HIGHLIGHT
|
ไม่กี่ปีมานี้ HRBP หรือ HR Business Partner เป็นตำแหน่งที่ได้รับการพูดถึงในวงกว้าง จนทำให้ HRBP กลายเป็นคำฮอตฮิตประจำวงการทรัพยากรมนุษย์ทีเดียว เพราะ HR ยุคใหม่ไม่ได้มีหน้าที่แค่งาน admin อย่างเดียวแล้ว แต่ต้องผันตัวกลายเป็นคู่หูทางธุรกิจขององค์กรมากขึ้น
แล้ว HRBP คืออะไร? ทำไม HR ต้องเปลี่ยนตัวเองเป็น Business Partner ด้วย บทความนี้จะอธิบายรายละเอียดให้ฟังกัน
Contents
HRBP คืออะไร
HRBP คือตำแหน่ง HR Business Partner เป็นฝ่ายทรัพยากรบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องการบริการคน พร้อมทั้งมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารธุรกิจ
กล่าวคือ HRBP เป็นตำแหน่งที่จะต้องบริหารคนให้สอดคล้องกับแผนธุรกิจขององค์กร ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนอัตรากำลังคน การสรรหา การพัฒนา รวมไปถึงการรักษาขวัญกำลังใจพนักงานให้อยู่กับองค์กรในระยะยาว โดยตำแหน่งนี้จะทำงานเคียงคู่ใกล้ชิดกับผู้บริหารโดยตรง ซึ่งบางองค์กรอาจให้นั่งเป็นคณะกรรมการบริหารหรือทำงานร่วมกับผู้บริหาร C-Level ทีเดียว
HRBP จึงเป็นตำแหน่งสำคัญที่ไม่ใช่ว่าใครจะมาเป็นก็ได้ แต่ต้องมีประสบการณ์การทำงานพอสมควร พร้อมทั้งรู้จักสภาพแวดล้อมของธุรกิจที่ตัวเองอยู่เป็นอย่างดี เพราะจะต้องทำหน้าที่บริหารคนและบริหารธุรกิจควบคู่กันไป
ทำไม HR ต้องเปลี่ยนตัวเองเป็น Business Partner ด้วย
เพราะโลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของ COVID-19 ที่เร่งปฏิกริยาให้ทุกองค์กรต้องปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อเข้าสู่การทำงานในยุคดิจิทัลมากขึ้น วงการ HR ก็เช่นกัน เพราะหลายปีก่อนมีหลาย ๆ สำนักระบุไปในทิศทางเดียวกันว่า HR เองก็ต้องพร้อมสู่การเปลี่ยนแปลงในโลกดิจิทัล หรือที่เราเรียกกันว่า HR Transformation
HRBP คือผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงนั้น ซึ่งว่ากันว่า เดฟ อุลริช (Dave Ulrich) ปรมาณจารย์ด้านทรัพยากรบุคคลน่าจะเป็นคนแรก ๆ ที่ใช้คำว่า HR Business Partner ตั้งแต่ยุค 90’s โดยนิยามว่าคือ การทำงานที่ต้องใกล้ชิดกับฝ่ายธุรกิจในการออกแบบและผลักดันกระบวนการบริหารคนในองค์กรให้สอดคล้องกับเป้าหมายทางธุรกิจ ทำให้ HR ต้องกระจายไปทำงานร่วมกับแผนกธุรกิจในองค์กร มากกว่าแค่นั่งทำงานอยู่ในห้องแผนกเดียวเหมือนก่อน เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ HRBP ต้องทำ คือ การทำให้องค์กรประสบความสำเร็จในตลาด
ทั้งนี้ จากบทสัมภาษณ์ที่ HREX ได้คุยกับคุณ เจน – ณัฏฐวัฒน์ วัฒนธเนศ Founder and Executive Consultant Jenphob – The Innocreative Business Solution and Consultation เขาตั้งข้อสังเกตว่า คำว่า HRBP (HR Business Partner) เป็นคำกลางเก่ากลางใหม่ แต่หลังจาก COVID-19 เราต้องให้คำนิยามคำว่า Business Partner ใหม่อีกครั้ง
“สมัยก่อนคำว่า HR Business Partner คือ HR ต้องทำเงินด้วยนะ สร้างมูลค่าให้กับบริษัทได้บ้าง แต่หลังจาก COVID-19 อาจไม่ใช่แค่เรื่องเม็ดเงินอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องการปรับองค์กรให้พร้อมรับมือกับทุก ๆ สถานการณ์ รวมไปถึงตัว HR เองก็ต้องคอยพิทักษ์และพัฒนาพนักงานที่มีความรู้ความสามารถ ให้เขาทำงานและสร้างมูลค่าให้กับองค์กรมากขึ้น ที่สำคัญคือการป้องกันการลาออกของ Talents ด้วย ซึ่งนั้นอาจจะเป็นการสูญเสียที่ประเมินค่าไม่ได้ ถ้าหากเราเสียพนักงานระดับเพชรยอดมงกุฎไป”
คำถามสำคัญก็คือ แล้ว HR Admin จะเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็น HR Business Partner ได้อย่างไร ?
“หลายครั้งคนมองว่า HR เป็นงานหลังบ้าน ถ้าองค์กรมองว่าเป็นงานหลังบ้านด้วยก็จะยิ่งเคลื่อนตัวช้า” คุณกานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล หรือ CHRO (Chief Human Resources Officer) แห่ง AIS เคยให้สัมภาษณ์กับเรา “HR ถ้าอยากยืนอยู่ข้างหน้า ก็ต้องอย่ามัวแต่ Enjoy กับสิ่งที่ทำประจำวัน หรือบริหารกิจกรรมเยอะจนไม่ได้บริหารคน แบบนี้จะไม่ทัน ต้องเข้าใจธุรกิจด้วย ว่าทุกๆ อาชีพ ทุก ๆ ตำแหน่งนั้นถือเป็น your own choice อยู่ที่ว่าเราจะลุกขึ้นมาทำตัวเองเป็นคนข้างหลังหรือคนข้างหน้า ต้องปรับ Skill set ตลอดเวลา บางครั้ง HR ก็ต้องเลือกทำในสิ่งที่ไม่ Popular บ้าง เพราะหลายครั้งที่ HR เลือกทำสิ่งที่ Popular เพื่อให้องค์กรพอใจ แต่ความพอใจนั้นกลับทำให้องค์กรเพลี่ยงพล้ำโดยไม่รู้ตัว”
กล่าวคือ เมื่อโลกเปลี่ยนแปลง คนก็จำเป็นต้องเปลี่ยน และ HR ก็ต้องลุกขึ้นมาปรับตัวอย่างจริงจัง คุณกานติมาย้ำว่า วันนี้งาน HR คือสร้างความพร้อมในอนาคต เข้าใจทิศทางธุรกิจแล้วไปสร้างคน เพราะวันนี้ HR ไม่ใช่งานหลังบ้านแล้ว แต่เป็นผู้จัดกลยุทธ์ต่างหาก
บทบาทหน้าที่ของ HRBP คืออะไร
มีเว็บไซต์มากมายที่พูดถึงบทบาทหน้าที่ของ HRBP ว่ามีอะไรบ้าง โดยในที่นี้เราอ้างอิงจากเว็บ personio ที่ได้แบ่งไว้ 5 ข้อหลัก ๆ ดังนี้
1) กำหนดกลยุทธ์กระบวนการทำงานของ HR
เพราะพนักงานเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าที่สุดขององค์กร และการขาดแคลนพนักงานผู้เชี่ยวชาญหรือมีทักษะสำคัญ ถือเป็นหนึ่งในความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในฝ่ายทรัพยากรบุคคลเสมอมา
HRBP จึงต้องมีวิสัยทัศน์เชิงกลยุทธ์ในการระบุปัญหาของกระบวนการทำงาน ไล่ตั้งแต่กระบวนการสรรรหา การว่าจ้าง ไปจนถึงการรักษาพนักงานไม่ให้ลาออกอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาต้นทุนที่ต้องเสียไปในกระบวนการต่าง ๆ นั่นเอง
2) พัฒนาและการฝึกสอนพนักงาน
หลังจากรับพนักงานเข้ามาทำงานแล้ว HRBP ต้องตรวจสอบให้มั่นใจว่า พวกเขาทำงานอยู่บนเส้นทางที่ถูกต้องและช่วยขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างแท้จริง
ด้วยเหตุนี้ ฝ่ายทรัพยากรบุคคลจึงจำเป็นต้องเตรียมแผนพัฒนาทักษะสำหรับพนักงานรวมไปถึงผู้บริหารโดยเฉพาะ ซึ่งไม่เพียงเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานเท่านั้น แต่ยังเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในตลาดขององค์กรอีกด้วย และยังทำให้พวกเขารู้สึกดีที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กร ลดความเสี่ยงที่พวกเขาจะโบกมือลาจากบริษัทเรานั่นเอง
3) ทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้บริหารระดับสูง
HRBP จะมีบทบาทมากกว่าแค่ผู้จัดการระบบภายใน แต่ HRBP จะเป็นผู้เชื่อมโยงนโยบายโดยตรงจากผู้บริหารระดับสูงเกี่ยวกับการวางแผนและการปฏิบัติสู่กระบวนการทำงานของทรัพยากรบุคคล กล่าวคือจะทำงานเพื่อนสนับสนุนทีมผู้บริหารระดับสูงในการตัดสินใจที่สำคัญ เช่น จะสรรหาพนักงานใหม่กี่คน ทักษะใดที่ขาดหายไปจากทีมเพื่อรักษาความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง
ฉะนั้น HRBP ที่มีวิสัยทัศน์จะช่วยกำหนดอนาคตของบริษัทได้อย่างแข็งแกร่งมากขึ้น
4) กำหนดกระบวนการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล
นับความท้าทายที่ถาโถมเข้ามาเรื่อย ๆ เมื่อบุคลากรในฝ่าย HR กำลังเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงสู่การทำงานในยุคดิจิทัล ซึ่ง HRBP มีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาบทบาททางวิชาชีพใหม่ เพิ่มพลวัตทางเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในโครงสร้างการทำงาน รวมไปถึงกระบวนการต่าง ๆ เช่น การสรรหาและการปฐมนิเทศที่ปัจจุบันเป็นช่องทางออนไลน์มากขึ้น
นี่คือจุดที่ HRBP จะเป็นแกนนำในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัล โดยทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้บริหารระดับสูง เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงนั้น ๆ เป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ
5) สร้างแบรนด์ให้องค์กร
ในฐานะ HR Business Partner ฝ่ายทรัพยากรบุคคลจะต้องสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้เป็นจริง โดยเฉพาะวัฒนธรรมที่สนับสนุนการเติบโต ขณะเดียวกันก็จะต้องสื่อสารวัฒนธรรมองค์กรดังกล่าวให้ภายนอกรับรู้เช่นกัน เพื่อเป็นการสร้างแบรนด์ให้องค์กร พร้อมดึงดูดพนักงานคนเก่งจากที่อื่นให้สนใจเข้ามาสมัคร ท่ามกลางตลาดที่แข่งขันกันสูงมาก ๆ ในปัจจุบันและอนาคต
PMAT ได้เขียนถึงมุมมองของ Dave Ulrich ต่อบทบาท HR ในปี 2025 ว่า หลักการพื้นฐาน หรือ Principle ของ HR ในปี 2025 จะยังไม่เปลี่ยนไปคือ HR ยังคงต้อง
- สร้างมูลค่าให้กับองค์กร
- ค้นหา พัฒนา และสร้างพนักงานและผู้นำให้องค์กร
- วางแผนและปรับใช้เทคโนโลยีเพื่อทดแทนงานบางอย่าง
HR มีข้อสงสัยหรือคำถามเกี่ยวกับประเด็นนี้
Q: คิดว่าสายงาน hr จะเป็นอย่างไรใน 10-20 ปีข้างหน้า มันยังเป็นสายที่น่าดึงดูดอยู่หรือเปล่า Normally Person
เพื่อที่จะเตรียมตัวเรื่องเส้นทางอาชีพ (career path) การพัฒนาตัวเองเพื่อปรับตัว
A: สายงาน HR ยังมีความน่าดึงดูดแน่นอนครับ แต่อาจจะเปลี่ยนสภาพไปบ้าง จากการทำงาน HR Operation ทั่วไป ไปเน้นที่การพัฒนาองค์กรมากขึ้น
งาน HR ยังคงมีความสำคัญและน่าดึงดูดในอนาคต แต่คุณจำเป็นต้องพัฒนาตนเองให้ตอบสนองกับธุรกิจและความเปลี่ยนแปลงในอนาคตให้ได้จึงจะสามารถไล่ตามความเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้ได้ทัน,,, (คลิกดูคำตอบทั้งหมด👇)
HRBP เงินเดือน เท่าไหร่
จะว่าไปแล้วมีหลาย ๆ ปัจจัยที่ส่งผลต่อเงินเดือนของ HRBP ทั้งประสบการณ์การทำงาน อุตสาหกรรมที่อยู่ ภาษาที่ต้องใช้ รวมไปถึงลำดับขั้นของ HRBP เอง แต่จากการสำรวจในเว็บหางานหลาย ๆ เว็บไซต์พบว่า เงินเดือน HRBP จะอยู่ตั้งแต่ 30,000, 50,000 ไปจนถึง 100,000 บาท และอาจมีบางองค์กรในระดับนานาชาติให้สูงถึง 200,000 – 250,000 บาทเลยทีเดียว
ความสำคัญของ HRBP ในองค์กร
อย่างที่ทราบไปกันแล้วว่า งานของ HRBP คือ การสร้างคุณค่าให้กับบุคคลากร ทั้งพนักงานไปจนถึงผู้บริหาร เพื่อให้องค์กรสามารถแข่งขันและประสบความสำเร็จในตลาดได้
ความสำคัญของ HRBP คือจะต้องช่วยขับเคลื่อนแผนธุรกิจขององค์กรในมุมของการบริหารคนเข้าด้วยกัน ยกตัวอย่าง ถ้าฝ่ายธุรกิจบอกว่า ปีนี้จะต้องเน้นไปที่การผลิตโปรดักส์จำนวนมาก ๆ HRBP ก็จะต้องวางกลยุทธ์และแผนงานในด้านต่าง ๆ ของการบริหารทรัพยากรบุคคล เช่น จ้างแรงงานมากขึ้น ฝึกทักษะการผลิตให้แม่นยำ รวมไปถึงการส่งเสริมและสื่อสารให้บุคลากรทุกระดับในองค์กรดำเนินตามกลยุทธ์นี้
ทั้งนี้ McKinsey ได้แนะนำแนวทางการยกระดับ HRBP ในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจรวมถึงช่วง COVID-19 นี้ได้เช่นกัน คือ
- Remove Operational Responsibilities: ขจัดความผิดชอบงานปฏิบัติการ เพื่อพาตัวเองไปทำงานในสายเชิงกลยุทธ์ได้อย่างเต็มที่ เพราะงานเหล่านี้จะกินเวลาและพลังงานของ HRBP มาเกินไปจนไม่ได้ทำงานกลยุทธ์
- Empower Talent Value Leaders: เพื่อผลักดันให้สร้างมูลค่าทางธุรกิจจากคนเก่งในองค์กร เพราะหลายครั้งที่ผู้บริหารมอง HRBP เป็นเพียงผู้จัดการส่วนตัว ซึ่งนั่นเป็นสิ่งควรเปลี่ยนแปลง และควรได้รับการพัฒนาหรือส่งเสริมในการตัดสินใจมากขึ้น
- Establish a Pipeline: จัดตั้งกระบวนการที่ HRBR ผสมผสานทั้งธุรกิจและการเงินในการจัดการพนักงาน เพื่อระบุได้ว่าพนักงานคนใดให้มูลค่าทางธุรกิจมากที่สุด และสามารถเล่นบทบาทเป็นผู้นำธุรกิจที่ปฏิเสธแนวคิดอื่นที่ไม่จำเป็นได้
เหมือนที่ คุณบี อภิชาติ ขันธวิธิ Co-founder and Managing Director at QGEN กล่าวไว้ในงาน Future Trends : Skillforce Virtual Conference 2021 หัวข้อ HR Skill set for “Next ERA” Redesign Work-Life for Culture-First decade ว่า
“HR ต้องเป็น Business Partner ซึ่งไม่ใช่คนที่อยู่ข้างหลัง Leader แต่เป็นคนที่อยู่ข้างๆ ไม่รอคำสั่งจากผู้นำ แต่ต้องมี Forward Thinking กล้าคิด กล้าตัดสินใจ ไม่กลัวที่จะทำอะไรผิดพลาด”
ความแตกต่างระหว่าง HRBP และ HR manager คืออะไร
HRBP และ HR manager เป็นบทบาทที่แยกออกจากกัน และทั้งสองเป็นตัวแทนการทำงานด้านทรัพยากรบุคคลที่แตกต่างกัน
กล่าวคืองานของ HR manager จะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนโยบายทรัพยากรบุคคล และขั้นตอนการบังคับใช้นโยบายนั้น ๆ ตำแหน่งงานนี้จะรับผิดชอบระบบต่าง ๆ เช่น การคำนวณเงินเดือน การสรรหา การจ้างาน การดูแลระบบภายใน พูดง่าย ๆ ก็คือเป็นผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลที่ดูแลระบบการทำงานของแผนกทรัพยากรบุคคลโดยตรง
ในทางกลับกัน HR Business Partner ไม่ได้มีหน้าที่ดูแลจัดการแผนกใดแผนกหนึ่ง ทว่าหน้าที่หลักของ HRBP คือการทำงานร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทหรือผู้จัดการแผนกเพื่อให้คำแนะนำและสื่อสารกลยุทธ์ทางธุรกิจของบริษัทโดยรวม โดยยังทำงานร่วมแผนกทรัพยากรบุคคลพร้อมให้คำปรึกษาทีมผู้บริหาร และมีส่วนในการพัฒนากลยุทธ์ HR ให้ขับเคลื่อนองค์กรต่อไปนั่นเอง
10 ทักษะสำคัญของ HRPB คืออะไร
เมื่อกระบวนการทำงานของ HRBP แตกต่างไปจากฝ่ายทรัพยากรบุคคลแบบเดิม แน่นอนว่าตำแหน่งนี้ย่อมต้องการคนทำงานที่มีคุณสมบัติและทักษะที่ไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะเมื่อตำแหน่งนี้ต้องทำงานเคียงคู่ทีมผู้บริหารด้วย ต่อจากนี้คือ 10 ทักษะที่ HRBP ควรมีพกติดตัวเอาไว้
1) เชี่ยวชาญเครื่องมือดิจิทัล: HRBP ควรรู้จักผลิตภัณฑ์ซอร์แวร์ต่าง ๆ ในสายธุรกิจที่ตัวเองอยู่ เพื่อใช้ในการพัฒนาหรือสื่อสารกลยุทธ์ การจัดการ การบริหาร หรือแม้กระทั่งการตัดสินใจ เมื่อทุก ๆ ธุรกิจกำลังทรานฟอร์มสู่ดิจิทัลกันหมดแล้ว
2) การวิเคราะห์ข้อมูล: โดยเฉพาะการทำงานควบคู่กับปัญญาประดิษฐ์หรือ AI เพื่อนำมาข้อมูลที่ได้มาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ เช่น ข้อมูลการมาทำงาน การขาดลา มาสาย การตรวจประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ ฯลฯ ซึ่งจะสามารถพยากรณ์วางแผนสิ่งที่จะเกิดขึ้นในองค์กรได้อย่างแม่นยำจากข้อมูลที่มี
3) มีความรู้ข้ามวัฒนธรรม: เพราะปัจจุบันการแข่งขันไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในพื้นที่อย่างเดียว แต่คือการสนามแข่งขันควานหาคนเก่งในระดับโลก HRBP ที่เก่งจะต้องมีความรู้กว้าง และตระหนักถึงวัฒนธรรม กระบวนการทำงาน การดำเนินธุรกิจ ไปจนถึงกฎหมายในระดับโลกด้วย
4) มีความรู้ทางธุรกิจ: แน่นอนว่าพื้นฐานการทำงานของทรัพยากรบุคคลเป็นสิ่งที่ HRBP ควรมี แต่การประสบความสำเร็จในตำแหน่งนี้จะต้องเรียนรู้กระบวนการทางธุรกิจขององค์กรด้วย สิ่งนี้สำคัญอย่างยิ่งเมื่อ HRBP ต้องทำงานกับทีมบริหาร โดยเฉพาะเมื่อองค์กรกำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
5) มีทักษะการบริหารโครงการและบุคคล: HRBP ควรทำงานเหล่านี้ได้อย่างสบายใจ ทั้งการพัฒนาขอบเขตโครงการที่กำลังจะเกิดขึ้น การจัดการทรัพยากรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และการสื่อสารต่อกลุ่มขนาดใหญ่และขนาดเล็ก และควรมีประสบการณ์ผู้นำทีมแบบทางไกล ยิ่งหากเป็นระดับอินเตอร์ได้จะเป็นที่ได้เปรียบมาก
6) มีประสิทธิภาพในการเปลี่ยนแปลงและทรานฟอร์ม: ปรับเปลี่ยนวัตถุประสงค์ทางธุรกิจให้สอดคล้องกับการตัดสินใจ ซึ่งบางครั้งเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ขององค์กร HRBP จะต้องระบุและพัฒนาแผนกลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงให้กระทบการทำงานขององค์กรให้น้อยที่สุด แต่เกิดประสิทธิภาพที่สุด
7) มีความสามารถในการระบุและพัฒนาผู้นำ: นอกเหนือจากการเป็นผู้นำด้วยตัวเอง HRBP จำเป็นต้องพัฒนาผู้นำภายในองค์กรด้วยเช่นกัน รวมไปถึงการมองเห็นศักยภาพจากผู้สมัครภายนอกที่จะมีบทบทความเป็นผู้นำ ซึ่งทุกคนควรได้รับการประเมินและพิจารณาความเชี่ยวชาญและประสิทธิภาพที่สอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กรโดยรวม
8) สามารถสร้างเครือข่ายและความสัมพันธ์อันยอดเยี่ยม: HRBP จะต้องสามารถพูดคุยกับผู้บริหารหรือผู้จัดการในทุกภาคส่วน เข้าใจภูมิหลังที่หลากหลาย และทราบถึงความต้องการของแต่ละหน่วยธุรกิจ เพื่อสร้างสายสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจตัดสินใจ ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างเครือข่าย connection กับเพื่อนร่วมงานภายนอกในด้านทรัพยากรบุคคล เพื่อรับฟังคำแนะนำจากมืออาชีพและเพิ่มมูลค่าตัวเองในฐานะพนักงานที่มีศักยภาพ
9) สามารถเก็บความลับได้: เพราะ HRBP จะทราบข้อมูลละเอียดอ่อนมากมายภายในองค์กร โดยเฉพาะข้อมูลทางธุรกิจ HRBP จะต้องทำให้ผู้บริหารที่ทำงานด้วยกันรู้สึกสบายใจที่จะแชร์ข้อมูลสำคัญเหล่านั้นให้กับเรา
10) มีทักษะสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ: เนื่องจาก HRBP จะต้องสื่อสารกับบุคลากรในองค์กรในหลากหลายสถานการณ์ ตั้งแต่การนำเสนอกลยุทธ์ต่อผู้บริหาร การเจรจาต่อรอง ไปจนถึงการเคลียร์สถานการณ์ความขัดแย้งหรือช่วงเวลาวิกฤต ยิ่งปัจจุบันประสบการณ์การสื่อสารข้ามวัฒนธรรม หรือการสื่อสารผ่านดิจิทัลจึงเป็นทักษะใหม่ที่สำคัญ รวมไปถึงความกล้าในการปฏิเสธผู้บริหารในกรณีที่จำเป็นเช่นกัน
HR มีข้อสงสัยหรือคำถามเกี่ยวกับประเด็นนี้
Q: หากเลือก 5 soft skills ที่สำคัญที่สุดในการทำงาน hr คิดว่ามันคืออะไรครับ
งาน HR ถือว่าเป็นงานที่ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการทำงาน ก็เลยอยากรู้ว่าในมุมมองของท่านอื่น ๆ เรื่องของ soft skills หรือ people skills ที่เราจะต้องมีไว้ในการทำงานมีอะไรบ้างครับ ตอนนี้ที่นึกออกก็เช่น ความเข้าใจคน ทักษะการสื่อสาร เป็นต้น
A: โดยส่วนตัวคิดว่า Top 5 Skill for Future HR คือ
1) Business Acumen
2) Partnering and Influencing skill
3) People Analytics
4) Experience Designing
บทสรุป
จะเห็นว่า HRBP หรือ HR Business Partner คือตำแหน่งสำคัญในองค์กรที่ไม่ใช่ว่าใครจะมาทำงานได้ บุคคลที่มีความสามารถ มีประสบการณ์ และมีความรู้เข้าใจธุรกิจเป็นอย่างดีจะได้เปรียบในการเดินทางสายนี้ ยิ่งถ้ามีสายตาในระดับสากล เข้าใจบริบทแบบอินเตอร์ ก็ยิ่งได้เพิ่มมูลค่าให้ตัวเองมากกว่า HR admin ปกติ
หลังจากนี้ในโลกการทำงานหลัง COVID-19 จะผลักดันให้ HRBP มีบทบาทมากขึ้นกว่าเดิม และตอกย้ำความสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรบุคคลยิ่งกว่าเดิม HR ในอนาคตยุคดิจิทัลจึงต้องพร้อมเปลี่ยนแปลงตัวเอง ขยายจักรวาลความรู้ของตัวเอง เพื่อการบริหารคนและการบริหารธุรกิจได้พร้อมกัน
Sources |