Search
Close this search box.

Q&A of the Month: 5 คำถามเด็ด HR ประจำเดือนมีนาคม 2024

Q&A of the Month 5 คำถามเด็ด HR ประจำเดือนมีนาคม 2024

ทุกการทำงานล้วนมีข้อสงสัยหรือคำถามที่ต้องการคำตอบ การทำงานของฝ่ายทรัพยากรบุคคลหรือทรัพยากรมนุษย์ก็เช่นกัน ที่มักเต็มไปด้วยประเด็นยาก ๆ ที่ HR หลายคนต้องการปรึกษาคนอื่นเสมอ

ด้วยเหตุนี้ HREX จึงได้เปิดเว็บไซต์ HR Community เว็บบอร์ดถาม-ตอบ (Q&A Forum) ที่จะช่วยกระชับช่องว่างระหว่างคนทำงานสาย HR และเป็นชุมชนแห่งใหม่ของ HR ที่จะเปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้แลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน

เพราะเราเชื่อว่าการแบ่งปันความรู้ (Knowledge sharing) คือพลังอันยิ่งใหญ่ ที่จะช่วยให้ HR ทุกคนก้าวผ่านอุปสรรคในทำงานไปด้วยกัน และก่อเกิดความรู้ใหม่ ๆ ต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ผ่านพ้นเดือนมีนาคม 2024 เป็นที่เรียบร้อย เพื่อน ๆ HR เป็นอย่างไรบ้าง เดือนนี้ยังคงมีคำถามที่น่าสนใจหลากหลาย ทั้งนี้เราได้เลือก 5 ข้อจากคำถามที่ประโยชน์ เข้าถึงทุกคน โดยมีคำถามที่สามารถใช้งานได้จริงจากผู้เชี่ยวชาญที่เป็น Partner ของเรา โดยมีคำถามและคำตอบที่น่าสนใจ ดังนี้

Q&A of the Month 5 คำถามเด็ด HR ประจำเดือนมีนาคม 2024

คำถาม HR Q1: ทำไม HR ต้องกลัวสหภาพแรงงานด้วย

ตามหัวข้อเลย เห็นว่าวัตถุประสงค์ของสหภาพแรงงานคือส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง ไม่ใช่หรอ ? แล้วทำไม HR ต้องกลัวการเกิดขึ้นของสหภาพแรงงานในบริษัทด้วย 

A: โดย MiLd Ppm

เกิดสหภาพแรงงานขึ้นมา = บริษัทของคุณก่อปัญหาแล้ว ซึ่งไม่ควรจะเกิดตั้งแต่แรก เรื่องข้อดีข้อเสียของสหภาพแรงงาน ต้องมองให้หลายๆมุม ข้อดีของเขาถูกเขียนในมุมมองของลูกจ้าง แต่ในมุมมองของนายจ้างก็คือปัญหา และ HR เป็นคนที่อยู่ตรงกลาง จะทำอะไรตามใจก็ไม่ได้และงานของเราหลักๆก็คือต้องรักษาผลประโยชน์ของนายจ้างมากกว่า สรุปได้คือ ไม่ควรเกิด แต่ถ้าเกิดขึ้นมาแล้ว ก็แล้วแต่คุณว่าคุณจะรับมือกับปัญหาอย่างไร

อ่านคำตอบเพิ่มเติมใน HR Community

Q&A of the Month 5 คำถามเด็ด HR ประจำเดือนมีนาคม 2024

คำถาม HR Q2: หน้าที่ ‘อื่นๆ’ ที่ระบุไว้บน Job Description มีขอบเขตหรือไม่

เวลาได้รับ Job Description ที่ระบุถึงขอบเขตหน้าที่ของงานที่ต้องทำ มักจะมีการระบุ Task นี้เอาไว้ในข้อสุดท้ายว่า “หน้าที่อื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย” เลยอยากสอบถามความเห็นครับว่า หน้าที่อื่น ๆ ที่ว่านี้ ควรมีขอบเขตเป็นอย่างไร แล้วกฎหมายแรงงานมีการระบุถึงหน้าที่ ‘อื่นๆ’ เอาไว้ด้วรึเปล่าครับ

A: โดย ดร.เบ็ญจวรรณ บุญใจเพ็ชร

ในกฎหมายแรงงานไม่มีระบุไว้ค่ะ โดยปกติการกำหนด  Job Description มักจะมีข้อสุดท้ายไว้เสมอ ตามที่ถามมา เพื่อให้ลูกจ้าง (พนักงาน) ได้รับทราบในกรณีที่นายจ้าง (บริษัท) มอบหมายหน้าที่ซึ่งอาจจะนอกเหนือจากงานที่รับผิดชอบหลัก ๆ ก็ย่อมทำได้เป็นสิทธิของนายจ้าง โดยงานนั้นๆ ต้องเป็นงานที่เหมาะสมและสอดคล้องกับหน้าที่งานหลัก เช่น พนักงานทำงานในตำแหน่งพนักงานบัญชี แต่นายจ้างให้ไปล้างห้องน้ำ หรือทำงานฝ่ายฝึกอบรม แต่นายจ้างให้ไปเก็นขยะหลังโรงงาน  อย่างนี้ถือว่าไม่เหมาะสม

อ่านคำตอบเพิ่มเติมใน HR Community

Q&A of the Month 5 คำถามเด็ด HR ประจำเดือนมีนาคม 2024

คำถาม HR Q3: เงินค่าน้ำมันนับเป็นค่าจ้างหรือไม่ / ทำอย่างไรให้เป็นสวัสดิการ

เราอ่านจากอินเทอร์เน็ตมา และเจอข้อความที่บอกว่า

“ในกรณีที่นายจ้างจ่ายเงินจำนวนหนึ่ง โดยวิธีเหมาจ่ายให้กับลูกจ้างเป็นประจำเท่ากันทุกเดือน เช่น นายจ้างรายนึงจ่ายค่าน้ำมันรถและค่าโทรศัพท์ให้กับลูกจ้างโดยวิธีเหมาจ่ายเป็นรายเดือนเดือนละ 10,000 บาท เท่ากันทุกเดือนโดยไม่ได้คำนึงว่าลูกจ้างจะจ่ายค่าน้ำมันรถและค่าโทรศัพท์หรือไม่ หรือได้จ่ายไปจำนวนมากน้อยแค่ไหน ประกอบกับลูกจ้างก็ไม่ต้องนำใบเสร็จค่าน้ำมันรถหรือใบเสร็จค่าโทรศัพท์มาเป็นหลักฐานในการเบิกด้วยเงินดังกล่าวจึงเป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานถือเป็นค่าจ้าง อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 7402-7403 / 2554” 

ที่บริษัทของเรามีสวัสดิการให้ค่าน้ำมัน+โทรศัพท์กับเซลล์ 5000 บาท ทุกเดือน ไม่มีการแสดงบิล ต้องทำอย่างไรให้เงินส่วนนี้เป็นสวัสดิการคะ?

A: โดย ดร.เบ็ญจวรรณ บุญใจเพ็ชร

ตามข้อความที่อ่านมา จากคำพิพากษาฎีกาที่ 7402-7403 / 2554″ เป็นไปตามมาตรา 5 เรื่องค่าจ้าง กฎหมายคุ้มครองแรงงาน (แก้ไข เพิ่มเติม ฉบับที่ 4 พ.ศ.2553)  ให้เข้าใจง่าย ๆ หมายความว่า เงินทุกชนิดที่จ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงาน จ่ายเป็นประจำทุกเดือนและจ่ายพร้อมเงินเดือน ถือเป็นค่าจ้าง ไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร 

การจ่ายสวัสดิการที่เป็นตัวเงิน พนักงานต้องแสดงหลักฐานการจ่าย หรือเอกสารที่บริษัทกำหนดแบบฟอร์มให้ใช้ เพื่อการตั้งเบิกกับแผนกการเงิน โดยให้จ่ายเป็นรอบ แบ่งจ่ายเดือนละ 2 ครั้ง บางองค์กรก็จ่ายสัปดาห์ละครั้ง ตามงบที่บริษัทกำหนดให้ โดยให้จ่ายในวันที่ไม่ตรงกับการจ่ายเงินเดือน เช่น จ่ายทุกวันที่ 10 , 20 หรือตามรอบที่บริษัท สะดวกในการทำงาน

อ่านคำตอบเพิ่มเติมใน HR Community

Q&A of the Month 5 คำถามเด็ด HR ประจำเดือนมีนาคม 2024

คำถาม HR Q4: ผู้สมัครงานควรใส่ MBTI บนเรซูเม่หรือไม่

เห็นผู้สมัครงานหลายคนส่งเรซูเม่พร้อมบอกว่าตัวเองมีลักษณะนิสัยตามแบบทดสอบ MBTI เป็นอย่างไร ซึ่งอาจไม่ได้พบเห็นมากในอดีต เลยเกิดความสงสัยว่าการใส่ MBTI บนเรซูเม่จำเป็นหรือไม่

ถ้า HR เห็นผู้สมัครใส่เข้ามา จะปัดตกเลยไหม หรือจริงๆ การบอก MBTI ก็มีข้อดีเหมือนกัน 

A: โดย ดร.เบ็ญจวรรณ บุญใจเพ็ชร

ไม่จำเป็นต้องแนบแบบทดสอบ MBTI พร้อม Resume ยกเว้นแต่ว่าบริษัท ปลายทางขอให้แนบ ซึ่งมีน้อยมาก 

โดยปกติ HR ในหลายๆ องค์กรก็จะใช้แบบทดสอบเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการคัดเลือก เช่น แบบวัดความเป็นผู้นำ แบบทดสอบเชาวน์ไหวพริบ แบบทดสอบบุคลิกภาพ แบบทดสอบลักษณะนิสัย (MBTI) หรือแบบทดสอบอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับตำแหน่งงานที่ไปสมัคร

ความเห็นส่วนตัวค่ะ : การใช้แบบทดสอบเป็นเพียงเครื่องมือชนิดหนึ่งที่ใช้ในการคัดเเลือกผู้สมัครงาน ซึ่งผลที่ได้มักจะคลาดเคลื่อน การตอบคำถามในแบบทดสอบขึ้นอยู่กับความคิด ประสบการณ์ ความรู้สึก สภาพแวดล้อม ของผู้ตอบในขณะนั้น ๆ โดยคำตอบที่ได้จะแปรเปลี่ยนไปตามระยะเวลา และประสบการณ์ของผู้ตอบที่เปลี่ยนแปลงไปตามวัยวุฒิ และคุณวุฒิ

อ่านคำตอบเพิ่มเติมใน HR Community

Q&A of the Month 5 คำถามเด็ด HR ประจำเดือนมีนาคม 2024

คำถาม HR Q5: พนักงานมีภาวะเครียดไม่อยากเป็นหัวหน้า ทางษริษัทควรทำอย่างไร

พนักงานเพิ่งได้รับการโปรโมท มาเป็นหัวหน้า 4-5 เดือน แต่มีภาวะความเครียดมาก (มีปัญหาในเรื่องควบคุมอารมณ์) ไม่สามารถทำงานได้  ทางบริษัทสามารถปรับลดตำแหน่ง และเงินเดือนกลับมาเท่าเดิมก่อนเป็นหัวหน้าได้ไหมคะ เพราะทางพนักงานเองก็ยินยอม บริษัทควรทำเอกสารอะไรยืนยันในการปรับลดครั้งนี้หรือไม่

A: โดย ดร.เบ็ญจวรรณ บุญใจเพ็ชร 

จากเหตุการณ์ที่ถามมามีเกิดขึ้นในหลายองค์กรค่ะ “การเลื่อนตำแหน่งโดยที่ไม่มีการเตรียมความพร้อมทั้งตัวพนักงานเองและองค์กร ก็จะพบกับความจริงที่ว่า องค์กรก็จะเสียพนักงานดี ๆ ไปและได้หัวหน้าที่ไม่พร้อมจะเป็นหัวหน้า” แก้ไขได้ค่ะ 

ข้อแนะนำ ตำแหน่งที่โปรโมทไปแล้ว เมื่อไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ก็ปรับลดให้เป็นพนักงานปฏิบัติการเหมือนเดิม โดยให้ตัวพนักงานเขียนเป็นหนังสือด้วยลายมือของตนเองและชี้แจงถึงสาเหตุที่ไม่สามารถปฏิบัติงานในตำแหน่งหัวหน้าได้ และยินดีรับค่าจ้างเงินเดือนในอัตราเดิม โดยไม่เรียกร้องสิทธิใด ๆ เพิ่มเติม และจะปรับปรุงภาวะอารมณ์ให้เป็นปกติ ทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพต่อไป ให้มีผลตั้งแต่วันที่ …./………………/2567 

การจัดทำหนังสือดังกล่าว ให้มีผู้เกี่ยวข้อง 3 ฝ่าย คือต้นสังกัดของพนักงาน ร่วมกับฝ่าย HR และมีพยานรับทราบ

ฝากข้อคิด ปัญหาเรื่องการควบคุมอารมณ์ ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใดก็ตาม ผู้ที่ทำงานต้องมีวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่ดีด้วยค่ะ

อ่านคำตอบเพิ่มเติมใน HR Community

ผู้เขียน

Picture of HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง