จาก One Piece ถึง Jack Sparrow : การบริหารจัดการแบบโจรสลัดและวิธีสร้างแบรนด์ที่ HR ต้องรู้

HIGHLIGHT

  • เรื่องราวของโจรสลัดถูกพูดถึงอย่างมากในวัฒนธรรม Pop Culture และได้มีการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์, การ์ตูน และนวนิยายอยู่บ่อยครั้งซึ่งทำให้โจรสลัดได้รับความนิยมเรื่อยมาจนปัจจุบัน
  • โจรสลัดในความเป็นจริงแตกต่างจากในสื่อบันเทิงที่เราเคยเห็น พวกเขาไม่ได้เดินทางเพื่อล่าสมบัติสุดขอบฟ้า แต่หาเงินจากการปล้นเรือที่อ่อนแอกว่าและใช้เงินอย่างเต็มที่ เพราะโจรสลัดเป็นอาชีพที่อันตราย ไม่รู้ว่าจะตายเมื่อใด
  • โจรสลัดเน้นการตัดสินใจอย่างเฉียบขาด รวดเร็ว ทุกคนต้องเห็นพ้องในทางเดียวกัน เหตุนี้เรือทุกลำจะมีกฎที่ตกลงกันไว้แล้วระหว่างกัปตันและลูกเรือ โดยใช้รูปแบบการลงคะแนนอย่างเท่าเทียม
  • โจรสลัดสอนเรื่องการสร้างแบรนด์และการเป็นผู้นำได้มาก ยกตัวอย่างโจรสลัดชื่อดังอย่างแบล็คเบียร์ดหรือ “เคราดำ” ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างภาพลักษณ์ให้น่ากลัว ทั้งนี้โจรสลัดจะออกแบบธงประจำตัวให้ถ่ายทอดเอกลักษณ์ออกมามากที่สุด เหมือนกับการออกแบบโลโก้ผลิตภัณฑ์ในยุคสมัยนี้

จาก One Piece ถึง Jack Sparrow : การบริหารจัดการแบบโจรสลัดและวิธีสร้างแบรนด์ที่ HR ต้องรู้

ไม่ว่าคุณจะเป็นแฟนของการ์ตูน วันพีซ (One Piece) หรือเป็นแฟนคลับของโจรสลัดมาดกวน แจ็ค สแปร์โรว (Jack Sparrow) จากภาพยนตร์ Pirates of the Caribbean ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า โจรสลัด คืออาชีพที่มีสเน่ห์ดึงดูดมาก ทั้งด้านคาแรกเตอร์, เครื่องแต่งกาย, ยานพาหนะ รวมถึงวิธีคิดแบบนักผจญภัยที่ตื่นเต้นเร้าใจเป็นพิเศษ จุดเด่นเหล่านี้คือสิ่งที่เราสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการทำธุรกิจได้จนมีผู้เชี่ยวชาญนำมาวิเคราะห์เป็นกรณีศึกษาอย่างจริงจัง

โจรสลัดได้ชื่อว่าเป็นกลุ่มคนที่เต็มไปด้วยความหลากหลายและดำเนินการด้วยทรัพยากรที่จำกัด เพราะนอกเหนือจากทรัพย์สินที่เกิดจากการปล้นแล้ว พวกเขาต้องวางแผนเพื่อรับมือกับภาครัฐที่มีอำนาจและพละกำลังมากกว่า, บริหารจัดการอาหารให้เพียงพอกับการออกเดินทางกลางทะเลเป็นเวลานาน ตลอดจนการเติมเต็มความรักของเหล่าชายชาตรีเพื่อให้มีขวัญกำลังใจสำหรับการทำภารกิจอีกด้วย เรียกได้ว่าท้องทะเลคาริบเบียนในศตวรรษที่ 17-18 มีทั้งความตื่นเต้นเร้าใจและความรู้ให้คนรุ่นหลังได้กอบโกยเป็นอย่างดี

HR เรียนรู้อะไรจาก โจรสลัด ได้บ้าง บทความนี้จะเล่าให้ฟัง Ahoy !

โจรสลัดของจริงเป็นอย่างไร

จาก One Piece ถึง Jack Sparrow : การบริหารจัดการแบบโจรสลัดและวิธีสร้างแบรนด์ที่ HR ต้องรู้

โจรสลัดในความเป็นจริงกับโจรสลัดในภาพยนตร์นั้นแตกต่างกันมาก พวกเขาไม่ได้เป็นพระเอกที่คอยออกปล้นเพื่อหาเงินทองมามอบให้กับประชาชนตาดำ ๆ หรือคอยตามล่าสมบัติลับสุดขอบฟัาแต่อย่างใด และนี่คือความจริงของโจรสลัดที่คุณต้องรู้

โจรสลัดมีชื่อเสียงที่สุดในศตวรรษที่ 17-18 ที่เกิดการแย่งชิงอำนาจทางทะเลของประเทศในยุโรปซึ่งต่างสนับสนุนให้โจรสลัดของตนไปปล้นชิงเรือฝ่ายตรงข้าม โดยนักประวัติศาสตร์ระบุว่ายุคทองของโจรสลัดจบลงในปีค.ศ.1722 หลังการตายของกัปตันแบล็ค บาร์ต ซึ่งเป็นช่วงที่สภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไปมาก เมื่อหางานทำที่ได้เงินดีกว่า ปลอดภัยกว่า คนก็เลิกเป็นโจร

อย่างไรก็ตามโจรสลัดไม่ใช่อาชีพที่ทำกันนานเพราะมีความเสี่ยงต่อการถูกจับที่ทำให้สูญเสียอิสรภาพและอาจเสียชีวิต เหตุนี้โจรสลัดจึงไม่นิยมฝังสมบัติแบบที่เราคุ้นเคย แต่นิยมใช้เงินอย่างสุรุ่ยสุร่ายเพื่อหาความสุขอย่างเต็มที่มากกว่าเพราะไม่รู้ว่าตนเองจะมีชีวิตรอดไปถึงเมื่อไหร่

ที่สำคัญโจรสลัดจะเลือกสู้กับเรือที่มีขนาดเล็กกว่า อ่อนแอกว่าเป็นหลัก และนิยมยื่นข้อเสนอให้อีกฝ่ายยอมแพ้มากกว่าการบุกโจมตีโดยตรง นอกจากนี้พวกเขาจะหลีกเลี่ยงการสู้กับทหารเรือเพราะมีศักยภาพด้อยกว่าในทุก ๆ ด้าน เรียกว่าโจรสลัดจะเลือกโจมตีโดยเน้นแค่ภารกิจที่พวกเขามีสิทธิ์ชนะเท่านั้น

การบริหารจัดการที่ดีจึงเป็นเคล็ดลับสำคัญที่โจรสลัดนำมาใช้เพื่อให้เวลาน้อยนิดของพวกเขาคุ้มค่ามากที่สุด เช่นเรื่องการพัฒนาบุคลากรและบริหารเวลา ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อธุรกิจในปัจจุบัน

โจรสลัดที่มีชื่อเสียงบริหารทรัพยากรบุคคลอย่างไร

จาก One Piece ถึง Jack Sparrow : การบริหารจัดการแบบโจรสลัดและวิธีสร้างแบรนด์ที่ HR ต้องรู้

แม้โจรสลัดแต่ละคนจะมีวิธีบริหารจัดการแตกต่างกัน แต่กฎที่ถูกยอมรับว่ามีประสิทธิภาพคือกฎที่ตั้งขึ้นเพื่อใช้บนเรือ The Royal Fortune ของ กัปตันบาร์โธโลมิว โรเบิร์ต (Bartholomew Roberts) โจรสลัดชาวเวลส์หรือที่รู้จักกันในฉายา “แบล็ค บาร์ต” (Black Bart) เพราะเขาคือโจรสลัดที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ครอบครองเรือในสังกัดกว่า 420 ลำ โดยกฎที่เขาตั้งถูกเรียกว่า The Pirate Code มีรายละเอียดดังนี้

1. ทุกคนเท่าเทียมกัน : ลูกเรือมีสิทธิ์เข้าถึงทรัพยากรเท่ากันไม่ว่าจะเป็นอาหารหรือเครื่องดื่ม ยกเว้นช่วงที่เกิดความขาดแคลน นอกจากนี้ยังมีส่วนในการตัดสินใจเรื่องสำคัญผ่านการลงคะแนนเสียง

2. ห้ามลักขโมย : ทรัพย์สินที่หามาได้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของทุกคน ดังนั้นหากมีการขโมยของส่วนกลางแม้เพียงนิดเดียวไม่ว่าจะเป็นสิ่งของ, เงิน, อัญมณี คนผู้นั้นจะถูกนำไปปล่อยเกาะ แต่หากเป็นการขโมยทรัพย์สินของลูกเรือคนอื่น คนผู้นั้นจะถูกตัดจมูกและหูแล้วนำไปทิ้งไว้ในชายฝั่งสักแห่งให้อยู่อย่างยากลำบาก

3. ห้ามเล่นการพนัน : ห้ามทำกิจกรรมที่เดิมพันทรัพย์สิน ไม่ว่าจะใช้ไพ่หรือลูกเต๋าก็ตาม

4. ให้ความสำคัญกับเวลา : ห้ามใช้แสงหรือจุดเทียนหลัง 2 ทุ่มเด็ดขาด ลูกเรือได้รับอนุญาตให้ดื่มได้หลังเวลาดังกล่าวแต่เน้นย้ำว่าต้องไม่ใช้แสงเช่นกัน

5. พร้อมรบเสมอ : ลูกเรือทุกคนต้องเตรียมอาวุธติดตัวและทำความสะอาดให้พร้อมใช้เสมอหากเกิดการปะทะ

6.ห้ามพาผู้หญิงขึ้นเรือ : หากจับได้ว่ามีการลักลอบนำผู้หญิงขึ้นมา คนผู้นั้นจะถูกทำให้ตาย

7. เชื่อฟังคำสั่งอย่างเคร่งครัด : ผู้ใดขัดคำสั่งของผู้บังคับบัญชา คนผู้นั้นจะถูกทำให้ตายหรือไม่ก็นำไปปล่อยเกาะ

8. ห้ามต่อสู้กันเองบนเรือ : หากต้องการเคลียร์จริง ๆ ให้ลงไปสู้กันบนฝั่งด้วยการใช้มีดหรือปืนภายใต้การตัดสินของหัวหน้า กล่าวคือในขั้นแรกการต่อสู้จะใช้วิธีจับลูกเรือถือปืนในท่าเตรียมพร้อมและหันหลังเข้าหากัน จากนั้นจะพลิกตัวกลับมายิงทันทีเมื่อได้รับสัญญาณ ทั้งนี้หากกระสุนของทั้งคู่ไม่เข้าเป้าก็จะเปลี่ยนไปตัดสินด้วยการใช้มีด โดยคนที่ทำให้คู่ต่อสู้เลือดออกก่อน (First Blood) จะเป็นฝ่ายชนะ

9. ไม่พูดถึงการเลิกเป็นโจรสลัด : ทุกคนต้องทำหน้าที่จนกว่าจะมีส่วนแบ่งรายได้ถึงระดับที่ตกลงกันไว้ แม้จะหมดไฟแล้วก็ตาม

10. เข้าใจเรื่องลำดับขั้น : ผู้ที่เป็นกัปตันจะได้ส่วนแบ่งของทรัพย์สินที่ปล้นมาได้มากที่สุด ลดหลั่นลงไปตามตำแหน่ง แต่จะแตกต่างไม่เกิน 1 เท่าตัว

11. กำหนดวันหยุด : วงดนตรีสันทนาการบนเรือจะหยุดพักในวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นวันขอบคุณพระเจ้า

โจรสลัดมีวิธีสร้างแบรนด์อย่างไร

จาก One Piece ถึง Jack Sparrow : การบริหารจัดการแบบโจรสลัดและวิธีสร้างแบรนด์ที่ HR ต้องรู้

เมื่อพูดถึงโจรสลัดแล้ว ภาพจำของธงกะโหลกไขว้และการผจญภัยล่าขุมทรัพย์จะปรากฏขึ้นมาในหัวของเราทันที ซึ่งแม้โจรสลัดของจริงจะไม่ได้มีภาพลักษณ์หรือความหวือหวาเหมือนกับในสื่อบันเทิง แต่โจรสลัดทุกคนก็มีการสร้างเอกลักษณ์ให้น่าเกรงขามเพื่อข่มขวัญศัตรูและช่วยให้การปล้นชิงมีประสิทธิภาพมากขึ้นเช่นกัน

เราขอยกตัวอย่างการสร้างตัวตนของเอ็ดเวิร์ด ทีช (Edward Teach) หรือที่รู้จักกันในนาม “หนวดดำ” (Blackbeard) โจรสลัดชาวอังกฤษที่มีชีวิตอยู่ในช่วงปี ค.ศ.1702 – 1713 และได้ชื่อว่าโหดร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ คาแรกเตอร์ที่โดดเด่นของเขาถูกนำไปใช้เป็นตัวละครมาร์แชล ดี ทีช (Marshall D. Teach) ในการ์ตูนวัน พีซ (One Piece) และถูกนำมาสร้างเป็นตัวละครในภาพยนตร์ Pirates of the Caribbean เราจึงกล่าวได้ว่าเขาคือหนึ่งในโจรสลัดที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลก

จาก One Piece ถึง Jack Sparrow : การบริหารจัดการแบบโจรสลัดและวิธีสร้างแบรนด์ที่ HR ต้องรู้

แบล็คเบียร์ดสอนแนวคิดทางธุรกิจกับเราได้อย่างไร หาคำตอบได้ที่นี่

1. การตั้งชื่อที่ดีช่วยให้เราโดดเด่นขึ้น

ลองนึกตามดูว่าหากเจ้าเคราดำเลือกใช้ชื่อ “เอ็ดเวิร์ด ทีช” ซึ่งเป็นชื่อจริงเหมือนโจรสลัดคนอื่น ๆ เขาก็อาจไม่โดดเด่นขนาดนี้ แต่เมื่อเขาเลือกออกปล้นด้วยการใช้ฉายา “หนวดดำ” เหล่านักเดินเรือทั่วน่านน้ำก็สามารถจำชื่อนี้ได้ทันที เพราะความแตกต่างจากค่านิยมของยุคสมัยและยังสะท้อนให้เห็นถึงเอกลักษณ์อันน่าเกรงขามได้เป็นอย่างดี

ความน่าเกรงขามของชื่อแบล็คเบียร์ด อธิบายได้ด้วยทฤษฎีสีที่ระบุว่า “สีดำ” เป็นตัวแทนของพละกำลัง, การควบคุม, การข่มขู่คุกคาม และความไม่เป็นมิตร ดังนั้นชื่อของเขาจึงเป็นเหมือนสัญลักษณ์ที่บอกว่าเรือลำใดที่ถูกล่าโดนแบล็คเบียร์ดจะไม่มีโอกาสเจรจาเด็ดขาด ทางเลือกเดียวที่มีคือการยอมแพ้หรือต่อสู้แลกด้วยชีวิตเท่านั้น

2. การออกแบบโลโก้ต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์ในการนำเสนอมากกว่าแค่ความสวยงาม

ในแวดวงโจรสลัด สิ่งที่เป็นตัวแทนของโลโก้ก็คือ “ธงประจำเรือ” ที่ปกติจะถูกออกแบบเป็นภาพกะโหลกไขว้อย่างที่เราคุ้นเคย และอาจแทรกด้วยภาพดาบหรืออาวุธประจำตัวของโจรสลัดคนนั้น ๆ อย่างไรก็ตามธงของแบล็คเบียร์ดต่างออกไป เพราะธงของเขาเป็นภาพปิศาจมีเขา (สะท้อนถึงตัวเอง) มือหนึ่งถือนาฬิกาทราย และมือหนึ่งถือหอกทิ่มแทงไปที่หัวใจสีแดงซึ่งเป็นตัวแทนของเลือดและศัตรูที่ถูกเขาเล่นงาน ดังนั้นหากเราเปรียบเทียบกับธงอื่น ๆ ที่แปลความหมายได้ว่า “ฉันคือโจรสลัด จงยอมแพ้ซะ” กับธงของเขาที่เพิ่มรายละเอียดไปว่า “ฉันคือโจรสลัด จงยอมแพ้ซะ เพราะถ้าแกไม่ยอม แกจะต้องตายแน่นอน” ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่ามันมีจุดที่ทำให้ดูน่าเกรงขามมากกว่าปกติ ยิ่งถ้าเรามองว่าการสื่อสารทางทะเลในอดีตไม่ได้มีเทคโนโลยีล้ำสมัยอะไรนัก การใช้โลโก้ที่สื่อสารได้เข้าใจอย่างรวดเร็วจึงเป็นปัจจัยสำคัญมากที่โจรสลัดทุกคนต้องคิด และเราสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการทำธุรกิจในปัจจุบัน

จาก One Piece ถึง Jack Sparrow : การบริหารจัดการแบบโจรสลัดและวิธีสร้างแบรนด์ที่ HR ต้องรู้

อย่างไรก็ตามมีการวิจัยว่าธงของแบล็คเบียร์ดที่เราเห็นกันนี้ไม่ใช่ธงจริงของเจ้าตัวเพราะไม่มีหลักฐานร่วมสมัยใดที่สามารถยืนยันธงดังกล่าวเลย หลักฐานเดียวที่นักวิชาการมีคือข้อความจากหนังสือพิมพ์ในปี ค.ศ.1718 ที่ระบุถึงการโจมตีคู่ต่อสู้ของเรือ Queen Anne’s Revenge นำโดยแบล็คเบียร์ด ความว่า “…เรือขนาดใหญ่ที่มีเสากระโดงหนึ่งต้นแขวนธงสีดำพร้อมรูปกะโหลก และอีกสามต้นแขวนธงสีแดงกำลังเข้าโจมตีเรือ Protestant Caesar… เรือที่ว่ามีปืน 40 กระบอกและลูกเรืออีก 300 คน” ทั้งนี้ไม่ว่าความจริงจะเป็นอย่างไรมันก็ตอกย้ำให้เราเห็นแล้วว่า “หนวดดำ” สามารถสร้างความโดดเด่นให้ตนเองจนคนนำไปต่อยอดและช่วยเพิ่มคุณค่าให้อีกโดยที่เขาไม่ต้องลงทุนลงแรงเพิ่มเติมแต่อย่างใด

จาก One Piece ถึง Jack Sparrow : การบริหารจัดการแบบโจรสลัดและวิธีสร้างแบรนด์ที่ HR ต้องรู้
วิธีการใช้งานธงโจรสลัดคือการชักธงชาติหรือธงอื่น ๆ ที่ดูเป็นมิตรขึ้นหัวเสาไว้ก่อนเพื่อล่อให้เรือลำอื่นกล้าขับเข้ามาใกล้ ๆ จากนั้นเมื่ออยู่ในระยะที่เหมาะก็ค่อยเปลี่ยนเป็นธงโจรสลัดตามที่ออกแบบไว้
เพื่อข่มขู่ให้ยอมแพ้ แต่ถ้าอีกฝ่ายตั้งท่าจะสู้หรือหนี โจรสลัดก็จะเปลี่ยนธงเป็นสีแดง
เพื่อส่งสัญญาณว่า “เอ็งตายแน่” ก่อนจะทำการเข่นฆ่าปล้นชิงในลำดับต่อไป

3. การสร้างแบรนด์ให้น่าเชื่อถือ

Blackbeard ขึ้นชื่อเรื่องความโหดร้ายป่าเถื่อนจนได้ฉายาว่าเป็นคนที่น่ากลัวที่สุดในประวัติศาสตร์ จนมีคำพูดจากภาพยนตร์ Pirates of the Caribbean ที่บอกว่า “If I don’t kill a man every now and then, they forget who I am.” ที่สะท้อนว่าสิ่งสำคัญในการสร้างตัวตนของเขาก็คือการสร้าง Awareness ให้กับเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ ดังนั้นในแง่หนึ่งตัวตนของหนวดดำตลอดจนเรือ Queen Anne’s Revenge ได้กลายเป็นตัวแทนของความตายที่คู่ต่อสู้ไม่คิดจะต่อกรไปแล้ว

ในการสร้างแบรนด์ก็เช่นกัน หากเราสร้างแบรนด์ให้น่าเชื่อถือและการันตีความสำเร็จให้ลูกค้าได้เสมอ ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่เขาจะเชื่อมั่นในการตัดสินในของบริษัทและอาจเชื่อมั่นจนไม่คิดตั้งคำถามด้วยซ้ำ ดังนั้นหากคุณยังไม่แน่ใจว่าแบรนด์ของตนมีจุดเด่นอะไรหรืออยากนำเสนออะไร ก็ควรกลับไปวางแผนให้ชัดเจนโดยเร็วที่สุด

4. การมี First Impression ที่โดดเด่น

คงไม่ดีแน่หาก Blackbeard มีชื่อเสียงโด่งดัง แต่ตัวจริงกลับดูอ่อนแอไม่น่าเกรงขาม ดังนั้นการทำภาพลักษณ์ให้สอดคล้องกับกระแสหรือเหนือกว่าที่คนคาดคิดจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้แบรนด์ของเราดูพิเศษขึ้น 

จาก One Piece ถึง Jack Sparrow : การบริหารจัดการแบบโจรสลัดและวิธีสร้างแบรนด์ที่ HR ต้องรู้

ทางด้านหนวดดำเองเขาให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์มากและเชื่อมั่นว่าภาพลักษณ์ที่น่ากลัวจะกลายเป็นเรื่องเล่าปากต่อปากให้นักเดินเรือคนอื่นนำไปพูดต่อและช่วยทำให้ชื่อเสียงด้านความน่ากลัวของเขาเพิ่มยิ่งขึ้นไปอีก โดยวิธีการที่เขาเลือกใช้คือการแต่งกายด้วยชุดสีดำสนิททั้งตัว สวมหมวกใบใหญ่ ติดอาวุธครบครัน และติดชนวนจุดไฟไว้ที่ตัวเพื่อให้เกิดควันฟุ้งรอบ ๆ จนดูเหมือนปิศาจ วิธีนี้ยิ่งทำให้คู่ต่อสู้เลือกสยบยอมมากกว่าต่อสู้ ทำให้เขาได้ทั้งเงินทองแถมยังไม่สูญเสียทรัพยากรจากการปะทะอีกด้วย

HR มีข้อสงสัยหรือคำถามเกี่ยวกับประเด็นนี้

Q&A HR Board

Q: บริษัทกำลัง Rethink เรื่อง “วัฒนธรรมการแต่งกาย” ของพนักงาน

อยากขอความเห็นเพื่อน ๆ ว่า ผู้นำ, ฝ่ายบริหาร และ HR จะวาง strategy / วิธีทำงาน / วิธี่สื่อสาร หรือออกนโยบายที่มีต่อเรื่องนี้อย่างไร รวมถึงควรมีวิธีใดมาวัดผลว่านโยบายสำเร็จมากน้อยแค่ไหน หากใครเคยทำเรื่อง Culture Transformation สามารถร่วมแชร์ข้อมูลได้เลยครับ

A: การสร้างภาพลักษณ์องค์กรและหน่วยงาน สิ่งที่เกี่ยวข้องคือ Employer Branding ค่ะ

ขอตอบจากการเคยอยู่บริษัทที่ Rebranding มา กระบวนการจะเป็นประมาณนี้ค่ะ

1.ประชุมระดมสมองเรื่องภาพลักษณ์ใหม่ที่หน่วยงานต่าง ๆ ต้องการให้บริษัทเป็นและตอบโจทย์ของบริษัทและพนักงาน (New Gen, Casual, Diversity Acceptation and new image) จะได้ผลลัพธ์เป็นรูปแบบการแต่งกายที่ทุกคนมีส่วนร่วมและเกิดความเป็น Ownership ค่ะ
2.สื่อสารความหมายกับพนักงานอย่างทั่วถึงว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้มีนัยยะสำคัญเพื่อรสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้บริษัท หน่วยงาน และทีมงาน
3.สร้างเกมส์หรือกิจกรรมเพื่อทดสอบความเข้าใจ และ awareness ต่อภาพลักษณ์ใหม่, ชุดใหม่ เพื่อสร้างแรงกระเพื่อมทางบวกในช่วงแรกของการสื่อสาร

,,, (คลิกดูคำตอบทั้งหมด👇)

โจรสลัดสอนเรื่องการเป็นผู้นำ (Leadership) ได้อย่างไร

มีคำกล่าวติดตลกว่าเรือโจรสลัดในยุครุ่งเรืองมีวิธีบริหารจัดการดีกว่าประเทศสหรัฐอเมริกาในเวลาเดียวกันด้วยซ้ำ ทั้งนี้เพราะเรือโจรสลัดเตรียมพร้อม ฝึกฝน และพัฒนากฎเกณฑ์ให้เหมาะสมกับลูกเรืออยู่เสมอ ซึ่งตรงข้ามกับการบริหารอื่น ๆ ในยุคนั้นที่ยังคงมุ่งเน้นเรื่องอำนาจนิยมเป็นหลัก ขณะที่โจรสลัดโดยทั่วไปจะถูกคุ้มครองโดยกฎประจำเรือที่ช่วยให้ทุกคนสามารถลงความเห็นหรือตัดสินใจได้อย่างอิสระโดยไม่ต้องกลัวถูกเล่นงาน เรียกว่ามีระบบปกครองแบบสถาบันทางการเมืองย่อม ๆ เลยทีเดียว

จาก One Piece ถึง Jack Sparrow : การบริหารจัดการแบบโจรสลัดและวิธีสร้างแบรนด์ที่ HR ต้องรู้

คำถามที่โจรสลัดชื่อดังใช้เป็นแกนหลักในการปกครองก็คือ “เราคิดว่าตนเองเหมาะกับการเป็นผู้นำของลูกเรือเหล่านี้หรือไม่” โดย Harvard Business School ได้ทำแบบสำรวจกับพนักงานกว่า 800 คนและพบว่าพนักงานจะรู้สึกรักงานที่ทำมากขึ้นหากรู้สึกว่าเป็นเจ้าของชิ้นงาน (Sense of Ownership) และคนที่สามารถสร้างความรู้สึกนี้ได้ก็คือผู้นำที่ดี ดังนั้นหากคุณเป็นหัวหน้าทีม คุณก็ควรถามตัวเองแบบเดียวกับที่เหล่าโจรสลัดทำ

Sense of Ownership จะทำให้คนในทีมตั้งใจเต็มที่และรู้สึกดีใจเมื่องานประสบความสำเร็จ รวมถึงรู้สึกเสียใจ, อยากแก้ไขหากงานไม่ออกมาเป็นอย่างที่คิด โดยความรู้สึกนี้เกิดขึ้นได้เมื่อพนักงานรู้สึกว่าตนมีสิทธิ์มีเสียงเท่ากัน, มีผลตอบแทนและสวัสดิการเท่ากัน, มีสุขอนามัยที่ดีและสภาพแวดล้อมเหมาะกับการทำงาน  จึงไม่แปลกที่เหล่าโจรสลัดจะใช้วิธีลงคะแนนเสียงแบบประชาธิปไตยเมื่อต้องตัดสินใจในเรื่องสำคัญเช่นการออกกฎหมู่ที่ต้องตกลงให้ชัดเจนก่อนเดินทางไปทำภารกิจ ทั้งนี้เพราะโจรสลัดรู้ดีว่าการเป็นกัปตันจะหมดความหมายทันทีหากลูกทีมไม่ยอมรับ ความเป็นธรรมและสมเหตุสมผลตรงนี้คือสื่งที่กัปตันเรือทุกคนต้องมี

เราสามารถเปรียบการเป็นผู้นำแบบโจรสลัดว่าเป็นผู้นำที่มุ่งเน้นในเรื่องของการตัดสินใจอย่างเด็ดขาด (Snap Decision) เพราะรูปแบบการทำงานของโจรสลัดต้องคำนึงถึงองค์ประกอบสำคัญหลายอย่างพร้อมกันตลอดเวลา เช่นการตัดสินใจเลือกเหยื่อ, การไล่ล่าคู่ต่อสู้, การหนีเจ้าหน้าที่หรือเมื่อเป็นฝ่ายถูกล่า รวมถึงการวางกลยุทธ์เมื่อเกิดการปะทะ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนต้องตัดสินใจทันที ไม่สามารถรอให้เกิดการโต้เถียงเด็ดขาดเพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิต ดังนั้นหากเรามองแนวทางเหล่านี้ในมุมของธุรกิจ เราสามารถถามตัวเองได้ว่าการตัดสินใจของเราได้รับความเชื่อมั่นจากลูกทีมมากพอแล้วหรือไม่ หากคำตอบเป็นไปในทางบวกก็แปลว่าคุณกำลังอยู่บนเส้นทางที่ถูกต้องแล้ว

ท้ายสุดระบบเลือกตั้งของโจรสลัดคือสิ่งที่ทำให้เกิดการแข่งขันของผู้นำขึ้น แน่นอนว่ากัปตันคือผู้มีอำนาจสูงสุดตามกฎ แต่หากลูกเรือเห็นว่ากัปตันไม่มีศักยภาพหรือเป็นฝ่ายทำอะไรขัดแย้งกับกฎที่ตั้งไว้เอง พวกเขาก็มักตั้งคนมาดำรงตำแหน่งแทนหรืออย่างน้อยก็เพื่อคานอำนาจกับความไม่ถูกต้องบนเรือ และแน่นอนว่าหากการภาวะการเป็นผู้นำของกัปตันถูกตั้งคำถามแล้ว ก็เป็นไปได้สูงมากว่าเขาจะหลุดจากตำแหน่งในการลงคะแนนครั้งต่อไป ดังนั้นกัปตันเรือจึงต้องทำหน้าที่ของตนอย่างดีที่สุด เด็ดขาดที่สุด น่าเกรงขามที่สุด ตลอดจนดูแลคนภายใต้การปกครองของตนอย่างดีที่สุดเท่านั้น

เรื่องราวของโจรสลัดที่ถูกลูกเรือปฏิเสธมีให้เห็นมากมาย
แต่ที่มีชื่อเสียงที่สุดก็คือเรื่องของกัปตันวิลเลียมส์ ลูอิส (William Lewis) เจ้าของเรือ Morning Star ที่มีชื่อเสียงจากการเอาชนะเรือรบฝรั่งเศสที่ติดตั้งปืนถึง 24 กระบอก 
จาก One Piece ถึง Jack Sparrow : การบริหารจัดการแบบโจรสลัดและวิธีสร้างแบรนด์ที่ HR ต้องรู้
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคือครั้งหนึ่งเรือของเขาถูกโจมตีจนเสียหายและมีทีท่าว่าจะไล่ตามเรือส่งสินค้าไม่ทัน แต่จู่ ๆ เขาก็ตัดผมและชูขึ้นฟ้าก่อนตะโกนเรียกหาเหล่าปิศาจตามความเชื่อ
ทันใดนั้นเรือของเขาก็เร็วขึ้นอย่างปาฏิหาริย์จนสามารถทำการปล้นได้สำเร็จ
อย่างไรก็ตามเหตุการณ์นี้ทำให้ลูกเรือไม่เชื่อมั่นเพราะคิดว่ากัปตันขายวิญญาณให้ปิศาจไปแล้ว
พวกเขาจึงตัดสินใจฆาตรกรรมกัปตันลูอิสขณะนอนหลับ ก่อนที่จะแบ่งสมบัติและหลบหนีไป

โจรสลัดมีวิธีการสรรหาบุคลากร (Recruitment) อย่างไร

จาก One Piece ถึง Jack Sparrow : การบริหารจัดการแบบโจรสลัดและวิธีสร้างแบรนด์ที่ HR ต้องรู้

หลายคนคงสงสัยว่าโจรสลัดในยุครุ่งเรืองมีวิธีรับคนอย่างไร แตกต่างจากธุรกิจอื่น ๆ หรือมีตำแหน่งคล้ายกับ HR คอยบริหารจัดการหรือไม่ ? ตำตอบก็คือท้ายสุดแล้วโจรสลัดก็ยังเป็นโจรอยู่ดี ไม่ได้มีความเป็นพระเอกสุดคูลเหมือนที่เราเห็นกันตามภาพยนตร์ ดังนั้นการรับคนจึงมีทั้งแบบเปิดรับที่ดูมีอารยะเรื่อยไปจนถึงการลักพาตัวหรือค้าแรงงานทาส โดยแบ่งเป็นวิธีการหลัก ๆ ดังนี้

  • การเป็นโจรสลัดด้วยปัจจัยด้านชาติกำเนิด : ในยุครุ่งเรืองของโจรสลัด เด็กที่เกิดในครอบครัวโจรสลัดมีแนวโน้มที่จะก้าวขึ้นมาเป็นโจรสลัดเช่นกันซึ่งในที่นี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะเด็กชายเท่านั้นเพราะเคยมีกรณีของเกรซ โอ มอลลีย์ (Grace O’Mally) นักเดินเรือชาวไอริชที่เลือกเดินบนเส้นทางนี้หลังพ่อของเธอเสียชีวิตและประสบความสำเร็จจนได้รับฉายา “ราชินีแห่งวงการโจรสลัด” (The Pirate Queen)
  • การจัดฉาก : โจรสลัดมีความโดดเด่นทั้งในด้านคาแรกเตอร์และเม็ดเงินที่มากพอในการทำให้หลายคนยอมเสี่ยง ดังนั้นจึงมีบุคลากรมากมายที่อยากเป็นส่วนหนึ่งของเรือ และขอให้กัปตันเรือจัดฉากลักพาตัวขึ้นมาเพื่อใช้เป็นข้ออ้างแสดงความบริสุทธิ์ใจหากถูกจับโดยภาครัฐ
  • การแลกเปลี่ยน : มีการบันทึกว่าลูกเรือจำนวนไม่น้อยคือคนที่ยอมเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้เพื่อแลกเปลี่ยนกับอิสรภาพหรือความตายหลังจากที่เรือต้นสังกัดเดิมถูกโจมตีจนพ่ายแพ้ ทั้งนี้งานบนเรือมีหลากหลายมาก ต่างคนก็จะถูกจัดสรรให้ทำในจุดที่ตนถนัดเป็นหลัก ซึ่งก็มีเชลยศึกที่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นโจรสลัดยอดฝีมือได้เช่นกัน
  • การให้สวัสดิการที่ดีกว่า : ปัญหาของโจรสลัดก็คือการต่อสู้กับคนที่เป็นทหารเรือจริง ๆ ซึ่งมีความพร้อมทั้งด้านอาวุธและวินัย ดังนั้นวิธีแก้ที่ดีที่สุดก็คือการมอบสวัสดิการที่ดีเป็นพิเศษให้กับเหล่าทหารเรือเพื่อโน้มน้าวให้แปรพักต์มาร่วมรบกับพวกเขา วิธีนี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจในแง่ที่ว่าหากเราเข้าใจจุดอ่อนของตัวเองและรู้ว่าสามารถแก้ไขด้วยกลยุทธ์ใด ให้เรารีบจัดการทันทีแม้จะหมายถึงการใช้ทรัพยากรมากขึ้นก็ตาม
  • เลือกคนที่ศักยภาพ ไม่ใช่สีผิวหรือชาติพันธุ์ : โจรสลัดรู้ดีว่างานทุกอย่างจะสำเร็จได้ต่อเมื่อทุกคนในทีมให้ความร่วมมือกัน ไม่ใช่แค่ฝีมือของกัปตันใหญ่เท่านั้น เช่นบางตำแหน่งมีหน้าที่ต่อสู้ให้ชนะ, บางตำแหน่งมีหน้าที่บริหารจัดการลูกเรือให้พร้อมรบ, บางตำแหน่งมีหน้าที่เก็บรักษาทรัพย์สินที่ได้มาอย่างดีที่สุดก่อนจะถึงฝั่ง, บางตำแหน่งมีหน้าเจรจาต่อรองกับฝ่ายตรงข้ามและพันธมิตร, บางตำแหน่งมีหน้าที่รักษาพยาบาล ซึ่งถ้าขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไปภารกิจก็อาจล้มเหลวได้เลย ดังนั้นโจรสลัดจึงพร้อมทุ่มเพื่อให้ได้บุคลากรที่ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรจากเรือฝ่ายตรงข้ามหรืออดีตทหารก็ตาม

บทสรุป

การบริหารทรัพยากรบุคคลสามารถประยุกต์ได้จากทุกสิ่งรอบตัวทั้งเรื่องราวในประวัติศาสตร์ หนังสือ บทเพลง การ์ตูน หรือแม้แต่คำพูดที่เป็นประโยชน์ เรื่องราวของโจรสลัดที่หลายคนมองว่าเป็นเพียงความบันเทิงหรือเป็นเรื่องของคนชั่วเท่านั้นก็มีมุมที่น่าสนใจสำหรับ HR เช่นกันอย่างที่เราถ่ายทอดออกมาในบทความนี้ 

ย้ำอีกครั้งว่าเราไม่ได้สนับสนุนการปล้นชิงซึ่งเป็นบริบทหลักของโจรสลัดแต่เราต้องการชี้ให้เห็นว่าทุกสิ่งรอบตัวมีเรื่องการบริหารทรัพยากรบุคคลแฝงอยู่เสมอทั้งทางตรงและทางอ้อมดังนั้นหากเราเป็นคนช่างสังเกตและนำความรู้ทั้งหมดมาบูรณาการให้เกิดประโยชน์เราก็อ่านได้แง่มุมใหม่ ๆ ที่ช่วยให้กระบวนการ HR มีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างแน่นอน

ผู้เขียน

Pumi Boonyatud

Pumi Boonyatud

a professional daydreamer. pro-wrestling god.

บทความที่เกี่ยวข้อง