HIGHLIGHT
|
ปี 2024 หลายองค์กรในเอเชียกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ด้วยการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยเฉพาะ AI มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน แต่การนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างเดียวไม่เพียงพอ สิ่งสำคัญคือการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานและพัฒนาพนักงานคนเก่ง (Talent) ให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีนั้นด้วย
Global Talent Trends Asia 2024 จาก Mercer ได้สำรวจจากผู้บริหารธุรกิจ ผู้นำด้านทรัพยากรบุคคล พนักงาน และนักลงทุนจำนวน 12,000 คน จาก 16 อุตสาหกรรม และจาก 10 ประเทศในเอเชีย พบว่า การลงทุนในปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นทั้งความท้าทายและโอกาสในการเพิ่มประสิทธิภาพในองค์กร โดย 41% ของผู้บริหารเชื่อว่า การลงทุนในจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทางธุรกิจได้มากที่สุด ซึ่งนอกจาก AI จะเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานแล้ว แต่ยังเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานของพนักงานด้วย
ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังมีหลายปัจจัยที่เป็นความท้าทายอยู่ เช่น
- ความสามารถในการปรับตัวของพนักงาน: 53% ของผู้บริหารเชื่อว่า ทาเลนต์ของตัวเองไม่มีความสามารถในการปรับตัวได้เพียงพอ
- การปรับตัวของแรงงาน: 86% ของผู้บริหารเชื่อว่า น้อยกว่าครึ่งของแรงงานจะสามารถปรับตัวได้ หากงานของพวกเขาถูกเปลี่ยนหรือยกเลิกโดย AI
- แรงบันดาลใจในการใช้เทคโนโลยี: 59% ของผู้บริหารกังวลว่า องค์กรของพวกเขายังไม่ได้ทำเพียงพอในการกระตุ้นให้พนักงานยอมรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ
- ความพึงพอใจในการทำงาน: 40% ของแรงงานเองก็ระบุว่า พวกเขาไม่รู้สึกว่ากำลังเติบโตในที่ทำงานเลย
ฉะนั้นแล้ว การสร้างสมดุลระหว่าง ‘การนำเทคโนโลยีมาใช้’ และ ‘กลยุทธ์การทำงานของพนักงาน’ จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากองค์กรต้องการเพิ่มประสิทธิภาพอย่างแท้จริง การเปลี่ยนแปลงนี้ต้องเกิดจากการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานและการสร้างความไว้วางใจ (Trust) จากพนักงาน ซึ่งเกิดขึ้นได้จากการพัฒนากลยุทธ์ด้าน HR ดังต่อไปนี้
Contents
1. เพิ่มประสิทธิภาพด้วยการมีมนุษยธรรม (Human-Centric Productivity)
หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ผู้นำองค์กรต้องให้ความสำคัญ คือ การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานผ่านการมองมนุษย์เป็นมนุษย์ โดย 63% ของผู้นำฝ่ายทรัพยากรบุคคลบอกว่า การปรับเปลี่ยนงานและการวางแผนกำลังคน เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
และเพื่อให้พนักงานสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ องค์กรควรวางแผนแนวทางในการปรับปรุงประสิทธิภาพ ดังนี้
- ออกแบบงานและวางแผนกำลังคนใหม่ โดยเน้นที่ทักษะของพนักงานที่ต้องการเป็นหลัก
- ประเมิน พัฒนา และให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมทักษะมากขึ้น
- ให้รางวัลกับการเรียนรู้และการพัฒนาทักษะ เช่น การเรียนหลักสูตรและการรับรองต่าง ๆ
2. สร้างความไว้วางใจและความเท่าเทียม (Trust & Equity)
รู้ไหมว่าพนักงานมีความเชื่อใจบริษัทน้อยลง โดยสถิติบอกว่า ความไว้วางใจของพนักงานลดลงจาก 80% ในปี 2022 เหลือเพียง 65% ในปี 2024
สาเหตุหลักที่ทำให้ความไว้วางใจลดลงคือ องค์กรผิดคำสัญญากับพนักงาน (45%) เช่น การไม่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งหรือการขึ้นเงินเดือน, การปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม/ไม่เท่าเทียมกัน (37%) และ การเปลี่ยนแปลงองค์กรบ่อยครั้ง (35%)ฉะนั้น การสร้างความไว้วางใจระหว่างองค์กรและพนักงานเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งสามารถทำได้ผ่านกลยุทธ์ดังนี้:
- สร้างความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งในองค์กรให้กับพนักงาน
- รับฟังและให้ความสำคัญกับประสบการณ์ของพนักงาน
- มั่นใจว่าค่านิยมที่สื่อสารออกไปภายนอกองค์กร ตรงกับที่พนักงานได้รับภายในองค์กร
5 เหตุผลที่ทำให้พนักงานยังรู้สึกอยากอยู่กับองค์กร
|
3. เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันขององค์กร (Corporate Immune System)
ปัจจุบันการเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันขององค์กรเป็นสิ่งจำเป็น เพราะทำให้แรงงานสามารถปรับตัวและทนทานต่อความท้าทายต่าง ๆ ได้ ฉะนั้นการสร้างแรงงานที่มีความยืดหยุ่นทางจิตใจ จึงช่วยให้องค์กรสามารถรักษาประสิทธิภาพการทำงาน และยกระดับความพึงพอใจของพนักงานได้เช่นกัน
ทั้งนี้จากสถิติมีสาเหตุหลักที่ทำให้พนักงานหมดไฟ ดังนี้:
- ความเครียดทางการเงิน (44%)
- ความเหนื่อยล้าจากการทำงาน (40%)
- มีปริมาณงานที่มากเกินไป (38%)
- สมดุลระหว่างงานและชีวิตที่ไม่ดี (31%)
- การมีเครื่องมือและแพลตฟอร์มที่มากเกินไป (31%)
ฉะนั้นแนวทางการรับมือกับปัญหานี้องค์กรจึงควรให้ความสำคัญกับความกังวลของพนักงาน เช่น ให้คำปรึกษาทางการเงินและสิทธิประโยชน์ที่ยืดหยุ่น รวมไปถึงการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่สมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัวให้ได้
4. สร้างวัฒนธรรมดิจิทัลเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก (Digital-First Culture)
การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลไม่ควรแค่เพียงการนำเทคโนโลยีมาใช้ แต่ควรสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้พนักงานสามารถปรับตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะมีพนักงาน 58% ที่จะรู้สึกตื่นเต้นที่จะลองใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ขณะที่จะทำให้พนักงาน 31% รู้สึกว่ามีเครื่องมือและแพลตฟอร์มมากเกินไปแทน
ฉะนั้น เพื่อสร้างวัฒนธรรมดิจิทัล แนวทางสำคัญในการสร้างวัฒนธรรม คือ
- พยายามสร้างแรงบันดาลใจให้พนักงานในการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ
- ฟังและสื่อสารกับพนักงานเกี่ยวกับการลงทุนทางเทคโนโลยีอย่างสม่ำเสมอ
- เสนอการฝึกอบรมและพัฒนาทักษะให้กับพนักงานอย่างต่อเนื่อง
บทสรุป
การนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยเฉพาะ AI มาใช้ในองค์กรจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้ แต่ความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลงนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้นำในการปรับวิธีการทำงานและสร้างสภาพแวดล้อมที่พนักงานไว้วางใจและพร้อมพัฒนาทักษะของตนเอง
ฉะนั้น การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการปรับตัวและยอมรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ จะเป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จในระยะยาวขององค์กรต่อไป