HIGHLIGHT
|
เมื่อโลกของการทำงานเปลี่ยนแปลงไป เจเนอเรชันใหม่ ๆ ก็ก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น องค์กรจึงจำเป็นต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับความต้องการของพนักงานยุคปัจจุบัน เพราะ “งานในฝัน” ของแต่ละเจเนอเรชันมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ
เพื่อทำความเข้าใจแนวโน้มเหล่านี้ Reeracoen Thailand ร่วมกับ HREX.asia จึงจัดทำแบบสำรวจ “ความคิดเห็นและความคาดหวังเกี่ยวกับลักษณะงานในอุดมคติ” โดยมีผู้เข้าร่วมตอบแบบสอบถามทั้งสิ้น 642 คน ผลสำรวจนี้เผยให้เห็นว่า คนแต่ละวัยให้ความสำคัญกับงานในมุมมองที่แตกต่างกัน บ้างให้ความสำคัญกับ ความมั่นคง บ้างมองหาความยืดหยุ่น และบางคนต้องการแรงบันดาลใจจากงานที่ทำ
แล้วแต่ละเจเนอเรชันมีมุมมองต่อ “งานในฝัน” อย่างไร ? ปัจจัยใดที่มีผลต่อการเลือกและอยู่ทำงานในองค์กร ? และแนวโน้มในอนาคตของตลาดแรงงานจะเป็นอย่างไร ? หาคำตอบไปพร้อมกันในบทความนี้
งานในฝันของแต่ละเจเนอเรชัน
Generation X (เกิดปี 1965 – 1980)
เจเนอเรชัน X เป็นกลุ่มที่เติบโตขึ้นมาในยุคที่การทำงานหมายถึงความมั่นคงและความก้าวหน้าในสายอาชีพ พวกเขาจึงให้ความสำคัญกับงานที่สามารถสร้างความมั่นคงในระยะยาวได้ ผลสำรวจสำท้อนให้เห็นว่า
- ต้องการ ความมั่นคงและความปลอดภัยระยาว ในการทำงาน
- มองหารูปแบบ การบริหารแบบสร้างแรงบันดาลใจ
- ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมองค์กรที่มี การสื่อสารที่เปิดกว้าง เน้นความเป็นทีม
- และต้องการสวัสดิการที่เกี่ยวกับ รายได้และความมั่นคงหลังเกษียณ
Generation Y (เกิดปี 1981 – 1996)
เจเนอเรชัน Y หรือที่รู้จักกันในชื่อมิลเลนเนียล มองหางานที่สามารถให้ความยืดหยุ่นและมีวัฒนธรรมองค์กรที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิต พวกเขาให้ความสำคัญกับสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน และพร้อมที่จะเปลี่ยนงานหากรู้สึกว่างานปัจจุบันไม่ตอบโจทย์
- งานในฝันคืองานที่มี วัฒนธรรมองค์กรที่ดี
- ปรารถนาให้มี การบริหารงานแบบยืดหยุ่น
- สิ่งที่ส่งผลต่อการทำงานคือ วัฒนธรรมองค์กรที่ยืดหยุ่น สนับสนุนให้พนักงานเติบโต
- และมองหา สวัสดิการที่เกี่ยวข้องกับรายได้เพิ่มเติม
Generation Z (เกิดปี 1997 – 2012)
เจน Z เป็นกลุ่มที่เติบโตมากับเทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้พวกเขาคาดหวังให้องค์กรมีนวัตกรรมและเปิดกว้างต่อแนวคิดใหม่ ๆ พวกเขาต้องการงานที่ให้ทั้งความท้าทายและแรงบันดาลใจ รวมถึงโอกาสในการเรียนรู้สิ่งใหม่ด้วย
- งานในฝันคือต้องมี วัฒนธรรมองค์กรที่ดี ก่อน
- เน้น การบริหารงานที่ให้แรงบันดาลใจ
- ต้องการ วัฒนธรรมองค์กรที่ยืดหยุ่น เปิดกว้าง และให้ความสำคัญกับความหลากหลาย
- มองหาสวัสดิการ วันหยุดและการพักผ่อน สะท้อนถึงแนวคิด Work-Life Balance
ไม่ว่าเจนไหน “หัวหน้างาน” ก็เป็นปัจจัยที่มีผลต่อการทำงานมากที่สุด
หากสังเกตจากผลสำรวจ หนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพและความพึงพอใจในการทำงานของพนักงานมากที่สุดก็คือ “หัวหน้างาน” โดยมีลำดับใกล้เคียงกันคือ
- เจน X: 60.71%
- เจน Y: 70.31%
- และเจน Z: 58.82%
พลันให้เรานึกถึงประโยคที่บอกว่า “พนักงานไม่ได้ลาออกเพราะงานที่ทำ แต่ลาออกเพราะคน” โดยเฉพาะหัวหน้าหรือผู้บริหารที่ไม่สามารถนำทีมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ปัญหาที่พบได้บ่อยคือ วัฒนธรรมการบริหารที่เข้มงวดเกินไป ทำให้พนักงานรู้สึกอึดอัด ขาดอิสระในการทำงาน ขณะที่บางองค์กรมีระบบบริหารที่ไม่เปิดโอกาสให้พนักงานเติบโต หรือไม่มีการสนับสนุนพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ หัวหน้าที่ขาดภาวะผู้นำ ไม่สามารถสร้างแรงจูงใจให้ทีมได้ หรือมีการสื่อสารที่ไม่ชัดเจน ก็เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้พนักงานรู้สึกไม่มั่นคงและหมดไฟ
หากองค์กรต้องการรักษาพนักงานที่มีศักยภาพเอาไว้ การพัฒนาภาวะผู้นำของหัวหน้างาน ถือเป็นแนวทางที่สำคัญ องค์กรควรลงทุนในการฝึกอบรมและพัฒนาทักษะด้านการบริหาร เช่น การสื่อสาร การให้ Feedback และการสร้างแรงจูงใจให้ทีม
นอกจากนี้ ควรส่งเสริมให้หัวหน้างานสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับพนักงาน เปิดโอกาสให้พนักงานมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่เปิดกว้างและมีความยืดหยุ่นนั่นเอง
โอกาสเติบโตในอาชีพ คือเงินเดือนที่เพิ่มขึ้น และได้รับโปรเจกต์ท้าทาย
อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจคือหัวข้อตัวชี้วัด โอกาสในการเติบโตในอาชีพ ซึ่งที่พนักงานทุกเจเนอเรชันมองหาคือ
- เจน X: การได้รับมอบหมายให้ทำโปรเจกต์ใหม่ ๆ
- เจน Y: การเพิ่มขึ้นของรายได้
- และเจน Z: โอกาสในการทำโปรเจกต์ที่ท้าทาย
ประเด็นนี้สรุปได้ว่า นอกเหนือจากค่าตอบแทนและสภาพแวดล้อมในการทำงานแล้ว โอกาสในการเติบโตในอาชีพ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่พนักงานทุกเจเนอเรชันให้ความสำคัญ การเติบโตในสายงานไม่ได้หมายถึงเพียงการเลื่อนตำแหน่งเท่านั้น แต่ยังรวมถึงโอกาสในการพัฒนาทักษะ การได้รับมอบหมายงานที่ท้าทาย และการได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสมกับความสามารถ
เทรนด์อนาคต: อุตสาหกรรมและทักษะที่ได้รับความสนใจ
นอกเหนือจากประเด็นในงานในฝันแล้ว ผลสำรวจยังมีการถามถึงเทรนด์ บริษัทที่อยากร่วมงานในอนาคต ด้วย พบว่า มี 3 อุตสาหกรรมหลักที่คาดว่าจะเป็นที่ต้องการมากที่สุดในอนาคต ได้แก่
- พลังงานทดแทนและพลังงานสะอาด: เพราะธุรกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืนกำลังเป็นที่ต้องการมากขึ้น โดยเฉพาะองค์กรที่ให้ความสำคัญกับ ESG ซึ่งจะดึงดูดพนักงานรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมเสมอ
- เทคโนโลยีและสารสนเทศ: อุตสาหกรรมเทคโนโลยียังเป็นที่จับตามอง แถมยังเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ฉะนั้นทักษะด้าน AI, Blockchain, Data Science และ Cybersecurity ยังคงเป็นที่ต้องการสูง และจะมีบทบาทสำคัญในทุกองค์กร
- สุขภาพและการแพทย์: อุตสาหกรรมด้านสุขภาพยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ รวมไปถึงเทรนด์การดูแลสุขภาพดิจิทัล (Digital Health)
Problem-Solving Skills ยืนหนึ่งเรื่องทักษะที่คาดหวัง
เพราะพนักงานยังต้องพัฒนาทักษะที่ช่วยให้พวกเขาปรับตัว และยังสามารถแข่งขันในตลาดแรงงานได้ 3 ทักษะเหล่านี้จึงเป็นที่พวกเขาคาดหวังจากการทำงาน เพื่อช่วยให้ตัวเองทำงานได้ดีขึ้น แต่ยังส่งผลโดยตรงต่อความก้าวหน้าในอาชีพของพวกเขาด้วย คือ
- ทักษะแก้ไขปัญหา (Problem-Solving Skills): ในยุคที่ธุรกิจต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง ความสามารถในการคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบเป็นสิ่งที่องค์กรทุกแห่งต้องการ
- ทักษะการสื่อสาร (Communication Skills): ไม่ว่าจะทำงานในอุตสาหกรรมใด ความสามารถในการสื่อสารที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่การทำงานแบบข้ามทีมและข้ามวัฒนธรรมมีมากขึ้น
- ทักษะการเป็นผู้นำ (Leadership Skills): ผู้นำที่ดีไม่ใช่แค่ระดับผู้บริหารเท่านั้น แต่พนักงานทุกระดับต้องมีความสามารถในการบริหารจัดการงานและคน รวมถึงการสร้างแรงบันดาลใจให้ทีม
ฉะนั้นองค์กรที่ต้องการความก้าวหน้า จึงควรส่งเสริมให้พนักงานพัฒนาทักษะเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันพนักงานเองก็ควรตระหนักว่า การเรียนรู้และพัฒนาทักษะเหล่านี้คือ กุญแจสำคัญที่ช่วยให้พวกเขาสามารถแข่งขันและเติบโตได้ในอนาคตนั่นเอง
บทสรุป
แม้ว่างานในฝันของแต่ละเจเนอเรชันจะมีความแตกต่างกัน แต่ปัจจัยสำคัญที่ทุกคนให้ความสำคัญคือ โอกาสในการเติบโตและหัวหน้างานที่ดี
กล่าวคือพนักงานต้องการเห็นเส้นทางความก้าวหน้าของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการได้รับมอบหมายงานที่ท้าทาย การพัฒนาทักษะ หรือค่าตอบแทนที่เหมาะสมต่อศักยภาพของพวกเขา
ขณะเดียวกัน หัวหน้างาน ที่มีภาวะผู้นำและสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้ทีมได้ ก็เป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้พนักงานรู้สึกมีคุณค่าและพร้อมทุ่มเทให้กับองค์กร
นอกจากนี้ แนวโน้มของตลาดแรงงานในอนาคตยังชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของ ทักษะการแก้ไขปัญหา การสื่อสาร และภาวะผู้นำ ซึ่งเป็นทักษะที่องค์กรต้องการมากที่สุด การพัฒนาทักษะเหล่านี้จะช่วยให้พนักงานสามารถปรับตัวและแข่งขันได้ในสภาพแวดล้อมการทำงานที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลานั่นเอง
ทั้งนี้ หากองค์กรของคุณกำลังมองหาบุคลากรที่มีศักยภาพ Reeracoen Thailand พร้อมช่วยเชื่อมต่อบริษัทกับผู้สมัครที่เหมาะสมที่สุดผ่านบริการจัดหางานที่มีประสิทธิภาพ
และหากคุณต้องการพัฒนาองค์กรให้ตอบโจทย์พนักงานยุคใหม่ HREX.asia คือแพลตฟอร์มที่รวบรวมผู้ให้บริการด้านทรัพยากรบุคคล ที่สามารถช่วยคุณยกระดับการบริหารจัดการบุคลากร ตั้งแต่การพัฒนาทักษะ การปรับโครงสร้างองค์กร ไปจนถึงโซลูชันด้าน HR ที่ครบวงจร เพื่อให้คุณสร้างองค์กรที่ดึงดูดและรักษาคนเก่งไว้ได้อย่างแท้จริง