ถึงเวลาสรุป Q&A Of the Month แล้ว สำหรับเดือนสิงหาคม 2024 ที่ผ่านมา มีผู้เข้ามาตั้งคำถามใน HR Community หรือเว็บบอร์ดถาม-ตอบ (Q&A Forum) ของ HREX เยอะทีเดียว และคำถามก็ค่อนข้างหนักหน่วงเสียด้วย
และนี่คือ 5 คำถามไหนที่น่าสนใจประจำเดือนที่ผ่านมา มาดูกันดีกว่าว่า HR Expert ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลแต่ละท่าน มาแสดงทัศนะที่มีประโยชน์ เชื่อถือ อ้างอิง และนำไปปรับใช้จริงได้ เป็นวิทยาทานแก่คนทำงาน HR ทุกคนอย่างไรบ้าง
Contents
Q1 : ไม่ผ่านทดลองงาน จะได้เงินค่าบอกกล่าวล่วงหน้าหรือไม่
ทางบริษัท ตัดรอบบัตรตอกทุกวันสิ้นเดือน แต่เงินจะเข้าให้พนักงานทุกวันที่ 8 เราอยู่ในช่วงทดลองงาน แต่ทดลองงานไม่ครบ 120 วัน ถูกบอกเลิกจ้าง วันที่แจ้งเป็นวันที่18กรกฎาคม แต่ให้ทำถึงสิ้นเดือน วันที่ 31 กรกฎาคม แบบนี้เรามีสิทธิ์จะได้รับเงินค่าบอกกล่าวล่วงหน้าไหมคะ ถ้าได้ จะได้กี่วัน
A: โดย HR on the Rocks
มีหลักการทางกฎหมายที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ หลัก ๆ คือพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541 ม.17 วรรคสอง ระบุว่า
“ในกรณีที่สัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลา นายจ้างหรือลูกจ้างอาจบอกเลิกสัญญาจ้าง โดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใด เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็ได้ แต่ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวล่วงหน้า เกินสามเดือน ทั้งนี้ ให้ถือว่าสัญญาจ้างทดลองงานเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาด้วย”
จากข้อมูลนี้
- ท่านมีสิทธิ์ได้รับค่าบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ม.17
- จำนวนเงินที่ท่านจะได้ นับจากวันที่ 1/08 จนถึง 8/09
- 2.1 ถ้าท่านได้ค่าจ้างแบบรายเดือน ก็จะได้ค่าบอกกล่าว 1 เดือน 8 วัน
- 2.2 ถ้าท่านได้ค่าจ้างแบบคำนวณรายวัน ก็นับวันทำงานจากวันที่ 1/08 จนถึงวันที่ 8/09
อ่านคำตอบเพิ่มเติมใน HR Community
Q2 : ควรคิดค่าโอทีแบบไหน ระหว่าง 2 แรง หรือ 3 แรง
สมมติว่าให้คนงานมาทำโอในวันหยุดโดยกำหนดช่วงเวลาคือต้องมาทำงานเวลา 08:00-17:00 น. แต่คนงานเข้ามาทำงานจริงเวลา 10:00 – 20:00 น. จะคิดโอทีแบบไหนระหว่าง 2 แรง กับ 3 แรง
- 10:00-17:00 = โอที 2 แรง 6 ชม. / 17:00-20:00 = โอที 3 แรง 3 ชม. หรือ
- 10:00-19:00 = โอที 2 แรง 8ชม. / 19:00-20:00 = โอที 3 แรง 1 ชม.
A: โดย ดร.เบ็ญจวรรณ บุญใจเพ็ชร
ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน (ดูรายละเอียดได้ใน มาตรา 61-มาตรา 63 )
1.การทำงานล่วงเวลา (OT) ในวันทำงานปกติ ให้นายจ้างจ่าย 1.5 เท่าของค่าจ้างต่อชั่วโมง ตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ
2.การทำงานล่วงเวลา (OT) ในวันหยุด ให้นายจ้างจ่าย 3 เท่าของค่าจ้างต่อชั่วโมง ตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ
จากที่ถามมา หลังเวลา 17.00 น. เป็นการทำ OT ให้คิดค่าโอทีตามที่อธิบายมาค่ะ
อ่านคำตอบเพิ่มเติมใน HR Community
Q3 : บริษัทต่อโปรทดลองงาน แล้วมาบอกว่าไม่ผ่านโปร 1 ปีให้หลัง ทำอย่างไรได้บ้าง
ในกรณีเลิกจ้าง ไม่ผ่านโปร กำหนดอยู่ที่ 120 -180 วันตามที่บริษัทกำหนด แต่ข้อกฎหมายระบุว่าให้บริษัทสามารถต่อโปรทดลองงานได้ไม่มีกำหนด จะยืดยาวเเค่ไหนก็ได้
แต่พอทำงานมาได้สักครึ่งปี หรือ 1 ปี จู่ ๆ ก็โผล่มาแจ้งแบบไม่มีปี่ มีขลุ่ยว่าเราไม่ผ่านทดลองงานนะ พอถามว่าเข้าข่ายเลิกจ้าง ได้ชดเชยตามแบบที่มันควรจะได้รับไหม แต่ทุกบริษัทมีช่องทางให้หลีกหนีได้ จะไม่ยอมเราเด็ดขาด จะหาเรื่องให้เราทนไม่ได้ เราควรทำอย่างไรดี
A: โดย ดร.เบ็ญจวรรณ บุญใจเพ็ชร
การทดลองงาน กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดไว้ที่ 120 วัน หากเกิน 120 วันถือว่าลูกจ้างได้บรรจุเป็นพนักงานประจำโดยทันที
ไม่มีการขยายระยะทดลองงาน หากเลิกจ้างหลัง 120 วัน บริษัทต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าชดเชยตาม มาตรา 118
ดูข้อมูลการจ่ายค่าชดเชยได้ที่ www.mol.go.th (website กระทรวงแรงงาน)
อ่านคำตอบเพิ่มเติมใน HR Community
Q4 : ลูกจ้างทำให้บริษัทเสียหาย สามารถไล่ออก โดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้ไหม
ในทุกเดือนจะมีการออกจดหมายแจ้งลูกค้า ซึ่งข้อมูลจะมาจากระบบ แล้วทางเจ้าหน้าที่กับผู้จัดการแผนก จะนำข้อมูลมาทำจดหมายแจ้งลูกค้า
ปรากฏว่า ข้อมูลที่ระบบออกมาผิดเป็น 2 เท่า จากจำนวนที่ต้องออกจดหมายจริง ทางเจ้าหน้าที่ เห็นความผิดปกติ แต่ไม่ได้ดำเนินการใด ๆ ส่วนผู้จัดการแผนก ก็เซ็นให้ออกจดหมายโดยไม่ได้ตรวจสอบ ทำให้เกิดมูลค่าความเสียหาย ประมาณ 1 แสนบาท
ในกรณีนี้สามารถไล่ออก โดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้ไหม เหตุประมาทเลินเล่อ ทำให้บริษัทเสียหายอย่างร้ายแรง และให้ทางเจ้าหน้าที่กับผู้จัดการชดใช้คืนบริษัทฯ ด้วยได้ไหม
A: โดย HR on the Rocks
การเลิกจ้าง เหตุประมาทเลินเล่อ ทำให้บริษัทเสียหายอย่างร้ายแรง ค่อนข้างที่จะไม่มีหลักเกณฑ์กำหนดตายตัวของคำว่า “อย่างร้ายแรง” ในทางกฎหมาย
แน่นอนว่าลูกจ้างทั้ง 2 คน ทำงานผิดพลาดโดยทั้งที่ทราบว่ามีข้อมูลผิดผลาด แต่ก็ยังกลับดำเนินการต่อโดยไม่มีการแก้ไข หรือทำให้เอกสารดังกล่าวถูกต้อง ซึ่งอาจเข้าข่ายประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงได้
ท่านอาจจะต้องพิสูจน์กับศาลอย่างยากลำบากกับการให้เหตุผลว่า 100,000 บาท เป็นความเสียหายอย่างร้ายแรง
ตามประสบการณ์ ท่านมีความเสี่ยงที่จะต้องเสียค่าชดเชยและอาจโดนค่าเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมด้วย
ส่วนลูกจ้างที่ออกไปแล้ว ท่านจะเรียกชดใช้ค่าเสียหายจากบุคคลเหล่านั้นยากมาก เพราะต้องไปฟ้องเรียกค่าเสียหาย มีค่าใช้จ่าย ชนะแล้ว ท่านก็ต้องไปตามบังคับคดี ยึดทรัพย์ ขายทอดตลาดอีก ต้องพิจารณาว่า คุ้มกับ 100,000 ที่เสียไปหรือไม่
แนะนำว่า
- ออกใบเตือน หรือ พักงานไม่จ่ายค่าจ้าง ไม่ต้องถึงขนาดไล่ออก
- ทำข้อตกลงชดใช้ค่าเสียหายเป็นรายเดือน หักเอาจากเงินเดือน ลูกจ้างไหวเท่าไร่ก็ประมาณนั้น
อ่านคำตอบเพิ่มเติมใน HR Community
Q5 : โดนใบเตือนว่าขาดงาน กรณีลาป่วยแต่ไม่มีใบรับรองแพทย์
เราลาป่วยแต่ไม่ได้ไปหาหมอและไม่มีใบรับรองแพทย์ เนื่องจากวันนั้นไม่สามารถขับรถไปเองได้ (ลาป่วย 1 วัน) หลังจากนั้นได้ใบเตือนด้วยวาจาว่าขาดงานและหักเงินในวันนั้น
และครั้งต่อ ๆ ไปก็เป็นแบบนั้นคือ ลาป่วยแต่ไม่มีใบรับรองแพทย์ จนได้ใบเตือนขาดงานจนครบ 3 ครั้ง มีใบเตือนด้วยวาจา 1 ใบและใบเตือนที่เป็นลายลักษณะอักษรอีก 2 ใบ แล้วให้เซ็นใบลาออก ณ ตอนนั้น ตอนที่ให้เซ็นใบเตือนครั้งสุดท้าย แบบนี้จะเรียกร้องค่าชดเชยอะไรได้บ้าง
A: โดย ดร.เบ็ญจวรรณ บุญใจเพ็ชร
กรณีลาป่วย 1 วัน หากไม่มีใบรับรองแพทย์แต่พิสูจน์ได้ว่าป่วยจริง บริษัทหักค่าจ้างไม่ได้ การลาป่วยเกิน 3 วันต้องแสดงใบรับรองแพทย์
ข้อมูลเพิ่มเติม : พนักงานลาป่วยได้ตามจริง แต่บริษัทจะจ่ายค่าจ้างไม่เกินปีละ 30 วันทำงาน อย่างไรก็ตาม พนักงานก็ควรจะดูแลรักษาสุขภาพตนเอง การลาป่วยบ่อย ๆ มีผลถึงประสิทธิภาพการทำงาน
กรณีพนักงานลาออกโดยสมัครใจ จะไม่ได้รับค่าชดเชยใด ๆ แต่การที่บริษัทออกใบเตือนเรื่องลาป่วยและให้พ้นสภาพ พนักงานจะได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เนื่องจากไม่ใช่ความผิดร้ายแรง