เป๊ปซี่ (Pepsi) จะให้วงเงินไม่เกิน 35,000 ดอลลาร์ แนวทางนี้จะทำให้พนักงานเห็นถึงความใส่ใจว่าองค์กรรู้จักปรับตัว

Willis Towers Watson กล่าวว่าพนักงานบริษัท 71% มองว่าสวัสดิการเรื่องครอบครัวเริ่มมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ และยังเผยว่ามีผู้บริหารถึง 58% ในสหรัฐอเมริกาที่ตั้งเป้าว่าจะต้องมีนโยบายด้านนี้อย่างสมบูรณ์ภายในปี 2025 ครอบคลุมความหลากหลายทั้งด้านอายุและเชื้อชาติ ซึ่งสอดคล้องกับโลกการทำงานในปัจจุบันที่เกิดการว่าจ้างพนักงานจากต่างประเทศมากกว่าในอดีต

ประโยชน์อีกอย่างที่เป็นผลดีต่อ HR ก็คือเรื่องการว่าจ้างพนักงาน (Recruiting Process) ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ทั่วโลก โดย The Harris Poll บอกว่าสงครามแย่งชิงพนักงาน (War of Talent) มีแนวโน้มลากยาวไปจนถึงปี 2031 ซึ่งสวัสดิการลักษณะนี้คือจุดตัดสินว่าพนักงานจะเลือกองค์กรไหน ทั้งนี้คุณแอนเจล่า สโปซาโต้ (Angela Sposato) หัวหน้าฝ่ายทรัพยากรบุคคลจาก 5W Public Relations กล่าวเสริมว่า สิ่งที่จะดึงดูดผู้สมัครในอนาคตได้มากที่สุดคือสวัสดิการที่เป็นมิตรกับครอบครัว (Family Friendly Benefit)

Fertility Benefit ไม่ใช่เรื่องของการรักษาและดึงดูดพนักงานระดับท็อปหรือคนที่มีความเสี่ยงต่อปัญหานี้เท่านั้น เพราะพวกเขาอาจเป็นคนที่ต้องใช้สิทธิ์นี้ก็ได้เนื่องจากมีสถิติระบุวว่าคู่รัก 1 ใน 8 จะมีปัญหาเกี่ยวกับการมีบุตร ดังนั้นการรู้ว่าองค์กรมีสวัสดิการนี้คอยรองรับจะทำให้พวกเขาโฟกัสกับงานได้โดยไร้กังวล

Fertility Benefit ประกอบด้วยเรื่องใดบ้าง ?

ย้ำอีกครั้งว่า Fertility Benefit ในปัจจุบันเป็นเรื่องของคนทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าเราจะมีทัศนคติหรือค่านิยมแบบใดก็ตาม เพราะไม่ว่าใครๆก็สมควรมีครอบครัวที่อบอุ่นด้วยกันทั้งสิ้น ดังนั้นองค์กรที่อยู่ระหว่างการพิจารณาสวัสดิการในด้านนี้ควรให้ความสำคัญกับองค์ประกอบหลัก 5 ประการ ได้แก่

1. ด้านยาและเวชภัณฑ์ (Fertility Drugs) : ไม่ว่าจะเป็นยาที่ช่วยควบคุมการตกไข่ของสตรีที่มีบุตรยาก หรือการฉีดฮอร์โมนต่าง ๆ ตามความเหมาะสม

2. ด้านการฝากไข่, ฝากสเปิร์ม และฝากตัวอ่อน : พนักงานบางท่านอาจมีเป้าหมายในการทำงานระยะยาว และยังไม่พร้อมสำหรับการมีครอบครัวในอนาคตอันใกล้ กระบวนการเหล่านี้จะช่วยให้พวกเขาสามารถมีลูกได้ง่ายขึ้นเมื่อถึงเวลาที่ต้องการ และถือเป็นเรื่องที่มีค่าใช้จ่ายสูงหากต้องจ่ายเอง

3. การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) และการฉีดอสุจิเข้าไปในมดลูกโดยตรง (IUI) : กระบวนการนี้จะช่วยเพิ่มโอกาสในการมีบุตรได้อย่างมีนัยสำคัญ  แต่ก็ถือเป็นสวัสดิการที่ใช้งบประมาณสูง ดังนั้นหากพิจารณาแล้วว่าเป็นสวัสดิการที่บริหารจัดการไหว ก็จะถือเป็นหนึ่งในสิ่งที่มีค่าที่สุดที่องค์กรสามารถมอบให้กับพนักงาน ทั้งนี้อาจเริ่มจากคนกลุ่มหนึ่งก่อนก็ได้

4. ด้านการบริจาคและรับบริจาคไข่หรือสเปิร์ม : องค์กรสามารถช่วยพนักงานในเรื่องเหล่านี้ โดยอาจมีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำโดยตรง

5. การรับบุตรบุญธรรม (Adoption) : หัวข้อนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก องค์กรสามารถประสานงานให้พนักงานเข้าถึงที่ปรึกษาและกระบวนการทางกฎหมายที่ถูกต้อง บางองค์กรให้สิทธิ์พนักงานลาในจำนวนวันเทียบเท่ากับการมีบุตรเมื่อกระบวนการเสร็จสิ้นเพื่อช่วยในการปรับตัว

การออกแบบ Fertility Benefit มีวิธีการอย่างไร

Evernorth Health Service กล่าวว่าชาว Gen Y หรือมิลเลนเนียลไม่ค่อยอยากสร้างครอบครัว โดยมีถึง 48% ที่เลือกชะลอเรื่องนี้ออกไปเพราะกังวลเรื่องงาน, การศึกษา, ค่าใช้จ่าย และไม่แน่ใจว่าตนมีสวัสดิการจากที่ทำงานหรือมีระบบประกันสุขภาพจากภาครัฐที่ครอบคลุมมากพอ อ้างอิงจากสถิติล่าสุดของ FertilityIQ ที่กล่าวว่าคนที่ไปทำเด็กหลอดแก้วถึง 71% ใช้เงินของตัวเอง ดังนั้นจะดีกว่าไหมหากองค์กรหันมาให้ความสำคัญกับสวัสดิการในส่วนนี้ เพราะไม่ใช่แค่ประโยชน์กับพนักงานเท่านั้น แต่ทุกคนรู้ดีว่าสวัสดิการลักษณะนี้แม้จะได้รับความนิยมมากขึ้นในอนาคตแต่ก็เป็นเรื่องยากสำหรับบริษัทขนาดกลางถึงเล็กเพราะต้องเตรียมงบประมาณมากกว่าที่เคย

การวางแผนที่ถูกต้องจึงเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายควรทำ เพื่อเตรียมพร้อมให้องค์กรสามารถนำเสนอสวัสดิการที่ตรงกับสมัยนิยม และเพิ่มพลังสร้างสรรค์ในการคิดค้นนวัตกรรมต่อไป

การจัดทำ Fertility Benefit ต้องให้ความสำคัญกับหัวข้อต่อไปนี้

Fertility Benefit ต้องช่วยตรวจสอบสถานที่และคุณภาพของบริการ

เมื่อคนเรามีปัญหาสุขภาพ เราก็ไม่มีทางรู้เลยว่าการรักษาแต่ละอย่างต้องใช้เวลาหรือต้องเดินทางไปรักษาที่ใดเป็นพิเศษบ้าง ดังนั้นเราจึงต้องเลือกพื้นที่ที่ง่ายต่อการเดินทางของพนักงานมากที่สุด

อย่างไรก็ตามการนึกถึงความสะดวกสบายเพียงอย่างเดียวนั้นไม่ถูกต้อง เพราะสถานบริการแต่ละแห่งมีคุณภาพต่างกัน เราต้องเลือกให้คุ้มค่าและสามารถช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพนักงานดีขึ้นได้จริงด้วย ขั้นตอนนี้แม้จะใช้เวลามากแค่ไหน แต่ HR ก็ต้องหาข้อมูลเพื่อให้ได้ตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุด สถานที่เหล่านี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามอัตราความสำเร็จของแต่ละเคส เราต้องพิจารณาโดยเอาผลประโยชน์ในภาพรวมเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่มองแค่ผลประโยชน์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงอย่างเดียว

Fertility Benefit ต้องช่วยจัดหาร้านขายยาและสิ่งช่วยเหลืออื่น ๆ

สถานที่ให้ผู้ป่วยรับยามีความสำคัญมากกว่าที่คิดโดยเฉพาะการดูแลสภาวะบางอย่างที่พนักงานต้องเคารพยาอย่างต่อเนื่องไม่สามารถซื้อยาเพียงรอบเดียวและเก็บได้ในระยะยาว แถมยังมียาหลายประเภทที่ไม่สามารถหาซื้อได้ในร้านขายยาทั่วไปต้องอาศัยการสั่งยาจากผู้เชี่ยวชาญหรือแพทย์เฉพาะตัวเท่านั้น ดังนั้นเราควรหาร้านขายยาที่พนักงานเข้าถึงได้สะดวกและมีเภสัชกรคุณภาพคอยแนะนำอย่างเหมาะสม

องค์กรสามารถหาสวัสดิการอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์และเกี่ยวข้องมาสนับสนุนพนักงานเพิ่มเติมก็ได้ เช่นการนั่งสมาธิหรือการให้คำปรึกษาที่จำเป็นโดยไม่ต้องรอให้เกิดความเจ็บป่วยขึ้นก่อนด้วยซ้ำ อนึ่งเภสัชกรที่ดีจะช่วยจัดยาให้เหมาะสมกับพนักงานแต่ละคนแบบเจาะจง (Personalized) ไม่ใช่การจ่ายยาแบบองค์รวมที่แม้จะรักษาได้บ้างแต่ก็ไม่ตรงโจทย์เสียทีเดียว (เช่นหากปวดหัว ก็จะดูว่าปวดหัวแบบไหน เป็นไมเกรน หรือป่วยไข้ เป็นต้น)

Fertility Benefit ต้องช่วยปรับปรุงและหาสวัสดิการใหม่ ๆ เสมอ เพื่อตอบสนองความต้องการของพนักงานให้มากที่สุด (Flexible Benefit)

ในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด ไม่ว่าองค์กรจะเตรียมตัวคิดค้นสวัสดิการเอาไว้มากแค่ไหน แต่ข้อเรียกร้องของพนักงานก็จะยกระดับมากขึ้นตามไปเช่นกัน ดังนั้นองค์กรต้องตรวจสอบกับผู้เชี่ยวชาญหรือทีมแพทย์เสมอว่ามีกลวิธีใดอีกบ้างที่สามารถช่วยดูแลเรื่องการมีบุตรยาก หรือช่วยสร้างครอบครัวของพนักงานให้ดีขึ้นกว่าเดิม

คำว่าสวัสดิการใหม่ ๆ หมายถึงการดูแลและเปิดโอกาสให้พนักงานเข้าถึงการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF), การฉีดน้ำอสุจิเข้าสู่โพรงมดลูกโดยตรง (IUI), การฝากไข่ หรือแม้แต่การดูแลความสัมพันธ์ของคู่รักเพศเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้ชายกับผู้ชายหรือผู้หญิงกับผู้หญิงก็ตาม

กล่าวคือการให้สวัสดิการที่เหมาะสม นอกจากจะให้ประโยชน์ด้านคุณภาพชีวิตแล้ว ยังเป็นกลไกที่องค์กรนำมาใช้โน้มน้าวให้พนักงานเลือกทำงานกับตนแทนที่จะไปอยู่กับบริษัทคู่แข่ง ดังนั้นองค์กรที่ปรับตัวเข้าหาความต้องการของพนักงานมากกว่า ก็มีโอกาสประสบความสำเร็จในสงครามแย่งชิงบุคลากรที่กำลังเกิดขึ้นและทวีความเข้มข้นอยู่ ณ ขณะนี้

Fertility Benefit ต้องช่วยเรื่องการบูรณาการองค์ประกอบต่าง ๆ เพื่อช่วยให้พนักงานเข้าถึงการรักษายิ่งขึ้น (Patient Engagement Model)

การรักษาสภาวะมีบุตรยากถือเป็นเรื่องท้าทายและมีขั้นตอนหลากหลาย การหาตัวช่วยอื่น ๆ เข้ามาประกอบจึงส่งผลดีทั้งกับพนักงานและองค์กร เช่นการให้สิทธิ์เข้างานแบบยืดหยุ่นหรือ WFH เป็นกรณีพิเศษระหว่างอยู่ในกระบวนการรักษา เพื่อช่วยให้พนักงานไม่ต้องกังวลกับการใช้สิทธิ์วันลา หรือการใช้บริการให้คำปรึกษาออนไลน์จากผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะช่วยประหยัดเงินขององค์กรแถมยังช่วยให้พนักงานเข้าถึงรักษาเบื้องต้นได้โดยไม่ต้องเดินทางไปไกล ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็เข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม

องค์กรสามารถสร้างสวัสดิการด้านการดูแลสภาพจิตใจควบคู่กันไป เพราะนอกจากจะเป็นประโยชน์กับผู้ที่มีอาการป่วยแล้ว ยังเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจสำหรับพนักงานคนอื่นในสภาวะปกติอีกด้วย เรียกว่าหากเราเลือกใช้ HR Tech ที่ดี และปรับสวัสดิการเดิมที่มีอยู่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ Fertility Benefit ก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม

เราสามารถตั้งคำถามเหล่านี้เพิ่มเติมเพื่อตรวจสอบความพร้อมขององค์กร

  • หากมีพนักงานเรียกร้องสวัสดิการเพิ่มเติม องค์กรจะสามารถตอบสนองได้หรือไม่ ?
  • สวัสดิการขององค์กรสามารถปรับแต่งให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของพนักงานได้หรือไม่ ?
  • เราสามารถประเมินค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่อาจเกิดขึ้นได้หรือไม่ ?
  • พนักงานสามารถใช้งานสวัสดิการอย่างเต็มประสิทธิภาพดีแล้วหรือไม่ ?

ด้วยความที่ Fertility Benefit เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ละเอียดอ่อนของพนักงานแต่ละคน องค์กจึงควรให้ความสำคัญและใส่ใจเป็นพิเศษ ไม่ใช่แค่ในขั้นตอนการออกแบบสวัสดิการเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการบังคับใช้และติดตามผลในระยะยาว

ตัวอย่าง 5 บริษัทชั้นนำของโลกที่ให้ Fertility Benefit

เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้อ่านเข้าใจมากขึ้น เราขอยกตัวอย่าง Fertility Benefit จากองค์กรชั้นนำของโลกมาเป็นกรณีศึกษาสำหรับ HR ที่อยู่ระหว่างการออกแบบสวัสดิการหรือกำลังปรับแก้นโยบายให้ร่วมสมัยยิ่งขึ้น

Starbucks

สตาร์บัคส์เริ่มปรับสวัสดิการอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2019 และกำหนดให้พนักงานทั้งเก่าและคนที่ทำงานแบบพาร์ทไทม์ได้สิทธิ์ Fertility Benefit อย่างเท่าเทียมกัน โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • 25,000 ดอลลาร์สำหรับการทำเด็กหลอดแก้ว
  • 10,000 ดอลลาร์สำหรับค่ารักษาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำเด็กหลอดแก้ว
  • 10,000 ดอลลาร์สำหรับการรับบุตรบุญธรรมและการอุ้มบุญ

Adobe

เดิมที่อะโดบีสวัสดิการที่สนับสนุนการมีบุตรเบื้องต้นอยู่แล้ว แต่เริ่มปรับให้จริงจังมากขึ้นตามความต้องการของพนักงาน โดยปัจจุบันพวกเขาจะให้เงินสูงถึง 60,000 ดอลลาร์เพื่อสนับสนุนด้านการผสมเทียม, การทำเด็กหลอดแก้ว, การรักษาและปรึกษาในหัวข้อที่เกี่ยวข้อง, การเก็บสเปิร์ม ตัวอ่อน และฝากไข่ รวมถึงการดูแลด้านสุขภาพจิตให้พนักงานทุกคน

Google

นี่คือบริษัทที่ขึ้นชื่อในเรื่องสวัสดิการอยู่แล้ว ดังนั้นสวัสดิการด้านการสร้างครอบครัวของพวกเขาจึงครอบคลุมครบทุกแง่มุม ตั้งแต่ขั้นพื้นฐานอย่างโครงการ Baby Bonding Bucks ที่ให้คุณแม่ลางานได้ 18 สัปดาห์ และให้คุณพ่อลางานได้ 6 สัปดาห์ในกรณีที่มีลูกหรือรับบุตรบุญธรรมมาเลี้ยง โดยให้เงินเดือนตามปกติแถมยังมีโบนัสอีก 500 ดอลลาร์ไว้ซื้อข้าวของที่จำเป็นอีกด้วย

กูเกิลสนับสนุนด้าน Fertility Benefit เสมอ พวกเขาให้มีทีมผู้เชี่ยวชาญที่คอยดูแลเรื่องนี้โดยตรงและคอยให้คำแนะนำว่าพนักงานเหมาะกับการรักษาแบบไหนมากที่สุด โดยมีวงเงินสูงสุดถึง 75,000 ดอลลาร์

Spotify

ถ้าคุณกำลังมองหาองค์กรที่สนับสนุนเรื่องการสร้างครอบครัวอย่างเต็มที่ สปอติฟายคือคำตอบ เพราะที่นี่ให้สิทธิ์ทำเด็กหลอดแก้วและตรวจคัดเลือกพันธุกรรมก่อนการฝังตัว (PGT) แบบไม่จำกัดวงเงิน แถมคนที่มีลูกยังได้สิทธิ์ลาแบบจ่ายเงินนานถึง 6 เดือน

Tesla

เทสล่ารวมมือกับบริษัท Kindbody ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกสวัสดิการ Fertility Benefit โดยตรงเพื่อออกแบบและพัฒนาให้สอดคล้องกับความต้องการของพนักงานเสมอ โดยมีรายละเอียดคือ

  • 40,000 ดอลลาร์สำหรับการทำเด็กหลอดแก้ว, การฉีดอสุจิเข้าสู่มดลูกโดยตรง, การฝากไข่, สเปิร์ม, ตัวอ่อน
  • 20,000 ดอลลาร์สำหรับการรักษาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างครอบครัว
  • 25,000 ดอลลาร์สำหรับการอุ้มบุญ
  • 25,000 ดอลลาร์สำหรับการรับบุตรบุญธรรม

HR มีข้อสงสัยหรือคำถามเกี่ยวกับประเด็นนี้

Q&A HR Board

Q: เพื่อความยุติธรรม สิทธิ์ของพนักงานแต่ละตำแหน่งควรเทียบเท่ากันหรือไม่ ?

ไม่ว่าผู้บริหาร พนักงานประจำ เด็กฝึกงาน หรือพนักงานพาร์ทไทม์ ควรได้รับสิทธิ์และสวัสดิการเท่ากันหรือไม่ อยากได้มุมมอตรงนี้เพื่อเอาไปคิดนโยบายที่เหมาะสมกับองค์กรที่สุด

A: เมื่อบทบาทความรับผิดชอบต่างกัน สวัสดิการก็สามารถต่างกันได้ด้วย

เช่นพนักงานสัญญาจ้างแบบประจำจะได้สิทธิรักษาพยาบาลแบบกลุ่มแผน 2 คือ ผู้ป่วยนอกครั้งละ 2,000 บาท  ส่วนพนักงานสัญญาจ้างแบบกำหนดระยะเวลา อาจได้สิทธิรักษาพยาบาลแบบกลุ่มแผน 3 คือ ผู้ป่วยนอกครั้งละ 800 บาท เป็นต้น ให้อ้างอิงกับสัญญาจ้างเป็นหลัก

,,, (คลิกดูคำตอบทั้งหมด👇)

Q&A HR Board

Fertility Benefit และการมีสวัสดิการที่ดีช่วยองค์กรอย่างไร

ปัจจุบันการมีสวัสดิการที่ดีไม่ได้เป็นเพียงกลไกที่ช่วยสร้างความสุขและความเชื่อมั่นให้กับพนักงานภายในองค์กรเท่านั้น เพราะมันได้กลายเป็นกลยุทธ์สำคัญที่จะช่วยในขั้นตอนสรรหาบุคลากร ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของบริษัทมากที่สุดจนหลายคนกล่าวว่าการลงทุนกับสวัสดิการใหม่ ๆ แม้อาจจะมีราคาสูงขึ้นไปบ้าง แต่ก็คุ้มค่ากว่าการที่ต้องเสียพนักงานหรือเริ่มกระบวนการสรรหาใหม่ตั้งแต่ต้น

อย่าลืมว่าโลกธุรกิจเปลี่ยนไปเสมอ หมายความว่าสวัสดิการที่เคยสร้างชื่อให้กับองค์กรในอดีต ก็อาจกลายเป็นสวัสดิการที่ล้าสมัย ยิ่งเมื่อการเปลี่ยนงานกลายเป็นเรื่องปกติ คนเริ่มก้าวข้ามจากยุคของ The Great Resignation ไปเป็น Boomerang Employees องค์กรที่ปรับตัวเข้าหาความสุขของพนักงานก็จะได้เปรียบเรื่องการแย่งชิงบุคลากรในระยะยาว ยังไม่จำเป็นต้องไปถึงขั้น Fertility Benefit ก็ได้ แต่ขอให้เป็นสวัสดิการที่ให้เกียรติคุณภาพชีวิตของผู้อื่นเป็นหลักก็พอ

หากคุณไม่รู้ว่าควรเลือกสวัสดิการแบบไหนให้ตอบสนองการใช้ชีวิต รวมถึงช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วม (Engagement) และสร้างประสบการณ์ (Experiences) ที่ดีของพนักงาน เราขอให้คุณลองใช้ HREX แพลตฟอร์มแรกของเมืองไทยที่รวบรวมผลิตภัณฑ์และบริการ HR เอาไว้มากกว่า 100 อย่าง ! ไม่ว่าคุณจะเป็นองค์กรเล็กหรือใหญ่ ก็ก้าวไปสู่อีกระดับได้ด้วยเว็บไซต์นี้

บทสรุป

Fertility Benefit คือสวัสดิการที่เข้ามาตอบโจทย์เรื่องที่ละเอียดอ่อนที่สุดในใจของพนักงาน เป็นภาพสะท้อนที่แสดงให้เห็นว่าการทำงานที่ดีนั้นจำเป็นต้องมีจุดเริ่มต้นจากความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานเสียก่อน เพราะท้ายสุดแล้วไม่ว่าจะเป็นธุรกิจใด หรือไม่ว่าเทคโนโลยีจะเติบโตมากแค่ไหน แต่คนก็ยังเป็นองค์ประกอบที่ขาดไปไม่ได้ ทั้งเพื่อแก้ไขปัญหา, เพื่อรับมือกับสถานการณ์ ตลอดจนเพื่อคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้องค์กรเติบโตขึ้นกว่าเดิม

ความต้องการ Fertility Benefit ในสังคมทำงานจะไปกระตุ้นให้องค์กรกลับมาตรวจสอบการดำเนินธุรกิจว่าเรามีการวางแผนเพื่ออนาคตมากแค่ไหน เพราะมีความเป็นไปได้สูงมากว่าสวัสดิการที่พนักงานคาดหวังในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า จะต้องใช้งบประมาณและการบริหารจัดการที่มากกว่าเดิมหลายเท่า องค์กรที่ทำงานไปวัน ๆ ไม่รู้จักปรับตัวก็จะถูกคู่แข่งแซงจนไม่เหลืออำนาจในการแข่งขันอีกต่อไป ดังนั้นก็คงดีไม่น้อยหากคุณจะเริ่มวางแผนเบื้องต้นทันทีหลังอ่านบทความนี้จบลง

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง