Office Relocation : HR ควรทำอย่างไรเมื่อต้องย้ายออฟฟิศ

HIGHLIGHT

  • เมื่อถึงจุดหนึ่งการย้ายออฟฟิศ (Office Relocation) คือสิ่งที่บริษัทหลีกเลี่ยงไม่ได้หากต้องการความก้าวหน้า แต่ขณะเดียวกันมันก็เป็นดาบสองคมที่จะส่งผลกระทบทั้งดีและร้ายได้เสมอหากปราศจากกำกับดูแลที่ถูกวิธี ซึ่งอาจร้ายแรงถึงขั้นทำให้พนักงานลาออกเลยทีเดียว
  • บริษัทจึงควรคิดถึงการย้ายออฟฟิศ (Office Relocation) ต่อเมื่อมั่นใจว่าจะส่งผลดีต่อบริษัท และช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับพนักงานเท่านั้น เพราะหากพุ่งเป้าไปเพียงแค่การย้ายที่โดยไม่มีแผนงานรองรับ การโยกย้ายดังกล่าวก็อาจไปทำลายโครงสร้างทางการเงินและสูญเสียลูกค้าโดยไม่ทันตั้งตัว
  • สิ่งสำคัญอีกอย่างของการย้ายออฟฟิศ (Office Relocation) ก็คือการมีแผนสำรองไว้รองรับเสมอ เพราะปัญหา “งบบานปลาย” เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปในสถานการณ์แบบนี้ รวมถึงความพร้อมในการรับมือกับ “ระยะปรับตัว” ที่อาจทำให้งานหยุดชะงัก
  • ดังนั้น HR จึงต้องมีบทบาทสำคัญในการย้ายออฟฟิศ (Office Relocation) ในฐานะ “ตัวกลาง” ระหว่างบริษัทและพนักงาน แผนกทรัพยากรมนุษย์ที่ดีจะต้องพร้อมรับฟังเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาอย่างดีที่สุด แม้จะเป็นเรื่องยากหรือมีขั้นตอนวุ่นวายแค่ไหนก็ตาม

Office Relocation : HR ควรทำอย่างไรเมื่อต้องย้ายออฟฟิศ

การย้ายออฟฟิศ (Office Relocation) เป็นหนึ่งในสัญญาณเชิงบวกที่สะท้อนถึงการเติบโตและความกระตือรือร้นของบริษัท เพราะเมื่อมีพนักงานเพิ่มขึ้น ออฟฟิศเดิมอาจมีพื้นที่ไม่เพียงพอ เกิดความแออัดและปัญหาด้านสุขอนามัย ทำให้พนักงานขาดสมาธิจนส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานในองค์รวม

อย่างไรก็ตามการย้ายออฟฟิศแม้จะเป็นเรื่องน่ายินดี แต่ก็มีปัญหาที่บริษัทต้องบริหารจัดการเช่นกัน โดยเฉพาะกรณีที่บริษัทย้ายห่างจากที่ตั้งเดิมไปมาก เนื่องจากพนักงานบางคนอาจรู้สึกไม่พอใจกับการเดินทางที่ยุ่งยากกว่าเดิมซึ่งอาจนำไปสู่การลาออกได้เลย ดังนั้นหากบริษัทของคุณมีแผนย้ายออฟฟิศ ฝ่าย HR ก็ควรมีข้อมูลและวิธีบริหารจัดการที่ดีเพื่อชี้แจงกับบุคลากรให้รับรู้ถึงความจำเป็น ตลอดจนคิดหาแนวทางช่วยเหลือของบริษัทเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านเกิดประโยชน์สูงสุด

บริษัทควรคิดเรื่อง Office Relocation เมื่อใด

การย้ายออฟฟิศ (Office Relocation) มีเหตุผลที่แตกต่างกันไป ยกตัวอย่างเช่นสโมสรฟุตบอลเอฟเวอร์ตันในพรีเมียร์ลีค อังกฤษที่เตรียมย้ายสนามเหย้าและออฟฟิศบางส่วนจากบริเวณสนาม Goodison Park ไปที่ Bramley-Moore Dock ซึ่งหากกันประมาณ 4 กิโลเมตร โดยมีเป้าหมายเพื่อลดความแออัดของที่ทำงาน, เตรียมพื้นที่เพื่อรองรับการเติบโต, แสดงวิสัยทัศน์ของสโมสรเพื่อดึงดูดคนเก่ง ตลอดจนการเพิ่มพื้นที่สาธารณะให้คนท้องถิ่นเข้ามาใช้งาน 

ขณะที่ KAYAC บริษัทครีเอทีฟชื่อดังจากญี่ปุ่นมีนโยบายย้ายออฟฟิศอยู่ 2 ประเภท ได้แก่ระยะสั้นคือการ “ย้ายออฟฟิศชั่วคราวไปรอบโลก” ตามคำเรียกร้องของพนักงานที่อยากเที่ยวเพื่อสรรหาไอเดียใหม่ ๆ มาสร้างผลงานภายใต้งบประมาณและการดูแลของบริษัท ขณะที่นโยบายระยะยาวคือการ “ย้ายออฟฟิศไปที่จังหวัดคามาคุระ” ซึ่งอยู่ห่างจากโตเกียวราว 60 กิโลเมตร

ในที่นี้บริษัทต้องการความเงียบสงบของจังหวัดมาเป็นรากฐานในการทำงาน ตลอดจนการทดลองสร้าง “เมืองต้นแบบสำหรับการทำงาน” เพื่อตอบสนองความต้องการพื้นฐานทั้งจากพนักงาน KAYAC เองจากบริษัทพันธมิตรอื่น ๆ เช่นโรงอาหารส่วนตัวที่ไม่ต้องไปแย่งกับนักท่องเที่ยว, ศูนย์พัฒนาเด็กที่ช่วยให้ผู้ปกครองมาทำงานอย่างสบายใจ เป็นต้น 

ทั้งนี้แม้จะเป็นนโยบายหลัก แต่บริษัทก็เข้าใจว่าทุกคนมีภาระหน้าที่ต่างกัน การเดินทางไกลแม้จะมีสวัสดิการรองรับก็อาจทดแทนกันไม่ได้ ดังนั้น KAYAC จึงสร้างออฟฟิศอีกแห่งไว้รองรับที่สถานีอากิฮาบาระ ใจกลางกรุงโตเกียว

ตัวอย่างข้างต้นถือเป็นภาพแสดงเบื้องต้นว่า Office Relocation ต้องคำนึงถึงสิ่งใดบ้าง แต่ถ้าบริษัทของคุณกำลังอยู่ระหว่างการตัดสินใจ ก็สามารถแบ่งหัวข้อพิจารณาเป็นส่วนย่อย ๆ ดังนี้

– พิจารณาว่าที่ตั้งใหม่ดีกว่าเดิมหรือไม่ : อย่างแรกต้องตอบให้ได้ก่อนว่าสถานที่ใหม่ดีกว่าเดิมอย่างไร เช่นมีพื้นที่มากขึ้น, เหมาะกับรูปแบบการทำงานมากขึ้น, ใกล้กับแหล่งวัตถุดิบหรือลูกค้ามากขึ้น, เดินทางง่ายขึ้น, ค่าเช่าคุ้มค่าขึ้น เป็นต้น

– พิจารณาว่างบประมาณเพียงพอหรือไม่ : ต้องเข้าใจก่อนว่าการย้ายออฟฟิศต้องใช้เงินมหาศาลครอบคลุมทั้งก่อนและหลังย้าย ดังนั้นทีมบริหารต้องมั่นใจว่าจะไม่เกิดผลกระทบต่อโครงสร้างทางการเงินของบริษัท ซึ่งค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นประกอบด้วยค่าเช่าสถานที่และมัดจำ, ค่ายกเลิกบริการเครื่องใช้ไฟฟ้าของออฟฟิศเดิมและค่าติดตั้งอุปกรณ์ในออฟฟิศใหม่, ค่าจนย้ายและเงินสำรองเผื่อกรณีที่เกิดความเสียหายระหว่างทาง, ค่าจ้าง Project Manager ที่คอยควบคุมเรื่องการขนย้ายซึ่งเป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้โดยเฉพาะการย้ายออฟฟิศขนาดใหญ่

– พิจารณาว่าพนักงานได้ประโยชน์หรือไม่ : การย้ายออฟฟิศต้องไม่ตอบโจทย์เฉพาะบริษัทเท่านั้น แต่ควรช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของพนักงานด้วย ดังนั้นหากบริษัทเล็งเห็นว่าออฟฟิศเดิมไม่ตอบโจทย์ ออฟฟิศใหม่ก็ควรมีพื้นที่ในการสร้างนวัตกรรมการทำงานใหม่ ๆ เช่นห้องทำสมาธิ ห้องอาหาร ห้องนอน ฯลฯ รวมถึงเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งที่อ้างอิงกับแผนงานดังกล่าว แต่หากออฟฟิศใหม่ไม่สามารถทำหน้าที่ตรงนี้ได้ ก็อาจต้องพิจารณาในแง่มุมอื่นว่า Office Relocation เป็นแนวทางที่ดีที่สุดหรือไม่

– พิจารณาว่าบริษัทถึงเวลาเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หรือยัง : Rebranding คือสิ่งสำคัญของธุรกิจเพราะจะช่วยเพิ่มความ “สดใหม่” ให้กับชิ้นงาน ซึ่งการย้ายออฟฟิศสามารถตอบโจทย์เรื่องนี้โดยตรงเพราะจะทำให้พนักงานได้เจอบรรยากาศและวัฒนธรรมองค์กรแบบใหม่ อีกทั้งยังได้ตกแต่งรูปแบบออฟฟิศเพื่อสะท้อนมุมมองธุรกิจ (Business Viewpoint) ของบริษัท ซึ่งจะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้มาเยือนได้มากกว่าเดิม 

Office Relocation การย้ายออฟฟิศมีประโยชน์ต่อธุรกิจอย่างไร

หากเราพิจารณาเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมดและยังได้คำตอบว่า “สมควรย้ายออฟฟิศ” อยู่ดี ก็สามารถดำเนินการได้เลย แต่หากต้องการเหตุผลเพิ่มขึ้นอีกนิด เราจะอธิบายให้ฟังว่า Office Relocation มีประโยชน์ต่อธุรกิจอย่างไร

Office Relocation HR ควรทำอย่างไรเมื่อต้องย้ายออฟฟิศ

– การย้ายออฟฟิศจะช่วยให้บริษัทใช้พื้นที่ได้อย่่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น : เป้าหมายใหญ่ของการทำธุรกิจทุกประเภทคือ “ผลกำไรและความสุขในการทำงาน” การมีทั้งสองอย่างควบคู่กันไปถือเป็นอุดมคติที่ทุกฝ่ายอยากให้เกิดขึ้น และการเติบโตทางธุรกิจย่อมหมายถึงการเพิ่มจำนวนพนักงานขึ้นตามสมควรเช่นกัน เหตุนี้ทุกออฟฟิศจึงต้องมีช่วงเวลาหนึ่งที่รู้สึกว่าสถานที่เดิมคับแคบเกินไป ไม่สะดวกสบายเหมือนเดิม สิ่งเหล่านี้นอกจากจะทำให้พนักงานเดิมอึดอัดแล้วยังทำให้ไม่ดึงดูดพนักงานหน้าใหม่อีกด้วย

Office Relocation HR ควรทำอย่างไรเมื่อต้องย้ายออฟฟิศ

อย่างไรก็ตามปัญหาที่ตามมาก็คือออฟฟิศที่ผ่านการใช้งานมานานย่อมมีพื้นที่ที่ถูกจัดสรรโดยแก้ไขอะไรไม่ได้อยู่มากมาย การย้ายออฟฟิศให้ตอบโจทย์ของบริษัทมากขึ้นจึงเป็นเหมือนการ “นับหนึ่ง” ให้บริษัทถูกจัดระเบียบอีกครั้ง อย่างไรก็ตามการย้ายออฟฟิศไม่ได้จำกัดเฉพาะเมื่อบริษัท “เติบโต” เท่านั้น แต่ยังรวมถึงเมื่อบริษัท “ลดขนาด” เพราะคงไม่ดีแน่ ๆ หากบริษัทต้องลดจำนวนคนแต่ยังใช้พื้นที่ออฟฟิศที่ใหญ่โต ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุแถมยังทำให้การติดต่อสื่อสารยากขึ้นอีกด้วย

– การย้ายออฟฟิศจะช่วยให้บริษัทเข้าถึงได้ง่ายขึ้น : ที่ตั้งออฟฟิศมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าขนาด ความทันสมัย และข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ เพราะทำเลที่ดีจะช่วยให้คนเข้าถึงออฟฟิศได้ง่าย ทั้งลูกค้า, พนักงาน รวมถึงความโล่งใจของคนที่ได้ยินว่าออฟฟิศตั้งอยู่ในจุดที่คุ้นเคยไม่ใช่พื้นที่ห่างไกล นอกจากนี้การย้ายออฟฟิศให้อยู่ใกล้กับพาร์ทเนอร์อาจช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งได้ด้วย

– การย้ายออฟฟิศจะช่วยให้พนักงานตื่นตัวขึ้น : การอบรมอาจไม่ได้ผลหากทำเสร็จแล้วแต่พนักงานยังอยู่ในสภาพแวดล้อมเดิม ๆ ที่ไม่สามารถนำความรู้ไปทดลองใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้นพื้นที่ออฟฟิศที่ใหญ่ขึ้นจะทำให้บริษัทให้ความสำคัญกับการจัดตั้งพื้นที่ส่วนกลางสำหรับทำเวิร์คช็อป (Workshop) หรือพื้นที่ส่วนกลางที่เป็นสวัสดิการพนักงานได้อย่างเต็มที่ พื้นที่เหล่านี้จะทำให้พนักงานรู้สึกผ่อนคลาย มีที่พักผ่อนหย่อนใจให้พร้อมต่อการทำงานหนัก ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อพลังสร้างสรรค์ที่ถือเป็นปัจจัยสำคัญของการทำงาน ออฟฟิศที่คับแคบเกินไปจะทำให้หันไปทางไหนก็เจอแต่ความเครียด ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อสุขภาพจิตของพนักงานแน่นอน

Office Relocation การย้ายออฟฟิศส่งผลเสียต่อธุรกิจอย่างไร

การย้ายออฟฟิศทำให้ข้าวของเสียหาย : ปฏิเสธไม่ได้ว่าการย้ายออฟฟิศต้องทำด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะออฟฟิศที่มีอุปกรณ์วิทยาศาสตร์, อุปกรทางการแพทย์ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่สั่งทำเป็นพิเศษ การย้ายอุปกรณ์เหล่านี้จำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญคอยกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดเสมอ ทั้งนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นประจำระหว่างการทำ Office Relocation ก็คือบริษัทพยายามลดต้นทุนด้วยการใช่้บรรจุภัณฑ์คุณภาพต่ำเพราะมองว่าบรรจุภัณฑ์เหล่านี้เป็นสิ่งที่ “ใช้แล้วทิ้ง” โดยลืมไปว่าทุกอย่างในออฟฟิศมีความสำคัญเสมอ ไม่เว้นแม้แต่เอกสารเพียงหนึ่งแผ่น ดังนั้นเราควร “กล้าลงทุน” กับเรื่อง Office Relocation เพื่อให้การเคลื่อนย้ายเป็นไปอย่างสมบูรณ์แบบที่สุด

– การย้ายออฟฟิศทำให้พนักงานบางคนลาออก : เพราะพนักงานแต่ละคนมีภาระหน้าที่ต่างกัน หากออฟฟิศใหม่ย้ายไปอยู่ไกลกว่าเดิมจนไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเคย และ HR ไม่สามารถหาทางออกที่พึงพอใจได้ ก็มีโอกาสสูงที่พนักงานคนดังกล่าวจะตัดสินใจลาออกเพื่อหาบริษัทที่ตรงกับวิถีชีวิตมากกว่า อย่างไรก็ตามอย่าลืมว่าออฟฟิศที่ใหญ่ขึ้น มีระเบียบขึ้นก็สามารถโน้มน้าวให้เกิดการจ้างงานใหม่ ๆ ได้เช่นกัน ดังนั้นหากบริษัทสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลเท่าไรนัก

HR มีข้อสงสัยหรือคำถามเกี่ยวกับประเด็นนี้ 

Q&A HR Board

Q: บริษัทต้องการให้เราย้ายไปอยู่กับบริษัทในเครือ สามารถทำได้หรือไม่

ตอนนี้ทำอยู่ที่บริษัทแม่ ซึ่งมีบริษัทลูกจำนวน 5 บริษัทแต่กำลังจะถูกยุบแผนก โดยบริษัทเสนอทางเลือกให้ย้ายไปทำงานสายเดิมกับบริษัทในเครือที่ไหนก็ได้และยังคงมีสวัสดิการทุกอย่างเหมือนเดิม ในกรณีนี้ถ้าเราไม่อยากย้าย สามารถแจ้งลาออกออกและขอค่าชดเชยได้ไหม หรือบริษัทสามารถบีบให้เราอยู่ไปเรื่อย ๆ จนทนไม่ไหวและลาออกเอง

A: การโอนย้ายลูกจ้างไปทำงานกับบริษัทในเครือถือเป็นการเปลี่ยนตัวนายจ้าง เพราะแม้จะเป็นเครือเดียวกัน แต่ก็เป็นคนละนิติบุคคล

การย้ายบริษัทในเครือ ผมเคยบริหาร Case นี้อยู่หลายครั้ง ซึ่งในแง่ของ HR ต้องพูดคุยกับพนักงานถึงเหตุผลการโอนย้าย โดยเราจะไม่สามารถลดเงินเดือนพนักงาน แต่สามารถเปลี่ยนแปลงสวัสดิการบางอย่างภายใต้ขอบเขตของงานใหม่ที่ต้องไปทำ

,,, (คลิกดูคำตอบทั้งหมด👇)

Q&A HR Board

– การย้ายออฟฟิศทำให้เสียลูกค้า : อย่าลืมว่าการทำธุรกิจคือการสื่อสารสองทางเพื่อให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์สูงสุด ดังนั้นต้องคำนึงว่าลูกค้าประจำของเราเกิดความยุ่งยากในการทำงานและมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นหรือไม่ เมื่อวิเคราะห์สถานการณ์เสร็จแล้ว ให้สื่อสารกับลูกค้าอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความเชื่อมั่น และอาจเชิญลูกค้ามาเยี่ยมชมออฟฟิศใหม่ระหว่างขนย้ายเพื่อให้รู้สึกคุ้นเคยและเข้าใจว่าการย้ายออฟฟิศก็ถือเป็นประโยชน์ของเขาเช่นกัน

การย้ายออฟฟิศทำให้มีค่าใช้จ่ายมากขึ้น : การย้ายออฟฟิศคือการเพิ่มค่าใช้จ่าย ดังนั้นบริษัทควรมีแผนการเงินรองรับเอาไว้ในกรณีที่ค่าใช้จ่ายบานปลาย เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจในภาพรวม

การย้ายออฟฟิศทำให้ธุรกิจติดขัด : เพราะ “ช่วงเปลี่ยนผ่าน” ต้องอาศัยเวลาในการบริหารจัดการและวางระบบสักระยะหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่นการเกิดค่าใช้จ่ายที่บานปลายซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัทควรวางแผนล่วงหน้าตั้งแต่ต้น, ปัญหาพนักงานไม่คุ้นชินกับสถานที่ใหม่ ซึ่งแก้ได้ด้วยการกิจกรรมเชื่อมความสัมพันธ์เป็นระยะเพราะนอกจากจะสร้างความสัมพันธ์ภายในทีมแล้วยังเปิดโอกาสให้พนักแต่ละแผนกได้พบเจอกันอีกด้วย และท้ายที่สุดคือปัญหาเรื่องอุปกรณ์ใช้งานไม่ได้หลังจากย้ายออฟฟิศซึ่งจะทำให้การทำงานชะงักลง วิธีแก้ไขคือการมีคนคอยอัพเดทสถานการณ์กับพนักงานและลูกค้าเสมอ เพื่อเตรียมพร้อมหากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น

HR ควรบริหารจัดการเรื่อง Office Relocation อย่างไร 

การย้ายออฟฟิศ (Office Relocation) คือ “การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่” ของบริษัท แต่ในเชิง HR แล้ว ต้องยอมรับว่าการย้ายที่ทำงานส่งผลโดยตรงต่อเรื่องทรัพยากรบุคคล ดังนั้นเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านเกิดขึ้นอย่างมีเสถียรภาพ HR สามารถประสานงานกับพนักงานได้ด้วยการใช้ 5 วิธีนี้

– การย้ายออฟฟิศต้องอธิบายอย่างมีเหตุผล : HR ต้องบอกเรื่องการย้ายออฟฟิศกับพนักงานให้เร็วที่สุดเพื่อให้พนักงานมีเวลาเตรียมตัวและตัดสินใจว่าการย้ายที่ทำงานจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างไร และเพื่อให้พนักงานรับข้อมูลจากบริษัทเป็นที่แรก ไม่เข้าใจผิดด้วยข้อมูลที่พนักงานคนอื่นพูดต่อ ๆ กันมา

การย้ายออฟฟิศต้องมีเหตุผลชัดเจน : HR ต้องอธิบายเหตุผลและหาแนวทางแก้ไขเอาไว้ล่วงหน้า โดยอาจเป็นการพูดคุยแบบส่วนตัว หรือพูดคุยแยกเป็นแผนกก็ได้ วิธีนี้จะทำให้พนักงานได้พูดถึงสิ่งที่กังวลใจและทำให้ HR สามารถแก้ปัญหาแบบตรงจุด โดยมีโจทย์สำคัญคือ HR ต้องเป็นผู้ฟังและผู้สนับสนุนที่ดี

การย้ายออฟฟิศไม่ได้ทำให้ทุกคนพอใจ : HR ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับพนักงานที่ไม่พอใจโดยตรง เพราะอย่าลืมวาพนักงานทุกคนรเลือกสมัครงานเข้ามาด้วยหลากหลายเหตุผล บ้างชื่นชอบในเนื้องาน บ้างคาดหวังถึงการเติบโต และบ้างคาดหวังถึงความสะดวกสบายใจการจัดการแง่มุมอื่นของชีวิต เช่นการดูแลบุตรกับครอบครัว เป็นต้น ดังนั้น HR ต้องทำให้พนักงานเห็นพ้องต้องกันให้ได้ว่าออฟฟิศเดิมนั้นไม่เหมาะต่อการใช้งานอีกต่อไป รวมถึงออฟฟิศใหม่จะช่วยเพิ่มศักยภาพของพนักงานได้อย่างไร ซึ่งถ้าพนักงานมีความเข้าใจร่วมเหมือนกันตรงนี้ก็จะช่วยให้ Office Relocation เป็นไปได้อย่างราบรื่นมากขึ้น

– การย้ายออฟฟิศต้องอาศัยการเปิดใจของ HR : แม้แผนกทรัพยากรบุคคลจะเข้าใจเหตุผลทุกอย่างของการบริหาร แต่ก็ต้องคำนึงถึงการรักษาบุคลากร (Employee Retention) ด้วย ดังนั้น HR ต้อง “พร้อมเปิดใจ” รับฟังเหตุผลโดยไม่มีอคติ (bias) รวมถึงหาข้อมูลไว้อ้างอิงว่าพนักงานแต่ละท่านพักอาศัยอยู่ที่ใด, การเดินทางไปออฟฟิศใหม่ที่ง่ายที่สุดทำอย่างไร, บริษัทควรสรรหารถรับ-ส่งจากจุดที่ตั้งเดิมหรือไม่ การเตรียม “ทางเลือก” เอาไว้ล่วงหน้าจะทำให้พนักงานเห็นถึงความใส่ใจ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่จะก่อให้เกิด “ความเชื่อใจ” ตามมา

– การย้ายออฟฟิศต้องรายงานความคืบหน้าเป็นประจำ : หลังจากที่ HR แจ้งวันที่และเหตุผลในการย้ายที่ทำงานแล้ว พวกเขาจำเป็นต้องรายงานเรื่องพัฒนาการของออฟฟิศใหม่เป็นระยะอีกด้วย วิธีนี้จะทำให้พนักงานรู้สึก “เป็นส่วนหนึ่ง” ของการเปลี่ยนแปลง ไม่ถูกทิ้งไว้กลางทาง และประมาณได้ว่าควรเตรียมตัวเพื่อโยกย้ายอย่างไร ทั้งนี้แนะนำให้บริษัทใช้ช่องทางสื่อสารให้หลากหลาย เช่นอีเมลล์, จัดประชุม, ติดป้าย เป็นต้น เพื่อให้แน่ใจว่าพนักงานมีโอกาสรับรู้ข่าวสารเท่า ๆ กัน

บทสรุป

การย้ายออฟฟิศ (Office Relocation) เป็นบริบทสำคัญที่ส่งผลโดยตรงต่อความเปลี่ยนแปลงของบริษัททั้งในแง่ของการเติบโต และในแง่ของการลดขนาดปรับโครนสร้างเพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ ดังนั้นจึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายโดยเฉพาะ HR ที่เป็นเหมือนตัวกลางระหว่างผู้บริหารและพนักงาน นอกจากนี้การย้ายออฟฟิศยังเป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่าบริษัท “มีวิสัยทัศน์” ต่ออนาคตอย่างไร ใส่ใจพนักงานแค่ไหน หรือกล่าวได้ว่า Office Relocation ที่ดีสามารถยกระดับบริษัทให้เติบโตได้อย่างแข็งแรงขึ้น ดังนั้นประสบการณ์ของ HR คือปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การย้ายออฟฟิศราบรื่นและเกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่ายอย่างแท้จริง

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง