แนวคิดด้านมนุษยสัมพันธ์ (Human Relation Concept)

HIGHLIGHT
  • Elton Mayo ได้รับการยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งการจัดการแบบมนุษยสัมพันธ์” ซึ่งเขาชี้ให้เห็นว่ามนุษย์ไม่ได้เท่ากับเครื่องจักร และควรใส่ใจแรงงานมากกว่าใส่ใจผลผลิต เพราะนี่คือปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ระบบการผลิตมีศักยภาพ
  • หลักธรรม “สังคหวัตถุ 4” ในพุทธศาสนา เป็นหลักธรรมที่สืบทอดมานับพันปี และยังคงใช้ได้ดีในยุคปัจจุบันซึ่งหลักธรรมนี้สอดคล้องกับเรื่องการสร้างมนุษยสัมพันธ์เป็นอย่างมาก
  • บุคคลในองค์กรที่มีส่วนสำคัญอย่างมากในการที่จะกระตุ้นการสร้างมนุษยสัมพันธ์กลุ่มให้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนควบคุมดูแลไม่ให้เกิดปัญหา ก็คือ “หัวหน้า” ในแต่ละกลุ่มนั่นเอง

แนวคิดด้านมนุษยสัมพันธ์

มนุษยสัมพันธ์เป็นสิ่งสำคัญต่อการอยู่ร่วมกันของทุกสังคม มนุษยสัมพันธ์นั้นเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ช่วยให้มนุษย์อยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข ถึงแม้ว่ามนุษยสัมพันธ์นั้นจะเกิดขึ้นมาบนโลกนี้โดยธรรมชาติพร้อมกับการกำเนิดของมนุษย์ แต่ศาสตร์แห่งมนุษยสัมพันธ์ที่มีการศึกษาและเรียนรู้อย่างจริงจังนั้นก็เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ร้อยปีมานี้นี่เอง ปัจจุบันแนวคิดด้านมนุษยสัมพันธ์เกิดขึ้นมากมายบนโลกตั้งแต่แนวคิดดั้งเดิมมาจนถึงแนวคิดสมัยใหม่ แต่อย่างไรก็ดีแนวคิดเหล่านี้ก็มีแก่นคล้ายๆ กันนั่นก็คือการให้ความสำคัญกับทรัพยากรมนุษย์นั่นเอง เราลองมาดูกันดีกว่าว่าแนวคิดด้านมนุษยสัมพันธ์ที่โดดเด่นนั้นมีอะไรกันบ้าง

แนวความคิดของ Robert Owen

ว่ากันว่า Robert Owen นี้คือผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการปรับปรุงการทำงานที่เกี่ยวข้องกับมนุยสัมพันธ์อย่างเป็นจริงเป็นจังเป็นคนแรกๆ ของโลกเลยก็ว่าได้ จนได้รับการยกย่องว่าเป็นปฐมบิดาแห่งการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมทางอุตสาหกรรมเลยทีเดียว

เขาเองเป็นเจ้าของโรงงานสิ่งทอขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ที่เมือง New Lanark ในสก็อตแลนด์ โดยเมื่อราวปี ค.ศ.1800 เขาได้เริ่มให้ความสำคัญกับแรงงาน และนับเป็นนายจ้างคนแรกๆ ที่ยอมรับฟังความคิดเห็นตลอดจนความต้องการในด้านมนุษยธรรมของลูกจ้าง รวมไปถึงปรับปรุงสิ่งแวดล้อมที่ดีในการทำงานให้ดีขึ้น และการดูแลสวัสดิภาพของแรงงาน เป็นต้น

ถึงแม้ว่าการกระทำของ Robert Owen จะไม่ได้เป็นการมุ่งสร้างมนุษยสัมพันธ์โดยตรงนัก แต่เขาก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้บุกเบิกในด้านมนุษยสัมพันธ์ในองค์กรเป็นคนแรกๆ ของโลกเลยก็ว่าได้ ทั้งบางทีก็ยังได้รับยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งการบริหารงานบุคคลเลยทีเดียว ซึ่งนี่ถือเป็นหลักฐานของศาสตร์ด้านมนุษยสัมพันธ์นี้ที่เกิดขึ้นในยุคแรกๆ ของโลก

8 ชั่วโมงต่อวัน

หลักการทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวันกลายมาเป็นบรรทัดฐานปกติของระบบการทำงานในองค์กรส่วนใหญ่ไปแล้ว แต่เชื่อหรือไม่ว่าแนวคิดการทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวันนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยปี ค.ศ.1810 โน่นเลยล่ะ โดยผู้ที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการกำหนดหลักการนี้ก็คือ Robert Owen นี่ล่ะ โดยเขาได้ตั้งสโลแกนในการดำเนินชีวิตที่มีคุณภาพไว้ว่า “Eight hours labour, Eight hours recreation, Eight hours rest – ทำงาน 8 ชั่วโมง, สันทนาการ 8 ชั่วโมง, พักผ่อน 8 ชั่วโมง”

ซึ่งมันกลายมาเป็นมาตรฐานของการสร้างสมดุลให้กับชีวิตตลอดจนการแบ่งเวลาในการทำงานมาจนถึงปัจจุบัน (Work Life-Balance)

แนวความคิดของ Andrew Ure

อีกหนึ่งในแนวความคิดดั้งเดิมที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์แห่งมนุษยสัมพันธ์ที่ได้รับการบันทึกไว้ก็คือแนวความคิดของ Andrew Ure ซึ่งในปี ค.ศ.1853 เขาได้ตีพิมพ์หนังสือ “ปรัชญาแห่งระบบอุตสาหกรรม (The Philosophy of Manufactures)” ออกเผยแพร่ในกรุงลอนดอน โดยมีหัวใจสำคัญก็คือการต้องคำนึงถึงส่วนประกอบสำคัญของระบบการผลิตซึ่งมี 3 ประการนั่นก็คือ เครื่องจักร, การค้าพาณิชย์ และมนุษย์

โดยเฉพาะปัจจัยด้านมนุษยธรรมที่เขาให้ความสำคัญมากที่สุด ตั้งแต่สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงาน, มีเวลาพักผ่อนช่วงสั้นๆ ให้ระหว่างการทำงาน, บริการด้านการแพทย์เมื่อยามเจ็บป่วย, มีสนามและอุปกรกีฬาให้แรงงานได้พักผ่อน เป็นต้น ซึ่งนี่ถือเป็นต้นแบบการวางระบบบริหารงานบุคคลเชิงมนุษยสัมพันธ์อย่างเป็นจริงเป็นจังครั้งแรกเลยก็ว่าได้

แนวความคิดของ Elton Mayo

หากพูดถึงแนวความคิดด้านมนุษยสัมพันธ์จะไม่พูดถึง Elton Mayo เลยไม่ได้ เพราะเขาคนนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งการจัดการแบบมนุษยสัมพันธ์” ที่ทั่วโลกรู้จักกันเป็นอย่างดีทีเดียว ผลงานที่โดดเด่นของเขานั้นก็คือการทำงานกับคณะวิจัยพนักงานที่โรงงาน Hawthorne Plant ของบริษัท Western Electric ในชิคาโก รัฐอิลินอยด์ สหรัฐอเมริกา ช่วงปี ค.ศ.1927-1932 ซึ่งเน้นไปที่การวิจัย 3 เรื่องใหญ่ได้แก่ ศึกษาสภาพห้องทำงาน (Room Studies), การสัมภาษณ์ (Interview Studies) และ การสังเกตการณ์ (Observation Studies)

จนเกิดเป็นกรณีศึกษาสำคัญอย่าง Hawthorne Effect ที่เป็นต้นแบบการศึกษาเรื่อง Employee Motivation หรือ Theory of Motivation นั่นเอง รวมถึงการเป็นต้นแนวคิดที่ว่ามนุษย์ไม่ใช่เครื่องจักร และนี่คือตัวแปรให้ระบบอุตสาหกรรมเกิดประสิทธิภาพได้มากน้อยเพียงไรนั่นเอง

การกำเนิดศาสตร์แห่งมนุษยสัมพันธ์

Elton Mayo นั้นเป็นนักสังคมวิทยาแห่งฝ่ายวิจัยด้านอุตสาหกรรมของฮาร์วาร์ด (The Department of Industrial Research at Harvard) หลังจากที่การศึกษาวิจัย Hawthorne Effect ประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับในวงกว้าง ในปี ค.ศ.1936 เขาก็ได้เปิดสอนวิชา “มนุษยสัมพันธ์ (Human Relation)” อย่างเป็นทางการขึ้นเป็นครั้งแรกของโลกในมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดนั่นเอง

แนวความคิดทฤษฎีลิง 3 ตัว ตามหลักขงจื้อ

ทฤษฎีลิง 3 ตัว ของขงจื้อนั้นเกิดขึ้นก่อนศาสตร์มนุษยสัมพันธ์เป็นเวลานับพันปีเลยทีเดียว แต่ทฤษฎีโบราณนี้ก็ยังคงเป็นอมตะมาจึงถึงยุคปัจจุบัน ถึงแม้ว่าทฤษฎีลิง 3 ตัว จะไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้เป็นแนวคิดของศาสตร์มนุษยสัมพันธ์โดยตรง แต่ปรัชญาจีนนี้ก็สอดคล้องกับเรื่องนี้เป็นอย่างมากจนทำให้ทฤษฎีลิง 3 ตัวนี้มักถูกหยิบยกขึ้นมาอ้างอิงเสมอเมื่อมีการพูดถึงแนวคิดมนุษยสัมพันธ์ในยุคปัจจุบัน ทฤษฎีลิง 3 ตัวนั้นเป็นลิงปิดทวารทั้งสามอันได้แก่ ลิงตัวที่ 1 ปิดหู ลิงตัวที่ 2 ปิดตา และลิงตัวที่ 3 ปิดปาก ทฤษฎนี้มีการตีความเชิงลึกไปมากมายแต่ก็อยู่ในกรอบเดียวกัน กล่าวโดยสรุปก็คือมนุษย์ควรควบคุมการรับหรือส่งสารตัวเองให้เหมาะสม บางครั้งก็ต้องควรงดวาจา ปิดตาไม่รู้ไม่เห็น ตลอดจนปิดหูไม่รู้ไม่ฟัง ในเรื่องที่จะทำให้เกิดความทุกข์ หรือสร้างความยุ่งยากใจต่อกัน การที่จะมีความสัมพันธ์กับคนอื่นได้ดีนั้นต้องรู้จักว่าอะไรควรฟัง ไม่ควรฟัง อะไรควรพูด ไม่ควรพูด อะไรควรรับรู้ ไม่ควรรับรู้ ทุกอย่างต้องให้เหมาะสมกับกาละเทศะ

แนวความคิดตามหลักพระพุทธศาสนา

หลักธรรมในพระพุทธศาสนานั้นมีอยู่มากมาย แต่หลักธรรมคำสอนที่นิยมนำมาใช้กับเรื่องมนุษยสัมพันธ์มากที่สุดนั้นก็คือ “สังคหวัตถุ 4” ที่พูดถึงหลักธรรมในความสามัคคีนั่นเอง

สังคหวัตถุ หมายถึง ธรรมที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวใจบุคคลและประสานหมู่ชนไว้ในความสามัคคี

อ้างอิงจาก : พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

สังคหวัตถุ 4

ก็คือหลักธรรม 4 ประการที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวใจบุคคลและประสานหมู่ชนไว้ในความสามัคคี หลักธรรมนี้ถึงแม้ว่าจะมีอายุหลายพันปีแล้วแต่ก็เป็นหลักธรรมที่ยังคงถูกนำมาใช้และใช้ได้ดีในยุคปัจจุบัน เมื่อพูดถึงแนวความคิดมนุษยสัมพันธ์ก็เช่นเดียวกัน สังคหวัตถุ 4 มักถูกนำมาอ้างอิงในเรื่องนี้อยู่เสมอ เพราะหลักธรรมนี้มีประโยชน์ต่อมนุษยสัมพันธ์ในองค์กรเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งหลักธรรมทั้ง 4 ประการนั้นได้แก่

  • ทาน* หมายถึง การให้

ซึ่งการให้ในที่นี้ควรอยู่บนพื้นฐานการให้ด้วยใจบริสุทธิ์ ยินดีที่จะให้ ไม่ทุกข์ใจที่จะให้ การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การให้ความช่วยเหลือ การเสียสละ การให้อภัย หรือแม้แต่การให้สิ่งของที่เป็นประโยชน์กับผู้อื่น ก็รวมอยู่ในขอบข่ายการให้ทั้งสิ้น

  • ปิยวาจา* หมายถึง วาจาอันเป็นที่รัก

วาจานั้นหมายรวมถึงการสื่อสารซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการปฎิสัมพันธ์กัน การพูดด้วยไมตรี การมอบวาจาที่ดีให้แก่กัน มีความหวังดี ไม่ประสงค์ร้าย เปิดเผย ไม่นินทา พูดด้วยความจริงใจ ไม่เสแสร้งโกหก ย่อมทำให้เป็นที่รักของคนอื่นได้

  • อัตถจริยา* หมายถึง การประพฤติประโยชน์

ในที่นี้หมายถึงการกระทำใดๆ ก็ตามที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับทั้งตนเองและผู้อื่น ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนหรือเป็นทุกข์ ไม่เบียดเบียนเอาเปรียบกัน หรือไม่กระทำอันใดที่ทำให้ก่อให้เกิดความเสียหาย

  • สมานัตตตา* หมายถึง ความมีตนสม่ำเสมอ, การทำตนเสมอต้นเสมอปลาย

หลักธรรมข้อนี้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่มักไม่ค่อยเห็นใครพูดถึงนัก ความเสมอต้นเสมอปลายนั้นจะบ่งบอกพฤติกรรมของคนคนนั้นได้ดี แสดงถึงความมีวินัย ไม่เป็นคนโลเล ยึดเหนี่ยวสิ่งที่ตนยึดถืออย่างซื่อสัตย์ การทำงานที่มีการใส่ใจอย่างเสมอต้นเสมอปลายนี้ย่อมทำให้งานราบรื่น ไม่มีปัญหา และมีโอกาสสำเร็จยิ่งๆ ขึ้นไป การมีนิสัยที่ดีแบบเสมอต้นเสมอปลายต่อกันก็ย่อมทำให้มนุษยสัมพันธ์ระหว่างกันดีได้ด้วย ทำให้เกิดความไว้วางใจ น่าเชื่อถือ ไม่กลับกลอก และเป็นมิตรที่ดีต่อกันมากกว่าศัตรู

*หมายเหตุ : ความหมายอ้างอิงจากพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

ยังมีแนวคิดมนุษยสัมพันธ์เกิดขึ้นบนโลกนี้อีกมากมาย ตลอดจนมีการนำเอาปรัชญายุคโบราณหลายๆ อย่างนำเข้ามาประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับเรื่องนี้อีกด้วย ซึ่งทุกอย่างนั้นล้วนแล้วแต่มีหลักการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันให้เกิดขึ้น ลดการแตกแยก เมื่อมีการร่วมกันทำงานอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว องค์กรย่อมประสบความสำเร็จอย่างงดงามในที่สุด

ความหมายของมนุษยสัมพันธ์ในองค์กร (Human Relations of Organization)

Dress Code Policy : กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ นโยบาย การแต่งกายมีผลกับการทำงานอย่างไร ?

มนุษยสัมพันธ์ในองค์กรมาจากการผสานสองความหมายสำคัญจากคำว่า “มนุษยสัมพันธ์” กับ “องค์กร” ซึ่งหมายถึงความสัมพันธ์ของบุคลากรที่อยู่ร่วมกันในองค์กรนั้นๆ ซึ่งมีไมตรีตลอดจนความผูกพันต่อกันตั้งแต่เรื่องส่วนตัวไปจนถึงเรื่องที่เกี่ยวกับงาน ความสัมพันธ์จะเป็นปัจจัยยึดเหนี่ยวให้ทุกคนทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น เกิดความสามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน  ก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานได้ และทำให้องค์กรบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้ในที่สุด

ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อมนุษยสัมพันธ์ในองค์กร

สิ่งที่ส่งผลต่อการเกิดมนุษยสัมพันธ์ในองค์กรได้นั้นมีมากมาย แต่มีปัจจัยสำคัญต่อมนุษยสัมพันธ์ที่ควรใส่ใจดังนี้

+ ปัจเจกบุคคล (Individual) : หน่วยบุคคลนั้นถือเป็นหน่วยเล็กที่สุดสำหรับองค์กรและเป็นหน่วยที่สำคัญที่สุดเช่นกัน ก่อนที่จะสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันนั้นจะต้องเข้าใจและเคารพความเป็นปัจเจกบุคคลของกันและกันก่อน เพราะทุกคนมีความเฉพาะตัวของตัวเอง ในขณะเดียวกันทุกคนก็ต้องเปิดใจยอมรับความแตกต่างของผู้อื่นด้วยเช่นกัน หากหน่วยบุคคลเกิดปัญหาแน่นอนว่าย่อมกระทบกับมนุษยสัมพันธ์องค์รวมขององค์กรไม่มากก็น้อย ดังนั้นองค์กรควรใส่ใจไม่ใช่แค่เฉพาะในระดับกลุ่มแต่ควรให้ความสำคัญในระดับบุคคลด้วยเช่นกัน ในทางตรงกันข้ามหากหน่วยบุคคลนี้เข้าใจตัวเองและยอมรับผู้อื่นก็เป็นเรื่องง่ายที่จะสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน และเป็นพลังสำคัญที่จะทำให้องค์กรประสบความสำเร็จเลยทีเดียว

+ การทำงานร่วมกัน (Work Group) : การทำงานร่วมกันเป็นกลไกสำคัญของการขับเคลื่อนองค์กร และสิ่งที่เป็นเสมือนขุมพลังที่จะทำให้การขับเคลื่อนไปได้ดีและราบรื่นนั้นก็คือมนุษยสัมพันธ์นี่เอง หากบุคลากรมีมนุษยสัมพันธ์ต่อกันที่ดีก็ย่อมทำให้การทำงานร่วมกันไม่เกิดปัญหา งานมีประสิทธิภาพ หากเกิดปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ในการทำงานกันขึ้นก็ย่อมส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของการทำงานในองค์กรได้เช่นกัน และหากพนักงานในองค์กรมีความเป็นปัจเจกบุคคลสูง ไม่สนใจการทำงานร่วมกับผู้อื่น ก็อาจทำให้องค์กรนั้นไร้ทิศทางที่ชัดเจน หรือทิศทางสะเปะสะปะ การขับเคลื่อนองค์กรก็ย่อมมีปัญหาได้ การที่จะทำงานร่วมกันได้ดีนั้นองค์กรก็ต้องมอบหมายบทบาทและหน้าที่ที่ชัดเจนให้กับพนักงานแต่ละคนด้วย และการสร้างทัศนคติที่ดีร่วมกันก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะก่อให้เกิดมนุษยสัมพันธ์ในการทำงาน และเป็นพลังผลักดันให้องค์กรบรรลุเป้าหมายได้อย่างยอดเยี่ยมทีเดียว

+ สภาพแวดล้อมในการทำงาน (Work Environment) : หากสังเกตุแนวความคิดด้านมนุษยสัมพันธ์ตั้งแต่ยุคดั้งเดิมจะพบว่าสิ่งหนึ่งที่เป็นปัจจัยซึ่งผู้นำความคิดทุกคนใส่ใจและให้ความสำคัญเหมือนๆ กันก็คือเรื่องสภาพแวดล้อมในการทำงานนี่เอง โดยเฉพาะยุคปัจจุบันนี้ที่แทบทุกองค์กรหันมาใส่ใจเรื่องนี้กันอย่างจริงจังตั้งแต่เรื่องสถานที่, การตกแต่ง, ไปจนถึงการสร้างมนุษยสัมพันธ์อันดีให้เกิดสภาพแวดล้อมด้านบุคคลที่ดีในการทำงาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้องค์กรสามารถสร้างขึ้นได้ และสร้างความร่วมมือให้ร่วมกันสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีได้เช่นกัน

+ ผู้นำ (Leader) : หน่วยบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการที่จะช่วยให้เกิดมนุษยสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนในองค์กร ตลอดจนเป็นผู้ที่จะควบคุมให้เป็นไปในทิศทางที่ดีได้นั้นก็คือผู้นำนั่นเอง ผู้นำเปรียบเสมือนแม่ทัพที่จะบริหาร ควบคุม ตลอดจนกระตุ้นให้พนักงานทุกคนสามารถทำงานร่วมกันไปในทิศทางเดียวกัน ตลอดจนบรรลุเป้าหมายที่องค์กรตั้งไว้ได้ ในอีกมุมหนึ่งผู้นำต้องเป็นผู้สนับสนุนที่ดีด้วย คอยสอดส่อง รวมถึงช่วยแก้ไขวิกฤตต่างๆ ให้กำลังใจ ปลอบประโลมเมื่อท้อและผิดพลาด ซึ่งผู้นำนี้แหละที่เป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้การทำงานเป็นทีมในองค์กรประสบความสำเร็จได้มากน้อยเพียงไร

บทสรุป

มนุษยสัมพันธ์นั้นจำเป็นกับทุกสังคม แม้แต่ในองค์กรเองก็ตามก็ถือเป็นหน่วยสังคมหนึ่งที่ต้องใช้มนุษยสัมพันธ์มาเชื่อมต่อบุคลากรเข้าไว้ด้วยกันเพื่อให้เกิดการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและทำให้องค์กรบรรลุเป้าหมายในที่สุด มนุษย์สัมพันธ์นั้นเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ต้องเรียนรู้และสามารถประยุกต์นำไปปฎิบัติให้เกิดผลได้ ท้ายที่สุดแล้วมนุษยสัมพันธ์จะสร้างพลังสามัคคีที่ไม่ทำให้สังคมใดก็ตามแตกแยก ซึ่งนี่แหละคือพลังสำคัญที่เป็นเคล็ดลับความสำเร็จที่มีคุณค่ามากทีเดียว

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง