HIGHLIGHT
|
องค์กรที่มีศักยภาพคือองค์กรที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ และพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ องค์กรที่อยู่รอดในโลกแห่งความเป็นจริงได้นั้นก็คือองค์กรที่ต้องมีการปรับตัวตลอดจนพัฒนาให้ก้าวทันโลกที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละยุคด้วยนั่นเอง ดังนั้นเป้าหมายหนึ่งของทุกองค์กรก็คือการมุ่ง “พัฒนาองค์กร (Organization Development : OD)” เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นอยู่ตลอดเวลา แล้วผู้ที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาองค์กรให้ก้าวไปข้างหน้านั้นไม่ใช่เฉพาะแค่ในส่วนของผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงบุคลากรทุกฝ่ายที่รักในการพัฒนาศักยภาพตัวเองให้ดียิ่งขึ้นด้วยนั่นเอง
การพัฒนาองค์กร “(Organization Development : OD)” คืออะไร
การพัฒนาองค์กรก็คือการทำให้องค์กรนั้นดีขึ้น เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีกว่าเดิม ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม การปฎิบัติงาน ระบบโครงสร้างองค์กร ไปจนถึงทัศนคติในการทำงาน ปัจจุบันการพัฒนาองค์กรกลายเป็นเครื่องมือที่ถูกนำมาใช้ในการบริหารตลอดจนขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวหน้า ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง และสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรอย่างเป็นระบบตลอดจนเป็นรูปธรรมมากขึ้น
การพัฒนาองค์กรยังหมายถึงการยกระดับองค์กรอย่างสร้างสรรค์และให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด โดยที่ยังให้ความสำคัญกับบุคลากรทุกระดับ โดยการพัฒนาองค์กรนั้นยังต้องควรตอบสนองต่อวิสัยทัศน์ (Vision) พันธกิจ (Mission) ตลอดจนค่านิยม (Core Value) ขององค์กรด้วย การพัฒนาองค์กรควรมีเป้าหมายที่ชัดเจนและการปฎิบัติการเชิงกลยุทธ์ให้เกิดความสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งนั่นจะทำให้องค์กรพัฒนาได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืนตลอดไป
ปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาองค์กร
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้องค์กรพัฒนาได้นั้นมีอยู่หลายองค์ประกอบ ซึ่งนี่คือ 4 ปัจจัยหลักโดยรวมที่มีผลต่อการพัฒนาขององค์กรมากที่สุด ซึ่งผู้ที่มีหน้าที่บริหารองค์กรควรให้ความใส่ใจใน 4 ปัจจัยหลักเหล่านี้ และบริหารให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
- 1. โครงสร้างพื้นฐานขององค์กรในรูปแบบต่างๆ (Infrastructure) : โครงสร้างพื้นฐานขององค์กรนั้นรวมตั้งแต่อุปกรณ์เครื่องมือที่จำเป็นไปจนถึงเทคโนโลยีตลอดจนข้อมูลสารสนเทศต่างๆ ที่ต้องพร้อมและช่วยส่งเสริมให้การทำงานมีประสิทธิภาพ ถึงแม้ศักยภาพด้านทรัพยากรบุคคลจะพร้อมแค่ไหน แต่หากมีปัญหาที่ทรัพยากรด้านอื่น ก็ย่อมทำให้ลดประสิทธิภาพในการทำงาน และทำให้องค์กรพัฒนาได้อย่างเชื่องช้าหรือติดขัดเช่นกัน ตรงกันข้ามกับองค์กรที่ใส่ใจในโครงสร้างพื้นฐานอย่างดีเพื่อรองรับการทำงานที่ดีที่สุด ก็สามารถมีส่วนช่วยให้บุคลากรในองค์กรใช้ศักยภาพของตนในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยเช่นกัน
- 2. กระบวนการทำงานที่เป็นระบบระเบียบ (Process & System) : ระบบการทำงานที่มีมาตรฐาน ชัดเจน มีระบบระเบียบ มีขั้นตอนที่เหมาะสม มีการประเมินผล รวมถึงมีการแก้ไขจุดบกพร่องได้อย่างทันท่วงที ระบบการทำงานที่ดีนั้นจะทำให้องค์กรพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
- 3. ทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource) : ทรัพยากรมนุษย์ถือเป็นปัจจัยสำคัญอันดับต้นๆ ของทุกองค์กร การที่องค์กรมีพนักงานที่มีศักยภาพในการทำงาน มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาตนเองและองค์กร ตลอดจนมีทัศนคติที่ดีต่อองค์กร รวมถึงมีวิสัยทัศน์ในการทำงาน จะช่วยส่งเสริมให้องค์กรพัฒนาได้ก้าวไกลและมั่งคง
- 4. เป้าหมายและนโยบาย (Goal & Policy) : สิ่งสำคัญที่สุดก็คือองค์กรต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ตลอดจนมีทิศทางเดินไปสู่จุดหมายให้เห็น เมื่อมีเป้าหมายที่ชัดเจนแล้วย่อมต้องมีนโยบายธุรกิจตลอดจนนโยบายองค์กรที่ออกมาเป็นแนวทางปฎิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย หากองค์ใดไม่มีเป้าหมาย หรือไม่มีนโยบายที่กระจ่างชัด ก็เหมือนเรือที่แล่นอยู่ในทะเลโดยขาดเข็มทิศ หรือเรือที่อยู่กลางทะเลซึ่งมีหมอกหนาปกคลุม ก็ยากที่จะรู้ว่าเรือควรจะมุ่งหน้าไปทางไหน เพื่ออะไร เป้าหมายที่ชัดเจน นโยบายที่มีประสิทธิภาพ จะมีส่วนที่ทำให้องค์กรพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว มีทิศทาง และมีศักยภาพเพิ่มขึ้นด้วย
เคล็ดลับที่ทำให้องค์กรที่ประสบความสำเร็จ
องค์กรที่จะประสบความสำเร็จได้นั้นต้องประกอบไปด้วยหลายส่วน ทั้งทรัพยากรบุคคลที่มีประสิทธิภาพ ไปจนถึงระบบการบริหารองค์กรที่ยอดเยี่ยม ซึ่งเคล็ดลับที่จะทำให้การพัฒนาองค์กรประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดีนั้นมีดังนี้
1. การได้ผู้นำที่ดี
ผู้นำที่ดีจะนำองค์กรให้ไปสู่ความสำเร็จได้ และผู้นำที่ดีควรจะต้องกำหนดทิศทางขององค์กรตลอดจนรู้วิธีการขับเคลื่อนองค์กรให้ไปในทางที่เหมาะสมที่สุดได้เช่นกัน การที่องค์กรได้ผู้นำที่ดีนั้นเสมือนมีชัยไปกว่าครึ่ง เพราะผู้นำที่ดีจะมีเคล็ดลับในการบริหารงานบุคคลที่ยอดเยี่ยมนอกเหนือจากการบริหารงานด้วยเช่นกัน เพราะฟันเฟืองสำคัญขององค์กรนั้นก็คือบุคลากรทุกคนนั่นเอง ผู้นำที่ดีจะเข้าใจการประสานงานตลอดจนแนะนำวิธีปฎิบัติที่ดีที่สุด รวมไปถึงสามารถช่วยแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งนั่นเป็นหนึ่งในเคล็ดลับที่ทำให้องค์กรพัฒนาและประสบความสำเร็จ
HR มีข้อสงสัยหรือคำถามเกี่ยวกับประเด็นนี้
Q: เราจะสร้าง Leadership ให้กับคนในบริษัทของเราขึ้นมาได้ยังไง
ในช่วงไม่กี่ปีหลังมานี้ผมเริ่มที่จะให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องของ leadership ของคนในทีมมากขึ้นเรื่อยๆ เลยอยากจะมาขอคำแนะนำหน่อยครับว่าถ้าจะทำให้เรื่องนี้มันได้ผลลัพธ์แบบชัดๆ และยั่งยืนกว่านี้
A: “อยากได้ผลลัพธ์แบบชัดๆ และยั่งยืน” ต้องสร้างเป็นวัฒนธรรมและค่านิยมองค์การ และลงไปที่ Competency โดยมี Action Plan ที่มีการวัดผลค่ะ
ขอตอบโดยภาพรวมในการจัดให้เกิดวัฒนธรรมดังนี้ค่ะ
1.สร้าง Leadership จากวัฒนธรรมองค์การ
2. นำเรื่อง Leadership ลงไปใน Competency ทางด้านทักษะของแต่ละ Job ของแต่ละคน
3. สนับสนุนกิจกรรมอื่นที่เกี่ยวข้องกับการสร้าง Leadership ดังนี้..
2. การได้ผู้ตามที่มีประสิทธิภาพ
เมื่อมีผู้นำที่ดีก็ต้องมีผู้ตามที่มีประสิทธิภาพจึงจะเป็นส่วนผสมที่ก่อให้เกิดการพัฒนาได้อย่างยอดเยี่ยม ผู้ตามที่ดีจะรู้ว่าควรนำเอาแนวทางการบริหารของผู้นำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างไร เมื่อเกิดปัญหาควรจะช่วยแก้อย่างไร หรือควรปฎิบัติงานอย่างไรให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ในขณะเดียวกันก็ควรมีไหวพริบที่ดี เสนอแนะในสิ่งที่เป็นประโยชน์ แก้ปัญหาได้อย่างฉับไว ตลอดจนเป็นตัวสนับสนุนที่ดีอีกด้วย หากแม่ทัพได้ทหารในกองที่ไร้ประสิทธิภาพ ก็ยากที่กองทัพจะรบชนะด้วยแม่ทัพเพียงคนเดียว องค์กรก็เช่นกัน การที่บุคลากรทุกคนแข็งแกร่งตั้งแต่หัวหน้าไปจนถึงลูกน้อง ก็เป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้องค์กรพัฒนาได้อย่างมีศักยภาพและประสบผลสำเร็จ
3. การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
การพัฒนาองค์กรที่มีประสิทธิภาพนั้นคือการที่ทุกคนต้องร่วมขับเคลื่อนองค์กรร่วมกัน การที่สามารถทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมได้จะทำให้ทุกคนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรและร่วมผลักดันองค์กรให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยความเต็มใจ เมื่อทุกคนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรแล้วทุกคนจะให้ความร่วมมือกันอย่างเต็มที่ ช่วยเหลือเกื้อกูล ไม่เกี่ยงงอน หรือกลาวโทษกัน ที่สำคัญทุกคนควรมีส่วนร่วมในการปฎิบัติงานขององค์กร กำหนดทิศทาง และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น การได้รับพลังจากทุกคนร่วมกันนั้นจะทำให้องค์กรก้าวไปข้างหน้าอย่างแข็งแกร่งอีกด้วย และการร่วมมือกันนั้นเป็นบ่อเกิดแห่งความสามัคคี ซึ่งนี่คือหนึ่งสิ่งสำคัญของการทำงานร่วมกันในองค์กร
4. มีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ
การสื่อสารถึงแม้จะดูเป็นเรื่องเล็กน้อยแต่นั่นคือสิ่งที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของการทำงานไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหนขององค์กรก็ตาม การสื่อสารกันอย่างถูกต้อง ชัดเจน และทำความเข้าใจได้ง่าย จะทำให้ทุกคนมองเห็นภาพตลอดจนทิศทางที่จะมุ่งตรงไปด้วยกัน และร่วมจับมือกันเดินไปอย่างมีพลัง ในขณะที่องค์กรไหนมีการสื่อสารที่ผิดพลาด หรือมีการสื่อสารกันที่ไม่มีประสิทธิภาพ ก็อาจทำให้ทุกคนเข้าใจสารไม่ตรงกันได้ นำไปปฎิบัติผิด ก็ย่อมก่อให้เกิดผลเสียต่อองค์กรได้เช่นกัน หรือการสื่อสารที่ไม่สัมฤทธิ์ผลก็ทำให้บุคลากรขาดความเข้าใจ หรือไม่ยินดีที่จะร่วมมือขับเคลื่อนองค์กร นั่นก็ย่อมทำให้องค์กรก้าวไปข้างหน้าอย่างมีปัญหา และเกิดความล้มเหลวในที่สุด
5. การสร้างแรงจูงใจในการทำงาน
เมื่อเราทำงานไปเรื่อยๆ ย่อมเกิดความเบื่อหน่ายและท้อได้ สิ่งหนึ่งที่จะช่วยพลิกสถานการณ์ทุกอย่างให้ดีขึ้นได้ก็คือแรงจูงใจที่ดีในการทำงานนั่นเอง แรงจูงใจไม่ได้หมายถึงเรื่องของเงินหรือสวัสดิการณ์เสมอไป แต่ยังรวมถึงการให้กำลังใจ คำชม รางวัล ตลอดจนสร้างแรงจูงใจในรูปแบบอื่นๆ ด้วย การสร้างแรงจูงใจที่ดีจะเป็นเสมือนน้ำหล่อเลี้ยงให้เรามีชีวิตชีวาขึ้นมาได้ หรือเป็นแรงฮึดให้เรามุ่งมั่นบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้อย่างยอดเยี่ยมทีเดียว
6. การประเมินผล
องค์กรที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่มักมีการประเมินผลการทำงานเสมอ และรู้จักนำผลการประเมินมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ การประเมินผลจะทำให้เรารู้ว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่นั้นประสบความสำเร็จหรือไม่ มากน้อยเพียงไร มีสิ่งไหนที่เป็นจุดบกพร่อง มีสิ่งไหนที่ควรปรับปรุง หรือมีสิ่งไหนยอดเยี่ยมอยู่แล้ว มีสิ่งไหนที่ควรจะเพิ่มเติมเข้าไปอีก ตลอดจนศักยภาพของบุคลากรที่ทำนั้นเป็นอย่างไร เป็นต้น เมื่อนำการประเมินผลในส่วนต่างๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ก็จะเกิดการพัฒนายิ่งๆ ขึ้นไป หากเราไม่รู้จักประเมินผลเลย เราจะไม่รู้เลยว่าจุดที่องค์กรยืนอยู่นั้นประสบความสำเร็จหรือย่ำแย่เพียงไร การประเมินผลจึงเป็นส่วนสำคัญหนึ่งที่จะใช้เป็นบรรทัดฐานในการวัดมาตรฐานตลอดจนช่วยพัฒนาองค์กรให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปได้
HR มีข้อสงสัยหรือคำถามเกี่ยวกับประเด็นนี้
Q. อยากขอปรึกษาการวางโครงสร้างการประเมินผลพนักงานในบริษัท
ที่บริษัทอยากจะเริ่มวัด performance ของพนักงานอย่างจริงจังเพราะตอนนี้ยังไม่มีวิธีการวัดที่ดีพอ หลังจากเริ่มทำแล้วก็วางไว้ว่าจะมีการนำเสนอผู้บริหารถึงผลลัพธ์ที่ได้ เลยอยากขอคำแนะนำว่ามีค่าไหนที่เราต้องวัด (matrics) จะนำเสนอในรูปแบบไหน วัดอย่างไร อาจจะเริ่มจากวิธีการเบสิกที่สุดที่สามารถเริ่มทำได้ไม่ยากก็ได้ค่ะ
A. สำหรับการเริ่มต้นวางระบบการประเมินผลงานและต้องนำเสนอกับผู้บริหาร แนะนำให้วางกรอบของแนวคิดและแผนดังนี้
1. วัตถุประสงค์ของระบบการประเมินผลงาน ควรเริ่มจากการวิเคราะห์ Current Situation Analysis (CSA) เพื่อให้ผู้บริหารทราบถึงความจำเป็นและประโยชน์ที่องค์กรและพนักงานจะได้รับ
2. นำเสนอแนวคิดและเครื่องมือที่ใช้ในการตั้งเป้าหมาย (OKR, MBO, KPI หรืออื่นๆ )ที่มีความเหมาะสมและตรงตามวัตถุประสงค์ในข้อหนึ่งซึ่ง HR อาจจะต้องค้นคว้าข้อมูล เปรียบบเทียบข้อดี ข้อจำกัดในแต่ละเครื่องมือที่สามารถนำมาปรับใช้กับองค์กรได้เหมาะสมที่สุด
3. นำเสนอองค์ประกอบและเกณฑ์การประเมินผลงานที่เลือกใช้ ซึ่งประกอบด้วย
7. การฝึกอบรมและพัฒนาศักยภาพ
การฝึกอบรมคือกระบวนการหนึ่งของการพัฒนาบุคลากรในองค์กรให้มีความรู้ความสามารถตลอดจนพัฒนาศักยภาพให้ดีขึ้น แน่นอนว่ามันเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้องค์กรเกิดการพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยนั่นเอง การที่เรามุ่งจะพัฒนาองค์กรให้ดีขึ้นนั้นก็ควรใส่ใจในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้วยการฝึกอบรมต่างๆ ทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ เพื่อให้พนักงานรักที่จะพัฒนาตนเองอยู่เสมอ
เหตุใดจึงควรพัฒนาองค์กร
หลายสาเหตุที่มีส่วนทำให้องค์กรต่างๆ ต้องพัฒนาตัวเองเสมอ และไม่หยุดยั้งที่จะพัฒนาตนเองให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป เพราะการพัฒนาองค์กรให้ก้าวหน้านั้นก็หมายถึงการเพิ่มศักยภาพให้องค์กรด้วย และมื่อองค์กรมีศักยภาพก็ย่อมเดินหน้าไปสู่ความสำเร็จได้อย่างงดงาม ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อยู่เบื้องหลังของการพัฒนาองค์กรเสมอ
1. ความซับซ้อนของโลกธุรกิจ
ปัจจุบันโลกธุรกิจมีความซับซ้อนมากขึ้นไปเรื่อยๆ อุตสหกรรมต่างๆ มีหลากหลายสาขามากขึ้น ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ก็แตกตัวไปอย่างมากมาย นั่นไม่นับคู่แข่งทางธุรกิจเดียวกันที่ในบางผลิตภัณฑ์มีคู่แข่งกันมากมายตั้งแต่เจ้าเล็กไปจนถึงเจ้าใหญ่เลยทีเดียว นั่นทำให้ธุรกิจต้องปรับตัว องค์กรต้องพัฒนา ก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งหากองค์กรไม่เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ก็จะประสบปัญหา ตายไปจากตลาดได้ และในที่สุดองค์กรก็จะล้มหายตายจากไปได้เช่นกัน
2. ความซับซ้อนของการบริหารงานในองค์กร
ยิ่งองค์กรมีขนาดใหญ่ขึ้นเท่าไร จำนวนคนก็ยิ่งมากมายขึ้นเท่านั้น และเมื่อมีจำนวนคนที่มากมายหลากหลายขึ้น หากบริหารจัดการไม่ดี หรือไม่มีการแบ่งการทำงาน ตลอดจนปรับโครงสร้างองค์กรให้ชัดเจน ก็จะเกิดปัญหาอีรุงตุงนังตามมาแน่ เมื่อธุรกิจขยายตัว องค์กรเติบโต การจัดการองค์กรให้มีประสิทธิภาพจึงต้องควรตามมา การมอบหมายงานให้มีประสิทธิภาพตามความถนัดของบุคคล ตลอดจนแบ่งแผนก แบ่งโซนรับผิดชอบ แบ่งแยกบริษัทย่อย เป็นต้น เป็นส่วนหนึ่งที่อาจทำให้การบริหารงานรวดเร็วขึ้นได้ แต่นั่นก็ยิ่งทำให้องค์กรซับซ้อนขึ้นเช่นกัน ดังนั้นจึงควรพัฒนาองค์กรตามขนาดองค์กรที่เปลี่ยนไป หรือตามรูปแบบองค์กรที่ซับซ้อนขึ้น เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการทำงานนั่นเอง
3. การเปลี่ยนแปลงของปัจจัยด้านเศรษกิจ
ปัจจัยภายนอกต่างๆ มีส่วนทำให้องค์กรต้องพัฒนาตนเองอยู่เสมอ และสำคัญอันดับต้นๆ ก็คือปัจจัยด้านเศรษฐกิจ สิ่งเหล่านี้ทำให้องค์กรอยู่นิ่งเฉยไม่ได้ หากอยู่นิ่งเฉยก็จะเกิดการแข่งขันไม่ทัน หากตามเศษฐกิจของโลกไม่ทัน ธุรกิจก็ไม่เติบโต บริหารการผลิตไม่สอดคล้อง บริหารงบประมาณผิดพลาด การลงทุนขาดทุน ขายสินค้าไม่ได้ตามเป้า องค์กรไม่พัฒนา บุคลากรขาดประสิทธิภาพ ก็ส่งผลกระทบที่ย่ำแย่ต่อกันเป็นโดมิโน่ได้
4. การเปลี่ยนแปลงของปัจจัยด้านเทคโนโลยี
อีกปัจจัยที่ค่อนข้างมีผลอย่างมากในยุคนี้ก็คือการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเทคโนโลยีทางด้านการผลิต ที่จะทำให้มีส่วนผลิตสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นนั่นเอง หากองค์กรไม่ตามเทคโนโลยีให้ทัน ก็อาจทำให้คุณภาพของผลิตภัณฑ์ของตนเองสู้กับคู่แข่งในตลาดไม่ได้ ตลอดจนต้นทุนในการผลิตสู้ราคากับคู่แข่งไม่ได้ นั่นก็อาจทำให้องค์กรล้มเหลวได้เช่นกัน ซึ่งนั่นทำให้องค์กรต้องหมั่นพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ทั้งในส่วนของเทคโนโลยี ตลอดจนบุคลากรที่มีความสามารถ
5. การเปลี่ยนแปลงของตลาดบริโภค
ผู้บริโภคเป็นปัจจัยชี้วัดที่สำคัญที่จะทำให้รู้ได้ว่าผลิตภัณฑ์หรือธุรกิจนั้นจะรอดหรือร่วง หากเราสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคได้ องค์กรก็จะอยู่รอดได้ หากสินค้าไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้บริโภคก็อาจทำให้องค์กรล่มสลายได้เช่นกัน ฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงของตลาดบริโภคค่อนข้างเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้องค์กรเกิดการพัฒนาตนเอง เพื่อให้สอดคล้องกับตลาดบริโภคให้ได้
6. การปฎิวัติอาชีพและการเปลี่ยนรูปแบบของการทำงาน
หนึ่งในปัจจัยที่สร้างผลกระทบอันยิ่งใหญ่เสมอก็คือการปฎิวัติอาชีพ (Career Disruption) ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของการทำงานไปในรูปแบบต่างๆ ซึ่งทำให้องค์กรต้องปรับตัว ปรับปรุงเปลี่ยนแปลง พัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา อย่างยุคปัจจุบันนี้หลายองค์กรเริ่มปรับโครงสร้างการทำงานขององค์กรใหม่ ปรับวิธีทำงาน ปรับระบบการทำงาน แม้กระทั่งปรับเรื่องตำแหน่งและหน้าที่ความรับผิดชอบขององค์กรใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก นั่นอาจรวมไปถึงการปรับเรื่องเวลาการทำงาน ตลอดจนลักษณะการจ้างงาน อย่างเช่น ระบบฟรีแลนซ์ หรือ การ work from home เพื่อให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนไป และทำให้องค์กรปรับตัวให้เหมาะสมกับสถานการณ์ให้ได้ด้วย ซึ่งบางครั้งการปรับตัวได้ทันนั้นยิ่งช่วยให้องค์กรพัฒนาในโลกยุคปัจจุบันได้ดีและสะดวกยิ่งขึ้นอีกด้วย
7. การหาโอกาสใหม่
ทุกคนมักอยากเป็นผู้นำตลาด หรือไม่ก็หาตลาดใหม่ๆ เสมอ การบุกเบิกเพื่อหาโอกาสใหม่ๆ นั้นเป็นหนึ่งในภาระกิจของหลายองค์กรที่อยากทำให้สำเร็จ การพยายามหาตลาดใหม่ๆ ตลอดจนสร้างตลาดใหม่ๆ ด้วยตนเองอาจทำให้เรายิ่งใหญ่ขึ้นได้ และการที่จะมองหาโอกาสใหม่ๆ เจอ หรือกระโดดไปยังตลาดใหม่ได้อย่างประสบความสำเร็จนั้นก็ย่อมต้องพัฒนาองค์กรตลอดจนพัฒนาตนเองอยู่เสมอ รวมถึงเมื่อก้าวไปสู่ตลาดใหม่ๆ เป็นเจ้าแรกๆ การพัฒนาตนเองให้สามารถขึ้นมาเป็นที่ยอมรับ หรือผู้บริโภคเกิดความไว้ใจได้ นั่นแหละคือสิ่งที่ประสบความสำเร็จที่สุดเช่นกัน
บทสรุป
องค์กรที่ไม่หยุดพัฒนาและรักที่จะก้าวไปข้างหน้าอยู่เสมอ มักเป็นองค์กรที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงามอยู่เสมอเช่นกัน และในองค์กรเหล่านี้ก็มักจะเต็มไปด้วยบุคลากรที่มีศักยภาพ มุ่งมั่นที่จะพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลาอีกด้วย การที่ทั้งบุคลากรและองค์กรมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาร่วมกันนั้นเป็นเสมือนพลังสำคัญที่จะขับเคลื่อนองค์กรไปข้าวหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ และมีส่วนผลักดันให้องค์กรก้าวขึ้นสู่ความสำเร็จอย่างรวดเร็วและแข็งแกร่งได้ ดังนั้นจึงไม่ควรหยุดพัฒนาองค์กร และที่สำคัญองค์กรก็ควรที่จะส่งเสริมพัฒนาศักยภาพของพนักงานของตนอยู่เสมอ เพราะการพัฒนาองค์กรนั้นควรทำควบคู่กันทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์, ระบบบริหาร, ระบบการทำงาน, ไปจนถึงบุคลากร จึงจะเป็นการพัฒนาที่สมบูรณ์แบบที่สุด