HIGHLIGHT
|
เวลาออกจากบ้านมาทำงาน ใคร ๆ ก็น่าจะอยากออกมาแบบร่างกายสะอาดสะอ้าน ดูดี มีกลิ่นหอม หลายคนนอกจากจะอาบน้ำแล้ว ยังต้องฉีด น้ำหอม อีกสัก 3-4 สเปรย์ให้ทั่วตัว มิฉะนั้นคงมาทำงานด้วยความรู้สึกไม่มั่นใจ กังวลว่ากลิ่นกายอาจไปรบกวนสมาธิผู้อื่นจนส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานได้
อย่างไรก็ตาม การฉีดน้ำหอม นั้นก็มีข้อปฏิบัติที่ควรรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในที่ทำงานในบางองค์กร HR ถือเป็นเรื่องใหญ่ทีเดียว หากสุ่มสี่สุ่มห้าฉีดน้ำหอมโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่าง ๆ ให้ดี อาจเกิดปัญหาหลายอย่างตามมาได้
ทำไม HR ถึงต้องให้ความสำคัญกับการฉีดน้ำหอมของพนักงานขนาดนี้ HREX.asia มีคำตอบ ติดตามได้เลยในบทความนี้
Contents
น้ำหอม อุปกรณ์เพิ่มความมั่นใจ ที่ทำลายบรรยากาศได้
น้ำหอม ถือเป็นเครื่องประดับที่มีความหรูหรา ช่วยสร้างความมั่นใจ เสริมสร้างบุคลิกภาพ และบ่งบอกถึงรสนิยมของผู้ใช้ให้กับแต่ละคนได้อย่างดี
อย่างไรก็ตาม ในบริบทของที่ทำงาน การใช้น้ำหอมอาจไม่ได้ส่งผลดีเสมอไป หากใช้กลิ่นที่แรงหรือฉุนเกินไป อย่าลืมว่า แต่ละคนมีความชื่นชอบแตกต่างกัน น้ำหอมที่ชอบของแต่ละคนก็ย่อมต่างกันไปด้วย
บางคนอาจชอบกลิ่นหอมสดชื่น ๆ บางคนอาจชอบกลิ่นไม้ ซึ่งกลิ่นเหล่านี้อาจไม่ได้หอมสำหรับทุกคน และมันสามารถสร้างความไม่สบายใจที่ส่งผลต่อบรรยากาศการทำงานได้
อีกหนึ่งในปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยจากการใช้น้ำหอมในที่ทำงานคือ ผลกระทบต่อสุขภาพของเพื่อนร่วมงาน นอกจากกลิ่นที่ชอบของแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน ความไวต่อกลิ่นของแต่ละคนก็ไม่เท่ากันด้วย บางคนอาจแพ้สารเคมีในน้ำหอม นำไปสู่อาการปวดศีรษะ ระคายเคืองตา หรือระบบทางเดินหายใจติดขัดได้
นอกจากส่งผลกระทบต่อสุขภาพ กลิ่นน้ำหอมที่ไม่เหมาะสมยังอาจลดประสิทธิภาพการทำงาน เป็นต้นเหตุของความขัดแย้งในทีมได้ บางคนอาจจะคิดว่านี่เป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่อย่าลืมว่าเรื่องเล็ก ๆ แบบนี้เป็นชนวนที่สร้างปัญหาใหญ่ที่ไม่คาดคิดมาแล้วนักต่อนัก
ทำไม HR ต้องให้ความสำคัญกับการฉีดน้ำหอมของพนักงาน
แม้น้ำหอมจะเป็นตัวช่วยเสริมความมั่นใจของปัจเจกบุคคล แต่การใช้น้ำหอมในที่สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในที่ทำงานก็ควรต้องใช้อย่างระมัดระวังและเหมาะสม
HR และพนักงานควรร่วมกันสร้างความเข้าใจถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น พร้อมกำหนดแนวทางหรือมารยาทที่ชัดเจนเกี่ยวกับการใช้น้ำหอม เพื่อส่งเสริมให้ที่ทำงานเป็นพื้นที่ที่ทุกคนรู้สึกสบายใจและสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
หน้าที่หนึ่งของ HR คือการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ทุกองค์ประกอบในที่ทำงาน รวมถึงเรื่องเล็ก ๆ อย่างการใช้น้ำหอมของพนักงาน ส่งผลต่อความเป็นอยู่ที่ดีของทีมงานได้ หากละเลยประเด็นนี้ อาจเกิดผลกระทบต่อสุขภาพ ความสัมพันธ์ในทีม และวัฒนธรรมองค์กร
ปัญหาด้านสุขภาพก็เป็นหนึ่งในเหตุผลหลักที่ HR ควรใส่ใจเรื่องการใช้น้ำหอม ดังที่กล่าวว่ามีพนักงานไม่น้อยที่แพ้สารเคมีหรือไวต่อกลิ่น ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพโดยรวม เช่น ปวดศีรษะ ระคายเคืองทางเดินหายใจ หรือมีอาการแพ้เฉียบพลัน หากไม่มีการจัดการที่เหมาะสม องค์กรอาจเผชิญกับปัญหาความพึงพอใจในการทำงานของพนักงานที่ลดลง หรือในกรณีร้ายแรงอาจต้องรับผิดชอบทางกฎหมาย
นอกจากนี้ การจัดการเรื่องน้ำหอมยังช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ในทีมและวัฒนธรรมองค์กรที่ดี กลิ่นที่แรงหรือไม่เหมาะสมอาจสร้างความไม่สบายใจและลดความร่วมมือในทีมได้ HR สามารถช่วยป้องกันปัญหาเหล่านี้ได้ด้วยการกำหนดแนวทางเกี่ยวกับมารยาทในการใช้น้ำหอม เพื่อส่งเสริมความเคารพและการอยู่ร่วมกันในที่ทำงาน
การใส่ใจในรายละเอียดเล็ก ๆ อย่างการใช้น้ำหอม ยังสะท้อนถึงการให้ความสำคัญกับพนักงานทุกคนในองค์กร HR ควรนำประเด็นนี้เข้าสู่นโยบายด้านสุขภาพและวัฒนธรรมองค์กร เช่น การสื่อสารเกี่ยวกับผลกระทบของน้ำหอม และการจัดพื้นที่ปราศจากกลิ่น เพื่อให้พนักงานรู้สึกว่าองค์กรใส่ใจในความต้องการและความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนอย่างแท้จริง
ส่องนานาประเทศ วางมาตรการเรื่องน้ำหอมในที่ทำงานอย่างไร
น้ำหอมเป็นสิ่งที่คนใช้กันทั่วโลก อาจไม่ได้มีกฎหมายหรือข้อบังคับเรื่องการใช้งานอย่างเป็นทางการ แต่รู้หรือไม่ว่าในบางประเทศมีระเบียบข้อบังคับที่กำหนดให้นายจ้างต้องจัดเตรียมสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยและถูกสุขลักษณะให้แก่พนักงาน ซึ่งครอบคลุมถึงการใช้น้ำหอมไม่ทางใดก็ทางหนึ่งด้วย
มาดูกันดีกว่าว่าประเทศไหนพูดถึงเรื่องนี้ไว้อย่างไรบ้าง
สหภาพยุโรป (European Union)
ในสหภาพยุโรปมีข้อบังคับ EU Strategic Framework on Health and Safety at Work 2021-2027 ที่จัดตั้งกรอบการทำงานเพื่อปกป้องพนักงานจากความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการสัมผัสสารอันตรายในที่ทำงาน
โดยรวมแล้วเอกสารนี้ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องกฎการใช้น้ำหอมโดยตรง แต่แนวทางจัดการกับความเสี่ยงจากการใช้สารเคมีในที่ทำงาน ก็สามารถตีความ และโยงให้เห็นถึงผลกระทบจากน้ำหอมอย่างไม่ถูกสุขอนามัยได้
ประเทศสหรัฐอเมริกา
ในทำนองเดียวกัน สหรัฐอเมริกามีแนวทางจากสำนักงานบริหารความปลอดภัยและอาชีวอนามัย (Occupational Safety and Health Administration หรือ OSHA) ที่กำหนดให้นายจ้างจัดให้มีสถานที่ทำงานที่ปราศจากกลิ่นน้ำหอม หากพนักงานมีความไวต่อกลิ่นหรือแพ้กลิ่นบางประเภท หรือหากกลิ่นนั้นส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำงานอย่างปลอดภัยของพนักงาน
ประเทศแคนาดา
ศูนย์เพื่อสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงานของแคนาดา (Canadian Centre for Occupational Health and Safety) แสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้น้ำหอมในที่ทำงาน เกิดเป็นแนวทางสำหรับนโยบายปราศจากกลิ่นน้ำหอมในสถานที่ทำงาน หากมีความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาความไม่สบายใจของพนักงาน
ประเทศออสเตรเลีย
ศูนย์เพื่อสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงานของออสเตรเลีย (Occupational Health and Safety – OHS) เคยเผยแพร่เอกสาร Perfumes and scents: chemicals too! เน้นถึงความสำคัญของการจัดการกับน้ำหอมในสถานที่ทำงานเพื่อปกป้องสุขภาพของพนักงานด้วย
งานแบบไหนที่ควร / ไม่ควรฉีดน้ำหอม
เนื่องจากอาจไม่มีข้อห้ามเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับการใช้น้ำหอมในที่ทำงาน จึงขึ้นอยู่กับนโยบายของบริษัทเป็นหลักว่าจะบริหารจัดการอย่างไรให้กลิ่นน้ำหอมไม่สร้างความวุ่นวายแก่การทำงานของพนักงาน
อย่างไรก็ตาม มีงานหลายประเภทที่ควรต้องพิจารณาอย่างจริงจัง ฉีดน้ำหอมได้หรือไม่ ถ้าฉีดได้ควรฉีดระดับไหนจึงจะเหมาะสม โดย HREX รวบรวมข้อมูลมาให้พิจารณาแล้วดังนี้
งานด้านการดูแลสุขภาพ / งานบริการด้านอาหาร: โปรดหลีกเลี่ยงการใช้น้ำหอม
หากคุณทำงานในสถานพยาบาล เช่น โรงพยาบาล สถานดูแลผู้สูงอายุ หรือคลินิก ควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำหอมโดยสิ้นเชิง เนื่องจากผู้ป่วยอาจมีอาการแพ้หรือไวต่อกลิ่นบางชนิด อาจทำให้อาการป่วยแย่ลงกว่าเดิมก็ได้
ส่วนงานบริการในร้านอาหาร การฉีดน้ำหอมอาจไปรบกวนกลิ่นและรสชาติของอาหารที่กำลังเตรียมอยู่ได้ ดังนั้นหากเป็นไปได้ควรเลี่ยงการใช้น้ำหอมในงานประเภทนี้จะดีที่สุด
งานในออฟฟิศ / ร้านค้าปลีก: ฉีดได้ แต่เลือกกลิ่นน้ำหอมให้เหมาะสมด้วย
สำหรับงานในสำนักงานหรือร้านค้าปลีก กฎการใช้น้ำหอมจะยืดหยุ่นมากกว่างานอื่น ๆ มีอิสระในการแสดงตัวตนผ่านกลิ่นหอมมากกว่า ขอเพียงคำนึงถึงอาการแพ้หรือความชอบของเพื่อนร่วมงานอย่างถี่ถ้วนแล้วเป็นพอ
อย่างไรก็ตาม หากทำงานในร้านค้าปลีกที่มีกลิ่นเฉพาะตัวเพื่อสร้างบรรยากาศที่ต้องการ ควรเลือกใช้น้ำหอมที่สอดคล้องกับบรรยากาศนั้น และหลีกเลี่ยงการทำให้กลิ่นของร้านเสียบรรยากาศ
ทั้งนี้ หากใครตัดสินใจไม่ได้ว่าควรฉีดน้ำหอมกลิ่นอะไร แบบไหนดี ก็เริ่มจากการเลือกใช้น้ำหอมที่มีกลิ่นเบาและอ่อนโยนไว้ก่อน เพราะมีโอกาสน้อยที่จะทำให้เกิดการระคายเคืองหรือสร้างความไม่สบายใจให้ผู้อื่น และหลีกเลี่ยงการใช้น้ำหอมที่มีกลิ่นแรง หนัก หรือหวานเกินไป รวมถึงกลิ่นที่ฉุนหรือเข้มข้นเกินไป
งานกลางแจ้ง: กฎการใช้น้ำหอมที่ยืดหยุ่นกว่า
เช่น งานในไซต์ก่อสร้าง มีความยืดหยุ่นมากกว่าในการใช้น้ำหอมส่วนบุคคล เนื่องจากการไหลเวียนของอากาศที่ดีกว่า อย่างไรก็ตาม การใช้น้ำหอมที่มีกลิ่นแรงเกินไป อาจสร้างความรำคาญให้กับผู้คนรอบข้างได้ หากกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้ ควรสอบถามความคิดเห็นจากเพื่อนร่วมงานก่อน น่าจะเป็นทางออกที่ดี
เปิดลิสต์น้ำหอมยอดนิยมสำหรับใช้ในออฟฟิศ
ดังที่กล่าวไว้ว่า น้ำหอมที่แต่ละคนชอบนั้น เป็นรสนิยมส่วนบุคคล อย่างไรก็ตาม HREX ไล่ย้อนดูลิสต์น้ำหอมที่มี YouTuber, Influencer หรือผู้เชี่ยวชาญพยายามแนะนำว่ามีความเหมาะสม ฉีดในที่ทำงานได้ ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละลิสต์นั้นจะให้ตัวเลือกที่ไม่เหมือนกันเลย
แต่มีน้ำหอมอยู่จำนวนหนึ่งที่มักจะติดอยู่ในลิสต์แนะนำของ Influencer แต่ละรายด้วย HREX จึงจะขอคัดเลือกน้ำหอมสำหรับผู้ชาย และผู้หญิง 3 ตัวที่ได้เสียงโหวต ซึ่งน่าจะตรงจริตของท่านผู้อ่านไม่มากก็น้อย ดังนี้
Top 3 น้ำหอมสำหรับผู้ชายในออฟฟิศ
- Blu Atlas Atlantis น้ำหอมที่มอบกลิ่นหอมสดชื่นที่ผสานกลิ่นซิตรัส (Citrus) และไม้หอมอย่างลงตัว เหมาะสำหรับผู้ชายที่ต้องการความมั่นใจและดูมีสไตล์ในที่ทำงาน
- Blu de Chanel น้ำหอมที่มีกลิ่นหรูหราของไซปรัส (Cyprus) และเครื่องเทศ มอบความรู้สึกถึงความเป็นมืออาชีพ เหมาะกับการฉีดในทุกโอกาสในออฟฟิศ
- Dior Sauvage Eau de Parfum น้ำหอมสุดป๊อปปูลาร์ในกลุ่มพนักงานออฟฟิศเพศชาย มีกลิ่นหอม สดชื่น ฉีดแล้วช่วยเสริมสร้างความมั่นใจในการทำงานได้ดียิ่ง
Top 3 น้ำหอมสำหรับผู้หญิงในออฟฟิศ
- Si Passione Giorgio Armani มาพร้อมกลิ่นหวานสดใสของวานิลลาและดอกไม้ ให้ความรู้สึกมั่นใจและเป็นมืออาชีพในแบบผู้หญิงยุคใหม่
- Bvlgari Omnia Amethyste ให้กลิ่นหอมอ่อนโยนจากดอกไอริสและดอกกุหลาบ มอบความสดชื่นและสง่างาม เหมาะกับบรรยากาศในที่ทำงาน
- NARCISO RODRIGUEZ For Her Eau De Parfum ให้กลิ่นหอมอบอุ่นและละมุนของมัสก์และดอกไม้ขาว สร้างความประทับใจอย่างนุ่มนวลและเป็นมืออาชีพ
นโยบาย Workplace Fragrance Policy ที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไร
หาก HR องค์กรไหนกำลังสนใจว่าควรออกแบบนโยบายเกี่ยวกับการใช้น้ำหอมในที่ทำงาน (Workplace Fragrance Policy) อย่างไรดีจึงจะเสริมสร้างความปลอดภัย ความสะดวกสบาย และการทำงานร่วมกันในสภาพแวดล้อมที่ทุกคนรู้สึกสบายใจ HREX ขอแนะนำแนวทางที่ทำได้เบื้องต้นดังต่อไปนี้
1. กำหนดแนวทางการใช้น้ำหอมอย่างชัดเจน
ควรระบุถึงข้อปฏิบัติและข้อแนะนำเกี่ยวกับการใช้น้ำหอมในที่ทำงาน เช่น แนะนำให้ใช้น้ำหอมกลิ่นอ่อนในปริมาณที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงการใช้น้ำหอมที่มีกลิ่นแรงในพื้นที่ทำงานร่วมกัน และอาจรวมถึงการระบุพื้นที่ที่เป็น “Fragrance-Free Zones” เช่น ห้องประชุม ห้องทำงานร่วมขนาดเล็ก หรือพื้นที่สำหรับผู้มีความไวต่อกลิ่น เป็นต้น
2. ส่งเสริมความเข้าใจในผลกระทบของน้ำหอม
องค์กรควรให้ความรู้พนักงานเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้น้ำหอม เช่น ปัญหาสุขภาพที่เกิดจากอาการแพ้กลิ่น เช่น ปวดศีรษะ ระคายเคือง หรือหายใจลำบาก และผลกระทบต่อประสิทธิภาพและบรรยากาศการทำงาน
การอบรมหรือจัดสื่อประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับมารยาทในการใช้น้ำหอม สามารถช่วยสร้างความตระหนักรู้และการเคารพซึ่งกันและกันได้
3. สร้างความยืดหยุ่นในการปฏิบัติตามนโยบาย
นโยบายที่ออกมา ต้องยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนได้ตามลักษณะงานและอุตสาหกรรม รวมถึงบริบทด้วย เช่น หากทำงานที่เกี่ยวกับอาหาร ควรเข้มงวดเรื่องการหลีกเลี่ยงการใช้น้ำหอมก็จริง แต่ถ้าหน้าที่ของพนักงานจะอยู่แต่ในออฟฟิศเท่านั้น ก็ควรอนุญาตให้พนักงานฉีดน้ำหอมได้ด้วย
4. จัดการข้อร้องเรียนอย่างเป็นระบบ
เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น จากความขัดแย้งเรื่องกลิ่นน้ำหอม HR ควรวางมาตรการให้ชัดเจนด้วยว่าจะจัดการข้อร้องเรียนเกี่ยวกับกลิ่นน้ำหอมอย่างไร เมื่อมีคำร้องเข้ามา ต้องใช้เวลาในการตรวจสอบนานแค่ไหน มีขั้นตอนอย่างไรกว่าจะเสร็จสิ้น และที่สำคัญต้องเปิดโอกาสให้พนักงานได้แจ้งปัญหากับฝ่าย HR ได้โดยไม่รู้สึกกังวลด้วย
5. เปิดโอกาสให้พนักงานมีส่วนร่วมในนโยบาย
ไม่ว่าจะออกนโยบายเรื่องน้ำหอมหรือเรื่องอะไรก็ตาม HR ควรรับฟังความคิดเห็นจากพนักงานทุกระดับ ด้วยการสำรวจความเห็นหรือพูดคุยร่วมกัน เพื่อให้นโยบายที่ออกมาสอดคล้องกับความต้องการและบริบทของที่ทำงานอย่างแท้จริง
บทสรุป Perfume Etiquette
น้ำหอมคือสิ่งที่ช่วยเสริมความมั่นใจและบุคลิกภาพได้ แต่ก็ควรใช้อย่างเหมาะสม ไม่เลือกกลิ่นที่แรงหรือฉุนเกินไป เพราะอย่าลืมว่า ไม่ใช่ทุกคนจะชอบกลิ่นน้ำหอมที่เราฉีดเสมอไป และมันอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ความสัมพันธ์ในทีม และบรรยากาศการทำงานได้
HR จึงควรกำหนดแนวทางที่ชัดเจนเรื่องการฉีดน้ำหอมในที่ทำงานด้วย การพัฒนานโยบาย Workplace Fragrance Policy ควรรวมถึงการให้ความรู้ การสร้างความยืดหยุ่นตามประเภทงาน เช่น หลีกเลี่ยงน้ำหอมในงานบริการสุขภาพหรืออาหาร และการเปิดโอกาสให้พนักงานมีส่วนร่วมในนโยบาย เพื่อให้ที่ทำงานเป็นพื้นที่ที่ทุกคนรู้สึกสบายใจและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง
Sources: |