HIGHLIGHT
|
การนำ AI มาใช้อย่างแพร่หลายกำลังเปลี่ยนแปลงลำดับความสำคัญในการทำงาน ความต้องการทักษะใหม่ และกลยุทธ์การจ้างงานในอนาคต โดยมุ่งเน้นไปที่บทบาทของ AI ในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน การพัฒนาทักษะใหม่ที่สำคัญ รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของตลาดงานที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งมีส่วนช่วยให้เล็งเห็นถึงอิทธิพลของ AI ต่ออนาคตการทำงาน
จากรายงานเรื่อง Decoding Global Talent 2024: AI Edition โดย Jobsdb by SEEK ซึ่งร่วมกับ BCG, The Network และ Stepstone สำรวจแรงงานผู้หางาน 150,735 คนจาก 190 ประเทศ ใน 26 อุตสาหกรรม พบข้อบ่งชี้ว่าประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นประเทศศูนย์กลางรายสำคัญของโลกในยุค AI เลยทีเดียว เพราะอะไร ? ติดตามรายละเอียดได้ในบทความนี้
Generative AI กับแรงงานไทย: เปลี่ยนโฉมสู่อนาคตการทำงาน
ผลการสำรวจในรายงาน Decoding Global Talent 2024: AI Edition เผยว่า 62% ของแรงงานไทยใช้ Generative AI ในชีวิตประจำวัน ทั้งในบริบทการทำงานและส่วนตัว การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เด่นชัดในสายงาน การตลาด ไอที และครีเอทีฟ ซึ่งมีการใช้ AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง
โดย 48% ของคนไทยใช้ GenAI เป็นประจำทุกเดือน สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ใช้รายเดือน 44% และเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ แล้ว ไทยมีค่าเฉลี่ยของผู้ที่ไม่เคยได้ยินและไม่เคยใช้งาน GenAI เลยเพียง 38% น้อยกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลกที่ไม่รู้จัก 48%
จากรายงานพบว่า 83% ของแรงงานไทยเชื่อว่า AI จะเปลี่ยนแปลงงานบางประเภท แม้ส่วนใหญ่พร้อมพัฒนาทักษะใหม่ ๆ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง แต่ 27% ของพนักงานยังแสดงความกังวลว่า AI อาจแทนที่บทบาทของพวกเขาได้
การสำรวจแรงงานจาก 190 ประเทศยังระบุว่า AI ได้เปลี่ยนแปลงลำดับความสำคัญในตลาดแรงงานอย่างชัดเจน ทั้งในด้านความต้องการทักษะใหม่ การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และการกำหนดกลยุทธ์การจ้างงานในอนาคต ทำให้ทุกฝ่ายต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วนเพื่ออยู่รอดในแวดวงการทำงานต่อไป
เร่งพัฒนาทักษะ กุญแจสำคัญสู่ความอยู่รอดในยุค AI
อีกหนึ่งประเด็นที่รายงาน Decoding Global Talent 2024: AI Edition ได้ให้ความสำคัญก็คือ การพัฒนาทักษะใหม่
ผลการศึกษาระบุว่า 70% ของแรงงานไทยสนใจพัฒนาทักษะใหม่ ๆ โดยเฉพาะสายงานบริหารธุรกิจ งานขาย และงานบริการลูกค้า ที่ต้องการรักษาความสามารถในการแข่งขัน โดยทักษะที่คนไทยให้ความสำคัญมากที่สุด 3 อันดับแรกมีดังต่อไปนี้
- การวิเคราะห์ข้อมูล
- ความคิดสร้างสรรค์
- ทักษะด้านภาษา
ส่วนวิธีการเรียนรู้ที่ได้รับความนิยมนั้น คือแบบ Microlearning เพราะคนไทยส่วนใหญ่จะเรียนรู้ผ่านการรับชมวิดีโอการศึกษาด้วยตนเอง และแอปพลิเคชันบนมือถือ นอกจากนั้นคนไทยยังมีแนวโน้มที่จะชอบพอดแคสต์และการเรียนรู้ผ่านเสียง ซึ่งแตกต่างจากคนในภูมิภาคเดียวกัน
AI กับธุรกิจไทย: โอกาสและกลยุทธ์ในการปรับตัวในเศรษฐกิจดิจิทัลโลก
การนำ GenAI มาใช้ในภาคธุรกิจไทยกำลังเป็นที่แพร่หลาย โดยองค์กรต่าง ๆ เริ่มปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการใช้ AI ในการ สรรหาบุคลากร และ วิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งช่วยให้องค์กรสามารถตัดสินใจได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว นอกจากนี้ AI ยังช่วยเสริมศักยภาพของธุรกิจในหลากหลายด้าน เช่น การพัฒนากระบวนการทำงาน และการนำเสนอโซลูชันที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด
เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับความเปลี่ยนแปลง ธุรกิจไทยจำเป็นต้องกำหนดกลยุทธ์ที่ชัดเจนและมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะของพนักงานให้สอดคล้องกับยุค AI แนวทางสำคัญที่องค์กรควรดำเนินการ ได้แก่
- ลงทุนในโปรแกรมฝึกอบรม เพื่อพัฒนาทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ การคิดเชิงวิเคราะห์ และการแก้ปัญหา
- ปรับปรุงกระบวนการทำงานด้วย AI โดยเฉพาะในส่วนของการจัดการข้อมูลและการจ้างงาน
- สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต ให้พนักงานพัฒนาความสามารถใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง
การปรับตัวดังกล่าวไม่เพียงช่วยให้ธุรกิจไทยสามารถอยู่รอดในตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่ยังช่วยเสริมสร้างศักยภาพของประเทศในฐานะ ศูนย์กลางนวัตกรรม AI ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยรายงาน Decoding Global Talent 2024: AI Edition ยังชี้ให้เห็นว่าแรงงานไทยที่ใช้ Generative AI ในระดับสูง มีส่วนช่วยผลักดันสถานะของประเทศไทยในเวทีโลก
ศักยภาพของไทยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลเกิดจากการปรับตัวอย่างรวดเร็วต่อเทคโนโลยี และการลงทุนในทรัพยากรบุคคลเพื่อพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่ออนาคต นอกจากนี้ การพัฒนา AI ในระดับองค์กรยังสามารถสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ตลาดโลก พร้อมช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ
ท้ายที่สุด การผสานเทคโนโลยี AI เข้ากับกลยุทธ์ทางธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาค พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในตลาดโลกที่ท้าทายมากยิ่งขึ้น