จะของขวัญวันเกิดหรือของขวัญปีใหม่ : เลือกของขวัญอย่างไรให้ถูกใจลูกค้า ลูกทีม และผู้สมัครงาน

HIGHLIGHT

  • การเลือกของขวัญให้ถูกใจลูกค้า พนักงาน หรือผู้สมัครงาน ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องลำบากใจที่เหล่า HR ต้องปวดหัวทุกครั้งเมื่อถึงวันสำคัญต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการหาของขวัญปีใหม่, ของขวัญวันเกิด, ของขวัญวันครบรอบ ฯลฯ แต่รู้ไหมว่าการมอบของขวัญมีผลทางจิตวิทยาที่ช่วยยกระดับความคิดของเราให้ดีขึ้น แถมยังช่วยกระชับความสัมพันธ์กับผู้อื่นซึ่งเป็นประโยชน์โดยตรงต่อการทำธุรกิจ
  • นักจิตวิทยากล่าวว่าการมอบของขวัญเป็นวิธีหนึ่งที่มนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์สังคมใช้เพื่อส่งต่อคุณค่าจากตนเองไปให้ผู้อื่น เป็นภาพสะท้อนของการไม่เห็นแก่ตัว จึงไม่แปลกที่หลายคนจะมีความสุขแค่กับการเป็นผู้ให้และได้เห็นรอยยิ้มดีใจของผู้รับเท่านั้น นอกจากนี้ของขวัญยังเป็นตัวแทนความห่วงใยที่สามารถหักล้างความรู้สึกผิดบางอย่างของผู้ให้ได้อีกด้วย
  • การให้ของขวัญถูกนำมาใช้ในการทำธุรกิจเพื่อแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจระหว่างกัน โดยถือเป็นเครื่องมือที่เอาไว้ส่งเสริมและเน้นย้ำการกระทำให้มีคุณค่ามากขึ้น จึงเหมาะกับการใช้ขอบคุณทั้งลูกค้าและพนักงาน เพราะช่วยสร้างขวัญกำลังใจได้มาก อย่างไรก็ตามผู้ให้ควรศึกษารสนิยมและทัศนคติของผู้รับให้ดี มิฉะนั้นของขวัญที่เรามอบให้จะกลายเป็นความกดดันที่ส่งผลในแง่ลบแทน
  • มี HR Recruitment มากมายที่เลือกมอบของขวัญให้กับผู้สมัครที่ได้สิทธิ์สัมภาษณ์เพื่อเน้นย้ำว่าบริษัทจริงจังกับการพูดคุย และช่วยให้บริษัทโดดเด่นแตกต่างจากตัวเลือกอื่น ๆ ที่ผู้สมัครมีอีกด้วย
  • อย่างไรก็ตามการมอบของขวัญโดยไม่ระวังอาจนำไปสู่การทุจริตคอรัปชั่นได้ หลายบริษัทเช่นหน่วยงานทางการเมืองจึงออกนโยบายไม่รับของขวัญ (No Gift Policy) เพื่อป้องกันปัญหานี้

จะของขวัญวันเกิดหรือของขวัญปีใหม่ : เลือกของขวัญอย่างไรให้ถูกใจลูกค้า ลูกทีม และผู้สมัครงาน

เมื่อถึงวันเกิด, วันปีใหม่, วันครบรอบแต่งงาน หรือวันสำคัญต่าง ๆ สิ่งหนึ่งที่ทุกคนเฝ้ารอนอกเหนือจากคำอวยพรก็คือของขวัญสักชิ้นที่สะท้อนถึงมิตรภาพและความใส่ใจระหว่างกัน เพราะของขวัญที่ดีจะสามารถมอบความสุขให้ทั้งผู้ให้และผู้รับ จึงไม่แปลกที่การมอบของขวัญจะเป็นอีกหนึ่งกลไกที่ถูกนำมาใช้ในกับธุรกิจทั้งเพื่อเป็นสวัสดิการ, ตอบแทนลูกค้า รวมถึงช่วยโน้มน้าวในเชิงจิตวิทยาเมื่อเกิดการแข่งขันเพื่อว่าจ้างพนักงานใหม่ เป็นต้น

อย่างไรก็ตามปฏิเสธไม่ได้ว่าของขวัญบางอย่างที่เราได้จากที่ทำงานอาจไม่ถูกใจอย่างที่หวัง อาจเพราะเป็นสิ่งที่หาซื้อได้ทั่วไป, ซ้ำซ้อนกับของขวัญในปีก่อน ๆ หรือมีสไตล์การออกแบบที่ล้าสมัย ทั้งนี้การมอบของขวัญต้องทำอย่างระมัดระวัง เพราะอาจถูกมองเป็นเครื่องมือของการคอรัปชั่นหรือเลือกปฏิบัติ อย่างที่หลายบริษัทมีนโยบายไม่รับของขวัญ (No Gift Policy) เพื่อป้องกันปัญหานี้ตั้งแต่ต้น หมายความว่ากลยุทธ์ในการเลือกและมอบของขวัญเป็นสิ่งที่ทุกคนควรรู้เพื่อให้การลงทุนของบริษัทคุ้มค่าที่สุดนั่นเอง

ของขวัญมีประโยชน์กับมนุษย์อย่างไร ทำไมเราถึงชอบของขวัญ

ศาสตร์จารย์เดวิน เอ ไบรด์ (Devin A. Byrd) ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมศทสตร์จาก South University-Savannah สหรัฐอเมริกากล่าวว่า การมอบของขวัญทำให้เกิดความสุขแบบองค์รวม และไม่ใช่แค่เฉพาะการเป็นผู้รับเท่านั้น แต่จะรู้สึกดีตั้งแต่ขั้นตอนการเลือกซื้อของขวัญแล้ว เพราะในเชิงจิตวิทยาการมอบของขวัญเป็นการแสดงความไม่เห็นแก่ตัว และการมอบของขวัญให้ผู้อื่นโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยพัฒนาสุขภาพจิตของเราเอง ดังนั้นจึงไม่แปลกที่หลายคนจะมีความสุขแค่กับการเป็นผู้ให้และคอยดูปฏิกริยาของผู้รับเท่านั้น

ในประเด็นนี้ศาสตราจารย์ดาร์ลีน ซิลเวอร์เนล (Darlene Silvernail) อาจารย์ด้านจิตวิทยาจาก South University-West Palm Beach กล่าวเสริมว่า การมอบของขวัญจะทำให้รู้สึกดีทั้งภายนอกและภายใน เพราะมันเป็นดั่งตัวแทนความรู้สึกที่แสดงถึงการยอมรับซึ่งกันและกัน รวมถึงความรู้สึกส่วนตัวบางอย่างที่เข้าใจเฉพาะผู้ให้และผู้รับ นอกจากนี้การมอบของขวัญยังถูกยกให้เป็นวิธีเยียวยาความรู้สึกผิด ยกตัวอย่างเช่นหากเราอยู่ห่างไกลกับคนรัก การส่งของขวัญที่ตั้งใจเลือกให้เป็นพิเศษก็จะช่วยลบความรู้สึกเสียใจที่เราไม่สามารถไปอยู่ใกล้ ๆ ได้อีกด้วย

แต่ของขวัญอาจไม่ได้นำมาซึ่งความสุขเสมอไปหากผู้รับรู้สึกว่ามัน “ถูกเกินไป” หรือ “แพงเกินไป” ยกตัวอย่างเช่นหากได้ของที่ต่ำกว่าความคาดหวัง ผู้รับอาจคิดว่าผู้ให้ใส่ใจไม่มากพอ ให้ความสำคัญไม่มากพอ ในมุมกลับกันหากได้รับของขวัญที่เกินความคาดหมายเกินไป เช่นการซื้อของหรูหราให้พนักงานเซลส์ที่เพิ่งเข้ามาไม่นานและเพิ่งขายได้เป็นครั้งแรก ก็อาจถูกมองเป็นความกดดันที่ไปสร้างความอึดอัดแทน ดังนั้นการเลือกของขวัญแต่ละชิ้นต้องดูองค์ประกอบให้รอบด้าน ไม่ใช่ใส่ใจแค่ความรู้สึก “อยากจะให้” ของตนเพียงอย่างเดียว

การให้ของขวัญมีประโยชน์กับธุรกิจอย่างไร

องค์ประกอบสำคัญในการทำธุรกิจทุกประเภทคือ ลูกค้าที่เหนียวแน่น, ศักยภาพของพนักงาน และความสัมพันธ์กับพันธมิตรในแวดวงเดียวกัน ซึ่งสิ่งที่จะช่วยให้องค์ประกอบเหล่านี้เหนียวแน่นที่สุดก็คือของขวัญองค์กร หรือ Corporate Gift ส่วนจะมีประโยชน์กับธุรกิจอย่างไรบ้างนั้น เราจะเล่าให้ฟัง

1. ช่วยให้พนักงานมีความสุขขึ้น : การทำงานโดยทั่วไปมักมีความเครียดแฝงอยู่เสมอ ดังนั้นการให้ของขวัญหรือของตอบแทนพนักงานเล็ก ๆ น้อย ๆ จะช่วยเป็นกำลังใจให้พนักงานผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้ ซึ่งเมื่อพนักงานรู้สึกถึงความเป็นทีมเดียวกันแล้ว ก็จะทำให้เกิด Sense of Ownership ตามมาด้วย

2. ใช้เพื่อแสดงความขอบคุณ : แม้จะเป็นหน้าที่ตาม Job Description แต่พนักงานทุกคนย่อมต้องการคำชมหรือคำขอบคุณจากหัวหน้าเช่นกัน ซึ่งการมอบของขวัญตามโอกาสสำคัญหรือเมื่อพนักงานทำงานสำเร็จก็เป็นทางเลือกที่ดีเช่นกัน ทั้งนี้การให้ความสำคัญกับพนักงานอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ยังสามารถช่วยในเรื่อง Employee Retention ได้อีกด้วย

3. ช่วยสร้างชื่อเสียงในแง่บวกให้กับบริษัท : มีธุรกิจมากมายที่เติบโตด้วยคำชมในแง่บวกแบบปากต่อปาก หมายความว่ายิ่งมีคนพูดถึงบริษัทของเราดีเท่าไหร่ ก็มีโอกาสที่เราจะได้รับโอกาสทางธุรกิจมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งการมอบของขวัญแสดงความขอบคุณเป็นประจำจะช่วยให้เราโดดเด่นแต่งต่างจากบริษัทอื่น และเป็นตัวเลือกแรก ๆ แน่นอนหากลูกค้าของเราต้องการแนะนำบริษัทสักแห่ง เคล็ดลับสำคัญที่จะช่วยให้ลูกค้าประทับใจมากขึ้นก็คือการสังเกตรสนิยมความชอบให้ได้อย่างละเอียดที่สุด เพื่อซื้อของขวัญที่ตรงกับโจทย์นั้น ๆ วิธีนี้จะทำให้ลูกค้าประทับใจและเชื่อมั่นว่าบริษัทของเราสามารถทำงานโดยใส่ใจรายละเอียดแม้เพียงเล็กน้อยได้จริง

4. ช่วยรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าและพันธมิตร : เพราะการทำธุรกิจต้องมีการปรับตัวเสมอ จึงไม่แปลกหากจะมีลูกค้าบางรายที่เราทำหล่นหายระหว่างทาง อาจเพราะรูปแบบธุรกิจที่เปลี่ยนไป หรือการขยับขยายบริษัทที่ทำให้ต้องหันไปหาลูกค้าที่ใหญ่ขึ้น อย่างไรก็ตามในโลกธุรกิจการรักษาความสัมพันธ์ถือเป็นปัจจัยสำคัญลำดับต้น ๆ ดังนั้นเราไม่ควรเอาแต่สร้างลูกค้าใหม่โดยละเลยกลุ่มลูกค้าเก่าที่เคยร่วมงานกันมาเด็ดขาด เหตุนี้ในทุกวันสำคัญอย่างน้อยปีละครั้ง เราควรส่งของขวัญที่ระลึกไปหาลูกค้าหรือแม้แต่พันธมิตรทั้งหมดเพื่อตอกย้ำว่า “ต่อให้เราไม่ค่อยได้ร่วมกันในช่วงหลัง ๆ แต่เราก็ยังนึกถึงคุณเสมอ” วิธีนี้จะแสดงถึงความเป็นมืออาชีพของบริษัทและช่วยให้การกลับมาร่วมงานกันเป็นเรื่องง่ายขึ้นเมื่อมีโอกาสที่เหมาะสมในอนาคต

5. ช่วยให้บริษัทมีคะแนนรีวิวที่ดี : มีผลวิจัยรายงานว่ามีคนถึง 72% ให้ความสำคัญกับคะแนนรีวิวที่ดี ซึ่งหากบริษัทของคุณเป็นธุรกิจที่เปิดให้ลูกค้าระบุคะแนนความพึงพอใจได้ล่ะก็ การให้ของขวัญก็ถือเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการสร้างคะแนนรีวิวในแง่บวก โดยเฉพาะถ้าของขวัญนั้นสร้างความประหลาดใจและประทับใจจนถูกนำไปพูดถึงบนสื่อโซเชียลของผู้รับ เชื่อสิว่าการลงทุนค่าของขวัญเพียงนิดเดียวอาจให้ประโยชน์ด้านการประชาสัมพันธ์ได้ดีกว่าการซื้อโฆษณาแพง ๆ เพื่อประชาสัมพันธ์องค์กรด้วยซ้ำ

HR มีข้อสงสัยหรือคำถามเกี่ยวกับประเด็นนี้

Q&A HR Board

Q: นายจ้างจะสื่อสารอย่างจริงใจเพื่อซื้อใจพนักงานได้อย่างไร

เราจะเห็นกันว่าเวลาที่เรามีการวางแผนเรื่อง employee engagement การทำให้พนักงานมีความสุข ทุ่มเท อยากทำงาน เราก็จะพูดถึงหลักการที่ฝรั่งคิดค้นขึ้นมา โดยมีตัวอย่างบริษัทดังอย่างกูเกิล, เน็ตฟลิกซ์, อเมซอน, เป็นต้น แต่ผมไม่อยากแค่ลอกตำราฝรั่งที่อาจจะประยุกต์ใช้ยากกับวัฒนธรรมการทำงานในสังคมไทยของเรา พอจะมีแนวทางแนะนำไหมครับ

A: ขอตอบแบบอ้างอิงทฤษฎีทางจิตวิทยาของ มาสโลว์ เรื่องความต้องการ 5 ขั้นของมนุษย์

โดยบันได 5 ขั้นของ มาสโลว์ ประกอบด้วย 1. ความต้องการทางร่างกาย 2.ความมั่นคงหรือความปลอดภัย 3.ความผูกพันหรือการยอมรับการเป็นส่วนหนึ่งของหมู่คณะ 4.การยกย่องหรือสถานะในสังคม 5.ความสำเร็จในชีวิต

ในการบอกพนักงานให้ทราบถึงความใส่ของบริษัทกับพนักงาน ต้องบอกว่า ความต้องการพื้นฐานของพนักงานทุกคนไม่เท่ากันครับ หากเราต้องการแสดงความจริงใจกับพนักงาน อาจจะเข้าไปดูแลสภาพความเป็นอยู่พนักงานขณะทำงาน และอาจต้องทำมากกว่าการสื่อสาร ซึ่งหากผู้ถามอยู่ในฐานะผู้ประกอบการ อาจไม่มีเวลาในการเข้าไปอยู่กับพนักงานทุกคนได้ ก็ต้องพัฒนาผู้จัดการและหัวหน้างาน ในการช่วยกันดูแลทุกข์พนักงานให้รู้สึก ว่าบริษัทใส่ใจพวกเค้า และเมื่อมีการเข้ามาปรึกษาปัญหา ให้มองว่ามันเป็นปัญหา แล้วควรจะช่วยกันแก้ไข หรือหากมาเพื่อระบายก็ควรจะรับฟังพวกเค้า ก็ช่วยให้พนักงานรู้สึก ว่ามีคนรับฟังเค้าซึ่งจะช่วยให้เค้ารู้สึกว่าเค้าไม่ใช่แค่เครื่องจักรของบริษัทแน่นอนครับ

,,, (คลิกดูคำตอบทั้งหมด👇)

การเลือกของขวัญในนามบริษัทให้ถูกใจผู้รับ มีวิธีการอย่างไร

อย่างที่กล่าวไปในหัวข้อก่อนหน้าว่าการเลือกซื้อของขวัญนอกเหนือจากจะช่วยให้ลูกค้า, พนักงาน หรือพันธมิตรทางการตลาดพึงพอใจแล้ว เราควรคำนึงถึงรายละเอียดอื่น ๆ ควบคู่ไปเช่นกัน เพราะหากบริษัทต้องจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อเอาใจคนเพียงไม่กี่คนแล้ว ก็อาจเป็นผลเสียต่อการบริหารจัดการงบประมาณ ตลอดจนทำให้พนักงานบางท่านรู้สึกถึงความไม่เท่าเทียมก็เป็นได้ ดังนั้นเพื่อวางโครงสร้างในการเลือกซื้อของขวัญ เราสามารถแบ่งขั้นตอนเป็นหัวข้อย่อย ๆ ได้ดังนี้

1. กำหนดราคาที่ต้องการ : ก่อนที่จะคิดว่าควรซื้ออะไร สิ่งแรกที่ต้องคำนึงก็คือราคาของขวัญที่บริษัทสามารถจ่ายไหว ที่สำคัญบริษัทต้องคำนวนให้เห็นภาพรวมอย่างชัดเจนว่าต้องซื้อของขวัญทั้งหมดกี่ชิ้นแล้วค่อยจัดลำดับความสำคัญออกมาตามบริบทของผู้รับเพื่อให้กระทบต่อโครงสร้างทางการเงินของบริษัทน้อยที่สุด และต้องเข้าใจว่าไม่ใช่แค่ของหรูหราราคาแพงเท่านั้นที่สามารถสร้างความประทับใจให้กับผู้รับได้ ตราบใดที่เราศึกษาลูกค้าอย่างละเอียดและตั้งใจมอบของขวัญดังกล่าวให้จริง ๆ

2. วิเคราะห์ความต้องการให้ชัดเจน : หลังจากที่เรากำหนดงบประมาณได้แล้ว สิ่งสำคัญที่สุดก็คือการหาคำตอบให้ได้ว่าของขวัญที่น่าจะตอบโจทย์ที่สุดคืออะไร อาจเป็นของที่กำลังเป็นกระแส หรือของยอดนิยมในสายงานของผู้รับก็ได้ ทั้งนี้หากเรามีงบประมาณที่จำกัดก็ควรหาของกลาง ๆ ที่ทุกคนสามารถใช้งานได้จริง

3. หาบริษัทรับทำของขวัญ : หากเราต้องทำของขวัญจำนวนมาก การใช้บริการบริษัทรับทำของชำร่วยถือเป็นทางเลือกที่ดี เพราะสามารถช่วยควบคุมงบประมาณ, มีตัวเลือกเยอะ และสามารถปรับแต่ง (Customize) ให้มีเอกลักษณ์ของบริษัทแฝงอยู่ ซึ่งหากเราสามารถบริหารเงินค่าของขวัญได้อย่างเคร่งครัด ก็จะช่วยให้มีงบประมาณเพียงพอสำหรับการเลือกซื้อสินค้าราคาแพงกว่า (Luxury Gift) ให้กับลูกค้า VIP ด้วย

4. ตรวจเช็คคุณภาพ : แม้คุณจะได้เห็นสินค้าตัวอย่าง (Mock-up) เรียบร้อยแล้ว แต่อย่าลืมว่าสินค้าตัวอย่างกับสินค้าจริงไม่มีทางออกมาเหมือนกันแน่นอน ดังนั้นหากคุณเลือกใช้บริษัทรับทำของชำร่วย คุณก็ควรตรวจเช็คความสมบูรณ์ของโลโก้บริษัท รวมถึงชื่อลูกค้า (หากมี) ให้เรียบร้อยก่อนตัดสินใจสั่งผลิตล็อตใหญ่เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าของบริษัท ไม่ใช่ความผิดพลาดที่เสียเงินแต่นำไปใช้ประโยชน์ไม่ได้เลย

5. วางแผนเรื่องการมอบของขวัญ : นี่คือจุดที่บริษัทส่วนใหญ่ทำพลาด เพราะบางคนอาจมองว่าเมื่อสินค้ามีราคาสูง ผู้รับก็ต้องมีความสุขแน่นอน แต่ความจริงนั้นการมอบของขวัญให้ด้วยตัวเองคือวิธีที่ดีที่สุด ยกตัวอย่างเช่นหากผู้รับชื่นชอบของขวัญมาก ๆ การที่เราสามารถเน้นย้ำความรู้สึกดีบางอย่างเข้าไปแบบ Real-Time ก็จะยิ่งสร้างความประทับใจมากขึ้น หรือหากลูกค้าไม่ชอบของขวัญ เราก็จะมีโอกาสแก้ต่างหรือหาเหตุผลดี ๆ เพื่อให้ผู้รับพอใจที่สุด ดังนั้นค่าใช้จ่ายในการเดินทางจึงควรนำมารวมในงบประมาณของการซื้อของขวัญบริษัทเช่นกัน

จะของขวัญวันเกิดหรือของขวัญปีใหม่ : เลือกของขวัญอย่างไรให้ถูกใจลูกค้า ลูกทีม และผู้สมัครงาน

การเลือกของขวัญให้ลูกค้า ต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง

1. รสนิยมของลูกค้า : เช่นเดียวกับที่กล่าวไว้ก่อนหน้าว่าหน้าที่ของการให้ของขวัญคือการแสดงความใส่ใจ และการตอบสนองความต้องการของลูกค้าก็เป็นเคล็ดลับง่าย ๆ ที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้น ดังนั้นเราต้องหาคำตอบให้ได้ว่าลูกค้าชอบอะไร หรืออย่างน้อยก็ต้องรู้ว่าลูกค้าไม่ชอบอะไร เพื่อทำให้ผู้รับเห็นว่าเราจริงจังกับการเลือกของขวัญชิ้นนี้จริง ๆ

2. การให้ของขวัญอย่างต่อเนื่อง : ปกติแล้วคนจะนิยมให้ของขวัญในวันสำคัญเป็นหลัก แต่จะดีไหมหากเราสามารถให้ของขวัญเป็นประจำ ให้ผู้รับนึกถึงเราตลอดเวลา และไม่ไปกดดันจนเกินควร สิ่งเหล่านี้สามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยการสมัครสมาชิก (Subscription) เป็นของขวัญให้ลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกนิตยสารออนไลน์, Streaming Service, อุปกรณ์ในชีวิตประจำวัน หรือแม้แต่อาหารและวัตถุดิบ เป็นต้น วิธีนี้ใช้ต้นทุนไม่มากแต่มีประสิทธิภาพสูง

3. ให้ในสิ่งที่ลูกค้าคาดไม่ถึง : วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือการใส่ใจชีวิตนอกที่ทำงานของลูกค้า และให้ของขวัญในวันเหล่านั้น เช่นวันรับปริญญาของลูก, วันฉลองแชมป์ของทีมฟุตบอลสุดโปรด เป็นต้น วิธีนี้จะทำให้ลูกค้ามองว่าตนมีความสำคัญกับเรา และไม่ได้คบหากันเพียงเพราะผลประโยชน์ในการทำงานเท่านั้น

4. ไม่เลือกของขวัญที่แพงเกินไป : แน่นอนว่าของขวัญราคาแพงจะทำให้ผู้รับตื่นตาตื่นใจ แต่ในเชิงธุรกิจแล้วหากเราจะซื้อของขวัญสักชิ้นหนึ่ง เราควรให้ความสำคัญกับงบประมาณและจัดลำดับความสำคัญของลูกค้าให้ชัดเจนว่าคู่ควรกับรายจ่ายที่ลงทุนไปหรือไม่ เพราะของที่แพงเกินไปอาจทำให้ลูกค้าเห็นว่าเรามีงบประมาณบริษัทอยู่มากจนนำไปสู่การต่อรองราคาในภายหลัง นอกจากนี้เราเชื่อว่าทุกบริษัทคงอยากให้ลูกค้าอยู่กับเราเพราะคุณค่าในการทำงานมากกว่าอยู่เพราะชอบของขวัญราคาแพงอย่างแน่นอน

5. ให้สิ่งที่ใช้งานได้จริง : ยกตัวอย่างเช่นหากลูกค้าเป็นคนชอบเดินทาง เราอาจซื้อหมอนหนุนคอหรือกระเป๋าน่ารัก ๆ ไปให้ แต่ทั้งนี้จุดบอดที่หลายคนทำพลาดก็คือ เมื่อเรารู้ว่าลูกค้าชอบทำกิจกรรมอะไร เรามักจะซื้อของที่เกี่ยวข้องให้ทันทีโดยลืมนึกว่าหากเขาชอบกิจกรรมดังกล่าวขนาดนั้น ก็เป็นไปได้สูงว่าเขาจะสิ่งของในรูปแบบเดียวกันเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นเราควรหาสิ่งของที่มีความแตกต่างจากเดิม เช่นผ่านการออกแบบโดยดีไซเนอร์ชื่อดัง, เป็นรุ่นใหม่ที่สะดวกสบายขึ้น หรืออะไรก็ได้ที่ทำให้ผู้รับรู้สึกว่าแม้จะมีของเดิมอยู่แล้วแต่ของใหม่ก็มีประโยชน์ดีไม่แพ้กัน

การเลือกของขวัญให้พนักงาน ต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง

1.ให้ของที่ตั้งใจเลือกให้ผู้รับโดยเฉพาะ : สิ่งที่หลายบริษัททำพลาดก็คือการให้ของขวัญพนักงานด้วยของชิ้นเดียวกับที่มอบให้ลูกค้าทั่วไปซึ่งไม่ได้มีความสำคัญเป็นพิเศษ ซึ่งแน่นอนว่าแม้บริษัทจะให้ของขวัญนี้กับพนักงานเพื่อแสดงความขอบคุณ แต่ความรู้สึกและบริบทที่เกิดขึ้นก็สามารถพาให้คิดไปว่าบริษัทไม่ได้ใส่ใจกับการให้ของขวัญเท่าไรนัก ดังนั้นการเลือกของขวัญให้พนักงานแม้จะเป็นระดับล่างที่สุดก็ควรเลือกอย่างใส่ใจและให้เกียรติผู้รับเสมอ

2. ไม่ต้องหวือหวามากนัก เน้นของที่เป็นประโยชน์ดีกว่า : บางครั้งบริษัทอาจติดเล่นกับพนักงานหรืออยากสร้างบรรยากาศด้วยของขวัญสนุก ๆ แต่แท้จริงแล้วความสนุกเหล่านั้นจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น บริษัทควรมอบของขวัญที่ใช้งานได้จริงมากกว่าเช่นกระเป๋าสะพาย, ปากกา, เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือสิ่งของดีๆ ที่พนักงานอาจไม่มีกำลังทรัพย์ที่จะซื้อด้วยตนเอง

3. เลือกของที่เก็บไว้ได้นาน : ของที่ใช้แล้วทิ้งอย่างเช่นบัตรกำนัลหรือการเลี้ยงอาหารหรูอาจสร้างความประทับใจได้จริง แต่ก็จะไม่ถูกเน้นย้ำจนค่อย ๆ เลือนหายไปจากความทรงจำอย่างน่าเสียดาย ดังนั้นบริษัทควรให้ของขวัญที่สามารถเก็บไว้ได้นาน ๆ อย่างพวกนาฬิกา, แว่นตา, กระเป๋าสตางค์มากกว่า เพราะจะช่วยให้ผู้รับได้กลับไปสัมผัสถึงบรรยากาศตอนได้ของขวัญในทุกครั้งที่หยิบขึ้นมาใช้

4. ซื้อให้สมาชิกในครอบครัวของพนักงานแทน : “ครอบครัวใคร ใครก็รัก” ไม่ใช่คำพูดที่เกินเลยไปนัก ดังนั้นแทนที่จะซื้อของขวัญให้พนักงานโดยตรง บริษัทสามารถลองหาข้อมูลดูว่าพนักงานคนดังกล่าวมีครอบครัวหรือไม่ และมีสิ่งใดที่ขาดเหลือหรือสามารถส่งเสริมให้ดีขึ้นได้รึเปล่าก่อนที่จะนำไอเดียเหล่านั้นไปใช้เลือกของขวัญต่อไป อย่าลืมว่าการดูแลครอบครัวเป็นหนึ่งในเหตุผลหลักที่ทำให้พนักงานยอมทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อย ดังนั้นการได้รู้ว่าคนที่พวกเขารักได้รับการใส่ใจจากที่ทำงาน ก็ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นได้มากกว่าที่เคย

5. ไม่ให้ของซ้ำ : การให้ของซ้ำกับที่เคยให้พนักงานมาแล้ว และการให้ของขวัญที่คาดเดาได้ง่าย (เช่นคุกกี้กล่องแดงในวันปีใหม่) เป็นสิ่งที่ทุกบริษัทควรหลีกเลี่ยง เพราะของขวัญที่ได้จะไม่มีความตื่นเต้น กลายเป็นเพียงของที่รับมาและผ่านไป ไม่ส่งผลในแง่บวกต่อการโน้มน้าวจิตใจพนักงานเลยแม้แต่นิดเดียว

Employee Benefit สวัสดิการ เรื่องที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลควรใส่ใจ
Rakuten บริษัทช็อปปิ้งออนไลน์ชื่อดังเผยว่ามีคนถึง 71% ที่ไม่ชอบของขวัญที่ได้รับในช่วงเทศกาล โดยเฉพาะของขวัญที่แปะโลโก้ของบริษัท ซึ่ง Snappy บริษัทด้านการพัฒนาบุคลากรจากสหรัฐอเมริกา  เผยว่ามีคน 75% ที่มองว่าการใช้ของขวัญแปะโลโก้บริษัท
จะทำให้ตนกลายเป็นป้ายโฆษณาเคลื่อนที่ซึ่งก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อบริษัทมากกว่า ผู้รับจึงไม่ค่อยให้ความสำคัญกับของขวัญที่ได้มากนัก
พูดง่าย ๆ ว่าไม่มีพนักงานคนไหนหรอกที่อยากได้ของขวัญแบบขอไปทีมาตอบแทนการทำงานหนักของตน

การให้ของขวัญช่วยในการทำงานของ HR อย่างไร

สิ่งที่เราจะพูดถึงในบทความนี้คือกลยุทธ์ด้านของขวัญสำหรับ HR Recruitment ที่สามารถนำไปใช้ในขั้นตอนสัมภาษณ์งานได้เลย วิธีนี้เรียกว่า Recruitment Gifts Strategy ซึ่งเป็นการโน้มน้าวให้ผู้สมัครสนใจบริษัทมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ช่วยเยียวยาจิตใจของผู้สมัครที่ไม่ถูกคัดเลือกได้เช่นกัน โดย HR Recruitment สามารถนำของขวัญมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับกระบวนการสรรหาพนักงานได้ดังนี้

– เลือกของขวัญที่ตรงกับตัวตนของคนที่ต้องการมากที่สุด : ปกติแล้วพนักงานที่มีความสามารถโดดเด่นมักได้รับการติดต่อจากบริษัทชั้นนำมากมายในแต่ละวัน ดังนั้นถ้าเราแค่ติดต่อไปเฉย ๆ ไม่ว่าจะด้วยอีเมลล์หรือโทรศัพท์ ก็มีโอกาสสูงมากที่จะถูกมองข้าม โดย Reachdesk บริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจจากสหรัฐอเมริกาให้คำแนะนำว่าผู้สัมภาษณ์ควรใช้วิธี Personalization หมายถึงการศึกษาข้อมูลของผู้ที่อยากได้มาร่วมงานให้ละเอียดที่สุดเพื่อเลือกของขวัญที่ตรงกับรสนิยม ไม่ว่าจะเป็นประเภท, สี, ประโยชน์ใช้สอย เป็นต้น วิธีนี้จะทำให้ผู้รับรู้สึกเซอร์ไพรส์เพราะแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจของบริษัทก่อนที่จะมาร่วมงานกันอย่างเป็นทางการและทำให้เกิดข้อเปรียบเทียบกับบริษัทอื่นที่อาจจะมีชื่อเสียงกว่า แต่ก็ใส่ใจในรายละเอียดน้อยกว่า

– ส่งของขวัญให้ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเบื้องต้นทุกคน : หลังจากที่เกิดการระบาดของโควิด-19 สถานการณ์ด้าน HR Recruitment ได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะรูปแบบการสัมภาษณ์ที่หันไปใช้วิธีสัมภาษณ์ออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชั่น Zoom หรือ Google Meet ซึ่งเข้มข้นไม่เท่าแบบตัวต่อตัวแน่นอน เหตุผลนี้เองที่ทำให้ผู้สมัครบางคนตัดสินใจทิ้ง (No-Show) การสัมภาษณ์ที่ตนไม่สนใจไปเลย ทำให้บริษัทเสียทั้งเวลาและโอกาสในการว่าจ้างคนที่สนใจ ดังนั้น Reachdesk จึงเสนอวิธีแก้ไขเบื้องต้นที่พวกเขาใช้ นั่นก็คือการส่งของที่ระลึกไปให้ผู้ที่ได้สิทธิ์สัมภาษณ์ทุกคนเพื่อตอกย้ำให้เห็นว่าบริษัทให้ความสำคัญกับการพูดคุยครั้งนี้ แถมยังมีผลในเชิงจิตวิทยาที่ทำให้ผู้รับรู้สึกมีคุณค่าไปพร้อม ๆ กัน โดยของที่ส่งจะเป็นสินค้าจริง ๆ หรือเป็นบัตรกำนัลที่ส่งผ่านระบบออนไลน์ก็ได้ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและสะดวกของบริษัท

– หากมีเหตุให้การสัมภาษณ์ต้องยกเลิก ให้ส่งของขวัญไปให้ : บางครั้งการสัมภาษณ์พนักงานอาจถูกยกเลิกเพราะเหตุจำเป็นบางอย่างเช่นปัญหาสุขภาพ กรณีนี้บริษัทไม่ควรเป็นฝ่ายรอเพียงอย่างเดียว แต่ควรส่งของขวัญพร้อมข้อความให้กำลังใจไปด้วยเพื่อแสดงให้เห็นว่าบริษัทยังให้ความสำคัญเสมอ วิธีนี้จะช่วยให้เราเป็นตัวเลือกแรก ๆ ในใจหลังจากที่ผู้สมัครรักษาตัวจนหายดีแล้ว ถือเป็นเคล็ดลับด้าน HR Recruitment ที่มองข้ามไปไม่ได้เด็ดขาด เพราะอย่าลืมว่าความแตกต่างเพียงนิดเดียวอาจส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้สมัครได้เลย

อย่างที่กล่าวในข้างต้นว่าการให้ของขวัญนอกเหนือจากจะช่วยโน้มน้าวให้ผู้สมัครเห็นถึงความใส่ใจของบริษัทและเพิ่มโอกาสในการมาร่วมงานด้วยแล้ว การให้ของขวัญยังช่วยเยียวยาจิตใจของผู้ที่ไม่ผ่านการคัดเลือกเช่นกัน โดยตัวอย่างที่ดีสำหรับเรื่องนี้คือแนวทางของบริษัท Grovider ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการจากฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอเมริกา ที่มีนโยบายด้าน HR Recruitment ว่าพวกเขาจะติดต่อกลับผู้ที่มาสัมภาษณ์ทุกคนไม่ว่าจะผ่านการคัดเลือกหรือไม่ก็ตาม

นอกจากเหนือจากการติดต่อเพื่อแจ้งข่าวร้ายแล้ว บริษัท Grovider จะแถมบัตรกำนัล (Gift Card) จาก Amazon มูลค่า 25 ดอลลาร์ไปด้วย พร้อมข้อความว่า “ขอขอบคุณที่สละเวลามาสมัครงานในตำแหน่งนี้ และเป็นการตอบแทนเราขอมอบของขวัญเล็ก ๆ น้อย ๆ เอาไว้ให้เป็นตัวแทนของความหวังดีและขออวยพรให้คุณประสบความสำเร็จในอนาคต”

แน่นอนว่าเงินจำนวน 25 ดอลลาร์ (ประมาณ 875 บาท) ไม่ใช่เงินที่มากในสถานการณ์ปกติ แต่ Grovider ก็เล่าให้ฟังว่ามีผู้สมัครที่ไม่ผ่านการคัดเลือกหลายรายติดต่อกลับมาเพื่อขอบคุณพร้อมย้ำว่าพวกเขาไม่เคยได้รับของขวัญแบบนี้มาก่อนเมื่อไปสมัครงาน โดยอธิบายว่า “ผู้สมัครทุกคนต้องใช้เวลาเตรียมตัวอย่างมากกว่าจะไปสัมภาษณ์งานในแต่ละครั้ง และเวลามีมูลค่า … พวกเขาต้องลงทุนเอง, ต้องทำแบบทดสอบเองซึ่งเต็มไปด้วยความเครียดอย่างสูง เราจึงมองข้ามความจริงเหล่านี้ไปไม่ได้เด็ดขาด นี่คือเหตุผลที่ทำให้เราอยากแสดงความขอบคุณกลับไปถึงผู้สมัครทุกคน” โดย Grovider ย้ำว่าสิ่งสำคัญในเรื่องนี้ไม่ใช่มูลค่าของบัตรกำนัล แต่เป็นการเน้นย้ำว่าความพยายามของผู้สมัครมีความหมายต่างหาก

เรื่องนี้สอนอะไร ? หลายบริษัทอาจมองว่า กระบวนการว่าจ้าง (Recruitment) มีเป้าหมายสำคัญเพียงอย่างเดียวคือการหาผู้สมัครที่เหมาะสมกับตำแหน่งที่สุด ซึ่งแม้จะไม่ใช่เรื่องผิดแต่ก็เป็นมุมมองที่ยังเห็นไม่ครบทุกด้านและทำให้ผู้คัดเลือกมองข้ามมุมมองทางด้านมนุษยนิยมไปเสีย นอกจากนี้หากเรามองในแง่ของธุรกิจแล้ว เงินค่าของขวัญเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่มอบให้กับผู้ที่ไม่ผ่านการคัดเลือกอาจกลายเป็นค่าประชาสัมพันธ์ (Promotional Cost) ที่คุ้มค่าที่สุด เพราะมาจากปากของผู้ที่เข้ารับการสัมภาษณ์จริง ๆ เพราะพนักงานที่ประทับใจระบบ HR Recruitment ของบริษัทอาจกลายเป็นเหมือน “ทูต” ที่คอยสื่อสารเรื่องราวดี ๆ ของบริษัทออกไปโดยที่เราไม่ต้องลงทุนลงแรงเพิ่มเลย โดยประโยชน์ที่บริษัทจะได้รับประกอบไปด้วย

– ทำให้บริษัทมีตัวเลือกผู้สมัคร (Pool) มากขึ้น : เมื่อมีการเล่าเรื่องแง่บวกของบริษัทออกไป ก็มีโอกาสที่จะมีพนักงานสนใจเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท ซึ่งทำให้เราเข้าถึงคนที่ตรงกับความต้องการมากขึ้นและช่วยเพิ่มศักยภาพในการแย่งตัวผู้สมัครกับบริษัทอื่น ๆ ด้วย

– ทำให้ผู้สมัครอยากกลับมาลองดูอีกครั้ง : ข้อดีคือเมื่อเวลาผ่านไปผู้สมัครคนดังกล่าวอาจมีประสบการณ์มากขึ้น มีฝีมือมากขึ้น หรืออาจเจอตำแหน่งงานในบริษัทของเราที่เหมาะกับศักยภาพของตนเองมากขึ้น ซึ่งถ้าเราจบการสัมภาษณ์ครั้งก่อนหน้าไปแบบปกติหรือเกิดปัญหาขึ้น โอกาสที่พนักงานคนดังกล่าวจะกลับมาสนใจร่วมงานกับบริษัทก็จะกลายเป็นเรื่องยากทันที การสร้างประสบการณ์ที่ดีระหว่างกันจึงเป็นรูปแบบที่เหมาะสมที่สุด

– ทำให้เกิดคอนเนคชั่นใหม่ ๆ : อาจฟังดูเหมือนเรื่องไกลตัว แต่มีหลายครั้งที่พอผู้สมัครไม่ผ่านการสัมภาษณ์แล้วตัดสินใจไปเปิดธุรกิจเองจนประสบความสำเร็จ ซึ่งถ้าเรามีประสบการณ์ที่ดีต่อกันก็เป็นไปได้ว่าพนักงานดังกล่าวจะกลายมาเป็นพันธมิตรหรือลูกค้าในอนาคต

อยากตาย ไม่อยากทำงาน : HR ควรทำอย่างไรเมื่อพนักงานมีปัญหาสุขภาพจิตหรือคิดฆ่าตัวตาย

No Gift Policy การให้ของขวัญมีข้อควรระวังอย่างไร

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการให้ของขวัญอาจนำไปสู่การทุจริต คอรัปชั่น หรือการตัดสินใจที่ไม่เป็นธรรมทางธุรกิจได้ เหตุนี้หน่วยงานมากมายจึงหันมาใช้ นโยบายไม่รับของขวัญ (No Gift Policy) เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว

Institute of Business Ethics (IBE) สถาบันด้านจริยธรรมธุรกิจจากประเทศอังกฤษ ให้คำแนะนำถึงวิธีมอบและวิธีรับของขวัญ โดยแนะนำว่าบริษัทควรออกนโยบายให้ละเอียดไปเลยว่าสิ่งใดทำได้หรือไม่ได้ ไม่จำเป็นต้องปล่อยให้เกิดการตีความเองเพราะอาจเกิดความเข้าใจผิดตามมา ซึ่งการออกนโยบายด้านของขวัญควรคำนึงถึงหัวข้อดังต่อไปนี้

– ของขวัญแบบใดบ้างที่ไม่สามารถให้หรือรับเด็ดขาด

– ตั้งราคาของขวัญขั้นต่ำให้ชัดเจน เพื่อให้มีการสำแดงของขวัญที่ได้รับหากมีมูลค่าสูงกว่าที่กำหนดไว้

– กำหนดวิธีการลงทะเบียนของขวัญที่ได้รับและส่งมอบให้ผู้อื่น เพื่อให้ตรวจสอบได้ง่าย

– กำหนดผู้รับผิดชอบด้านนี้เอาไว้ เพื่อให้พนักงานสอบถามได้ทันทีหากมีข้อสงสัย

– ให้ความรู้กับพนักงานเสมอ ตลอดจนเตรียมข้อมูลด้านของขวัญของพันธมิตรหรือลูกค้าเอาไว้เพื่อให้การมอบของขวัญเกิดประโยชน์สูงสุด

อย่างไรก็ตามการให้ความรู้และอธิบายถึงผลกระทบของการทุจริตเป็นประจำคือสิ่งที่ช่่วยสร้างมาตรฐานความถูกต้องในองค์กรได้เช่นเดียวกัน อย่างในกรณีของการให้ของขวัญ บริษัทหรือ HR สามารถอธิบายเรื่องนี้ด้วยการตั้งคำถามปลายเปิด เช่น “คุณจะรู้สึกอย่างไรหากมีคนจับได้ว่าตนทุจริต”, “คุณจะรู้สึกอย่างไรถ้ามีคนรายงานข่าวการทุจริตของคุณลงบนโซเชียล”, “ครอบครัวของคุณจะผิดหวังหรือไม่หากรู้เรื่องนี้” ฯลฯ เพื่อเน้นย้ำถึงความไม่ถูกต้องให้พนักงานหลีกเลี่ยงตั้งแต่ต้น

ดังนั้นถ้าบริษัทพิสูจน์แล้วว่าการมอบของขวัญเป็นแนวทางที่ช่วยยกระดับความสัมพันธ์ได้จริง HR ก็ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษทั้งคอยติดตามผล, ตรวจสอบความถูกต้อง ตลอดจนช่วยคิดค้นหาของขวัญใหม่ ๆ เพื่อสร้างความประทับใจต่อผู้รับอย่างไม่มีวันจบสิ้น

พนักงานควรทำอย่างไรหากได้รับหรือต้องการให้ของขวัญผู้อื่น

  1. ตรวจเช็คกับ HR ก่อนว่าบริษัทมีนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร มีข้อควรระวังหรือข้อห้ามอย่างไรบ้าง และค่อยเลือกซื้อของขวัญที่สอดคล้องกับนโยบายนั้น
  2. ศึกษาให้ชัดเจนว่าวิธีการสำแดงของขวัญในบริษัทเป็นอย่างไร และเตรียมพร้อมให้ครบ เช่นชื่อของหน่วยงาน, ชื่อของผู้รับ, ใบเสร็จ รวมถึงรายละเอียดอื่น ๆ ที่อาจถูกตรวจสอบเพื่อยืนยันความโปร่งใส
  3. แจ้งหัวหน้าฝ่ายหรือผู้ที่เกี่ยวข้องทันทีหากไม่แน่ใจว่าของขวัญที่ได้รับมามีวัตถุประสงค์แอบแฝงหรือไม่
  4. ช่วยกันสังเกตเพื่อนร่วมงานเพื่อเฝ้าระวัง รวมถึงให้คำแนะนำหากเห็นว่ามีการตัดสินใจเรื่องของขวัญที่ไม่ชอบมาพากล
  5. การทุจริตเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ดังนั้นพนักงานทุกคนสามารถยกประเด็นนี้มาพูดได้เลยหากรู้สึกไม่สบายใจ แม้จะได้ข้อสรุปว่าเป็นความเข้าใจผิดก็ตาม

บทสรุป

ท้ายสุดนี้สิ่งที่เราต้องเน้นย้ำก็คือของขวัญเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งในการสร้างความสุขให้กับคนรอบตัวเท่านั้น ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุดที่เราต้องให้ความสำคัญจนมองข้ามภาระหน้าที่หลักของตนเอง เพราะของขวัญจะไม่มีประโยชน์เลยหากผู้รับไม่เห็นคุณค่าในการทำงานร่วมกับเรา ถึงตอนนั้นแม้ของขวัญราคาแพงจะทำให้ผู้รับดีใจขึ้นมาได้บ้าง แต่มันก็เป็นคุณค่าของของขวัญ ไม่ใช่คุณค่าของเราในฐานะนายจ้างหรือพันธมิตรทางธุรกิจเลย

เหตุนี้การมอบของขวัญจึงควรพิจารณาให้ชัดเจนทั้งในแง่ว่าผู้รับแต่ละคนสมควรจะได้สิ่งตอบแทนหรือยัง ตลอดจนประสิทธิภาพการทำงานของเราดีพอให้ลูกค้ารู้สึกเต็มใจที่จะได้ของขวัญจากเราหรือยัง ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงนโยบายด้านการรับของขวัญในบริษัทของผู้รับที่เราต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาในภายหลังอีกด้วย รับรองว่าหากผู้อ่านนำแนวทางจากบทความนี้ไปปฏิบัติ การให้ของขวัญแต่ละครั้งต่อจากนี้จะสร้างความประทับใจให้กับผู้รับได้แน่นอน

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง