Psychological Safety – หัวใจสำคัญของการสร้างทีมให้แข็งแกร่งในแบบฉบับ Google

HIGHLIGHT
  • สิ่งที่โครงการศึกษาวิจัย Project Aristotle ของ Google ค้นพบก็คือ 5 ปัจจัยสำคัญที่จะสร้างทีมให้มีความแข็งแกร่ง
  • ปัจจัยที่ถือเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของการค้นพบครั้งนี้ก็คือ “ความปลอดภัยในเชิงจิตวิทยา (Psychological Safety)” ซึ่งจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าทุกคนมีความกล้าที่จะคิดและแสดงออกอย่างไม่ต้องกังวลใดๆ และความคิดทุกรูปแบบจะได้รับการยอมรับจากกลุ่มด้วย ซึ่งนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของความคิดสร้างสรรค์ที่จะพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ
  • ปัจจัย “ความปลอดภัยในเชิงจิตวิทยา (Psychological Safety)” ถือเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จะต้องใส่ใจเป็นอันดับแรกสุด และให้ความสำคัญที่สุด เพราะนี่คือจุดเนิดของการสร้างปัจจัยที่เหลือให้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ
  • กุญแจสำคัญที่สุดของปัจจัย “ความปลอดภัยในเชิงจิตวิทยา (Psychological Safety)” ก็คือ “บรรทัดฐานกลุ่ม (Group Norm)” และ “ความเชื่อร่วม (Shared Belief)” ที่จะทำให้ทุกคนเคารพซึ่งกันและกัน ตลอดจนสามารถสร้างเป้าหมายเดียวกัน วางแผนทิศทางเดียวกัน เพื่อร่วมกันบรรลุสู่ความสำเร็จเดียวกันในที่สุด

ในยุคที่ Google ประสบความสำเร็จจนทำให้กลายเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่เบอร์ต้นๆ ของโลก องค์กรของ Google ก็เติบโตตามไปด้วยเช่นกัน นั่นก็ทำให้คนทั่วโลกอยากเข้ามาทำงานที่นี่และเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรนี้ แล้วก็แน่นอนว่าที่ Google ล้วนเต็มไปด้วยบุคลากรเก่งๆ มากมายจากทั่วทุกสารทิศเช่นกัน

Psychological Safety

บางครั้งการที่ได้หัวกะทิทั้งหลายมารวมตัวกันเป็นจำนวนมากนั้นก็อาจสร้างความหนักอกหนักใจมากกว่าการโล่งอกเสียอีก เพราะองค์กรก็ต้องมาคอยนั่งกังวลว่าจะใช้ศักยภาพจากพวกเขาเหล่านี้อย่างไรให้คุ้มค่าที่สุด และจะทำอย่างไรให้คนเก่งแต่ละคนสามารถมาทำงานด้วยกันเป็นทีมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนจะบริหารความหลากหลายของบุคลากรอย่างไรให้ทุกคนทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่นไม่มีปัญหา รวมไปถึงจะทำอย่างไรไม่ให้พวกเขาเหล่านี้ต้องเบื่อหน่ายจนรู้สึกอยากจะลาออกจากองค์กรไปในที่สุด

กำเนิด Project Aristotle กับการค้นหาความลับของความแข็งแกร่ง

การรวมตัวของหัวกะทิมากมายนั้นถ้าวิเคราะห์ตามความน่าจะเป็นแล้วก็น่าจะทำให้ผลงานนั้นออกมายอดเยี่ยมที่สุด แต่ในความเป็นจริงแล้ว Google กลับพบว่าผลลัพธ์นั้นไม่เป็นดั่งที่ควรจะเป็นนัก มันก่อให้เกิดคำถามขึ้นมาว่าทำไมบางทีมจึงประสบความสำเร็จในการทำงานอย่างยอดเยี่ยม แต่ทำไมบางทีมกลับทำผลงานได้ไม่ดีเท่าที่ควรทั้งที่เป็นการรวมตัวกันของคนระดับหัวกะทิแท้ๆ

นั่นจึงเป็นที่มาที่ยักษ์ใหญ่อย่าง Google ต้องลุกขึ้นมาพยายามคิดหาคำตอบว่าอะไรกันแน่คือตัวชี้วัดสำคัญของความสำเร็จในการทำงานระบบทีม (Indicator for Team Success) แล้วทาง Google ควรสร้างระบบการทำงานอย่างไร ตลอดจนบริหารและพัฒนาบุคคลากรไปในทิศทางไหน จึงจะทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดกับทุกฝ่าย จะมีแนวทางแก้ไขปัญหาตลอดจนหาวิธีพัฒนาบุคลากรที่ขึ้นชื่อว่าเป็นหัวกะทิของโลกให้มีศักยภาพยิ่งขึ้นไปอีกได้อย่างไร ด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นต้นกำเนิดโครงการศึกษาวิจัยภายในที่ชื่อว่า Project Aristotle จัดตั้งขึ้นมาเพื่อทำการวิจัยบุคลากรของ Google โดยเฉพาะนั่นเอง

Project Aristotle คืออะไร?
  • Project Aristotle ก็คือแผนการศึกษาวิจัยเพื่อค้นหาว่าอะไรคือหัวใจหรือตัวชี้วัดสำคัญของความสำเร็จในการทำงานระบบทีม (Indicator for Team Success) โดยโปรเจกต์นี้ได้ถือกำเนิดขึ้นในปี ค.ศ.2012 ดูแลโดย Abeer Dubey ซึ่งนั่งแท่นตำแหน่งผู้จัดการของฝ่ายวิเคราะห์บุคลากรในองค์กรของ Google (Manager of Google’s People Analytics Division) นั่นเอง
  • การวิจัยนี้ใช้เวลาทั้งสิ้นกว่า 2 ปี ในการเก็บข้อมูลตลอดจนสัมภาษณ์พนักงาน Google กว่า 180 ทีม และผลการวิจัยได้ค้นพบ 5 ปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวบ่งชี้ความสำเร็จของการทำงานระบบทีมนั่นเอง หลังจากนั้นทาง Google ก็ได้เผยแพร่องค์ความรู้ที่ค้นพบและนำมาใช้กับองค์กรได้อย่างประสบความสำเร็จนี้ผ่านสื่อต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะบทความของนิตยสาร New York Times ที่ตีพิมพ์ในช่วงต้นปี ค.ศ.2016 และสร้างการรับรู้และยอมรับในวงกว้าง ตลอดจนสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคมไปทั่วโลกให้ทุกคนหันมาสนใจผลการวิจัยของ Google นี้ที่กลายมาเป็นองค์ความรู้ที่ดีที่ทำให้หลายองค์กรนำไปปรับใช้กับตนและสร้างผลความสำเร็จได้ยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน
  • สำหรับที่ไปที่มาของการตั้งชื่อโครงการศึกษาวิจัยครั้งนี้ว่า Project Aristotle นั้นก็เป็นการหยิบเอาชื่อของนักปราชญ์ชาวกรีกอย่าง “อริสโตเติล (Aristotle)” ผู้โด่งดังในตำนานที่ทั่วโลกรู้จักกันเป็นอย่างดี มาตั้งเป็นชื่อโครงการนั่นเอง เหตุที่นำเอาชื่อนี้มาใช้ก็เพราะว่าทาง Google ประทับใจในโคดคำพูดอันโด่งดังของอริสโตเติลที่กล่าวไว้ว่า “the whole is greater than the sum of its parts” ซึ่งแปลได้ว่า “ส่วนรวมหรือองค์รวมทั้งหมดมีค่ามากกว่าผลรวมของส่วนย่อยต่าง ๆ ที่มารวมกัน” นั่นเอง ซึ่งก็มีความหมายที่ตรงกับปณิธานของ Google ที่ให้ความสำคัญกับการทำงานในระบบทีมที่มีประสิทธิภาพมากกว่าที่จะโฟกัสไปยังความเก่งกาจของปัจเจกบุคคล
  • แหล่งข้อมูลอ้างอิง และ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม : https://rework.withgoogle.com/print/guides/5721312655835136/

อย่างที่ทราบกันไปแล้วว่าผลการศึกษาวิจัยครั้งนี้ค้นพบ 5 ปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวบ่งชี้ความสำเร็จของการทำงานระบบทีม การศึกษาและวิจัยตลอด 2-3 ปี ที่ผ่านมาของ Project Aristotle นั้นได้ผลคุ้มค่าอย่างยิ่ง และ Google ก็นำไปใช้กับองค์กรของตนได้อย่างประสบความสำเร็จ รวมถึงสร้างองค์ความรู้ที่เผยแพร่ให้องค์กรอื่นนำไปใช้สร้างความสำเร็จให้กับองค์กรของตนเองได้เช่นกัน

5 ปัจจัยแห่งการสร้างทีมให้มีความแข็งแกร่ง

ช่วงต้นปี ค.ศ.2016 ทาง Google ได้ออกมาเปิดเผยและเผยแพร่ผลวิจัยของโครงการ Project Aristotle ว่า อันที่จริงแล้วหลายคนคงคิดว่าการที่องค์กรมีแต่คนเก่งๆ มารวมตัวกันนั้นก็น่าจะเป็นสุดยอดของทีมแล้ว แต่จากผลการศึกษาวิจัยครั้งนี้กลับบอกว่า “ความสามารถไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด” ปัจจัยของความสำเร็จจริงๆ แล้วมาจากการสื่อสารและสร้างบรรทัดฐาน (Norm) กันในทีมเสียมากกว่า ซึ่งการวิจัยนี้ก็สรุปผลออกมาเป็นปัจจัย 5 ข้อ ที่จะทำให้เราสามารถทำงานร่วมกันได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และสร้างความแข็งแกร่งของทีมขึ้นมาได้

  • 1.ความปลอดภัยในเชิงจิตวิทยา (Psychological Safety) : สมาชิกในทีมทุกคนเคารพในบรรทัดฐานเดียวกัน มีความเชื่อร่วมกัน และกล้าที่จะนำเสนอความคิดของตนต่อคนอื่นๆ ในกลุ่มโดยที่ไม่ต้องกลัวว่าความคิดนั้นจะถูกวิจารณ์ ถูกมองว่าโง่ ไม่เห็นด้วย ทำให้รู้สึกว่าตนเองไม่มีความรู้ เป็นความคิดที่ไม่มีค่า เป็นความคิดเห็นที่ไม่น่าจะสำคัญอะไร หรือนำเสนอไปแล้วจะทำให้อับอาย
  • 2.ความไว้วางใจและเชื่อมั่นระหว่างกัน (Dependability) : สมาชิกในทีมมีความไว้วางใจกัน เชื่อมั่นระหว่างกัน เชื่อมั่นในความสามารถของทุกคน เชื่อมั่นว่าจะทำงานให้สำเร็จได้ เชื่อมั่นว่าจะทันตามกำหนดเวลา เชื่อมั่นว่าจะทำงานได้อย่างมีคุณภาพ และเชื่อมั่นว่าผลลัพธ์จะออกมาดี
  • 3.โครงสร้างและแผนการทำงานที่ชัดเจน (Structure & Clarity) : ทีมมีการจัดการภายในทีมที่ดี มีการแบ่งโครงสร้างและการทำงานอย่างชัดเจน มีการวางแผนในระยะยาวที่เห็นแผนการทำงานชัดเจนตลอดจนกระบวนการที่ชัดแจ้ง  สมาชิกในทีมทุกคนเข้าใจภาระกิจและแผนงานร่วมกัน ในทิศทางเดียวกัน รู้บทบาทและหน้าที่ของตนอย่างชัดเจน และตั้งใจทำงานของตนให้ดีที่สุด ขณะเดียวกันก็เข้าใจบทบาทและหน้าที่ของคนอื่น ตลอดจนให้ความร่วมมือหรือประสานงานระหว่างกันด้วยดี ทุกคนมีเป้าหมายร่วมกัน และเต็มใจตลอดจนมุ่งมั่นที่จะร่วมแรงร่วมใจกันบรรลุเป้าหมายนั้น
  • 4.ความหมายของงาน (Meaning of Work) : สมาชิกในทีมรักและภูมิใจในงานของตน รวมถึงรู้จักและเคารพในบทบาทและหน้าที่ทั้งของตนเองและผู้อื่นในทีม ตลอดจนเข้าใจความหมายของงานที่กำลังทำ และเข้าใจคุณค่าของผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น รวมถึงเห็นคุณค่าของสิ่งที่ตนกำลังทำอยู่แล้วเห็นคุณค่าของคนอื่นและงานอื่นๆ ในทีมด้วย นอกจากนี้ยังควรเห็นคุณค่าในตัวเอง เห็นตัวเองมีความหมายกับองค์กร เห็นทีมมีคุณค่าต่อองค์กร และเห็นองค์กรมีคุณค่า
  • 5.ผลลัพธ์ของงานที่มีพลัง (Impact of Work) : สมาชิกในทีมทุกคนเชื่อมั่นว่างานที่กำลังทำอยู่มีความสำคัญ เชื่อมั่นในผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยม เชื่อว่าเป็นผลลัพธ์ที่มีพลัง สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ และผลลัพธ์นั้นมีคุณค่าต่อการทุ่มเท รวมถึงมีศักยภาพในการสร้างคุณค่าและความสำเร็จให้กับองค์กรด้วย

ความปลอดภัยในเชิงจิตวิทยา (Psychological Safety) หัวใจของความแข็งแกร่งที่สำคัญที่สุด

ผลการวิจัยที่ทาง Google สรุปมาเป็น 5 ปัจจัยสำคัญนั้นกลายเป็นบรรทัดฐานและองค์ความรู้ที่ทาง Google นำไปเป็นหลักปฎิบัติอย่างหนึ่งขององค์กรเพื่อเป็นเคล็ดลับสำคัญที่สร้างความสำเร็จ นอกจากนี้ทาง Google ยังชี้ชัดอีกว่าปัจจัยที่มีความสำคัญที่สุด ตลอดจนเป็นพื้นฐานที่ทำให้ปัจจัยอื่นประสบความสำเร็จได้ดีเยี่ยมก็คือปัจจัยแรกสุดที่พูดถึงอย่าง “ความปลอดภัยในเชิงจิตวิทยา (Psychological Safety)”  นั่นเอง ซึ่งนี่เป็นพื้นฐานแห่งการสร้างการยอมรับระหว่างกัน ตลอดจนไว้วางใจและเชื่อมั่นในกันและกัน ซึ่งมันคือหัวใจสำคัญของการทำงานระบบทีมที่มีประสิทธิภาพ

ความปลอดภัยในเชิงจิตวิทยา (Psychological Safety) จะส่งผลให้คนในทีมกล้าเสนอความคิดแบบไม่รู้สึกกลัวใดๆ บริสุทธิ์ใจที่จะแชร์ข้อมูล ตลอดจนแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระโดยไม่กลัวผลกระทบที่จะตามมา เพราะรู้ว่านี่คือการะดมสมอง (Brainstorming) เพื่อร่วมกันแสดงความคิดเห็น ถ่ายทอดข้อมูล รวมถึงวิจารณ์บนพื้นฐานของการทำงานในภาระกิจที่ทำร่วมกันนี้ และเพื่อที่จะให้ผลลัพธ์ออกมาดีที่สุดนั่นเอง ซึ่งการมีอิสระในการแสดงความคิดแบบรู้สึกปลอดภัยในด้านจิตวิทยานี่แหละที่จะเป็นต้นกำหนดของไอเดียต่างๆ และเมื่อคนในทีมไม่มีความกังวัลหรือหวั่นวิตกใดๆ ก็จะยิ่งส่งผลให้สามารถคิดไปไกลนอกกรอบได้อย่างอิสระ ก่อกำเนิดความคิดสร้างสรรค์แปลกๆ ใหม่ๆ ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

ที่สำคัญทุกคนจะรู้ว่าเมื่อแสดงความคิดเห็นออกมาแล้วคนในทีมก็จะช่วยกันตบความคิดให้เหมาะสมได้หรือหากมีการแย้งก็จะอยู่บนพื้นฐานที่มีเหตุผลรับรองที่ไม่ใช่บนพื้นฐานอคติต่อกันหรือแสดงอารมณ์ใส่กันนั่นเอง ซึ่งนั่นจะทำให้ทุกความคิดสร้างสรรค์มีคุณค่า และทุกคนอยากจะที่แชร์ความคิดสร้างสรรค์ของตนออกมา ท้ายที่สุดแล้วจะได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพนั่นเอง

Key Factors of Psychological Safety

หากได้อ่านบทความภาคภาษาอังกฤษที่เผยแพร่ผลการวิจัย Project Aristotle ของ Google ในหลายๆ แหล่งจะพบว่ามีการใช้คำอธิบายเพื่อนิยามหัวใจสำคัญอย่าง Psychological Safety ได้อย่างชัดเจนดีทีเดียว และคำที่ถือว่าเป็นกุญแจสำคัญของหัวใจสำคัญนี้ก็คือ “บรรทัดฐาน (Norm)” และ “ความเชื่อ (Belief)” นั่นเอง

  • บรรทัดฐาน (Norm) – ในที่นี้หมายถึงการที่ทุกคนต้องมีบรรทัดฐานร่วมกันที่หมายถึง “บรรทัดฐานกลุ่ม (Group Norm)”  ยอมรับในพื้นฐานความคิดรูปแบบเดียวกัน ตลอดจนสร้างบรรทัดฐานของความคิดและการทำงานร่วมกัน รวมถึงทุกคนต้องเคารพในบรรทัดฐานนี้อย่างเต็มใจอีกด้วย ซึ่งบรรทัดฐานจะต่างจากกฎข้อบังคับก็ตรงนี้ เพราะกฎข้อบังคับนั้นมีการจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นสิ่งปฎิบัติร่วมกันเพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย แต่ไม่จำเป็นว่าทุกคนจะต้องยอมรับหรือเต็มใจที่จะชอบในกฎนี้ และบรรทัดฐานไม่ได้เกิดจากการบังคับให้ทุกคนปฎิบัติตาม แต่เป็นความเชื่อร่วมกันที่จะยินยอมจะปฎิบัติในทิศทางเดียวกันด้วยความเคารพกันนั่นเอง
  • ความเชื่อ (Belief) – ความเชื่อถือเป็นหัวใจสำคัญอย่างมากใน Psychological Safety นี้ โดยควรจะต้องเป็นความเชื่อแบบ  “ความเชื่อร่วม (Shared Belief)” เชื่อในทิศทางเดียวกัน เชื่อในสิ่งเดียวกัน ซึ่งความเชื่อนั้นจะเกิดการสร้างบรรทัดฐานร่วมกันที่ดีได้นั่นเอง การเชื่อในเรื่องหรือทิศทางเดียวกันนั้นยังก่อให้เกิดความเคารพซึ่งกันและกัน อันจะก่อให้เกิดการยอมรับกันและกัน และยอมรับในการแสดงความคิดเห็นของกันและกันอย่างตั้งใจฟังและเสนอแนะบนพื้นฐานของความหวังดีอีกด้วย

บทสรุป

ปัจจัยสำคัญที่สุดที่มีผลต่อประสิทธิภาพของการทำงานระบบทีมนั้นไม่ได้อยู่ที่การมีบุคลารกรที่เก่งและฉลาดมารวมตัวกันเป็นจำนวนมาก แต่ผลลัพธ์ที่ดีจะมาจากการที่ทุกคนมีความสุขกับสิ่งที่ตนเองทำ และเห็นคุณค่าในสิ่งที่ทำหรือไม่ เพราะนั่นเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของความสำเร็จ เมื่อทุกคนรู้จักเห็นคุณค่าของตนเองแล้วจะเกิดการเคารพในคุณค่าของคนอื่นตามมา และการเห็นคุณค่าของคนอื่นจะสร้างความยอมรับและไว้เนื้อเชื่อใจกันซึ่งเป็นจุดกำเนิดที่ดีในการสร้างความปลอดภัยในเชิงจิตวิทยา (Psychological Safety) ให้กับตนเองและแก่คนอื่นในทีมซึ่งนี่เป็นจุดเริ่มต้นพื้นฐานของปัจจัยทั้งหมดที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างการทำงานระบบทีมให้ประสบผลสำเร็จ และเป็นพลังสำคัญที่จะขับเคลื่อนองค์กรได้อย่างมีศักยภาพ และผลักดันให้ประสบผลสำเร็จได้อย่างยอดเยี่ยมในที่สุด

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง