Search
Close this search box.

Team Building สร้างทีมสัมพันธ์ให้องค์กรแข็งแกร่ง

HIGHLIGHT
  • หัวใจสำคัญของ Team Building หรือการสร้างทีมสัมพันธ์ในองค์กร คือการสร้างความสามัคคีในการทำงานร่วมกัน
  • ความสามัคคีจะทำให้ทุกคนในองค์กรสามารถร่วมมือกันขับเคลื่อนองค์กรให้ประสบความสำเร็จได้
  • กระบวนการสร้างทีมสัมพันธ์ (Team Building) ที่ขาดไม่ได้เลยก็คือการที่สร้างให้ทุกคนมีส่วนร่วมและแสดงความคิดเห็นร่วมกันอย่างเท่าเทียม และยอมรับซึ่งกันและกัน

ทุกองค์กรไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่นั้นต่างก็ขับเคลื่อนด้วยกำลังคนทั้งสิ้น ยิ่งองค์กรมีขนาดใหญ่เท่าไรพนักงานที่ทำงานอยู่ในองค์กรนั้นก็ย่อมมีจำนวนมากตามไปด้วย การบริหารงานบุคคลจึงมีความสำคัญไม่แพ้การบริหารงานเลยทีเดียว เพราะหากองค์กรไร้ปัญหาเรื่องการทำงานของบุคคลต่างๆ ในองค์กรแล้ว โอกาสที่องค์กรจะประสบความสำเร็จก็มีอยู่สูงเช่นกัน

เรามักเคยได้ยินประโยคเปรียบเปรยกันอยู่บ่อยๆ ว่า “ยิ่งมากคน ก็ยิ่งมากความ” และนั่นเป็นประโยคที่มักเป็นจริงเสมอ องค์กรที่ประกอบด้วยคนมากมายเท่าไรก็ย่อมตามมาด้วยปัญหาต่างๆ นานามากเท่านั้น และการที่พนักงานมีทิศทางที่ไปคนละทิศคนละทางก็อาจทำให้องค์กรมีปัญหาได้ในที่สุด องค์กรก็เปรียบเสมือนเรือที่ต้องมีฝีพายร่วมแรงร่วมใจกันพายเรือให้เคลื่อนที่ไปข้างหน้า หากฝีพายพายไม่พร้อมกัน หรือพายไปคนละทิศละทางโอกาสที่เรือจะเคลื่อนที่ไปข้างหน้าอย่างราบรื่นและรวดเร็วนั้นก็คงไม่มี

ดังนั้น การบริหารจัดการคนในองค์กรจึงเป็นสิ่งสำคัญ และเครื่องมือสำคัญหนึ่งที่จะสร้างให้องค์กรแข็งแกร่งและสามัคคีขึ้นมาได้ก็คือระบบ Team Building หรือ การสร้างทีมสัมพันธ์ ที่จะทำให้ทุกคนร่วมแรงร่วมใจกันขับเคลื่อนองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

การสร้างทีมสัมพันธ์ (Team Building) คืออะไร?

การสร้างทีมสัมพันธ์ (Team Building) นั้นก็คือกระบวนการในการทำให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเกิดความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ทั้งในระดับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความสัมพันธ์ร่วมกันทั้งกลุ่ม พัฒนาความสัมพันธ์ให้ดียิ่งขึ้นจนเกิดการทำงานร่วมกันที่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังสามารถมีเป้าหมายร่วมกัน มีทัศนคติที่ดีในการทำงาน ตลอดจนสร้างความสามัคคีกันได้เป็นอย่างดีที่สุด กระบวนการสร้างความสัมพันธ์นั้นนั้นมีหลากหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ที่ต้องการ

ประโยชน์ของการสร้างทีมสัมพันธ์ (Benefit of Team Building)

  • 1.ทำให้ทุกคนในองค์กรรู้จักและปฎิสัมพันธ์กัน
  • 2.ทำให้ทุกคนรู้จักการทำงานร่วมกันตลอดจนแก้ปัญหาร่วมกันได้ดียิ่งขึ้น
  • 3.ทำให้ทุกคนสามารถสร้างเป้าหมายในการทำงานร่วมกันได้ ตลอดจนวิธีร่วมมือกันเดินทางไปพิชิตเป้าหมายให้สำเร็จ
  • 4.ทำให้ทุกคนเกิดความสามัคคีในการขับเคลื่อนองค์กร
  • 5.สร้างทัศนคติที่ดีในการทำงานตลอดจนการเผชิญกับปัญหาต่างๆ

ลักษณะของการทำกระบวนการการสร้างทีมสัมพันธ์ (Team Building) ที่ดี

กิจกรรมการสร้างทีมสัมพันธ์นั้นมีมากมายหลากหลายรูปแบบ แต่การสร้างทีมสัมพันธ์ที่ดีควรมีลักษณะตลอดจนวัตถุประสงค์เหล่านี้อยู่ในการทำกิจกรรมด้วย

1.ละลายพฤติกรรม

การละลายพฤติกรรมระหว่างกันมักเป็นวัตถุประสงค์แรกๆ ของการทำกิจกรรมทีมสัมพันธ์เลยก็ว่าได้ และมักจะเป็นกระบวนการเริ่มต้นแรกสุดของการสร้างทีมสัมพันธ์เลยทีเดียว เพราะองค์กรต่างๆ นั้นประกอบไปด้วยคนหลากหลายรูปแบบมารวมตัวกัน ทุกคนล้วนแล้วแต่มีหลากหลายความชอบ หลากหลายพฤติกรรม ดังนั้นการละลายพฤติกรรมระหว่างกันเพื่อให้ทุกคนเริ่มคุ้นเคยและไว้วางใจคนอื่นจึงเป็นความสำคัญหนึ่งอย่างยิ่ง กิจกรรมละลายพฤติกรรมนั้นมักจะเป็นกิจกรรมเชิงสันทนาการง่ายๆ หรือบางทีก็เป็นกิจกรรมที่จริงจังขึ้นมาหน่อย แต่ต้องไม่สร้างความเครียด และต้องกระชับความสัมพันธ์ให้ได้

อายุนั้นสำคัญฉะนี้
การทำกิจกรรมละลายพฤติกรรมนั้นสิ่งที่ผู้ทำกิจกรรมควรเก็บข้อมูลและใส่ใจเป็นอันดับแรกก็คือเรื่องอายุของผู้ร่วมทำกิจกรรม เพราะบางกิจกรรมอาจจะเหมาะกับช่วงอายุที่ไม่เหมือนกัน เด็กรุ่นใหม่อาจจะต้องสร้างกิจกรรมสัมพันธ์ที่ต่างจากวัยผู้ใหญ่ แต่หากกิจกรรมละลายพฤติกรรมนั้นต้องทำกับกลุ่มที่มีความต่างเรื่องอายุมาก หรือผสมผสานกันหลากหลายอายุ ก็ให้ปรับกิจกรรมหาจุดร่วมกันตรงกลางให้ได้มากที่สุด เพื่อการละลายพฤติกรรมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด

2.สร้างเป้าหมายร่วมกัน

หนึ่งในเนื้อหาสำคัญที่มักตั้งเป็นวัตถุประสงค์หนึ่งของการสร้างทีมสัมพันธ์นี้ก็คือการต้องสามารถมองเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกัน ตลอดจนสามารถสร้างเป้าหมายร่วมกันได้ การมีเป้าหมายที่เป็นจุดเดียวกันนี้ก็เพื่อทำให้ทุกคนเห็นทิศทางของตนและขององค์กรที่ชัดเจน รวมถึงขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจะทำให้องค์กรบรรลุดเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันกิจกรรมที่เกิดขึ้นในกระบวนการสร้างทีมสัมพันธ์นี้ก็ควรฝึกให้ทุกคนรู้จักการตั้งเป้าหมาย ตลอดจนช่วยกันทำภาระกิจให้บรรลุเป้าหมายได้ด้วย

3.ฝึกทักษะในการแก้ไขปัญหา

การทำงานใดก็ตามมักเกิดปัญหาขึ้นตลอดเวลา ทักษะหนึ่งที่จำเป็นอย่างมากต่อพนักงานในองค์กรนั้นก็คือทักษะในการแก้ปัญหานั่นเอง การทำกิจกรรมการสร้างทีมสัมพันธ์นั้นจึงมักแทรกการฝึกการแก้ปัญหาไว้ในขั้นตอนต่างๆ เสมอ ทั้งทักษะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การแก้ปัญหาส่วนบุคคล และการแก้ป้ญหาระบบทีม ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการพัฒนาทักษะในด้านนี้อย่างสม่ำเสมอ และเตรียมพร้อมกับการเจอสถานการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

4.ฝึกทักษะในการสื่อสารและแสดงความคิดเห็น

เรื่องที่ดูเหมือนง่ายแต่มักกลายเป็นต้นตอของปัญหาไม่ว่าจะเล็กจะใหญ่อยู่เสมอก็คือเรื่องของการสื่อสารนั่นเอง การสื่อสารที่ไม่ตรงกัน หรือสื่อสารผิดพลาด มีส่วนทำให้เกิดความเสียหายได้มาก ดังนั้นกิจกรรมสร้างทีมสัมพันธ์ที่ดีมักจะฝึกทักษะในการสื่อสารไปในตัว ตั้งแต่เนื้อหาที่สื่อสารตลอดจนวิธีสื่อสารระหว่างกัน การสื่อสารนี้อาจรวมถึงการแสดงความคิดเห็นด้วย เพราะการทำงานร่วมกันควรมีการแชร์ข้อมูลหรือการแสดงความคิดเห็นระหว่างกัน การฝึกยอมรับความคิดเห็นต่างก็เป็นสิ่งจำเป็น เพราะไม่มีใครที่จะคิดเหมือนกันทุกคนได้ หรือการที่ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นเลย อยู่เฉยๆ เอาตัวรอด ก็อาจสร้างปัญหาได้เช่นกัน

ฉะนั้นจึงควรฝึกการสื่อสารให้ดี ความคิดเห็นมักเป็นต้นตอของการเกิดไอเดียใหม่ๆ ได้ หากเรารู้จักแสดงความคิดเห็นในรูปแบบที่เหมาะสมแล้วก็อาจทำให้เกิดประสิทธิภาพที่ดีขึ้นได้เช่นกัน

5.ฝึกการสร้างความสามัคคี

จุดประสงค์สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของการสร้างทีมสัมพันธ์นั้นก็คือการสร้างความสามัคคีระหว่างกัน การทำกิจกรรมควรฝึกฝนการทำงานในระบบทีมและเสริมสร้างความร่วมมือร่วมใจกัน และเมื่อเกิดความสามัคคีขึ้นก็ย่อมทำให้การทำงานนั้นเกิดประสิทธิภาพและสร้างความสำเร็จให้กับองค์กรได้ไม่ยาก

 5 กุญแจสำคัญในการทำกิจกรรมสร้างทีมสัมพันธ์

  • 1.การปฎิบัติภาระกิจให้สำเร็จลุล่วง (Task Achievement) : การทำกิจกรรมสร้างทีมสัมพันธ์นี้จะต้องมีการฝึกฝนการปฎิบัติภาระกิจให้สำเร็จตลอดทั้งกระบวนการ ฝึกความรับผิดชอบ การจัดการ ตลอดจนการแก้ปัญหาร่วมกัน หัวใจสำคัญของข้อนี้ไม่ใช่การทำภาระกิจให้ยอดเยี่ยมที่สุด แต่เป็นการฝึกให้ทุกคนปฎิบัติภาระกิจด้วยความรับผิดชอบตลอดระยะเวลาตั้งแต่ต้นจนจบ ให้บรรลุภาระกิจให้ได้แม้ว่ามันจะดีหรือแย่ก็ตาม ทั้งยังไม่ควรล้มเลิกกลางคันเพราะนั่นทำให้ขาดความรับผิดชอบ ควรฝึกให้เห็นการทำงานเป็นกระบวนการจนครบกระบวนการให้มากที่สุด
  • 2.การตัดสินใจที่ถูกต้องและมีคุณภาพ (Accuracy and Quality of Decisions) : ไม่ว่าจะทุกการกระทำใดย่อมมีการตัดสินใจเสมอ แต่การตัดสินใจที่ดีก็ย่อมมีกระบวนการที่ยอดเยี่ยม ตั้งแต่การเก็บข้อมูล, การรับฟังความคิดเห็น, การวิเคราะห์, การหาทางเลือก, ตลอดจนการตัดสินใจที่ถูกต้อง ซึ่งการตัดสินใจที่รอบคอบ เหมาะสมนั้น ต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วน มีการวิเคราะห์ที่ดี ซึ่งจะนำไปสู่การตัดสินใจที่มีคุณภาพนั่นเอง การตัดสินใจที่มีคุณภาพนี้อาจจะไม่ใช่การตัดสินใจที่แก้ปัญหาได้หมดสิ้น อาจไม่ใช่การตัดสินใจที่ไวที่สุด หรืออาจไม่ใช่การตัดสินใจที่ดีที่สุดเสมอไป แต่เป็นการตัดสินใจที่เหมาะสมที่สุดและสร้างผลกระทบให้น้อยที่สุด
  • 3.การเผิญกับความเสี่ยง (Risk Taking) : สิ่งหนึ่งที่มักสร้างและฝึกฝนความกล้าในการตัดสินใจหรือทำอะไรนั้นก็คือความเสี่ยงนั่นเอง การฝึกให้พนักงานกล้าเผชิญหน้ากับปัญหาตลอดจนความเสี่ยงต่างๆ นั้นจะช่วยฝึกฝนการตัดสินใจที่ดีขึ้นเรื่อยๆ หากเราไม่ฝึกการกล้าเผชิญกับความเสี่ยงอาจทำให้คนในองค์กรกลัวการเผชิญหน้ากับปัญหา หลีกเลี่ยง หมักหมมปัญหา ซึ่งอาจทำให้เกิดผลเสียได้ในที่สุด แต่หากเราคุ้นชิ้นและรู้จักการจัดการกับความเสี่ยงที่ดีแล้ว มันอาจจะกลายเป็นโอกาสที่ดีก็ได้เช่นกัน เพราะความเสี่ยงนั้นคือการก้าวหาโอกาสใหม่ๆ ด้วยนั่นเอง
  • 4.สร้างแรงจูงใจ (Motivation) : การขับเคลื่อนองค์กรหรืออะไรก็ตามที่ต้องใช้พลังของคนหลายคน สิ่งหนึ่งที่เสมือนน้ำมันหล่อลื่นที่จะช่วยขับเคลื่อนไปได้ดีขึ้นก็คือแรงจูงใจนั่นเอง การสร้างแรงจูงใจที่ดีจะทำให้คนเกิดกำลังใจในการทำภาระกิจต่างๆ ให้ลุล่วง และการสร้างทีมสัมพันธ์ที่ดีนั้นก็ควรมีการแทรกการสร้างแรงจูงใจที่ดีลงไปด้วย
  • 5.การเรียนรู้ได้ไว (Speed of Learning) : การสร้างกิจกรรมทีมสัมพันธ์นั้นมักเป็นกิจกรรมที่กระตุ้นให้เกิดการทำภาระกิจต่างๆ ให้สำเร็จลุล่วง ผู้เข้าร่วมทุกคนมักรู้สถานะของตัวเองในการเข้าร่วมที่ต้องปฎิบัติภาระกิจที่มอบหมายแต่ละครั้งให้สำเร็จ หนึ่งกุญแจสำคัญของการสร้างทีมสัมพันธ์นั้นก็คือการสร้างการเรียนรู้ได้ไว ฝึกการประมวลผลแบบรวดเร็วไปในตัว การเรียนรู้ได้ไวนี้จะช่วยส่งผลต่อการทำงานจริงที่เพิ่มประสิทธิภาพได้ดียิ่งขึ้นได้ด้วย

บทสรุป

องค์กรเป็นที่ที่คนหลากหลายรูปแบบมาร่วมกลุ่มกันเพื่อทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งให้ประสบความสำเร็จ หากคนหลากหลายรูปแบบเหล่านั้นไม่มีการทำงานที่มีระบบร่วมกัน ไปในทิศทางเดียวกัน หรือแม้แต่ไม่ร่วมแรงร่วมใจกันก็ทำให้องค์กรต่างๆ ย่ำแย่ได้เช่นกัน ดังนั้นกระบวนการการสร้างทีมสัมพันธ์ (Team Building) จึงเป็นสิ่งที่หลายองค์กรให้ความสนใจในการนำมาใช้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในองค์กรให้ไปในทิศทางเดียวกัน ร่วมมือกัน สร้างเป้าหมายเดียวกัน เพื่อให้ทุกคนร่วมกันทำให้เกิดความสำเร็จ และทำให้องค์กรขับเคลื่อนไปด้วยประสิทธิภาพนั่นเอง

ผู้เขียน

Picture of HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง