พลังหน้าฝน Rainy Day: สภาพอากาศในวันฝนตกช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้อย่างไร ?

HIGHLIGHT

  • สภาพอากาศวันนี้ หน้าฝนเป็นช่วงที่คนวัยทำงานเกลียดที่สุด เพราะสร้างความยากลำบากในการเดินทาง และบรรยากาศที่หมองหม่นเป็นพิเศษ แต่รู้ไหมว่ามีบริษัทชั้นนำมากมายที่ใช้โอกาสนี้พลิกวิกฤตเป็นโอกาสเพื่อช่วยสร้างประสิทธิภาพให้องค์กรได้
  • คนส่วนใหญ่ดูพยากรณ์อากาศ แล้วอาจคิดว่าสภาพอากาศที่ปลอดโปร่งเหมาะกับการทำงานมากที่สุด แต่นักวิจัยพบว่าการทำงานหน้าฝน ท่ามกลางสายฝนช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากกว่า
  • สิ่งที่เกิดขึ้นในหน้าฝนคือเสียงฝนตก ถือเป็นเสียงสีขาว (White Noise) หมายถึงเสียงที่สามารถตัดปัจจัยรบกวนอื่น ๆ ออกไปและช่วยให้สมองจดจ่ออยู่กับงานได้ดีขึ้น
  • HR ควรปรับนโยบายการทำงานให้สอดคล้องกับหน้าฝนฝน ทั้งด้านเวลาการเข้างาน, เครื่องแต่งกาย, ความปลอดภัย รวมถึงสวัสดิการอื่น ๆ ที่ช่วยให้พนักงานใช้ชีวิตง่ายขึ้น
  • HR ควรชี้แจงให้ทุกคนเข้าใจว่าการทำงานตอนฝนตกหน้าฝน อาจได้ผลลัพธ์ไม่เร็วเท่าเดิม แต่ทุกคนควรยอมรับและหาทางแก้ไขโดยเอาความปลอดภัยเป็นที่ตั้ง ไม่เสี่ยงอันตรายเด็ดขาด

พลังหน้าฝน : สภาพอากาศในวันฝนตกช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้อย่างไร ?

สภาพอากาศในฤดูฝนแบบนี้ จะหันไปทางไหนก็เจอแต่คนบ่นว่าเดินทางยาก, บรรยากาศชวนนอน อยากอยู่บ้านมากกว่า ! แต่ในความเป็นจริงเราไม่สามารถลางานได้ตามใจ และการเดินทางไปทำงานในหน้าฝนก็เป็นสิ่งที่ต้องทำตามนโยบายของบริษัทให้ได้ อย่างไรก็ตาม HR ต้องนึกถึงใจเขาใจเรา ไม่เอาเพียงผลประโยชน์เป็นที่ตั้งจนมองข้ามเรื่องสวัสดิภาพของพนักงาน เพราะท้ายสุดหาก HR สามารถดูแลบุคลากรได้ดี ก็จะเกิดความเชื่อมั่นและช่วยให้องค์กรประสบความสำเร็จได้อย่างที่ไม่มีใครคาดคิด

สภาพอากาศ สายฝน และแสงแดด มีทั้งเรื่องที่เป็นประโยชน์และเรื่องที่คนเข้าใจผิด ส่วนจะมีอะไรบ้าง หาคำตอบไปพร้อม ๆ กันได้ที่นี่

สภาพอากาศในวันฝนตกหรือแดดออก มีผลต่ออารมณ์อย่างไร

สภาพอากาศมีผลต่ออารมณ์และพฤติกรรมของคนโดยตรง เราสัมผัสเรื่องนี้ได้ชัดเจนมาก เช่นในวันฝนตกที่ทำให้เรารู้สึกเศร้าหมองกว่าปกติ หรือวันแดดออกที่ทำให้เรารู้สึกสดใสมองเห็นแสงสว่างตามไปด้วย ซึ่งนักจิตวิทยาทั่วโลกได้ศึกษาเรื่องนี้และพบความสัมพันธ์ของสภาพอากาศกับมนุษย์ในหลายแง่มุมที่น่าสนใจ

อย่างงานวิจัยของนิโคลัส เกแก็ง (Nicholas Guéguen) นักจิตวิทยาชาวฝรั่งเศสที่ทดลองจีบผู้หญิงทางโทรศัพท์ในวันที่สภาพอากาศแตกต่างกัน และได้ข้อสรุปว่าการจีบสาวในวันฝนตกมีอัตราสำเร็จอยู่ที่ 14% และการจีบสาวในวันที่อากาศปรอดโปร่งมีอัตราสำเร็จอยู่ที่ 22% 

นอกจากสภาพอากาศแล้ว อุณหภูมิก็เป็นสิ่งที่ส่งผลต่ออารมณ์เช่นกัน กล่าวคือยิ่งอากาศร้อนคนก็ยิ่งอารมณ์เสียง่ายขึ้น อ้างอิงจากการศึกษาข่าวของมหกรรมกีฬาโอลิมปิกในปีค.ศ. 2008 ที่พบว่าข่าวกีฬาที่แข่งขันกลางแจ้งมีการใช้คำศัพท์ในแง่ลบมากกว่ากีฬาที่แข่งในร่มอย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้คุณแมทธิว เคลเลอร์ (Matthew Keller) นักจิตวิทยาชาวอเมริกันกล่าวว่าผลของสภาพอากาศจะส่งผลกับมนุษย์โดยตรงต่อเมื่อบุคคลดังกล่าวอยู่กลางแจ้งมากกว่า 30 นาทีเท่านั้น และอากาศดี ๆ ก็ไม่ได้ทำให้เกิดความสุขเสมอไป เช่น ตอนเราทำงานอย่างเคร่งเครียดในออฟฟิศ แต่พอมองไปนอกหน้าต่างกลับเห็นบรรยากาศที่สวยงาม ใจของเราก็จะเรียกร้องอยากออกไปข้างนอกบ้างทันที และพอทำไม่ได้ด้วยข้อจำกัดของการทำงาน ความต้องการดังกล่าวก็จะเปลี่ยนเป็นความผิดหวังจนนำไปสู่ความรู้สึกในแง่ลบแทน

สภาพอากาศมีผลกับการทำงานอย่างไร

พลังหน้าฝน : สภาพอากาศในวันฝนตกช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้อย่างไร ?

1. สภาพอากาศที่มีแดดส่งผลทั้งดีและร้าย : แสงแดดจะทำให้สมองตื่นตัว และกระตุ้นให้เราอยากทำงานเสร็จไว ๆ เพื่อออกไปใช้ชีวิตตามความต้องการโดยเร็วที่สุด แต่ Quartz รายงานเพิ่มว่ายิ่งอากาศร้อนเท่าไหร่ มนุษย์ก็ยิ่งต้องใช้พลังงานมากขึ้น หมายความว่างานบางอย่างที่เคยทำได้ง่าย ๆ ก็จะยากขึ้นแค่เพราะสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป โดยความยากลำบากนี้จะหายไปในเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ซึ่งเป็นเวลาที่มนุษย์ใช้ปรับตัว

2. สภาพอากาศที่อึมครึมช่วยให้สมองได้พักผ่อน : ไม่แปลกที่เรามักรู้สึกง่วงในวันที่บรรยากาศเป็นแบบนี้ ความคิดว่าอีกไม่นานฝนก็คงตก จะทำให้สมองไม่อยากออกไปเสี่ยงกับความเปียกแฉะข้างนอกและคิดว่าทำงานไปอีกสักนิดดีกว่า ไหน ๆ ก็ไหน ๆ แล้ว !

ทั้งนี้เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดบริษัทควรแน่ใจว่ามีการติดตั้งแสงไฟเพียงพอสำหรับวันที่สภาพอากาศไม่เป็นใจด้วย เพราะหากสถานการณ์ข้างนอกไม่เป็นใจ และสถานการณ์ภายในก็ไม่เอื้อต่อการทำงาน ความรู้สึก “เสียเวลา” จะเกิดขึ้นตามมาทันที

3. สภาพอากาศที่ฝนตกหนัก น้ำท่วม ฟ้าผ่า อาจทำให้คนหมดไฟ : หากพื้นที่ในออฟฟิศไม่มีการเตรียมพร้อมรับมือกับฤดูฝน หรือที่ตั้งของออฟฟิศต้องจมอยู่กับน้ำท่วมจนไม่รู้ว่าจะกลับบ้านอย่างไร สถานการณ์นี้จะแตกต่างจากวันที่ท้องฟ้าอึมครึมทันที เพราะพนักงานจะหันไปคิดเรื่องวิธีกลับบ้านให้ปลอดภัยมากกว่าการทำงานต่อจนเสร็จเพื่อรอเวลา ดังนั้นองค์กรควรคิดหาแนวทางช่วยเหลือพนักงานเพื่อให้พวกเขาคิดว่าฝนตกไม่ใช่เรื่องน่ากลัว พอฝนซาก็กลับบ้านได้แล้ว

นอกจากนี้วันฝนตกยังมีภาษาเรียกแบบไม่เป็นทางการว่า ‘Bed Weather’ (ล้อเลียนกับคำว่า Bad Weather – สภาพอากาศเลวร้าย) คือเป็นสภาพอากาศที่ทำให้เรารู้สึกง่วงนอน ลืมวันลืมคืน เพราะขาดเซโรโทนินจากแสงแดด โดย Career Builder เคยเผยผลสำรวจออกมาว่ามีพนักงานบริษัทถึง 21% ที่ยอมรับว่าแกล้งป่วยเพราะไม่อยากตื่นมาทำงานในวันที่ฝนตก

สภาพอากาศที่เลวร้ายช่วยให้เราทำงานดีขึ้นได้อย่างไร

คนส่วนใหญ่มักมองว่าสภาพอากาศที่เลวร้ายมีแต่จะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง แต่จริง ๆ แล้วมีผลวิจัยจาก Harvard Business School ที่พบว่าการทำงานท่ามกลางสภาพอากาศที่เลวร้ายกลับช่วยให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

เหตุผลคือเมื่ออากาศดี พนักงานจะให้ความสำคัญกับกิจกรรมที่เกิดขึ้นนอกที่ทำงานมากเป็นพิเศษ ขณะที่พอสภาพอากาศไม่เป็นใจ (ฝนตก, หิมะตก) สมองจะทำงานในแง่จิตวิทยาทันทีว่าเราไม่สามารถออกไปทำกิจกรรมข้างนอกได้ และหันมาจดจ่อกับงานตรงหน้ามากกว่า 

การวิจัยใช้วิธีศึกษาจากธนาคารขนาดกลางในประเทศญี่ปุ่น โดยให้พนักงานคัดลอกเอกสารจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งและพบว่าการทำงานในวันฝนตกเสร็จเร็วขึ้นจริง  อย่างไรก็ตามไม่มีอะไรยืนยันได้ว่าพนักงานของเราจะไม่ถูกดึงความสนใจไปจากงานด้วยบริบทอื่น ๆ

ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าแม้การทำงานท่ามกลางสภาพอากาศที่เลวร้ายจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพได้ แต่หากไม่แน่ใจว่าพนักงานมีศักยภาพมากพอไหม ก็ให้สั่งงานในลักษณะที่เน้นความชำนาญและไม่ต้องใช้ความคิดมากนัก โดยหลีกเลี่ยงงานที่มีผลกับความเป็นความตายของบริษัท วิธีนี้จะช่วยให้เราใช้ประโยชน์จากสภาพอากาศได้ดีที่สุด

เสียงฝนตก คือ White Noise เสียงรบกวนอันไพเราะที่ช่วยให้ทำงานดีขึ้น

เคยคิดไหมว่าทำไมบางคนถึงชอบไปทำงานที่คาเฟ่ หรือชอบทำงานท่ามกลางธรรมชาติโดยมีเสียงนก เสียงฝน โปรยปรายในฉากหลังมากกว่านั่งทำงานเงียบ ๆ อยู่ในห้อง ? 

คำตอบก็คือสิ่งที่เรียกว่า “เสียงสีขาว”​ (White Noise) ซึ่งเป็นรูปแบบเสียงที่ช่วยให้เราจดจ่อกับงานได้ดีขึ้น โดยนักวิจัยจาก University of Illinois กล่าวว่าการทำงานท่ามกลางเสียงประมาณ 70 เดซิเบลจะช่วยให้เรามีสมาธิกว่าเดิม 

องค์ประกอบของ White Noise คือการผสมผสานของเสียงทุกรูปแบบทั้งสูง กลาง ต่ำ ซึ่งหาฟังได้ทั่วไปในธรรมชาติ เช่นเสียงคลื่น, เสียงฝน, เสียงผืนป่า, เสียงถ่านไหม้, เสียงโทรทัศน์จากที่ไกล, เสียงน้ำเดือด รวมถึงเสียงฝน และ เสียงรถยนต์ที่แล่นห่างไปประมาณ 10 เมตร เป็นต้น 

White Noise ทำงานอย่างไร ? เราอยากให้ทุกคนนึกถึงวันที่เรานั่งอยู่ในออฟฟิศกับเพื่อนร่วมงาน 2-3 คน และได้ยินเสียงทั้งคู่พูดคุยกันตลอดเวลาจนเริ่มอารมณ์เสีย เสียงพูดคุยเหล่านี้ถือเป็นเสียงรบกวน (Disturbing Sound) แม้จะเป็นการพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องงานก็ตาม 

จากนั้นให้คิดต่อว่าเกิดฝนตกหนักอยู่ที่ด้านนอก และเสียงฝนได้เข้ามาแทรกบทสนทนาดังกล่าวและค่อย ๆ เปลี่ยนเสียงรบกวนให้กลายเป็นเสียงบรรยากาศ (Ambient Sound) ที่แค่ได้ยินและผ่านไปเราจึงสามารถโฟกัสกับงานตรงหน้าได้ดีกว่าเดิม ยิ่งในโลกหลังโควิด-19 ที่ทุกคนใช้ชีวิตอยู่บนโลกออนไลน์อันเต็มไปด้วยสื่อล่อตาล่อใจ White Noise ได้กลายเป็นสิ่งที่พนักงานออฟฟิศขาดไม่ได้ไปแล้ว

HR มีข้อสงสัยหรือคำถามเกี่ยวกับประเด็นนี้

Q&A HR Board

Q: ขอคำแนะนำเรื่องการวางแผนเวลาเข้างาน ในช่วงที่สถานการณ์โควิดยังไม่แน่นอน

ตอนนี้การทำเวลาเข้างานแบบ Flexible Time ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมาก แต่ได้ยินมาว่าในฐานะ HR เราจำเป็นต้องดำเนินการเรื่องเอกสารบางอย่างเพื่อให้พนักงานรับทราบและมีการเซ็นยินยอมด้วย เลยอยากทราบว่ามันเกี่ยวข้องกับกฎหมายตัวไหน หรือมีรายละเอียดส่วนใดที่ต้องระมัดระวังบ้าง

A: ปัจจุบันการทำ Flexible Time เหมาะสมมาก และองค์กรควรนำมาใช้

การปรับเวลาการทำงาน Flexible Time เป็นวิธีที่มีการทำมานานแล้วในหลาย ๆ องค์กร ดังนั้นไม่ผิดกฎหมาย แต่ต้องมีการประกาศรายละเอียด เงื่อนไขการทำงาน เงื่อนไขการวัดประสิทธิภาพให้ชัดเจน โดยแบ่งไปเลยว่าตำแหน่งใดบ้างที่เลือกการทำงานแบบ Flexible Time ได้ การปรับตัวขององค์กรเป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ หากไม่ต้องการตามหลังผู้อื่น

,,, (คลิกดูคำตอบทั้งหมด👇)

Q&A HR Board

แค่นึกถึงสภาพอากาศดี ๆ ก็ส่งผลเสียได้เช่นกัน

พลังหน้าฝน : สภาพอากาศในวันฝนตกช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้อย่างไร ?

ไม่ใช่แค่สภาพอากาศจริง ๆ เท่านั้นที่ส่งผลกับการทำงาน แต่ภาพถ่าย, เพลง หรืออะไรก็ตามที่ทำให้เราไปนึกถึงสภาพอากาศอีกแบบหนึ่งก็สามารถทำให้เกิดปัญหาตามมาได้เช่นกัน

มีการศึกษาจากมหาวิทยาลัย Harvard ที่ทดลองให้นักศึกษาทำงานในวันที่ฝนตกและแดดออก โดยให้ผู้ร่วมทดลองบางส่วนดูภาพกิจกรรมกลางแจ้ง พร้อมพูดประโยคที่ดึงดูดให้รู้สึกสนใจเป็นพิเศษ และได้ข้อสรุปออกมาว่าคนที่ทำงานในวันแดดออกเสร็จช้าที่สุด ตามมาด้วยกลุ่มที่่ทำงานตอนฝนตกและถูกกระตุ้นด้วยภาพถ่าย โดยกลุ่มที่ทำงานเร็วที่สุดคือกลุ่มที่ทำงานตอนฝนตกและไม่มีปัจจัยอื่นมารบกวน 

แต่หากพนักงานของเราไม่นิ่งพอ การพูดถึงกิจกรรมสนุก ๆ ประเภท “ถ้าฝนไม่ตกนะ เดี๋ยวเราจะไปเที่ยวที่ (…)” เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง คนที่เป็นผู้นำควรพูดอ้อม ๆ หรือพูดหัวข้ออื่นเพื่อปรับความคิดของพนักงานที่ยังติดฝนอยู่ในออฟฟิศมากกว่า

ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าเราควรอยู่ที่ออฟฟิศเพิ่มประมาณ 30 นาทีหลังฝนหยุดตก เพราะสมองยังอยู่ในโหมดที่จดจ่ออยู่กับการทำงาน ข้อดีของเรื่องนี้คือเราจะมีเวลาเหลือมากขึ้นในวันที่อากาศดี และหัวหน้างานก็ต้องให้เกียรติเวลาทำงานของพนักงานอย่างเคร่งครัด

หากเลยเวลางานแล้ว แม้พนักงานจะติดฝนอยู่ในออฟฟิศก็ไม่ควรบังคับให้ทำงานต่อโดยปราศจากความสมัครใจ ควรทำเพียงพูดคุยเรื่องสบาย ๆ หรือเปิดโอกาสให้พนักงานแสดงความเห็นของตนเองออกมามากกว่า 

ทั้งนี้เพราะพนักงานส่วนใหญ่จะระมัดระวังท่าทีเมื่ออยู่ในเวลาทำงาน ไม่กล้าพูดอะไรที่ทำให้ตัวเองรู้สึกไม่ฉลาด แต่การพูดคุยด้วยท่าทีสบาย ๆ หลังเลิกงานจะทำให้องค์กรได้ข้อมูลที่ไม่เคยรู้มาก่อน ช่วยให้ทีมสนิทสนมกันมากขึ้น ส่งผลดีต่อประสิทธิภาพการทำงานในภาพรวม

HR ควรบริหารจัดการบุคลากรในสภาพอากาศหน้าฝนอย่างไร

พลังหน้าฝน : สภาพอากาศในวันฝนตกช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้อย่างไร ?

สภาพอากาศที่เลวร้ายอาจดูเป็นปัญหาสำหรับหลาย ๆ คน แต่รู้ไหมว่าองค์กรสามารถพลิกวิกฤตตรงนี้เป็นโอกาสได้เลย เพราะหาก HR ทำให้พนักงานเห็นว่าองค์กรพร้อมช่วยเหลือพนักงานทุกคนทั้งด้านการเดินทาง, ความปลอดภัย ตลอดจนสวัสดิการอื่น ๆ พนักงานก็จะเชื่อมั่นและอยากอยู่กับองค์กรต่อไปในระยะยาว ถือเป็นแนวทาง Employees Retention ที่มีประสิทธิภาพที่สุดวิธีหนึ่ง

HR สามารถช่วยเหลือพนักงานได้สภาพอากาศหน้าฝนได้อย่างไร

1. HR ต้องเพิ่มสวัสดิการให้พนักงานใช้ชีวิตได้ตามปกติ : สวัสดิการพื้นฐานที่บริษัทสามารถมอบให้กับพนักงานประกอบไปด้วยสวัสดิการด้านการเดินทาง, สวัสดิการด้านการเข้างาน และสวัสดิการด้านการใช้ชีวิตภายในองค์กร กล่าวคือไม่ใช่พนักงานทุกคนที่มีรถยนต์ส่วนตัว

ดังนั้นเมื่อฝนตก พนักงานก็ต้องหาอะไรทำในออฟฟิศเพื่อรอให้การคมนาคมกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง ดังนั้นองค์กรสามารถจัดรถรับ – ส่งจากที่ทำงานไปสู่สถานีขนส่งสาธารณะในช่วงหน้าฝน รวมถึงอนุญาตให้พนักงานทำงานจากที่บ้านและให้มาสายได้หากเกิดเหตุจำเป็นเร่งด่วน

HR ยังต้องประสานงานกับฝ่ายอื่น ๆ ให้เรียบร้อย เช่นออฟฟิศบางแห่งใช้ระบบเครื่องปรับอากาศรวมซึ่งจะตัดการทำงานทันทีเมื่อถึงเวลาเลิกงาน บริษัทควรจัดการตรงนี้เพื่อให้พนักงานสามารถนั่งอยู่ในออฟฟิศต่อได้อย่างสบายใจ ไม่ทำให้พวกเขารู้สึกเป็นส่วนเกินด้วยบริบทของสภาพอากาศที่ไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลย

2. HR ควรเพิ่มสวัสดิการพิเศษให้พนักงาน : แค่ใช้ชีวิตได้ปกติยังไม่พอ แต่องค์กรสามารถใช้ “เวลาติดฝน” ให้เป็นเวลากระชับมิตรระหว่างพนักงานแต่ละแผนก โดยสามารถเปิดอบรมสัมมนาหรือเวิร์คช็อปหลังเลิกงานเพื่อเพิ่มความรู้ให้พนักงาน รวมถึงกิจกรรมอื่น ๆ ที่ช่วยดูแลคุณภาพชีวิต เช่นการเล่นโยคะ, คลาสออกกำลังกาย, คลาสศิลปะ, คลาสทำสมาธิ ฯลฯ

นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างจากบริษัทในสหรัฐอเมริกาที่เริ่มเปิดมินิบาร์ย่อม ๆ ในพื้นที่ส่วนกลาง สอดคล้องกับการวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ที่เผยว่าการดื่้มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่เหมาะสมจะช่วยให้ทำงานได้ดีขึ้น ซึ่ง HR สามารถเริ่มวางแผนด้วยการทำแบบสอบถามกับพนักงานโดยตรง

3. HR ควรให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยของพนักงานที่ทำงานนอกสถานที่มากเป็นพิเศษ : ปกติแล้วเราไม่สามารถหยุดทำงานในช่วงหน้าฝนได้แม้สภาพอากาศจะเลวร้ายแค่ไหน ดังนั้นสิ่งที่ HR ต้องทำก็คือการค้นหาวิธีที่ดีที่สุดมาดูแลความปลอดภัยให้กับพนักงานเสมอ โดยเฉพาะพนักงานที่ทำงานนอกสถานที่ซึ่งเสี่ยงต่ออุบัติเหตุและไข้หวัดมากเป็นพิเศษ ทั้งนี้จุดที่องค์กรต้องให้ความสำคัญประกอบด้วย

  • HR ต้องจัดเตรียมเครื่องป้องกันให้เพียงพอกับการใช้งาน และมีการตรวจเช็คความเรียบร้อยอยู่เสมอ
  • HR ต้องเพิ่มเวลาพักระหว่างวันให้มากขึ้น และจัดเตรียมพื้นที่ในร่มให้เพียงพอต่อพนักงานทุกคน นอกจากนี้ยังควรหาโอกาสให้พนักงานได้เปลี่ยนมาใส่ชุดใหม่ที่แห้ง เพื่อป้องกันความเจ็บป่วย
  • HR ต้องจัดอบรมเรื่องความปลอดภัยให้กับพนักงานทุกคน และมีการซ้อมเป็นระยะ
  • HR ควรมีผู้เชี่ยวชาญที่ดูแลเรื่องการทำงานนอกสถานที่ในสภาพอากาศที่เลวร้ายโดยตรงเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าหากเกิดเหตุฉุกเฉิน รวมถึงเพื่อประสานงานกับทาง HR เพื่อปรับปรุงพัฒนานโยบายให้สอดคล้องกับการทำงานที่สุด
  • HR ต้องทบทวนเป้าหมายให้เหมาะสมอีกครั้ง  เพราะบางครั้งฤดูมรสุมก็มานอกเหนือจากตอนหน้าฝน ดังนั้นหากมีข้อมูลแล้วว่าสภาพอากาศเริ่มเปลี่ยนแปลง HR ต้องประสานงานกับหัวหน้าทีมต่าง ๆ ก่อนว่าประสิทธิภาพการทำงานในช่วงดังกล่าวอาจลดลงตามสมควรจนกว่าสภาพอากาศจะกลับมาเป็นปกติ การที่องค์กรฝืนให้พนักงานทำหน้าที่ด้วยความเสี่ยงแม้อาจผ่านไปด้วยดี แต่ก็ไม่คุ้มหากเกิดอุบัติเหตุร้ายแรง

บทสรุป

หากมองในภาพรวม สภาพอากาศเป็นสิ่งที่เราต้องเจอเป็นประจำทุกปี ดังนั้นไม่ว่าองค์กรจะเจอผลกระทบแบบใด สิ่งสำคัญคือการเรียนรู้และหาทางใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ต่าง ๆ ให้ดีที่สุด ไม่ใช่จมอยู่กับปัญหาจนทำให้ประสิทธิภาพการทำงานต่ำลงกว่าที่ควรจะเป็น 

ประโยชน์ของสายฝน ยังสะท้อนให้เห็นว่าความเชื่อบางอย่างไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องเสมอไป ดังนั้น HR จึงมีหน้าที่หาข้อมูลใหม่ ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดและนำมาประยุกต์ใช้เป็นนโยบายที่เกิดประโยชน์กับองค์กรในลำดับต่อไป 

หากคุณไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรก็สามารถใช้บริการ HREX แพลตฟอร์มที่รวบรวมข้อมูลบริการและผลิตภัณฑ์ HR เอาไว้มากที่สุดในไทย จะเจอกับสถานการณ์ไหน องค์กรของคุณก็ผ่านไปได้อย่างสบาย ๆ แน่นอน !

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง