ถึงเวลาสรุป Q&A Of the Month แล้ว ตลอดเดือนพฤศจิกายน 2024 ที่ผ่านมา มีผู้เข้ามาตั้งคำถามใน HR Community หรือเว็บบอร์ดถาม-ตอบ (Q&A Forum) ของ HREX เยอะทีเดียว แต่ HREX ขอเลือกมี 5 คำถามเด็ด ๆ นี้ซึ่ง HR ทุกท่านจำเป็นต้องรู้ร่วมกัน
มาดูกันดีกว่าว่า HR Expert ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลแต่ละท่าน มาแสดงทัศนะที่มีประโยชน์ เชื่อถือ อ้างอิง และนำไปปรับใช้จริงได้ เป็นวิทยาทานแก่คนทำงาน HR ทุกคนอย่างไรบ้าง
Q1 : ทำไมต้องหักเงินค่าประกันสังคมด้วย
จริงๆ การมีประกันสังคมถือเป็นเรื่องดีนะครับ แค่สงสัยว่า เราควรให้พนักงานสามารถเลือกเองได้ไหมว่า อยากส่งหรือไม่อยากส่งเงินค่าประกันสังคม แต่เข้าใจว่ามันมีการระบุเป็นข้อกฎหมายไว้เลยว่าถ้าองค์กรไม่หักประกันสังคมจะมีปัญหา
คิดว่าอย่างไรกันครับ
A: Poonnie HR
มองในแง่การบังคับใช้ต้องประกาศเป็นกฎหมาย ถ้าพิจารณาจากเรื่องนี้ มีกฎหมายที่บังคับใช้หลายตัว ถ้ามาตั้งคำถามให้เลือกว่าควรมีหรือไม่ เชื่อได้ว่า หลายคนเห็นด้วย หลายคนไม่เห็นด้วย แต่ถ้าพิจารณาจากภาพใหญ่ มันจำเป็น เลยต้องบังคับใช้ครับ
มองในแง่หลักการส่วนตัว ผมคิดว่า ประกันสังคมเป็นสิ่งที่ดีตอนเราไม่สบาย ป่วย ต้องรักษา หลายๆบริษัทไม่มีประกันกลุ่มให้ กรณีไม่สบาย ป่วย ผ่าตัด ก็พึ่งพาประกันสังคมที่ส่งเดือนละ 750 บาท x12 เดือน ก้อไม่ถึงหมื่นบาทต่อปี ถ้าซื้อประกันกลุ่มด้วยตนเอง ก็ไม่มี ต้องซื้อประกันเอง ค่าเบี้ยประกันสุขภาพมากกว่า หมื่นบาทต่อปี ภายใต้เงื่อนไข OPD กี่ครั้งกี่บาทต่อปี IPD อีก กรณีเราตกงาน เกษียณอายุ เรายังมีเงินพอใช้ได้บ้าง แม้จะไม่มากมาย แต่ยังมีได้บ้าง มุมมองส่วนตัวครับ
กรณีเป็นบริษัท ถ้าให้เลือกไม่ต้องเข้าประกันสังคม ผมคิดว่า บริษัทน่าจะชอบในมุมที่ไม่ต้องจ่ายสมทบ แต่อีกมุม ถ้าพนักงานประสบอุบัติเหตุหรือใด ๆ บริษัทอาจต้องมีส่วนในการดูแลค่าใช้จ่ายที่สูงมากกว่าเงินจ่ายสมทบอีก บริษัทเลยเลือกจ่ายเงินสมทบ เช่นเดียวกับหลาย ๆ บริษัทเลือกให้มีประกันกลุ่มเป็นสวัสดิการพนักงาน เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตที่บริษัทอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าครับ
อ่านคำตอบเพิ่มเติมใน HR Community
Q2 : การจ่ายเงินค่าตำแหน่งแบบมีเงื่อนไข สามารถตั้งเงื่อนไขอะไรได้บ้าง
หากจะจ่ายค่าตำแหน่งให้กับพนักงานในระดับหัวหน้างาน แต่อยากจ่ายแบบมีเงื่อนไข (ถ้าไม่มีเงื่อนไข เกรงว่าจะถูกตีว่าเป็นค่าจ้าง และ ต้องนำเงินส่วนนี้ไปคำนวณโอทีและค่าชดเชย) เราสามารถตั้งเงื่อนไขอะไรได้บ้างคะ หรือจะทำยังไงให้เงินตัวนี้เป็นสวัสดิการพนักงาน
A: ดร.เบ็ญจวรรณ บุญใจเพ็ชร
ไม่ว่าจะมี หรือ ไม่มีเงื่อนไข หรือ จะเรียกชื่ออย่างไร ค่าตำแหน่ง ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างเงินเดือน เพราะมีการจ่ายเป็นประจำเท่ากันทุกเดือนและจ่ายพร้อมเงินเดือน ซึ่งมีผลในการนำมาคำนวณโอที,ค่าชดเชย (ที่อาจจะเกิดขึ้น)
หากจะให้เงินตัวนี้เป็นสวัสดิการ ต้องไม่เรียกว่า “ค่าตำแหน่ง” บางองค์กรก็เรียกชื่ออย่างอื่น เช่น ค่าภาระงาน ค่าสินน้ำใจ โดยแยกจ่ายต่างหากเหมือนจัดให้เป็นสวัสดิการที่เป็นตัวเงิน โดยชี้แจงกับพนักงานให้เข้าใจตรงกัน และให้จัดทำเป็นบันทึกข้อตกลง ระบุเงื่อนไขต่าง ๆ ได้เช่น
พนักงานยินดีปฏิบัติงานในฐานะหัวหน้างาน โดยมีหน้าที่ความรับผิดชอบ กำกับ ควบคุมดูแล บริหารงานให้บรรลุเป้าหมายตามที่นายจ้างมอบหมาย
Remark : ไม่แนะนำให้หลีกเลี่ยงค่ะ หากองค์กรต้องการความยั่งยืน ควรปฏิบัติในสิ่งที่ไม่ขัดต่อกฎหมายแรงงาน จะได้ไม่เกิดปัญหาในภายหลัง
อ่านคำตอบเพิ่มเติมใน HR Community
Q3 : HR ทำเงินเดือนผิดบ่อย ทำอย่างไรดี
ตอนนี้บริษัท มีการประกาศวันหยุดประจำปี 15 วัน วันลาพักร้อน 8 วัน แต่ด้วยต้องการปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น เนื่องด้วยเรื่องของการส่งงาน บริษัทสามารถลดวันหยุดประจำปีเป็น 13 วัน และวันลาพักร้อนเป็น 6 วัน ขั้นต่ำตามกฎหมายแรงงานระบุได้หรือไม่
A: ดร.เบ็ญจวรรณ บุญใจเพ็ชร
HR ประมาทเลินเล่อ ทำงานขาดประสิทธิภาพ ให้ทำหนังสือตักเตือน กรณีผิดซ้ำคำเตือน ในระยะเวลา 1 ปี พิจารณาเลิกจ้างได้ โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยถือว่าเป็นความผิดร้ายแรง ตามมาตรา 119 พรบ.คุ้มครองแรงงาน และให้ดูผลกระทบด้วยว่า ความผิดพลาดจากการทำเงินเดือนพนักงานผิด และผิดแทบทุกเดือน ได้ส่งผลให้บริษัทได้รับความเสียหายหรือไม่ เสียหายอย่างไร
ข้อแนะนำ : งานเงินเดือน ผู้ปฏิบัติงานต้องมีความสามารถคิดเงินเดือนได้ถูกต้อง 100 % จากคำถาม HR ที่ว่านี้ไม่เหมาะสมใการทำงานเงินเดือน พิจารณาโยกย้ายให้ทำงานอื่นได้หรือไม่ และใช้การประเมินติดตามผลทุกเดือน ในระยะ 3 เดือน หากปฏิบัติงานไม่ได้ก็ให้พิจารณาตัวเองลาออกไป บริษัทจะได้ไม่เดือดร้อน ขอให้จากกันด้วยดีค่ะ
อ่านคำตอบเพิ่มเติมใน HR Community
Q4 : บริษัทปรับองค์กรใหม่ แต่ลดเงินเดือนพนักงานทุกคนทำได้ไหม
บริษัทคนรู้จักมีการปรับองค์กรใหม่ โดยให้พนักงานทุกคนย้ายจากบริษัทเดิม เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทใหม่เลย และลดเงินเดือนพนักงานทุกคนในบริษัทที่ถูกย้ายไปใหม่ ในกรณีนี้ สามารถทำได้ไหมครับ ในทางกฎหมายแรงงาน (แล้วลดเยอะด้วยเป็นหลักหมื่น)
A: ดร.เบ็ญจวรรณ บุญใจเพ็ชร
การย้ายบริษัท และลดเงินเดือนพนักงานทุกคนในบริษัทที่ถูกย้ายไปใหม่ โดยเปลี่ยนนิติบุคคลใหม่ ต้องทำเรื่องเลิกจ้างจ่ายค่าชดเชยจากบริษัทเดิมให้ถูกต้องตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
และมาบริษัทใหม่ก็ให้ทำสัญญาจ้างแรงงานกันใหม่
คำอธิบายเพิ่มเติม : อาจใช้แนวทางการเจรจาพูดคุยกับพนักงานให้เข้าใจถึงเหตุผลและความจำเป็นสำหรับการย้ายไปบริษัทใหม่ โดยสัญญาจ้างแรงงานใหม่ให้นับอายุงานต่อเนื่อง เพื่อตัดงบประมาณในการจ่ายค่าชดเชย ทั้งนี้ต้องทำบันทึกข้อตกลงและได้รับความยินยอมจากพนักงานด้วย เพื่อป้องกันปัญหาด้านแรงงานสัมพันธ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
อย่าลืมว่า การปรับลดเงินเดือนเป็นการเปลี่ยนสภาพการจ้าง และการหักเงินนำส่งประกันสังคม ซึ่งบริษัทเดิม (นายจ้างเดิม) ก็ต้องทำเรื่องแจ้งออกประกันสังคม และเมื่อเป็นบริษัทใหม่ นายจ้างมีหน้าที่ยื่นแบบรายชื่อผู้ประกันตนตามพรบ.ประกันสังคมภายใน 30 วัน
อ่านคำตอบเพิ่มเติมใน HR Community
Q5 : HR Tech ที่ทำได้แค่อย่างเดียว กับทำได้หลายอย่าง เลือกอะไรดี
เวลา HR มองหา HR Tech มาใช้ มีวิธีเลือกอย่างไรดีครับ ระหว่าง บริการที่ทำได้แค่อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ทำสิ่งนั้นได้ดีมาก ๆ กับบริการที่ทำได้หลายอย่าง แต่มันอาจจะไม่ได้ดีที่สุดเมื่อเทียบกับอีกที่ทำได้อย่างเดียว
A: ดร.เบ็ญจวรรณ บุญใจเพ็ชร
คำถามกว้างมากค่ะ คำว่า HR Tech. ไม่ได้ระบุมาว่าครอบคลุม Module อะไรบ้าง ขอตอบในภาพกว้าง
การเลือกใช้ HR Tech. ขอให้ใช้ได้กับงานระบบ HRM และ HRD โดยย่อดังนี้
- Based Data และระบบ Time Attendance
- Manpower & Recruit System
- Payroll & Compensation
- Performance System
- Training & Learning Roadmap
- Career Development & Career Path
- ระบบ IDP & Talent Pool สำหรับองค์กรที่เน้นการเพิ่มศักยภาพพนักงาน และรองรับการเติบโตขององค์กรอย่างยั่งยืน
หมายเหตุ
- ให้พิจารณาด้านงบประมาณในการลงทุนและจำนวนพนักงานในองค์กรว่ามีมากน้อยเพียงใด อย่าลืมว่างานระบบ HR ต้องตอบโจทก์ความเคลื่อนไหวของพนง.ต่อผู้บริหารได้ในทุกมิติ
- สำหรับงานด้านแรงงานสัมพันธ์ ,กฎหมายแรงงาน ยังไม่มีระบบ HR Tech. ที่มา support โดยตรง ยังคงใช้ความรู้ ความสามารถของหัวหน้า/ผู้จัดการ/ผู้บริหาร HR ที่ต้องติดตามสถานการณ์ให้ update และนำไปใช้งานให้ได้อย่างถูกต้อง