ปัญหาการเงินของพนักงาน (Financial Problem of Employee) เรื่องชวนปวดหัวที่ HR ไม่ควรมองข้าม

HIGHLIGHT
  • ปัญหาหนี้สินตลอดจนปัญหาทางการเงิน (Financial Problem) เป็นปัญหาหนักอกสำหรับพนักงาน ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความเครียด ลดประสิทธิภาพในการทำงาน และทำให้องค์กรลดศักยภาพลงได้
  • การที่องค์กรหาสวัสดิการและทางช่วยเหลือด้านการเงินให้กับพนักงาน ช่วยให้มีวิธีเคลียร์หนี้ได้รวดเร็ว หรือมีช่องทางในการเบิกเงินฉุกเฉินได้แบบไม่ยุ่งยาก จะทำให้พนักงานมีโอกาสหลุดพ้นจากหนี้ได้ไว เชื่อมั่นในองค์กรยิ่งขึ้น และทำให้พนักงานซื่อสัตย์ในการทำงานต่อองค์กรในระยะยาว
  • ฝ่ายทรัพยากรบุคคลเป็นหน่วยงานสำคัญที่สามารถช่วยแก้ปัญหานี้ขององค์กรได้ ด้วยการสรรหาแหล่งเงินกูอัตราดอกเบี้ยต่ำ, สวัสดิการกูเงินฉุกเฉิน, หรือแม้แต่สวัสดิการในการเบิกเงินเดือนล่วงหน้า

ปัญหาการเงินของพนักงาน (Financial Problem of Employee) เรื่องชวนปวดหัวที่ HR ไม่ควรมองข้าม

ปัญหาที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำงานโดยตรงแต่กลับส่งผลต่อการทำงานได้อย่างมากมายก็น่าจะเป็นปัญหาเรื่องเงินของพนักงานนั่นเองล่ะ บางคนได้เงินเดือนมาแล้วใช้จ่ายไม่ชนเดือน บางคนมีภาระหนี้สินมากมายที่ทำให้เงินเดือนไม่พอใช้ บางคนก็คิดการไกลนำไปลงทุนแต่ก็ไม่สำเร็จอย่างที่คาด บางคนรักการช้อปปิ้งนำเงินไปผ่อนชำระสินค้าหลายอย่างจนเกินกำลัง หรือบางคนก็อาจเกิดอุบัติเหตุขึ้นกระทันหันที่ทำให้ต้องใช้เงินก้อนโตโดยด่วนจนทำให้เกิดปัญหาการเงินตามมา ปัญหาการเงินของพนักงานเหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าทุกองค์กร แล้วสาเหตุใหญ่นั้นมักมาจากการบริหารการเงินไม่เป็นนั่นเอง

มาถึงตรงจุดนี้หลายคนอาจคิดว่าไม่น่าจะใช่เรื่องที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) หรือองค์กรจะต้องมารับผิดชอบใดๆ นี่นา จะว่าไปอย่างนั้นก็ใช่อยู่ แต่หากคิดให้ถี่ถ้วนมากขึ้น เมื่อพนักงานเหล่านั้นมีปัญหาเหล่านี้มากวนใจ ย่อมส่งผลให้พนักงานทำงานด้วยประสิทธิภาพที่ลดลงแน่นอน ท้ายที่สุดแล้วองค์กรก็จะมีประสิทธิภาพน้อยลง ศักยภาพลดลงไปตาม

ปลดหนี้ ลดทุกข์ สุขกับงาน

ปัญหาการเงินเป็นต้นตอหนึ่งของปัญหาสังคม เหตุนี้บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ที่มีพนักงานอยู่เป็นจำนวนมากทั่วประเทศ ได้ทำการสำรวจวิจัยถึงเรื่องปัญหาการเงินของพนักงาน ตลอดจนหาแนวทางแก้ไขจนประสบความสำเร็จดังนี้

  • การสำรวจพบว่า 75% ของพนักงานมีภาระหนี้สินทั้งแบบในระบบและนอกระบบ จนไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ส่งผลต่อความเครียด และส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลง ทั้งยังทำให้ชีวิตเป็นทุกข์ ไม่มีความสุขในชีวิตอีกด้วย
  • ทาง CPF คิดโครงการ “ปลดหนี้สร้างสุขและส่งเสริมการออม” ให้พนักงาน โดยหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำมาช่วยเหลือพนักงาน พร้อมให้ความรู้ในเรื่องการจัดการเงิน
  • พนักงานสามารถลดหนี้ได้ไว บริหารการเงินได้ดีขึ้น และพนักงานมีความสุขในการทำงานมากขึ้น มีประสิทธิภาพในการทำงานสูงขึ้น และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามไปด้วย
  • บริษัทมีผลผลิตที่ดีขึ้น มีผลกำไรที่ดีขึ้น องค์กรมีศักยภาพมากขึ้น พนักงานมีความซื่อสัตย์กับองค์กร อยู่ทำงานกันในระยะยาว และโครงการที่ประสบความสำเร็จนี้ยังถูกนำไปใช้กับบริษัทอื่นๆ ในเครือของ CP (เจริญโภคภัณฑ์) ด้วย

+อ้างอิง+แหล่งที่มาของข้อมูล : บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) – CPF

Link : https://www.cpfworldwide.com/th/media-center/261

ปัญหาที่ดูเหมือนจะเล็กๆ และไม่เกี่ยวข้องอะไรกับองค์กร แต่กลับสร้างผลกระทบอันยิ่งใหญ่นี้ หากองค์กรหันมาใส่ใจในสวัสดิภาพของพนักงานอย่างจริงจังแล้วอาจกลายเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุดอย่างหนึ่งก็เป็นได้ หากฝ่าย HR หรือองค์กรไหวตัวได้ทัน อาจหันมาสนใจในการแก้ปัญหาทางการเงินให้กับพนักงานในองค์กรของตน ก็อาจเป็นการช่วยเหลือที่ถูกวิธีอย่างหนึ่ง หรือบางองค์กรก็พัฒนาให้กลายเป็นสวัสดิการอย่างหนึ่งที่ส่งผลดีกับระบบบริหารงานบุคคลได้เช่นกัน

สาเหตุสำคัญของการเป็นหนี้ก้อนโต (Financial Problem)

ปัญหาหนี้สินท่วมหัวของพนักงานนั้นมีมากมายหลากหลายสาเหตุ แต่จุดอ่อนสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหากับทุกคนแทบเหมือนๆ กันก็คือการไม่รู้จักบริหารการเงินที่ถูกต้องและถูกวิธีนั่นเอง ก่อนอื่นเราลองมาดูกันดีกว่าที่มาของหนี้ก้อนโตของพนักงานบริษัทส่วนใหญ่นั้นมาจากไหนกันบ้าง

1.ดอกเบี้ยจากเงินกู้ (ทั้งในระบบและนอกระบบ)

ปัญหาหนี้อันแรกที่พบกันและมีอัตราสูงที่สุดก็คือภาระดอกเบี้ยจากการกู้เงินนั่นเอง ทั้งจากการกู้ในระบบและนอกระบบ ภาระหนี้ในระบบบางครั้งอาจเป็นเงินก้อนโต แต่กฏหมายก็มักคุ้มครองในอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมและยุติธรรม แต่บางคนต้องการใช้เงินเร่งด่วนก็หันไปกู้หนี้นอกระบบซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงและเอารัดเอาเปรียบ หนี้ทบต้นทบดอก จนสร้างปัญหามากมายที่ถึงขนาดคุกคามชีวิตกันเลยทีเดียว

2.ดอกเบี้ยจากบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด

บัตรเครดิตอาจทำให้ชีวิตเราง่ายขึ้น สะดวกสบายขึ้น แต่นั่นก็ทำให้เราใช้จ่ายเงินได้ง่าย เพลิดเพลิน จนขาดการวางแผนการเงินที่ดี การที่จะใช้บัตรเครดิตให้มีประสิทธิภาพนั้นต้องศึกษาหาความรู้ให้ถี่ถ้วน และไม่ควรจ่ายขั้นต่ำสำหรับการชำระหนี้เพราะเงินที่เหลือนั้นคือตัวก่อหนี้จากดอกเบี้ยในอัตราที่สูง และสิ่งสำคัญอย่างยิ่งคือควรจ่ายไม่เกินกำหนด เพราะหากจ่ายเกินกำหนดแล้วอัตราดอกเบี้ยค่าปรับจะยิ่งทำให้คุณต้องจ่ายเงินในอัตราที่สูงขึ้นด้วย ในกรณีบัตรกดเงินสดก็เช่นกัน อัตราดอกเบี้ยอาจสูงกว่าด้วยซ้ำ กรณีนี้ต้องศึกษาให้ดีก่อนใช้งาน เพราะคนไทยประสบปัญหาจากการเป็นหนี้บัตรเครดิตรจำนวนมาก

3.ภาระหนี้แบบกระทันหัน

บางคนมีภาระหนี้แบบกระทันหัน ไม่คาดการณ์มาก่อน ไม่สามารถวางแผนล่วงหน้าเพื่อป้องกันได้ อย่างกรณีเกิดอุบัติเหตุร้ายแรง เจ็บไข้ได้ป่วยรุนแรงฉับพลัน หรือแม้แต่ไปสร้างความเสียหายต่างๆ ให้คู่กรณีจนต้องชดใช้เงินเป็นจำนวนมาก เหตุการณ์กระทันหันนี้อาจทำให้เราต้องหาแหล่งเงินกู้ฉุกเฉินเพื่อมาบรรเทาปัญหา และแหล่งเงินกู้ฉุกเฉินนี้เองก็มักจะมีอัตราดอกเบี้ยที่สูง สร้างภาระหนี้กระทันหันเป็นเงินก้อนโต

4.ผ่อนชำระสินค้าจนเกินตัว

ปัจจุบันปัญหาหนี้ในการผ่อนชำระสินค้านั้นลดลงไปมาก เพราะมีบริการผ่อนชำระแบบ 0% กันแทบทุกแห่ง แต่ปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นก็คือการไม่ประมาณการของผู้บริโภคเอง ซึ่งหลายคนอาจคิดว่าจ่ายต่อเดือนในการผ่อนต่อชิ้นเป็นจำนวนน้อย ก็เลยฟุ้งเฟ้อลืมตัวผ่อนชำระสินค้าหลายชิ้นจนทำให้ต้องจ่ายเงินผ่อนเพิ่มขึ้น รับภาระหนี้ไม่ไหว สร้างหนี้ก้อนโตในที่สุด รวมถึงอาจผ่อนชำระเกินกำหนดก็เกิดหนี้ในกรณีนี้ได้เช่นกัน

5.ลงทุนโดยขาดความรู้ความเชี่ยวชาญ

การลงทุนมักมีความเสี่ยงเสมอ นั่นเป็นประโยคยอดฮิตที่ทุกการลงทุนมักตบท้ายให้ผู้บริโภคได้ทราบถึงปัจจัยนี้ ยิ่งผลตอบแทนมากก็ยิ่งเสี่ยงสูงมาก ในขณะเดียวกันก็มีผู้เข้ามาหาผลประโยชน์จากการเล่นผิดกติกาอยู่ด้วยเช่นกัน บางครั้งภาระหนี้อาจเกิดจากการลงทุนที่ไม่ประสบผลตามคาด อย่างเช่นหุ้นตก หรือนำเงินไปลงทุนเก็งกำไรกับผู้ที่หาช่องทำผิดกติกาจนโดนอาญัติเงินเป็นต้น นั่นทำให้อาจสูญเสียเงินก้อนโตไปในพริบตา และก่อให้เกิดปัญหาการเงินตามมา

6.ปล่อยเงินกู้ หรือให้คนหยิบยืมเงิน

ภาระหนี้อย่างหนึ่งที่ฝังอยู่ในวิถีคนไทยมานานก็คือการปล่อยเงินกู้หรือให้เพื่อนหยิบยืมแล้วไม่ได้คืน การปล่อยเงินกู้นอกระบบนี้สร้างกำไรได้งามทีเดียว แต่ก็เสี่ยงสูงที่เจ้าหนี้จะถูกลูกหนี้เบี้ยวได้ง่าย หรือหนีหนี้ไม่ยอมจ่าย นั่นก็สร้างภาระหนี้ให้เราได้เช่นกันหากเงินที่นำมาให้กู้นั้นไม่ใช่เงินเย็นหรือทรัพย์สินเหลือกินเหลือใช้ กรณีที่ให้เพื่อน ญาติพี่น้อง คนรู้จักหยิบยืมเงินก็เช่นกัน เมื่อลูกหนี้เบี้ยวหนี้ก็ทำให้ภาระตกมายังเจ้าหนี้ในที่สุด

7.ใช้เงินฟุ้งเฟ้อ

ภาระหนี้นี้เกิดจากพฤติกรรมฟุ้งเฟ้อซึ่งมีมากในสังคมยุคปัจจุบัน ทุกคนมักอยากซื้อความสุข ความสบายให้ตนเอง แก้เครียดจากการที่ต้องทำงานหนัก และสาเหตุอีกมากมายหลายประการ บางคนอาจสร้างภาระหนี้ด้วยการกู้หรือรูดบัตรเครดิต แต่บางคนอาจมีวินัยที่ดีใช้เงินจากเงินเดือนของตนเอง แต่ขาดการวางแผนการใช้เงิน ตามใจตัวเอง อาจไม่สร้างหนี้ก็จริง แต่ทำให้เงินเดือนไม่พอใช้ เกิดปัญหาทางการเงินส่วนบุคคล และเกิดความเครียดในการใช้ชีวิตได้

สถิติหนี้ที่ควรรู้

จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างแรงงานไทยประจำปีในหัวข้อ “สถานภาพแรงงานไทย” (กรณีศึกษาผู้มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท/เดือน) โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (The Center for Economic and Business Forecasting) ในปี พ.ศ.2562 ที่ผ่านมาพบว่าแรงงานไทยมีปัญหาทางด้านการเงินเป็นอันดับต้นๆ และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ ด้วย โดยผลสำรวจมีประเด็นสำคัญต่างๆ ในด้านปัญหาการเงินของแรงงานที่น่าจับตาดังนี้

  • 95% มีภาระหนี้
  • 80.3% ประสบปัญหาผิดนัดการผ่อนชำระ รวมถึงไม่มีเงินผ่อนชำระ
  • 63.8% มีปัญหามีรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน
+อ้างอิง+แหล่งที่มาของข้อมูล : ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (The Center for Economic and Business Forecasting)

Link : http://cebf.utcc.ac.th/upload/poll_file/file_th_112d30y2019.pdf

ยังมีปัญหาอีกมากมายหลายประการที่ทำให้ก่อหนี้กับพนักงานขึ้น ทั้งจากความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ดี แต่ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนแล้วแต่เป็นต้นเหตุให้เกิดความทุกข์ และลดประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานได้ทั้งสิ้น หากองค์กรหยิบยื่นมือมาช่วยเหลือพนักงานได้ไม่มากก็น้อย หรือให้การช่วยเหลือทางการเงินในกรณีฉุกเฉินเพื่อไม่ให้พนักงานต้องไปกู้เงินเพื่อเป็นหนี้ก้อนโต ตลอดจนให้ความรู้ทางการเงินที่ถูกต้อง ก็อาจช่วยบรรเทาปัญหาลงได้ พนักงานไม่เป็นทุกข์ก็จะทำงานให้องค์กรได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็สามารถเป็นสวัสดิการซื้อใจพนักงานได้ด้วยเช่นกัน

วิธีแก้ปัญหาหนี้ที่ถูกทาง

ยุคนี้ถึงเวลาที่คนไทยจะต้องลุกขึ้นมาปฎิวัติตนเองด้วยการบริหารการเงินให้ถูกต้อง และหาวิถีทางลดหนี้ ตลอดจนตัวช่วยทางการเงินที่จะช่วยแก้ปัญหาได้ดีที่สุด โดยวิธีการแก้ไขปัญหานี้ที่เหมาะสมนั้นมีดังต่อไปนี้

1.ปรับพฤติกรรมการบริโภคเสียใหม่

หนี้ส่วนใหญ่มักเกิดจากพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่เหมาะสม ตามใจตนเอง และฟุ้งเฟ้อไม่ประเมินตน เราลองหันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ อย่างเช่นไม่เลือกกินร้านอาหารหรูบ่อยจนเกินไปที่เกินรายได้, ไม่ซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยโดยไม่จำเป็น, คิดให้ถี่ถ้วนถึงความจำเป็นในการซื้อสินค้าแต่ละชิน, ตลอดจนไม่ใช้เงินเกินตน เป็นต้น

2.วางแผนการเงินให้รอบคอบ

การวางแผนการเงินส่วนบุคคลจะช่วยทำให้เราใช้เงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น การวางแผนการเงินนั้นควรเริ่มตั้งแต่การวางแผนชำระหนี้, วางแผนเงินออม, วางแผนรายรับ-รายจ่าย, และที่สำคัญต้องมีวินัยทางการเงิน โดยเฉพาะวินัยในการชำระหนี้ เพื่อไม่ให้เกิดอัตราดอกเบี้ยปรับที่จะทำให้ภาระหนี้เพิ่มขึ้นอีกมากมาย

3.นำทรัพย์สินมาชำระหนี้

วิธีการชำระหนี้ที่นิยมและดีที่สุดวิธีหนึ่งก็คือการนำทรัพย์สินที่มีอยู่และไม่จำเป็นมาชำระหนี้หรือขายเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ ทรัพย์สินนี้มีตั้งแต่สิ่งของมีค่าต่างๆ ไปจนถึงอสังหาริมทรัพย์ที่ถือครอง แต่ต้องบริหารให้ดี และไม่สร้างความเดือดร้อนต่อมาด้วย ควรนำทรัพย์สินที่ไม่จำเป็นนำออกมาใช้ชำระหนี้ก่อน

4.หารายได้เสริมจากช่องทางอื่นๆ

ในยุคปัจจุบันการหารายได้เสริมจากช่องทางอื่นๆ เพื่อมาช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายนั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายมาก และมีหลากหลายช่องทาง ตั้งแต่การเปิดธุรกิจส่วนตัว, การเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้า, ไปจนกระทั่งการขายของด้วยตนเองผ่านโซเชี่ยลมีเดีย การหารายได้เสริมนี้จะช่วยทำให้เรามีเงินมาใช้จ่ายที่คล่องขึ้น และสามารถมีเงินไปชำระหนี้ให้หมดไวได้ขึ้นอีกด้วย

5.หาแหล่งเงินกู้ที่ปลอดดอกเบี้ย

การหาแหล่งเงินกูที่ปลอดดอกเบี้ยนั้นอาจไม่ใช่การกู้เงินในระบบหรือนอกระบบ แต่หากเป็นการขอกู้เงินกับคนที่ไว้เนื้อเชื่อใจ เชื่อถือได้ อาจเป็นเพื่อนหรือญาติที่ไม่เดือดร้อนด้านการเงิน เพื่อเจรจาในการนำเงินมาชำระหนี้ก่อน แล้วจึงใช้คืนในภายหลัง หากเรามีจุดหมุ่งหมายในการชำระหนี้ที่ชัดเจน แน่นอน และมีวินัย ไม่คดโกง การได้หยิบยืมเงินจากเพื่อนหรือญาตินั้นเป็นทางออกที่ดี และหากมีสัมพันธ์อันดีแล้วการหยิบยืมก็มักจะไม่มีการคิดดอกเบี้ย แต่เป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อีกกรณีหนึ่งบางองค์กรอาจมีการช่วยเหลือในส่วนนี้ อย่างกรณีให้กู้เงินฉุกเฉิน หรือกู้เงินระยะสั้นปลอดดอกเบี้ย เป็นต้น แต่มักเป็นนโยบายภายในที่ใช้ช่วยเหลือพนักงานเท่านั้น สิ่งสำคัญสำรับกรณีแบบนี้อย่างยิ่งก็คือการมีความซื่อสัตย์ตลอดจนมีวินัยไม่เสร้างชื่อเสียให้กับตนเองและคนที่หยิบยืมด้วยนั่นเอง

6.หาแหล่งกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อกำจัดภาระหนี้ให้หมดไป

การหาแหล่งเงินกูดอกเบี้ยต่ำนั้นควรหามาเพื่อชำระหนี้ บรรเทาภาระหนี้ให้ทุเลาลง ไม่ใช่หาแหล่งเพื่อใช้เงินสร้างหนี้เพิ่ม แหล่งกูดอกเบี้ยต่ำนั้นหากอยู่ในสังคมปกติอาจเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แต่หากทำงานอยู่ในองค์กรที่มีการดูแลสวัสดิการพนักงานที่ดีก็อาจทำให้พนักงานมีแหล่งกู้เงินในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำได้ ทำให้ชำระหนี้เสร็จสิ้นได้ไวและภาระดอกเบี้ยไม่หนักเกินตัว

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง