ไล่ออกอย่างไรไม่ให้รู้สึกผิด ! ปัญหาของเขา แต่ดันเป็นเรื่องเศร้าของ HR

HIGHLIGHT

  • การไล่พนักงานออกเป็นกลไกปกติที่ HR ต้องทำเพื่อสร้างทีมให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ขององค์กรมากที่สุด การปล่อยให้พนักงานที่ไม่สร้างประโยชน์ทำงานไปเรื่อย ๆ คือการใช้งบประมาณสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ
  • แต่การไล่พนักงานออกกลับทำให้ HR ทั่วโลกรู้สึกผิด เพราะต้องรับมือกับความคิดว่าตัวเองทำให้พนักงานที่โดนไล่ออกมีชีวิตที่ยากลำบากขึ้น แต่ผู้เชี่ยวชาญก็มองว่าความรู้สึกแบบนี้คือเรื่องปกติ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่มีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
  • HR ที่เป็นผู้หญิงจะรู้สึกผิดง่ายและนานกว่า HR ผู้ชายถึง 15% โดยใช้เวลาพิจารณานาน 2-3 สัปดาห์กว่าจะตัดสินใจไล่พนักงานออก ต่างจาก HR ผู้ชายที่ใช้เวลาเพียงไม่กี่วันเท่านั้น
  • แม้สาเหตุหลักที่ทำให้ HR รู้สึกผิดคือความกลัวว่าจะทำให้อีกฝ่ายลำบาก แต่ผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่าพนักงานที่โดนไล่ออกไปส่วนใหญ่จะได้งานที่เหมาะสมกับตัวเองมากกว่าเดิมภายในหนึ่งปี แปลว่าการไล่พนักงานออกแม้จะทำให้มีช่วงที่ยากอยู่บ้าง แต่ปลายทางก็คือเรื่องดีแน่นอน
  • HR ต้องคิดว่าเราไม่สามารถทำให้ทุกคนพอใจได้ แต่สิ่งที่ HR ต้องให้ความสำคัญที่สุดก็คือผลประโยชน์ขององค์กร ตราบใดที่การตัดสินใจทุกอย่างตั้งอยู่บนเหตุและผลพร้อมหลักฐานที่ชัดเจน ก็ไม่มีใครต่อว่าเราได้ และการไล่พนักงานออกอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทุกคนเติบโตกว่าเดิม

ไล่ออกอย่างไรไม่ให้รู้สึกผิด ! ปัญหาของเขา แต่ดันเป็นเรื่องเศร้าของ HR

เป็น HR แล้วต้องกล้าตัดสินใจก็จริง แต่ไม่รู้ทำไมเวลาต้องไล่คนออกแล้วถึงรู้สึกผิดอยู่เป็นเดือน ๆ ! บอกเลยว่านี่ไม่ใช่ปัญหาใหม่ เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่เฉพาะกับ HR แต่ยังรวมถึงหัวหน้าทีมและเพื่อนร่วมงานอีกด้วย ดังนั้นการไล่พนักงานออกแต่ละครั้งจึงไม่ได้เกี่ยวข้องแค่คนที่เป็นต้นเรื่อง แต่ HR ต้องให้ความสำคัญกับทุก ๆ แง่มุมของการทำงานเพื่อให้องค์กรสามารถดำเนินต่อไปอย่างมีเสถียรภาพที่สุด

การไล่พนักงานออกแล้วรู้สึกแย่เป็นเรื่องปกติในฐานะของมนุษย์ที่มีชีวิตจิตใจ แต่จะปล่อยให้ตัวเองเป็น HR สายประนีประนอมที่ไม่กล้าตัดสินใจจนเกิดผลเสียต่อองค์กรก็คงไม่ดี ดังนั้นบทความนี้จะมาชวนคิด และหาทางออกร่วมกันว่า HR จะไล่พนักงานออกอย่างไรแบบไม่ต้องมารู้สึกผิดทีหลัง

Contents

การไล่พนักงานออกทำให้ HR รู้สึกผิดเพราะอะไร

คงไม่มีคนปกติที่ไหนจะรู้สึกดีกับการทำให้ชีวิตของอีกฝ่ายแย่ลง แม้จะเกิดจากเงื่อนไขในการทำงานก็ตาม ในเชิงจิตวิทยาอธิบายเรื่องนี้ได้ว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคมจึงไม่อยากทำให้อีกฝ่ายเจ็บปวด เพราะการไล่ออกหมายถึงการทำให้ชีวิตของอีกคนหนึ่งลำบากขึ้น ทั้งเรื่องการเงิน, การหางาน สืบเนื่องไปเรื่อย ๆ ส่วนในแง่ขององค์กรเอง การตัดสินใจไล่พนักงานออกทำให้บริษัทต้องเสียทรัพยากรเงินและเวลา 

ดังนั้นแม้จะเข้าใจว่าพนักงานคนดังกล่าวได้ทำผิดหรือมีผลงานต่ำกว่าเกณฑ์ที่บริษัทตั้งไว้ แต่ภาพแสดงที่พนักงานคนอื่น ๆ ต้องทำงานหนักเพื่อชดเชยการหายไปของพนักงานก็อาจทำให้ HR รู้สึกกดดันว่าเป็นความผิดของตนในการว่าจ้างตั้งแต่ต้น หรือกดดันว่าจะหาคนที่เหมาะสมมาทดแทนโดยไม่ให้ผิดพลาดซ้ำรอยเดิมได้อย่างไร

อีกประเด็นก็คือไม่มีพนักงานคนใดที่นิสัยไม่ดีไปทั้งหมด และบ่อยครั้งที่ HR ต้องไล่พนักงานออกแค่เพราะมีแนวทางขัดแย้งกับบริษัทเท่านั้น เรียกได้ว่าพนักงานที่ถูกไล่ออก, ไม่ผ่านช่วงทดลองงาน, ถูก Lay-Off คือคนที่บริษัทมองเห็นจุดอ่อนมากกว่าจุดดี หรือไม่สามารถนำข้อดีของพนักงานไปใช้ได้อย่างเหมาะสมซึ่งอาจไม่ใช่ความผิดของตัวพนักงานเป็นเพียงกลไกที่ต้องดำเนินไปตามครรลองเท่านั้น เหตุนี้หาก HR มีสภาพจิตใจไม่แข็งแรง การไล่พนักงานออกไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตามย่อมนำมาซึ่งความไม่สบายใจแน่นอน

ทำไม HR ผู้หญิงถึงรู้สึกผิดมากกว่า HR ผู้ชายเมื่อต้องไล่พนักงานออก

บริษัท Paychex เผยว่าจากการสำรวจกับผู้ที่เคยไล่พนักงานออกจำนวนกว่า 1,000 คน พบว่ามีถึง 80% ที่รู้สึกผิด แต่สถิติที่น่าสนมากกว่านั้นก็คือ HR หรือหัวหน้าทีมที่เป็นผู้หญิงมีอัตราความรู้สึกผิดมากกว่าผู้ชายถึง 15% โดยมีสาเหตุจากความกังวลว่าพนักงานคนดังกล่าวจะมีชีวิตอยู่อย่างไรเมื่อกลายเป็นคนว่างงาน Paychex กล่าวเสริมว่าผู้หญิงจะใช้เวลาพิจารณาประมาณ 2-3 สัปดาห์กว่าจะตัดสินใจไล่พนักงานออก ขณะที่ผู้ชายใช้เวลาน้อยกว่า 1 สัปดาห์ด้วยซ้ำ

ส่วนสาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงกังวลเมื่อต้องไล่พนักงานอกก็คือเรื่องที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นมากกว่า เช่น เสียงซุบซิบนินทาของพนักงานคนอื่น ๆ รวมถึงการตอบคำถามพนักงานที่ไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจ ในขณะที่ HR ผู้ชายมักเลือกมองข้ามสิ่งเหล่านี้ไปเลยและเอาเวลาไปโฟกัสกับการหาพนักงานใหม่มากกว่า ซึ่ง Paychex คิดว่าเป็นเพราะผู้หญิงเป็นเพศที่มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น สอดคล้องกับกระแสโลกในปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสภาพจิตใจของคนทำงาน การปลูกฝังเรื่องนี้ทำให้ HR ลำบากใจเมื่อต้องไล่พนักงานออกเพราะมันหมายถึงการทำร้ายจิตใจคนอื่นด้วยมือของตนเอง

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือผู้หญิงมักเอาความคิดตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น เช่น การตั้งคำถามว่า “หากเราเป็นผู้ชาย เราจะตัดสินใจง่ายกว่านี้ไหมนะ” แต่อย่าลืมว่าสิ่งที่ทำให้เรามีอำนาจในการไล่พนักงานออกคือความเป็นหัวหน้าที่ได้รับมาจากความพยายามและการพิสูจน์ตัวเองของเราเช่นกัน ดังนั้นเราจึงต้องตัดสินใจอย่างเด็ดขาด เพราะการไล่ออกเป็นปัจจัยสำคัญของการสร้างทีมให้บรรลุเป้าหมายที่บริษัทตั้งไว้ ผู้นำที่เป็นผู้หญิงจึงต้องบอกตัวเองเสมอว่าการไล่พนักงานออกไม่ได้ทำให้เราเป็นคนเลวร้ายขึ้น ตราบใดที่เราตัดสินใจด้วยเหตุผล มันอาจเป็นเรื่องยากในตอนแรก แต่ในระยะยาวจะดีต่อการบริหารจัดการแน่นอน 

อีกอย่างให้มองว่า “การไล่ออกเป็นขั้นตอนหนึ่งของการว่าจ้าง” เช่นกัน หมายความว่าแม้เราจะพิจารณาผู้สมัครอย่างเต็มที่แล้ว แต่ก็ไม่ใช่ผู้สมัครทุกรายที่จะทำงานร่วมกับเราได้จริง ๆ ดังนั้นการเลือกคนที่ใช่ และไล่คนที่ไม่ชอบจึงเป็นหน้าที่ของผู้นำที่ต้องคัดสรรค์ออกมาอย่างดีที่สุด ไม่ใช่เก็บทุกคนเอาไว้เพื่อเลี่ยงความไม่สบายใจแต่สุดท้ายก็ไม่สามารถสร้างผลงานตามเป้าได้เลย 

ไล่ออกอย่างไรไม่ให้รู้สึกผิด ! ปัญหาของเขา แต่ดันเป็นเรื่องเศร้าของ HR

HR ต้องทำอย่างไรจึงจะไม่รู้สึกผิดเมื่อต้องไล่พนักงานออก

คุณแมตต์ มิเชล (Matt Michel) CEO จากบริษัท Service Roundtable ที่ปรึกษาด้านธุรกิจจากสหรัฐอเมริกา กล่าวว่าหากมองในเชิงจิตวิทยาแล้ว การรู้สึกผิดเมื่อไล่คนออกเป็นกลไกพื้นฐานของมนุษย์ที่มีความเห็นอกเห็นใจระหว่างกัน อย่างไรก็ตามให้เราบิดมุมมองนิดนึงว่า แทนที่จะตีความเรื่องนี้เป็นการไล่ออก ให้คิดว่าเป็นการแก้ไขรากฐานของบริษัทให้แข็งแรงขึ้นเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง วิธีนี้จะช่วยให้เราเปลี่ยนมุมมองเป็นบวกมากขึ้น แต่ถ้าคุณยังมีความรู้สึกผิดหลงเหลืออยู่ การคิดตามหัวข้อเหล่านี้จะช่วยคุณได้แน่นอน

หากไล่พนักงานออกแล้วรู้สึกผิด คุณทำดีแล้ว

ความรู้สึกแย่เมื่อไล่พนักงานออกคือสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นว่าเรายังมีความเป็นมนุษย์ แต่สิ่งที่ต้องเพิ่มเข้าไปก็คือความเป็นมืออาชีพและรับรู้ว่ามันเป็นเรื่องปกติธรรมดาในระบบการทำงานซึ่งแน่นอนว่าเราจะเจ็บปวดน้อยลงเมื่อไล่พนักงานออกมาขึ้นเรื่อย ๆ ตามประสบการณ์ แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ห้ามลืมเรื่องความเห็นอกเห็นใจต่อกันเด็ดขาด ไม่ควรทำอย่างขอไปทีหรือลืมความเห็นอกเห็นใจระหว่างกันไปเด็ดขาด

การไล่พนักงานออกเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนได้พบเส้นทางที่เหมาะกับตัวเอง

เมื่อเราไล่พนักงานออกสักคนหนึ่ง ย่อมหมายถึงการพิจารณาแล้วว่าพนักงานคนนั้นมีศักยภาพไม่ตรงกับที่บริษัทต้องการ หรือในอีกมุมหนึ่งคือองค์กรของเราไม่สามารถใช้ประโยชน์จากพนักงานได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นการแยกย้ายกันไปหาสิ่งที่ดีกว่าจึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมและสามารถนำไปสู่ความสำเร็จได้มากกว่า ทั้งนี้ HR สามารถสังเกตได้เลยว่าพนักงานคนใดทำงานไม่ถึงเป้าหรือมีผลงานตกลงอย่างมีนัยสำคัญจนส่งผลเสียต่อบริษัทบ้าง จากนั้นให้เรียกคุยเป็นการส่วนตัวเพราะพนักงานบางคนอาจไม่สนุกกับการทำงานกับองค์กรแต่ไม่กล้าบอกกับหัวหน้าโดยตรงเลยเลือกทำงานแบบขอไปทีเพื่อรับเงินไปวัน ๆ การไล่พนักงานออกจึงเป็นวิธีช่วยเหลือพนักงานและองค์กรอย่างแท้จริง

การไล่พนักงานออกไม่ใช่จุดจบของพนักงาน

HR ที่รู้สึกผิดมักคิดว่าตัวเองเป็นคนทำลายอนาคตของพนักงานและมองว่าตัวเองกำลังทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แต่จริง ๆ แล้วปัจจุบันเป็นช่วงที่หางานใหม่ได้ง่ายมาก ซึ่งแม้อาจจะไม่ใช่งานที่ถูกใจมากนัก แต่ก็เป็นงานที่เพียงพอกับการมีคุณภาพชีวิตที่ดีแน่นอน นอกจากนี้ยังมีการเปิดเผยว่าพนักงานที่ถูกไล่ออกไปส่วนใหญ่แล้วจะได้งานที่ตรงกับความต้องการของตนเองมากกว่าเดิมภายในหนึ่งปี นั่นแปลว่าต่อให้จะมีช่องโหว่ที่ทำให้รู้สึกเครียดระหว่างหางานอยู่บ้าง แต่ปลายทางของพนักงานที่ถูกไล่ออกก็ยังคงเป็นความสุขเหมือนเดิม

ถ้ารู้สึกไม่สบายใจ ให้เพิ่มสวัสดิการหรือเงินชดเชย

ถ้าทำทุกวิถีทางแล้วแต่ยังรู้สึกแย่ ให้คุยกับบริษัทโดยตรงเลยว่าพนักงานคนที่ออกไปสมควรได้รับเงินหรือสวัสดิการเพิ่มเติมอย่างไร เพราะบริษัทเองก็ต้องใส่ใจความรู้สึกของ HR ด้วย แต่ท้ายสุดแล้วสิ่งสำคัญก็คือการเข้าใจว่าทุกการกระทำของ HR ควรมองเรื่องผลประโยชน์ขององค์กรเป็นหลัก ไม่ควรหวั่นไหวกับการตัดสินใจจนส่งผลกระทบกับการทำงาน เพราะการรับมือทุกสถานการณ์อย่างมืออาชีพก็คือคุณสมบัติของคนที่เป็นผู้นำเช่นกัน

ไล่ออกอย่างไรไม่ให้รู้สึกผิด ! ปัญหาของเขา แต่ดันเป็นเรื่องเศร้าของ HR

การไล่พนักงานออกจะทำให้บรรยากาศในที่ทำงานดีขึ้น

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการทำงานบริษัทต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคนในองค์กร และหากเรามีพนักงานที่ไม่พร้อมหรือเข้ากับคนอื่นไม่ได้ ก็จะส่งผลกระทบต่อการทำงานในส่วนอื่น ๆ ตามไปด้วย ดังนั้นหากเราอยากให้ทุกคนมาทำงานอย่างมีความสุข เราก็ต้องรีบเอาพลังลบออกไป ไม่ว่าจะด้วยการจัดอบรม, การออกใบเตือน หรือแม้แต่การไล่พนักงานออกก็ตาม 

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าโดยปกติแล้วก่อนที่เราจะตัดสินใจไล่พนักงานออกสักคน ลูกทีมคนอื่น ๆ ก็อาจรู้สึกเหลืออดกับพฤติกรรมของพนักงานคนดังกล่าวไปแล้วจนคิดไปว่าบริษัทตัดสินใจไล่ออกช้าเกินไปหรือไม่ ดังนั้นการพิจารณาอย่างรอบคอบและทันเหตุการณ์จึงเป็นวิธีสำคัญในการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในองค์กร

ท้ายสุดต้องเข้าใจว่าการทำงานกับความเป็นเพื่อนมนุษย์ถือเป็นคนละส่วนกัน พนักงานคนที่จะถูกไล่ออกอาจไม่ได้เป็นคนเลวร้ายมากก็ได้ กลับกันเขาอาจเป็นคนที่ใคร ๆ ก็รัก แต่อย่าลืมว่าในแง่ของการทำงานบริษัทแล้ว หน้าที่ของพนักงานที่บริษัทจ้างมาคือการสร้างผลกระกอบการกลับมาให้บริษัทอย่างเหมาะสมที่สุด ดังนั้นหากพนักงานไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ก็ไม่ผิดอะไรหากบริษัทจะไปหาทางเลือกที่ดีกว่า เพราะการเก็บพนักงานที่ไม่มีประโยชน์เอาไว้ถือเป็นการเสียงบประมาณโดยใช่เหตุ 

หากเรารู้สึกผูกพันกับพนักงานและอยากรักษามิตรภาพเอาไว้ ก็ให้บอกข่าวนี้อย่างตรงไปตรงมาและให้เวลาสำหรับหางานใหม่ พยายามทำทุกอย่างในแง่บวกที่สุด รับรองว่าแม้จะเป็นเรื่องยากในตอนแรกแต่จะเป็นประสบการณ์สำคัญให้เราพัฒนาเป็น HR ที่ดีขึ้นได้แน่นอน

HR ควรทำอย่างไรหากไม่กล้าไล่พนักงานออก

หากคุณเป็น HR มือใหม่ที่ต้องไล่พนักงานออกเป็นครั้งแรก คุณสามารถนำวิธีทั้ง 10 ข้อนี้ไปใช้ได้เลย !

ให้เวลาพนักงานปรับปรุงตัวก่อนตัดสินใจไล่ออก

เมื่อเห็นว่าพนักงานมีศักยภาพไม่เท่ากับที่คิดเอาไว้ สิ่งแรกที่ผู้นำต้องทำคือการเรียกคุยอย่างเป็นทางการและให้โอกาสปรับปรุงตัวหรือพิจารณาตัวเองอีกครั้ง วิธีนี้อาจทำให้พนักงานยกระดับการทำงานให้ดีขึ้น หรือตกผลึกได้ว่าตนไม่เหมาะกับงานและตัดสินใจลาออกไปเอง

เตรียมทุกอย่างให้พร้อมก่อนตัดสินใจไล่พนักงานออก

หากพิจารณาอย่างรอบคอบและได้ข้อสรุปว่าควรไล่พนักงานออก สิ่งที่ควรทำก็คือการเตรียมตัวให้พร้อมไม่ว่าจะเป็นคำพูด, เอกสาร และข้อมูลเพื่อให้การเจรจาราบรื่นที่สุด และนอกจากเรื่องปกป้องผลประโยชน์ของบริษัทแล้ว HR ควรเตรียมข้อมูลเรื่องสิทธิประโยชน์ของพนักงานเอาไว้เช่นกัน เพื่อให้พนักงานเห็นว่าเราให้ความสำคัญแต่การตัดสินใจครั้งนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานในเรื่องงานจริง ๆ

เลือกจังหวะเวลาในการไล่พนักงานออกให้เหมาะสม

การไล่พนักงานออกไม่ควรทำในวันศุกร์ เพราะโดยปกติแล้วเมื่อพนักงานโดนไล่ออก สิ่งแรกที่พนักงานจะนึกถึงทันทีก็คือเรื่องการหางานใหม่ แต่เมื่อวันรุ่งขึ้นเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์ ขั้นตอนนี้ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จึงทำให้พนักงานเกิดความเครียดตามมา ทั้่งนี้ควรเรียกคุยในตอนที่งานไม่หนัก เช่นระหว่างพักกินข้าว เป็นต้น

เตรียมตัวในห้องประชุมล่วงหน้าก่อนถึงเวลานัดหมาย

เมื่อถึงวันนัดหมายกับพนักงาน ให้ HR มารอในห้องประชุมล่วงหน้าประมาณ 15 นาทีเพื่อเตรียมตัวและทำใจให้สบายก่อนเริ่มพูดคุย วิธีนี้จะช่วยให้เราผ่อนคลายและจับประเด็นได้ง่ายขึ้น

พูดในแง่การทำงานเท่านั้น ไม่พูดเรื่องส่วนตัว

เมื่อต้องไล่พนักงานออก HR ควรพูดถึงเหตุผลโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงเท่านั้น ไม่เอาเรื่องส่วนตัวมาเป็นปัจจัยในการพูดคุยเด็ดขาด

ปกป้ององค์กรให้ดีที่สุด

การปกป้ององค์กรในที่นี้หมายถึงการศึกษาสัญญาจ้างของพนักงานที่ถูกไล่ออกอย่างละเอียดที่สุด และต้องแน่ใจว่าการพูดคุยของเราตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อกฎหมายที่ถูกต้อง เราต้องบันทึกข้อมูลสำคัญทั้งหมดเอาไว้เป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อให้ตรวจสอบได้อย่างละเอียดที่สุด เพราะหากเกิดการฟ้องร้องขึ้น บริษัทที่ไม่มีเอกสารรับรองอะไรเลยมีโอกาสแพ้คดีสูงกว่าบริษัทที่เก็บข้อมูลสำคัญอย่างละเอียด

อย่าเข้าประชุมคนเดียวเด็ดขาด !

การไล่พนักงานออกเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก และเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าพนักงานดังกล่าวจะมีปฏิกริยาอย่างไรเมื่อทราบเรื่อง มันอาจออกมาในแง่บวกหรือร้ายถึงขั้นทะเลาะวิวาทได้เลยด้วยซ้ำ ดังนั้นผู้แจ้งข่าวควรมี HR หรือผู้เกี่ยวข้องมาร่วมประชุมด้วยอีกอย่างน้อยหนึ่งท่านเพื่อช่วยกันแก้ไขสถานการณ์หรือขอความช่วยเหลือหากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น

อย่าแจ้งข่าวแบบกระทันหัน

การไล่พนักงานออกไม่ควรเป็นเรื่องเซอร์ไพรส์ที่พนักงานไม่เห็นวี่แววมาก่อน เพราะการทำงานทุกอย่างควรมีการสื่อสารภายในทีมถึงข้อดี-ข้อเสียของการทำงานเสมอ ดังนั้นหากพนักงานไม่รู้ว่าสิ่งที่ตนทำขัดแย้งกับความต้องการของบริษัท หรือไม่เคยรู้มาก่อนว่าบริษัทไม่พอใจกับประสิทธิภาพของชิ้นงานที่ออกมา การไล่ออกโดยไม่ทันได้เตรียมตัวเป็นสิ่งที่พนักงานรับไม่ได้และมักนำไปสู่การฟ้องร้องในภายหลัง

ปฏิบัติกับทุกคนอย่างเท่าเทียม

เมื่อมีการไล่พนักงานออกแล้ว สิ่งหนึ่งที่พนักงานจะมองหาทันทีก็คือการหาคำตอบว่าบริษัทปฏิบัติกับพนักงานคนอื่นด้วยมาตรฐานเดียวกันหรือไม่ เช่นหากเราไล่พนักงานออกเพราะมาทำงานสาย 3 ครั้ง แต่บริษัทกลับเมินเฉยเมื่อพนักคนอื่นมาสาย 3 ครั้งเหมือนกัน พฤติกรรมนี้จะทำให้บริษัทขาดความน่าเชื่อถือทันที

พูดอย่างกระชับ ไม่ยืดเยื้อ

การไล่พนักงานออกไม่ใช่เรื่องน่าฟังแม้จะหาคำพูดสวยหรูแค่ไหนมาอธิบายก็ตาม ดังนั้นเมื่อเราต้องไล่พนักงานออก ให้พูดอย่างชัดเจนด้วยเหตุผล และรอรับสถานการณ์หลังจากนั้นอย่างมืออาชีพก็พอ

HR ควรดูแลสภาพจิตใจพนักงานหลังการไล่ออกอย่างไร

การไล่พนักงานออกนั้นส่งผลต่อคนทั้งองค์กร ดังนั้น HR ต้องระมัดระวังในทุก ๆ การกระทำหลังเสร็จสิ้นกระบวนการเพื่อลดความตื่นตระหนกของพนักงานที่ยังอยู่ ตลอดจนเน้นย้ำให้เห็นว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งอยู่บนหลักเหตุและผล ไม่มีใครต้องกังวลตราบใดที่ยังทำหน้าที่อย่างถูกต้องตามแนวทางที่บริษัทวางเอาไว้ ดังนั้นการบริหารหลังไล่พนักงานออกจึงเป็นสิ่งที่ HR มองข้ามไม่ได้เด็ดขาด โดยสามารถทำตามวิธีดังนี้

แจ้งข่าวกับพนักงานคนอื่น ๆ อย่างชัดเจนและรวดเร็วที่สุด

เมื่อมีการไล่พนักงานออก สิ่งแรกที่ HR ต้องทำก็คือการสื่อสารข่าวนี้ออกไปอย่างตรงไปตรงมาและโปร่งใสที่สุด เพื่อให้พนักงานที่ยังอยู่เข้าใจความจำเป็นของบริษัท นอกจากนี้ HR ควรเปิดโอกาสให้พนักงานที่ยังอยู่สอบถามได้ตามความเหมาะสมเพื่อเป็นหลักประกันว่าบริษัทยินดีรับฟังและพนักงานคนอื่นสามารถทำงานต่อไปได้อย่างสบายใจจริง ๆ 

HR สามารถปฏิเสธคำถามบางข้อได้เลยหากเกี่ยวข้องกับด้านกฎหมาย แต่ควรตอบให้ได้ว่าการไล่พนักงานออกครั้งนี้จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อการทำงานของคนอื่น ๆ บ้าง การพูดคุยอย่างตรงไปตรงมายังช่วยลดโอกาสเกิดข่าวลือในที่ทำงานซึ่งถือเป็นรากฐานของความวุ่นวายอีกด้วย

ชี้แจงแผนงานในอนาคต

หลังจากที่บรรยากาศภายในออฟฟิศดีขึ้นแล้ว  ให้ HR หรือหัวหน้าทีมสื่อสารเรื่องวิสัยทัศน์และเป้าหมายในอนาคตขององค์กรออกไปทันที แต่อย่าลืมคำนึงถึงเรื่องจำนวนชิ้นงานของพนักงานแต่ละคนด้วย และหากผู้ที่ถูกไล่ออกไปถืองานไว้ในมือจำนวนมาก คนที่เป็นผู้นำควรชี้แจงได้เลยว่าใครคือคนที่่มารับผิดชอบแทน จากนั้นให้ชี้แจงต่อลูกค้าหรือผู้ที่เกี่ยวข้องทันที

จัดประชุมเพื่อเน้นย้ำถึงกฎเกณฑ์ข้อบังคับของบริษัทอีกครั้ง

เมื่อไล่พนักงานออกไปแล้ว เป็นโอกาสดีที่บริษํทจะจัดอบรมใหม่อีกครั้งเพื่อให้พนักงานแน่ใจว่าตนเองก็รู้ข้อบังคับของบริษัทมากพอจนไม่ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงในการถูกไล่ออกในอนาคต HR สามารถชี้แจงและเปิดให้พนักงานสอบถามสิ่งที่กังวลใจได้เลย 

อย่างไรก็ตามบริษัทควรอัพเดทคู่มือและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เป็นระยะ เพราะกระแสโลกในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก และเมื่อมีการแก้ไขกฎเกณฑ์ใดแล้ว ก็ควรสื่อสารกับพนักงานด้วยช่องทางต่าง ๆ ให้มากที่สุดเพื่อให้แน่ใจว่าพนักงานรับรู้ถึงกฎระเบียบดังกล่าวแล้วจริง ๆ วิธีนี้จะช่วยให้การบังคับใช้กฎขององค์กรศักดิ์สิทธิ์ขึ้น

ชื่นชมพนักงานคนที่ยังอยู่

ในขณะที่บรรยากาศภายในออฟฟิศกำลังแย่ บริษัทสามารถชื่นชมพนักงานที่ยังอยู่ได้โดยไม่ต้องรอให้เกิดขึ้นเฉพาะตอนที่งานสำเร็จแล้วเท่านั้น ต้องเข้าใจก่อนว่างานบางอย่างแม้พนักงานจะทำเต็มที่แล้วแต่ก็อาจออกมาล้มเหลว เช่นลูกค้าเลือกงานของบริษัทอื่น ๆ หรือได้ยอดผู้ชมไม่เป็นไปตามเป้า เป็นต้น ในกรณีเหล่านี้บริษัทสามารถชื่นชมพนักงานที่ทำงานอย่างเต็มที่ได้เลย ให้คิดว่าทุกคนย่อมดีใจเสมอเมื่อถูก “ขอบคุณ” หรือรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่ามากขึ้น ผู้นำควรมีความคิดในหัวเสมอว่า เมื่อเข้าประชุมแต่ละครั้ง ผู้ร่วมประชุมควรออกจากห้องด้วยพลังบวกที่มากที่สุดเท่าที่จะมีได้

พาพนักงานไปเปลี่ยนบรรยากาศดูบ้าง

สุดท้ายไม่ว่าพนักงานคนดังกล่าวจะทำผิดกฎร้ายแรงแค่ไหน แต่บางคนก็อาจมองข้ามข้อผิดพลาดเหล่านั้นและมองในแง่เพื่อนร่วมงานที่หายไปมากกว่า ดังนั้นเราไม่สามารถหยุดเสียงนินทา, ข่าวลือ หรือพลังลบที่จะเกิดขึ้นตามมาได้ทั้งหมด แต่สิ่งที่บริษัททำได้ก็คือการจัดกิจกรรมมาทดแทนเพื่อสร้างพลังบวกแบบเฉียบพลัน ไม่ว่าจะเป็น Company Outing, การรับประทานอาหารร่วมกัน หรือสวัสดิการใหม่ ๆ ที่จะทำให้ทุกคนสนุกสนานยิ่งขึ้น หากหวังว่าทุกอย่างจะดีขึ้นตามกาลเวลาไปเอง ก็มีโอกาสสูงมากที่จะมีพนักงานคนอื่น ๆ ลาออกตามกันไปจนส่งผลเสียต่อบริษัทในระยะยาว

Company Outings : เสียเวลา เปลืองงบ หรือ เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าขององค์กร

บทสรุป

ในฐานะของ HR ต้องยอมรับว่าการไล่พนักงานออกเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และเมื่อองค์กรว่าจ้าง HR มาช่วยบริหารจัดการเรื่องต่าง ๆ อย่างเป็นระบบแล้ว การรู้สึกแย่จนไม่กล้าลงมือทำสิ่งที่ควรจะส่งผลเสียต่อองค์กรและความเชื่อมั่นที่มีต่อตัว HR เอง ดังนั้นหากต้องการหลีกเลี่ยงการไล่พนักงานออกจริง ๆ สิ่งที่ควรโฟกัสไม่ใช่การหนีปัญหาไปเลย แต่เป็นการจัดอบรม, ติดตามผลงาน และวางนโยบายให้ตรงกับวิสัยทัศน์ขององค์กรเพื่อเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุต่างหาก

อีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยเหล่า HR ก็คือการใช้ผลิตภัณฑ์ HR มาช่วยจัดเก็บข้อมูลของพนักงานอย่างเป็นระบบ ทั้งเรื่องสวัสดิการ, เวลาเข้า-ออกงาน เป็นต้น การใช้ตัวช่วยจะทำให้ HR มีเวลาไปใส่ใจรายละเอียดภายในองค์กรมากขึ้น และถ้าไม่รู้ว่าจะเลือกบริการให้เหมาะกับการทำงานอย่างไร เราแนะนำให้ใช้บริการ HR Products & Services แพลตฟอร์มที่รวบรวมผลิตภัณฑ์และบริการ HR เอาไว้มากที่สุดในเมืองไทย รับรองว่าจะตอบโจทย์ทุกความต้องการขององค์กรแน่นอน !

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง